เจรจา FTA ไทย-สหรัฐฯ รอบที่ 5 : ย้ำจุดยืนไทย

พ.ต.ท ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีของไทยมีกำหนดการหารือทวิภาคีกับนายจอร์จ ดับเบิลยู บุช ประธานาธิบดีของสหรัฐฯ ณ กรุงวอชิงตัน ดี ซี ในวันที่ 19 กันยายน 2548 หลังจากที่ผู้นำของไทยเดินทางเข้าร่วมการประชุม ASEAN-UN Summit ครั้งที่ 2 และต่อด้วยการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 60 ระหว่างวันที่ 13-16 กันยายน 2548 ณ นครนิวยอร์ค สหรัฐฯ

ประเด็นการหารือทวิภาคีของผู้นำทั้งสองที่น่าจับตามองครั้งนี้ คือ การจัดทำเขตการค้าเสรี (FTA) ทวิภาคีระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ซึ่งกำหนดจะเจรจารอบต่อไป (ครั้งที่ 5) ในวันที่ 27 กันยายน – 5 ตุลาคม 2548 ณ มลรัฐฮาวาย สหรัฐฯ ซึ่งจะมีเนื้อหาการเจรจาที่เข้มข้นขึ้น หลังการเจรจาผ่านมาแล้ว 4 ครั้ง เป็นการหารือกรอบการเจรจาจัดทำ FTA รวมทั้งแลกเปลี่ยนความเห็นและท่าทีในประเด็นต่างๆ กว่า 20 หัวข้อ

นอกจากนี้ ที่สำคัญคือ นายกรัฐมนตรีของไทยจะหารือกับผู้นำสหรัฐฯ เรื่องการทบทวนมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti-Dumping : AD) ของสหรัฐฯ กับสินค้ากุ้งของไทย หลังจากอุตสาหกรรมการเลี้ยงกุ้งของไทยได้รับผลกระทบจากคลื่นยักษ์สึนามิ

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เห็นว่า ประเด็นสำคัญที่เป็นจุดยืนของฝ่ายไทยในการเจรจาจัดทำ FTA กับสหรัฐฯ ให้ไทยได้ประโยชน์และเป็นการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ที่อยู่บนพื้นฐานของการเปิดเสรีที่เป็นธรรม (Free and Fair Trade) สรุปได้ 5 ประเด็น ดังนี้

1. ภาคเกษตร

– ไทยควรผลักดันให้สหรัฐฯ ลด/ยกเลิกมาตรการกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษี (Non-Tariff Barriers : NTBs)
แม้ไทยเป็นฝ่ายเกินดุลการค้าสินค้าเกษตรกับสหรัฐฯ มาโดยตลอด โดยไทยเกินดุลการค้าสินค้าเกษตรกับสหรัฐฯ ราว 95,700 ล้านบาท ในปี 2547 และ 36,580 ล้านบาท ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2548 แต่ไทยมักประสบปัญหาจากมาตรการกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษีของสหรัฐฯ โดยเฉพาะการใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti-Dumping หรือ AD) ของสหรัฐฯ กับสินค้าเกษตรไทย ปัจจุบันสหรัฐฯ ใช้มาตรการ AD กับสินค้าส่งออกกุ้งของไทย รวมทั้งเรียกเก็บพันธบัตรค้ำประกันการนำเข้าสินค้ากุ้งที่ถูกเก็บเอดี (Continuous Bond) เพิ่มขึ้น 100% ทำให้การส่งออกกุ้งของไทยไปสหรัฐฯ ได้รับผลกระทบจากต้นทุนที่สูงขึ้น โดยสหรัฐฯ ประกาศจะทบทวนมาตรการ AD กับสินค้ากุ้งไทยในปลายเดือนตุลาคมนี้ หากสหรัฐฯ ยกเลิกมาตรการ AD กับสินค้ากุ้งของไทยจะทำให้ สินค้ากุ้งไทยส่งออกแข่งขันได้ดีขึ้นกับกุ้งของอินโดนีเซียที่ไม่ถูกเก็บภาษี AD จากสหรัฐฯ และช่วยลดผลกระทบจากความเสียหายที่อุตสาหกรรมการเลี้ยงกุ้งของไทยที่ได้รับจากคลื่นยักษ์สึนามิ

นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยังกำหนดมาตรฐานตรวจสอบคุณภาพอาหารที่เข้มงวดซึ่งกระทบต่อสินค้าส่งออกอาหารของไทยไปสหรัฐฯ ในครึ่งปีแรกของปี 2548 หน่วยงานอาหารและยาของสหรัฐฯ (FDA) ห้ามนำเข้าสินค้าจากหลายประเทศ เช่น เม็กซิโก จีน อินเดีย รวมถึงไทยด้วย เพราะตรวจพบสิ่งสกปรกและสิ่งเจือปนในสินค้า ทั้งนี้ สหรัฐฯ ห้ามนำเข้าสินค้าจากไทย 204 รายการ โดยส่วนใหญ่เป็นอาหารทะเล ซอสและเครื่องดื่ม

สหรัฐฯ ยังให้การอุดหนุนภาคเกษตรในประเทศ ทั้งการอุดหนุนการผลิตและอุดหนุนการส่งออก ทำให้ราคาสินค้าเกษตรของโลกตกต่ำ ซึ่งส่งผลกระทบต่อเกษตรกรไทยในการส่งออกสินค้าเกษตรได้ในราคาต่ำ

การเจรจา FTA กับสหรัฐฯ ไทยจึงควรผลักดันให้สหรัฐฯ ลด/ยกเลิกมาตรการ NTBs ในรูปแบบต่างๆ และการอุดหนุนภาคเกษตรของสหรัฐฯ จากข้อมูลขององค์การการค้าโลก (WTO) พบว่า สหรัฐฯ เป็นประเทศพัฒนาแล้วที่ใช้มาตรการ AD มากในอันดับต้นๆ ของสมาชิก WTO ทั้งหมด

– ไทยควรคำนึงถึงความมั่นคงและอธิปไตยด้านอาหาร (Food Security)
จากการถูกผลักดันของสหรัฐฯ ให้เปิดตลาดภาคเกษตร จากกรณีตัวอย่างเม็กซิโกที่เปิดตลาดข้าวโพดให้สหรัฐฯ ภายใต้การจัดทำเขตการค้าเสรีอเมริกาเหนือ หรือ NAFTA (ประกอบด้วยสหรัฐฯ แคนาดา และเม็กซิโก) ทำให้เม็กซิโกต้องยกเลิกการปกป้องภาคเกษตรในประเทศ ส่งผลให้ข้าวโพดจากสหรัฐฯ ทะลักเข้าเม็กซิโกจำนวนมาก จนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดชาวเม็กซิโกส่วนใหญ่ต้องเลิกอาชีพปลูกข้าวโพดไปในที่สุด เพราะไม่สามารถแข่งขันกับข้าวโพดนำเข้าจากสหรัฐฯ ที่มีเทคโนโลยีการเกษตรที่ดีและมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผลผลิตต่อพื้นที่สูง จึงทำให้เม็กซิโกสูญเสียอธิปไตยทางอาหาร และสหรัฐฯ ผูกขาดตลาดข้าวโพดในเม็กซิโกในปัจจุบันนี้
ปัจจุบันสินค้าเกษตรจากสหรัฐฯ ที่ไทยนำเข้ามาก 3 อันดับแรก ล้วนแต่เป็นสินค้าที่สหรัฐฯ มีศักยภาพในการผลิต ได้แก่ ฝ้ายที่ยังไม่ได้สางหรือหวี คิดเป็นสัดส่วนราว 23% ของสินค้าเกษตรที่ไทยนำเข้าจากสหรัฐฯ ทั้งหมด รองลงมา ได้แก่ ถั่วเหลือง (สัดส่วน 9.5%) และข้าวเมสลิน (6.3%) ตามลำดับ ในขณะที่สินค้าเกษตรของไทยที่ส่งออกไปสหรัฐฯ มาก ได้แก่ กุ้งแช่เย็น คิดเป็น สัดส่วน 9.2% ของสินค้าเกษตรส่งออกไปสหรัฐฯ ทั้งหมด รองลงมา ได้แก่ กุ้งไม่บรรจุภาชนะอัดลม (6.7%) และถุงมือที่ทำด้วยยางวัลแคไนซ์ (6.6%)

