สถานการณ์อ้อยและน้ำตาลของไทยในฤดูการผลิตปี 2548/49 อยู่ในเกณฑ์ที่ไม่สู้แจ่มใสนัก แม้ว่าราคาน้ำตาลในตลาดโลกจะยังคงมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นจากปัจจุบัน แต่เนื่องจากผลผลิตอ้อยที่คาดว่าจะปรับลดลงมาเหลือเพียงประมาณ 42.5 ล้านตันลดลงร้อยละ 12.5 เมื่อเทียบกับปีการผลิตก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 47.8 ล้านตัน ในขณะเดียวกัน ทางด้านของต้นทุนการผลิตของเกษตรกรชาวไร่อ้อยได้ปรับเพิ่มสูงขึ้นทั้งในส่วนของต้นทุนค่าปุ๋ย ยาปราบศัตรูพืช รวมทั้งค่าขนส่งอ้อยเข้าโรงงาน ซึ่งจากปัจจัยดังกล่าว ส่งผลให้เกษตรกรต้องการให้ภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือให้ราคาอ้อยขั้นต้นปีการผลิต 2548/49 อยู่ในระดับ 850 บาทต่อตันเพื่อให้เหมาะสมกับต้นทุนการผลิต ในขณะที่ภาครัฐเองนั้นในเบื้องต้นได้กำหนดราคาอ้อยขั้นต้นออกมาอยู่ในระดับเพียง 770 บาทต่อตันซึ่งเป็นราคาที่ต่ำกว่าชาวไร่อ้อยเสนอถึง 80 บาทต่อตันอ้อยหรือคิดเป็นเงินรวมทั้งระบบจะตกประมาณ 3,400 ล้านบาท ซึ่งปัจจัยดังกล่าวถือเป็นภาระหนักของภาครัฐที่จะต้องหาหนทางแก้ไขปัญหาอ้อยและน้ำตาลในปี 2549 ต่อไปก่อนที่ปัญหาจะลุกลามจนก่อให้เกิดปัญหาความขัดแย้งขึ้นระหว่างชาวไร่อ้อยและภาครัฐ
ผลผลิตอ้อยในฤดูการผลิตปี 2548/49 ที่จะเริ่มป้อนเข้าสู่โรงงานน้ำตาลในช่วงเดือนธันวาคม 2548 ไปจนถึงประมาณเดือนมีนาคม 2549 คาดว่าจะลดลงเมื่อเทียบกับปีการผลิตก่อนหน้าอันเป็นผลจากปัญหาความแห้งแล้งในช่วงระหว่างการเพาะปลูกอ้อย ประกอบกับในช่วงหลายปีที่ผ่านมาราคาอ้อยที่เกษตรกรได้รับไม่สอดคล้องกับต้นทุนการผลิต ส่งผลให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยบางส่วนได้หันไปเพาะปลูกพืชประเภทอื่นที่ให้ผลตอบแทนดีกว่าอาทิ มันสำปะหลัง ยางพารา และปาล์มน้ำมัน ทำให้พื้นที่เพาะปลูกอ้อยลดลงจาก 6.667 ล้านไร่ในฤดูการผลิต 2547/48 มาเป็น 6.125 ล้านไร่ในฤดูการผลิต 2548/49 (สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร) หรือลดลงประมาณ 0.542 ล้านไร่ และจากปัจจัยดังกล่าวข้างต้นทำให้คาดว่าผลผลิตอ้อยในปีการผลิต 2548/49 จะมีเพียงประมาณ 42.5 ล้านตันเทียบกับการผลิตปีก่อนหน้าซึ่งมีผลผลิตอ้อยทั้งสิ้น 47.8 ล้านตัน ทั้งนี้ผลผลิตอ้อยดังกล่าวถือเป็นปริมาณที่ลดลงต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 ติดต่อกันนับจากฤดูการผลิตปี 2546/47 เป็นต้นมา โดยจากเดิมปริมาณอ้อยในปีการผลิต 2545/46 อยู่ที่ระดับ 74.07 ล้านตันก่อนที่จะลดลงมาเหลือ 64.48 ล้านตัน และ 47.82 ล้านตันในปีการผลิต 2546/47 และปีการผลิต 2547/48 ตามลำดับ สำหรับในส่วนของผลผลิตน้ำตาลในปีการผลิต 2548/49 นั้นคาดว่าจะมีทั้งสิ้นประมาณ 4.6 ล้านตัน ลดลงจากปีการผลิตก่อนหน้าที่ผลิตน้ำตาลได้ 5.2 ล้านตัน
