เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 7 กรกฎาคม ที่ผ่านมา บริษัทบูโร เวอริทัส (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมกับสำนักงานข่าวเทคโนโลยีฝรั่งเศส (FTPO) ได้เรียนเชิญผู้สื่อข่าวไทยร่วมเยี่ยมชมบริการของบริษัทบูโร เวอริทัส (ประเทศไทย) สาขาบางนา ในส่วนของการตรวจสอบและรับประกันคุณภาพข้าวไทยและข้าวหอมมะลิไทยแบบครบวงจรเพื่อวัตถุประสงค์การส่งออกและอื่นๆ ตามมาตรฐานที่กำหนด โดยมีวิทยากรคือ นายศักดิ์สิทธิ์ ศรีสุกใส ผู้จัดการแผนกการค้าระหว่างประเทศ ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และนางสาวดวงเดือน โกฏิแก้ว เจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญประจำห้องปฏิบัติการทดสอบพืชไร่ พร้อมกันนี้ ได้มีการเยี่ยมชมในส่วนของห้องปฏิบัติการทดสอบข้าว
การส่งออกข้าวของไทย
จากสถิติในปี 2547 ไทยผลิตข้าวเปลือกได้ประมาณ 25-26 ล้านตัน แบ่งเป็นการผลิตเพื่อบริโภคในประเทศประมาณ 11 ล้านตัน ผลส่งออกนอกราชอาณาจักร 10.2 ล้านตัน ต่อปี ที่เหลือเป็นการเก็บเข้าโควต้าหรือเป็นเมล็ดพันธุ์ โดยไทยถือเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ที่สุดในตลาดโลก จากปริมาณข้าวที่มีการซื้อขายทั่วโลกทั้งหมด 26 ล้านตัน ทั้งนี้ ข้าวที่ไทยส่งออก 2.5 ล้านตัน เป็นข้าวที่ผ่านการตรวจสอบจากบริษัทบูโร เวอริทัส (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 40 ของส่วนแบ่งการตลาด บริษัทบูโร เวอริทัส จึงเป็นบริษัทตรวจสอบคุณภาพข้าว (เซอร์เวย์เยอร์) อันดับหนึ่งของไทย
มาตรฐานข้าวไทยในเรื่องคุณภาพ
เนื่องจากข้าวหอมมะลิเป็นข้าวที่ผู้บริโภคทั่วโลกยอมรับในคุณภาพและเป็นสินค้าส่งออกที่ทำรายได้มากที่สุด ทางกระทรวงพาณิชย์จึงประกาศให้ข้าวหอมมะลิเป็นข้าวมาตรฐานสำหรับการส่งออกต่างประเทศ อันได้แก่พันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 และกข.15 โดยกำหนดเกณฑ์ความบริสุทธิ์ (purity) ของข้าวหอมมะลิ Thai Hom Mali Rice หรือ Thai Jasmine Rice ว่า จะต้องมีข้าวหอมมะลิ ตั้งแต่ 92% ขึ้นไป หากมีข้าวอื่นปนเกิน 8 % จะไม่อนุญาตให้ส่งออก และมีบทลงโทษเพิกถอนใบอนุญาตส่งออกกับผู้ประกอบการที่ฝ่าฝืน ส่วนเกณฑ์ของข้าวหอมมะลิผสมที่ทางกระทรวงอนุญาตนั้น จะต้องอยู่ในเกณฑ์ความบริสุทธิ์ 80 : 20 (ข้าวหอมมะลิ : ข้าวเจ้าพันธุ์อื่น) หมายความว่า อนุโลมให้มีข้าวพันธุ์อื่นปนได้ไม่เกิน 20% และจะต้องระบุไว้ข้างถุงบรรจุข้าวว่า Mixed Thai Hom Mali Rice (ข้าวหอมมะลิผสม) อย่างชัดเจน
ปัญหาที่พบในการส่งออกข้าวของไทย
ปัจจุบัน การส่งออกข้าวของไทยยังมีอุปสรรคจากการแข่งขันของประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะเวียดนาม ซึ่ง สามารถพัฒนาคุณภาพข้าวได้ใกล้เคียงกับข้าวของไทยมากขึ้นทุกขณะ ผลผลิตที่ออกมาในบางช่วงมีคุณภาพใกล้กับของไทยมาก คาดว่าในอีกไม่ถึง 5 ปี เวียดนามจะสามารถพัฒนามาตรฐานคุณภาพข้าวได้ในระดับเดียวกับไทย จึงควรที่จะได้มีการพัฒนาคุณภาพข้าวและพันธุ์ข้าวไทยให้ได้มาตรฐานที่สูงยิ่งขึ้น
