กุ้งและผลิตภัณฑ์ปี’49 : ส่งออกสดใส…ปัจจัยหนุน 3 ตลาดหลัก

กุ้งและผลิตภัณฑ์จะเป็นสินค้าส่งออกดาวเด่นอีกครั้งในปี 2549 เนื่องจากหลากปัจจัยเกื้อหนุนทั้งในด้านการผลิตและการส่งออก โดยการผลิตฟื้นตัวจากความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสึนามิที่มีต่อโรงเพาะฟักกุ้ง ในขณะที่คาดว่าปริมาณการผลิตกุ้งในตลาดโลกมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากประเทศผู้ผลิตกุ้งรายใหญ่เผชิญปัญหาโรคระบาดและสารตกค้างในผลิตภัณฑ์ ส่วนในด้านการส่งออกนั้นปัจจัยหนุนสำคัญคือ การส่งออกไปยังตลาดสหภาพยุโรปมีแนวโน้มขยายตัวอย่างชัดเจน จากที่ไทยได้คืนสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไปหรือจีเอสพี ทำให้สถานะการแข่งขันของไทยในตลาดสหภาพยุโรปดีขึ้น ส่วนการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯไทยก็ยังคงเป็นอันดับหนึ่ง แม้ว่าจะต้องเผชิญปัญหาต้องวางพันธบัตรค้ำประกันการส่งออก ซึ่งเป็นภาระทำให้ต้นทุนการส่งออกเพิ่มขึ้นและสภาพคล่องของผู้ส่งออกลดลง อย่างไรก็ตามคาดว่ากุ้งและผลิตภัณฑ์ของไทยยังต้องเผชิญการแข่งขันที่รุนแรงในตลาดส่งออกสำคัญทุกตลาดไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น ซึ่งผู้ส่งออกต้องเร่งปรับตัวและพัฒนาสินค้าเพื่อให้สามารถแข่งขันกับประเทศคู่แข่ง

การผลิตกุ้งไทย…แนวโน้มสดใสในปี’49

ในปี 2549 คาดว่าไทยจะสามารถผลิตกุ้งได้ 300,000 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.1 เมื่อเทียบกับในปี 2548 ทั้งนี้เนื่องจากทั้งรัฐบาลและภาคเอกชนส่งเสริมให้เกษตรกรเพิ่มปริมาณการเลี้ยงกุ้ง โดยคาดการณ์ว่าอนาคตการส่งออกกุ้งในปี 2549 มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องจากในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2548 นับว่าการผลิตกุ้งนั้นฟื้นตัวจากความเสียหายจากภัยสึนามิที่เกิดขึ้นกับโรงเพาะฟักกุ้งในช่วงปลายปี 2547 ซึ่งส่งผลให้ปริมาณผลผลิตลูกกุ้งในปี 2548 ลดลงถึงร้อยละ 50.0 อย่างไรก็ตามการลงกุ้งรอบใหม่ในช่วงต้นปี 2549 ซึ่งเป็นการเลี้ยงกุ้งรอบแรกของปี 2549 ที่จะให้ผลผลิตประมาณกลางปีนั้นคาดว่าจะล่าช้าออกไปประมาณ 1-2 เดือน ซึ่งจะส่งผลให้ปริมาณกุ้งไตรมาสสองน้อยกว่าในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาประมาณร้อยละ 50.0 เนื่องจากสภาพอากาศแปรปรวน และพื้นที่เลี้ยงโดยเฉพาะทางภาคใต้ประสบปัญหาอุทกภัย คาดว่าราคากุ้งจะอยู่ในเกณฑ์สูงในช่วงครึ่งปีแรก

