คริส เครมเมอร์ กรรมการผู้อำนวยการของซีเอ็นเอ็น อินเตอร์เนชั่นแนล ได้เขียนบทความพิเศษเกี่ยวกับวงการนักข่าว ปัจจุบัน คริส เครมเมอร์ประจำการอยู่ ณ สำนักงานใหญ่ซีเอ็นเอ็น เมืองแอตแลนต้า สหรัฐอเมริกา
บ่อยครั้งที่ต้องอาศัยเหตุการณ์รุนแรงขนาดการโจมตีจากกลุ่มผู้ก่อการร้าย เพื่อจะทำให้เราระลึกถึงเหตุผลที่เข้าวงการนี้ตั้งแต่แรก ซึ่งคือเพื่อแจ้ง อธิบาย วางเรื่อง – เพื่อถ่ายทอดเรื่องสำคัญให้ดูน่าสนใจที่สุดเท่าที่จะทำได้ และยิ่งไปกว่านั้นคือเพื่อบำเพ็ญประโยชน์สำคัญแก่สังคม
แม้ปี 2005 จะล่วงเลยไปแล้วแปดเดือน แต่พวกเราส่วนใหญ่ที่รับผิดชอบด้านการรายงานข่าวนานาชาติยังคงฉงนกับความรุนแรงและความร้ายแรงของเหตุการณ์ที่ผ่านมา ปีนี้เริ่มด้วยเรื่องราวของเหตุการณ์หลังสึนามิ การสิ้นชีพและการเลือกตั้งของพระสันตะปาปาองค์ใหม่ ตามด้วยการเลือกตั้งควบคู่กับความขัดแย้งที่ดูราวกับจะไร้ทางออกในประเทศอิรัก และอุทกภัยวิปลาศในเมืองมุมไบที่คร่ากว่า 1000 ชีวิต
แนวโน้มที่ว่าเรากำลังจะเข้าสู่ช่วงเวลาแห่งการขาดข่าวที่มีสาระ หรือ “ฤดูไร้สาระ” (silly season) ได้แตกสลายไปทันที ครั้งแรกด้วยเหตุการณ์ก่อการร้ายครั้งเลวร้ายที่สุดในประเทศอังกฤษ ครั้งที่สองด้วยความหวาดผวาของผู้คน และด้วยเหตุการณ์ที่ฉกรรจ์พอๆกันในเมือง Sharm el Sheik ประเทศอียิปต์
ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นโดยที่ยังเหลือเวลาอีกสี่เดือนก่อนจะครบปี
พวกเราควรจะอุ่นใจว่าองค์กรสื่อต่างๆ ในการรายงานข่าวร้ายแรงเหล่านี้ได้ทำประโยชน์อัศจรรย์แก่สังคมโดยที่มิได้หวังผลตอบแทนใดๆ ขณะนั้นความคิดในแง่ลบที่มักครอบงำนักข่าว ก็ได้พ่ายต่อประกายจุดมุ่งหมายที่บอกว่าจริงๆแล้วสิ่งที่เราทำยังมีความสำคัญอยู่
ทว่าการวิจัยกลับชี้ว่าผู้ติดตามข่าวในปัจจุบันมีความคิดเห็นค่อนข้างแย่เกี่ยวกับนักข่าวและสื่อ พวกเขาโทษความผิดพลาดในการตัดสินและรายงานข่าว รวมถึงการทำข่าวแบบแย่ๆสำหรับความรู้สึกเหล่านี้
อย่างไรก็ตามจะเห็นได้จากเหตุการณ์หลังสึนามิและล่าสุดในกรุงลอนดอนว่า ประชาชนมีความพร้อมครั้งใหม่ที่จะโอบรับสื่อในฐานะช่องทางสำหรับการนำเสนอรูปภาพและวีดีโอที่ตนถ่ายเอง ยุคดิจิตอลซึ่งกล้องถ่ายวิดีโอและโทรศัพท์มือถือถ่ายภาพมีเกลื่อนกลาดกำลังผลักดันให้ประชาชนและสื่อต่างๆใกล้ชิดกันมากขึ้นในลักษณะนี้
เครือข่ายข่าวที่มีสัมพันธ์แข็งแกร่งกับอินเตอร์เน็ต อาทิ บีบีซีหรือซีเอ็นเอ็น กำลังเห็นการหลอมรวมที่ชัดเจนยิ่งขึ้นระหว่างประชาชนและสื่อ อาจนับได้ว่าในตอนนี้คำให้การ ภาพ รวมถึงคำร้องขอความช่วยเหลือในการเสาะหาเพื่อนหรือญาติที่หายไปนั้นได้เป็นส่วนหนึ่งของข่าวไปแล้ว แม้แต่ “แท่นข่าว” ที่ปรากฏอยู่ล่างจอโทรทัศน์ในบางกรณีก็ทำหน้าที่เป็นศูนย์รวมข้อความส่วนตัว ในขณะเดียวกันกับที่เหตุการณ์นั้นๆกำลังเกิดขึ้นอยู่
เมื่อก้าวสู่ปีที่ 40 ในวงการนักข่าว สำหรับผม การที่สื่อไม่ได้รับความไว้วางใจอาจเป็นประสบการณ์ที่น่าท้อแท้บ้าง ทว่าปฏิกิริยาครั้งใหม่ระหว่างประชาชนกับสื่อ และการพบปะของผมกับนักข่าวจากต่างประเทศเมื่อไม่นานมานี้ ล้วนแล้วแต่เพิ่มความมั่นใจที่ผมมีต่อทิศทางและอนาคตของวงการนี้
