การขยายฐานของผู้ลงทุน เป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่สำคัญในการพัฒนาตลาดทุนตามแผนแม่บทการพัฒนาตลาดทุนไทยที่ทางกระทรวงการคลังจัดทำขึ้นตั้งแต่ปี 2545 โดยอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่ายทั้งหน่วยงานของภาครัฐและเอกชนในการเพิ่มจำนวนผู้ลงทุนซึ่งมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการลงทุนในหลักทรัพย์ ทั้งในด้านของผลตอบแทนที่จะได้รับและด้านความเสี่ยงจากการลงทุนอันจะเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาให้ตลาดทุนสามารถขยายตัวได้อย่างมีเสถียรภาพ ทั้งนี้ ประเภทของผู้ลงทุนในตลาดทุนนั้น สามารถจะแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ ได้แก่ ผู้ลงทุนสถาบัน (Institutional investors) และผู้ลงทุนรายย่อย (Retail/Individual Investors) โดยอธิบายความหมายของผู้ลงทุนแต่ละประเภท ได้ดังนี้
? ผู้ลงทุนสถาบัน (Institutional investors)
ตามคำจำกัดความของประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หมายถึง ผู้ลงทุนในกลุ่มต่างๆดังต่อไปนี้ 1. ธนาคารพาณิชย์ 2. บริษัทเงินทุน 3. บริษัทหลักทรัพย์ที่ซื้อหน่วยลงทุนเพื่อเป็นทรัพย์สินของตนเองหรือเพื่อการบริหารกองทุนส่วนบุคคลหรือเพื่อการจัดการโครงการที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจฟองซิเอร์ 4. บริษัทเครดิตฟองซิเอร์ 5. บริษัทประกันภัย 6. นิติบุคคลที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้นซึ่งมิได้เป็นบุคคลตาม ข้อ 9 7. ธนาคารแห่งประเทศไทย 8. สถาบันการเงินระหว่างประเทศ 9. ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ 10. กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน 11. กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ 12. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 13. กองทุนรวมตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 14. นิติบุคคลที่มีเงินลงทุนในหลักทรัพย์ตามงบการเงินปีล่าสุดที่ผู้สอบบัญชีตรวจสอบแล้วตั้งแต่หนึ่งร้อยล้านบาทขึ้นไป 15. นิติบุคคลซึ่งมีผู้ถือหุ้นเป็นบุคคลตามข้อ 1 ถึงข้อ 14 ถือหุ้นรวมกันเกินกว่าร้อยละเจ็ดสิบห้าของจำนวนหุ้น ที่มีสิทธิออกเสียงทั้งหมด 16. ผู้ลงทุนต่างประเทศซึ่งมีลักษณะเดียวกับผู้ลงทุนตามข้อ 1 ถึง 15 และ 17. ผู้ลงทุนที่มิใช่ผู้ลงทุนตามข้อ 1 ถึง ข้อ 16 ซึ่งซื้อหน่วยลงทุนตั้งแต่สิบล้านบาทขึ้นไป
? ผู้ลงทุนรายย่อย (Individual Investors/Retail Investors)
หมายถึง ผู้ลงทุนซึ่งไม่ได้อยู่ในกลุ่มของผู้ลงทุนสถาบัน เช่น ผู้ลงทุนธรรมดา หรือนิติบุคคลซึ่งมีเงินลงทุนในหลักทรัพย์น้อยกว่าเกณฑ์ที่ได้กล่าวในข้างต้น