ในปี 2548 ที่ผ่านมาปริมาณการผลิตกุ้งของไทยลดลงเหลือเพียง 280,000 ตัน หรือลดลงร้อยละ 14.0 เมื่อเทียบกับปี 2547 โดยแยกเป็นการผลิตกุ้งขาว 238,000 ตัน และกุ้งกุลาดำ 42,000 ตัน เนื่องจากผลกระทบจากสึนามิ ส่งผลให้ปริมาณลูกกุ้งลดลง ทำให้ปริมาณผลผลิตกุ้งในช่วงครึ่งปีหลังมีแนวโน้มลดลง ประกอบกับการเผชิญปัญหาจากมาตราการตอบโต้การทุ่มตลาดของสหรัฐฯ ส่งผลให้ราคากุ้งในประเทศในช่วงไตรมาสสุดท้ายมีแนวโน้มลดลงอย่างมาก แม้ว่าผลผลิตกุ้งจะลดลงก็ตาม

ปัจจัยหนุนด้านการผลิต คือ การคาดการณ์ว่าปริมาณผลผลิตกุ้งทั่วโลกมีแนวโน้มลดลง ทั้งกุ้งที่จับได้จากธรรมชาติและกุ้งจากการเพาะเลี้ยง เนื่องจากประเทศผู้ผลิตกุ้งรายสำคัญของโลกเผชิญปัญหาโรคระบาด ปัญหาสารเคมีตกค้าง ราคากุ้งตกต่ำและปัญหาการเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดของสหรัฐฯ ซึ่งสร้างปัญหาอย่างมากกับผู้ส่งออก โดยเฉพาะอินเดียที่อาจจะงดส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งไปยังตลาดสหรัฐฯในปี 2549 ปัญหาในด้านการผลิตดังกล่าวนั้นเป็นปัญหาต่อเนื่องมาจากปี 2548 โดยประเทศคู่แข่งขันของไทยที่ประสบปัญหาคือ จีน อินโดนีเซีย บราซิล และเอกวาดอร์ ซึ่งประเทศเหล่านี้เป็นคู่แข่งสำคัญในการส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งในตลาดสหรัฐฯและสหภาพยุโรป อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการในธุรกิจกุ้งของไทยยังคงต้องจับตาคู่แข่งขันสำคัญรายอื่นๆ คือ เวียดนาม อินเดีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และเม็กซิโก โดยเฉพาะเวียดนามนั้นคาดว่าในปี 2549 ผลผลิตกุ้งของเวียดนามจะเพิ่มขึ้นเป็น 132,250 ตัน แยกเป็นกุ้งกุลาดำ 120,000 ตัน และกุ้งขาว 12,250 ตัน เมื่อเทียบกับในปี 2548 ที่มีผลผลิตกุ้ง 115,000 ตันแล้วเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.0 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการเพิ่มขึ้นของผลผลิตกุ้งขาวจากพื้นที่การเลี้ยงในภาคกลางของประเทศ ส่วนผลผลิตกุ้งกุลาดำนั้นค่อนข้างใกล้เคียงกับในปีที่ผ่านมา

