50 ธุรกิจปีจอ : ปีท้าทายความสามารถผู้ประกอบการ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ประเมินแนวโน้มภาวะธุรกิจอุตสาหกรรม 50 ประเภทในปี 2549 โดยใช้หลักเกณฑ์การพิจารณาตัวแปรที่สำคัญในการเลือกธุรกิจที่จะนำมาศึกษาวิจัยและกำหนดหลักเกณฑ์เพื่อประกอบการพิจารณาว่าจะจัดกลุ่มธุรกิจนั้นเข้าอยู่ในกลุ่มใด ซึ่งตัวแปรหลักสำคัญที่จะใช้ในการประเมินสภาพธุรกิจสำหรับปี 2549 มีหลักเกณฑ์และแนวทางการจัดกลุ่มธุรกิจ ดังนี้

• หลักเกณฑ์การเลือกธุรกิจเพื่อการศึกษาวิจัย ประกอบด้วย
1) เป็นธุรกิจที่มีบทบาทสำคัญต่อการส่งออกและสร้างรายได้ให้ประเทศ
2) เป็นธุรกิจที่มีศักยภาพการเติบโตต่อเนื่องไปในอนาคต
3) เป็นธุรกิจที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจไทยโดยรวม
4) เป็นธุรกิจที่กำลังอยู่ในความสนใจของนักลงทุน และของประชาชน
5) เป็นธุรกิจที่มีข้อมูลด้านต่างๆมากเพียงพอที่จะนำมาวิเคราะห์-วิจัย

• หลักเกณฑ์ที่ใช้ในการจัดกลุ่มธุรกิจในส่วนนี้ได้กำหนดตัวแปรหลักสำคัญเพื่อประกอบการพิจารณาไว้ 4 ด้านด้วยกัน ครอบคลุมด้านการผลิต ด้านการตลาด(การขาย) ด้านการพัฒนาและด้านที่เกี่ยวกับปัญหาต่างๆที่ธุรกิจนั้นๆเผชิญอยู่ โดยในแต่ละด้านจะมีตัวแปรประกอบการพิจารณาในรายละเอียดครอบคลุมประเด็นหลักสำคัญ ดังต่อไปนี้

1) ด้านการผลิต ประกอบด้วยตัวแปร กำลังการผลิต การใช้อัตรากำลังการผลิต อัตราการขยายตัวของกาผลิต-การจำหน่าย ความพร้อมด้านวัตถุดิบ การพึ่งพาวัตถุดิบจากในประเทศและ/หรือจากต่างประเทศ คุณภาพวัตถุดิบ และราคาวัตถุดิบรวมทั้งต้นทุน-คุณภาพของแรงงาน และจำนวนผู้ประกอบการธุรกิจ

2) ด้านการตลาด(การขาย) ประกอบด้วยตัวแปรต่อไปนี้

1.1) ตลาดในประเทศ ได้แก่ ยอดขาย อัตราการเติบโตของยอดขาย และสถานการณ์การแข่งขันในแต่ละช่วงเวลา
1.2 ) ตลาดต่างประเทศ ได้แก่มูลค่าการส่งออก อัตราการเติบโตของมูลค่าการส่งออกและส่วนแบ่งในตลาดสำคัญ เปรียบเทียบกับคู่แข่งในแต่ละช่วงเวลา

3) ด้านการพัฒนา ประกอบด้วย คุณภาพสินค้า รูปแบบสินค้าและบรรจุภัณฑ์ โอกาสในการสร้างมูลค่าเพิ่มอย่างต่อเนื่อง โอกาสการขยายตัวของการผลิตและการขายในอนาคต รวมถึงการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตและการตลาด

4) ด้านปัญหาธุรกิจ ประกอบด้วย นโยบาย/มาตรการภาครัฐทั้งในประเทศและต่างประเทศ การกีดกันทางการค้า การเปลี่ยนแปลงของภาวะเศรษฐกิจในประเทศ เศรษฐกิจโลก เศราฐกิจประเทศคู่ค้า สถานการณ์ด้านการเงิน/สินเชื่อ การขยายเครือข่ายธุรกิจ โอกาสและอุปสรรคต่อการเข้ามาของธุรกิจรายใหม่ รวมตลอดถึงจุดอ่อน-จุดแข็งภายในของธุรกิจนั้นๆ

สำหรับการวิเคราะห์และประเมินภาวะธุรกิจทั้ง 50 ประเภทในรอบปี 2549 ที่ทางศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ดำเนินการศึกษาในครั้งนี้ประกอบด้วย 3 กลุ่มธุรกิจได้แก่ กลุ่มธุรกิจที่มีแนวโน้มเติบโต กลุ่มธุรกิจที่อยู่ในภาวะทรงตัว และกลุ่มธุรกิจพึงระวัง ซึ่งในแต่ละกลุ่มธุรกิจจะประกอบด้วยสินค้า ดังต่อไปนี้