2. ภาคอุตสาหกรรม

ไทยควรจัดทำมาตรฐานการยอมรับร่วมกัน (Mutual Recognition Arrangements : MRAs) ของสินค้าอุตสาหกรรมกับสหรัฐฯ เพื่อให้สินค้าอุตสาหกรรมส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ ได้รับการยอมรับด้านมาตรฐาน ทำให้สินค้าส่งออกไทยไปสหรัฐฯ ไม่ติดกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคทางการค้า

สินค้าอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพของไทย ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ รองเท้า ปลาทูน่ากระป๋อง และยานยนต์ ควรผลักดันให้สหรัฐฯ ยกเลิกภาษีให้ไทยทันทีหรือลดภาษีให้ไทยโดยเร็วที่สุด ขณะเดียวกันสินค้าอุตสาหกรรมอ่อนไหวที่ไทยยังไม่ต้องการลดภาษีให้สหรัฐฯ ในทันที เช่น พลาสติก ปิโตรเคมี เหล็ก แก้ว และอลูมิเนียม ก็ควรเตรียมปรับตัวต่อการแข่งขันและตั้งรับหากสหรัฐฯ กดดันให้ไทยลดภาษีสินค้าดังกล่าวเป็นการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ระหว่างกัน

ทั้งนี้ ไทยส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมไปสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 80% ของสินค้าส่งออกทั้งหมดของไทยไปสหรัฐฯ ในขณะที่ไทยส่งออกสินค้าเกษตรกรรม (กสิกรรม ปศุสัตว์และประมง) และสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร คิดเป็นสัดส่วน 6.7% และ 8% ตามลำดับ สินค้าอุตสาหกรรมสำคัญของไทยที่ส่งออกไปสหรัฐฯ ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2548 ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ, เสื้อผ้าสำเร็จรูป, เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์และส่วนประกอบ, อัญมณีและเครื่องประดับ และอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ส่วนสินค้าอุตสาหกรรมที่ไทยนำเข้าจากสหรัฐฯ มาก ได้แก่ แผงวงจรไฟฟ้า เคมีภัณฑ์ และเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ

3. ภาคบริการ

สหรัฐฯ มีศักยภาพทางการแข่งขันภาคบริการอย่างมากจึงต้องการให้ไทยเปิดเสรีภาคบริการอย่างเต็มที่และทันที ในขณะที่ไทยต้องการเปิดเสรีภาคบริการอย่างค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งที่ผ่านมา ไทยได้เปิดเสรีภาคบริการแก่สหรัฐฯ โดยให้สิทธิคนสหรัฐฯ เข้ามาลงทุนจัดตั้งธุรกิจเทียบเท่ากับคนไทยในกิจกรรมทางพาณิชย์ อุตสาหกรรมการคลัง และธุรกิจอื่นๆ ภายใต้สนธิสัญญาทางไมตรีและความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างไทยกับสหรัฐฯ (Treaty of Amity and Economic Relations between the Kingdom of Thailand and the United States of America) ตั้งแต่ปี 2509 แต่มีข้อยกเว้นใน 6 สาขา/กิจกรรมที่ไทยยังไม่ได้ให้สิทธิคนสหรัฐฯ ในการเข้ามาจัดตั้งธุรกิจเท่าเทียมกับคนไทย ได้แก่ 1. การคมนาคม 2. การขนส่ง 3. การทำหน้าที่รับดูแลทรัพย์สินเพื่อประโยชน์ของผู้อื่น 4. การธนาคารที่เกี่ยวกับหน้าที่รับฝากเงิน 5. การแสวงหาประโยชน์จากที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติอื่นๆ และ 6. การค้าภายในเกี่ยวกับผลิตผลทางเกษตรพื้นเมือง รวมทั้งการประกอบวิชาชีพหรืออาชีพที่สงวนไว้สำหรับคนชาติของแต่ละฝ่าย
ดังนั้น การจัดทำ FTA กับไทยครั้งนี้ สหรัฐฯ จึงต้องการให้ไทยเปิดเสรีใน 6 สาขา/กิจกรรมที่มีข้อยกเว้นภายใต้สนธิสัญญาทางไมตรีฯ ดังกล่าว

