เศรษฐกิจเวียดนาม : สวนทางวิกฤตน้ำมันโลก คว้าแชมป์แห่งอาเซียน

วิกฤตราคาน้ำมันแพงที่แพร่สะพัดไปทั่วโลก ทำให้ประเทศต่างๆ ได้รับผลกระทบอันเนื่องมาจากน้ำมันแพงกันทั่วหน้า โดยเฉพาะเศรษฐกิจของประเทศที่จำเป็นต้องพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันดิบจากต่างประเทศ มีแนวโน้มชะลอตัวลงในปีนี้ อย่างไรก็ตาม ประเทศเพื่อนบ้านของไทยในกลุ่มอาเซียนที่มีแหล่งน้ำมันดิบภายในประเทศ ได้รับอานิสงส์จากราคาน้ำมันดิบที่ทำสถิติสูงขึ้นเรื่อยๆ ประเทศที่มีเศรษฐกิจโดดเด่นที่สุดในกลุ่มอาเซียนในยุคน้ำมันแพง ได้แก่ เวียดนาม ซึ่งเศรษฐกิจเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ เศรษฐกิจเวียดนามขยายตัวในอัตราสูงถึง 9.3% เทียบกับอัตราเติบโต 7.4% และ 8.0% ในไตรมาสที่ 1 และไตรมาสที่ 2 ตามลำดับ ส่งผลให้อัตราขยายตัวทางเศรษฐกิจของเวียดนามอยู่ในระดับเฉลี่ย 8.1% ในช่วง 9 เดือนแรก 2548 ทางการเวียดนามคาดว่าเวียดนามน่าจะบรรลุเป้าหมายอัตราเติบโตทางเศรษฐกิจในระดับ 8.5% ในปีนี้ ซึ่งจะเป็นอัตราขยายตัวสูงสุดในรอบ 8 ปีของเวียดนาม ในขณะเดียวกัน รายงานแนวโน้มเศรษฐกิจของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เมื่อเดือนกันยายน 2548 ล่าสุดได้คาดการณ์เศรษฐกิจเวียดนามมีอัตราเติบโตในปี 2548 อยู่ในระดับ 7.5% ซึ่งส่งผลให้เวียดนามครองแชมป์เศรษฐกิจขยายตัวสูงสุดในอาเซียนในปีนี้

IMF คาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศอาเซียน ปี 2548
ประเทศ อัตราการขยายตัว (%)
1. เวียดนาม 7.5
2. ลาว 7.3
3. กัมพูชา 6.3
4. อินโดนีเซีย 5.8
5. มาเลเซีย 5.5
6. ฟิลิปปินส์ 4.7
7. พม่า 4.5
8. สิงคโปร์ 3.9
9. ไทย 3.5
10 บรูไน 3.0

ที่มา : World Economic Outlook, IMF, September 2005

5 แรงหนุนเศรษฐกิจญวน

เศรษฐกิจเวียดนามได้รับแรงสนับสนุนทั้งจากปัจจัยภายนอกและภายในประเทศ ซึ่งช่วยให้เศรษฐกิจเวียดนามขยายตัวต่อเนื่องนับตั้งแต่ต้นปี 2548

ปัจจัยเกื้อหนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนามในปีนี้

1. ส่งออกแจ่มใส การส่งออกของเวียดนามขยายตัว 21% เป็นมูลค่า 23,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วง 9 เดือนแรก 2548 สาเหตุที่การส่งออกของเวียดนามเข้มแข็ง เนื่องจากประเทศคู่ค้าสำคัญๆ ของเวียดนาม เช่น สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป (EU) โดยเฉพาะประเทศฝรั่งเศส ซึ่งในอดีตเคยมีความผูกพันกับเวียดนามมายาวนาน ได้ฟื้นฟูความร่วมมือทางเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิดกับเวียดนามมากขึ้น และยินดีต้อนรับสินค้าเวียดนาม การส่งออกของเวียดนามไปยังประเทศเหล่านี้ จึงไม่ค่อยมีอุปสรรค ส่งผลดีสินค้าส่งออกของเวียดนามให้สามารถขยายตลาดส่งออกได้มากขึ้น นอกจากนี้ การที่เวียดนามเปิดเกมรุกการส่งออกไปยังตลาดใหม่ๆ เช่น จีน ตะวันออกกลาง ยุโรปตะวันออก ฯลฯ ซึ่งเป็นตลาดที่มีความต้องการและกำลังซื้อสูง โดยเฉพาะสินค้าจำพวกวัตถุดิบและอาหาร ช่วยกระจายตลาดส่งออกอย่างกว้างขวางขึ้น เกื้อหนุนการส่งออกโดยรวมของเวียดนามให้ขยายตัวต่อเนื่อง

