แนวโน้มกองทุนรวม RMF และ LTF ปี 2549 และผลการดำเนินงานในรอบ 9 เดือนแรกปี 2548

การขยายตัวของกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) และกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ซึ่งมีจุดขายสำคัญเดียวกัน คือ ผู้ลงทุนสามารถนำเงินที่ลงทุนผ่านกองทุนทั้งสองประเภทนี้มาหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้ แต่จากเงื่อนไขการลงทุน และกรอบวงเงินลงทุน ที่มีความแตกต่างกัน กล่าวคือ RMF ต้องมีการลงทุนซ้ำอย่างน้อยปีเว้นปี และต้องถือไว้จนกว่าผู้ลงทุนจะมีอายุครบ 55 ปี รวมทั้งจำนวนเงินลงทุนเมื่อนำไปรวมกับเงินที่ออมผ่านกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการแล้ว ต้องไม่เกิน 300,000 บาท ขณะที่ กองทุน LTF ซึ่งไม่มีข้อกำหนดเรื่องการลงทุนซ้ำ และระยะเวลาการถือครองสั้นกว่าเพียงไม่ต่ำกว่า 5 ปีภาษี รวมถึงจำนวนเงินลงทุนขั้นสูงที่สามารถนำไปหักลดหย่อนภาษีได้ 300,000 บาทเต็ม โดยไม่ต้องไปรวมกับกองทุนอื่น ทำให้กองทุน LTF น่าจะกลายสภาพเป็นคู่แข่งที่เบียดบังการเติบโตของกองทุน RMF บางส่วน ด้วยเหตุที่กองทุน LTF เพิ่งมีการระดมทุนครั้งแรกในไตรมาสสุดท้ายปี 2547 ดังนั้น ในปี 2548 จึงน่าจะเป็นปีของการขยายตัวของกองทุน LTF เนื่องจากมีระยะเวลาระดมทุนเต็มปี แม้ว่าผลการดำเนินงานในรอบ 10 เดือนแรกของปี ยังมียอดขายเพียง 2,216 ล้านบาท แต่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าเม็ดเงินลงทุนใหม่คงจะเข้ามาในช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปี ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าการตัดสินใจลงทุนขึ้นอยู่กับสิทธิประโยชน์เรื่องการลดหย่อนภาษี มากกว่าจะคำนึงถึงผลตอบแทนจากการลงทุน (หากคำนึงถึงผลตอบแทนจากการลงทุน น่าจะมีการซื้อกองทุนเข้ามามากในช่วงดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯปรับตัวลดลง มากกว่าจะเป็นการซื้อในช่วงเดือนสุดท้ายของปี ที่ดัชนีตลาดฯมักปรับตัวเพิ่มขึ้น) และคงมีผลให้เม็ดเงินใหม่ที่ลงทุนในกองทุน RMF มีอัตราการเติบโตน้อยลงในปีนี้ เช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นในปี 2547 ซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้ลงทุน ที่มีทางเลือกในการลงทุน

สำหรับภาพรวมการลงทุนในกองทุนทั้งสองประเภทในปี 2549 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ฐานลูกค้าเดิมของกองทุน RMF คงจะมีการซื้อหน่วยลงทุนต่อเนื่อง แต่เนื่องจากทางการไม่มีนโยบายเพิ่มเพดานวงเงินที่นำมาใช้หักลดหย่อนภาษี โดยยังคงเงื่อนไขไว้ที่ไม่เกิน 15% ของเงินได้ทั้งปี และเมื่อรวมกับเงินที่ออมอยู่ในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการแล้ว ต้องไม่เกิน 300,000 บาท จะทำให้มีความเป็นไปได้ที่แม้กลุ่มลูกค้าเดิมจะซื้อต่อ แต่ปริมาณการซื้ออาจจะลดลง เนื่องจากเงินที่ออมในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ มีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกปีตามระดับรายได้ ทำให้มีวงเงินเหลือน้อยลงที่จะซื้อกองทุน RMF โดยได้ประโยชน์ทางภาษี ขณะที่กลุ่มลูกค้าที่มีวัตถุประสงค์ในการซื้อกองทุนเพื่อลงทุน ก็มีทางเลือกอื่นที่มีความยืดหยุ่นกว่า เช่น ลงทุนผ่านกองทุนรวมทั่วไป หรือแม้แต่การซื้อประกันชีวิต เป็นต้น

