ทิศทางเงินเฟ้อปี’49 : เพิ่มขึ้นประมาณ 4.3%-5.3%

จากการที่กระทรวงคมนาคมประกาศอนุมัติให้ผู้ประกอบการรถโดยสารของบริษัท ขนส่ง จำกัด(บขส) ขึ้นราคาค่าโดยสารได้ทั่วประเทศในอัตรากิโลเมตรละ 3 สตางค์ ขณะเดียวกันรถเมล์ร่วมบริการขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก) ที่ให้บริการในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลจะขึ้นราคาค่าโดยสารอีก 1 บาท ทั้งรถเมล์ไม่ปรับอากาศและรถเมล์ปรับอากาศ โดยจะเริ่มใช้อัตราค่าโดยสารใหม่ตั้งแต่วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2549 เป็นต้นไป

การประกาศปรับขึ้นค่าโดยสารรถเมล์ทั่วประเทศครั้งนี้จะส่งผลกระทบต่อการปรับตัวของอัตราเงินเฟ้อในปี 2549 ทั้งนี้ เนื่องจากค่าใช้จ่ายเพื่อการเดินทางถือว่าเป็นค่าใช้จ่ายที่สำคัญมากเป็นอันดับที่สองของครัวเรือนในปัจจุบัน รองมาจากค่าใช้จ่ายเพื่ออาหารและเครื่องดื่มที่เป็นค่าใช้จ่ายสูงสุด

สำหรับในปี 2548 ที่ผ่านมา ประเทศไทยต้องเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นสูงมาก โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไป (Headline Inflation) เพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 4.5 ถือว่าเป็นอัตราการเพิ่มสูงสุดในรอบ 7 ปีที่ผ่านมา ซึ่งปัจจัยสำคัญที่ส่งผลทำให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นสูงมาก เป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของต้นทุนการผลิต (Cost Push Inflation) ที่มีผลกระทบผ่าน (Pass-through Effect) มาจากการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก

ขณะเดียวกัน ผลจากการที่การส่งออกของประเทศไทยในปี 2548 ขยายตัวมาก ยังมีผลทำให้มีความต้องการใช้วัตถุดิบเพื่อการผลิตเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลทำให้ราคาสินค้าเกษตรที่เป็นวัตถุดิบและสินค้าโภคภัณฑ์พื้นฐานปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย โดยราคาสินค้าเกษตรกรรมส่งออกมีราคาเพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 10.3 ขณะที่ราคาสินค้าอุตสาหกรรมส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.7 ซึ่งการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าส่งออกมีส่วนในการดึงให้ราคาสินค้าและบริการภายในประเทศสูงตามไปด้วย

เมื่อพิจารณาถึงปัจจัยที่ส่งผลทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไป (Headline Inflation) เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.5 และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core Inflation) เพิ่มขึ้นร้อยละ1.6 ในปี 2548 สรุปได้ ดังนี้

1.การเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมัน
การเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันดิบในปี 2548 ถือได้ว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งแรงกดดันต่อระดับราคาสินค้าและบริการในประเทศเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก(เบรนท์) มีราคาเฉลี่ยสูงถึงบาร์เรลละ 54.7 ดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากปี 2547 ถึงร้อยละ 43.1 ขณะเดียวกันราคาน้ำมันดีเซลหมุนเร็วในประเทศ ก็มีราคาเฉลี่ยตลอดปี 2548 สูงถึงลิตรละ 20.03 เพิ่มขึ้นจากปี 2547 ร้อยละ 37.3

แม้ว่าในปี 2548 ที่ผ่านมารัฐบาลจะยังใช้มาตรการตรึงราคาขายปลีกน้ำมันไว้ แต่เนื่องจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงมาก ซึ่งในที่สุดรัฐบาลก็ไม่สามารถที่จะแบกรับภาระการชดเชยราคาขายปลีกต่อไปได้ จึงต้องยกเลิกการอุดหนุนราคาขายปลีกไป ส่งผลทำให้ราคาขายปลีกน้ำมันต้องปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น