ส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งปี’49…เติบโตต่อเนื่อง

สำหรับการส่งออกในปี 2549 ได้ตั้งเป้าเพิ่มการส่งออกเป็น 450,000 ตัน มูลค่า 2,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับในปี 2548 ที่คาดว่าจะมีการส่งออก 418,000 ตัน มูลค่า 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.7 และ 20.0 ตามลำดับ โดยจะเน้นการพัฒนาคุณภาพเรื่องการรับรองมาตรฐานความปลอดภัย ซึ่งถือเป็นจุดแข็งของการผลิตกุ้งของไทยเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่ง และเปลี่ยนสัดส่วนการส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งจากเดิมกุ้งแช่แข็งคิดเป็นร้อยละ 65.0 และกุ้งแปรรูปร้อยละ 35.0 เป็นการส่งออกกุ้งแช่แข็งร้อยละ 35.0 และกุ้งแปรรูปร้อยละ 65 ซึ่งจะเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับการส่งออกกุ้งของไทย รวมทั้งยังเป็นการตอบสนองความต้องการของลูกค้าในต่างประเทศที่หันมานิยมบริโภคกุ้งแปรรูปมากขึ้น เนื่องจากลูกค้าในต่างประเทศหันมานิยมซื้อผลิตภัณฑ์กุ้งจากร้านจำหน่ายปลีกเพื่อนำไปประกอบอาหารรับประทานเองที่บ้านมากขึ้น อานิสงส์มาจากการคาดการณ์ถึงการส่งออกที่จะอยู่ในเกณฑ์ดีในปี 2549 โดยเฉพาะการส่งออกไปยังตลาดสหภาพยุโรป ทำให้คาดว่าราคากุ้งในประเทศมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งเป็นแรงจูงใจให้มีการเลี้ยงกุ้งมากขึ้น โดยคาดว่าปริมาณการเลี้ยงกุ้งกุลาดำจะมีปริมาณเพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้บริโภคในสหภาพยุโรปนั้นนิยมบริโภคกุ้งกุลาดำมากกว่ากุ้งขาว อย่างไรก็ตามเกษตรกรบางส่วนก็ยังคงเลี้ยงกุ้งขาวเพื่อป้อนตลาดอื่นๆ โดยเฉพาะตลาดสหรัฐฯ เนื่องจากผู้บริโภคในสหรัฐฯนิยมบริโภคกุ้งขาว และคาดว่าสหรัฐฯจะยังคงเป็นตลาดส่งออกหลักตลาดหนึ่งของไทยเช่นเดิม แม้ว่าจะยังคงมีปัญหาในเรื่องการเรียกเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดก็ตาม

• ปัจจัยหนุน : ปัจจัยหนุนต่อเนื่องในการส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งในตลาดสำคัญของไทยในปี 2549 ที่สำคัญมีดังนี้

– ตลาดสหภาพยุโรป
สหภาพยุโรปประกาศคืนจีเอสพีให้กับผลิตภัณฑ์กุ้งไทย ซึ่งอัตราภาษีจีเอสพีมีอัตราเท่ากับอัตราภาษีนำเข้าที่ประกาศลดให้ชั่วคราว ทำให้การส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งของไทยไปยังตลาดสหภาพยุโรปยังมีแนวโน้มแจ่มใสต่อเนื่อง และได้รับอานิสงส์ตั้งแต่ต้นปี คาดว่ามูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งไปยังตลาดสหภาพยุโรปจะเพิ่มขึ้นไปอยู่ในระดับใกล้เคียงกับในปี 2540 ซึ่งเป็นปีก่อนที่สหภาพยุโรปประกาศงดการให้จีเอสพีกับสินค้าผลิตภัณฑ์กุ้งจากไทย โดยคาดว่ามูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งไปยังตลาดสหภาพยุโรปในปี 2549 จะเท่ากับ 190.0 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ นอกจากนี้ทางสหภาพยุโรปยังงดการนำเข้าผลิตภัณฑ์กุ้งจากอินเดียและบังคลาเทศ ซึ่งเป็นคู่แข่งสำคัญของไทยในตลาดนี้

