อัตราดอกเบี้ย Fed Funds คงจะปรับขึ้นมาที่ 4.50% ในการประชุมรอบสุดท้ายของกรีนสแปน

ในการประชุมรอบแรกของปีวันที่ 31 มกราคม 2549 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (Federal Open Market Committee: FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด คงจะมีมติให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย Fed Funds อีก 0.25% จาก 4.25% มาที่ 4.50% ซึ่งจะเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ต่อครั้งติดต่อกันเป็นรอบที่ 14 ของเฟด อีกทั้ง การประชุมรอบที่จะถึงนี้ ยังเป็นเหตุการณ์ที่สำคัญ เนื่องจากจะเป็นการประชุมรอบสุดท้ายของนายอลัน กรีนสแปนในฐานะประธานเฟด หลังจากที่ดำรงตำแหน่งมายาวนานถึง 18 ปี โดยที่คาดว่าวุฒิสภาสหรัฐฯจะมีการรับรองฐานะนายเบน เบอร์นันเก้ ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานเฟดคนต่อไปตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์เป็นต้นไปด้วย นอกจากนี้ ตลาดยังมีการคาดการณ์กันอย่างกว้างขวางว่าวัฏจักรขาขึ้นของอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯที่เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2547 จนถึงปัจจุบัน อาจจะใกล้ยุติลงในระยะเวลาไม่ไกลต่อจากนี้ หลังจากที่อัตราดอกเบี้ย Fed Funds ได้ขยับเข้าสู่ระดับที่มีความเป็นกลาง (neutral) มากขึ้น ซึ่งคำแถลงของผู้ว่าการเฟดหลายท่านในช่วงหลังๆ ก็มีทิศทางที่ค่อนข้างสอดคล้องไปกับการคาดการณ์ดังกล่าว ดังนั้น แถลงการณ์หลังการประชุมของเฟด ในรอบนี้ จึงมีความสำคัญและเป็นสิ่งที่ตลาดรอคอยอย่างมาก เนื่องจากจะเป็นสิ่งที่กำหนดแนวทางการดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยของเฟดในระยะถัดไป ซึ่งความคิดเห็นของตลาดในปัจจุบันยังคงมีทิศทางที่แตกต่างกันอยู่

ทั้งนี้ เหตุผลที่สนับสนุนการคาดการณ์ว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย Fed Funds มาที่ 4.50% ในการประชุมรอบที่จะถึง สามารถสรุปได้ดังนี้:-

? เครื่องชี้เศรษฐกิจโดยรวมยังคงบ่งชี้ถึงการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจสหรัฐฯ

แม้ว่าล่าสุดตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือจีดีพี ของสหรัฐฯ (เบื้องต้น) จะขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงมากกว่าคาดในไตรมาส 4/48 โดยขยายตัวเพียง 1.1% (q-o-q annualized) น้อยกว่าที่ตลาดคาดว่าจะขยายตัวประมาณ 2.8% และต่ำกว่าอัตราการขยายตัวที่ 4.1% ในไตรมาส 3/48 แต่เมื่อพิจารณาตัวเลขทั้งปี 2548 อัตราการขยายตัวของจีดีพีที่ 3.5% (y-o-y) ก็ยังนับว่าเป็นระดับที่ค่อนข้างแข็งแกร่ง อีกทั้ง ยังคงมีโอกาสค่อนข้างมากที่จีดีพีไตรมาส 4/48 จะได้รับการทบทวนให้ปรับเพิ่มขึ้นในการประกาศรอบที่ 2 และ 3 ในเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคม ตามลำดับ หากพิจารณาถึงความเชื่อมั่นทั้งของผู้บริโภคและภาคธุรกิจสหรัฐฯที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น ขณะที่เครื่องชี้เศรษฐกิจอื่นๆ ก็ยังคงแสดงถึงการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ไม่ว่าจะเป็น ตลาดแรงงานที่ทั้งปี 2548 มีการจ้างงานเพิ่มขึ้นรวม 2.019 ล้านตำแหน่ง ใกล้เคียงกับที่เพิ่มขึ้น 2.194 ล้านตำแหน่งในปี 2547, ดัชนีภาคการผลิตและภาคการบริการของสถาบันจัดการด้านอุปทาน ISM ที่ยังคงอยู่เหนือระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ถึงภาวะขยายตัวมาอย่างต่อเนื่อง และยอดคำสั่งซื้อสินค้าคงทน (Durable Good Orders) ที่ขยายตัว 1.3% ในเดือนธันวาคม (m-o-m) มากกว่าที่ตลาดคาดว่าจะขยายตัวเพียง 1.0% เป็นต้น นอกจากนี้ แม้ว่าอาจจะเริ่มมีสัญญาณการชะลอตัวลงในภาคอสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐฯ ดังจะเห็นได้จาก ยอดการเริ่มสร้างบ้านใหม่ (Housing Starts) ที่หดตัวลง 8.9% ในเดือนธันวาคม 2548 (m-o-m) จากที่ขยายตัว 3.4% ในเดือนพฤศจิกายน และยอดขายบ้านมือสอง (Existing Home Sales) ที่หดตัวลง 5.7% (m-o-m) ในเดือนธันวาคม เทียบกับที่หดตัวลง 1.3% ในเดือนก่อน แต่การเพิ่มขึ้นมากกว่าคาดของยอดขายบ้านใหม่ (New Home Sales) ในเดือนธันวาคมซึ่งบ่งชี้ว่าภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อาจจะไม่ถดถอยลงอย่างรุนแรง และการขยายตัวของตลาดแรงงานซึ่งจะเป็นปัจจัยหนุนแนวโน้มการใช้จ่ายผู้บริโภคในระยะต่อไป ตลอดจน การใช้จ่ายของภาครัฐเพื่อฟื้นฟูความเสียหายที่เกิดขึ้นจากพายุเฮอริเคนในช่วงปลายไตรมาส 3/48 ก็คาดว่าจะช่วยให้เศรษฐกิจสหรัฐฯสามารถรักษาโมเมนตัมการขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป รวมทั้งสามารถรองรับระดับอัตราดอกเบี้ยที่มีความเป็นกลางมากขึ้นได้ในปี 2549

? แรงกดดันทางด้านเงินเฟ้อของสหรัฐฯเพิ่มสูงขึ้น แต่ยังคงอยู่ในระดับที่จัดการได้

จากตัวเลขล่าสุดในไตรมาส 4/48 อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานรายไตรมาสที่วัดจากดัชนีราคาการใช้จ่ายผู้บริโภคส่วนบุคคล (Core Personal Consumption Expenditure Inflation) เพิ่มขึ้นมากกว่าคาดมาอยู่ที่ 2.2% (q-o-q annualized) จาก 1.4% ในไตรมาส 3/48 สะท้อนการส่งผ่านต้นทุนราคาของผู้ผลิตที่สูงขึ้นมายังราคาสินค้าทั่วไปที่เริ่มจะมีความชัดเจนมากขึ้นตามลำดับ ขณะเดียวกัน เครื่องชี้ภาวะเงินเฟ้ออื่นๆ ของสหรัฐฯ ก็ให้ภาพที่ไม่แตกต่างกันนัก โดยแม้ว่าการเพิ่มสูงขึ้นของราคาน้ำมันจะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไป (Headline Inflation) ทั้งทางด้านผู้ผลิตและผู้บริโภคของสหรัฐฯ ยังคงมีระดับที่ค่อนข้างสูงในเดือนธันวาคม 2548 แต่ระดับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core Inflation) ซึ่งไม่รวมราคาอาหารและพลังงาน ก็ยังคงอยู่ภายในกรอบที่ดูแลได้ โดย
• อัตราเงินเฟ้อทั่วไปทางด้านผู้ผลิต (Headline PPI Inflation) เดือนธันวาคม อยู่ที่ 5.4% (y-o-y) เพิ่มขึ้นจาก 4.4% ในเดือนพฤศจิกายน ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังคงไม่เปลี่ยนแปลงที่ 1.7%
• อัตราเงินเฟ้อทั่วไปทางด้านผู้บริโภค (Headline CPI Inflation) เดือนธันวาคม อยู่ที่ 3.4% (y-o-y) ใกล้เคียงกับ 3.5% ในเดือนพฤศจิกายน ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน อยู่ที่ 2.2% เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 2.1% ในเดือนก่อน

สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานรายเดือนที่วัดจากดัชนีราคาการใช้จ่ายผู้บริโภคส่วนบุคคล (Core PCE Inflation) ซึ่งเป็นตัวแปรที่เฟดมักจะใช้ประกอบการพิจารณานโยบายอัตราดอกเบี้ยนั้น ล่าสุดยังคงเป็นตัวเลขในเดือนพฤศจิกายน (ตัวเลขสำหรับเดือนธันวาคม มีกำหนดจะเปิดเผยในวันที่ 30 มกราคม) โดยอยู่ที่ระดับ 1.8% (y-o-y) หรือยังคงอยู่ภายในกรอบ 1.5-2.0% ที่เฟดยังไม่ต้องวิตกต่อภาวะเงินเฟ้อมากนัก

? อัตราดอกเบี้ย Fed Funds ล่วงหน้า สะท้อนการคาดการณ์การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.25% ของเฟดในการประชุมรอบที่จะถึงนี้ไปแล้วอย่างเต็มที่

อัตราดอกเบี้ย Fed Funds ล่วงหน้า (Fed Funds Futures) ได้บ่งชี้ว่า ตลาดคาดการณ์สำหรับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดมาที่ระดับ 4.50% ในการประชุมวันที่ 31 มกราคมไปแล้ว ในขณะที่ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดในการประชุมรอบถัดไปวันที่ 28 มีนาคม 2549 นั้น ตลาดยังมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันอยู่ โดยผลสำรวจของ Bloomberg ล่าสุดระบุว่า การคาดการณ์สำหรับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.25% ของเฟดในการประชุมเดือนมีนาคมมีระดับความเป็นไปได้อยู่ที่ประมาณ 50% ขณะที่ค่ากลางความคิดเห็นของนักวิเคราะห์ที่เผยแพร่ใน Blue Chip Financial Forecasts วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2549 ระบุว่า มีความเป็นไปได้ประมาณ 70% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกในการประชุมเดือนมีนาคม

โดยสรุป จากเครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจโดยรวมซึ่งยังคงแสดงถึงการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจสหรัฐฯ แม้ว่าจะต้องเผชิญกับภัยพิบัติจากพายุเฮอริเคนในช่วงปลายไตรมาส 3/48 รวมทั้ง แรงกดดันทางด้านเงินเฟ้อที่ยังคงอยู่ในกรอบที่ดูแลได้ ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า เฟด คงจะมีมติให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย Fed Funds อีก 0.25% จาก 4.25% มาที่ 4.50% ในการประชุมรอบแรกของปีวันที่ 31 มกราคม 2549 โดยที่ตลาดก็ได้มีการปรับตัวตอบรับการคาดการณ์ดังกล่าวไปแล้วด้วยความเป็นไปได้ที่ระดับใกล้เคียง 100%
สำหรับแนวโน้มนโยบายอัตราดอกเบี้ยของเฟดในระยะถัดไปซึ่งตลาดยังมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันอยู่นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเห็นว่า ปัจจัยที่มีอิทธิพลซึ่งยังคงต้องติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป คงจะได้แก่ แถลงการณ์หลังการประชุมรอบวันที่ 31 มกราคมของเฟด, แถลงการณ์รอบครึ่งปีต่อหน้าวุฒิสภาเป็นครั้งแรกของนายเบอร์นันเก้เกี่ยวกับประมาณการแนวโน้มอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจและเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ซึ่งตามกำหนดจะมีขึ้นในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ตลอดจน การปรับตัวของตัวเลขเศรษฐกิจหลักโดยเฉพาะตัวเลขที่เกี่ยวข้องกับการใช้จ่ายของผู้บริโภคสหรัฐฯ ทั้งการจ้างงาน ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า แม้จะเริ่มเห็นสัญญาณการชะลอตัวลงในภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อแนวโน้มการใช้จ่ายของผู้บริโภคสหรัฐฯในระยะข้างหน้า แต่การขยายตัวของตลาดแรงงาน และการคาดการณ์ว่าราคาน้ำมันอาจจะปรับลดลงหลังผ่านพ้นฤดูหนาว รวมทั้งการใช้จ่ายของภาครัฐเพื่อฟื้นฟูความเสียหายจากพายุเฮอริเคน ก็คาดว่าจะยังคงเป็นปัจจัยบวกที่สนับสนุนให้เศรษฐกิจสหรัฐฯมีอัตราการขยายตัวที่ชะลอลงอย่างค่อยเป็นค่อยไปในปี 2549 ได้ (Soft Landing) และเมื่อผนวกกับ แรงกดดันทางด้านเงินเฟ้อที่แม้จะเพิ่มขึ้น (จากภาวะที่ตึงตัวมากขึ้นของตลาดแรงงานและการเพิ่มขึ้นของอัตราการใช้กำลังการผลิตในภาคอุตสาหกรรม ทดแทนราคาน้ำมันที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นในอัตราที่ถดถอยลง) แต่ก็คาดว่าจะยังคงอยู่ภายในกรอบที่เฟดจัดการได้โดยไม่เกิดปัญหาเงินเฟ้อ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงยังคงประมาณการเดิมว่าอัตราดอกเบี้ย Fed Funds ของสหรัฐฯ อาจจะขยับขึ้นไปอยู่ที่ระดับสูงสุดของวัฏจักรขาขึ้นรอบนี้ที่ 4.50-5.00% ภายในครึ่งแรกของปี 2549 โดยมีความเป็นไปได้ที่ค่อนข้างสูงที่นายเบอร์นันเก้อาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย Fed Funds อีก 0.25% มาที่ 4.75% ในการประชุมรอบถัดไปวันที่ 28 มีนาคม 2549