สินค้าส่งออกดาวรุ่งของเวียดนามหลายรายการ ทำรายได้ด้านการส่งออกเกินกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ได้แก่ น้ำมันดิบ เสื้อผ้าสำเร็จรูปและสิ่งทอ รองเท้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ส่วนประกอบคอมพิวเตอร์ ข้าว เฟอร์นิเจอร์ และอาหารทะเล

? น้ำมันดิบ สินค้าส่งออกอันดับ 1 ของเวียดนาม ขยายตัวกว่า 30% เป็นมูลค่า 5,450 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในช่วง 9 เดือนแรก 2548 เนื่องจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกทรงตัวอยู่ในระดับสูง
? ข้าว เวียดนามส่งออกข้าวได้เพิ่มขึ้น 52.5% นับเป็นสินค้าที่มูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้นมากที่สุด คิดเป็นปริมาณข้าวที่เวียดนามส่งออกสูงถึง 4.38 ล้านตันในช่วง 9 เดือนแรก 2548 เทียบกับที่เคยประมาณการไว้ 3.8 ล้านตันในช่วงต้นปี ประเทศที่เวียดนามส่งข้าวออกไปขายมากที่สุด ได้แก่ ฟิลิปปินส์ (1.5 ล้านตัน) แอฟริกา (760,000 ตัน) คิวบา (600,000 ตัน) อิหร่าน – ลูกค้ารายใหม่ (300,000 ตัน) ญี่ปุ่น (90,000 ตัน) เป็นต้น
? รองเท้า ส่งออกเพิ่มขึ้น 13% เป็นมูลค่า 2,220 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ โดยสามารถขยายตลาดในประเทศสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น แคนาดา และแอฟริกาใต้
? เฟอร์นิเจอร์ไม้ เป็นสินค้าส่งออกดาวรุ่งรายการใหม่ของเวียดนามที่ขยายตัวรวดเร็ว โดยมีอัตราเติบโต 44.4% เป็นมูลค่า 1,760 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในช่วง 9 เดือนแรก 2548
? สินค้าส่งออกรายการอื่นๆ ที่ขยายตัวในอัตราสูงเฉลี่ยราว 30-40% ได้แก่ ผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ สายเคเบิลและสายไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์พลาสติก สินค้าเกษตร เป็นต้น

2. ท่องเที่ยวบูม เวียดนามเป็นประเทศที่ไม่ค่อยเกิดภัยธรรมชาติรุนแรงนักและสถานการณ์การเมืองภายในประเทศค่อนข้างสงบเรียบร้อย เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านบางประเทศที่ประสบปัญหาความวุ่นวายทางการเมืองและเผชิญภัยธรรมชาติร้ายแรง ส่งผลให้เวียดนามเป็นแหล่งท่องเที่ยวโดดเด่นแห่งหนึ่งในเอเชีย นอกจากนี้ ทางการเวียดนามพยายามเปิดประเทศมากขึ้น เพื่อผลักดันประเทศให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวชั้นนำแห่งใหม่ในเอเชีย โดยรณรงค์ประชาสัมพันธ์ความงดงามของแหล่งท่องเที่ยวและเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของเวียดนามในนิตยสารชั้นนำระดับโลก เพื่อเผยแพร่ให้ชาวต่างชาติรู้จักเวียดนามและสนใจเดินทางไปเที่ยวเวียดนามมากขึ้น

นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางไปท่องเที่ยวในเวียดนาม เพิ่มขึ้น 23.3% เป็นจำนวน 2.6 ล้านคนในช่วง 9 เดือนแรก 2548 ปัจจัยที่ช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวของเวียดนามอีกประการหนึ่ง ได้แก่ การที่ทางการเวียดนามผ่านคลายกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการเดินทางเข้าเวียดนามของนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยยกเว้นวีซ่าให้แก่นักท่องเที่ยวชาติต่างๆ อาทิ กลุ่มอาเซียน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ยุโรปตอนเหนือ เป็นต้น