ดังนั้น การเพิ่มฐานลูกค้าใหม่ คงเป็นความหวังเดียวของบริษัทจัดการลงทุน ที่จะรักษาระดับการเติบโตของกองทุน RMF ไว้ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะเห็นการเปลี่ยนแปลงในระยะใกล้ เนื่องจากเงื่อนไขการออมที่ผูกพันระยะยาว ทำให้ยากที่จะเข้าถึงกลุ่มลูกค้าระดับกลางและล่าง ที่ได้รับประโยชน์ทางภาษีน้อยตามขั้นภาษีเงินได้ ประกอบกับบริษัทจัดการลงทุนเอง ก็มีผลิตภัณฑ์กองทุนรวมทั่วไปให้เลือกลงทุนได้มากมาย จึงไม่จำเป็นที่จะต้องระดมทุนผ่านกองทุน RMF เพียงอย่างเดียว

สำหรับการลงทุนในกองทุน LTF ปี 2549 นั้น ต่างออกไปตรงที่ไม่มีข้อจำกัดเหมือน RMF ทำให้คาดว่าการลงทุนของกองทุน LTF น่าจะยังคงขยายตัวต่อไปได้อย่างน้อยอีก 2 ปี จนกว่าจะครบกำหนดไถ่ถอนของผู้ลงทุนที่ซื้อตั้งแต่ปีแรกที่มีการจัดตั้งกองทุน ซึ่งจะทยอยครบกำหนดในปี 2551 ตามกำหนดระยะเวลารับซื้อคืนของแต่ละกองทุน

ภาพรวมผลการดำเนินงานของกองทุน RMF
NAV ของกองทุน RMF ในรอบ 11 เดือนแรกของปีนี้อยู่ที่ 14,837 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปีที่แล้ว 21.2% หรือเพิ่มขึ้น 2,599 ล้านบาท โดยประมาณสองในสามเป็นผลจากการลงทุนเพิ่ม และส่วนที่เหลือเกิดจากผลประโยชน์จากการลงทุน
ขณะที่จำนวนกองทุนเพิ่มขึ้นเป็น 61 กองทุน ส่วนใหญ่เป็นกองทุนที่ลงทุนในตราสารหนี้ 31 กองทุน รองลงมาเป็นกองทุนผสม 18 กองทุน และกองทุนหุ้น 12 กองทุน

สำหรับยอดขายสุทธิของกองทุน RMF ในรอบ 10 เดือนแรกของปีนี้ มีจำนวน 1,483.15 ล้านบาท ลดลงเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน 5.1% ซึ่งอาจสะท้อนภาพการลงทุนใน RMF ปีนี้ที่แผ่วลง โดยส่วนหนึ่งอาจเกิดจากการแบ่งเงินไปลงทุนในกองทุน LTF ที่มียอดขายสุทธิในช่วงเวลาเดียวกัน 2,215.8 ล้านบาท (เนื่องจากกองทุน LTF เพิ่งจัดตั้งขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2547 ทำให้การลงทุนในช่วง 9 เดือนแรกของปีก่อน กองทุน RMF ยังไม่มีคู่แข่งที่ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีใกล้เคียงกัน)

สำหรับแนวโน้มการลงทุนในช่วงสิ้นปีนี้ ส่วนใหญ่ก็จะยังคงลงทุนในเดือนธันวาคม ซึ่งเป็นเดือนสุดท้ายของปีที่จะได้รับสิทธิในการหักลดหย่อนภาษีเงินได้ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า เม็ดเงินลงทุนใหม่ในปีนี้น่าจะใกล้เคียงกับปีที่แล้ว หรือมีการเปลี่ยนแปลงในทางเพิ่มขึ้นไม่มากนัก เนื่องจากฐานลูกค้าเดิมซึ่งส่วนใหญ่ได้รับสิทธิประโยชน์จากการลดหย่อนภาษีในอัตราสูง จะเป็นกลุ่มที่ยังคงซื้อหน่วยลงทุน RMF อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีสูงสุด แต่การขยายฐานลูกค้าใหม่ให้ลงไปถึงผู้มีรายได้ปานกลาง และการกระตุ้นลูกค้ากลุ่มนี้ให้เกิดแรงจูงใจในการออมให้เต็มเพดาน ยังมีปัจจัยอื่นที่เป็นอุปสรรค โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากภาวะการลงทุนในตลาดเงินตลาดทุนที่มีความผันผวน ทำให้ผลตอบแทนจากการลงทุนยังไม่ชัดเจน ขณะที่ประโยชน์ที่จะได้รับจากการประหยัดภาษีอยู่ในอัตราประมาณ 10% ไม่สูงจูงใจเหมือนในกลุ่มผู้มีระดับรายได้สูงที่เสียภาษีอยู่ในช่วง 20-30%