กลุ่มธุรกิจที่มีแนวโน้มเติบโต ประกอบด้วย 15 ธุรกิจได้แก่ ยางพารา รถยนต์และชิ้นส่วนอุปกรณ์ อาหารสัตว์เลี้ยงสำเร็จรูป เครื่องเทศและสมุนไพร สิ่งปรุงรสอาหาร นมและผลิตภัณฑ์ ปิโตรเคมี ปูนซีเมนต์ โรงพยาบาลเอกชน ธุรกิจก่อสร้าง ธุรกิจสปาหรู อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป นมถั่วเหลือง น้ำผัก-ผลไม้ และอินเทอร์เน็ต
กลุ่มธุรกิจที่อยู่ในภาวะทรงตัว ประกอบด้วย 31 ธุรกิจได้แก่ กุ้งและผลิตภัณฑ์ โรงภาพยนตร์ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ผลิตภัณฑ์ข้าว อัญมณีและเครื่องประดับ เยื่อกระดาษ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ธุรกิจทัวร์เอาท์บาวด์ รถจักรยานยนต์และชิ้นส่วน ธุรกิจโรงแรม 4-5 ดาว คอมพิวเตอร์และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เสื้อผ้าสำเร็จรูป ธุรกิจทัวร์อินบาวด์ ธุรกิจทัวร์ทางน้ำ เครื่องใช้บนโต๊ะอาหารและเครื่องประดับตกแต่งบ้าน ธุรกิจรับสร้างบ้าน ธุรกิจค้าปลีก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ โทรศัพท์เคลื่อนที่ ผลิตภัณฑ์พลาสติก อาคารชุดพักอาศัย ธุรกิจบ้านจัดสรร ธุรกิจโฆษณา สถานีบริการน้ำมัน ผลิตภัณฑ์ยาง เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน ผลิตภัณฑ์เซรามิก ข้าว ธุรกิจสนามกอล์ฟ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า
กลุ่มธุรกิจพึงระวัง ประกอบด้วย 4 ธุรกิจ ได้แก่ อ้อยและน้ำตาล ผลิตภัณฑ์เครื่องหนัง ไก่แปรรูป และของเด็กเล่น
สำหรับแนวโน้มภาวะธุรกิจแต่ละประเภทในปี 2549 มีทิศทางเป็นเช่นไรนั้น สามารถสรุปประเด็นสำคัญได้ดังปรากฏในตาราง ต่อไปนี้

แนวโน้มภาวะอุตสาหกรรมปี 2549

ประเภทธุรกิจ เหตุผล
กลุ่มที่ 1 : ธุรกิจที่มีแนวโน้มเติบโต
1. ยางพารา การบริโภคยางในตลาดโลกยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่องในปี 2549 ทั้งนี้ความต้องการยางธรรมชาติของจีน ซึ่งเป็นตลาดสำคัญของไทยคาดว่ายังขยายตัว ในขณะที่ความต้องการยางธรรมชาติในอุตสาหกรรมรถยนต์จะมีเพิ่มขึ้นด้วย เป็นปัจจัยหนุนในเชิงบวกต่อความต้องการยางพาราเพิ่มขึ้นในปี 2549

2. รถยนต์และชิ้นส่วน ในปี 2549 ตลาดรถยนต์จะยังเติบโตต่อเนื่อง โดยคาดว่าจะเติบโตประมาณร้อยละ 8-9 ซึ่งก็นับว่าเป็นการขยายตัวที่ค่อนข้างดีกว่าอีกหลายอุตสาหกรรม ยิ่งไปกว่านั้น การส่งออกรถยนต์และชิ้นส่วนได้ขยายตัวรวดเร็วและต่อเนื่อง อันเป็นผลจากการทยอยย้ายฐานการผลิตเข้ามาเรื่อยๆของค่ายรถต่างๆ คาดว่าการส่งออกในปี2549 จะยังคงเติบโตในระดับร้อยละ 35-40

3. อาหารสัตว์เลี้ยงสำเร็จรูป จากกระแสนิยมการเลี้ยงสัตว์เลี้ยงในประเทศต่างๆทั่วโลก ทำให้ความต้องการอาหารสัตว์เลี้ยงสำเร็จรูปเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี2549 จะมีมูลค่าตลาดประมาณ 4,200 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 20 จากปีก่อนหน้า

4. เครื่องเทศและสมุนไพร การบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพ การหันมาใช้เครื่องสำอาง รวมทั้งอาหารเสริมสุขภาพจากสมุนไพร ตามกระแสรักษ์สุขภาพที่กำลัง มาแรง ทำให้ความต้องการสินค้าในกลุ่มนี้ยังคงขยายตัวในเกณฑ์ดี ในขณะที่มีการส่งเสริมการปลูกพืชวัตถุดิบให้เพียงพอป้อนโรงงาน และความเข้มงวดในการควบคุมหลักสุขอนามัยในการผลิต จะเป็นปัจจัยหนุนอุตสาหกรรมต่อไป

5. สิ่งปรุงรสอาหาร การส่งเสริมให้มีการขยายธุรกิจภัตตาคารและร้านอาหารไทยในต่างประเทศ ทำให้ความต้องการสิ่งปรุงรสอาหารมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ความเข้มงวดในด้านสุขอนามัยของประเทศผู้นำเข้า อาจจะเป็นอุปสรรคอยู่บ้าง แต่ผู้ประกอบการน่าจะปรับตัวได้

