ธุรกิจกวดวิชาครอบคลุมถึงการเรียนกวดวิชาทั้งในรูปแบบโรงเรียนกวดวิชา และติวเตอร์อิสระที่สอนแบบตัวต่อตัวหรือสอนเป็นกลุ่ม โดยค่านิยมการเรียนเสริมความรู้ในบางรายวิชาของนักเรียนไทยทั้งในกลุ่มที่เรียนอ่อนและเรียนเพื่อเสริมสร้างความมั่นใจให้กับตนเอง เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้ธุรกิจกวดวิชาเติบโตอย่างต่อเนื่องและมีมูลค่าตลาดอยู่ในระดับสูง ดังจะเห็นได้จากการขยายสาขาของโรงเรียนกวดวิชาในพื้นที่จังหวัดต่างๆทั้งในกรุงเทพฯและภูมิภาค อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการธุรกิจกวดวิชาก็ยังมีความจำเป็นที่จะต้องปรับกลยุทธ์การประกอบธุรกิจเพื่อให้สามารถประกอบธุรกิจได้อย่างยั่งยืนท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยี ในยุคปัจจุบัน
โรงเรียนกวดวิชาเน้นรวมตัวเป็นคลัสเตอร์ ขยายสาขา ปรับหลักสูตร และใช้เทคโนโลยี
นักเรียนที่เป็นกลุ่มเป้าหมายหลักในการเรียนกวดวิชา ได้แก่ นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษา ซึ่งมีความต้องการเรียนกวดวิชาเสริมสร้างความรู้เพื่อใช้ในการสอบวัดผลการเรียนในโรงเรียนและสอบแข่งขันเข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย โดยฐานนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักในการเรียนกวดวิชามีอยู่จำนวนมากและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังจะเห็นได้จากข้อมูลของสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการที่ระบุว่า ปี 2555 มีจำนวนนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายในกลุ่มโรงเรียนประเภทสามัญศึกษาทั้งของรัฐบาลและเอกชนรวม 1,412,570 คน แบ่งเป็นในกรุงเทพฯ 163,743 คน และในภูมิภาค 1,248,827 คน เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากปี 2550 ที่มีจำนวนรวม 1,166,942 คน
เมื่อพิจารณาข้อมูลการสอบแข่งขันเพื่อศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย พบว่า ในปี 2555 มีผู้สมัครเข้าศึกษาในระบบ Admissions ถึง 122,169 คน ในขณะที่มหาวิทยาลัยหรือสถาบันของรัฐในสังกัดหรือกำกับของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา สามารถรองรับนักศึกษาใหม่ได้เพียง 64,000 คน หรือรองรับได้เพียงร้อยละ 53 ของผู้สมัคร Admissions ทั้งหมด จึงส่งผลให้การสอบแข่งขันเพื่อศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัยในประเทศไทยยังคงเป็นไปอย่างรุนแรง
