จุฬาฯ ร่วมกับสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล เผย งานวิจัยใหม่ระบุวัคซีนเอชพีวี (HPV) คุ้มค่า ถึงเวลาแล้วหรือยัง

ทีมนักวิจัยจากภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล เผยผลการศึกษาใหม่ว่า วัคซีนเอชพีวีมีประสิทธิภาพสูงในการลดการติดเชื้อจากไวรัสเอชพีวีและมะเร็งปากมดลูก มีคุณค่าและประโยชน์ในการนำวัคซีนเอชพีวีเข้าในโครงการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคของประเทศไทย

รองศาสตราจารย์นายแพทย์ วิชัย เติมรุ่งเรืองเลิศ หัวหน้าสาขามะเร็งนรีเวชวิทยา ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอาจารย์ ปิยลัมพร หะวานนท์ ผู้เชี่ยวชาญทางด้านสถิติสาธารณสุข วิทยาลัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยว่าผลจากการศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขซึ่งได้นำเสนอในการประชุมวิชาการนานาชาติเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่า การบรรจุวัคซีนเอชพีวีเข้าในโปรแกรมการตรวจคัดกรองและป้องกันมะเร็งปากมดลูกที่มีในปัจจุบัน มีความคุ้มค่าเมื่อเทียบกับระดับความคุ้มค่าภายใต้บริบทของประเทศไทย วัคซีนเอชพีวีสามารถลดทั้งภาระโรคและค่าใช้จ่ายจากโรคที่เกิดจากเชื้อเอชพีวี โดยข้อมูลที่ได้นี้จะเป็นประโยชน์สำหรับการตัดสินใจเชิงนโยบายในการนำวัคซีนเอชพีวีบรรจุเข้าในโครงการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคของประเทศไทย

มะเร็งปากมดลูกเป็นมะเร็งที่มีพบบ่อยเป็นอันดับต้นๆของประเทศไทย โดยมีอุบัติการณ์ของผู้ป่วยรายใหม่ในแต่ละปีเป็น 24.7 คน ต่อผู้หญิง 100,000 คน และเสียชีวิตเฉลี่ยถึง 14 คนต่อวัน

มีข้อมูลแสดงให้เห็นว่าการเกิดมะเร็งปากมดลูกในสตรีไทยมีสาเหตุหลักมาจากการติดเชื้อเอชพีวี ไวรัสเอชพีวีบางสายพันธุ์ทำให้ผู้หญิงที่ติดเชื้อมีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นมะเร็งปากมดลูก ทำให้ผู้ป่วยทุกข์ทรมานจากตัวโรค และต้องได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัด ฉายแสง หรือให้เคมีบำบัด ตลอดจนประเทศต้องรับภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้นในแต่ละปี นอกจากนี้ไวรัสเอชพีวียังเป็นสาเหตุของโรคของอวัยวะสืบพันธุ์อื่นๆ เช่น มะเร็งปากช่องคลอด มะเร็งช่องคลอด และมะเร็งทวารหนัก รวมทั้งโรคหูดหงอนไก่ การฉีดวัคซีนเอชพีวีจะสามารถป้องกันการติดเชื้อเอชพีวีและโรคต่างๆที่มีสาเหตุมาจากไวรัสดังกล่าวได้

นายแพทย์ นิพนธ์ เขมะเพชร อาจารย์ สาขามะเร็งนรีเวชวิทยา ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า หลังจากมีการใช้วัคซีนเอชพีวีอุบัติการของมะเร็งปากมดลูกทั่วโลกได้ลดลง ในปีนี้เป็นปีแรกที่มีข้อมูลแสดงว่ามะเร็งปากมดลูกลดลงอย่างเห็นได้ชัดในประเทศสหรัฐอเมริกานับตั้งแต่มีการนำวัคซีนเข้ามาใช้ในปีพ.ศ. 2549 โดยกลุ่มที่มีการลดลงของจำนวนผู้ป่วยอย่างเห็นได้ชัด คือ ผู้หญิงในช่วงอายุ 21-24 ปี ที่อุบัติการณ์ลดลงจาก 834 ราย เป็น 688 ราย ต่อประชากร 100,000 คน เช่นเดียวกับที่พบในประเทศออสเตรเลีย ซึ่งมีการลดลงของโรคหูดหงอนไก่ในผู้หญิงอายุต่ำกว่า 21 ปี ถึง 60% ในช่วงปี พ.ศ. 2550 -2554 และยังพบการลดลงของความผิดปกติของปากมดลูกชนิด high grade ในผู้หญิงอายุต่ำกว่า 18 ปีถึง 47.5% (อุบัติการณ์ลดลงจาก 0.80% เป็น0.42%) ภายในระยะเวลา 3 ปี

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กนกวรรณ ธราวรรณ ผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า การลดมะเร็งปากมดลูกทำได้ด้วยการตรวจคัดกรอง ร่วมกับการฉีดวัคซีน สำหรับการตรวจคัดกรองนั้นเป็นเรื่องที่ต้องทำอยู่แล้ว เจอเชื้อเร็วเท่าไหร่ก็รักษาให้หายขาดได้เร็วเท่านั้น แต่ประเด็นคือปัจจุบันโลกเรามีวิทยาการที่ก้าวหน้าแล้ว เรามีวัคซีนป้องกันการติดเชื้อเอชพีวีแล้ว ไม่ต้องรอให้ติดเชื้อก่อน แล้วไปพยายามรักษาเอาตอนที่คัดกรองเจอ ทำไมไม่ป้องกันก่อน วัคซีนนี้ทำมาจากเปลือกไวรัส ไม่มีอันตราย แต่ช่วยป้องกันการติดเชื้อที่ทำให้เป็นมะเร็งปากมดลูกได้ แท้จริงแล้วเป็นสิทธิอนามัยเจริญพันธุ์ขั้นพื้นฐานตามข้อตกลง ICPD (International Conference on Population and Development Programme of Action) ด้วยซ้ำ หมายถึงว่า หากมีเทคโนโลยีใหม่ที่ทำให้คุณภาพชีวิตของผู้หญิงดีขึ้น รัฐบาลก็ต้องจัดสรรให้ ไม่เช่นนั้นประเทศไทยจะช้ากว่าประเทศอื่นๆในอาเซียน เพราะทราบว่ามาว่าประเทศภูฎาน ประเทศมาเลเซีย และเร็วๆนี้คือประเทศลาว ได้มีวัคซีนเอชพีวีใช้ในโครงการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคของประเทศไปหมดแล้ว”

สุดท้ายรองศาสตราจารย์นายแพทย์ วิชัย เติมรุ่งเรืองเลิศ ได้กล่าวปิดท้ายว่า “ผมเชื่อว่า การให้วัคซีนเอชพีวีเป็นหนึ่งในกลยุทธหลักในการลดมะเร็งปากมดลูกในสตรีทั่วโลก ควบคู่ไปกับการให้ความรู้และการตรวจคัดกรองที่สม่ำเสมอ”