ทั้งนี้จากการที่ผลผลิตอ้อยและน้ำตาลในปีการผลิต 2548/49 มีปริมาณลดลงจากปีก่อนหน้าคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อปัญหาต่างๆที่ติดตามมามีรายละเอียดดังนี้
1.ผลกระทบต่อตลาดน้ำตาลในประเทศ โดยปกติภาครัฐโดยสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายจะกำหนดให้โรงงานผลิตน้ำตาลเพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการใช้บริโภคในประเทศ(โควตา ก.) ส่วนที่เหลือจึงจะผลิตเป็นน้ำตาลเพื่อการส่งออก(โควตา ข. และโควตา ค.) ซึ่งแนวทางดังกล่าวช่วยลดปัญหาการขาดแคลนน้ำตาลขึ้นในประเทศได้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เนื่องจากปริมาณการผลิตน้ำตาลที่สูงถึงเฉลี่ยปีละ 6.5 ล้านตัน(เฉลี่ยในช่วงปี 2546-2548)ในขณะที่ปริมาณความต้องการบริโภคน้ำตาลในประเทศมีเพียงประมาณ 2 ล้านตันเท่านั้น อย่างไรก็ตาม จากราคาน้ำตาลในตลาดโลกที่ปรับเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีแนวโน้มที่ภาคอุตสาหกรรมที่ผลิตสินค้าเพื่อการส่งออกซึ่งแต่เดิมเคยได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐให้สามารถซื้อน้ำตาลโควต้าค.(น้ำตาลที่ผลิตเพื่อการส่งออก)ซึ่งมีราคาต่ำกว่าราคาน้ำตาลในประเทศจะหันมาซื้อน้ำตาลจากในประเทศ(โควตา ก.)ที่ปัจจุบันมีราคาต่ำกว่าราคาส่งออกแทน ซึ่งปัจจัยดังกล่าวอาจทำให้ปริมาณความต้องการบริโภคน้ำตาลในประเทศเพิ่มขึ้นกว่าปกติจนภาครัฐจำเป็นต้องจัดสรรปริมาณน้ำตาลเพื่อการบริโภคในประเทศเพิ่มขึ้น
2.ผลกระทบต่อการส่งออกน้ำตาล ที่ผ่านมา ไทยเป็นผู้ส่งออกน้ำตาลรายใหญ่อันดับ 2 ของโลกรองจากบราซิล โดยน้ำตาลถือเป็นสินค้าจากพืชเกษตรที่ไทยมีการส่งออกคิดเป็นมูลค่าถึงประมาณกว่า 30,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม เนื่องจากผลผลิตอ้อยและน้ำตาลของไทยที่ปรับตัวลดลง ส่งผลให้ออสเตรเลียได้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้ส่งออกน้ำตาลรายใหญ่อันดับ 2 ของโลกแทนไทยในปี 2548 สำหรับในฤดูการผลิตปี 2548/49 นี้จากการที่ผลผลิตอ้อยและน้ำตาลของไทยปรับลดลงต่อเนื่อง ส่งผลให้ไทยมีน้ำตาลเหลือเพื่อการส่งออกเพียงประมาณ 2.6 ล้านตันคิดเป็นมูลค่าประมาณ 715 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลงเมื่อเทียบกับปีการผลิต 2547/48 ที่คาดว่ามีปริมาณการส่งออกทั้งสิ้นประมาณ 3.2 ล้านตันคิดเป็นมูลค่าประมาณ 760 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งถือเป็นการสูญเสียโอกาสในการสร้างรายได้ให้กับอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลของไทยเป็นอย่างมาก ทั้งนี้เนื่องจากปัจจุบันราคาน้ำตาลในตลาดโลกได้ปรับเพิ่มขึ้นโดยต่อเนื่องจากราคาน้ำตาลทรายดิบเฉลี่ย 