กล่าวได้ว่า การมีนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายที่ศึกษาอยู่ในระบบเป็นจำนวนมาก ในขณะที่มหาวิทยาลัยหรือสถาบันของรัฐมีขีดจำกัดในการรองรับนักศึกษา ได้นำมาซึ่งค่านิยมในการเรียนกวดวิชาของนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายเพื่อสร้างความได้เปรียบในการสอบแข่งขันเข้ามหาวิทยาลัย โดยการเรียนกวดวิชามีภาพลักษณ์ของการสรุปเนื้อหาอย่างตรงประเด็น สอนเทคนิคการทำข้อสอบ ใช้เวลาเรียนไม่มาก รวมถึงยังมีเทคนิคการสอนที่เพลิดเพลิน ซึ่งค่านิยมดังกล่าวส่งผลให้ธุรกิจกวดวิชาเติบโตและมีมูลค่าตลาดสูง ดังจะเห็นได้จากการเข้าสู่ตลาดของผู้ประกอบการธุรกิจกวดวิชาทั้งโรงเรียนกวดวิชาและติวเตอร์อิสระ ที่มีผู้ประกอบการรายใหม่เข้าสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง รวมถึงยังมีการขยายธุรกิจของผู้ประกอบการที่ประกอบธุรกิจในปัจจุบัน โดยปี 2555 ประเทศไทยมีโรงเรียนกวดวิชารวม 2,005 แห่ง แบ่งเป็นในกรุงเทพฯ 460 แห่ง และในภูมิภาค 1,545 แห่ง และมีจำนวนนักเรียนที่เรียนกวดวิชารวม 453,881 คน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 12 ของจำนวนนักเรียนระดับชั้นมัธยมทั้งหมด
เมื่อพิจารณาในรายวิชาต่างๆ พบว่า คณิตศาสตร์และภาษาอังกฤษเป็นวิชาพื้นฐานที่นักเรียนทุกคนมีความจำเป็นต้องศึกษาและใช้ในการสอบแข่งขันเพื่อศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย นักเรียนที่เรียนวิชาดังกล่าวจึงมีจำนวนมาก และมีผู้ประกอบการธุรกิจกวดวิชาในตลาดจำนวนมากตามไปด้วย ในขณะที่วิชาที่ต้องอาศัยความเข้าใจและการวิเคราะห์ระดับสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วิชาที่ใช้สอบเข้าคณะต่างๆของสายวิทยาศาสตร์ เช่น ฟิสิกส์ และเคมี พบว่า มีผู้ประกอบการธุรกิจโรงเรียนกวดวิชาที่ดำเนินการสอนมานานและมีชื่อเสียงในกลุ่มนักเรียนอยู่แล้ว จึงก่อให้เกิดข้อจำกัดในการเข้าสู่ตลาดของผู้ประกอบการธุรกิจกวดวิชารายใหม่ที่ต้องใช้ระยะเวลาในการสร้างชื่อเสียง อย่างไรก็ตาม พบว่า ในส่วนของวิชาอื่นๆ เช่น ชีววิทยา ภาษาไทย และสังคม ที่นักเรียนสามารถอ่านทบทวนเองได้นั้น ก็ยังมีผู้ประกอบการธุรกิจโรงเรียนกวดวิชาที่มีชื่อเสียงในกลุ่มนักเรียนอยู่แล้วเช่นกัน ทั้งนี้ โรงเรียนกวดวิชาต่างก็มีกลยุทธ์ในการลงทุนที่แตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับขนาดของโรงเรียน ชื่อเสียง และทำเลที่ตั้ง โดยโรงเรียนกวดวิชาที่มีชื่อเสียงมักใช้กลยุทธ์ ดังนี้
• การรวมตัวกันเป็นคลัสเตอร์ : ปัจจุบันจะเห็นได้ว่า มีความร่วมมือกันระหว่างโรงเรียนกวดวิชาชื่อดังในวิชาต่างๆที่หลากหลายร่วมกันจัดการเรียนส่วนตัวแบบออนไลน์ รวมถึงมีการใช้สถานที่หรืออาคารร่วมกันเพื่อเป็นจุดศูนย์กลาง หรือ One – Stop Service ในการเดินทางมาเรียนกวดวิชาสำหรับนักเรียน โดยสถานที่โรงเรียนกวดวิชาชื่อดังส่วนใหญ่มักมีทำเลที่ตั้งอยู่ใจกลางเมืองและห้างสรรพสินค้า ซึ่งมีการคมนาคมที่สะดวก
