ไทย-ออสเตรเลีย : พันธมิตรการค้าก้าวสู่ภาวะขาดดุล

สถานการณ์การค้าระหว่างประเทศของไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้ คาดว่าน่าจะมีแนวโน้มกระเตื้องขึ้น หลังจากที่รายงานการค้าล่าสุดเดือนกรกฎาคม ไทยมียอดขาดดุลการค้าในเดือนดังกล่าวลดลง โดยมีมูลค่าขาดดุลประมาณ 338 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับยอดขาดดุลการค้าเฉลี่ยรายเดือนในช่วงก่อนหน้านี้ ซึ่งมีมูลค่าเฉลี่ยประมาณ 1,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ/เดือน แต่อย่างไรก็ตาม ภาวะการขาดดุลการค้าของไทยในช่วงปีนี้ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในรอบ 7 ปี ถือว่าเป็นสัญญาณเตือนให้ภาครัฐและภาคเอกชนต้องหันมาทบทวนและกระตือรือร้นด้านการส่งออกอย่างรอบคอบ พร้อมกับดูแลการนำเข้าให้เหมาะสม เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ไทยต้องเผชิญปัญหาการขาดดุลการค้ารุนแรงอีก

เป็นที่น่าสังเกตว่า ในบรรดาประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย 10 อันดับแรก ปรากฏว่ามีจำนวน 4 ประเทศที่ไทยเกินดุลการค้าด้วย ส่วนที่เหลืออีก 6 ประเทศ ไทยเป็นฝ่ายขาดดุลการค้า ซึ่งในจำนวนนี้ ออสเตรเลีย ถือว่าเป็นคู่ค้าที่น่าจับตามอง เนื่องจากเคยเป็นชาติที่ไทย เกินดุลการค้าในช่วงที่ผ่านๆมา แต่สถานการณ์กลับพลิกผันในปี 2548 โดยไทยเป็นฝ่ายขาดดุลการค้ากับออสเตรเลีย 251.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ เทียบกับยอดเกินดุล 194.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงเดียวกันปี 2547 ทั้งนี้เป็นผลมาจากการที่ไทย นำเข้าสินค้าสำคัญ 2 รายการจากออสเตรเลียเป็นจำนวนมาก ได้แก่ น้ำมันดิบ และทองคำ ซึ่งมีอัตราขยายตัวสูงถึง 332.95% และ 151.49% ตามลำดับ สินค้าทั้งสองรายการมีสัดส่วนรวมกันประมาณ 46.5% ของมูลค่านำเข้าทั้งหมดของไทยจากออสเตรเลีย ปัจจุบัน ออสเตรเลียเป็นตลาดส่งออกอันดับ 8 ของไทย และเป็นแหล่งนำเข้าอันดับที่ 10 ของไทย

* สินค้าต้องระวัง … ไทยนำเข้าจากออสเตรเลียเพิ่มขึ้น ได้แก่

– น้ำมันดิบ – ความต้องการน้ำมันและราคาน้ำมันที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องทำให้การนำเข้าน้ำมันดิบของไทยพุ่งขึ้นตั้งแต่ต้นปี 2548 ถือเป็นสินค้านำเข้าอันดับ 1 ของไทยในช่วง 7 เดือนแรกนี้ ด้วยมูลค่านำเข้าน้ำมันดิบรวม 10,332 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นถึง 87% ไทยนำเข้าน้ำมันดิบจากออสเตรเลียเพิ่มขึ้น 332.95% มูลค่านำเข้า 342.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2548 เทียบกับ 79.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ช่วงเดียวกันของปี 2547 คิดเป็นสัดส่วน 17.15% ของการนำเข้าทั้งหมดของไทยจากออสเตรเลีย โดยอัตราภาษีนำเข้าน้ำมันดิบของไทยจากออสเตรเลียเป็น 0% ตั้งแต่ก่อนจัดทำเขตการค้าเสรี (FTA) กับออสเตรเลีย ออสเตรเลียเป็นแหล่งนำเข้าน้ำมันดิบอันดับ 6 ของไทย คิดเป็นสัดส่วน 3.32% ของการนำเข้าน้ำมันดิบทั้งหมดของไทย