8.6 เซนต์ต่อปอนด์ในปี 2547 มาเป็นเฉลี่ยประมาณ 11 เซนต์ต่อปอนด์ในปี 2548 และเฉลี่ยประมาณ 12-13 เซนต์ต่อปอนด์ในปี 2549 อันเป็นผลจากปริมาณความต้องการบริโภคน้ำตาลของโลกที่ยังคงปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งปัญหาราคาน้ำมันที่ทรงตัวในระดับสูงทำให้ประเทศบราซิลซึ่งเป็นผู้ส่งออกน้ำตาลรายใหญ่ของโลกหันมานำอ้อยไปใช้ผลิตเป็นเอทานอลเพิ่มมากขึ้น
3.ผลกระทบต่ออุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง ในปีการผลิตอ้อย 2548/49 คาดว่าไทยจะมีการผลิตกากน้ำตาลอันเป็นผลพลอยได้จากการผลิตน้ำตาลประมาณ 2 ล้านตัน ลดลงจากปีการผลิตก่อนหน้าที่มีปริมาณกากน้ำตาลทั้งสิ้น 2.26 ล้านตัน ซึ่งจากปัจจัยดังกล่าวจะผลักดันให้ราคากากน้ำตาลในประเทศปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น และกระทบต่อต้นทุนการผลิตของอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่ใช้กากน้ำตาลเป็นวัตถุดิบเช่น อุตสาหกรรมผลิตสุราและแอลกอฮอล์ อุตสาหกรรมอาหารสัตว์ ผลิตผงชูรส น้ำส้มสายชู และอุตสาหกรรมผลิตเอทานอลเพื่อใช้ผสมกับน้ำมันเบนซินใช้เป็นพลังงานทดแทนที่เรียกว่าแก๊สโซฮอล์ ทั้งนี้เนื่องจากปริมาณการใช้กากน้ำตาลในประเทศรวมกันมีประมาณ 1.53 ล้านตัน ในขณะเดียวกันในแต่ละปีไทยยังมีการส่งออกกากน้ำตาลไปต่างประเทศประมาณปีละ 1.4-1.5 ล้านตันจนส่งผลให้ไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกกากน้ำตาลรายใหญ่อันดับ 1 ของโลก ฉะนั้นเมื่อปริมาณกากน้ำตาลของไทยปรับตัวลดลงจึงมีผลต่อราคากากน้ำตาลในประเทศและตลาดโลกเป็นอย่างมาก
เป็นที่น่าสังเกตว่า นอกเหนือจากปัญหาทางด้านผลผลิตอ้อยและน้ำตาลที่ตกต่ำแล้ว อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลในฤดูการผลิตปี 2548/49 ยังต้องเผชิญกับปัญหาความขัดแย้งระหว่างชาวไร่อ้อยกับภาครัฐทางด้านราคาอ้อยขั้นต้นที่ภาครัฐได้กำหนดไว้ที่ระดับ 770 บาทต่อตันอ้อย ซึ่งแม้ว่าราคาอ้อยดังกล่าวจะสูงกว่าราคาอ้อยขั้นต้นปีก่อนๆซึ่งอยู่ที่ระดับ 465 บาทต่อตันอ้อยในปีการผลิต 2546/47 และ 620 บาทต่อตันอ้อยในปีการผลิต 2547/48 รวมทั้งราคาดังกล่าวยังถือเป็นราคาอ้อยขั้นต้นที่สูงสุดในรอบกว่า 20 ปีนับตั้งแต่มีการออกพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 เป็นต้นมา แต่เนื่องจากชาวไร่อ้อยเห็นว่าเป็นราคาที่ต่ำเกินไปไม่สอดคล้องกับต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นทั้งในส่วนของ ปุ๋ย ยาปราบศัตรูพืช ค่าบำรุงรักษาอ้อย และที่สำคัญได้แก่ต้นทุนค่าขนส่งอ้อยจากพื้นที่เพาะปลูกเข้าโรงงานที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นตามราคาน้ำมันดีเซลที่ปรับสูงขึ้น ดังนั้นชาวไร่อ้อยจึงเห็นว่าราคาอ้อยขั้นต้นที่เหมาะสมของปีการผลิต 2548/49 ควรจะอยู่ที่ระดับ 850 บาทต่อตันจึงสอดคล้องกับภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้น