ประเด็นที่ไทยจะต้องเจรจาประนีประนอมกับสหรัฐฯ อย่างรอบคอบ ได้แก่

– การเปิดเสรีภาคการเงินอย่างเต็มที่
สหรัฐฯ เรียกร้องให้ไทยเปิดเสรีทางการเงินโดยใช้รูปแบบการเปิดเสรี “Negative List” คือระบุกิจกรรมทางการเงินที่ไม่ต้องการเปิดเสรี กิจกรรมที่อยู่นอกเหนือจากที่ระบุไว้ถือเป็นการเปิดเสรีทั้งหมด ซึ่งครอบคลุมกิจกรรมทางการเงินที่กว้างมากและกิจกรรมที่จะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย รวมทั้งให้ไทยใช้นโยบายเงินทุนเคลื่อนย้ายอย่างเสรี ในขณะที่ไทยต้องการเปิดเสรีภาคการเงินอย่างค่อยเป็นค่อยไปตามแผนแม่บททางการเงิน (Financial Master Plan) ของไทยและต้องการใช้รูปแบบการเปิดเสรี “Positive List” คือเปิดเสรีเฉพาะกิจกรรมทางการเงินที่ระบุไว้เท่านั้น ซึ่งเป็นรูปแบบการเปิดเสรีภาคบริการที่ใช้ใน WTO และไทยต้องการกำกับดูแลการเคลื่อนย้ายของเงินทุน เพราะการปล่อยให้เงินทุนเคลื่อนย้ายอย่างเสรีอาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศและประสิทธิภาพในการกำหนดนโยบายทางการเงินของไทย

– การเปิดเสรีตลาดบริการจัดส่งพัสดุด่วน (Express Delivery Services : EDS)
ได้แก่ การเก็บรวบรวมและขนส่งเอกสาร สิ่งตีพิมพ์ พัสดุ สินค้าและของอื่นๆ ที่เร่งด่วน รวมทั้งให้บริการตรวจสอบ ติดตาม และควบคุมการเคลื่อนย้ายของดังกล่าว ตั้งแต่จุดเริ่มต้นจนถึงปลายทาง ซึ่งเป็นธุรกิจบริการที่สหรัฐฯ มีขีดความสามารถทางการแข่งขันสูง แต่กิจการดังกล่าวของไทยเพิ่งอยู่ในระยะ เริ่มต้นพัฒนา จึงต้องการเวลาในการปรับตัว

– การยกเลิกอาชีพสงวน 39 อาชีพ
ที่ไทยห้ามคนต่างด้าวทำตามพระราชกฤษฎีกาการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2522 เช่น วิชาชีพบัญชี นักกฎหมาย วิศวกรรม สถาปัตยกรรมออกแบบและเขียนแบบ เป็นต้น สหรัฐฯ เรียกร้องให้ไทยเปิดเสรีในการประกอบอาชีพแก่คนต่างด้าว ขณะที่ไทยยังไม่ต้องการยกเลิกอาชีพสงวนเฉพาะคนไทยดังกล่าวให้สหรัฐฯ ในทันที

4. ทรัพย์สินทางปัญญา

สหรัฐฯ เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ส่วนใหญ่เป็นเจ้าของสิทธิ์ในทรัพย์สินทางปัญญา (IP) จึงนำประเด็นเรื่องการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาที่เข้มงวดมาบังคับใช้เพื่อคุ้มครองสิ่งที่ตนเอง คิดค้นและวิจัย แต่ในแง่ของคุณธรรมและมนุษยธรรม การปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาอย่างเข้มงวดกระทบต่อความเป็นอยู่ของคนยากจนในประเทศกำลังพัฒนาและด้อยพัฒนา โดยเฉพาะประเด็นเรื่องสิทธิบัตรยาซึ่งสหรัฐฯ ต้องการให้ขยายอายุความคุ้มครองสิทธิบัตรยาอีก 5 ปี จาก 20 ปี ตามความตกลงด้านทรัพย์สินทางปัญญาของ WTO (Agreements on Trade-Related Aspects of Intellectual Property Rights : TRIPs) เป็น 25 ปี หรือที่เรียกว่า “TRIPs Plus” และสหรัฐฯ ยังต้องการจำกัดมาตรการบังคับใช้สิทธิและการนำเข้าซ้อน ดังเช่นที่ปรากฏในข้อตกลง FTA ทวิภาคีที่สหรัฐฯ ทำกับประเทศต่างๆ เช่น สิงคโปร์ และชิลี ทั้งๆ ที่ความตกลง TRIPs ของ WTO อนุญาตให้ประเทศสมาชิก WTO ใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิและการนำเข้าซ้อนได้ เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดจากการผูกขาดตลาดจากระบบสิทธิบัตรยา