การเพิ่มจำนวนผู้ลงทุนทั้ง 2 ประเภทนั้นมีความสำคัญอย่างมากต่อการพัฒนาตลาดทุน อย่างไรก็ตาม ลักษณะของผู้ลงทุนแต่ละประเภทมีความแตกต่างกันอยู่หลายประการ โดยผู้ลงทุนสถาบันจะเป็นกลุ่มที่มีความเชี่ยวชาญและมีความเข้าใจเกี่ยวกับการลงทุนและความเสี่ยงเป็นอย่างดี มีการกำหนดนโยบายการลงทุนที่ชัดเจนกว่าผู้ลงทุนรายย่อย และมีการตัดสินใจที่เป็นระบบแบบแผนภายใต้กฎเกณฑ์ซึ่งผ่านการพิจารณาอย่างรอบคอบโดยคณะบุคคล (สะท้อนให้เห็นถึงลักษณะการลงทุนของผู้ลงทุนสถาบันส่วนใหญ่ซึ่งจะเป็นการลงทุนในระยะยาวเพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดและมีการซื้อขายไม่บ่อยครั้ง) ในขณะที่ลักษณะของผู้ลงทุนรายย่อยนั้นจะเป็นการถือครองหุ้นในระยะสั้นเพื่อหวังผลจากการเก็งกำไร, มีการซื้อขายบ่อยครั้งกว่า เนื่องจากการตัดสินใจในการซื้อขายสามารถกระทำได้อย่างรวดเร็วและคล่องตัวกว่าผู้ลงทุนสถาบัน
ทั้งนี้ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมานั้น สภาพแวดล้อมและบรรยากาศการลงทุนในตลาดทุนที่เปลี่ยนไปได้ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนผู้ลงทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารพาณิชย์ ซึ่งนับจากช่วงวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจในปี 2540 เป็นต้นมา อัตราดอกเบี้ยเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ทั้งเงินฝากแบบออมทรัพย์และแบบฝากประจำได้ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง จนถึงระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ในช่วงกลางปี 2546 โดยเงินฝากออมทรัพย์ของธนาคารพาณิชย์ลดลงไปอยู่ที่ร้อยละ 0.75 ส่วนเงินฝากประจำอยู่ที่ร้อยละ 1 ซึ่งล้วนเป็นระดับที่ต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อในขณะนั้น ทำให้นักลงทุนหันไปหาช่องทางลงทุนในหลักทรัพย์อื่นๆที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าเงินฝาก โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้พิจารณาการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนของผู้ลงทุนในหลักทรัพย์ต่างๆแบ่งตามประเภทของหลักทรัพย์ ได้แก่ ตราสารทุนและตราสารหนี้ และได้ข้อสังเกตดังนี้
ตราสารทุน
สำหรับการลงทุนในตลาดแรกนั้น เมื่อพิจารณามูลค่าการออกเสนอขายหลักทรัพย์แยกตามประเภทผู้ลงทุนแล้วพบว่าในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา การลงทุนในหลักทรัพย์ออกใหม่ของกลุ่มผู้ลงทุนรายย่อยมีสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นตามลำดับ จากร้อยละ 22.2 ในปี 2545 สู่ร้อยละ 33.4 และร้อยละ 48.6 ของหลักทรัพย์ที่ออกใหม่ในปี
2546 และ 2547 ในขณะที่การลงทุนในกลุ่มของผู้ลงทุนสถาบันมีสัดส่วนที่ลดลง ซึ่งสาเหตส่วนหนึ่ง น่าจะมาจากการที่ลักษณะการออกเสนอขายหลักทรัพย์ในระยะหลังนั้น จะอยู่ในรูปของการเสนอขายให้ประชาชนทั่วไป (Public Offerings) มากกว่าในรูปแบบของการเสนอขายให้กับบุคคลในวงจำกัด (Private Placements) ทั้งนี้ การเลือกรูปแบบการเสนอขายหลักทรัพย์นั้นจะเป็นการตัดสินใจของผู้ระดมทุน ซึ่งจากแนวโน้มดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงการที่ผู้ระดมทุนมีความแน่ใจว่าหลักทรัพย์ที่ออกใหม่นั้นย่อมจะได้รับความตอบรับที่ดีจากประชาชน จึงสามารถที่จะใช้เป็นเครื่องสะท้อนถึงความสนใจของนักลงทุนรายย่อยที่มีต่อการลงทุนในตลาดในช่วงเวลานั้นได้ในระดับหนึ่ง