– ทองคำ – ไทยนำเข้าทองคำจากออสเตรเลียเพิ่มขึ้นถึง 151.49% มูลค่านำเข้า 585.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2548 คิดเป็นสัดส่วน 29% ของการนำเข้าทั้งหมดของไทยจากออสเตรเลีย ถือเป็นสินค้านำเข้าอันดับ 1 ของไทยจากออสเตรเลีย โดยไทยนำเข้าทองคำจากออสเตรเลียเป็นอันดับ 1 มาโดยตลอด และในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2548 สัดส่วนการนำเข้าทองคำจากออสเตรเลียเพิ่มขึ้นเป็นราวครึ่งหนึ่งของการนำเข้าทองคำทั้งหมดของไทย และเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ไทยขาดดุลการค้ากับออสเตรเลียในช่วง 7 เดือนแรกนี้ ทั้งนี้ ออสเตรเลียเป็นประเทศที่มีทรัพยากรแร่ธาตุที่สำคัญๆ จำนวนมาก รวมถึงทองคำ โดยออสเตรเลียเป็นหนึ่งในประเทศที่ผลิตทองคำสำคัญของโลก คิดเป็นสัดส่วนการผลิตทองคำราว 10% ของการผลิตทองคำทั้งหมดของโลก

ประเทศที่ไทยนำเข้าทองคำรองลงมา ได้แก่ สวิตเซอร์แลนด์ มูลค่านำเข้า 7 เดือนแรกราว 207.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 83% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปี 2547 คิดเป็นสัดส่วน 17.6% ของการนำเข้าทองคำทั้งหมดของไทย โดยไทยนำเข้าทองคำทั้งหมดรวม 1,094.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 69.52% จากช่วง 7 เดือนแรกของปี 2547

สาเหตุที่ไทยนำเข้าทองคำเพิ่มขึ้นมาก เนื่องจากความต้องการซื้อทองคำของไทยเพิ่มขึ้น เพื่อเป็นหลักประกันความเสี่ยงเงินเฟ้อในช่วงที่น้ำมันมีราคาแพงขึ้นเรื่อยๆ แม้ว่าราคาทองคำ ขยับสูงขึ้นเช่นกันในช่วงนี้ แต่ยังมีแรงซื้อทองคำเพื่อเก็บออม เพราะเกรงว่าราคาทองคำจะแพงขึ้นอีก ทำให้ตัวเลขมูลค่านำเข้าทองคำพุ่งขึ้นมาก ส่วนใหญ่การนำเข้าทองคำเพื่อจำหน่ายภายในประเทศ และส่วนหนึ่งเป็นการนำเข้าทองคำเพื่อนำมาผลิตเป็นเครื่องประดับทองคำสำหรับส่งออก การส่งออกเครื่องประดับที่ทำด้วยทองคำของไทยขยายตัวราว 46% มูลค่าส่งออกรวม 597 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วง 7 เดือนแรกปี 2548 โดยส่งออกไปสหรัฐฯ ราวครึ่งหนึ่งของการส่งออกเครื่องประดับที่ทำด้วยทองคำทั้งหมดของไทย มูลค่าส่งออก 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ รองลงมา ได้แก่ อังกฤษ (สัดส่วน 6.7%) มูลค่าส่งออก 40 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นต้น

ทั้งนี้ภาษีนำเข้าทองคำของไทยจากออสเตรเลียเป็น 0% ตั้งแต่ก่อนจัดทำ FTA ไทย-ออสเตรเลีย รวมทั้งไทยยกเว้นภาษีนำเข้าให้ออสเตรเลียสำหรับอัญมณีเครื่องประดับบางรายการ เช่น เครื่องทองหรือเครื่องเงินที่ทำด้วยโลหะมีค่า ซึ่งเดิมไทยเก็บภาษีในอัตรา 20% ทำให้การนำเข้าสินค้าดังกล่าวสะดวกยิ่งขึ้น หลังจากการเปิดเสรีการค้าระหว่างกัน

