ริเวอร์แควประกาศยอดขายครึ่งปีแรกกว่า 821 ล้านบาท

นายโรจน์ บุรุษรัตนพันธุ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ริเวอร์แคว อินเตอร์เนชั่นแนล อุตสาหกรรมอาหาร จำกัด ผู้ผลิตและส่งออกข้าวโพดหวานทั้งในรูปแบบกระป๋องและผักสด ร่วมทั้งผลิตและจัดจำหน่ายผักเกษตรอินทรีย์รายใหญ่ของประเทศไทย เปิดเผยถึง
ผลการดำเนินงานในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2548 ว่า บริษัทมียอดขายรวมในช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้ประมาณ 821 ล้านบาท
ในขณะที่ยอดขายรวมทั้งปีของปี2547 มี 1,340 ล้านบาท ถือว่าเป็นผลประกอบการที่ดีตามความคาดหมายของบริษัท สำหรับธุรกิจข้าวโพดหวานนั้น การตลาดมีการขยายตัวประมาณร้อยละ 50 โดยเฉพาะตลาดยุโรป ซึ่งเป็นผลจากการลงทุนด้านการตลาดที่ได้ดำเนินการไปในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2547 โดยธุรกิจจะยังมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง หากไม่มีอุปสรรคที่สำคัญเข้ามากระทบ

นายโรจน์กล่าวถึงอุปสรรคสำคัญของธุรกิจ ว่า มีอุปสรรคสำคัญ 2 ด้าน ด้านแรกคือต้นทุนผลิตปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะภาชนะบรรจุ(กระป๋องเปล่า)ที่ปรับตัวสูงขึ้นมากกว่าร้อยละ 25 เนื่องจากราคาเหล็กในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น ปัจจุบันราคาน้ำมันส่งผลกระทบกับปัจจัยผลิตหลายรายการ ไม่ว่าจะเป็นต้นทุนวัตถุดิบ ค่าเชื้อเพลิงที่ใช้ในโรงงาน และค่าขนส่ง อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ ได้ทะยอยปรับราคาขายกับลูกค้าให้สอดคล้องกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นด้วย อุปสรรคที่สำคัญอีกประการหนึ่งในปีนี้ คือ เรื่องภัยธรรมชาติ ซึ่งตอนต้นปีมีภาวะแล้งจัด ทำให้ผลผลิตต่ำกว่าเป้าหมาย และมีปัญหาด้านคุณภาพ ขณะเดียวกัน ณ ปัจจุบันมีฝนตกหนัก น้ำท่วมขังในบางพื้นที่ ทำให้ผลผลิตเสียหายบางส่วน และการเพาะปลูกในฤดูปัจจุบันจะลดน้อยลงกว่าแผนงาน เนื่องจากดินแฉะ เพาะปลูกไม่ได้เต็มที่ คาดว่าผลผลิตข้าวโพดหวานและยอดส่งออกในปีนี้ของประเทศไทย น่าจะเติบโตไม่เกินร้อยละ 15 ของปีที่ผ่านมา

สำหรับธุรกิจผักสดหรือผักเกษตรอินทรีย์นายโรจน์กล่าวว่า ตลาดหลักยังเป็นประเทศอังกฤษ ญี่ปุ่น และ ออสเตรเลีย โดยตลาดขยายตัวประมาณร้อยละ 20 สินค้าหลักยังเป็น ข้าวโพดอ่อน หน่อไม้ฝรั่ง กระเจี๊ยบ ชุดพร้อมทาน ขณะเดียวกัน ได้เริ่มเปิดตลาดในประเทศกับร้านสะดวกซื้อ 7-11 โดยเริ่มด้วยชุดสลัดพร้อมทาน สำหรับอุปสรรคสำคัญของธุรกิจผักสดคือ ค่าน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งนอกจากต้นทุนของเกษตรกรและการขนส่งเข้าโรงงานจะมีต้นทุนสูงขึ้นแล้ว ค่าขนส่งทางอากาศยังปรับตัวสูงขึ้นอย่างมาก ทำให้ประเทศไทยเสียเปรียบคู่แข่งขันประเทศในทวีปแอฟริกาใต้ เช่น ซิมบับเว แทนซาเนีย ที่มีภาระค่าขนส่งทางอากาศไปยังตลาดยุโรปประมาณ 60-70 บาท ต่อกิโลกรัม ขณะที่จากไทยที่มีระยะทางไม่ต่างกันมากนัก แต่มีค่าขนส่งสูงถึงกิโลกรัมละกว่า 90 บาท