ทั้งนี้ การลงทุนในหลักทรัพย์ออกใหม่ของผู้ลงทุนรายย่อยที่เพิ่มขึ้นนั้น ส่งผลไปถึงยอดคงค้างของหุ้นที่ผู้ลงทุนแต่ละกลุ่มถือครองโดยพบว่า สัดส่วนการถือครองหุ้นของผู้ลงทุนรายย่อยได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นตามลำดับ จนกลายเป็นกลุ่มที่มีสัดส่วนมูลค่าการถือครองหลักทรัพย์มากที่สุดในปี 2547 โดยมีสัดส่วนดังกล่าวอยู่ที่ร้อยละ 42 (ประมาณ 1.88 ล้านล้านบาท) ในขณะที่สัดส่วนของผู้ลงทุนสถาบันในประเทศลดลงไปอยู่ที่ร้อยละ 38 (ประมาณ 1.72 ล้านล้านบาท) และสัดส่วนของผู้ลงทุนสถาบันต่างประเทศอยู่ที่ร้อยละ 20 (ประมาณ 9.04 แสนล้านบาท) จากมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดที่ประมาณ 4.52 ล้านล้านบาท
นอกจากนั้น ในด้านมูลค่าการซื้อขายรวมในตลาดหลักทรัพย์ (Turnover Value) นั้น ผู้ลงทุนรายย่อยถือเป็นกลุ่มที่มีมูลค่าการซื้อขายมากที่สุด โดยมีสัดส่วนของมูลค่าการซื้อขายโดยเฉลี่ยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาสูงถึงกว่าร้อยละ 71 ของมูลค่าการซื้อขายรวม ในขณะที่ผู้ลงทุนสถาบันแยกเป็นผู้ลงทุนสถาบันในประเทศมีสัดส่วนการซื้อขายรวมโดยเฉลี่ยร้อยละ 23 และผู้ลงทุนสถาบันต่างประเทศร้อยละ 6
ตราสารหนี้
ในด้านของตลาดตราสารหนี้นั้นสามารถจะแยกการพิจารณาเป็นกลุ่มของผู้ลงทุนในตราสารหนี้รัฐบาล เช่น พันธบัตรรัฐบาล ตั๋วเงินคลังและตั๋วสัญญาใช้เงินเพื่อปรับโครงสร้างหนี้ (โดยไม่รวมพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทยและพันธบัตรรัฐวิสาหกิจ)ซึ่งคิดเป็นมูลค่ากว่าร้อยละ 70 ของตราสารหนี้ภาครัฐทั้งหมด และหุ้นกู้ภาคเอกชน โดยจะเห็นได้ว่าสำหรับตราสารหนี้รัฐบาลนั้นในระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา สัดส่วนของผู้ลงทุนสถาบันซึ่งเป็นผู้ลงทุนกลุ่มใหญ่ในตราสารหนี้รัฐบาลได้ปรับตัวลดลงอย่างเห็นได้ชัดจากร้อยละ 92 ของตราสารหนี้รัฐบาลทั้งหมดที่ออกในปี 2543 มาสู่ร้อยละ 59.6 ในปีที่ผ่านมา ในขณะเดียวกัน สัดส่วนของผู้ลงทุนรายย่อยเพิ่มขึ้นอย่างมากจากร้อยละ 7.8 สู่ร้อยละ 40.4 ของตราสารหนี้รัฐบาลในปีที่ผ่านมา ส่วนหุ้นกู้ภาคเอกชนนั้น อาจกล่าวได้ว่าการลงทุนส่วนใหญ่จะมาจากกลุ่มของผู้ลงทุนรายย่อย โดยในปัจจุบันมีสัดส่วนอยู่ที่ประมาณร้อยละ 57 ในขณะที่สัดส่วนของผู้ลงทุนสถาบันอยู่ที่ประมาณร้อยละ 43
สัดส่วนผู้ลงทุนในตราสารหนี้รัฐบาลและหุ้นกู้เอกชน
2543 2544 2545 2546 2547
ผู้ลงทุนสถาบัน ผู้ลงทุนรายย่อย* ผู้ลงทุนสถาบัน ผู้ลงทุนรายย่อย* ผู้ลงทุนสถาบัน ผู้ลงทุนรายย่อย* ผู้ลงทุนสถาบัน ผู้ลงทุนรายย่อย* ผู้ลงทุนสถาบัน ผู้ลงทุนรายย่อย*
ตราสารหนี้รัฐบาล 92.2% 7.8% 86.7% 13.3% 67.6% 32.4% 64.5% 35.5% 59.6% 40.4%
หุ้นกู้ภาคเอกชน** 43.7% 56.3% 53.0% 47.0% 43.2% 56.8%
Source: BOT และ ThaiBDC
*โดย Retails investors รวม Corporations และ Individuals ตลอดจน นักลงทุนประเภทอื่นๆนอกเหนือจากนักลงทุนสถาบัน เช่น government sector, foundation, co-operatives, temples etc.