หลังจากที่มาตรการดังกล่าวมีผลบังคับใช้ ส่งผลให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางไปเวียดนามได้สะดวกยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในเดือนกันยายนที่ผ่านมา ชาวต่างชาติที่เดินทางไปท่องเที่ยวเวียดนามมีจำนวนเกือบ 300,000 คน นักท่องเที่ยวต่างชาติที่สนใจไปเที่ยวเวียดนามเพิ่มขึ้นมาก ได้แก่ เกาหลีใต้ พุ่งขึ้น 57% นักท่องเที่ยวกลุ่มอาเซียน (สิงคโปร์ ไทย และมาเลเซีย) เพิ่มขึ้น 50% เนเธอร์แลนด์-และเบลเยียม ขยายตัว 30% ฝรั่งเศส 26% นอร์เวย์ 24% สหรัฐฯ 23% ญี่ปุ่น 21% เป็นต้น

ประเด็นที่น่าสังเกต ก็คือ นักท่องเที่ยวชาวอเมริกันเดินทางไปเที่ยวเวียดนามมากขึ้น หลังจากที่เวียดนามและสหรัฐฯ ฟื้นฟูความสัมพันธ์ฉันท์มิตรระหว่างกัน ส่งผลให้นักท่องเที่ยวสหรัฐฯ เป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติอันดับ 2 ของเวียดนาม รองจากจีน ทั้งนี้ ทางการเวียดนามตั้งเป้าที่จะดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวน 3.4 ล้านคนในปีนี้ คิดเป็นอัตราเพิ่มประมาณ 17% คาดว่านักท่องเที่ยวต่างชาติจะทำรายได้ด้านการท่องเที่ยวให้แก่เวียดนามประมาณ 2,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2548

บรรยากาศการท่องเที่ยวของเวียดนามที่แจ่มใสขึ้น ส่งผลดีต่อกิจการโรงแรมในเวียดนามตามไปด้วย โดยอัตราการเข้าพักเฉลี่ยของโรงแรมในเวียดนามอยู่ในระดับ 85% ในเดือนกันยายน 2548 เทียบกับอัตราการเข้าพักเฉลี่ย 59% ในเดือนกันยายน 2547

3. ต่างชาติลงทุนพุ่ง การลงทุนจากต่างประเทศที่หลั่งไหลเข้าสู่เวียดนามเพิ่มขึ้น 37.5% เป็นมูลค่า 4,090 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วง 9 เดือนแรก 2548 ขณะเดียวกันโครงการลงทุนของต่างชาติที่ได้รับใบอนุญาตในปีนี้ มีจำนวน 570 โครงการ จำนวนเงินทุนจดทะเบียนรวม 2,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็นอัตราเพิ่ม 10% และ 65% ตามลำดับ ทางการเวียดนามตั้งเป้าที่จะดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศจำนวน 4,500-5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปีนี้ ซึ่งคาดว่าน่าจะบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ เนื่องจากเวียดนามมีปัจจัยดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าประเทศอื่นๆ อาทิ ค่าจ้างแรงงานของเวียดนามค่อนข้างถูก การจัดเก็บภาษีขาเข้าวัตถุดิบอยู่ในระดับต่ำ รวมทั้งทางการเวียดนามเตรียมผ่อนคลายกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการอนุญาตให้นักลงทุนต่างชาติสามารถถือหุ้นในบริษัทจดทะเบียนในเวียดนามเพิ่มขึ้นเป็น 49% จากสัดส่วนเดิม 30% เป็นต้น

นอกจากนักลงทุนต่างชาติจะสนใจเข้าไปลงทุนโครงการใหม่ๆ ในเวียดนามแล้ว โครงการลงทุนดั้งเดิมในเวียดนามก็หลายโครงการก็เริ่มขยายการลงทุนเช่นกัน โดยโครงการที่เข้าไปลงทุนในเวียดนามอยู่แล้วและลงทุนเพิ่มเติมในปีนี้มีจำนวน 361 แห่ง คิดเป็นเงินลงทุนส่วนเพิ่ม 1,440 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในช่วง 9 เดือนแรก 2548