“ ริเวอร์แควเป็นผู้บุกเบิกอุตสาหกรรมข้าวโพดหวาน เมื่อประมาณ 13-14 ปีที่ผ่านมา จากการที่ประเทศไทยไม่ได้มีบทบาทในตลาดโลกเลย จนปัจจุบันเป็นผู้ส่งออกอันดับ 4 ของโลก นำเงินตราเข้าประเทศมากกว่า 2,700 ล้านบาท ในปี 2547 ที่ผ่านมา และมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง นอกจากนี้ริเวอร์แควยังเป็นผู้เริ่มโครงการผักเกษตรอินทรีย์มาตรฐานยุโรปเมื่อ 6 ปีที่ผ่านมา ซึ่งประเทศไทยในช่วงนั้นยังไม่ได้ตื่นตัวเรื่องผักเกษตรอินทรีย์อย่างชัดเจน ทางริเวอร์แควฯ ได้นำหน่วยงานรับรองมาตรฐานจากประเทศอังกฤษเข้ามาวางพื้นฐานเรื่องการผลิตผักอินทรีย์เพื่อการส่งออก และธุรกิจขยายตัวมาโดยตลอด และปัจจุบันได้เริ่มโครงการหน่อไม้ฝรั่งอินทรีย์กับจังหวัดสุรินทร์ เป็นการขยายพื้นที่เพาะปลูกให้กว้างขวางขึ้น เป็นผลให้บริษัทได้รับรางวัล Prime Minister’s Export Award ประจำปี 2541 ในฐานะผู้ส่งออกดีเด่น นอกจากนี้ริเวอร์แควคือความเป็นบริษัทของคนไทยที่สามารถนำเงินตราจากการส่งออกสินค้าข้าวโพดหวานและผักสด มากกว่าปีละ 1,200 ล้านบาท กลับมาหมุนเวียนสร้างอาชีพที่มั่งคงให้เกษตรกรเกือบ 10,000 ครอบครัวที่เป็นสมาชิกเพาะปลูกวัตถุดิบ โดยจ่ายเงินค่าข้าวโพดหวาน และผักสด มากกว่า 300 ล้านบาทต่อปี นอกจากนี้ ยังมีการจ้างแรงงานในท้องถิ่นทำงานในโรงงานประมาณ 1,500 คน” นายโรจน์กล่าว