– น้ำผลไม้และผลไม้กระป๋อง – ไทยนำเข้าน้ำผลไม้จากออสเตรเลียเพิ่มขึ้น 50% ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2548 จาก 2 แสนดอลลาร์สหรัฐฯ เป็น 3 แสนดอลลาร์สหรัฐฯ ทั้งนี้ไทยลดภาษีน้ำผลไม้/ผลไม้กระป๋องให้ออสเตรเลียจากที่เคยเก็บในอัตรา 30% เหลือ 24% ในวันที่ 1 มกราคม 2548 และจะเหลือ 0% ในปี 2553 ยกเว้นผลไม้รวมกระป๋องและสับปะรดกระป๋องที่ไทยยกเลิกภาษีให้ออสเตรเลียทันทีในวันที่ 1 มกราคม 2548 จากที่เคยเก็บในอัตรา 30%

– เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ – เพิ่มขึ้น 49.96% มูลค่านำเข้า 168.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2548 เทียบกับ 112.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงเดียวกันของปี 2547 คิดเป็นสัดส่วน 8.42% ของการนำเข้าทั้งหมดของไทยจากออสเตรเลีย ออสเตรเลียนับเป็นแหล่ง นำเข้าเหล็กและเหล็กกล้าอันดับ 7 ของไทย คิดเป็นสัดส่วน 2.98% ของการนำเข้าเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ทั้งหมดของไทย โดยไทยยกเลิกภาษีนำเข้าเหล็กแท่งแบน (Slab Steel) ให้ออสเตรเลีย ในวันที่ 1 มกราคม 2548 จากเดิมที่เก็บในอัตรา 1% ส่วนเหล็กอื่นๆ ทยอยลดภาษีจนเหลือ 0% อย่างช้าที่สุดภายใน2558

– สินแร่โลหะอื่นๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์ – นอกจากไทยนำเข้าทองคำจากออสเตรเลียเป็นอันดับ 1 แล้ว ไทยยังนำเข้าสินค้าโลหะอื่นๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์จากออสเตรเลียเป็นอันดับ 1 (สัดส่วนราว 17%) เช่นกัน ที่สำคัญ ได้แก่ ทองแดง และอลูมิเนียมและผลิตภัณฑ์ โดยช่วง 7 เดือนแรกของปี 2548 มูลค่านำเข้าสินค้าดังกล่าวของไทยจากออสเตรเลียเพิ่มขึ้น 37.47% มีมูลค่า 430 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วน 21.51% ของการนำเข้าทั้งหมดของไทยจากออสเตรเลีย โดยไทยยกเลิกภาษีขาเข้าสินแร่โลหะต่างๆ จากออสเตรเลียตั้งแต่ 1 มกราคม 2548 จากเดิมเก็บในอัตรา 1% กับสินค้านำเข้าดังกล่าวจากออสเตรเลีย

– ช็อคโกแลตและขนมหวาน – ไทยนำเข้าช็อคโกแลตและขนมหวานจากออสเตรเลียในช่วง 7 เดือนแรกปี 2548 เพิ่มขึ้น 22% จาก 1.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐใน 7 เดือนแรกปี 2547 เป็น 2.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ นับว่าออสเตรเลียเป็นแหล่งนำเข้าช็อคโกแลตและขนมหวานอันดับ 3 ของไทย รองจากอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ โดยไทยยกเลิกภาษีสินค้าช็อคโกแลตจากออสเตรเลียจากเดิมที่เก็บในอัตรา 10% และทยอยลดภาษีขนมหวานจากออสเตรเลียที่เก็บในอัตราเดิม 30% เป็น 24% ในวันที่ 1 มกราคม 2548 และจะลดลงเหลือ 0% ในปี 2553

– เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ไทยนำเข้าเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์จากออสเตรเลียเพิ่มขึ้น 15.8% เป็น 2.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วง 7 เดือนแรกนี้ จาก 1.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงเดียวกันปี 2547 โดยไทยทยอยลดภาษีไวน์ให้ออสเตรเลียจากอัตราภาษีเดิม 54% เป็น 40% ในวันที่ 1 มกราคม 2548 และเป็น 36% ในปี 2549 และจะทยอยลดภาษีจนเหลือ 0% ในปี 2558 จากข้อมูล กรมศุลกากร ไทยนำเข้าไวน์จากออสเตรเลีย ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2548 มีมูลค่า 71.23 ล้านบาท เพิ่มขึ้นราว 26.5% จากช่วงเดียวกันปี 2547 ที่นำเข้าไวน์จากออสเตรเลีย 56.27 ล้านบาท ทั้งนี้ ออสเตรเลียเป็นประเทศหนึ่งที่มีชื่อเสียงด้านการผลิตไวน์ที่มีคุณภาพชั้นนำของโลก

นอกจากนี้ไทยลดภาษีเบียร์และเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์อื่นๆ จากออสเตรเลีย จากเดิมที่เก็บอัตรา 60% เหลือ 30% ในวันที่ 1 มกราคม 2548 ทำให้ไทยนำเข้าเบียร์จากออสเตรเลียในช่วง 6 เดือนแรกในปี 2548 เพิ่มขึ้นถึง 246.9% จาก 0.29 ล้านบาท ในช่วงเดียวกันปี 2547 เป็น 1.02 ล้านบาท

* เป็นที่น่าสังเกตว่า แม้การลดภาษีนำเข้าของไทยให้กับออสเตรเลียภายใต้ FTA ทำให้ไทยนำเข้าสินค้ารายการที่ลดภาษีให้ออสเตรเลียมากขึ้น แต่สาเหตุหลักที่ทำให้ไทยขาดดุลการค้ากับออสเตรเลียในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2548 เนื่องจากไทยนำเข้าทองคำและน้ำมันดิบจากออสเตรเลียเพิ่มขึ้นมาก คิดเป็นสัดส่วนนำเข้ารวมราว 46.5% ของการนำเข้า ทั้งหมดของไทยจากออสเตรเลีย (ทองคำ 29.3% และน้ำมันดิบ 17.15%) โดยการขยายตัวการ นำเข้าทองคำและน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นถึงราว 151% และ 333% ตามลำดับ ซึ่งทั้ง 2 รายการนี้อัตราภาษีนำเข้าของไทยจากออสเตรเลียเป็น 0% อยู่แล้วตั้งแต่ก่อนจัดทำ FTA ไทย-ออสเตรเลีย แต่ที่ไทยนำเข้าทองคำและน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นมาก เพราะความต้องการซื้อทองคำที่เพิ่มขึ้น และสถานการณ์ที่ราคาน้ำมันสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องทำให้มูลค่านำเข้าน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นมาก อย่างไรก็ตาม คาดว่าการประกาศลอยตัวน้ำมันดีเซลของรัฐบาลจะทำให้การบริโภคน้ำมันในประเทศลดลง ส่งผลให้ปริมาณนำเข้าน้ำมันของไทยมีแนวโน้มชะลอตัวลงในช่วงครึ่งปีหลัง 2548 และการนำเข้าน้ำมันดิบจาก ออสเตรเลียจะชะลอตัวลงด้วย ซึ่งจะช่วยลดการนำเข้าโดยรวมของไทยจากออสเตรเลียในช่วงครึ่งปีหลัง 2548

* สินค้าส่งออกไทยสดใสในออสเตรเลีย ได้แก่

– รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ – ขยายตัว 75.70 % ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2548 โดยมีมูลค่าส่งออก 763.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เทียบกับ 434.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงเดียวกันของปี 2547 คิดเป็นสัดส่วน 43.7% ของสินค้าส่งออกทั้งหมดของไทยไปออสเตรเลีย โดยรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบเป็นสินค้าส่งออกอันดับ 1 ของไทยไปออสเตรเลียมาโดยตลอด และออสเตรเลียยังเป็นตลาดส่งออกรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบอันดับ 1 ของไทย รถยนต์ที่ไทยส่งออกไปออสเตรเลียที่สำคัญ ได้แก่