นักลงทุนต่างชาติรายใหญ่อันดับ 1 ของเวียดนาม ได้แก่ ไต้หวัน มูลค่าเงินลงทุนสะสม 7,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จำนวน 1,363 โครงการ ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2548 อันดับ 2 ได้แก่ สิงคโปร์ มูลค่าเงินลงทุน 7,443 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จำนวน 366 โครงการ ตามมาด้วย ญี่ปุ่น อยู่ในอันดับ 3 เม็ดเงินลงทุน 5,938 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จำนวน 549 โครงการ ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา นักลงทุนไต้หวันและนักลงทุนญี่ปุ่นเข้าไปลงทุนในเวียดนามเพิ่มขึ้น โดยเคลื่อนย้ายการลงทุนบางส่วนจากจีนไปยังเวียดนามมากขึ้น เพราะเห็นศักยภาพทางเศรษฐกิจและการค้าของเวียดนาม

การลงทุนจากต่างประเทศของเวียดนามมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่ทางการเวียดนามจะเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นของนักลงทุนต่างชาติในบริษัทจดทะเบียนในเวียดนามเป็น 49% เทียบกับสัดส่วนเดิม 30% คาดว่าจะดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติเข้าสู่เวียดนามมากขึ้นต่อไป

เมืองที่เป็นทำเลลงทุนหลักของต่างชาติ ได้แก่ ฮานอย โฮจิมินห์ซิตี้ ดองไน บินห์ดง เป็นต้น ในช่วง 9 เดือนแรก 2548 ฮานอย เป็นเมืองที่รองรับการลงทุนจากต่างประเทศมากที่สุด โดยดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศจำนวน 1,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วน 43.7% ของเงินลงทุนจากต่างชาติที่ไหลเข้าเวียดนามทั้งหมดในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ รองลงมา ได้แก่ โฮจิมินห์ซิตี้ จำนวน 610 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และดองไน จำนวน 222 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงเดียวกัน

4. พลังซื้อชาวเวียดนาม พฤติกรรมการบริโภคของชาวเวียดนามมีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม คนเวียดนามเริ่มจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น และส่วนใหญ่หันมานิยมซื้อสินค้าตามห้างสรรพสินค้าและซูเปอร์มาร์เก็ต ทดแทนการซื้อของกินของใช้ตามตลาดสดและแผงลอยทั่วไป เนื่องจากชาวเวียดนามตระหนักถึงความปลอดภัยในการบริโภคมากขึ้น โดยจะเลือกซื้ออาหารที่สะอาด เลือกใช้สินค้าที่มีคุณภาพ รวมทั้งเลือกใช้บริการที่มีมาตรฐาน การใช้จ่ายของผู้บริโภคชาวเวียดนามขยายตัวในอัตราเฉลี่ยประมาณ 9-10% ต่อปีในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา คาดว่าในปีนี้การจับจ่ายใช้สอยของชาวเวียดนามจะทรงตัวอยู่ในระดับสูงต่อไป

การใช้จ่ายของชาวเวียดนามที่ขยายตัวต่อเนื่อง ส่งผลดีต่อการผลิตสินค้าและบริการของเวียดนามให้เติบโตตามไปด้วย ในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ อุตสาหกรรมการผลิตขยายตัว 11% ขณะที่ธุรกิจบริการของเวียดนามเติบโต 8.2% ธุรกิจบริการของเวียดนามที่คึกคักมาก ได้แก่ ธุรกิจโรงแรม-ภัตตาคาร-ร้านอาหารขยายตัว 15.4% กิจการก่อสร้างเพิ่มขึ้น 10% เป็นต้น

5. การลงทุนภาครัฐ การใช้จ่ายของทางการเวียดนามเป็นปัจจัยผลักดันเศรษฐกิจที่สำคัญอีกประการหนึ่งในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เนื่องจากเวียดนามอยู่ในระยะฟื้นฟูประเทศ จึงจำเป็นต้องปรับปรุงระบบสาธารณูปโภคสาธารณูปการต่างๆ ในช่วง 3 ไตรมาสแรก 2548 โครงการก่อสร้างของทางการเวียดนามเพิ่มขึ้น 24% เป็นมูลค่า 7,520 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ประมาณว่าการใช้จ่ายของภาครัฐในปีนี้คิดเป็นสัดส่วน 36.5% ของ GDP

