30 มกราคม 2549 – โรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ : รถไฟฟ้ากรุงเทพ เตรียมเดินหน้าเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พร้อมเสนอขายหุ้นสามัญไม่เกิน 2,856.23 ล้านหุ้น แก่ประชาชน เพื่อนำเงินไปจัดซื้อรถไฟฟ้า และอุปกรณ์เพื่อรองรับผู้โดยสารที่เพิ่มมากขึ้น รวมทั้งนำไปชำระหนี้เงินกู้ และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน
ดร.สมบัติ กิจจาลักษณ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BMCL ผู้ให้บริการรถไฟฟ้ามหานครสายเฉลิมรัชมงคล (ระยะแรกสายสีน้ำเงิน) ซึ่งเป็นโครงการรถไฟฟ้าใต้ดินสายแรกของประเทศไทย เปิดเผยว่า “ บริษัทฯ จะเสนอขายหุ้นสามัญให้ประชาชน จำนวนไม่เกิน 2,856.23 ล้านหุ้น แบ่งเป็นหุ้นสามัญเพิ่มทุน จำนวนไม่เกิน 1,315.81 ล้านหุ้น และหุ้นสามัญเดิม จำนวนไม่เกิน 1,540.42 ล้านหุ้น คิดเป็นร้อยละ 23.90 ของทุนจดทะเบียน 11,950 ล้านบาท รวมทั้งอาจมีการจัดสรรหุ้นส่วนเกินเป็นจำนวนไม่เกิน 300 ล้านหุ้น โดยมีบริษัทหลักทรัพย์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน ปัจจุบัน บริษัทฯ มีทุนจดทะเบียนที่ออกและเรียกชำระแล้วเท่ากับ 7,646.69 ล้านบาท ราคาพาร์ 1 บาท”
ทั้งนี้ บริษัทฯ จะนำเงินที่ได้จากการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้ประชาชน ไปใช้ในจัดซื้อรถไฟฟ้าเพิ่มเติม 5 ขบวน และลงทุนในอุปกรณ์ เช่น เครื่องออกเหรียญโดยสารอัตโนมัติ เครื่องออกบัตรโดยสาร และประตูอัตโนมัติ เพื่อรองรับจำนวนผู้โดยสารในอนาคต ชำระหนี้เงินกู้สถาบันการเงิน และส่วนที่เหลือเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน
สำหรับผลการดำเนินงานล่าสุดปี 2548 บริษัทฯ มีผลการดำเนินงานล่าสุด งวด 9 เดือน ปี 2548 รายได้รวม 695.67 ล้านบาท ผลการดำเนินงานย้อนหลังในปี 2547 และ ปี 2546 มีรายได้รวม 445.88 ล้านบาท และ 3.38 ล้านบาท ตามลำดับ ขณะที่จำนวนผู้โดยสารเฉลี่ยเพิ่มจากปี 2547 ที่151,225 คนต่อวันทำงาน เป็น 179,145 คนต่อวันทำงานในปี 2548
ดร.สมบัติ กล่าวถึงโครงสร้างผู้ถือหุ้นใหญ่ 4 กลุ่มแรกในปัจจุบัน ประกอบด้วย กลุ่ม ช.การช่าง ถือหุ้นร้อยละ 41.81 บริษัท ทางด่วนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ถือหุ้นร้อยละ 18.89 กลุ่มแนเชอรัล พาร์ค ถือหุ้นร้อยละ 18.75 กลุ่มสถาบันการเงิน ถือหุ้นร้อยละ 16.67 และภายหลังการขายหุ้นสามัญให้ประชาชนทั่วไปและการเพิ่มทุนจาก รฟม.แล้ว กลุ่มช.การช่าง จะเหลือสัดส่วนการถือหุ้นร้อยละ 24.85 บริษัท ทางด่วนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เหลือสัดส่วนการถือหุ้นร้อยละ 9.99 กลุ่มแนเชอรัลพาร์ค เหลือสัดส่วนการถือหุ้นร้อยละ 6.86 และกลุ่มสถาบันการเงิน จะเหลือสัดส่วนการถือหุ้นร้อยละ 6.90
บริษัทฯ มีนโยบายจ่ายเงินปันผลในอัตราประมาณร้อยละ 40 ของกำไรสุทธิหลังจากหักเงินสำรองต่างๆ ตามกฎหมาย และตามเงื่อนไขสัญญาเงินกู้ ซึ่งมีเงื่อนไขในการสำรองเงินเพื่อชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ยในรอบ 6 เดือนครบถ้วน ทั้งนี้ การจ่ายเงินปันผลยังขึ้นอยู่กับแผนลงทุน ความเพียงพอของกระแสเงินสด ความจำเป็นและความเหมาะสมอื่นๆ
นายมนตรี ศรไพศาล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน กล่าวเพิ่มเติมว่า “ บริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BMCL) มีความโดดเด่นในฐานะเป็นบริษัทผู้ให้บริการรถไฟฟ้ามหานครสายเฉลิมรัชมงคล (ระยะแรกสายสีน้ำเงิน) เส้นทางหัวลำโพง-ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์-บางซื่อ มีระยะทางประมาณ 20 กิโลเมตร มีสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน 18 สถานี ซึ่งเป็นโครงการรถไฟฟ้าใต้ดินสายแรกของประเทศไทย ดำเนินการภายใต้กรอบพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้ภาคเอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535 กล่าวคือ ภาครัฐเป็นผู้ลงทุนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางโยธาและเป็นผู้ให้สัมปทาน ในขณะที่ภาคเอกชนในฐานะผู้รับสัมปทานเป็นผู้ลงทุนในส่วนของอุปกรณ์งานระบบพร้อมทั้งระบบการเดินรถ และซ่อมบำรุงระบบรถไฟฟ้าเป็นเวลา 25 ปี ที่ยังความภาคภูมิใจมาสู่ประชาชนชาวไทย นับเป็นการวางรากฐานระบบขนส่งมวลชนที่สำคัญของประเทศ การนำบริษัทฯ เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เป็นการกระจายความภาคภูมิใจสู่ประชาชนทั่วไป จึงมีความเชื่อมั่นว่าจะเป็นบริษัทที่น่าลงทุนและน่าสนใจแก่นักลงทุนสถาบันและนักลงทุนทั่วไปเมื่อเปิดเสนอขาย “
ปัจจุบัน บริษัทฯ มีบริษัทย่อย 3 บริษัท ประกอบด้วย บริษัท เมโทร มอลล์ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด มีทุนจดทะเบียนชำระแล้ว 50 ล้านบาท บริษัท ไตรแอดส์ เน็ทเวิคส์ จำกัด มีทุนจดทะเบียนชำระแล้ว 25 ล้านบาท และบริษัท บีเอ็มซีแอล เน็ทเวิร์ค จำกัด มีทุนจดทะเบียนชำระแล้ว 105 ล้านบาท ซึ่งดำเนินธุรกิจให้เช่าพื้นที่ร้านค้า ให้บริการสื่อโฆษณาในสถานีและในรถไฟฟ้า และให้บริการสื่อสารโทรคมนาคมตามลำดับ