– ตลาดญี่ปุ่น
การส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งไปยังตลาดญี่ปุ่นมีปัจจัยบวกคือ ข้อตกลงเขตการค้าเสรีไทย-ญี่ปุ่นที่จะมีผลบังคับในช่วงเดือนมกราคม 2549 โดยญี่ปุ่นลดภาษีนำเข้าผลิตภัณฑ์กุ้งจากไทยจากร้อยละ 5 เหลือร้อยละ 0 ทันที จะทำให้การส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งไปญี่ปุ่นปรับตัวเพิ่มขึ้น ประเด็นที่ต้องจับตามองคือ เมื่อเศรษฐกิจญี่ปุ่นฟื้นตัวจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ทำให้ญี่ปุ่นเริ่มเพิ่มปริมาณการนำเข้าผลิตภัณฑ์กุ้งอีกครั้งหนึ่งในปี 2548 และการนำเข้ามีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่องในปี 2549 สัดส่วนการนำเข้าผลิตภัณฑ์กุ้งของญี่ปุ่นนั้นร้อยละ 80.0 ของปริมาณการนำเข้าทั้งหมดเป็นการนำเข้ากุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง ซึ่งไทยครองสัดส่วนเป็นอันดับ 5 รองจากเวียดนาม อินโดนีเซีย อินเดียและจีน ตามลำดับ โดยที่ไทยและจีนเริ่มส่งออกกุ้งขาวเข้าไปในตลาดญี่ปุ่นมากขึ้น ส่วนเวียดนามและอินโดนีเซียยังเป็นแหล่งนำเข้ากุ้งกุลาดำที่สำคัญของญี่ปุ่น ส่วนผลิตภัณฑ์กุ้งนำเข้าที่เหลืออีกร้อยละ 20.0 ของปริมาณการนำเข้าทั้งหมด เป็นการนำเข้ากุ้งแปรรูป อย่างไรก็ตามผลิตภัณฑ์กุ้งแปรรูปมีแนวโน้มขยายตัวอย่างมากตลอดช่วงระยะ 6 ปีที่ผ่านมา ซึ่งทำให้ตลาดกุ้งแปรรูปในญี่ปุ่นเป็นที่จับตามองของหลายประเทศที่ประสบปัญหามาตรการเรียกเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดในสหรัฐฯ คาดว่าในปี 2549 การแข่งขันในการแย่งตลาดกุ้งแปรรูปในญี่ปุ่นจะเพิ่มความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ประเทศคู่แข่งที่น่าจับตามองของไทยในตลาดญี่ปุ่น คือ จีนและเวียดนาม

– ตลาดสหรัฐฯ
แม้ว่าการส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งไปยังตลาดสหรัฐฯจะถูกเรียกเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด แต่อัตราภาษีของไทยยังนับว่าอยู่ในอัตราต่ำเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่งที่ถูกเรียกเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดด้วยกัน นับว่าผู้ส่งออกกุ้งของไทยยังได้เปรียบประเทศเหล่านี้ โดยการส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งของไทยไปยังตลาดสหรัฐฯยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และไทยยังคงครองอันดับหนึ่งในตลาดสหรัฐฯ กล่าวคือ การส่งออกกุ้งไปยังตลาดสหรัฐฯในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2548 ไทยส่งออก 111.0 พันตัน มูลค่า 670 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนแล้วเพิ่มขึ้นร้อยละ 32.5 และ 25.0 ตามลำดับ ซึ่งนับว่าเพิ่มสูงที่สุดในบรรดาประเทศที่ถูกเรียกเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด ในขณะที่การส่งออกของจีนเหลือเพียง 28.7 พันตัน มูลค่า 127 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลงถึงร้อยละ 29.2 และ 36.0 ตามลำดับ และอินเดีย 26.7 พันตัน มูลค่า 236 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 11.5 และ 10.0 ตามลำดับ นอกจากนี้การส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งของไทยยังขยายตัวมากกว่าอินโดนีเซีย ซึ่งไม่ถูกเรียกเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด โดยที่การส่งออกของอินโดนีเซียเท่ากับ 38.6 พันตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 21.4 เท่านั้น แต่สิ่งที่ต้องระวังคือ ประเทศคู่แข่งสำคัญอย่างอินโดนีเซียนั้นไม่ถูกเรียกเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด ทำให้การส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งไปยังตลาดสหรัฐฯของอินโดนีเซียมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างมาก และคาดว่าในปี 2549 นั้นการผลิตกุ้งของอินโดนีเซียมีโอกาสทางตลาดมากขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา ทั้งนี้เนื่องจากความต้องการในการส่งออกที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งมีแนวโน้มว่ารัฐบาลอินโดนีเซียจะอนุญาตให้มีการนำเข้าพ่อแม่พันธุ์กุ้งขาว ซึ่งจะส่งผลให้ปริมาณการผลิตกุ้งขาวของอินโดนีเซียมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน

ผลิตภัณฑ์กุ้งในตลาดสหรัฐฯที่มีแนวโน้มขยายตัวอย่างมากในปี 2549 ต่อเนื่องจากในปี 2548 คือ กุ้งคลุกขนมปังป่นแช่แข็ง และกุ้งปอกเปลือกแช่แข็ง สำหรับกุ้งคลุกขนมปังป่นแช่แข็งนั้นมูลค่าการนำเข้าเติบโตอย่างโดดเด่น โดยจีนครองสัดส่วนตลาดในสหรัฐฯร้อยละ 72.0 ส่วนไทยนั้นครองตลาดร้อยละ 15.0 ส่วนกุ้งปอกเปลือกแช่แข็งนั้นไทยครองตลาดเป็นอันดับหนึ่ง โดยมีสัดส่วนตลาดร้อยละ 26.0 รองลงมาคือ อินโดนีเซียร้อยละ 18.0 เวียดนามร้อยละ 13.0 และเอกวาดอร์ร้อยละ 10.0 ตามลำดับ

ในขณะที่การนำเข้ากุ้งทั้งเปลือกแช่แข็งซึ่งมีสัดส่วนการนำเข้ามาที่สุดนั้นมีแนวโน้มชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกุ้งขนาดใหญ่และขนาดเล็ก ในขณะที่กุ้งขนาดกลางนั้นการนำเข้ายังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งไทยนั้นครองสัดส่วนในการส่งออกกุ้งทั้งเปลือกแช่แข็งขนาดกลางในตลาดสหรัฐฯถึงร้อยละ 33 นับว่ามากเป็นอันดับหนึ่ง รองลงมาคือ เอกวาดอร์ร้อยละ 20.0 และอินโดนีเซียร้อยละ 12.0
ธุรกิจที่ได้รับประโยชน์ต่อเนื่องจากการที่การส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งมีแนวโน้มแจ่มใสคือ อุตสาหกรรมอาหารกุ้ง ธุรกิจเพาะเลี้ยงลูกกุ้ง ธุรกิจห้องเย็น ธุรกิจเครื่องยนต์ดีเซลขนาดเล็ก ซึ่งเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งต้องใช้งานในฟาร์มเพาะเลี้ยง รวมไปถึงเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง เนื่องจากคาดว่าราคากุ้งจะเริ่มมีแนวโน้มดีขึ้นจากภาวะการส่งออกที่แจ่มใส ทั้งนี้เนื่องจากผลิตภัณฑ์กุ้งประมาณร้อยละ 70.0 ของผลิตภัณฑ์กุ้งที่ผลิตได้ทั้งหมดนั้นต้องพึ่งพาตลาดส่งออก

• ปัจจัยเสี่ยง : อย่างไรก็ตามปัจจัยสำคัญในการเร่งเจาะขยายตลาดส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้ง คือ

ผลิตสินค้าตามคุณภาพมาตรฐาน การผลิตภายใต้ต้นทุนที่สามารถแข่งขันกับประเทศคู่แข่งได้และตอบสนองความต้องการที่หลากหลายของประเทศผู้นำเข้า ควบคุมเข้มงวดในด้านมาตรฐานสุขอนามัยตั้งแต่ระดับฟาร์มเพาะเลี้ยงไปจนถึงการขนส่งเพื่อการส่งออก เนื่องจากประเทศผู้นำเข้าเพิ่มความเข้มงวดในเรื่องการตรวจสอบทางด้านสุขอนามัย ไม่ว่าจะเป็นสารเคมีตกค้าง การตรวจสอบย้อนกลับจนถึงระดับฟาร์ม ซึ่งเป็นไปตามกฎเกณฑ์ด้านความปลอดภัยอาหาร เงื่อนไขที่ต้องยืนยันว่าผลิตภัณฑ์กุ้งที่ส่งออกเป็นกุ้งที่ได้มาจากการเพาะเลี้ยงไม่ใช่กุ้งที่จับมาจากธรรมชาติ โดยต้องระบุแหล่งที่มาของบ่อเลี้ยงกุ้งได้อย่างชัดเจน ดังนั้นผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งต้องเพิ่มความเข้มงวดในการผลิต และปฏิบัติตามกฎต่างๆที่ประเทศผู้นำเข้าต้องการ ทั้งนี้เพื่อให้การส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งไม่ประสบปัญหาและอุปสรรคในการส่งออก