อย่างไรก็ตาม การแข่งขันระหว่างบริษัทหลักทรัพย์จัดการลงทุน (บลจ.) ที่ให้บริการกองทุน RMF มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ แม้ว่าปริมาณเม็ดเงินใหม่ที่ใส่เข้ามาจะไม่มีอัตราเติบโตเท่าใดนัก แต่เนื่องจากลูกค้ามีโอกาสเลือกที่จะออมเงินกับ บลจ. อื่นได้ จึงเป็นหน้าที่ที่แต่ละ บลจ. จะต้องรักษาฐานลูกค้าเดิมของตนไว้ ไม่ให้ถูก บลจ. อื่นดึงไปด้วยกลยุทธ์การตลาดต่าง ๆ โดยเฉพาะการให้ของแจกของแถมตามยอดเงินลงทุน ซึ่งเป็นประโยชน์ที่ลูกค้าเห็นได้เด่นชัดว่าจะได้รับ ขณะที่การวัดผลความสามารถในการบริหารผลตอบแทนจากเงินลงทุนของแต่ละกองทุน ยังไม่มีตัวชี้วัดที่เห็นได้ชัด และก็ยังมีความไม่แน่นอนว่าผลตอบแทนในปีที่ผ่านมา จะเป็นเครื่องรับประกันผลตอบแทนในปีต่อไปได้ ทำให้ผู้บริหารกองทุนไม่อาจวางใจได้ว่าลูกค้าเก่าจะคงอยู่กับกองทุนตลอดไป

จากข้อสังเกตของผู้บริหารกองทุน RMF ที่มีส่วนแบ่งตลาดสูงสุด ระบุว่า พฤติกรรมผู้ลงทุนที่มีต่อการเปลี่ยน บลจ. เห็นได้ค่อนข้างชัด แต่การเปลี่ยนนโยบายการลงทุน ยังมีจำนวนค่อนข้างน้อย ไม่เห็นชัดเจน กระนั้น สัดส่วนการเลือกนโยบายลงทุนในปี 2548 เมื่อวัดจาก NAV ก็มีแนวโน้มว่ากองทุนตราสารหนี้กลับมามีน้ำหนักเพิ่มขึ้นมาใกล้เคียงกับกองทุนผสม คือประมาณ 41-42% ที่เหลือจึงเป็นกองทุนหุ้นที่มีน้ำหนักค่อนข้างคงที่ประมาณ 17% ซึ่งสะท้อนภาวะการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ที่ค่อนข้างผันผวนในทางขาลง ขณะที่กองทุนตราสารหนี้ แม้จะมีปัจจัยลบจากทิศทางการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ย แต่ก็เป็นการปรับตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ไม่หวือหวาเท่าการปรับตัวของดัชนีตลาดหุ้น

ทั้งนี้ เมื่อดูจากการเลือกลงทุนใหม่สุทธิในช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้ ที่มีจำนวนรวม 1,483 ล้านบาทนั้น ประกอบด้วย การลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ 934 ล้านบาท หรือเกือบ 63% นอกนั้นจึงกระจายไปยังกองทุนผสม 329 ล้านบาท และกองทุนหุ้น 220 ล้านบาท และคาดว่าแนวโน้มการลงทุนในช่วง 2 เดือนสุดท้าย น้ำหนักการลงทุนจะตกอยู่กับกองทุนตราสารหนี้และกองทุนผสม

ภาพรวมการลงทุนผ่านกองทุนหุ้นระยะยาว (LTF)
กองทุน LTF อาจมีส่วนช่วยอธิบายเหตุผลที่อัตราการเติบโตของเม็ดเงินลงทุนใหม่ในกองทุน RMF มีทิศทางค่อนข้างคงที่หรือขยายตัวช้าลงในปี 2547 และคาดว่าจะต่อเนื่องถึงปี 2548 เนื่องจากผู้ลงทุนจะได้รับสิทธิประโยชน์จากการลดหย่อนภาษีได้เช่นเดียวกับการลงทุนในกองทุน RMF แต่มีระยะเวลาการลงทุนสั้นกว่า เพียง 5 ปีภาษี ก็สามารถไถ่ถอนเงินคืนได้ และผู้ลงทุนส่วนใหญ่ก็ตัดสินใจลงทุนบนพื้นฐานประโยชน์ทางภาษีเป็นสำคัญ ดังจะเห็นได้จากมูลค่ารับซื้อคืนของกองทุน LTF ยังมีจำนวนน้อยมากเพียง 59 ล้านบาท เทียบกับเม็ดเงินลงทุนกว่า 2,000 ล้านบาท