• การขยายสาขาไปต่างจังหวัดที่มีศักยภาพ : แต่เดิมกลยุทธ์ของโรงเรียนกวดวิชาชื่อดังมักเลือกขยายสาขาไปในกรุงเทพฯและจังหวัดหลักในภาคต่างๆ นักเรียนจังหวัดรอบข้างจึงต้องเดินทางมาเรียน ในขณะที่นักเรียนบางคนก็มีข้อจำกัดด้านการเดินทางจึงไม่สามารถเข้าถึงการเรียนกวดวิชาได้ อย่างไรก็ตาม จากแนวโน้มการขยายตัวของความเป็นเมือง ประกอบกับการเล็งเห็นถึงขนาดตลาดของนักเรียนที่เรียนกวดวิชาและศักยภาพทางเศรษฐกิจในพื้นที่จังหวัดอื่นๆที่จะนำมาซึ่งกำลังซื้อของผู้ปกครอง โรงเรียนกวดวิชาชื่อดังจึงได้มุ่งขยายสาขาจากจังหวัดหลักในภาคต่างๆไปจังหวัดรองมากขึ้น เช่น เชียงราย นครสวรรค์ พิษณุโลก อุบลราชธานี ร้อยเอ็ด มหาสารคาม ราชบุรี ตรัง เป็นต้น ส่งผลให้สามารถขยายฐานนักเรียนในต่างจังหวัดได้มากยิ่งขึ้น
• การปรับหลักสูตรให้สอดคล้องกับระบบ Admissions : การสอบแข่งขันเพื่อศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัยในระบบ Admissions ที่มีการสอบแข่งขันทั้งในระบบกลางและระบบรับตรงของมหาวิทยาลัย ได้ส่งผลให้โรงเรียนกวดวิชาชื่อดังหันมาปรับหลักสูตรให้สอดคล้องกับระบบดังกล่าวมากขึ้น ครอบคลุมทั้งวิชาสามัญทั่วไป การสอบความถนัดทั่วไป (GAT: General Aptitude Test) การสอบความถนัดทางวิชาชีพและวิชาการ (PAT: Professional and Academic Aptitude Test) รวมถึงวิชาเฉพาะ เช่น วิชาเฉพาะแพทย์
• การนำเทคโนโลยีมาใช้ในการเรียนการสอน : โรงเรียนกวดวิชาชื่อดังได้นำเทคโนโลยีที่ก้าวหน้ามาใช้ในการเรียนการสอน ไม่ว่าจะเป็นการจัดทำ Application เกี่ยวกับการเรียนการสอนผ่านทางสมาร์ทโฟน การเรียนส่วนตัวแบบออนไลน์ซึ่งมีความยืดหยุ่นสูงโดยนักเรียนสามารถบริหารจัดการการเรียนด้วยตนเองผ่านคอมพิวเตอร์และสมาร์ทโฟน รวมถึงการใช้แท็บเล็ทประกอบการเรียนการสอน ซึ่งถือได้ว่าเป็นการอำนวยความสะดวกสำหรับนักเรียนได้เป็นอย่างดี
ทั้งนี้ การแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้นในตลาดธุรกิจกวดวิชาได้ส่งผลให้มีผู้ประกอบการธุรกิจกวดวิชาบางรายเริ่มกระจายความเสี่ยงโดยการขยายไปในธุรกิจอื่นๆที่เกี่ยวข้อง เช่น บริการแนะแนวการศึกษา แฟรนไชส์ธุรกิจการศึกษา การผลิตสื่อและสิ่งพิมพ์ รวมถึงการขายสื่อการเรียนรู้แบบมัลติมีเดียให้โรงเรียนต่างๆ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ประมาณการมูลค่าตลาดธุรกิจกวดวิชา ทั้งในส่วนของการเรียนกวดวิชาในรูปแบบโรงเรียนกวดวิชา และติวเตอร์อิสระที่สอนแบบตัวต่อตัวหรือสอนเป็นกลุ่มในปี 2556 ไว้ที่ประมาณ 7,160 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2555 ที่มีมูลค่าประมาณ 7,000 ล้านบาท และจะเติบโตไปสู่ 8,189 ล้านบาทในปี 2558 หรือเติบโตโดยเฉลี่ยร้อยละ 5.4 ต่อปี โดยคาดว่าจะมีปัจจัยหนุนมาจากการเพิ่มราคาค่าเรียนต่อหลักสูตรและจำนวนนักเรียนที่เรียนกวดวิชาเพิ่มขึ้น
หลากปัจจัยท้าทายตลาดกวดวิชา แนะผู้ประกอบการต้องปรับตัว