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีความคิดเห็นว่า ราคาอ้อยขั้นต้นในปีการผลิต 2548/49 ที่ชาวไร่อ้อยเสนอมาในระดับ 850 บาทต่อตันอ้อยนั้นเป็นระดับราคาที่สร้างความหนักใจให้กับภาครัฐเป็นอย่างมาก ทั้งนี้เนื่องจากปัจจัยที่จะทำให้ราคาอ้อยขั้นต้นเพิ่มขึ้นสูงถึงระดับที่ชาวไร่อ้อยต้องการได้นั้นจะเกิดขึ้นได้ใน 3 กรณีด้วยกัน ซึ่งแต่ละกรณีก็มีปัญหาและอุปสรรคค่อนข้างมากโดยสรุปได้ดังนี้
กรณีที่1.การขึ้นราคาจำหน่ายน้ำตาลในประเทศ ปัจจุบันการบริโภคน้ำตาลภายในประเทศของภาคประชาชนและอุตสาหกรรมที่ใช้น้ำตาลเป็นวัตถุดิบจะอยู่ที่ประมาณ 2 ล้านตัน ทั้งนี้หากต้องการให้ราคาอ้อยขั้นต้นอยู่ที่ระดับ 850 บาทต่อตันจะต้องขึ้นราคาน้ำตาลในประเทศอีกประมาณ 2-3 บาท จากราคาขายปลีกน้ำตาลปัจจุบันซึ่งจำหน่ายอยู่ที่ 13.25 บาทต่อกิโลกรัมสำหรับน้ำตาลทรายขาวและ 14.25 บาทต่อกิโลกรัมสำหรับน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ อย่างไรก็ตามสำหรับท่าทีของภาครัฐนั้น กระทรวงพาณิชย์ซึ่งรับผิดชอบทางด้านการควบคุมราคาจำหน่ายน้ำตาลทรายในประเทศมีความเห็นว่า ยังไม่ควรมีการเคลื่อนไหวปรับราคาจำหน่ายน้ำตาลในช่วงเวลานี้ ทั้งนี้เนื่องจากจะเป็นภาระต่อรายจ่ายของประชาชนและซ้ำเติมภาวะเงินเฟ้อให้ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
กรณีที่2.ราคาน้ำตาลตลาดโลกปรับเพิ่มขึ้นสูง รายได้ของระบบอ้อยและน้ำตาลจะมาจากสองส่วนใหญ่ๆได้แก่รายได้จากการจำหน่ายน้ำตาลในประเทศที่มีประมาณปีละ 24,000 ล้านบาทและรายได้จากการส่งออกประมาณปีละ 30,000 ล้านบาท ดังนั้นราคาน้ำตาลตลาดโลกจึงมีอิทธิพลต่อราคาอ้อยในประเทศเป็นอย่างมาก ทั้งนี้ปัจจุบันราคาน้ำตาลในตลาดโลกมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อันเกิดจากปัจจัยสนับสนุนหลายประการ ทั้งทางด้านปริมาณความต้องการบริโภคน้ำตาลของโลกที่เพิ่มขึ้น ราคาน้ำมันที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูงจูงใจให้บราซิลมีการนำอ้อยมาใช้ผลิตเป็นเอทานอลเพิ่มขึ้น ประกอบกับการที่องค์การการค้าโลก(WTO)ได้กำหนดให้ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปลดอุดหนุนการส่งออกน้ำตาลโดยเริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2549 เป็นต้นไป ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนุนช่วยผลักดันให้ราคาน้ำตาลตลาดโลกปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นได้ อย่างไรก็ตาม การที่ราคาอ้อยในประเทศจะเพิ่มสูงขึ้นถึง 850 บาทต่อตันได้นั้นราคาน้ำตาลตลาดโลกต้องปรับเพิ่มขึ้นไปถึงประมาณ 15-16 เซนต์ต่อปอนด์ซึ่งถือว่าสูงเมื่อเทียบกับที่มีการประเมินว่าราคาน้ำตาลตลาดโลกปี 2549 จะอยู่ที่ระดับประมาณ 12-13 เซนต์ต่อปอนด์เท่านั้น