**สัดส่วนของนักลงทุนในหุ้นกู้คำนวณจากข้อมูลของ Registras 9 รายที่แจ้งให้กับ ThaiBDC
หากพิจารณาการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนของผู้ลงทุนแต่ละประเภทในตราสารหนี้รัฐบาล (ไม่รวมพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทยและพันธบัตรรัฐวิสาหกิจ)ตั้งแต่ปี 2543 ถึงปี 2547 แล้วจะเห็นได้ว่า มีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ ได้แก่ สัดส่วนการลงทุนของธนาคารพาณิชย์ซึ่งเคยเป็นผู้ลงทุนสถาบันรายใหญ่ที่สุดในตราสารหนี้รัฐบาลได้ลดลงจากร้อยละ 41.1 ของตราสารหนี้รัฐบาลที่ออกในปี 2543 เหลือร้อยละ 20 ในปีที่ผ่านมา, สัดส่วนของธนาคารออมสินลดลงจากร้อยละ 17.6 สู่ร้อยละ 7.1 และธนาคารแห่งประเทศไทยลดลงจากร้อยละ 10.9 สู่ร้อยละ 6.9 ทั้งนี้ ธนาคารพาณิชย์มีการลงทุนในตราสารหนี้รัฐบาลลดลงอย่างเห็นได้ชัดตั้งแต่ปี 2545 เป็นต้นมา ซึ่งส่วนหนึ่งนั้นมาจากการที่ปริมาณพันธบัตรรัฐบาลออกใหม่ได้ลดลงในปี 2546 ตลอดจนการที่สภาพคล่องส่วนเกินของธนาคารพาณิชย์เริ่มลดลงและการคาดการณ์เกี่ยวกับการขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปี 2547 ซึ่งส่งผลให้ความต้องการถือครองพันธบัตรระยะยาวชะลอลงเนื่องจากมีความเสี่ยงในเรื่องการเปลี่ยนแปลงของราคา
2000 2001 2002 2003 2004
ตราสารหนี้รัฐบาลออกใหม่ 335 590.6 990.5 476.49 840.3
พันธบัตรรัฐบาล(รวมพันธบัตรออมทรัพย์) 94.1 149.2 471.5 107.5 271.3
ตั๋วเงินคลัง 240.9 441.4 519 368.99 569
ตราสารหนี้รัฐบาลออกใหม่(ไม่รวมพันธบัตรออมทรัพย์)* 335 590.6 685.5 476.49 750.3
มูลค่าคงค้างตราสารหนี้รัฐบาลที่ธนาคารพาณิชย์ถือครอง 304,579.3 309,714.6 398,465.5 301,849.6 292,870.3
*พันธบัตรออมทรัพย์มูลค่า 3.05 แสนล้านบาทในปี 2545 และอีก 2 งวดในปี 2547 ได้แก่ 7 หมื่นล้านบาทในเดือน ส.ค. 2547 และอีก 2 หมื่นล้านในเดือน ก.ย. 2547
Source: BOT และ ThaiBDC
นอกจากนั้น ปัจจัยที่สำคัญซึ่งหนุนให้สัดส่วนของผู้ลงทุนรายย่อยเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดนั้น ยังได้แก่ การออกพันธบัตรออมทรัพย์ของรัฐบาลมูลค่า 3.05 แสนล้านบาทในปี 2545 และอีก 2 รอบในปี 2547 มูลค่ารวม 9 หมื่นล้านบาท โดยผู้ลงทุนรายย่อยซึ่งอยู่ในเกณฑ์ที่สามารถซื้อพันธบัตรดังกล่าว ได้แก่ ผู้ลงทุนประเภทบุคคลธรรมดา มีสัดส่วนการลงทุนเพิ่มขึ้นอย่างมากจากร้อยละ 3.9 สู่ 23.7 และได้กลายเป็นกลุ่มที่มีการลงทุนมากที่สุด ตลอดจนกลุ่มของผู้ลงทุนประเภทอื่นๆ ได้แก่ มูลนิธิ, สหกรณ์ต่างๆ และนิติบุคคลซึ่งไม่แสวงหาผลกำไรซึ่งมีมูลค่าการลงทุนเพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 2.5 สู่ร้อยละ 12.4
ในด้านของหุ้นกู้เอกชน เมื่อพิจารณาสัดส่วนยอดคงค้างของหุ้นกู้เอกชนจำแนกตามประเภทผู้ลงทุนจากศูนย์ซื้อขายตราสารหนี้ (ซึ่งครอบคลุมนายทะเบียน 9 จาก 12 ราย คิดเป็นสัดส่วนโดยเฉลี่ยกว่าร้อยละ 60 – 70 ของยอดคงค้างหุ้นกู้เอกชนทั้งหมดในระบบ)ระหว่างปี 2545 – 2547 พบว่า การลงทุนของผู้ลงทุนประเภทสถาบัน เช่น ธนาคารพาณิชย์ สถาบันการเงินอื่นๆ และ Contractual Saving Funds ได้แก่ กบข., กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และประกันสังคม มีสัดส่วนที่ลดลง ส่วนกลุ่มที่เป็นบริษัทประกันภัยเพิ่มจากร้อยละ 4.7 สู่ร้อยละ 7.4 และกองทุนรวมเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากร้อยละ 7 สู่ร้อยละ 7.7 ในขณะที่สัดส่วนผู้ลงทุนรายย่อยที่เพิ่มขึ้น ได้แรงหนุนจากการลงทุนของกลุ่มของผู้ลงทุนบุคคลทั่วไปซึ่งเป็นกลุ่มที่มีสัดส่วนมากที่สุดที่ร้อยละ 39.7 ในปี 2547 จากร้อยละ 32.4 ในปี 2545