อย่างไรก็ตาม การส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งในปี 2549 ยังต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยง ซึ่งนับว่าเป็นปัจจัยที่ต้องพึงระวัง และทั้งผู้ส่งออกและภาครัฐต้องเร่งปรับตัวเพื่อฝ่าฟันอุปสรรคที่เกิดขึ้นกันต่อไป กล่าวคือ

– การส่งออกไปยังสหรัฐฯ
ต้องมีการวางพันธบัตรค้ำประกันการส่งออก(Continuous Bond) ซึ่งส่งผลกระทบต่อเงินทุนหมุนเวียนของผู้ประกอบการ/ห้องเย็น และส่งผลต่อเนื่องทำให้ราคากุ้งในประเทศตกต่ำลงในช่วงปลายปี 2548 ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลไทยกำลังเจรจากับสหรัฐฯและอาจจะมีการดำเนินการฟ้องร้องกับองค์การการค้าโลก เนื่องจากถือว่าสหรัฐฯเรียกเก็บภาษีซ้ำซ้อน ซึ่งอาจจะมีผลทำให้สหรัฐฯทบทวนการวางพันธบัตรค้ำประกันการส่งออก

– การส่งออกไปยังสหภาพยุโรป
ต้องเผชิญกับปัญหาการแข่งขันที่รุนแรง เนื่องจากประเทศคู่แข่งสำคัญของไทยต่างก็เผชิญกับปัญหาการเรียกเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดในการส่งออกกุ้งไปยังตลาดสหรัฐฯจึงหันมาส่งออกกุ้งไปยังสหภาพยุโรป

– การขยายการส่งออกกุ้งไปยังตลาดญี่ปุ่น
ผู้เลี้ยงกุ้งไทยต้องปรับระบบการเลี้ยง เนื่องจากญี่ปุ่นนิยมบริโภคกุ้งขนาดใหญ่ ซึ่งไทยต้องเผชิญกับการแข่งขันจากอินเดียที่ระบบการเลี้ยงกุ้งส่วนใหญ่ยังเป็นการเลี้ยงระบบธรรมชาติ(Extensive System) รวมทั้งยังต้องเผชิญปัญหาการแข่งขันที่รุนแรงมากยิ่งขึ้น เนื่องจากประเทศคู่แข่งสำคัญของไทยหันมาขยายการส่งออกในตลาดญี่ปุ่นทดแทนที่การส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯลดลง

– การขยายการส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งไปยังตลาดใหม่ๆ
โดยเฉพาะแคนาดา ออสเตรเลีย และสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งเป็นตลาดใหม่ที่มีแนวโน้มนำเข้าผลิตภัณฑ์กุ้งเพิ่มขึ้นนั้น ผู้ส่งออกของไทยต้องเผชิญกับคู่แข่งสำคัญคือ เวียดนามซึ่งมีการปรับตัวอย่างรวดเร็วเมื่อต้องเผชิญปัญหาความไม่แน่นอนในการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ ผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งของเวียดนามหันไปเจาะขยายตลาดใหม่ๆ ซึ่งก็ประสบความสำเร็จอย่างมาก โดยในช่วงครึ่งแรกของปี 2548 การส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งของเวียดนามไปยังสวิตเซอร์แลนด์เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 52.0 ออสเตรเลียเพิ่มขึ้นร้อยละ 60.0 ในปี 2547 และร้อยละ 37.0 ในปี 2548 ในตลาดแคนาดาการส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งของเวียดนามก็เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.0 ในช่วงครึ่งแรกของปี 2548 หลังจากที่เคยขยายตัวสูงถึงร้อยละ 241.0 ในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า

