ตลาดถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศ นับเป็น 1 ในตลาดท่องเที่ยวเฉพาะกลุ่ม (niche market) ที่มีบทบาทสำคัญต่อการดึงรายได้เข้าประเทศ เนื่องจากเป็นตลาดท่องเที่ยวที่มีกำลังซื้อสูง และยังมีลู่ทางขยายตัวได้อีกมาก หากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนร่วมมือกันเร่งแก้ไขอุปสรรคต่างๆ และส่งเสริมด้านการตลาดอย่างจริงจังและต่อเนื่อง โดยปัจจุบันการเข้ามาถ่ายทำภาพยนตร์ประเภทต่างๆในประเทศไทยของกองถ่ายภาพยนตร์ต่างประเทศสามารถสร้างรายได้เข้าประเทศคิดเป็นมูลค่าสูงถึง 2,000 ล้านบาท เทียบกับในปี 2543 ที่มีมูลค่าเพียง 450 ล้านบาท
นอกจากนี้ การส่งเสริมตลาดถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศโดยเฉพาะภาพยนตร์เรื่องยาวฟอร์มใหญ่ที่ใช้เงินลงทุนจำนวนมากและใช้ดาราที่มีชื่อเสียงแสดงนำ ไม่เพียงแต่จะดึงรายได้จำนวนมากเข้าประเทศเท่านั้น ทว่ายังส่งผลดีต่อการดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกเข้ามาเที่ยวประเทศไทยด้วย โดยการสร้างจุดขายทางการท่องเที่ยวไทยเชื่อมโยงจากกระแสความนิยมภาพยนตร์ ให้ผู้ชมภาพยนตร์ทั่วโลกรู้จักและสนใจเข้ามาเที่ยวประเทศไทยมากขึ้น ดังเช่นภาพยนตร์เดอะบีชที่สามารถสร้างกระแสความสนใจให้กับอ่าวมาหยา เกาะพีพี จังหวัดกระบี่ได้อย่างกว้างขวางหลังจากที่ภาพยนตร์เรื่องเดอะบีชออกฉายไปทั่วโลก
เมื่อพิจารณาสถิติการเข้ามาถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศประเภทต่างๆในประเทศไทยทั้งภาพยนตร์สารคดี ภาพยนตร์โฆษณา ภาพยนตร์เรื่องยาว ภาพยนตร์โทรทัศน์ และมิวสิควีดิโอ รวมทั้งงบประมาณค่าใช้จ่ายระหว่างที่กองถ่ายภาพยนตร์ต่างประเทศทำงานอยู่ในประเทศไทย ซึ่งรวบรวมโดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา พบว่า ในปี 2544 ตลาดกองถ่ายภาพยนตร์ต่างประเทศขยายตัวอย่างรวดเร็ว โดยมีการเข้ามาถ่ายทำภาพยนตร์ประเภทต่างๆในประเทศไทยรวมทั้งสิ้นจำนวน 441 เรื่องและสร้างรายได้เข้าประเทศมูลค่า 1,277 ล้านบาทเทียบกับปี 2543 ที่มีการเข้ามาถ่ายทำเพียง 402 เรื่องและสร้างรายได้ให้ประเทศไทย 450 ล้านบาท
การขยายตัวแบบก้าวกระโดดของตลาดถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศดังกล่าวนั้น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการที่ภาครัฐเริ่มให้ความสำคัญและส่งเสริมการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทยมากขึ้น ประกอบกับในภาคเอกชนเองก็เริ่มมีผู้ประกอบการบางรายขยายธุรกิจบริการกองถ่ายภาพยนตร์ต่างประเทศ ซึ่งนับว่ามีส่วนสำคัญในการนำเสนอทำเลที่เหมาะสมถ่ายทำภาพยนตร์ในประเทศไทย และทำหน้าที่ประสานงานอำนวยความสะดวกในด้านต่างๆแก่กองถ่ายภาพยนตร์ต่างประเทศ ตั้งแต่การเลือกหาทำเล การขอนุญาตเข้ามาถ่ายทำในประเทศไทย และการบริการในขั้นตอนก่อนการถ่ายทำ เช่น การเตรียมสถานที่ การเตรียมอุปกรณ์ใช้ถ่ายทำ การจัดหาบุคลากรด้านต่างๆ ทั้งนักแสดง ทีมงานด้านเสื้อผ้า การแต่งหน้า และการทำผมให้นักแสดง เป็นต้น
นับตั้งแต่ปี 2544 เป็นต้นมา ตลาดถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทยจึงมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง ยกเว้นในบางปีที่การท่องเที่ยวไทยได้รับผลกระทบจากปัจจัยที่อยู่นอกเหนือการควบคุม อาทิ การแพร่ระบาดของโรคซาร์ส และสึนามิ โดยตลาดถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศสามารถสร้างรายได้เข้าประเทศเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 เป็น 1,401 ล้านบาทในปี 2545 จากการเข้ามาถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศประเภทต่างๆในประเทศไทยรวมทั้งสิ้น 481 เรื่อง
ในปี 2546 ตลาดถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศมีแนวโน้มถดถอยลง เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคซาร์ส ทำให้สามารถดึงรายได้เข้าประเทศเพียง 1,224 ล้านบาทลดลงร้อยละ 13 จากปี 2545 โดยมีการเข้ามาถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศรวมทั้งสิ้นจำนวน 388 เรื่อง ซึ่งก็ลดลงไปจากปี 2545 ถึงร้อยละ 19