2.ปัญหาภาวะความแห้งแล้งที่ยาวนาน
ในปี 2548 ถือว่าเป็นปีที่มีความแห้งแล้งยาวนาน สร้างความเสียหายในหลายภาคของประเทศไทย จากรายงานของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย พบว่าในปี 2548 มีจังหวัดที่ได้รับความเสียหายจากสภาวะความแห้งแล้งมากถึง 63 จังหวัด ในช่วงระยะเวลายาวนานถึง 6 เดือน (เดือนมกราคมจนถึงเดือนมิถุนายน) ส่งผลทำให้พืชผลการเกษตรในหลายจังหวัดได้รับความเสียหายเนื่องจากขาดแคลนน้ำเพื่อการเพาะปลูก ทำให้ปริมาณผลผลิตเข้าสู่ตลาดน้อยกว่าปกติ ดังนั้นราคาสินค้าเกษตรกรรมและปศุสัตว์หลายชนิดจึงปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น

นอกจากนั้นในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2548 ภาคอุตสาหกรรมของไทยยังได้รับผลกระทบจากสภาวะความแห้งแล้งในภาคตะวันออก ส่งผลทำให้โรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่หลายแห่งต้องชะลอกำลังการผลิตลง เนื่องจากขาดแคลนน้ำ

3.ปัญหาสภาวะน้ำท่วมฉับพลัน
หลังจากที่ภาคการเกษตรกรรมต้องเผชิญกับปัญหาสภาวะความแห้งแล้งในช่วงต้นปี 2548 แต่ในช่วงครึ่งหลังของปีกลับเกิดสภาวะน้ำท่วมฉับพลันอย่างรุนแรงสร้างความเสียหายแก่ธุรกิจการท่องเที่ยวและการค้าปลีกในหลายจังหวัด โดยเกิดสภาวะน้ำท่วมฉับพลันตั้งแต่เดือนกรกฎาคมถึงเดือนตุลาคม ในภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ รวมพื้นที่มากกว่า 30 จังหวัด

ทั้งนี้เป็นผลมาจากอิทธิพลของ “พายุวีเซนเต” และ“พายุดอมเรย” ทำให้พืชผลการเกษตรถูกน้ำท่วมเสียหาย ขณะที่สถานประกอบการธุรกิจในภาคเหนือและภาคใต้ได้รับความเสียหายอย่างมากจากน้ำท่วมฉับพลัน ส่งผลทำให้สินค้าอุปโภคบริโภคหลายชนิดขาดแคลนและมีราคาเพิ่มสูงขึ้น

4.ปัญหาไข้หวัดนก
แม้ว่าการระบาดของไข้หวัดนกในปี 2548 จะไม่รุนแรงเท่ากับในปี 2547 แต่การระบาดของไข้หวัดนกยังมีผลทำให้ราคาของเนื้อสัตว์เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเนื้อไก่สด ไข่ไก่ ไข่เป็ด รวมไปถึงเนื้อสุกรชำแหละมีราคาเพิ่มสูงขึ้นมาก ทั้งนี้เนื่องจากปริมาณผลผลิตมีเข้าสู่ตลาดน้อยกว่าปกติ ประกอบกับผู้บริโภคหันไปบริโภคเนื้อสุกรแทนเนื้อไก่ในบางช่วง ส่งผลทำให้ราคาสุกรชำแหละปรับราคาเพิ่มสูงขึ้น

5.ปัญหาต้นทุนการผลิตสูงขึ้น
เนื่องจากวัตถุดิบสำหรับการผลิตสินค้าหลายชนิดมีการปรับราคาสูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งราคาวัตถุดิบที่เป็นผลผลิตต่อเนื่องจากน้ำมัน (By Product) มีราคาเพิ่มสูงขึ้นตามราคาน้ำมันดิบ ส่งผลทำให้ต้นทุนของสินค้าที่มีส่วนประกอบเป็นพลาสติกมีราคาเพิ่มสูงขึ้น

นอกจากนั้น ในปี 2548 สินค้าที่ต้องใช้วัตถุดิบจากยางพารามีราคาเพิ่มขึ้นสูงมาก ทั้งนี้เนื่องจากราคายางธรรมชาติปรับตัวสูงขึ้นตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก

6.การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำและการปรับเงินเดือนของข้าราชการ
ในปี 2548 รัฐบาลได้ประกาศขึ้นเงินเดือนให้กับข้าราชการหลายครั้ง โดยมีการขึ้นเงินเดือนครั้งแรกเมื่อเดือนเมษายน โดยให้เพิ่มเงินเดือนร้อยละ 3 และให้เพิ่มเงินเดือนอีก 2 ขั้นสำหรับข้าราชการระดับ 1-7 ส่วนข้าราชการระดับ 8-10 ให้เพิ่มเงินประจำตำแหน่ง ต่อมาเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2548 รัฐบาลได้ประกาศเพิ่มเงินเดือนให้ข้าราชการอีกร้อยละ 5 รวมทั้งข้าราชการบำนาญ ขณะเดียวกันก็ปรับเพิ่มเบี้ยยังชีพให้กับพนักงานราชการและลูกจ้างด้วย

นอกจากนั้นรัฐบาลยังได้ประกาศปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำให้กับแรงงาน ถึง 2 ครั้ง โดยครั้งแรกประกาศปรับเพิ่มเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2548 และครั้งที่สอง เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2548 ส่งผลทำให้ค่าจ้างขั้นต่ำในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลเพิ่มขึ้นจากวันละ 170 บาท มาเป็นวันละ 181 บาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.5 การประกาศขึ้นเงินเดือนข้าราชการและค่าจ้างขั้นต่ำมีส่วนในการทำให้อุปสงค์รวมของประเทศเพิ่มสูงขึ้น

7.การขึ้นค่าไฟฟ้า
ในปี 2548 ได้มีการประกาศขึ้นอัตราค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ หรือค่าเอฟที (Ft) ถึง 2 ครั้ง โดยครั้งแรกปรับเพิ่มขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ และครั้งที่สองปรับเพิ่มขึ้นในเดือนมิถุนายน ส่งผลทำให้ค่าไฟฟ้าของประชาชนทั่วไปเพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 1.9 และ ร้อยละ 1.5 ตามลำดับ
นอกจากนั้นสถานธุรกิจและโรงงานอุตสาหกรรมยังต้องจ่ายเงินค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้นตามการปรับอัตราค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ (Ft) ใหม่ ส่งผลทำให้ต้นทุนการผลิตสินค้าและบริการเพิ่มสูงขึ้นด้วย

8.การเพิ่มขึ้นของราคาที่ดิน
ในปี 2548 ที่ผ่านมาตลาดอสังหาริมทรัพย์มีการขยายตัวมาก เนื่องจากความต้องการที่อยู่อาศัยเพิ่มสูงขึ้น โดยมีการก่อสร้างบ้านพักอาศัยที่ปลูกด้วยตัวเองในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลเพิ่มสูงขึ้นจากปี 2547 ร้อยละ 28.3 ขณะที่การก่อสร้างแฟลตและอาคารชุดเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 245.0 ส่งผลทำให้มีความต้องการใช้ที่ดินและวัสดุก่อสร้างเพิ่มสูงขึ้น โดยราคาซื้อขายที่ดินมีการปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นประมาณร้อยละ10-20

จากปัจจัยที่ได้กล่าวมาแล้วส่งผลทำให้อัตราเงินเฟ้อของประเทศไทยเพิ่มสูงขึ้นในปี 2548 ที่ผ่านมา

ราคาน้ำมัน : แรงกดดันต่อเงินเฟ้อ

เมื่อพิจารณาถึงการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2548 จะพบได้ว่าราคาสินค้าและบริการส่วนใหญ่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นตามราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นมาก โดยดัชนีราคาหมวดพลังงาน เพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 17.7 ขณะที่ดัชนีราคาหมวดอาหารสด เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.0 หมวดอาหารและเครื่องดื่ม เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.0 หมวดพาหนะ บริการขนส่งและการสื่อสาร เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.3 เป็นต้น

อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ปี 2548
(ร้อยละ)
(Year on Year) 2545 2546 2547 2548
อัตราเงินเฟ้อทั่วไป (Headline Inflation) 0.7 1.8 2.8 4.5
หมวดพาหนะ บริการขนส่ง และสื่อสาร 1.3 3.1 4.2 8.3
หมวดอาหาร และเครื่องดื่ม 0.3 3.6 3.6 5.0
หมวดการตรวจรักษา และบริการส่วนบุคคล 1.0 0.9 1.5 3.3
หมวดยาสูบ และเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ 2.3 -0.6 -0.8 2.3
ที่มา : สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์
รวบรวมโดย : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

สำหรับหมวดสินค้าที่มีการปรับเพิ่มขึ้นมากในปี 2548 ตามลำดับ ดังนี้

? หมวดพาหนะ บริการขนส่ง และสื่อสาร

ดัชนีราคาเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.3 ทั้งนี้เป็นผลมาจากการที่ราคาน้ำมันขายปลีกปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นมาก โดยราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินออกเทน 95 เพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 25.3 ราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินออกเทน 91 เพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 26.4 ขณะที่ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว เพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 37.3 ทั้งนี้เนื่องจากรัฐบาลได้ยกเลิกการอุดหนุนราคาน้ำมันไป ทำให้ราคาขายปลีกน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นดังกล่าว

ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงเฉลี่ย ปี 2548

2546
2547
2548
เปลี่ยนแปลง
(%)
น้ำมันดิบ (ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อ บาร์เรล)
ดูไบ 26.63 33.69 49.32 46.4
เบรนท์ 28.58 38.22 54.70 43.1
น้ำมันสำเร็จรูป ตลาดสิงค์โปร์ (ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อ บาร์เรล)
เบนซินออกเทน 95 34.24 47.23 62.08 31.4
เบนซินออกเทน 92 33.20 46.24 61.06 32.1
ดีเซลหมุนเร็ว 32.06 45.69 64.03 40.1
ราคาขายปลีก ประเทศไทย (บาท ต่อ ลิตร)
เบนซินออกเทน 95 15.51 19.07 23.90 25.3
เบนซินออกเทน 91 14.51 18.47 23.10 26.4
ดีเซลหมุนเร็ว 13.43 14.59 20.03 37.3
น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 – 18.20 22.40 23.1
น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 – – 21.60 –
ที่มา : สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน
รวบรวมโดย : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคก็มีทางเลือกในการใช้น้ำมันราคาถูกด้วยการหันไปใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ ที่มีราคาถูกกว่าราคาน้ำมันเบนซินลิตรละ 1.50 บาท แต่เนื่องจากวัตถุดิบในการผลิตน้ำมันแก๊สโซฮอล์มากกว่าร้อยละ 90 ยังเป็นน้ำมันเบนซิน ดังนั้นราคาน้ำมันแก๊สโซฮอล์จึงยังคงอยู่ในระดับที่สูง เมื่อเปรียบเทียบกับราคาน้ำมันเบนซินในปี 2547 ที่ผ่านมา

ส่งผลทำให้มีการปรับเพิ่มค่าโดยสารรถประจำทางที่วิ่งระหว่างจังหวัด และรถประจำทางในกรุงเทพมหานครหลายครั้ง โดยมีการปรับค่าโดยสารรถเมล์เล็ก เพิ่มขึ้นเฉลี่ยทั้งปี ร้อยละ 34.4 ค่าโดยสารเรือ เพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 31.9 ค่าโดยสารรถตู้ เพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 21.9 ค่าโดยสารรถประจำทางปรับอากาศ เพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 15.1

ขณะเดียวกันค่าบริการสื่อสารก็มีการปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งค่าบริการใช้โทรศัพท์มือถือ เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.2 ค่าเครื่องรับโทรศัพท์มือถือ เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.7 ส่งผลทำให้ดัชนีค่ายานพาหนะ บริการขนส่ง และการสื่อสารเพิ่มสูงขึ้นดังกล่าว