โครงการก่อสร้างสำคัญของทางการเวียดนามในปีนี้ อาทิ การก่อสร้างถนนระดับมาตรฐานสากล โรงงานผลิตกระแสไฟฟ้า การปรับปรุงท่าเรือ เป็นต้น คาดว่าการใช้จ่ายของรัฐบาลเวียดนามจะยังคงเป็นปัจจัยสำคัญต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของเวียดนามต่อไปในปีหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้จ่ายเพื่อปรับปรุงและยกระดับมาตรฐานด้านการศึกษาและสาธารณสุข ประมาณว่าการใช้จ่ายของภาครัฐในปี 2549 จะมีสัดส่วนขยับขึ้นเป็น 37% ของ GDP

4 ปัจจัยเสี่ยง 2549

1. เงินเฟ้อ การที่เศรษฐกิจเวียดนามขยายตัวต่อเนื่อง ประกอบกับน้ำมันดิบยังคงมีราคาแพง คาดว่าทางการเวียดนามคงจะพลาดเป้าหมายในการควบคุมอัตราเงินเฟ้อให้ชะลอลงอยู่ในระดับ 6.5% ตามที่ตั้งไว้ในปีนี้ หลังจากที่ในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ อัตราเงินเฟ้อของเวียดนามเพิ่มขึ้น 6% ทางการเวียดนามประมาณการว่าเงินเฟ้อในปี 2548 จะอยู่ในระดับ 7.5% สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์เบื้องต้น 1% ดัชนีราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้นมากในปีนี้ ได้แก่ ราคาที่อยู่อาศัย วัสดุก่อสร้าง เสื้อผ้าสำเร็จรูป ค่าขนส่ง ค่าเล่าเรียน เป็นต้น

ทั้งนี้ ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี ประชาชนจะใช้จ่ายกันมาก เพราะเป็นช่วงที่เด็กนักเรียนเปิดเทอม ประกอบกับเป็นช่วงแห่งการเฉลิมฉลองเนื่องในเทศกาลต่างๆ เช่น วันคริสต์มาส วันขึ้นปีใหม่ เป็นต้น ทำให้เงินเฟ้อในช่วงปลายปีมีแนวโน้มสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม นับว่าทางการเวียดนามประสบความสำเร็จในระดับหนึ่งที่สามารถชะลออัตราเงินเฟ้อให้ลดลงในปีนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับอัตราเงินเฟ้อที่สูงถึง 9.5% ในปี 2547 ก่อนหน้านี้ เวียดนามแทบไม่มีปัญหาเกี่ยวกับเงินเฟ้อ โดยเงินเฟ้อของเวียดนามอยู่ในระดับเฉลี่ยประมาณ 3-4% ดังนั้น การที่อัตราเงินเฟ้อของเวียดนามเพิ่มขึ้นรวดเร็วในปีที่ผ่านมา ทำให้ทางการเวียดนามต้องเร่งแก้ไขสถานการณ์ดังกล่าวโดยเร็ว จึงเป็นข้อพึงระวังทางเศรษฐกิจของเวียดนามประการหนึ่ง

2. ขาดดุลการค้า ดุลการค้าของเวียดนามขาดดุลเพิ่มขึ้น 15% เป็นยอดขาดดุล 3,890 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในช่วง 9 เดือนแรก 2548 เนื่องจากเวียดนามนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปเพิ่มขึ้น ทั้งน้ำมันดีเซลและน้ำมันเบนซิน แม้ว่าการส่งออกของเวียดนามค่อนข้างแจ่มใสก็ตาม แต่ก็ยังไม่สามารถชดเชยกับการนำเข้าสินค้าเชื้อเพลิงที่สูงขึ้นรวดเร็วในช่วงนี้ คาดการณ์ว่าเวียดนามประสบปัญหาขาดดุลการค้าและปัญหาขาดดุลบัญชีเดินสะพัดสูงขึ้นในปีนี้ ประมาณว่ายอดขาดดุลบัญชีเดินสะพัดของเวียดนามจะมีสัดส่วนประมาณ 4.7% ของ GDP ในปีนี้ เทียบกับสัดส่วน 3.8% ในปี 2547 อย่างไรก็ตาม การที่เวียดนามยังคงมีเงินตราต่างประเทศไหลเข้าประเทศอย่างต่อเนื่อง ทั้งเงินลงทุนจากต่างประเทศและเงินส่งกลับประเทศของชาวเวียดนามที่อยู่นอกประเทศ มีส่วนช่วยพยุงฐานะทางการเงินของประเทศในช่วงที่ผ่านมา ทั้งนี้ เวียดนามต้องเร่งขยายการส่งออกไปยังตลาดใหม่ๆ พร้อมกับดำเนินมาตรการรณรงค์ประหยัดการใช้พลังงานภายในประเทศอย่างจริงจัง คาดว่าจะช่วยชะลอยอดขาดดุลการค้าของเวียดนามมิให้เพิ่มขึ้นรวดเร็วนัก มิฉะนั้นจะกลายเป็นปัญหาเรื้อรังของประเทศต่อไป