ระหว่างอยู่ในประเทศเคนยาผมได้พบกับนักข่าวจากกว่า 40 ประเทศที่เข้าร่วมงานแจกรางวัล CNN – Multichoice African Journalists Awards ซึ่งปีนี้เป็นที่ 10 ที่นักเขียนและผู้ประกาศข่าวร่วม 100 ท่านจากทวีปที่ระคายเคืองด้วยปัญหานี้ เข้าแข่งขันกันเพื่อไขว่คว้าการยอมรับจากคนที่อยู่ในวงการเดียวกัน
นักข่าวของแอฟริกาไม่มีเวลามานั่งสงสารตัวเอง ผมถูกเตือนสติว่าอาชีพที่พวกเขาเลือกนั้นลำบากยิ่ง การสนับสนุนจากเจ้านายแทบจะไม่มีเลย ส่วนผลตอบแทนก็น้อยนิด อีกทั้งยังต้องทำงานภายใต้สิ่งแวดล้อมที่อันตรายมากด้วย โดยรางวัลหนึ่งถูกมอบแก่แม่หม้ายและลูกสาวของบุคคลที่เสียชีวิตแล้ว Dyda Hydara ผู้สื่อข่าวของ AFPในเมือง Banjul ประเทศแกมเบีย ผู้เป็นบรรณาธิการร่วมของหนังสือพิมพ์ The Point เขาถูกยิงและสังหารโดยมือปืนนิรนามในเดือนธันวาคมของปี 2004 ขณะกำลังขับรถกลับบ้าน หลังจากที่ได้ปิดต้นฉบับหนังสือพิมพ์
ไม่นานเกินรอพวกเขาก็ทำการวิพากวิจารณ์สื่อมั่งคั่งของฝั่งตะวันตก โดยมีผมเป็นตัวแทน ว่าทำข่าวแบบขี้เกียจ มัวแต่เน้นข่าวที่พื้นๆธรรมดาๆ พร้อมความเห็นโดยรวมว่าพวกเราได้สูญเสียเนื้อเรื่องที่แท้จริงของข่าวไปแล้ว
ย้อนกลับไปเมื่ออาทิตย์ก่อนที่เมืองแอตแลนต้า ผมถูกเตือนสติอีกครั้งเมื่อผู้ประกาศข่าวอายุน้อยกลุ่มหนึ่งจากประเทศอิสราเอล เลบานอน โปแลนด์ ยูเครน เกาหลีใต้ จีน และปากีสถานได้เข้าร่วมงาน International Professional Program งานสัมนาฝึกอบรมเครือต่างประเทศของซีเอ็นเอ็นที่มีขึ้นสามครั้งต่อปี เมื่องานสิ้นสุดลงพวกเขาได้อ้อนวอนให้องค์กรสื่อที่เพียบพร้อมอย่างซีเอ็นเอ็นและบีบีซี ช่วยระลึกถึงหน้าที่ต่อคนทั้งโลกในการทำประโยชน์แก่สังคม
พวกเขากล่าวหาสื่อเมนสตรีมใหญ่ๆเหล่านี้เช่นกันว่า ไม่เพียงแต่เน้นข่าวที่ไม่สำคัญและตื้นมากจนเกินไปเท่านั้น แต่ยังหมกมุ่นกับการนำเสนอข่าวมากกว่าเนื้อหาของข่าว มีน้ำมากกว่าเนื้อ โดยมักให้ความสำคัญกับการรายงานอาญชากรรมเล็กๆ เรื่องเกี่ยวกับกระแสไลฟ์ไสตล์ รายการ reality tv และข่าวเกี่ยวกับดารา เช่นคดีของไมเคิล แจ๊กสัน
“อย่าบอกพวกเราแค่เกี่ยวกับจอร์จ บุช และสงครามในอิรักตลอดเวลา” ผู้สื่อข่าวคนหนึ่งจากเบรุตกล่าว “บอกพวกเราเกี่ยวกับชาวอเมริกันธรรมดา ว่าพวกเขาใช้ชีวิตกันอย่างไร”
ทั้งหมดล้วนหลงใหลในความกระหายที่จะเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับโลกใบนี้ พร้อมรู้สึกว่าเป็นหน้าที่ของพวกสื่อยักษ์ใหญ่ที่จะต้องนำข้อมูลเหล่านี้สู่ห้องส่งของพวกเขา “ถ้าคุณไม่สามารถหรือไม่ยอมทำมัน” พวกเขากล่าว “แล้วพวกเราที่เหลือจะมีโอกาสอะไรอีก”
“พวกเรามองคุณเป็นบรรทัดฐานของสิ่งที่เราทำ”
กลุ่มหนุ่มสาวกลุ่มนี้รักที่จะเรียนรู้เพิ่มเติมอย่างเป็นเอกฉันท์เกี่ยวกับ ความเที่ยงตรงในบทบาทบรรณาธิการ การไม่มีอคติ ความโปร่งใสของสื่อและการรายงานแบบสืบสวน แม้บางคนอาจสงสัยว่าจะสามารถปฏิบัติทั้งหมดนี้ได้อย่างเต็มที่หรือไม่เมื่อหวนสู่ประเทศตนเอง
มุมมองที่เปิดเผยของพวกเขาและของเพื่อนร่วมงานผมในแอฟริกา เป็นประสบการณ์ที่น่านอบน้อมยิ่ง