? หมวดอาหารและเครื่องดื่ม

ในปี 2548 ดัชนีราคาเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.0 ทั้งนี้เป็นผลมาจากการที่อาหารสดและสินค้าอุปโภคบริโภคทั่วไปมีราคาเพิ่มสูงขึ้น โดยไก่สดชำแหละมีราคาสูงขึ้นถึงร้อยละ 36.6 เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2547 สุกรชำแหละเนื้อแดง เพิ่มขึ้นร้อยละ 21.1 มะนาว ขนาดเบอร์ 1-2 เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.1 ไข่เป็ด ขนาดกลาง เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.2 ขณะเดียวกันข้าวสารเจ้า 5% ก็มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.7 เป็นต้น

นอกจากนั้นอาหารทะเลสดก็มีการปรับราคาเพิ่มสูงขึ้นด้วย ทั้งนี้เนื่องจากราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น และอีกส่วนหนึ่งได้รับผลกระทบจากเหตุธรณีพิบัติภัยในภาคใต้ทำให้เรือประมงจำนวนมากได้รับความเสียหาย ส่งผลทำให้ราคาอาหารทะเลสดเพิ่มสูงขึ้น โดยหอยลายชนิดคละ มีราคาเพิ่มขึ้นร้อยละ 26.1 หอยแครงสดคละ เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 17.9 ปลาจาระเม็ดดำสด เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.1 และปลาหมึกกระดองเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.1 ปลาทูสด เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5 เป็นต้น

?หมวดตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล

ดัชนีราคาเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.3 แม้ว่าในปี 2548 รัฐบาลจะยังคงมี “โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค” อยู่ ซึ่งสามารถช่วยผ่อนคลายความเดือดร้อนของประชาชนได้ระดับหนึ่ง แต่เนื่องจากการให้บริการทางการแพทย์ต่างๆมีต้นทุนสูงขึ้น ส่งผลทำให้มีการปรับค่ารักษาพยาบาลเพิ่มสูงขึ้น โดยโรงพยาบาลเอกชนมีการเพิ่มค่าบริการทางการแพทย์และค่าตรวจรักษา ร้อยละ 29.7 ค่าห้องพักคนไข้แบบเตียงเดี่ยวพิเศษโรงพยาบาลเอกชน เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.8

ในส่วนของค่าบริการส่วนบุคคลอื่นๆก็มีการปรับราคาเพิ่มขึ้นด้วย เช่น แป้งทาผิว ราคาเพิ่มขึ้นร้อยละ 19.5 ค่าน้ำมันใส่ผม เพิ่มขึ้นร้อยละ 39.0 ค่าบริการตัดผมสุภาพบุรุษ เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.6 ค่ายาสีฟัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.2 ค่าแชมพูสระผม เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.9 เป็นต้น

?หมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์

ดัชนีราคาเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.3 ทั้งนี้เนื่องจากมีการประกาศขึ้นราคาจำหน่ายบุหรี่ในประเทศชนิดก้นกรองร้อยละ 12.0 และขึ้นราคาจำหน่ายสุราบรรจุขวดแบบกลมขนาด 750 ซีซี ร้อยละ 31.1 ส่งผลทำให้ราคาสินค้าในหมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้นดังกล่าว

?แนวโน้มเงินเฟ้อปี’49 : เพิ่มขึ้นระหว่าง 4.3%-5.3%

เมื่อพิจารณาถึงแนวโน้มของอัตราเงินเฟ้อในปี 2549 จะเห็นได้ว่าราคาสินค้าและบริการโดยทั่วไปยังมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น แม้ว่าในปี 2548 ราคาสินค้าและบริการหลายชนิดจะเพิ่มสูงขึ้นไปมากแล้วก็ตาม แต่ผลกระทบจากต้นทุนการผลิตสินค้าและบริการมีแนวโน้มสูงขึ้นตามการเปลี่ยนแปลงของราคาน้ำมันในตลาดโลก ยังเป็นปัจจัยที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น