6. นมและผลิตภัณฑ์ ความต้องการบริโภคนมในประเทศยังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และรัฐบาลยังส่งเสริมโครงการนมโรงเรียน ซึ่งกำหนดให้ใช้น้ำนมดิบ 100% จะเป็นโอกาสสร้างฐานธุรกิจนมและผลิตภัณฑ์นมทั้งระบบให้เติบโตต่อไปได้ในอนาคต

7. ปิโตรเคมี ปี 2549 ธุรกิจปิโครเคมียังมีทิศทางขาขึ้นต่อเนื่องจากปีก่อน มีการขยายกำลังการผลิตในกลุ่มผู้ผลิตรายใหญ่ในปีที่ผ่านมา เพื่อรองรับความต้องการผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีที่ยังคงเพิ่มขึ้น และจากอานิสงส์ราคาน้ำมันโลกที่พุ่งขึ้นอย่างมากเป็นประวัติการณ์ ช่วยดึงให้ราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีให้อยู่ในระดับสูง ส่งผลดีต่อธุรกิจ

8. ปูนซีเมนต์ มีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้นตามการเติบโตของภาคการก่อสร้าง ซึ่งแม้คาดว่าธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อาจยังชะลอตัว แต่การลงทุนในโครงการของภาครัฐน่าจะเข้ามาเป็นแรงกระตุ้นที่สำคัญในปี 2549 ให้ขยายตัวในระดับที่ดีอยู่ต่อไป

9. โรงพยาบาลเอกชน ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนในปี 2549 จะยังคงได้รับความสนใจจากประชาชนที่มีรายได้สูง รวมทั้งกลุ่มพนักงานที่ทำงานภาคเอกชน ซึ่งสามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลได้ ในขณะเดียวกันโรงพยาบาลเอกชนของไทยยังได้รับความสนใจเป็นอย่างมากจากคนไข้ชาวต่างประเทศทั้งนี้ เนื่องจากปัจจัยทางด้านคุณภาพการรักษาพยาบาลของไทย ที่ได้มาตรฐานสากล แต่มีค่าใช้จ่ายต่ำเมื่อเทียบกับค่ารักษาพยาบาลของประเทศคู่แข่ง อาทิ ฮ่องกง และสิงคโปร์ เป็นต้น

10. ธุรกิจก่อสร้าง โดยภาพรวมมีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้น โดยคาดว่าจะได้รับแรงสนับสนุนจากโครงการลงทุนของภาครัฐ ถ้าหากโครงการคืบหน้าได้ตามแผนที่วางไว้ อย่างไรก็ตาม ธุรกิจที่มีแนวโน้มได้รับประโยขน์อาจกระจุกตัวในกลุ่มบริษัทก่อสร้างขนาดใหญ่และขนาดกลางที่รับงานก่อสร้างโครงการพื้นฐานเป็นส่วนใหญ่ สำหรับธุรกิจรับเหมาก่อสร้างขนาดเล็กที่เน้นโครงการที่อยู่อาศัย อาจมีการเติบโตที่ชะลอลงไปบ้าง

11. ธุรกิจสปาหรู ธุรกิจสปายังคงมีแนวโน้มเติบโตตามโรงแรมและรีสอร์ทระดับ 4-5 ดาวที่ขยายตัวไปในเมืองท่องเที่ยวสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ที่เกาะสมุย หัวหิน เชียงใหม่ รวมทั้งกรุงเทพฯ ที่มีการเติบโตของธุรกิจสปาหรู ทั้งในโรงแรมระดับ 4-5 ดาว และสปาหรูนอกโรงแรม

12. อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป การแพร่ระบาดของไข้หวัดนก ทำให้ผู้บริโภคหันมาบริโภคอาหารทะเลมากขึ้น โดยเฉพาะปลา นอกจากนี้ การคาดการณ์ว่าราคา น้ำมันจะยังคงทรงตัวอยู่ในระดับสูง ทำให้ผู้บริโภคยังคงระมัดระวัง ในการใช้จ่าย ส่งผลให้ปริมาณการบริโภคอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป เพื่อทดแทนอาหารอื่นๆที่มีราคาแพงกว่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

13. นมถั่วเหลือง ตลาดนมถั่วเหลืองปี 2549 ยังมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง โดยตลาดกลุ่มเป้าหมายส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่ห่วงใยสุขภาพ เนื่องจากมีการยอมรับว่านมถั่วเหลืองป็นเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพสำหรับเด็กและวัยรุ่น

14. น้ำผัก-ผลไม้ มูลค่าตลาดน้ำผัก-ผลไม้ภายในประเทศในปี 2549 น่าจะมีทั้งสิ้นประมาณ 3,800 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 20 ตามแนวโน้มความต้องการบริโภคน้ำผัก-ผลไม้ในประเทศที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น ขณะที่ตลาดส่งออกน้ำผัก-ผลไม้ในปี 2549 จะยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากในปี 2548 โดยมีตลาดส่งออกสำคัญคือ สหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป

15. อินเทอร์เน็ต การให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง คาดว่าจะมีอัตราการเติบโตของจำนวนผู้ใช้กว่า 2 เท่าตัว จาก 400,000 ราย ในปี 2548 เป็น 800,000 ราย ในปี 2549 ทั้งนี้เพราะอัตราค่าบริการที่ปรับตัวลดลง จะเป็นปัจจัยกระตุ้นจำนวนผู้ใช้อินเตอร์เน็ตความเร็วสูงให้เพิ่ม มากขึ้น ส่วนจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตรวมทั้งระบบในปี 2549 น่าจะมีจำนวนถึง 8.4 ล้านรายหรือคิดเป็นร้อยละ 13.3 ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ นอกจากนี้การให้ใบอนุญาตประกอบกิจการใหม่ และการพิจารณาเพิ่มผู้ให้บริการเกตเวย์ น่าจะช่วยให้ตลาดมีการแข่งขันและส่งเสริมการใช้อินเทอร์เน็ตให้มีราคาลดลงได้กว่าเดิม

กลุ่มที่ 2: ธุรกิจที่อยู่ในภาวะทรงตัว
1. กุ้งและผลิตภัณฑ์ การขยายตัวของการส่งออกกุ้งไปยังตลาดอียู เนื่องจากอียูคืนจีเอสพีให้ไทยในปี2549 ส่วนการส่งออกไปยังสหรัฐฯก็ยังได้เปรียบประเทศ คู่แข่ง เนื่องจากไทยถูกเรียกเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดในอัตราที่ต่ำกว่าคู่แข่ง คาดการณ์ว่าปริมาณการผลิตกุ้งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในช่วงครึ่งหลังของปี 2549 ทำให้มีปริมาณกุ้งเพียงพอต่อการส่งออก

2. โรงภาพยนตร์ ธุรกิจโรงภาพยนตร์ในปี 2549 คาดว่าจะยังคงเติบโตได้ในอัตรา ร้อยละ 10 มีมูลค่าตลาดประมาณ 5,000 ล้านบาท โดยได้รับปัจจัยหนุนจากความสำเร็จของภาพยนตร์ไทยที่ได้รับการยอมรับและทำรายได้จากการฉายมากขึ้น นอกจากนี้ ยังมีภาพยนตร์ต่างประเทศ ที่รอเข้าฉายหลายเรื่อง และการเพิ่มขยายสาขาโรงภาพยนตร์ไปยังแหล่งชุมชนต่างๆ ทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัดเพิ่มมากขึ้นด้วย

3. ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ความต้องการผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังของจีน ยังคงอยู่ในเกณฑ์สูง และการส่งเสริมการตั้งโรงงานผลิตเอทานอล ซึ่งใช้มันสำปะหลังเป็นวัตถุดิบ แต่อาจเกิดภาวะขาดแคลนผลผลิต ทำให้ราคามีแนวโน้ม เพิ่มขึ้น นับเป็นอุปสรรคต่อการส่งออกเนื่องจากต้องแข่งขันด้านราคากับเวียดนาม

4. ผลิตภัณฑ์ข้าว ในปี 2549 คาดว่ปริมาณการผลิตผลิตภัณฑ์ข้าวจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น อันเป็นผลมาจากการคาดการณ์ปริมาณการผลิตข้าวในประเทศมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น รวมทั้งการคาดการณ์ถึงปริมาณการบริโภคในประเทศและการส่งออกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้วปริมาณการผลิตภัณฑ์ภัณฑ์ข้าวมีแนวโน้มขยายตัวเฉลี่ยประมาณร้อยละ 8-9 ต่อปี อย่างไรก็ตามผลิตภัณฑ์ข้าวที่ส่งออกของไทยยังต้องพัฒนาในด้านบรรจุภัณฑ์ เพื่อเพิ่มศักยภาพในด้านความสวยงามและความน่ารับประทานเมื่อเทียบกับคู่แข่ง

5. อัญมณีและเครื่องประดับ การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยในปี 2549 น่าจะขยายตัวไม่ต่ำกว่าร้อยละ15 เนื่องจากมีแนวโน้มในทิศทางบวกจากความต้องการของตลาดต่างประเทศ ซึ่งตลาดหลักที่สำคัญยังคงเป็นตลาดสหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป(15ประเทศ) ตามมาด้วยอิสราเอล ฮ่องกง และญี่ปุ่น แต่ขณะเดียวกันก็ต้องเผชิญกับภาวะการแข่งขันที่รุนแรงที่ผู้ประกอบการไทยต้องปรับตัว

6. เยื่อกระดาษ สถานการณ์เยื่อกระดาษในปี 2549 ยังคงอยู่ในเกณฑ์ที่ดี โดยตลาดในประเทศนั้นได้รับปัจจัยหนุนจากนโยบายภาครัฐที่ส่งเสริมให้ประชาชนรักการอ่านหนังสือเพื่อเพิ่มความรู้ รวมไปถึงนโยบายการสนับสนุนให้ไทยเป็นศูนย์กลางการพิมพ์ในภูมิภาค ในส่วนของตลาดต่างประเทศนั้น ไทยยังมีโอกาสทางด้านการส่งออกเยื่อกระดาษ โดยเฉพาะตลาดจีน ซึ่งเป็นประเทศผู้บริโภคและนำเข้า