นอกจากนี้ สหรัฐฯ กดดันประเทศที่จัดทำ FTA ด้วย ได้แก่ สิงคโปร์และชิลี ที่ได้จัดทำความตกลง FTA เสร็จแล้ว ให้เข้าเป็นสมาชิกอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ หรือ UPOV 1991 (The International Union for the Protection of New Varieties of Plants) ซึ่งเป็นความตกลงคุ้มครองพันธุ์พืชที่มีความเข้มงวดสูง โดยมีระยะเวลาคุ้มครอง 20 ปี อนุสัญญานี้ให้ความคุ้มครองสิทธิของนักปรับปรุงพันธุ์พืชที่คิดค้นขึ้นใหม่เป็นหลัก ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับเจ้าของเทคโนโลยีมากกว่า แต่อาจจะกระทบต่อสิทธิของเกษตรกรไทยในการใช้พันธุ์พืชของไทยเอง ก่อให้เกิดการผูกขาดของบรรษัทข้ามชาติที่มีการลงทุนวิจัยและพัฒนาทางการเกษตรสูง อาจส่งผลให้เกษตรกรไทยต้องซื้อพันธุ์พืชจากบรรษัทข้ามชาติ และจะไม่สามารถอ้างสิทธิเหนือพืชพื้นเมืองได้อีกต่อไป เช่น ข้าวหอมมะลิ ทุเรียนหมอนทอง เป็นต้น

ขณะเดียวกัน สหรัฐฯ ยังต้องการให้ขยายการคุ้มครองลิขสิทธิ์อีก 20 ปี จาก 50 ปี ตามข้อผูกพันของข้อตกลง TRIPs ใน WTO เป็น 70 ปี รวมถึงการคุ้มครองลิขสิทธิ์จากการค้าขายผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (e-commerce) รวมทั้งการคุ้มครองสัญญาณดาวเทียม และเคเบิลทีวี ซึ่งล้วนแต่เป็นสาขาที่สหรัฐฯ มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและได้ประโยชน์จากการได้รับการคุ้มครองทางทรัพย์สิน-ทางปัญญา

ไทยควรยืนยันท่าทีเดิมเกี่ยวกับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาโดยจะยอมรับข้อผูกพันการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาที่สอดคล้องกับข้อตกลง TRIPs ของ WTO โดยเฉพาะเรื่องระยะเวลาคุ้มครองสิทธิบัตรยา เพื่อมิให้กระทบต่อการเข้าถึงยาของคนยากจน และยืนยันให้ไทยสามารถใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิ และการนำเข้าซ้อนได้ เพื่อให้ยามีราคาถูก ขณะเดียวกัน ไทยควรมีท่าทีเชิงรุกในการเรียกร้องสหรัฐฯให้ความคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indication : GI) กับสินค้าของไทย ได้แก่ ข้าวหอมมะลิ และผ้าไหมไทย ที่ทางการไทยต้องการนำเข้าสู่การเจรจากับสหรัฐฯ ในครั้งนี้ เพราะจะเป็นประโยชน์ต่อ สินค้าที่เป็นเอกลักษณ์ของไทย ทั้งนี้ สหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกข้าวหอมมะลิของไทยอันดับ 1 คิดเป็นสัดส่วนราว 23% ของการส่งออกข้าวหอมมะลิทั้งหมดของไทย โดยในช่วง 7 เดือนแรกปี 2548 ไทยส่งออกข้าวหอมมะลิไปสหรัฐฯ มูลค่า 78 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

นอกจากนี้ไทยควรส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยจดทะเบียนคุ้มครองสิ่งบ่งชี้-ทางภูมิศาสตร์มากขึ้น ขณะนี้สินค้าไทยที่ขอจดทะเบียนคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์กับ กรมทรัพย์สินทางปัญญา ได้แก่ ส้มโอนครชัยศรี มะขามหวานเพชรบูรณ์ และข้าวหอมมะลิ-สุรินทร์