นอกจากนั้น ในปี 2549 ต้นทุนทางการเงินอันได้แก่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ยังมีแนวโน้มที่จะปรับเพิ่มสูงขึ้นอีกเล็กน้อย ขณะเดียวกันในปี 2549 ผู้บริโภคทั่วไปอาจจะต้องเผชิญกับปัญหาภาระค่าครองชีพสูงขึ้นจากการเพิ่มขึ้นของค่าบริการสาธารณูปโภค เช่น ค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) ค่าบริการขนส่งสาธารณะ เป็นต้น

อย่างไรก็ตามถ้าหากพิจารณาถึงรายละเอียดในด้านค่าใช้จ่ายของครัวเรือนจะพบได้ว่าภาคครัวเรือนของไทยมีการใช้จ่ายเงินค่ายานพาหนะและบริการสื่อสารเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยจากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติในปี 2524 พบว่าครัวเรือนมีการจ่ายเงินเพื่อค่ายานพาหนะและค่าบริการสื่อสารคิดเป็นร้อยละ 7.3 ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด

ต่อมาในปี 2547 ครัวเรือนมีการใช้จ่ายเงินเพื่อค่ายานพาหนะและค่าบริการสื่อสารเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 21.7 ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด แสดงให้เห็นว่าครัวเรือนคนไทยมีการใช้จ่ายเงินเพื่อการเดินทางและการติดต่อสื่อสารเพิ่มมากขึ้น โดยจะสังเกตได้ว่าปัจจุบันคนในชนบทส่วนใหญ่มีโทรศัพท์มือถือใช้เป็นจำนวนมาก

ขณะเดียวกันก็มีการจ่ายเงินเป็นค่ายานพาหนะเพิ่มสูงขึ้นด้วย โดยการใช้จ่ายของครัวเรือนเพื่อค่ายานพาหนะและค่าบริการสื่อสารมีสัดส่วนมากเป็นอันดับที่สอง รองจากค่าใช้จ่ายเงินเพื่อการซื้ออาหารและเครื่องดื่มในชีวิตประจำวันทีเดียว
ค่าใช้จ่ายของครัวเรือน ปี 2547*
สัดส่วน : ร้อยละ
อันดับ ประเภทค่าใช้จ่าย 2524 2543 2545 2547
1 ค่าอาหารและเครื่องดื่ม 44.1 32.2 33.6 30.7
2 ค่ายานพาหนะและค่าบริการสื่อสาร 7.3 14.9 17.7 21.7
3 ค่าที่อยู่อาศัย 20.7 22.2 21.1 20.4
4 ค่าเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า 7.3 3.8 3.3 3.1
5 ค่าการศึกษา 1.3 2.5 2.4 2.2
6
ค่ารักษาพยาบาล 3.3 2.7 2.3 2.2
7 ค่าการบันเทิงและการอ่าน 2.3 1.8 2.0 1.9
8 ค่าเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ 1.2 2.0 1.3 1.7
9 ค่ายาสูบ 2.4 1.2 1.0 0.9
10 ค่าใช้จ่ายอื่นๆ 10.2 16.7 15.5 15.2
รวม 100 100 100 100
ที่มา : สำนักงานสถิติแห่งชาติ *ข้อมูลล่าสุด (มีการสำรวจทุกๆ 3 ปี)
รวบรวมโดย : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

การเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายด้านยานพาหนะและการสื่อสารของครัวเรือน เป็นภาพสะท้อนที่แสดงให้เห็นว่า ปัจจุบันผู้บริโภคมีภาระในการจ่ายเงินค่าน้ำมันและค่าโทรศัพท์ในชีวิตประจำวันเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นราคาน้ำมันจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพของคนไทยเพิ่มขึ้น