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีข้อสังเกตว่า การเพิ่มขึ้นของการลงทุนในกลุ่มผู้ลงทุนทั่วไปนั้น น่าจะเป็นผลมาจากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา การเสนอขายหุ้นกู้ในรูปแบบ PO (Public Offering) หรือการเสนอขายให้กับบุคคลทั่วไปเริ่มได้รับความนิยมมากขึ้น โดยผู้ประกอบการบางรายได้หันมาออกหุ้นกู้ในลักษณะดังกล่าวแทนที่การเสนอขายให้กับบุคคลในวงจำกัด (Private Placement) เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยเงินฝากหลายปีที่ผ่านมาที่ค่อนข้างต่ำทำให้ผู้ลงทุนทั่วไปมีทางเลือกในการลงทุนไม่มากนัก การลงทุนในหุ้นกู้จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ได้รับความสนใจ ซึ่งทำให้ผู้ออกได้รับประโยชน์จากการที่สามารถ offer อัตราผลตอบแทนที่น้อยลงกว่าที่เสนอขายให้กับนักลงทุนสถาบันได้
มูลค่าการเสนอขายหุ้นกู้เอกชนในประเทศตามลักษณะการเสนอขายระหว่างปี 2543 – 2548 (ล้านบาท)
2543 2544 2545 2546 2547
มูลค่าหุ้นกู้ที่เสนอขายในประเทศ 151,507 106,680 98,992 196,472 128,522
ประชาชนทั่วไป 14,000 30,770 53,373 89,160 93,001
บุคคลในวงจำกัด 137,507 75,910 45,619 107,312 35,521
Source: SEC
การเปลี่ยนแปลงสัดส่วนของผู้ลงทุนในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งผู้ลงทุนรายย่อยเริ่มเข้ามามีบท บาทในตลาดทุนเพิ่มขึ้นทั้งในด้านตราสารทุนและตราสารหนี้ตามที่ได้กล่าวในข้างต้น ถือได้ว่าเป็นปัจจัยบวกสำหรับการพัฒนาตลาดทุนไทย หากว่าผู้ลงทุนดังกล่าวนั้นเป็นผู้ซึ่งมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการลงทุนในหลักทรัพย์ เนื่องจากเป็นผู้ลงทุนกลุ่มที่มีจำนวนมากที่สุดในตลาดทุน การซื้อขายของผู้ลงทุนรายย่อยจึงเป็นปัจจัยสำคัญซึ่งช่วยหนุนให้มูลค่าการซื้อขายรวมเพิ่มขึ้น อันจะช่วยเสริมบรรยากาศในการลงทุนและกระตุ้นดัชนีหลักทรัพย์ให้ปรับตัวสูงขึ้นเช่นกัน นอกจากนั้น ความเชื่อมั่นที่เพิ่มขึ้นของผู้ลงทุนในตลาดนั้นจะเป็นตัวสะท้อนความคิดเห็นในเชิงบวกต่อสภาวะเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม และยังเป็นการสนับสนุนให้เกิดการออมระยาวผ่านทางตลาดทุน ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ปัจจัยสำคัญซึ่งช่วยหนุนการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ลงทุนรายย่อยในตลาดตราสารหนี้และตราสารทุนในช่วงที่ผ่านมานั้น น่าจะมาจาก
*ในด้านของอุปทาน
? การที่ผู้ลงทุนรายย่อยมีโอกาสการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างๆเพิ่มขึ้น จากเดิมที่โอกาสในการเข้าถึงหลัก ทรัพย์ต่างๆมักจะอยู่ในกลุ่มของผู้ลงทุนสถาบัน โดยการเพิ่มตราสารซึ่งผู้ลงทุนรายย่อยสามารถเข้าถึงได้ เห็นได้จากการออกพันธบัตรออมทรัพย์ของกระทรวงการคลังในช่วงที่ผ่านมาได้มีบทบาทสำคัญในการเพิ่มจำนวนผู้ลงทุนซึ่งเป็นประชาชนทั่วไปในตลาดตราสารหนี้,การที่มีหลักทรัพย์เสนอขายในรูปแบบของการเสนอขายให้ประชาชนทั่วไปเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะหุ้นขนาดใหญ่หลายบริษัทซึ่งเป็นที่สนใจของนักลงทุน, การส่งเสริมการลงทุนของนักลงทุนรายย่อยในตลาดตราสารหนี้โดยการจัดตั้งตลาดตราสารหนี้ (Bond Electronic Exchange: BEX) เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2546 ตลอดจนการจัดตั้งคณะทำงานเพื่อเพิ่มสภาพคล่องและเพิ่มนักลงทุนรายย่อยในตลาดรองภายใต้แผนพัฒนาตราสารหนี้ ล่าสุดนั้น ยังได้มีการนำเสนอให้ทางกระทรวงการคลังยกเว้นภาษีกำไรจากส่วนต่างราคาหลักทรัพย์ให้กับนักลงทุนรายย่อยในตลาด BEX จากที่อัตราร้อยละ 15 ในปัจจุบัน เพื่อจูงใจให้นักลงทุนเข้ามาทำการซื้อขายเพิ่มขึ้นซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างขั้นตอนในการพิจารณา
*ในด้านอุปสงค์
? ความต้องการลงทุนในหลักทรัพย์อื่นๆซึ่งให้อัตราผลตอบแทนสูงกว่าเงินฝาก เนื่องจากรูปแบบการลงทุนของผู้ลงทุนรายย่อยมีความแตกต่างกับผู้ลงทุนสถาบันหลายประการตามที่ได้กล่าวถึงในข้างต้น โดยเฉพาะการที่มีลักษณะการลงทุนเพื่อหวังผลกำไรในระยะสั้นมากกว่า ในขณะที่การตัดสินใจในการลงทุนสามารถที่จะกระทำได้อย่างคล่องตัวกว่าผู้ลงทุนสถาบัน อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยได้เริ่มเปลี่ยนแปลงไปโดยอัตราดอกเบี้ยเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ได้เริ่มที่จะปรับตัวสูงขึ้นอีกครั้ง แต่คาดว่ากระบวนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่นั้นคงจะเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งต้องอาศัยระยะเวลาในการปรับตัวอีกระยะหนึ่ง ในช่วงระยะเวลาดังกล่าวนั้น ความสนใจของนักลงทุนในหลักทรัพย์ เช่น ตราสารหนี้ คงจะต้องขึ้นอยู่กับอัตราผลตอบแทนโดยเปรียบเทียบระหว่างพันธบัตร หรือ หุ้นกู้ กับอัตราดอกเบี้ยธนาคารพาณิชย์ ในขณะที่ทางด้านของตราสารทุนนั้น คงจะต้องพิจารณาถึงปัจจัยพื้นฐานของหลักทรัพย์นั้นๆประกอบกันไปด้วย
? การเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการลงทุนประเภทต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ที่ผ่านมานั้น ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้ทำการประชาสัมพันธ์กับประชาชนในวงกว้างผ่านสื่อประเภทต่างๆ ทั้งวิทยุ, โทรทัศน์ และหนังสือพิมพ์เพื่อกระตุ้นให้นักลงทุนเห็นถึงประโยชน์ของการลงทุน ไม่ว่าจะเป็นจัดงานมหกรรมต่างๆ เช่น งาน SET IN THE CITY, Money Expo รวมไปถึงจัดตลาดหลักทรัพย์สัญจร และการจัดอบรมสัมมนาต่างๆ ตลอดจน การสนับสนุนให้มีความร่วมมือกันในกลุ่มของผู้ลงทุนรายย่อย เช่น การที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้สนับสนุนให้มีการจัดตั้งสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทยทำหน้าที่เป็นองค์กรผู้ถือหุ้นรายย่อย เพื่อเป็นผู้แทนในการปกป้องสิทธิและเป็นตัวแทนในคณะกรรมการต่างๆเพื่อแสดงข้อคิดเห็นให้กับผู้ถือหุ้นรายย่อย
ทั้งนี้ การดำเนินการในระยะต่อไปนั้น นอกเหนือจากการเพิ่มจำนวนผู้ลงทุนรายย่อยควรจะให้น้ำหนักไปที่การเพิ่มแรงจูงใจให้การลงทุนของผู้ลงทุนรายย่อยเป็นการลงทุนในระยะยาวมากกว่าการเก็งกำไรในระยะสั้น ซึ่งอาจจะทำได้โดยการเพิ่มมาตรการจูงใจด้านภาษีมากขึ้น และเพิ่มการช่องทางลงทุนให้ผู้ลงทุนรายย่อยสามารถเข้าถึงหลักทรัพย์ต่างๆมากขึ้นจากในปัจจุบัน เช่น อาจจะอยู่ในรูปของการกำหนดการเพิ่มการกระจายหุ้นให้กับรายย่อยในหลักทรัพย์ที่จะออกใหม่ ควบคู่ไปกับการประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่องให้ผู้ลงทุนทั่วไปมีความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการลงทุนและตระหนักถึงความสำคัญของการออมในระยะยาว อันจะเป็นปัจจัยสำคัญในการเสริมสร้างเสถียรภาพให้กับตลาดทุนในอนาคตต่อไป