+ รถยนต์นั่งและรถปิกอัพซึ่งได้รับการยกเว้นภาษีจากข้อตกลง FTA ในวันที่ 1 มกราคม 2548 จากเดิมก่อนหน้านี้ที่ออสเตรเลียเก็บภาษีสินค้านี้จากไทยในอัตรา 15% ทำให้การส่งออกรถยนต์นั่งและรถแวน/รถปิกอัพของไทยไปออสเตรเลียในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2548 พุ่งขึ้น 260% (มูลค่า 185.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) และ 90.8% (283.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) ตามลำดับ ทั้งนี้ออสเตรเลียเป็นตลาดส่งออกรถยนต์นั่งอันดับ 2 ของไทย รองจากอินโดนีเซีย และเป็นตลาดส่งออกรถแวน/รถปิกอัพอันดับ 1 ของไทย (คิดเป็นสัดส่วน 18.94% ของการส่งออกรถปิกอัพทั้งหมดของไทย)

+ รถบัสและรถบรรทุก ออสเตรเลียเป็นตลาดส่งออกรถบัสและรถบรรทุกอันดับ 1 ของไทยเช่นกัน (สัดส่วน 69.55%) การส่งออกเพิ่มขึ้น 28% มีมูลค่าส่งออก 259.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

+ ส่วนประกอบและอุปกรณ์รถยนต์มีแนวโน้มสดใสในออสเตรเลีย เนื่องจาก ออสเตรเลียยกเว้นภาษีส่วนประกอบและอุปกรณ์รถยนต์ส่วนใหญ่ให้ไทย จากเดิมที่เก็บในอัตรา 5-15% ยกเว้นบางรายการที่ออสเตรเลียลดจากอัตราภาษีเดิมที่ 5-15% เป็น 5% ในวันที่ 1 มกราคม 2548 และจะเหลือ 0% ในปี 2553 ในช่วง 7 เดือนที่ผ่านมาการส่งออกส่วนประกอบและอุปกรณ์รถยนต์ของไทยไปออสเตรเลียเพิ่มขึ้น 11.4% มูลค่าส่งออกไปออสเตรเลีย 35.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แม้จะเป็นมูลค่าไม่มากและคิดเป็นสัดส่วนเพียง 2.46% ของการส่งออกส่วนประกอบและอุปกรณ์รถยนต์ทั้งหมดของไทย แต่แนวโน้มการส่งออกสินค้านี้จะขยายตัวต่อเนื่องจากการลดภาษีของออสเตรเลีย

– เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ – ขยายตัว 94.85% มูลค่าส่งออก 53 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2548 เทียบกับมูลค่าส่งออก 27.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงเดียวกันของปี 2547 คิดเป็นสัดส่วนราว 3% ของการส่งออกทั้งหมดของไทยไปออสเตรเลีย ทั้งนี้อัตราภาษีอุปกรณ์และส่วนประกอบของเครื่องคอมพิวเตอร์ของออสเตรเลียเกือบทั้งหมดเป็น 0% อยู่แล้วตั้งแต่ก่อนเริ่มจัดทำ FTA กับไทย การเปิดเสรี FTA ทำให้การส่งออกระหว่างไทยกับออสเตรเลียสะดวกยิ่งขึ้น

– สิ่งทอ/เครื่องนุ่งห่ม – เสื้อผ้าสำเร็จรูปของไทยส่งออกไปออสเตรเลียขยายตัว 10% จาก 11 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็น 12.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ใน 7 เดือนแรกปี 2548 ส่วนเคหะสิ่งทอเพิ่มขึ้น 20% จาก 2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็น 2.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ใน 7 เดือนแรกของปี 2548 จากการลดภาษีเสื้อผ้าสำเร็จรูปของออสเตรเลียให้กับไทยจากเดิมอัตราภาษี 25% เป็น 12.5% ในวันที่ 1 มกราคม 2548 (อัตราภาษีจะลดลงเหลือ 5% ในปี 2553 และ 0% ในปี 2558) ส่วนภาษีสิ่งทอบางรายการลดจาก 10-15% เหลือ 5% ในวันที่ 1 มกราคม 2548 เช่น สิ่งทอ เครื่องหนังต่างๆ (ยกเว้นพรม) โดยอัตราภาษีจะเป็น 0% ในปี 2553

– อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป – ขยายตัว 7.6% มูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้นจาก 71 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2547 เป็น 76.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงเดียวกันของปีนี้ คิดเป็นสัดส่วน 4.37% ของการส่งออกทั้งหมดของไทยไปออสเตรเลีย ที่สำคัญได้แก่ ทูน่ากระป๋องของไทยที่ส่งออกไปออสเตรเลียเพิ่มขึ้นราว 16% โดยมีมูลค่าส่งออก 45.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เนื่องจากออสเตรเลียลดภาษีให้ทูน่ากระป๋องไทยจาก 5% เหลือ 2.5% ในวันที่ 1 มกราคม 2548 และจะลดเหลือ 0% ในปี 2550 ทำให้สินค้าทูน่ากระป๋องไทยมีศักยภาพการแข่งขันดีขึ้นในตลาดออสเตรเลียถือเป็นตลาดส่งออกทูน่ากระป๋องที่สำคัญอันดับ 2 ของไทย รองจากสหรัฐฯ

– เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน มูลค่าการส่งออกรวม 17.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2548 เพิ่มขึ้น 1.76% – ออสเตรเลียเป็นตลาดส่งออกเฟอร์นิเจอร์สำคัญอันดับ 5 ของไทย รองจากสหรัฐฯ ญี่ปุ่น อังกฤษ และแคนาดา เฟอร์นิเจอร์ที่ส่งออกขยายตัวได้ดี ได้แก่ ที่นอนหมอนฟูก เพิ่มขึ้นราว 18% การส่งออก 7 เดือนแรกปี 2548 มีมูลค่า 4.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เฟอร์นิเจอร์ไม้ (เพิ่มขึ้น 15.79%) มูลค่าส่งออก 2.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยออสเตรเลียยกเว้นภาษีสินค้าเฟอร์นิเจอร์ส่วนใหญ่ให้ไทย จากเดิมที่เก็บภาษีในอัตรา 5% เช่น เฟอร์นิเจอร์ไม้ใช้ในสำนักงาน/ครัว/ห้องนอน เฟอร์นิเจอร์เหล็กที่ใช้ในสำนักงาน เฟอร์นิเจอร์ที่ทำจากพลาสติก และโคมไฟ เป็นต้น

ข้อสังเกต

* แม้อัตราภาษีขาเข้าสินค้าเกษตรของออสเตรเลียเป็น 0% อยู่แล้วตั้งแต่ก่อนจัดทำ FTA ไทย-ออสเตรเลีย แต่สินค้าเกษตรไทย ได้แก่ ผักผลไม้และอาหารประสบความยากลำบากในการเข้าสู่ตลาดออสเตรเลีย เนื่องจากมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (Sanitary and Phyto-Sanitary : SPS) และมาตรฐานด้านอาหาร (food standard) ของออสเตรเลียที่เข้มงวดมาก โดยไทยส่งออกสินค้าเกษตร ทั้งหมดไปออสเตรเลียคิดเป็นสัดส่วนเพียง 3.63% ของการส่งออกทั้งหมดของไทยไปออสเตรเลีย ขณะที่ไทยส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตรคิดเป็นสัดส่วน 8.26% และสินค้าอุตสาหกรรมคิดเป็นสัดส่วน 86.7%