สำหรับปัญหาการส่งข้าวโพดหวานไปยังกลุ่มตลาดอียูนายโรจน์กล่าวว่า บทความในนิตยสาร FOODNEWS ซึ่งตีพิมพ์และเผยแพร่ในยุโรปเดือนกรกฏาคมที่ผ่านมา มีใจความตอนหนึ่งว่า……กลุ่มผู้ผลิตข้าวโพดหวานในยุโรป คือ ฝรั่งเศส และ ฮังการี ได้เตรียมยื่นเรื่องให้คณะกรรมการสหภาพยุโรปหรือ EU พิจารณาขึ้นภาษีข้าวโพดหวานจากประเทศไทยอีกร้อยละ 15 เป็นร้อยละ 20.1 โดยประธานสมาคมผู้ผลิตข้าวโพดหวานของยุโรป ได้ร้องเรียนเรื่องผู้ส่งออกข้าวโพดหวานจากประเทศไทย ส่งสินค้าข้าวโพดหวานบรรจุกระป๋องไปขายตัดราคาในยุโรป ทำให้ผู้ผลิตในฝรั่งเศส และ ฮังการี ได้รับความเดือดร้อน สูญเสียส่วนแบ่งการตลาดไป จนทำให้หลายโรงงานมีปัญหาทางด้านการเงิน ซึ่งทางสมาคมผู้ผลิตในยุโรปไม่มีทางเลือกอื่นที่จะปกป้องอุตสาหกรรม นอกจากการเสนอใช้มาตรการ Anti Dumping ด้วยการขอให้ขึ้นภาษีในครั้งนี้……จากบทความนี้ทางกลุ่มทางกลุ่มผู้ผลิตข้าวโพดหวานของประเทศไทย ได้ร่วมกันประชุมเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าวหลายครั้ง โดยได้แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อติดตามประเมินสถานการณ์ และได้ระสานงานกับกระทรวงพาณิชย์เพื่อเตรียมเจรจากับลกุ่มผู้ผลิตในอียูและเตรียมแนวทางชี้แจงกับทางอียูต่อไปหากมีการเสนอเรื่อง Anti Dumping นี้จริง เนื่องจากในปีที่ผ่านมาประเทศไทยได้ส่งสินค้าข้าวโพดหวานบรรจุกระป๋องขายไปในตลาดโลก 95,806 ตัน มูลค่ารวม 2,709 ล้านบาท โดยตลาดยุโรป เป็นตลาดใหญ่สุด ปริมาณ 45,222 ตัน มูลค่ารวม 1,436 ล้านบาท หรือ ประมาณร้อยละ 47 ของมูลค่ารวม

นายโรจน์กล่าวว่า หากทางคณะกรรมการสหภาพ EU มีมติเห็นชอบตามที่สมาคมผู้ผลิตข้าวโพดหวานของยุโรปเสนอไป จะก่อให้เกิดความเสียหายกับอุตสาหกรรมของประเทศเป็นอย่างมาก เนื่องจากตลาด EU เป็นตลาดที่สำคัญที่สุดของสินค้าข้าวโพดหวานจากประเทศไทย และมีแนวโน้มความต้องการมากขึ้นทุกปี ทางผู้ผลิตในยุโรปเองมีต้นทุนการผลิตสูงกว่าประเทศไทย จึงทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันลดลง แต่หากพิจารณาตามความเป็นธรรมแล้ว การแข่งขันในโลกเสรีน่าจะเปิดกว้างให้ผู้บริโภคเป็นผู้ตัดสินใจเลือกซื้อสินค้า ข้าวโพดหวานของยุโรปโดยรวมยังมีคุณภาพสูงกว่าของประเทศไทย เนื่องจากมีประสบการณ์ของอุตสาหกรรมมานาน ไม่ว่าจะเป็นการปรับปรุงสายพันธุ์ หรือ ขบวนการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีสูง การวางตำแหน่งของสินค้าอยู่ในกลุ่มบน มีการทำตลาดด้วย แบรนด์สินค้า ราคาก็ควรสูงกว่า สินค้าจากประเทศไทยที่ยังต้องพัฒนาคุณภาพ และผู้นำเข้าส่วนใหญ่นำไปขายเป็น House Brand หรือ ตาม Discount Store อย่างไรก็ตาม ผู้ผลิตในประเทศไทยควรต้องเริ่มพัฒนาคุณภาพสินค้ากันอย่างจริงจัง เพื่อเพิ่มศักยภาพการขายไปยังลูกค้ากลุ่มบนที่ยอมรับราคาสินค้าที่เหมาะสม น่าจะได้ประโยชน์และผลตอบแทนในระยะยาวที่ดีกว่าการขายราคาต่ำ แล้วมีการตัดราคากันเอง จนก่อให้เกิดข้อโต้แย้งจากทาง EU ในปัจจุบัน