3. ผลผลิตทางการเกษตรลดลง พืชเศรษฐกิจที่สำคัญของเวียดนาม ได้แก่ กาแฟและข้าว มีแนวโน้มว่าปริมาณผลผลิตจะลดลงในช่วงฤดูการเพาะปลูกปี 2548/49 อันเนื่องมาจากภัยธรรมชาติ

? การผลิตเมล็ดกาแฟของเวียดนาม ได้รับผลกระทบจากภาวะฝนแล้งตอนต้นปี ทำให้เมล็ดกาแฟที่จะเก็บเกี่ยวในฤดูการผลิตนี้ (ตุลาคม 2548 – กันยายน 2549) มีขนาดเล็กลง ประมาณว่าเวียดนามจะผลิตเมล็ดกาแฟได้ 700,000 ตันในฤดูการผลิตปี 2548/49 ลดลง 16.7% เมื่อเทียบกับปริมาณผลผลิต 840,000 ตันในฤดูการผลิตปี 2547/48 ทั้งนี้ เวียดนามผลิตเมล็ดกาแฟมากเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากบราซิล

ผลผลิตเมล็ดกาแฟที่ลดลงในช่วงฤดูการผลิตปี 2548/49 คาดว่าจะส่งผลให้เวียดนามส่งออกเมล็ดกาแฟชะลอลงตามไปด้วยในปี 2549 หลังจากที่การส่งออกเมล็ดกาแฟของเวียดนามลดลง 20.5% เหลือปริมาณ 726,000 ตันในปีนี้

? ผลผลิตข้าวของเวียดนาม มีแนวโน้มลดลง เนื่องจากพื้นที่เพาะปลูกข้าวทางตอนเหนือของประเทศ ได้รับความเสียหายจากภาวะน้ำท่วมฉับพลันเพราะอิทธิพลของพายุไต้ฝุ่น Damrey ที่พัดเข้าเวียดนามในช่วงปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา ทำลายพื้นที่เพาะปลูกข้าวเกือบ 2 ล้านไร่ ซึ่งอาจทำให้เวียดนามเก็บเกี่ยวข้าวได้น้อยลงในช่วงฤดูการผลิตปี 2548/49 และมีแนวโน้มว่าทางการเวียดนามอาจจำเป็นต้องระงับการส่งออกข้าวชั่วคราว เพราะเกรงว่าผลผลิตข้าวจะไม่เพียงพอสำหรับการบริโภคภายในประเทศ ทั้งนี้ ทางการเวียดนามเคยระงับการส่งออกข้าวชั่วคราวไปแล้วระหว่างเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม 2548

อย่างไรก็ตาม การส่งออกข้าวของเวียดนามในช่วงนี้ได้รับอานิสงส์จากราคาข้าวในตลาดโลกที่ขยับสูงขึ้น ทำให้เวียดนามมีรายได้จากการส่งออกข้าวเพิ่มขึ้น คาดว่าเวียดนามจะส่งออกข้าวได้ 4.7 ล้านตันในปีนี้ เทียบกับปริมาณ 4.1 ล้านตันในปี 2547