กรณีที่3.การกู้เงินมาอุดหนุนราคาอ้อย หากภาครัฐต้องการเพิ่มราคาอ้อยขั้นต้นให้ได้ 850 บาทต่อตันอ้อยโดยไม่ขึ้นราคาจำหน่ายน้ำตาลในประเทศ ก็จำเป็นต้องกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินมาพยุงราคาอ้อย อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมากองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายมีภาระหนี้เงินกู้เดิมกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรซึ่งกู้มาเพื่อช่วยเหลือชาวไร่อ้อยในช่วงราคาอ้อยตกต่ำฤดูการผลิตปี 2541/42-2542/43 จำนวน 9,267ล้านบาท ฤดูการผลิตปี 2545/46 อีก 5,920 ล้านบาท และฤดูการผลิตปี 2546/47 จำนวน 5,387 ล้านบาทรวมเป็นเงินต้นและดอกเบี้ยที่ต้องชำระในช่วงปี 2548-2555 ทั้งสิ้นประมาณ 17,620 ล้านบาท ดังนั้นหากกองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายจะขอกู้เงินเพิ่มค่าอ้อยอีก 3,400 ล้านบาท(คิดจากปริมาณอ้อย 42.5 ล้านตันเพิ่มขึ้นตันละ 80 บาท)จึงเป็นไปได้ยากเนื่องจากจะทำให้หนี้เงินกู้เพิ่มขึ้นเป็นกว่า 21,000 ล้านบาท ทำให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรขาดความมั่นใจที่จะปล่อยกู้ใหม่ให้กับกองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายเพราะปัจจุบันหนี้เดิมที่มีอยู่ก็มากอยู่แล้ว
กล่าวโดยสรุปแล้ว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีความเห็นว่า ในระยะสั้นนี้ภาครัฐมีภาระที่จะหาหนทางแก้ไขปัญหาราคาอ้อยขั้นต้นปีการผลิต 2548/49 ที่ชาวไร่อ้อยเห็นว่าอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าต้นทุนการผลิต ทั้งนี้เพื่อจะได้ไม่ต้องเผชิญกับแรงกดดันของกลุ่มชาวไร่อ้อยที่อาจจะออกมาเคลื่อนไหวเหมือนเช่นปีก่อนๆที่ผ่านมา ในขณะเดียวกันภาครัฐก็มีภาระในระยะยาวที่จะหาหนทางเพิ่มผลผลิตอ้อยให้มากขึ้นกว่าปัจจุบัน ทั้งนี้เนื่องจากผลผลิตอ้อยของไทยที่ลดต่ำลง 3 ปีติดต่อกันเสมือนเป็นการส่งสัญญานให้เห็นว่าชาวไร่อ้อยเริ่มขาดความมั่นใจทางด้านรายได้จากการเพาะปลูก และหันไปปลูกพืชชนิดอื่นที่ให้ผลตอบแทนดีกว่า ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ต่อไปก็จะส่งผลกระทบต่อเถียรภาพของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทั้งทางด้านการผลิตและการจำหน่ายน้ำตาล ดังนั้นภาครัฐจึงควรเร่งหาหนทางที่จะทำให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยได้รับผลตอบแทนการเพาะปลูกที่คุ้มกับต้นทุนการผลิตตามที่เป็นจริงทั้งนี้เพื่อสร้างแรงจูงใจให้มีการเพิ่มผลผลิตอ้อยให้อยู่ในระดับเหมาะสมเพียงพอกับความต้องการทั้งตลาดในและต่างประเทศ