บทสรุป
การขยายฐานของผู้ลงทุน เป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่สำคัญในการพัฒนาตลาดทุน ตามแผนแม่บทการพัฒนาตลาดทุนไทยที่ทางกระทรวงการคลังได้จัดทำขึ้นตั้งแต่ปี 2545 ทั้งนี้ ประเภทของผู้ลงทุนในตลาดทุนนั้น สามารถจะแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ ได้แก่ ผู้ลงทุนสถาบัน (Institutional investors) และผู้ลงทุนรายย่อย (Retail/Individual Investors) ในช่วงหลายปีที่ผ่านมานั้น สภาพแวดล้อมและบรรยากาศการลงทุนในตลาดทุนที่เปลี่ยนแปลงไปได้ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนของผู้ลงทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารพาณิชย์ซึ่งนับจากช่วงวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจในปี 2540 เป็นต้นมา อัตราดอกเบี้ยเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ทั้งเงินฝากแบบออมทรัพย์และแบบฝากประจำได้ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้นักลงทุนหันไปหาช่องทางลงทุนในหลักทรัพย์อื่นๆซึ่งให้ผลตอบแทนสูงกว่าเงินฝาก
โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้พิจารณาการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนของผู้ลงทุนในหลักทรัพย์ต่างๆแบ่งตามประเภทของหลักทรัพย์ ได้แก่ ตราสารทุนและตราสารหนี้และได้ข้อสังเกตดังนี้ สำหรับตราสารทุนนั้น การลงทุนในหลักทรัพย์ที่ออกเสนอขายใหม่ของผู้ลงทุนรายย่อยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมามีสัดส่วนที่เพิ่มขึ้น ตามลำดับ ในขณะที่การลงทุนในกลุ่มของผู้ลงทุนสถาบันมีสัดส่วนที่ลดลง ถึงแม้การตัดสินใจเลือกรูปแบบการเสนอขายหลักทรัพย์นั้นขึ้นอยู่กับผู้ระดมทุน แต่แนวโน้มดังกล่าวอาจเป็นการสะท้อนถึงการที่ผู้ระดมทุนมีความแน่ใจว่าหลักทรัพย์ที่ออกใหม่นั้นจะได้รับความตอบรับที่ดีจากประชาชน จึงน่าจะสามารถใช้เป็นเครื่องบ่งชี้ถึงความสนใจของนักลงทุนรายย่อยที่มีต่อการลงทุนในตลาดในช่วงเวลานั้นได้ในระดับหนึ่ง
ทั้งนี้ การลงทุนในหลักทรัพย์ออกใหม่ของผู้ลงทุนรายย่อยที่เพิ่มขึ้นนั้น ส่งผลไปถึงยอดคงค้างของหลักทรัพย์ที่ผู้ลงทุนแต่ละกลุ่มถือครองโดยพบว่า สัดส่วนการถือครองหุ้นของผู้ลงทุนรายย่อยก็ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นเช่นกัน จนกลายเป็นกลุ่มที่มีสัดส่วนมูลค่าการถือครองหุ้นมากที่สุดในปี 2547 ในด้านตลาดตราสารหนี้นั้นสามารถจะแยกการพิจารณาเป็นกลุ่มของผู้ลงทุนในตราสารหนี้รัฐบาล เช่น พันธบัตรรัฐบาล ตั๋วเงินคลังและตั๋วสัญญาใช้เงินเพื่อปรับโครงสร้างหนี้ (ไม่รวมพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทยและพันธบัตรรัฐวิสาหกิจ) และหุ้นกู้ภาคเอกชน จะเห็นได้ว่าสำหรับตราสารหนี้รัฐบาลนั้น ในระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา สัดส่วนของผู้ลงทุนสถาบันซึ่งเป็นผู้ลงทุนกลุ่มใหญ่ในตราสารหนี้รัฐบาลได้ปรับตัวลดลงอย่างเห็นได้ชัด
ในขณะเดียวกัน สัดส่วนของผู้ลงทุนรายย่อยเพิ่มขึ้นอย่างมาก ส่วนหุ้นกู้ภาคเอกชนนั้น การลงทุนส่วนใหญ่จะมาจากกลุ่มของผู้ลงทุนรายย่อย โดยในปัจจุบันมีสัดส่วนอยู่ที่ประมาณร้อยละ 57 ในขณะที่สัดส่วนของผู้ลงทุนสถาบันอยู่ที่ประมาณร้อยละ 43