แม้ความตกลง FTA ไทย-ออสเตรเลีย ได้จัดตั้งกลไกหารือด้าน SPS และมาตรฐานด้านอาหาร เพื่ออำนวยความสะดวกให้สินค้าเกษตรไทยเข้าสู่ตลาดออสเตรเลียได้ดีขึ้น โดยเฉพาะผลไม้ไทย นำร่อง 5 รายการ ได้แก่ มังคุด ลำไย ลิ้นจี่ ทุเรียน และสับปะรด แต่สินค้าผลไม้ส่งออกเหล่านี้ของไทยขยายตัวได้ไม่มากนัก เนื่องจากการหารือดังกล่าวระหว่างไทยกับออสเตรเลียยังไม่จบสิ้น เพราะการหารือกำหนดเป็นรายสินค้า นอกจากนี้คุณภาพผลไม้ของออสเตรเลียดีกว่าผลไม้ไทย และคนออสเตรเลียคำนึงถึงความปลอดภัยในการบริโภคเป็นสำคัญ แต่ในระยะยาวมีแนวโน้มว่า สินค้าผักผลไม้และอาหารของไทยมีโอกาสขยายตัวในตลาดออสเตรเลียได้มากขึ้น หากคุณภาพของสินค้าไทยเหล่านี้ได้มาตรฐานและได้รับความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยในการบริโภคจากคนออสเตรเลีย

ในช่วง 7 เดือนแรกปี 2548 ผลไม้ไทยดังกล่าวสามารถเปิดตลาดออสเตรเลียได้เล็กน้อย ได้แก่ ลิ้นจี่แช่เย็น และมังคุดแช่เย็น โดยมีมูลค่าส่งออก 0.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และ 0.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ตามลำดับ จากเดิมที่ไทยไม่ได้ส่งออกผลไม้ดังกล่าวไปออสเตรเลียเลย ขณะที่มูลค่าส่งออกทุเรียนแช่แข็งของไทยไปออสเตรเลียกลับลดลง 20% จาก 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ช่วง 7 เดือนแรกปี 2547 เป็น 0.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะเดียวกันไทยไม่ได้ส่งออกสับปะรดแช่แข็งไปยังออสเตรเลียเลยในช่วง 7 เดือนแรกนี้ จากเดิมที่ส่งออก 0.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ใน 7 เดือนแรกปี 2547

* ผู้ประกอบการไทยที่มุ่งขยายตลาดส่งออกไปออสเตรเลียจำเป็นต้องคำนึงถึงคุณภาพของสินค้าเป็นสำคัญ โดยเฉพาะสินค้าเกษตรที่ออสเตรเลียเข้มงวดด้านความปลอดภัยในการบริโภค การแปรรูปสินค้าเกษตร เช่น อาหารกระป๋องและผลไม้กระป๋อง น่าจะมีโอกาสเข้าสู่ตลาดออสเตรเลียได้ง่ายกว่า เพราะไม่ต้องประสบอุปสรรคจากมาตรการ SPS ที่เข้มงวดของออสเตรเลีย และมีระยะเวลาการเก็บรักษาได้นานกว่า สำหรับสินค้าอุตสาหกรรมของไทยควรมีการพัฒนาโดยเน้นการวิจัยและออกแบบที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ไทย เช่น สินค้าเฟอร์นิเจอร์และของแต่งบ้าน ขณะเดียวกันควรวางแผนด้านการศึกษาให้ผลิตแรงงานที่มีคุณภาพและเพียงพอต่ออุตสาหกรรมที่มีศักยภาพของไทย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมสิ่งทอ/เครื่องนุ่งห่ม อิเล็กทรอนิกส์ และอาหาร

นอกจากนี้สินค้าส่งออกประเภทรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบของไทยที่มีแนวโน้มสดใส (ขยายตัว 75.7%) ในออสเตรเลีย คิดเป็นสัดส่วนการส่งออกของไทยไป ออสเตรเลียถึงราว 44% จะช่วยให้การส่งออกของไทยใน 5 เดือนที่เหลือของปีนี้ขยายตัวได้ดี และลดการขาดดุลการค้าของไทยกับออสเตรเลียให้กลับมาเกินดุลการค้ากับออสเตรเลียดังเช่นปีที่ผ่านมาได้