5. สิ่งแวดล้อมและแรงงาน

สหรัฐฯ ต้องการให้ไทยมีการคุ้มครองสิทธิของแรงงานและรักษาสิ่งแวดล้อม โดยให้มีระดับการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและแรงงานภายในประเทศระดับสูง และการบังคับใช้กฎหมายอย่างมี ประสิทธิภาพ โดยสหรัฐฯ กำหนดมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมและแรงงานที่สูง ซึ่งสหรัฐฯ อาจใช้ประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมและแรงงานเป็นข้อกีดกันทางการค้ากับไทย เช่น การใช้แรงงานนอกระบบซึ่งนายจ้างไทยส่วนใหญ่ไม่ได้ให้ค่าแรงขั้นต่ำตามกฎหมายแก่ลูกจ้าง ไม่มีการคุ้มครองสวัสดิการแรงงาน หรือการใช้แรงงานต่างด้าว ซึ่งไม่มีการจ่ายค่าชดเชยเมื่อมีการเลิกจ้าง เป็นต้น นอกจากนี้ สหรัฐฯ เสนอให้มีการทำโทษปรับเป็นเงิน 15 ล้านบาท กรณีไม่ปฏิบัติตามกฎหมายแรงงานและกฎหมายสิ่งแวดล้อม ซึ่งในกรณีนี้อาจเป็นผลดีกับไทย เพราะจะกระตุ้นให้มีการรักษาสิทธิแรงงาน และรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง อย่างไรก็ตาม ไทยควรมีอำนาจในการกำกับนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมและแรงงานอย่างเป็นอิสระ และสหรัฐฯ ไม่ควรนำประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมและแรงงานเป็นเงื่อนไขในการกีดกันทางการค้ากับไทย

สรุป/ข้อสังเกต

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เห็นว่า การเจรจา FTA ไทย-สหรัฐฯ รอบที่ 5 สหรัฐฯ จะเรียกร้องและกดดันไทยมากขึ้น เพราะการเจรจา FTA ผ่านมากว่า 1 ปีแล้ว ไทยควรมีจุดยืนสำหรับการเจรจา FTA กับสหรัฐฯ ในการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์จากการเปิดเสรีที่เป็นธรรม เพื่อให้การเจรจาบรรลุเป้าหมายที่จะก่อให้เกิดประโยชน์โดยรวมของประเทศ ขณะเดียวกันภาครัฐควรเตรียมพร้อมรับมือต่อการเปิดเสรีทั้งในด้านกฎหมายและกฎระเบียบต่างๆ ส่วนภาคเอกชนไทยควรปรับปรุงคุณภาพมาตรฐานการผลิตของสินค้าและบริการ ดังนี้

1) ไทยควรปรับปรุงกฎหมายภายในประเทศให้มีประสิทธิภาพในการบังคับใช้ในทางปฏิบัติ
เพื่อเตรียมพร้อมต่อการเปิดเสรีทางการค้าสินค้า ภาคบริการ และการลงทุน โดยเฉพาะการเปิดเสรี FTA กับสหรัฐฯ ซึ่งสหรัฐฯ อาจเข้ามาผูกขาดตลาดในไทย โดยปัจจุบันไทยมีพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2542 ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันการผูกขาด แต่ยังไม่มีกฎเกณฑ์ที่ ชัดเจนเรื่องการใช้อำนาจเหนือตลาด และการควบรวมกิจการว่าจะก่อให้เกิดการผูกขาดหรือไม่ จึงควรเร่งจัดทำหลักเกณฑ์เหล่านี้ เพื่อให้กฎหมายมีผลบังคับใช้ได้จริงในทางปฏิบัติ ทั้งนี้ ข้อผูกพันในข้อตกลง FTA ทวิภาคีที่สหรัฐฯ ทำกับประเทศอื่นๆ ห้ามการผูกขาดที่รวมถึงรัฐวิสาหกิจด้วย รวมทั้งการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐที่ต้องเป็นไปในเชิงพาณิชย์ ซึ่งไทยยังไม่พร้อมที่จะยอมรับในประเด็นนี้ เนื่องจากรัฐวิสาหกิจไทยบางแห่งยังผูกขาดการให้บริการสาธารณูปโภคพื้นฐาน เช่น การจำหน่ายไฟฟ้าและประปา และการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ ยังมีการให้บริการทางสาธารณะที่ไม่เป็นไปในเชิงพาณิชย์ เช่น การให้บริการรถประจำทางราคาถูก เป็นต้น
2) ไทยควรเร่งจัดทำมาตรฐานสินค้าเกษตร สินค้าอุตสาหกรรม มาตรฐานการค้าภาคบริการ และมาตรฐานด้านการคุ้มครองผู้บริโภค
ซึ่งมีความสำคัญมากในการค้าระหว่างประเทศในปัจจุบันนี้ เพื่อให้สินค้า/บริการของไทยที่ส่งออกไปต่างประเทศได้คุณภาพมาตรฐานเป็นที่ยอมรับ รวมทั้งเป็นการสกัดกั้นสินค้า/บริการนำเข้าที่ไม่ได้มาตรฐานเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคภายในประเทศ โดยไทยควรกำหนดมาตรฐานต่างๆ เหล่านี้เอง เพราะการเจรจา FTA กับสหรัฐฯ จะทำให้สหรัฐฯ ซึ่งมีอำนาจต่อรองสูงเข้ามาผลักดันให้ไทยยอมรับมาตรฐานต่างๆ เหล่านี้ของสหรัฐฯ รวมทั้งเพื่อรองรับต่อการจัดทำ FTA ทวิภาคีกับประเทศอื่นๆ ด้วย ทั้ง FTA ทวิภาคีที่เริ่มมีผลบังคับใช้แล้ว เช่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และจีน และอยู่ระหว่างการเจรจาจัดทำ FTA กับอีกหลายประเทศ โดยควรจัดตั้งองค์กรสำหรับการจัดทำมาตรฐานต่างๆ โดยเฉพาะด้านการค้าบริการที่ขณะนี้ยังไม่มีองค์กรจัดทำมาตรฐานเหล่านี้