ในส่วนผลกระทบจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดในการประชุมรอบที่จะถึงนี้นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า เงินดอลลาร์ฯคงจะไม่ได้รับแรงหนุนจากปัจจัยนี้มากเท่ากับในอดีต เพราะวัฏจักรขาขึ้นของอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯมีแนวโน้มจะยุติลงในเวลาไม่นานต่อจากนี้แล้ว โดยตลาดคงจะกลับมาให้น้ำหนักมากขึ้นต่อแนวโน้มการปรับเพิ่มค่าเงินหยวนของจีน และปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดขนาดใหญ่ของสหรัฐฯ ซึ่งคาดว่าจะมีผลกดดันความเคลื่อนไหวของค่าเงินดอลลาร์ฯในระยะกลางถึงระยะยาวต่อไป อย่างไรก็ตาม แนวโน้มการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ฯดังกล่าวอาจจะถูกจำกัดจากภาพรวมเศรษฐกิจสหรัฐฯที่ยังคงมีความเข้มแข็งมากกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับเศรษฐกิจหลักอื่นๆ ทั้งญี่ปุ่นและยูโรโซน อีกทั้ง หากพิจารณาถึงความเป็นไปได้ที่ธนาคารกลางในภูมิภาคเอเชีย โดยเฉพาะธนาคารกลางญี่ปุ่น อาจเข้าแทรกแซงค่าเงินเพื่อปกป้องภาคการส่งออกของตนในกรณีที่เงินดอลลาร์ฯปรับตัวอ่อนค่าลงเร็วเกินไปด้วย
สำหรับทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเห็นว่า วัฏจักรขาขึ้นของอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯที่ใกล้จะสิ้นสุดลงในไม่ช้า น่าจะช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับการดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เนื่องจากจะทำให้ธปท.ไม่ต้องวิตกต่อประเด็นค่าผลต่างอัตราดอกเบี้ยระหว่างไทยและสหรัฐฯมากนัก อย่างไรก็ตาม จากความมุ่งหวังของธปท.ที่จะเพิ่มระดับอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงให้กลับมามีค่าเป็นบวกเพื่อกระตุ้นการออมและดึงดูดเงินทุนไหลเข้าประเทศสุทธิ ทำให้คาดว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายของทางการไทย ตลอดจนอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินให้กู้ยืมของธนาคารพาณิชย์น่าจะยังมีทิศทางขาขึ้นต่อไป โดยเชื่อว่า ธปท.คงจะสามารถบรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้ภายในครึ่งแรกของปี 2549 นี้ตามที่ตั้งใจไว้