สำหรับปัจจัยสำคัญที่กำหนดอัตราเงินเฟ้อปี 2549 ก็คือราคาน้ำมัน ซึ่งคาดว่าราคาน้ำมันจะยังคงอยู่ในระดับสูง แม้ว่าอัตราการเพิ่มของราคาน้ำมันจะไม่มากเท่ากับในปี 2548 ที่ผ่านมา แต่ราคาจะยังคงอยู่ในระดับที่สูง เพราะความต้องการใช้น้ำมันยังมีอยู่มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูง เช่น จีน อินเดีย หรือแม้กระทั่งในสหรัฐอเมริกาที่มีแนวโน้มว่าเศรษฐกิจจะชะลอตัว แต่คนอเมริกันยังเคยชินกับการใช้น้ำมันอย่างฟุ่มเฟือย ดังนั้นการใช้น้ำมันในสหรัฐอเมริกาจึงยังจะไม่ลดลงมาก แม้เศรษฐกิจจะชะลอตัวลงก็ตาม

ขณะเดียวกันในด้านอุปทานของน้ำมันดิบในตลาดโลก คาดการณ์ว่าราคาน้ำมันดิบยังได้รับผลกระทบจากปัจจัยเสี่ยงทางการเมืองในประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ของโลก ทั้งในตะวันออกกลาง แอฟริกา และอเมริกากลาง

ดังนั้นแนวโน้มของอุปทานน้ำมันดิบในตลาดโลกยังคงเผชิญกับภาวะความผันผวนอีกต่อไป อันจะส่งผลทำให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับตัวไปในทิศทางที่สูงขึ้นได้อีกในปี 2549

ด้วยเหตุผลดังกล่าว จึงคาดว่าราคาน้ำมันดิบ(เบรนท์)ในปี 2549 น่าจะทรงอยู่ในระดับสูงประมาณบาร์เรลละ 60-70 ดอลลาร์สหรัฐฯ
โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าถ้าราคาน้ำมันดิบ(เบรนท์) เฉลี่ยในปี 2549 อยู่ที่ประมาณบาร์เรลละ 60 ดอลลาร์สหรัฐฯ ก็จะทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไป (Headline Inflation) ของประเทศไทยในปี 2549 อยู่ที่ระดับร้อยละ 4.3

แต่ถ้าหากราคาน้ำมันดิบ(เบรนท์) เฉลี่ยเพิ่มสูงขึ้นถึงบาร์เรลละ 70 ดอลลาร์สหรัฐฯ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของประเทศไทยในปี 2549 ก็อาจจะเพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 5.3

ประมาณการณ์ เงินเฟ้อ ปี 2549

อัตราเงินเฟ้อ 4.3% 4.8% 5.3%
ข้อสมมุติฐาน
-ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เฉลี่ย (ดอลลาร์ฯ/บาร์เรล) 60 65 70
การเปลี่ยนแปลงจากค่าเฉลี่ยปี 2548 10.1% 19.3% 28.4%
-ราคาของน้ำมันดีเซลเฉลี่ย (บาท/ลิตร) 23.9 25.4 26.9
การเปลี่ยนแปลงจากค่าเฉลี่ยปี 2548 19.4% 27.1% 34.4%
ประมาณการณ์โดย : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

สรุป

คาดว่าในปี 2549 อัตราเงินเฟ้อของประเทศไทยจะอยู่ระหว่างร้อยละ4.3-5.3 ทั้งนี้เนื่องจากน้ำมันดิบในตลาดโลกที่เป็นแรงกดดันสำคัญยังมีราคาทรงตัวในระดับที่สูงต่อไป แม้ว่าเศรษฐกิจโลกจะมีแนวโน้มชะลอตัวลงก็ตาม

ขณะที่ราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศก็ยังทรงตัวต่อจากปี 2548 เพราะยังมีภาระการเก็บเงินเข้าชดเชยกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง นอกจากนั้น ถ้าในปี 2549 เกิดปัญหาภัยแล้ง ปัญหาการขาดแคลนน้ำ ปัญหาโรคระบาดในสัตว์ และมีการขึ้นค่าบริการสาธารณะ ไฟฟ้า และค่ารถเมล์ จะส่งผลกระทบต่อระดับราคาสินค้าและบริการเพิ่มสูงขึ้นอีก