7. เยื่อกระดาษรายใหญ่ของโลก และยังคงไม่สามารถผลิตเยื่อกระดาษให้เพียงพอกับความต้องการภายในประเทศ แต่ปัญหาที่อุตสาหกรรม เยื่อกระดาษพึงระวังในปี 2549 นั่นคือปัญหาไม้ยูคาลิปตัสซึ่งเป็น วัตถุดิบผลิตเยื่อกระดาษขาดแคลนและราคาสูงต่อเนื่องจากปี 2548

8. บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ปี 2549 ความต้องการบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่มีราคาไม่สูงมากนักจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 จากมูลค่าปัจจุบันที่ประมาณ 10,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ผลจากการแข่งขันที่รุนแรง ประกอบกับปัจจัยทางด้านต้นทุนการผลิตทั้งวัตถุดิบน้ำมันปาล์ม และต้นทุนค่าขนส่งที่เพิ่มขึ้น ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญของธุรกิจบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป

9. ธุรกิจทัวร์เอาท์บาวด์ ธุรกิจทัวร์เอาท์บาวด์ยังคงเติบโตได้บ้างในปี 2549 ตามตลาดทัวร์ต่างประเทศในระดับบน ที่ยังมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องในปี 2549 โดยมีปัจจัยเกื้อหนุนสำคัญ คือการขยายตัวของสายการบินต้นทุนต่ำในภูมิภาคเอเชีย และการเข้ามาขยายตลาดนักท่องเที่ยวคนไทยทั้งนักท่องเที่ยวกลุ่มครอบครัว กลุ่มนักช็อปปิ้ง กลุ่มนักเรียนและนักศึกษาของหลายประเทศ

10. รถจักรยานยนต์และชิ้นส่วน เศรษฐกิจที่ชะลอตัว ราคาน้ำมันที่ยังอยู่ในระดับสูง ประกอบกับ แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ล้วนเป็นปัจจัยที่ยังคงกระทบตลาดรถจักรยานยนต์ในประเทศที่ในเชิงโครงสร้างก็ใกล้จะอิ่มตัวอยู่แล้ว คาดว่าตลาดจะโตเพียงร้อยละ 3-4 ในปี 2549 อย่างไรก็ตาม แนวโน้มการส่งออกรถจักรยานยนต์และชิ้นส่วนยังอยู่ในเกณฑ์ดีต่อเนื่องประมาณร้อยละ 30-40 โดยเฉพาะตลาดในแถบประเทศเพื่อนบ้าน

11. ธุรกิจโรงแรมระดับ 4-5 ดาว ธุรกิจโรงแรมระดับ 4-5 ดาวยังขยายตัวในเมืองท่องเที่ยวสำคัญ อาทิ สมุย หัวหิน เชียงใหม่ รวมทั้งกรุงเทพฯ ทั้งนี้โดยมีเป้าหมายรองรับกลุ่มนักท่องเที่ยวคนไทยในตลาดระดับบน กลุ่มนักธุรกิจต่างชาติ นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเที่ยวกันเอง รวมทั้งตลาดไมซ์ คือ กลุ่มต่างชาติที่เดินทางเข้ามาประชุมสัมมนาและท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล ที่ยังมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง

12. คอมพิวเตอร์และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ในปี2549คาดว่าการส่งออกชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ของไทยน่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นได้ประมาณร้อยละ 15 เนื่องจากการเพิ่มกำลังการผลิตและการเพิ่มคำสั่งซื้อจากต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม ไทยเองยังต้องระวังการแข่งขันจากต่างประเทศ โดยเฉพาะจีนที่สามารถผลิต ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ได้เพิ่มขึ้นอย่างมาก

13. เสื้อผ้าสำเร็จรูป การส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปไทยในปี 2549 น่าจะขยายตัวได้ร้อยละ 10-15 โดยตลาดสหรัฐฯ สหภาพยุโรปและญี่ปุ่นยังคงมีความต้องการเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่เป็นอุปสรรคต่อการส่งออก โดยเฉพาะคู่แข่งที่มีต้นทุนการผลิตต่ำกว่า อาทิ อินเดีย อินโดนีเซีย ปากีสถาน บังคลาเทศ ซึ่งจะเข้ามาแย่งคำสั่งซื้อจากผู้นำเข้าในส่วนที่เคยเป็นของจีน

14. ธุรกิจทัวร์อินบาวด์ มีแนวโน้มเติบโตตามตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 8 โดยคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามายังประเทศไทยประมาณ 12.4 ล้านคนในปี 2549 โดยได้แรงหนุนจากการขยายตัวอย่างเด่นชัดในตลาดนักท่องเที่ยวญี่ปุ่น และจีน รวมทั้งตลาดท่องเที่ยวหลักอื่นๆในเอเชีย ตลาดยุโรป เอเชียใต้ และตะวันออกกลาง หลังจากผ่านพ้นเหตุการณ์สึนามิไปได้กว่า 1 ปี

15. ธุรกิจทัวร์ทางน้ำ ตลาดท่องเที่ยวทางน้ำ โดยเฉพาะการล่องเรือพร้อมดินเนอร์ และแพ็กเกจล่องเรือท่องเที่ยวแบบเช้าไปเย็นกลับ ยังมีแนวโน้มเติบโตในตลาดระดับบนทั้งกลุ่มนักท่องเที่ยวคนไทยและต่างชาติ โดยที่มีการปรับอัตราค่าบริการเพิ่มขึ้นตามต้นทุนน้ำมันที่สูงขึ้น