3) ภาคบริการหลายสาขาของไทยยังมีการแข่งขันน้อย
โดยมีจำนวนผู้ประกอบการให้บริการน้อยราย และมีกฎเกณฑ์/เงื่อนไขที่จำกัดการเข้ามาประกอบธุรกิจของต่างชาติ เช่น สาขาโทรคมนาคมและการขนส่งที่ยังมีผู้ให้บริการน้อยราย (รวมทั้งบริการสาธารณูปโภคพื้นฐานที่ยังมีการผูกขาดโดยภาครัฐ ซึ่งมีเหตุผลด้านความมั่นคงและความเป็นอยู่ของประชาชน) หากมองในแง่มุมของผลประโยชน์สำหรับผู้บริโภค รวมทั้งธุรกิจขนาดกลางและเล็ก (SMEs) ซึ่งถือเป็นผู้ใช้บริการด้วยเช่นกัน การเปิดเสรีภาคบริการให้มีการแข่งขันมากขึ้นในธุรกิจที่ยังมีการผูกขาดหรือยังมีการแข่งขันไม่มากนักในประเทศ จะทำให้ราคาต่ำลงและประสิทธิภาพของการให้บริการดีขึ้น จากการแข่งขันเพื่อปรับปรุงคุณภาพการให้บริการ ซึ่งประโยชน์เหล่านี้จะตกอยู่กับผู้บริโภค เช่น ต้นทุนการขนส่งของไทยยังอยู่ในระดับสูง การเปิดเสรีมีแนวโน้มทำให้ต้นทุนการขนส่งของไทยลดลงจากการแข่งขันของผู้ประกอบการมากราย และเป็นประโยชน์ต่อภาคธุรกิจด้วย

4) ผลสำเร็จของการจัดทำเขตการค้าเสรี (FTA)
ควรพิจารณารอบด้าน โดยไม่ควรพิจารณาการส่งออกด้านเดียว แต่ควรพิจารณาถึงผลด้านสังคม ได้แก่ มาตรฐานความเป็นอยู่ของประชาชน และการจ้างงาน รวมทั้งคำนึงถึงการเสริมสร้างการพัฒนาศักยภาพทางการแข่งขันของไทยจากการเปิดเสรี นอกจากนี้ ควรคำนึงถึงผลกระทบต่อธุรกิจ SMEs และโอกาสของ SMEs ที่จะเข้าไปขยายธุรกิจในต่างประเทศ และลดอุปสรรคทางการค้าที่มีผลกระทบต่อ SMEs เนื่องจากธุรกิจ SMEs ถือเป็นรากฐานของเศรษฐกิจไทย การจัดทำ FTA จึงไม่ควรเอื้อประโยชน์ให้เฉพาะกับผู้ประกอบการ/ผู้ส่งออกรายใหญ่เท่านั้น