นอกจากปัญหาในการส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งในตลาดส่งออกสำคัญและการขยายตลาดส่งออกใหม่ๆแล้ว ผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งยังต้องระมัดระวังปัญหาสารตกค้างในผลิตภัณฑ์ เนื่องจากประเทศผู้นำเข้าอาจใช้เป็นข้ออ้างในการกีดกันทางการค้า ซึ่งปัจจุบันประเทศผู้เลี้ยงกุ้งในบางประเทศหันมาสนใจเลี้ยงกุ้งในลักษณะกุ้งอินทรีย์หรือเลี้ยงกุ้งโดยเน้นความปลอดภัยทางชีวภาพ โดยเฉพาะการไม่ใช้ยาหรือเวชภัณฑ์ในการเลี้ยงกุ้ง ซึ่งนับว่าเป็นทางเลือกใหม่สำหรับประเทศผู้นำเข้ากุ้งที่ไทยจะต้องจับตามองเช่นกัน

บทสรุป

กุ้งและผลิตภัณฑ์เริ่มมีการส่งออกกระเตื้องขึ้นตั้งแต่ช่วงปลายปี 2548 และต่อเนื่องถึงในปี 2549 ทั้งนี้จากปัจจัยเกื้อหนุนในด้านการผลิตที่มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น ในขณะที่ประเทศคู่แข่งขันหลายประเทศต้องเผชิญปัญหาด้านโรคระบาดและปัญหาสารตกค้างทำให้การผลิตกุ้งในตลาดโลกมีแนวโน้มลดลง ส่วนการส่งออกในตลาดสำคัญทั้งสหรัฐฯ สหภาพยุโรปและญี่ปุ่นก็มีแนวโน้มขยายตัวเช่นกัน ซึ่งคาดว่าการส่งออกสหภาพยุโรปในปี 2549 นี้จะขยายตัวอย่างโดดเด่น เนื่องจากไทยได้รับคืนจีเอสพี ส่วนตลาดสหรัฐฯคาดว่าไทยจะยังสามารถครองสัดส่วนตลาดเป็นอันดับหนึ่งอยู่ได้ และการส่งออกก็ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากอัตราภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดที่สหรัฐฯเรียกเก็บจากผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งของไทยอยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำกว่าประเทศคู่แข่ง รวมทั้งผลิตภัณฑ์กุ้งของไทยยังคงสอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคในสหรัฐฯ

อย่างไรก็ตาม ผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งของไทยยังต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรง เร่งปรับตัวให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงในตลาดนำเข้าสำคัญ โดยเฉพาะผู้บริโภคมีแนวโน้มหันไปนิยมกุ้งแปรรูปมากขึ้น อันเนื่องจากความนิยมซื้อผลิตภัณฑ์ไปประกอบอาหารรับประทานเองที่บ้าน ส่วนตลาดญี่ปุ่นซึ่งเป็นตลาดที่มีแนวโน้มว่าจะมีการขยายการนำเข้าผลิตภัณฑ์กุ้งอย่างมากในปีนี้ อันเนื่องมาจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งของไทยควรหันมาเจาะขยายตลาดญี่ปุ่นมากขึ้น นอกจากนี้ทางภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับการเลี้ยงกุ้งต้องร่วมมือกันแก้ไขอุปสรรคของการส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้ง โดยเฉพาะการส่งออกในตลาดสหรัฐฯ โดยการเจรจาในเรื่องการวางพันธบัตรค้ำประกันการส่งออก ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญที่สร้างภาระต้นทุนให้กับผู้ส่งออกอย่างมาก รวมทั้งหันมาให้ความสำคัญกับการเลี้ยงกุ้งปลอดสารเคมี การขยายการเลี้ยงกุ้งกุลาดำเพื่อป้อนตลาดสหภาพยุโรป และส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์กุ้งแปรรูปเพื่อเพิ่มความหลากหลายของผลิตภัณฑ์กุ้งส่งออก