ปัญหาในการส่งออกข้าวอีกปัญหาที่สำคัญ ได้แก่ การปลอมปนข้าวจนทำให้ข้าวไทยไม่ได้มาตรฐานและทำให้ผู้ซื้อในต่างประเทศเกิดความไม่มั่นใจ โดยเฉพาะกรณีการนำข้าวปทุมธานี 1 มาปลอมปนกับข้าวหอมมะลิที่ส่งออก จากการส่งออกข้าวเปลือกหอมมะลิฤดูกาลผลิตปี 2547/48 ที่ผลผลิตเริ่มออกตั้งแต่ปลายปี 2547 ไปยังตลาดต่างประเทศนั้น พบว่าคู่ค้าหลักทั้งจีนแผ่นดินใหญ่ สหรัฐอเมริกา และประเทศอื่นๆ เริ่มลดคำสั่งซื้อลงไปกว่า 50% จนถึงเดือนกรกฎาคม สถานการณ์ก็ยังไม่ดีขึ้น โดยปัญหาการปลอมปนเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ตลาดส่งออกประสบปัญหา โดยคู่ค้าต่างประเทศตรวจสอบคุณภาพข้าวที่ปลายทาง พบการปลอมปนข้าวชนิดอื่นในข้าวหอมมะลิเกรด 100% สูงถึง 20-30% ขณะที่ข้าวหอมมะลิมีราคาสูงกว่าข้าวหอมชนิดอื่นมาก ดังนั้น คู่ค้าต่างประเทศจึงขาดความเชื่อมั่นคุณภาพข้าวหอมมะลิไทย และมีบางส่วนที่เปลี่ยนไปซื้อข้าวหอมปทุมธานี 1 ที่ปลูกในภาคกลาง ซึ่งมีราคาถูกกว่ากันมาเป็นระยะเวลาหลายเดือนแล้ว ปัญหาปลอมปนข้าวหอมมะลิได้สร้างความสับสนให้กับตลาดต่างประเทศ จนทำให้ราคาข้าวหอมมะลิตกต่ำลง ปัจจุบันอยู่ที่ประมาณตันละ 400 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1.5 หมื่นบาท เทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อนที่ขายได้ตันละ 500 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 2 หมื่นบาท รัฐจึงควรมีความชัดเจนในเรื่องของการจัดการกับปัญหาปลอมปนและเร่งหาข้อสรุปเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยเร็วที่สุด เพื่อไม่ให้ตลาดเกิดความสับสนไปมากกว่านี้
จากปัญหาที่เกิดขึ้น ศักดิ์สิทธิ์ ศรีสุกใส ผู้จัดการแผนกการค้าระกว่างประเทศ ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บริษัทบูโร เวอริทัส (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นมาจากผู้ส่งออกบางรายผสมข้าวหอมปทุมธานี 1 ไปถึง 50 % ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะผู้ซื้อระบุมา และอีกส่วนเกิดจากการแสวงหากำไรจากราคาที่ต่างกัน เพราะข้าวหอมมะลิจะมีราคาที่เกวียนละประมาณ 1 หมื่นบาท ในขณะที่ข้าวปทุมธานี 1 ราคาเกวียนละ 7,000 บาท โดยมีลักษณะทางกายภาพที่ใกล้เคียงกันมาก ต้องใช้ความชำนาญสูงหากจะแยกแยะด้วยตา วิธีการตรวจสอบที่ถูกต้องจะต้องตรวจสอบ