4. ไฟฟ้าขาดแคลน ความต้องการใช้กระแสไฟฟ้าของเวียดนามเพิ่มขึ้นรวดเร็วในอัตราเฉลี่ยประมาณ 16% ต่อปี หากความต้องการใช้กระแสไฟฟ้าของเวียดนามยังคงขยายตัวในอัตราใกล้เคียงกับช่วงที่ผ่านมา และเวียดนามยังไม่สามารถเพิ่มปริมาณการผลิตกระแสไฟฟ้าได้ทันกับความต้องการ ก็คาดว่าเวียดนามจะประสบปัญหาขาดแคลนกระแสไฟฟ้าในปี 2549-2550 ซึ่งจะกระทบต่ออุตสาหกรรมการผลิตสินค้าและธุรกิจบริการทั่วไป รวมทั้งจะทำให้บรรยากาศการลงทุนในเวียดนามไม่สดใสเท่าที่ควร ดังนั้น ทางการเวียดนามต้องเร่งดำเนินโครงการก่อสร้างโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าให้แล้วเสร็จโดยเร็ว พร้อมทั้งแสวงหาแหล่งพลังงานไฟฟ้าสำรองแห่งอื่นๆ เช่น ประเทศเพื่อนบ้านที่มีศักยภาพในการผลิตกระแสไฟฟ้า อาทิ ลาว จีน เป็นต้น

ความสดใสทางเศรษฐกิจเวียดนามในช่วงนี้ น่าจะส่งผลดีแก่ประเทศเพื่อนบ้านอาเซียน รวมทั้งประเทศไทยด้วย โดยเฉพาะตลาดเวียดนามกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะสามารถรองรับสินค้าส่งออกของไทยได้อีกมาก ในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ ไทยส่งออกไปเวียดนามเพิ่มขึ้น 25% สินค้าไทยหลายรายการเป็นที่ต้องการในตลาดเวียดนาม ส่วนใหญ่ ได้แก่ สินค้าจำพวกวัตถุดิบ อาทิ เม็ดพลาสติก เส้นใยประดิษฐ์ กากน้ำตาล ผ้าผืน สินค้าเชื้อเพลิง เช่น ก๊าซปิโตรเลียมเหลว วัสดุก่อสร้าง เช่น ปูนซิเมนต์ สินค้าทุน เช่น เครื่องจักรกล สินค้าสำเร็จรูปและกึ่งสำเร็จรูป เช่น รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ รถยนต์-อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ สิ่งของเครื่องใช้ เช่น เครื่องสำอาง-สบู่-ผลิตภัณฑ์รักษาผิว เป็นต้น

ขณะเดียวกันการที่เวียดนามมีศักยภาพสูงทางด้านเกษตรกรรม คล้ายคลึงกับประเทศไทย ไทยและเวียดนามจึงน่าจะร่วมมือกันเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเพาะปลูกพืชผลทางการเกษตรให้มีคุณภาพสูงขึ้นและรับประกันความปลอดภัยแก่ผู้บริโภคอย่างเต็มที่ รวมทั้งควรพัฒนาการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มแก่สินค้าดังกล่าว เวียดนาม นับเป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จในการพลิกฟื้นภาคเกษตรกรรมอย่างรวดเร็ว ก่อนหน้านี้เวียดนามเคยพึ่งพาการนำเข้าพืชผลทางการเกษตรในช่วง 20 ปีที่แล้ว ปัจจุบันเวียดนามเปลี่ยนฐานะกลายเป็นประเทศผู้ส่งออกสินค้าเกษตรชั้นนำของโลก ได้แก่ ข้าว กาแฟ ยางพารา พริกไท เม็ดมะม่วงหิมพานต์ เป็นต้น

ยิ่งไปกว่านั้น คาดว่าเวียดนามจะก้าวขึ้นเป็นประเทศผู้ผลิตโกโก้รายใหญ่ของโลกในเร็วๆ นี้ เนื่องจากรัฐบาลเวียดนามมีนโยบายกระตุ้นให้เกษตรกรเพาะปลูกพืชผลทางการเกษตรเพื่อส่งออก และขณะนี้ได้รับความช่วยเหลือจากสหรัฐอเมริกา เพื่อส่งเสริมการปลูกโกโก้ ทดแทนประเทศ Ivory Coast ซึ่งปัจจุบันเป็นแหล่งผลิตโกโก้อันดับ 1 ของโลก แต่ประสบภาวะสงครามกลางเมืองเรื้อรัง บั่นทอนสถานการณ์เศรษฐกิจให้อ่อนไหวตามไปด้วย คาดว่าโกโก้น่าจะเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญอีกชนิดหนึ่งของเวียดนามในอนาคต