ทั้งนี้ การที่ผู้ลงทุนรายย่อยได้เข้ามามีบทบาทในตลาดทุนเพิ่มขึ้นทั้งในตลาดตราสารทุนและตราสารหนี้ตามที่ได้กล่าวในข้างต้นนั้น ถือเป็นปัจจัยบวกต่อการพัฒนาตลาดทุน หากว่าผู้ลงทุนดังกล่าวเป็นผู้ซึ่งมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการลงทุน เนื่องจากเป็นผู้ลงทุนกลุ่มที่มีจำนวนมากที่สุดในตลาดทุน การซื้อขายของผู้ลงทุนรายย่อยจึงเป็นปัจจัยสำคัญซึ่งช่วยหนุนให้มูลค่าการซื้อขายรวมเพิ่มขึ้น อันจะช่วยเสริมบรรยากาศในการลงทุนและกระตุ้นดัชนีหลักทรัพย์ให้ปรับตัวสูงขึ้นเช่นกัน
นอกจากนั้น ความเชื่อมั่นที่เพิ่มขึ้นของผู้ลงทุนในตลาดนั้นจะเป็นตัวสะท้อนความคิดเห็นในเชิงบวกต่อสภาวะเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม และยังเป็นการสนับสนุนให้เกิดการออมระยาวผ่านทางตลาดทุน ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ปัจจัยสำคัญซึ่งมีส่วนช่วยหนุนการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ลงทุนรายย่อยในตลาดตราสารหนี้และตราสารทุนในช่วงที่ผ่านมานั้น น่าจะมาจาก ในด้านของอุปทาน ได้แก่ การที่ผู้ลงทุนรายย่อยมีโอกาสการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างๆเพิ่มขึ้น จากเดิมที่โอกาสในการเข้าถึงหลักทรัพย์ต่างๆมักจะอยู่ในกลุ่มของผู้ลงทุนสถาบัน โดยการที่มีตราสารซึ่งผู้ลงทุนรายย่อยสามารถเข้าถึงได้มากขึ้น เช่น พันธบัตรออมทรัพย์ของกระทรวงการคลัง ,การที่มีหลักทรัพย์เสนอขายในรูปแบบการเสนอขายให้ประชาชนทั่วไปเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะหุ้นขนาดใหญ่หลายบริษัทซึ่งเป็นที่สนใจของนักลงทุน, การส่งเสริมการลงทุนของรายย่อยในตลาดตราสารหนี้โดยการจัดตั้งตลาดตราสารหนี้ (Bond Electronic Exchange: BEX) ในด้านอุปสงค์ ได้แก่ ความต้องการลงทุนในหลักทรัพย์อื่นๆซึ่งให้อัตราผลตอบแทนสูงกว่าเงินฝาก เนื่องจากรูปแบบการลงทุนของผู้ลงทุนรายย่อยมีความแตกต่างกับผู้ลงทุนสถาบันหลายประการ โดยเฉพาะการที่มีลักษณะการลงทุนเพื่อหวังผลกำไรในระยะสั้นมากกว่า ในขณะที่การตัดสินใจในการลงทุนสามารถที่จะกระทำได้อย่างคล่องตัวกว่าผู้ลงทุนสถาบัน
อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยได้เริ่มเปลี่ยนแปลงไปโดยอัตราดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารพาณิชย์ได้เริ่มที่จะปรับตัวสูงขึ้นอีกครั้ง แต่คาดว่ากระบวนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่นั้นน่าจะเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งต้องอาศัยระยะเวลาในการปรับตัวอีกระยะหนึ่ง, การเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการลงทุนประเภทต่างๆอย่างต่อเนื่อง ตลอดจน การสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือกันในกลุ่มของผู้ลงทุนรายย่อย สำหรับการดำเนินการในระยะต่อไปนั้น นอกเหนือจากการเพิ่มจำนวนผู้ลงทุนรายย่อยควรจะให้น้ำหนักกับการเพิ่มแรงจูงใจให้การลงทุนของผู้ลงทุนรายย่อยเป็นการลงทุนในระยะยาวมากกว่าการเก็งกำไรในระยะสั้น ซึ่งอาจจะทำได้โดยการเพิ่มมาตรการจูงใจด้านภาษีมากขึ้น และเพิ่มการช่องทางลงทุนให้ผู้ลงทุนรายย่อยสามารถเข้าถึงหลักทรัพย์ต่างๆมากขึ้นจากในปัจจุบัน เช่น อาจจะอยู่ในรูปของการกำหนดการเพิ่มการกระจายหุ้นให้กับรายย่อยในหลักทรัพย์ที่จะออกใหม่ ควบคู่ไปกับการประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่องให้ผู้ลงทุนทั่วไปมีความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการลงทุนและตระหนักถึงความสำคัญของการออมในระยะยาว อันจะเป็นปัจจัยสำคัญในการช่วยเสริมสร้างเสถียรภาพให้กับตลาดทุนในอนาคตต่อไป