16. เครื่องใช้บนโต๊ะอาหารและในครัว เครื่องประดับตกแต่งบ้าน ภาวะเครื่องใช้บนโต๊ะอาหารและในครัว รวมถึงเครื่องประดับตกแต่งบ้านในปี 2549 น่าจะยังอยู่ในภาวะทรงตัว แม้ว่าสินค้ากลุ่มนี้ยังเป็นที่ยอมรับในตลาดโลก เพราะเป็นสินค้าที่มีคุณภาพ ความงาม คุณค่าและเอกลักษณ์ไทยที่โดดเด่นเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ โดยในปี 2548 ไทยสามารถส่งออกสินค้ากลุ่มเพิ่มขึ้นร้อยละ6-8 แต่ส่วนแบ่งตลาดของสินค้ากลุ่มนี้ของไทยในตลาดโลกยังไม่สูงมากนัก

17. ธุรกิจรับสร้างบ้าน การขยายตัวของธุรกิจอาจชะลอตัวลง โดยเฉพาะที่อยู่อาศัยปลูกสร้างเองในเขตปริมณฑล คงจะชะลอตัวเมื่อเทียบกับฐานในปี 2548 ที่ขยายตัวสูงมาก

18. ธุรกิจค้าปลีก ภาพรวมธุรกิจค้าปลีกในปี 2549 น่าจะมีทิศทางที่ทรงตัวเมื่อเทียบกับปี 2548 ด้วยอัตราการขยายตัวที่ร้อยละ12-15 แต่การแข่งขันจะทวีความรุนแรงขึ้น และยังมีปัจจัยเสี่ยงที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคในประเทศในปี2549 นั่นก็คือการปรับตัวเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ย และภาวะเงินเฟ้อที่ยังทรงตัวในระดับสูง ทำให้ผู้บริโภคมีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มสูงขึ้น

19. เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ภาวะเศรษฐกิจและภาคการก่อสร้างที่ชะลอตัว จะส่งผลต่อภาวะ อุตสาหกรรมเหล็กในระดับหนึ่ง แต่การเติบโตของอุตสาหกรรม ยานยนต์และชิ้นส่วนยังคงเอื้ออำนวยต่ออุตสาหกรรมเหล็ก ทำให้คาดว่าจะเติบโตได้ประมาณร้อยละ 6-8 ในปี 2549 อย่างไรก็ตามภาวะราคาเหล็กอาจยังอ่อนตัว เนื่องจากมีอุปทานส่วนเกินในตลาดโลกจากการที่จีนเพิ่มปริมาณผลิตมากขึ้น

20. โทรศัพท์เคลื่อนที่ ปี 2549 คาดว่า จำนวนผู้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่รายใหม่ที่จะเข้าสู่ตลาดมีจำนวน 2.4 ล้านเลขหมายหรือเพิ่มขึ้นร้อยละ6.7จากปี2548 ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตที่ต่ำสุดในรอบ 7 ปี เนื่องจากตลาดที่ค่อนข้างอิ่มตัว อย่างไรก็ตาม ในปี 2549 ตลาดบริการเสริมที่นอกเหนือจากบริการทางด้านเสียงจะได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น มีอัตราการขยายตัวประมาณร้อยละ 40

21. ผลิตภัณฑ์พลาสติก การส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติกยังมีแนวโน้มพอใช้ได้ ทั้งตลาดใน เอเชีย และในยุโรปและสหรัฐ แต่ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมที่เน้นตลาดในประเทศหรือส่งออกสินค้าในตลาดระดับล่าง จะต้องแข่งขันอย่างรุนแรงกับสินค้าจีนที่มีต้นทุนผลิตต่ำกว่าไทยมาก

22. อาคารชุดพักอาศัย ความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยประเภทอาคารชุด โดยเฉพาะในทำเลที่มีระบบรถไฟฟ้าพาดผ่าน น่าจะยังคงมีความต่อเนื่อง แต่อัตราการขยายตัวคงจะชะลอลงเมื่อเทียบกับที่เติบโตได้ดีในช่วงหลายปีที่ ผ่านมา นอกจากนี้ ผลตอบแทนอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มสูงขึ้นอาจส่งผลให้ความต้องการซื้อคอนโดมิเนียมเพื่อมุ่งหวังผลตอบแทนการลงทุนลดน้อยลง

23. ธุรกิจบ้านจัดสรร ธุรกิจบ้านจัดสรรอาจจะยังคงชะลอตัว แม้แรงกดดันเงินเฟ้อต่อการใช้จ่ายของผู้บริโภคอาจเบาบางลงในช่วงครึ่งหลังของปี 2549 แต่อัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มปรับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง อาจทำให้ผู้บริโภคชะลอการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยออกไป

24. ธุรกิจโฆษณา ในปี 2549 คาดว่าเม็ดเงินโฆษณาโดยรวมน่าจะเพิ่มขึ้นจากปี 2548 ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 10 เนื่องจากผู้ประกอบการหลายรายสามารถปรับตัวรองรับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจและราคาน้ำมันได้บ้างแล้ว อีกทั้งผู้ประกอบการยังต้องเร่งอาศัยกลยุทธ์การโฆษณาเพื่อการกระตุ้นยอดขาย โดยสื่อที่น่าจะมีอัตราการเติบโตสูงสุดน่าจะเป็นกลุ่มสื่อนอกบ้าน เนื่องจากวิถีชีวิตของผู้บริโภคในปัจจุบันมักใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่นอกบ้านมากกว่าในบ้าน ประกอบกับอัตราค่าโฆษณาของสื่อนอกบ้านที่ต่ำกว่าสื่อหลักโดยเปรียบเทียบ ทำให้สื่อนอกบ้านมีแนวโน้มได้รับความนิยมจากบรรดาผู้ประกอบการธุรกิจมากขึ้นอย่างชัดเจน

25. สถานีบริการน้ำมัน ภาวะการแข่งขันของสถานีบริการน้ำมันปี 2549 จะยังคงเข้มข้น ทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจนี้ต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอด ด้วยการปรับภาพลักษณ์สถานีบริการน้ำมันให้โดดเด่น ดึงดูดลูกค้าให้เข้ามาใช้บริการ รวมทั้งการให้บริการแบบครบวงจร พัฒนาผลิตภัณฑ์โดยเน้นคุณภาพมากยิ่งขึ้น ภายหลังจากที่ต้องเผชิญกับภาวะตกต่ำของธุรกิจในปีที่ผ่านมาที่ตลาดน้ำมันโลกผันผวนอย่างหนัก

26. ผลิตภัณฑ์ยาง ไทยมีวัตถุดิบเพียงพอสำหรับป้อนอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางในประเทศ และมาตรการรัฐส่งเสริมอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยาง ในขณะที่ราคายางธรรมชาติที่อยู่ในเกณฑ์สูง ทำให้ต้นทุนผลิตภัณฑ์ยางอยู่ในเกณฑ์สูง ส่วนตลาดส่งออกก็มีการแข่งขันอย่างรุนแรง

27. เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วนของไทยในปี 2549 ทั้งตลาด ในประเทศและตลาดต่างประเทศ น่าจะอยู่ในภาวะทรงตัวในลักษณะที่มูลค่าการตลาดเพิ่มขึ้นด้วยอัตราการขยายตัวที่ใกล้เคียงเมื่อเทียบกับปี 2548 แต่ยังคงต้องเผชิญกับภาวะการแข่งขันที่รุนแรงเพิ่มขึ้น

28. ผลิตภัณฑ์เซรามิก ภาวะเศรษฐกิจและภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ชะลอตัว แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น และภาวะราคาน้ำมันซึ่งเป็นต้นทุนผลิตที่สูงของ อุตสาหกรรมนี้ จะกระทบอุตสาหกรรมผลิตกระเบื้องปูพื้น กระเบื้อง บุผนัง และเครื่องสุขภัณฑ์ ในระดับหนึ่ง แต่การที่เศรษฐกิจสหรัฐ ยุโรปและญี่ปุ่นที่ขยายตัวค่อนข้างดี น่าจะเอื้อต่อการส่งออกเครื่องใช้ในครัวเรือนที่ทำจากเซรามิกได้ในระดับหนึ่ง

29. ข้าว ปริมาณสต็อกข้าวในประเทศต่างๆอยู่ในเกณฑ์ต่ำ ทำให้คาดว่าจะมีความต้องการนำเข้าข้าวจากไทยเพิ่มขึ้น มาตรการเร่งรัดขยายตลาดข้าวส่งผลให้ปริมาณการส่งออกข้าวมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็คาดว่าปริมาณการผลิตข้าวทั้งในประเทศคู่ค้าและคู่แข่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ทำให้คาดว่าการส่งออกข้าวในตลาดโลกจะมีการแข่งขันในด้านราคาอย่างรุนแรง ในขณะที่รัฐบาลกำหนดราคารับจำนำข้าวในเกณฑ์สูง ทำให้ราคาข้าวของไทยมีแนวโน้มสูงกว่าประเทศคู่แข่งขัน

30. ธุรกิจสนามกอล์ฟ ยังคงมีแนวโน้มเติบโตตามกระแสนิยมกีฬากอล์ฟที่ยังมาแรงในกลุ่มนักเล่นกอล์ฟคนไทย โดยตลาดขยายตัวกว้างขวางครอบคลุมทุกเพศตั้งแต่กลุ่มเยาวชนไปจนถึงกลุ่มผู้สูงอายุ ขณะที่ตลาดนักเล่นกอล์ฟต่างชาติขยายตัวเพิ่มขึ้นหลังผ่านพ้นเหตุการณ์สึนามิมาได้กว่า 1 ปี

31. เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ค่อนข้างซบเซาอันเป็นผลจากกำลังซื้อของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาราคาน้ำมันและค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับปัจจุบันผู้ประกอบการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทำตลาดได้ค่อนข้างลำบากเนื่องจากภาครัฐได้มีข้อกำหนดเกี่ยวกับเครื่องดื่มประเภทนี้ที่เข้มงวดมากขึ้นในปี 2549