ดีเอ็นเอ ปัจจุบันไทยยังมีข้อจำกัดเรื่องสถานที่ในการตรวจสอบ ซึ่งมีเพียงหน่วยงานสองแห่งที่สามารถทำได้ ได้แก่ ที่ สำนักวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพปทุมธานีและ DNATECH กำแพงแสน โดยมีค่าใช้จ่ายประมาณ 5,000 บาท ต่อ 1 ตัวอย่าง ในอนาคต อาจมีการขยายให้เอกชนทำการตรวจสอบดีเอ็นเอ คำแนะนำเบื้องต้นในการแก้ปัญหาการปลอมปนข้าวในมุมมองของบริษัทตรวจสอบระดับสากลอย่างบูโร เวอริทัส ได้แก่ การวางมาตรฐานส่งออกให้แยกออกจากกันชัดเจนทั้งล็อต กล่าวคือ 100 % เป็นข้าวหอมมะลิ หรือข้าวปทุมธานี 1 โดยไม่ต้องให้มีปลอมปนได้ จากนั้นจึงเป็นเรื่องของผู้ซื้อที่จะเลือกตามความต้องการ เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบในภาพลบต่อข้าวหอมมะลิของไทย
ดวงเดือน โกฏิแก้ว เจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญประจำห้องปฏิบัติการทดสอบพืชไร่ บูโร เวอริทัส กล่าวเสริมว่าข้าวปทุมธานีแม้จะคล้ายคลึงกับข้าวหอมมะลิ แต่ในด้านคุณภาพแล้วยังสู้ข้าวหอมมะลิไม่ได้ เนื่องจากจมูกข้าวของพันธุ์ปทุมธานี 1 จะขาวกว่าข้าวหอมมะลิ หากเก็บไว้นานข้าวปทุมธานีจะเหลืองไวกว่าและจะไม่เหลือความหอม และโดยปกติแล้ว หากหุงทิ้งไว้จะแข็งกว่าและไม่มียางเท่าข้าวหอม เป็นต้น
การตรวจสอบคุณภาพข้าวของบูโร เวอริทัส
ในส่วนของบริษัทตรวจสอบนั้น ถือว่ามีความสำคัญในการรักษามาตรฐานและชื่อเสียงของข้าวไทย ข้าวที่ผ่านเกณฑ์การตรวจสอบจะได้รับใบรับประกันคุณภาพอันเป็นหลักฐานสำคัญประกอบการส่งออกประเทศไทยถือเป็นประเทศแรกที่กำหนดมาตรฐานการส่งออกข้าวตั้งแต่ปี 2540 เพื่อสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันกับประเทศอื่น โดยอยู่ในความดูแลของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และกระทรวงพาณิชย์ พร้อมทั้งออกกฎให้มีบริษัทตรวจสอบที่ผ่านการรับรองจากกระทรวงพาณิชย์ ในส่วนของบูโร เวอริทัสเองถือเป็นผู้ตรวจสอบข้าวรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทยและยังเป็นศูนย์กลางของบูโร เวอริทัสทั่วโลกในเรื่องข้าวอีกด้วย บูโร เวอริทัส เป็นบริษัทที่มีสาขาทั่วโลก และได้รับการยอมรับในระดับสากล บุคลากรของบริษัทมีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในการตรวจสอบสูง บริษัทได้รับความไว้วางใจจากบริษัทส่งออกข้าวชั้นนำของไทย อาทิ บริษัทเพรซิเดนท์ อะกริ เทรดดิ้ง, บริษัทนครหลวงค้าข้าว, บริษัท เอเซีย โกลเด้น ไรซ์ จำกัด, บริษัทไทยฟ้า (2511) จำกัด, บริษัทซุ่นฮั้วเซ่งไรซ์ จำกัด เป็นต้น
การตรวจสอบข้าวจะแบ่งออกเป็นการตรวจสอบทางกายภาพ หรือการตรวจสอบด้วยสายตาโดยอาศัยความชำนาญ ซึ่งเป็นการตรวจสอบหน้างาน ที่ท่าเรือ โกดัง เช่นการตรวจดูพื้นข้าว จากการสุ่มตัวอย่างของข้าวที่จะส่งออก 100 เมล็ด มานั่งตรวจความยาวทุกเมล็ด ส่วนผสม สี กลิ่นและสิ่งที่อาจมีปนได้ของข้าว และตรวจถุงบรรจุข้าวเพื่อป้องกันการนำข้าวเกรดต่ำมาบรรจุในถุงที่ระบุเกรดสูง ตลอดจนตรวจกระสอบตามมาตรฐานกระทรวงพาณิชย์และเทรดเดอร์ ทั้งนี้ ข้าวแต่ละประเภท จะมีการแยกเกรดแตกต่างกัน อาทิ ข้าวขาวที่ส่งออกมากที่สุด จะคิดเกรดตามข้าวหัก เช่น ข้าวขาวเกรดเอ 100% จะมีข้าวหักได้ไม่เกิน 4.0% ซึ่งการดูข้าวหักจะคิดจากความยาวเมล็ดข้าว หากต่ำกว่า 5.2 มิลลิเมตร ถือว่าเป็นข้าวหัก เนื่องจากข้าวไทยจะมีความยาวเฉลี่ย 7 มิลลิเมตร เป็นต้น สำหรับข้าวหอมมะลิตามมาตรฐานข้าวไทยแล้วต้องมีความยาวเฉลี่ย 7 มิลลิเมตรขึ้นไป
นอกจากนี้ จะต้องมีการตรวจสอบทางเคมีในห้องปฏิบัติการ โดยแบ่งออกเป็น
1.การทดสอบหาปริมาณอมิโลส (Amylose Test) ปกติแล้วโครงสร้างของแป้งจะมีองค์ประกอบหลัก 2 ชนิด ได้แก่ อมิโลเปคติน (Amylopectin) ซึ่งให้คุณสมบัติเหนียวนุ่ม และอมิโลส (Amylose) ซึ่งทำให้ข้าวร่วนไม่เกาะตัว โดยข้าวขาวจะมีปริมาณอมิโลส มากกว่า ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์กำหนดปริมาณอมิโลสไว้ที่ 13-18 % สำหรับข้าวหอมมะลิ หากมากกว่านั้นจะถือเป็นข้าวขาว
2.การทดสอบหาปริมาณความชื้นในข้าว (Moisture Test)
3.การทดสอบหาปริมาณข้าวเจ้าพันธุ์อื่นที่ไม่ใช่ข้าวหอมมะลิไทยปน (Alkali Test) เป็นการตรวจสอบหาความบริสุทธิ์ของข้าวหอมมะลิ ด้วยน้ำยาเพื่อหาปริมาณข้าวเจ้าพันธุ์อื่นที่ไม่ใช่ข้าวหอมมะลิไทยปน โดยใช้เวลาทดสอบนาน ประมาณ 23 ช.ม. ทั้งนี้
4. Priliminary Test การตรวจสอบโดยการต้ม เนื่องจากข้าวขาวและข้าวหอมจะสุกในเวลาไม่เท่ากัน
การตรวจสอบคุณภาพข้าวไทยและข้าวหอมมะลิก่อนส่งออก นอกจากจะเป็นการรับประกันคุณภาพข้าวตามมาตรฐานการส่งออกข้าวของไทยและข้อกำหนดของต่างประเทศแล้ว ยังช่วยควบคุมคุณภาพให้ได้มาตรฐานที่สูงกว่าที่ภาครัฐกำหนด เพื่อให้ข้าวออกมาดูดี ทั้งในด้านของเมล็ดข้าว กลิ่น และองค์ประกอบหลังจากสุกแล้ว ซึ่งเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับคุณภาพข้าวไทยในตลาดโลก โดยบริษัท บูโร เวอริทัสจะให้การตรวจสอบคุณภาพข้าวอย่างเป็นกลาง โดยบริษัทจะทำการตรวจสอบข้าวในแต่ละล็อต เพื่อให้ทราบว่าได้คุณภาพตรงตามที่ลูกค้าต้องการและมาตรฐานที่กำหนดหรือไม่ หากพบว่าข้าวดังกล่าวไม่ได้มาตรฐานตามที่กำหนด ก็จะทำรายงานพร้อมข้อเสนอแนะเพื่อให้ลูกค้านำข้อมูลที่ได้ไปปรับปรุง จนได้คุณภาพตรงตามที่ต้องการในที่สุด นอกจากนี้ บูโร เวอริทัส ยังให้บริการตรวจสอบและรับรองคุณภาพแบบครบวงจร ไม่ว่าจะเป็นการตรวจสอบเรือใหญ่ และตู้คอนเทนเนอร์เพื่อบรรจุสินค้าก่อนส่งออก, การตรวจสอบสินค้าก่อนบรรจุเข้าตู้หรือลงเรือ, การตรวจสอบสินค้าขณะเข้าตู้หรือลงเรือ การรมยาสินค้า,การควบคุมความชื้น, การคุมสินค้าบนเรือใหญ่ เป็นต้น
มาริสา ศรีเกียรติศักดิ์ หัวหน้าฝ่ายการตลาดและการขาย บริษัทบูโร เวอริทัส กล่าวแสดงความคิดเห็นว่า ปัจจุบันมีโรงสีหลายแห่งที่มีศักยภาพสามารถส่งออกได้เอง เพียงแต่ยังไม่ทราบหรือไม่มั่นใจว่าคุณภาพข้าวของตนจะสอดคล้องกับมาตรฐานการส่งออกของไทยและเกณฑ์กำหนดของต่างประเทศหรือไม่ ซึ่งบูโร เวอริทัสสามารถให้คำแนะนำในส่วนนี้และข้อมูลเกี่ยวกับการส่งออกข้าวแก่ผู้สนใจ โดยบริษัทมีบริการให้การตรวจสอบและออกใบรับรองคุณภาพข้าวตามมาตรฐานการส่งออกอย่างครบวงจรและได้รับความไว้วางใจในระดับสากล
เกี่ยวกับบริษัทบูโร เวอริทัส(ประเทศไทย) จำกัด
บริษัทบูโร เวอริทัส (ประเทศไทย) จำกัด เป็นสาขาของบริษัทบูโร เวอริทัส (ประเทศฝรั่งเศส) จำกัด ซึ่งก่อตั้งเมื่อพ.ศ. 2371 และมีลูกค้าจำนวนกว่าแสนรายให้ความไว้วางใจ มีสาขากระจายอยู่ตามเมืองหลวงและเมืองท่าทั่วทุกทวีปใน 150 ประเทศ และมีสำนักงานมากกว่า 600 แห่งทั่วโลก สำหรับสาขาในประเทศไทยนี้ ก่อตั้งขึ้นในปี 2532 เปิดให้บริการตรวจสินค้าสำหรับผู้ประกอบธุรกิจอุตสาหกรรมอาหารทุกประเภท ได้แก่ อาหารกระป๋อง อาหารแช่แข็ง อาหารสำเร็จรูปต่างๆ เช่น ข้าว น้ำตาล ผลิตภัณฑ์จากมันสำปะหลัง สินค้า Consumer Product เช่น เฟอร์นิเจอร์ไม้และผลิตภัณฑ์ยาง ฯลฯ นอกจากนี้ ยังให้บริการต่างๆ ดังต่อไปนี้
Bivac Internationalเป็นบริษัทในเครือของบูโร เวอริทัสที่มีความเชี่ยวชาญด้านการค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะ อย่างยิ่ง ในด้านมาตรฐานการตรวจสอบสินค้าก่อนส่งออกและนำเข้าที่สำคัญ สำหรับรัฐบาลแต่ละประเทศ และรับประกันความถูกต้องของคุณภาพสินค้าและพิกัดภาษี จึงทำให้ลูกค้ามั่นใจได้ว่า สินค้าที่ได้รับการตรวจจากบูโร เวอริทัส นั้น มีความถูกต้องตรงตามมาตรฐานของประเทศต่างๆ ที่ต้องการ
การตรวจสินค้าก่อนส่งออก (Pre-shipment Inspection)
– สินค้าพืชไร่ ได้แก่ ข้าว แป้ง น้ำตาล ข้าวโพด ถั่ว เมล็ดกาแฟ และอื่นๆ ซึ่งทางบริษัทจะครอบคลุมการตรวจสินค้าไปยังทุกประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะกลุ่มประเทศในทวีปแอฟริกา ตะวันออกกลาง เอเชีย และยุโรป
– สินค้าอุตสาหกรรม เช่น ซีเมนต์ ถ่านหิน ยิปซั่ม อะไหล่รถยนต์ ฯลฯ
– สินค้าอาหารแปรรูป เช่น เครื่องกระป๋อง อาหารแช่แข็ง ฯลฯ
การบริการด้านการรมยาสินค้าเกษตรกรรม (Fumigation service) และผลิตภัณฑ์ไม้ (Wooden product) และ
ผลิตภัณฑ์ยาง (Rubber product) ซึ่งทางบริษัทมีทีมงานที่มีประสบการณ์เฉพาะด้านกว่า 20 ปี ซึ่งการให้บริการอบยามีอยู่ด้วยกันหลายแบบ ดังนี้
– การรมยาสินค้าแบบเทกองสินค้า (stack) ก่อนบรรจุสินค้าเข้าตู้คอนเทนเนอร์, การรมยาในตู้คอนเทนเนอร์ (Container : FCL, LCL) , การรมยาบนเรือใหญ่ (Lighter และ Vessel) และการรมยาในโกดัง (Warehouse)
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับบริการการตรวจสินค้า การรมยา หรือบริการอื่นๆ ได้ที่
บริษัทบูโร เวอริทัส (ประเทศไทย) จำกัด
51/11-12 หมู่ 9
สุขุมวิท 105 ถนนสุขุมวิท
บางนา กรุงเทพฯ 10260
โทร 0 2748 7487 # 104-6
แฟ็กซ์ 0 2398 0453-5
เว็บไซท์ http://www.sea.bureauveritas.com
http://www.bvthailand.com
สอบถามข้อมูลเรื่องข้าวและการส่งออกข้าว :
สถาบันวิจัยข้าว กรมวิชาการเกษตร
เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900
โทร. 579-7560, 940-6292
เว็บไซท์ www.doa.go.th
เว็บไซท์ตลาดการค้าข้าวที่สำคัญ :
www.riceonline.com
www.ricemill.com