แนวโน้มการลงทุนผ่านกองทุน RMF และ LTF ในปี 2549
จากประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2549 ที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าน่าจะปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยเป็น 4.5-5.0% จากประมาณการในปีนี้ที่ 4.2-4.5% โดยมีระดับเงินเฟ้อที่อ่อนตัวลงตามราคาน้ำมัน ซึ่งน่าจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นและการใช้จ่ายในประเทศให้เพิ่มขึ้น และมีผลต่อเนื่องให้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 12 เดือนของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ อาจปรับเพิ่มขึ้นได้ถึง 1.5-2% จากระดับประมาณ 2.25% ในปีนี้ ขณะที่ภาคตลาดทุน ยังมีความไม่แน่นอนในเรื่องการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ที่อาจกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนแลบรรยากาศการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ เหล่านี้เป็นปัจจัยสำคัญที่บ่งชี้แนวโน้มการลงทุนในกองทุน RMF และ LTF ในปี 2549 ดังนี้

1.NAV ของกองทุนทั้งสองประเภท น่าจะมีอัตราการเติบโตไม่มากนัก และขึ้นอยู่กับปริมาณเม็ดเงินลงทุนใหม่มากกว่า ซึ่งเป็นทิศทางเดียวกับที่เกิดขึ้นในปี 2548 โดยในส่วนของกองทุน LTF เป็นผลจากดัชนีตลาดหลักทรัพย์ที่ค่อนข้างทรงตัวหรือปรับเพิ่มไม่โดดเด่น ในขณะที่กองทุน RMF นั้น เนื่องจากมีแนวโน้มว่าผลตอบแทนจากการลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ที่มีน้ำหนักอยู่ประมาณ 40% ในกองทุน RMF อาจจะประสบภาวะติดลบตามแรงกดดันดอกเบี้ยที่อยู่ในช่วงขาขึ้น

2.ปริมาณเม็ดเงินลงทุนใหม่ หรือมูลค่าขายกองทุนสุทธิระหว่างปี 2549 สำหรับกองทุน LTF คาดว่าน่าจะทรงตัว หรือมีอัตราเปลี่ยนแปลงไม่มากนักหากไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนในการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ทำให้เม็ดเงินใหม่ส่วนใหญ่จะมาจากฐานผู้ลงทุนรายเดิม ที่มีระดับรายได้สูงและได้รับประโยชน์จากการลดหย่อนภาษีในอัตราสูง ส่วนการลงทุนใหม่ในกองทุน RMF นั้น คาดว่ากองทุนผสม จะได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น และกลับมามีน้ำหนักการลงทุนสูงสุดอีกครั้ง ในภาวะที่กองทุนตราสารหนี้ยังได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอยู่ อย่างไรก็ตาม มูลค่าขายสุทธิในปี 2549 ของกองทุน RMF ก็น่าจะมีอัตราการเพิ่มไม่มากนัก เนื่องจากผลตอบแทนจากการลงทุนยังไม่เห็นเด่นชัด ขณะที่ยังไม่มีแรงจูงใจหรือสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมอื่น

บทสรุป
ภาวะการลงทุนในตลาดเงินตลาดทุนปีนี้ค่อนข้างทรงตัว ประกอบกับไม่มีการปรับเพิ่มแรงจูงใจในการลงทุนผ่านกองทุน RMF และ LTF ในปีนี้ โดยทางการไม่มีนโยบายให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเพิ่มเติม ตามที่ภาคเอกชนเสนอขอให้ขยายเพดานเงินลงทุนที่นำมาลดหย่อนภาษีได้เพิ่มขึ้นจาก 3 แสนบาท เป็น 5 แสนบาท หรือมากกว่า 15% ของเงินได้ ทำให้ปริมาณเม็ดเงินลงทุนใหม่ในปีนี้ และคาดว่าจะต่อเนื่องถึงปีหน้า คงจะค่อนข้างทรงตัวด้วยฐานผู้ลงทุนรายเดิมที่เป็นกลุ่มผู้มีรายได้สูง ทำให้การแข่งขันระหว่างบริษัทจัดการลงทุนด้วยกันเอง มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น เพื่อรักษาส่วนแบ่งการตลาด

อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า เพื่อเร่งอัตราการเติบโตของกองทุน RMF และ LTF ให้ขยายตัวอย่างมีประสิทธิภาพในระยะยาว บริษัทจัดการลงทุนควรจะดำเนินนโยบายเชิงรุกในการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าใหม่ ๆ ที่มีระดับรายได้ปานกลางให้มากขึ้น ซึ่งมีฐานลูกค้าอยู่จำนวนมหาศาล โดยอาจจำเป็นต้องมีการให้ความรู้ความเข้าใจถึงความสำคัญของการออมและการลงทุนมากกว่านี้ เหมือนที่ธุรกิจประกันประสบความสำเร็จในการเจาะตลาดลูกค้ารายกลางและล่างได้ในที่สุด