ในอดีตที่ผ่านมา ธุรกิจโรงเรียนกวดวิชามีภาพลักษณ์ของการเป็นธุรกิจที่มีความเสี่ยงต่ำ กล่าวคือ เป็นธุรกิจที่ไม่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ เนื่องจากมีจำนวนนักเรียนในแต่ละปีค่อนข้างคงที่ อีกทั้งค่านิยมของผู้ปกครองไทยที่ให้ความสำคัญกับการศึกษาของบุตรหลานจึงมองว่าการเรียนกวดวิชาเป็นสิ่งจำเป็น อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยี ได้ส่งผลให้สภาพแวดล้อมในการประกอบธุรกิจกวดวิชาเปลี่ยนแปลงไป ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ประมวลความท้าทายที่อาจส่งผลกระทบต่อการประกอบธุรกิจกวดวิชาในอนาคต ดังรายละเอียดต่อไปนี้
• ทางเลือกในการเข้าเรียนมหาวิทยาลัยมากขึ้น
การเพิ่มขึ้นของจำนวนหลักสูตรภาคพิเศษ และหลักสูตรการเรียนการสอนแบบนานาชาติของมหาวิทยาลัยรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลักสูตรการเรียนการสอนแบบนานาชาติที่เปิดใหม่เพื่อผลิตบุคลากรรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือ AEC อาจส่งผลให้การแข่งขันเพื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัยรัฐบาลมีความรุนแรงลดลง อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า แม้ว่าความรุนแรงในการสอบแข่งขันเพื่อศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัยจะลดลงและส่งผลกระทบต่อภาพรวมของธุรกิจกวดวิชา แต่ก็ยังถือได้ว่าเป็นโอกาสของโรงเรียนกวดวิชาภาษาอังกฤษที่จะสามารถขยายฐานนักเรียนที่ต้องการเตรียมความพร้อมด้านภาษาอังกฤษ เพื่อใช้ในการสอบแข่งขันศึกษาต่อในหลักสูตรนานาชาติ
นอกจากนี้ การที่ผู้คนในสังคมยอมรับคุณภาพของมหาวิทยาลัยเอกชนมากขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากการเร่งยกระดับคุณภาพให้เทียบเท่ามหาวิทยาลัยรัฐบาล ทั้งด้านการเปิดการเรียนการสอนในสาขาที่หลากหลาย มีการชูจุดเด่น ทั้งความพร้อมในด้านบุคลากร สถานที่ และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆภายในมหาวิทยาลัยเพื่อดึงดูดนักศึกษา รวมถึงในอนาคต หากมีการผ่อนคลายกฎระเบียบด้านการจัดตั้งมหาวิทยาลัยจากต่างประเทศ ก็จะเป็นการเปิดโอกาสให้มหาวิทยาลัยต่างชาติที่มีชื่อเสียงสามารถเข้ามาเปิดวิทยาเขตภายในประเทศไทยเพื่อเป็นตัวเลือกหนึ่งสำหรับนักเรียนได้ ส่งผลให้การแข่งขันเพื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัยรัฐบาลอาจไม่รุนแรงเช่นในอดีต ซึ่งนักเรียนอาจให้ความสำคัญกับการเรียนกวดวิชาเพื่อสอบแข่งขันศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยรัฐบาลลดลง
• การทำการตลาดเพื่อเจาะกลุ่มนักเรียนและนักศึกษาของผู้ผลิตสินค้า
ผู้ผลิตสินค้าอุปโภคและบริโภครายใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สินค้าประเภทเครื่องดื่มบำรุงสมอง ต่างก็หันมามุ่งเจาะตลาดนักเรียนและนักศึกษา โดยมุ่งสร้างภาพลักษณ์ของสินค้าในการเป็นตัวช่วยทางด้านการเรียน ซึ่งเป็นแนวคิดในการสร้างความผูกพันธ์กับแบรนด์สินค้าตั้งแต่วัยเด็กเพื่อเป็นข้อได้เปรียบในการทำการตลาดระยะยาว ที่จะส่งผลให้ลูกค้ากลุ่มนักเรียนและนักศึกษามีความผูกพันธ์กับแบรนด์สินค้าและกลายเป็นลูกค้าที่มีกำลังซื้อในอนาคต ผ่านการจัดกิจกรรมทางการตลาดในรูปแบบการเปิดติววิชาต่างๆเพื่อสอบแข่งขันศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งอาจส่งผลให้นักเรียนเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าวมากขึ้น ทดแทนการเรียนกวดวิชาซึ่งมีค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง
นอกจากนี้ ยังมีความท้าทายในด้านอื่นๆ ยกตัวอย่างเช่น การเติบโตของสื่อการเรียนรู้ด้วยตนเอง ทั้งในรูปแบบการถ่ายทอดการเรียนการสอนออกอากาศผ่านทางโทรทัศน์ช่องต่างๆ สื่อประเภทวีซีดีและดีวีดี และช่องทางอินเทอร์เน็ต ที่นักเรียนสามารถเรียนรู้ด้วยตนเองได้ในรูปแบบการเรียนผ่านเว็บไซท์ e–Learning คลิปวีดิโอ ที่ยังมีการออกแบบให้สามารถมีปฏิสัมพันธ์ได้อย่างเพลิดเพลิน ไม่มีค่าใช้จ่าย รวมถึงสามารถเรียนได้ทุกที่ทุกเวลา ยกตัวอย่างเช่น www.khanacademy.org ซึ่งเป็นเว็บไซท์ไม่แสวงหาผลกำไรชื่อดัง ที่มีแบบทดสอบเรื่องต่างๆให้ผู้เรียนได้ทดสอบความรู้เช่นเดียวกับการเรียนที่โรงเรียน อีกทั้ง การที่ผู้ปกครองหันมาให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพในด้านอื่นๆของบุตรหลานมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นทักษะภาษาต่างชาติ การฝึกสมอง งานศิลปะ ดนตรี รวมถึงกีฬา เป็นปัจจัยที่อาจส่งผลให้ผู้ปกครองและนักเรียนมีแนวโน้มให้ความสำคัญกับการเรียนกวดวิชาน้อยลง
จากความท้าทายที่อาจส่งผลกระทบต่อการประกอบธุรกิจกวดวิชาดังกล่าว ส่งผลให้ผู้ประกอบการธุรกิจกวดวิชาต้องปรับตัวให้สอดคล้องตามการเปลี่ยนแปลง นอกจากการกำหนดตำแหน่งการแข่งขันของโรงเรียนกวดวิชาในการเป็นสถานที่เรียนรู้เนื้อหาวิชาการเพิ่มเติม รองจากโรงเรียนแล้ว ผู้ประกอบการธุรกิจโรงเรียนกวดวิชาควรกำหนดตำแหน่งการแข่งขันของโรงเรียนกวดวิชาในการเป็นศูนย์รวม หรือ Community ของนักเรียนเพื่อสร้างความสัมพันธ์กับนักเรียนในระยะยาว ที่จะสามารถดึงดูดนักเรียนให้เข้ามาเรียนเป็นกลุ่มและเกิดการบอกต่อไปยังกลุ่มเพื่อน รวมถึงยังต้องยกระดับคุณภาพการเรียนการสอน โดยมุ่งเน้นการทำความเข้าใจในเนื้อหาบทเรียนและเสริมสร้างทักษะการคิดวิเคราะห์สำหรับนักเรียนให้มากขึ้น จากที่ในปัจจุบันจะเป็นการมุ่งเน้นสรุปเนื้อหาและถ่ายทอดเทคนิคการทำข้อสอบเท่านั้น
ทั้งนี้ จากการขยายธุรกิจของโรงเรียนกวดวิชาที่มีชื่อเสียงซึ่งเป็นผู้ประกอบการหลักจำนวนไม่กี่รายไปในจังหวัดต่างๆที่เป็นหัวเมืองรอง นำมาซึ่งความจำเป็นในการปรับตัวของโรงเรียนกวดวิชาท้องถิ่น โดยโรงเรียนกวดวิชาท้องถิ่นควรใช้จุดแข็งด้านความเข้าใจถึงความต้องการและข้อจำกัดของนักเรียนในท้องถิ่น รวมถึงค่าเรียนต่อหลักสูตรที่อยู่ในระดับไม่สูงมากนักดึงดูดนักเรียน และในขณะเดียวกัน ก็จำเป็นต้องปรับหลักสูตรและนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในการเรียนการสอนควบคู่กันไป