กทช.ดีเดย์วันสื่อสารแห่งชาติ มอบ 6 ใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม TOT-CAT

กทช.คลอดแล้ว 6 ใบอนุญาตมอบทีโอที.และกสท. ยึดฤกษ์ดีวันสื่อสารแห่งชาติ ก้าวใหม่การพัฒนาอุตสาหกรรมโทรคมนาคมของประเทศอย่างแข็งแกร่ง มั่นใจเกิดการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรมมากขึ้น เพิ่มทางเลือกใหม่ผู้ใช้บริการโทรคมนาคม ชี้แนวโน้มราคาค่าบริการถูกลง ย้ำเดินหน้า USO ลดความเหลื่อมล้ำสังคมชนบท-เมือง

พล.อ.ชูชาติ พรหมพระสิทธิ์ ประธานกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เปิดเผยว่า เนื่องในวันที่ 4 สิงหาคม 2548 เป็นวันสื่อสารแห่งชาติ คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทช.) ถือเป็นโอกาสอันดีโดยจัดพิธีมอบใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมให้แก่ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) (TOT) และบริษัท กสท.โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) (CAT) ซึ่งเป็นก้าวสำคัญอีกก้าวหนึ่งในการพัฒนากิจการโทรคมนาคมของประเทศ ให้สามารถเติบโตอย่างแข็งแกร่งรับความเปลี่ยนแปลงในกระแสโลกาภิวัตน์ของโลกได้อย่างเท่าทัน

บัดนี้ กทช. ได้พิจารณาออกใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่สาม แบบที่หนึ่ง และใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่หนึ่ง(สำหรับบริการอินเตอร์เน็ต) ให้แก่บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) แบบที่สาม ประกอบด้วย 1. การบริการโทรศัพท์ประจำที่ (Public Switched Telephone Service) ได้แก่ บริการโทรคมนาคมประจำที่ PSTN ซึ่งรวม ISDNบริการโทรคมนาคมเคลื่อนที่ 470 MHz และบริการโทรคมนาคมเคลื่อนที่ 900 MHz 2.บริการวิทยุคมนาคมเฉพาะกลุ่ม ได้แก่ บริการโทรคมนาคมติดตามตัว 3.บริการโทรคมนาคมระหว่างประเทศ ได้แก่ บริการโทรคมนาคมให้แก่ประเทศเพื่อนบ้านที่มีอาณาเขตติดต่อกับประเทศไทย 4.บริการคู่สายเช่า/วงจรเช่า ได้แก่ บริการคู่สายเช่าภายในและระหว่างประเทศ

ใบอนุญาตประกอบกิจการกิจการโทรคมนาคมแบบที่หนึ่ง ได้แก่ บริการออดิโอเท็กซ์ บริการบัตรโทรศัพท์ และใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม แบบที่หนึ่ง (สำหรับการให้บริการ อินเตอร์เน็ต)

ด้าน บริษัท กสท.โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่สามและแบบที่หนึ่ง แบบที่สามประกอบด้วยการให้บริการดังนี้

1.บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ได้แก่ บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เซลลูล่าร์ ระบบ CDMA 800 MHz ระบบ 800 MHz ระบบ 1800 MHz(PCN 1800 MHz)
2.บริการเพ็กเก็จสวิชท์ บริการไทยแพ็คในและระหว่างประเทศ
3.บริการวิทยุคมนาคมสำหรับกิจการทางทะเลกิจการทางการบิน ได้แก่บริการวิทยุโทรศัพท์ระหว่างฝั่งกับเรือเดินทะเล การบริการวิทยุโทรเลขติดต่อกับเรือ
4.บริการวิทยุโทรคมนาคมเฉพาะกลุ่ม ได้แก่ บริการวิทยุคมนาคมเฉพาะกิจ ย่าน VHF,UHF (ส่วนบุคคล แบบมือถือ ระบบ Trunked Mobile แบบติดตามตัว) บริการวิทยุโทรศัพท์สาธารณะ ย่าน HF VHF และบริการวิทยุติดตามตัวระบบ Tone and Voice ย่าน VHF และบริการวิทยุสำหรับรถยนต์รับจ้าง สาธารณะ(TAXI)
5.บริการรับ-ส่งสัญญาณผ่านดาวเทียม จากสถานีแม่ข่าย (บริการรับส่งสัญญาณถ่ายทอดโทรทัศน์)
6.บริการสื่อสารผ่านดาวเทียมที่ใช้จานสายอากาศขนาดเล็ก ทีมีสถานีแม่ข่ายเป็นของตนเองเพื่อให้บริการแก่บุคคลทั่วไปจำนวนมาก (บริการโกลบแซ็ท ในและระหว่างประเทศ)
7.บริการสื่อสารข้อมูล (Datacommunication) อาทิ บริการเฟรมลิงค์ ในและต่างประเทศ บริการ Business IP บริการสื่อสารข้อมูล ความเร็วสูงระบบ ATM ในและระหว่างประเทศ
8.บริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศ
9.บริการพหุสื่อสารความเร็วสูง ส่วนใบอนุญาตแบบที่หนึ่ง ได้แก่ การบริการการ์ดโทรศัพท์ระหว่างประเทศ เช่น บริการ PhoneNet Card บริการ ThaiCard และใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม แบบที่หนึ่ง (สำหรับการให้บริการ อินเตอร์เน็ต)

ที่ผ่านมาคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ได้เร่งดำเนินการเพื่อวางกรอบกติกาที่เป็นรากฐานสำคัญ สำหรับการกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมในหลายเรื่อง ทั้งเรื่องการจัดทำแผนแม่บทกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ 2548-2550 ประกาศหลักเกณฑ์สำคัญๆ ตามมาตรา 7 มาตรา 8 และมาตรา 17 แห่ง พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2544 ซึ่งได้แก่ลักษณะและประเภทของกิจการโทรคมนาคมที่ต้องได้รับใบอนุญาต หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่สาม แบบที่สอง และแบบที่หนึ่ง และหลักเกณฑ์การให้บริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึง จนในที่สุดได้ข้อสรุปและสามารถออกใบอนุญาตให้แก่ 2 บริษัทฯข้างต้นได้อย่างเรียบร้อย ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษาวันที่ 3 สิงหาคม 2548 และมีผลบังคับใช้ได้ตามกฎหมายทันที

“มั่นใจว่าหลังมอบใบอนุญาตให้แก่ทั้ง 2 บริษัทฯ ผลดีที่จะเกิดขึ้นหลังการวางกรอบหลักเกณฑ์การกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคม นอกเหนือจากกฎเกณฑ์การแข่งขันที่เสรี เป็นธรรม ผู้บริโภคมีทางเลือกในการเลือกใช้บริการเพิ่มมากขึ้นแล้ว การให้บริการโทรคมนาคมมีคุณภาพดีขึ้น และราคาการให้บริการมีแนวโน้มที่จะถูกลงแล้ว สิ่งที่ถือว่าเป็นประเด็นสำคัญในการสร้างมิติใหม่ให้เกิดขึ้นแก่วงการอุตสาหกรรมโทรคมนาคมของประเทศไทยอย่างแท้จริงก็คือ การจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการสังคมอย่างจริงจัง เนื่องจากผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมที่รับใบอนุญาต มีภารกิจในการให้บริการโทรคมนาคมพื้นฐานอย่างทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม และประโยชน์สูงสุดอยู่กับประชาชน โดยเฉพาะความชัดเจนเรื่องอัตราค่าธรรมเนียมใบอนุญาต 3% จากฐานรายได้การดำเนินงานของบริษัทที่ขอรับอนุญาต ค่าธรรมเนียมเลขหมายโทรคมนาคม 1บาท/เดือน และการจัดเก็บเงินจำนวน 4% จากฐานรายได้การดำเนินงานของบริษัทที่ขอรับอนุญาตเฉพาะรายที่ไม่สามารถให้บริการสาธารณะในพื้นที่ที่กทช.กำหนด เพื่อนำเงินดังกล่าวเข้ากองทุนพัฒนากิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ USO (Universal Service Obligation) อันจะทำให้เกิดการบริการด้านโทรคมนาคมอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกัน นับจากนี้ต่อไป” ประธาน กทช.กล่าว

ในช่วงที่ผ่านมา ประเทศไทยยังมีความเหลื่อมล้ำระหว่างสังคมชนบทและสังคมเมืองสูง อันเป็นผลมาจากการมุ่งประกอบการการดำเนินธุรกิจในเชิงพาณิชย์ ที่ทำให้ผู้ประกอบการเห็นว่า การขยายไปสู่พื้นที่เหล่านี้ ต้องใช้ต้นทุนสูง ไม่คุ้มทุน ที่ผ่านมาการแก้ไขจุดบอดในด้านนี้จึงยังไม่มีความคืบหน้ามากนัก ซึ่งกทช.ได้เล็งเห็นความสำคัญเรื่องนี้ จึงได้กำหนดรายละเอียดเงื่อนไขต่างเพื่อให้เกิดการพัฒนาและประโยชน์สูงสุดตกไปสู่ผู้ด้อยโอกาสอย่างทั่วถึง รวมถึงการบริการทางด้านสังคมด้วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทางการแพทย์ การศึกษา และศาสนา

กทช.ได้เน้นให้ความสำคัญเรื่องการให้บริการโทรคมนาคมอย่างทั่วถึงและครอบคลุมทุกพื้นที่ไม่ว่าห่างไกล หรือทุรกันดารแค่ไหน ประชาชนจะต้องมีโทรศัพท์บ้านและโทรศัพท์มือถือใช้ จากข้อมูลการสำรวจหมู่บ้านทั่วประเทศของกระทรวงมหาดไทย เมื่อปี 2546 ระบุว่าในจำนวนหมู่บ้าน 78,487 แห่งทั่วประเทศ มีหมู่บ้านที่ไม่มีโทรศัพท์สาธารณะจำนวน17,639 แห่ง ไม่มีโทรศัพท์บ้าน 15,775 แห่งและ ไม่มีสัญญาณโทรศัพท์มือถือ 4,312 แห่ง