32. เครื่องใช้ไฟฟ้า ภาพรวมตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าในปี 2549 สำหรับตลาดในประเทศ น่าจะมีทิศทางที่ทรงตัวเมื่อเทียบกับปี 2548 ด้วยอัตราการขยายตัวร้อยละ 5-7 โดยสถานการณ์การแข่งขันจะยังคงอยู่ที่การขยายตัวของจำนวนเครื่องใช้ไฟฟ้าจากจีนที่มีส่วนผลักดันให้ราคาจำหน่ายสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าปรับตัวลดลง สำหรับตลาดส่งออก คาดว่า อัตราการขยายตัวของการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าน่าจะอยู่ที่ร้อยละ 5 เท่านั้น ทั้งนี้เพราะส่วนแบ่งตลาดของเครื่องใช้ไฟฟ้าไทยในตลาดโลกเริ่มลดลงในหลายรายการ นอกจากนี้ ความสามารถในการแข่งขันของไทย ก็เริ่มลดลงด้วย

กลุ่มที่ 3 : ธุรกิจพึงระวัง
1. อ้อยและน้ำตาล แม้ว่าราคาอ้อยขั้นต้นปีการผลิต 2548/49 ที่ภาครัฐประกาศออกมาจะสูงถึง 800 บาทต่อตันอ้อยเทียบกับราคาอ้อยขั้นต้นปีก่อนคือ 620 บาทต่อตันอ้อย ประกอบกับราคาน้ำตาลในตลาดโลกได้ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากเฉลี่ยประมาณ 11 เซนต์ต่อปอนด์ในปี 2548 มาเป็นเฉลี่ยประมาณ 13-14 เซนต์ต่อปอนด์ในปี 2549 แต่เนื่องจากปริมาณผลผลิตอ้อยที่ลดลงอันเป็นผลจากปัญหาภัยแล้งและพื้นที่ปลูกอ้อยที่ลดลง ประกอบกับการที่กองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายมีภาระหนี้เงินกู้รวมเป็นเงินต้นและดอกเบี้ยที่ต้องชำระในช่วงปี 2548-2555 ทั้งสิ้นประมาณ 17,620 ล้านบาท จึงนับเป็นปัญหากดดันอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลในปัจจุบัน

2.ผลิตภัณฑ์เครื่องหนัง จากสภาพการแข่งขันของอุตสาหกรรมเครื่องหนังในตลาดโลกที่ทวีความรุนแรง โดยเฉพาะสินค้าเครื่องหนังจากจีนซึ่งมีราคาถูกกว่า สินค้าไทยมาก ผู้ผลิตเครื่องหนังของไทยจึงต้องเร่งปรับตัว โดยเน้นการออกแบบที่เป็นเอกลักษณ์เพื่อเจาะตลาดเฉพาะกลุ่มให้มากขึ้น ไม่เช่นนั้นก็คงจะแข่งขันสู้สินค้าจากต่างประเทศได้ยาก อย่างไรก็ตาม มาตรการส่งเสริมผลิตภัณฑ์เครื่องหนังของภาครัฐ ซึ่งเป็นหนึ่งในสินค้าแฟชั่น และมาตรการลดภาษีนำเข้าหนังดิบและวัตถุดิบอื่นๆ เช่น อุปกรณ์ต่างๆ เป็นต้น นับเป็นปัจจัยหนุน
ธุรกิจผลิตภัณฑ์เครื่องหนัง

3. ไก่แปรรูป ราคาไก่สดแช่แข็งมีแนวโน้มลดลงจากการที่บราซิลที่เป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ของโลกไม่ได้รับผลกระทบจากปัญหาไข้หวัดนกได้ปรับลดราคาไก่ส่งออกลงราวร้อยละ 8-12 เพื่อดึงความสนใจให้ประเทศผู้นำเข้าหันไปซื้อไก่สดจากบราซิลเพิ่มขึ้น ทำให้ไทยต้องสูญเสียโอกาสทางการตลาดไปบางส่วน ขณะที่การแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดนกอย่างต่อเนื่องในหลายประเทศของยุโรป ทำให้ผู้บริโภคหันไปบริโภคเนื้อสัตว์ประเภทอื่นแทนการบริโภคเนื้อไก่

4. ของเด็กเล่น สถานการณ์การส่งออกของเด็กเล่นของไทยในปี 2549 จะยังคงเป็นอุตสาหกรรมที่อยู่ในช่วงขาลงที่อยู่ในกลุ่มธุรกิจพึงระวัง เนื่องจากผู้ประกอบการไทยยังต้องเผชิญกับปัจจัยลบทั้งในด้านพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ขณะที่ทางด้านศักยภาพด้านการผลิตและการตลาดก็พบว่านับวันไทยจะสูญเสียความได้เปรียบด้านต้นทุนการผลิตให้กับคู่แข่งอย่างจีนโดยเฉพาะต้นทุนค่าจ้างแรงงานจนส่งผลให้ผู้ประกอบการต่างชาติหลายรายย้ายฐานการผลิตจากไทยไปยังจีนอย่างต่อเนื่อง