สำหรับในปี 2547 ซึ่งเกิดเหตุการณ์สึนามิถล่มชายฝั่งทะเลอันดามันของไทยในช่วงปลายปีนั้น ส่งผลให้รายได้จากการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในปี 2547 มีมูลค่า 1,128 ล้านบาทลดลงร้อยละ 8 จากปี 2546 โดยมีการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศประเภทต่างๆในประเทศไทยจำนวน 441 เรื่อง
เหตุการณ์สึนามิยังคงส่งผลกระทบต่อตลาดถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศต่อเนื่องมาในช่วงไตรมาสแรกของปี 2548 แต่จากความพยายามของหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนในการเร่งทำความเข้าใจและให้ข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับความเสียหายของแหล่งท่องเที่ยวในแถบอันดามัน โดยเฉพาะภูเก็ต กระบี่ และพังงา ประกอบกับการที่ประเทศไทยเข้าร่วมงาน AFCI Location Trade Show 2005 ที่สหรัฐอเมริกา เมื่อเดือนเมษายน 2548 ของสมาคมกรรมการภาพยนตร์นานาชาติ Association of Film Commission International (AFCI ) ที่ประเทศไทยเป็นสมาชิกอยู่ โดยประเทศไทยได้นำเสนอทำเลชายหาดทะเลฝั่งอันดามันที่ได้รับการฟื้นฟูหลังเหตุการณ์สึนามิให้สมาชิก AFCI เลือกเข้ามาถ่ายทำภาพยนตร์ประเภทต่างๆในไทย เพื่อช่วยให้ชาวบ้านในพื้นที่มีรายได้หลังจากที่นักท่องเที่ยวลดลงหลังสึนามิ ซึ่งหลายประเทศก็ยินดีช่วยประเทศไทย ส่งผลให้โดยรวมตลอดทั้งปี 2548 ประเทศไทยมีรายได้จากการเข้ามาถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทยรวมทั้งสิ้น 1,138 ล้านบาทเพิ่มขึ้นร้อยละ 1 จากปี 2547 โดยมีการเข้ามาถ่ายทำภาพยนตร์ประเภทต่างๆรวมทั้งสิ้น 497 เรื่องเพิ่มขึ้นร้อยละ 13 จากปี 2547
เมื่อพิจารณาจากโครงสร้างตลาดการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศของไทยในปี 2548 แล้วพบว่า ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่เข้ามาถ่ายทำภาพยนตร์ในประเทศไทยมากเป็นอันดับ 1 คือ 161 เรื่อง รองลงมา คือ ยุโรป 105 เรื่อง อินเดีย 45 เรื่อง สหรัฐอเมริกา และฮ่องกงจำนวน 23 เรื่องเท่ากัน
ภาพยนตร์ต่างประเทศที่เข้ามาถ่ายทำในประเทศไทยเมื่อปี 2548 ส่วนใหญ่ คือ 248 เรื่องเป็นภาพยนตร์ประเภทสารคดี รองลงมา คือ ภาพยนตร์โฆษณาจำนวน 188 เรื่อง มิวสิควีดิโอ 27 เรื่อง ภาพยนตร์เรื่องยาว 21 เรื่อง และภาพยนตร์โทรทัศน์ 13 เรื่อง
สำหรับจังหวัดที่ได้รับความนิยมมากอันดับ 1 จากกองถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศที่เข้ามาถ่ายทำในประเทศไทย คือ กรุงเทพฯ รองลงมา คือ ชลบุรี นอกจากนี้ยังมีภูเก็ต เชียงใหม่ กระบี่ กาญจนบุรี พังงา พระนครศรีอยุธยา ประจวบคีรีขันธ์ และราชบุรี ตามลำดับ
ปัจจัยสำคัญที่เกื้อหนุนให้ประเทศไทยมีศักยภาพในการดึงดูดกองถ่ายภาพยนตร์ประเภทต่างๆจากต่างประเทศเข้ามาถ่ายทำในประเทศไทย โดยเฉพาะภาพยนตร์เรื่องยาวฟอร์มใหญ่ที่เข้ามาถ่ายทำในประเทศไทยมากขึ้น มีดังนี้
– ความพร้อมในด้านแหล่งท่องเที่ยวที่มีความหลากหลาย ทำให้ประเทศไทยมีศักยภาพที่โดดเด่นเหนือประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในด้านสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์
– ความพร้อมในด้านสาธารณูปโภคต่างๆ และบุคลากรในอุตสาหกรรมภาพยนตร์
– ค่าใช้จ่ายในด้านต่างๆที่ถูกกว่าในต่างประเทศมาก โดยเฉพาะค่าเช่าโรงถ่ายภาพยนตร์ ค่าจ้างแรงงาน และค่าครองชีพ
อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังเสียเปรียบประเทศเพื่อนบ้านต่างๆรวมทั้งออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ในเรื่องแรงจูงใจด้านภาษี แม้ว่าที่ผ่านมาประเทศไทยจะได้ปรับลดภาษีให้นักแสดงที่เข้ามาถ่ายทำภาพยนตร์ในประเทศไทยจากร้อยละ 37 เหลือร้อยละ 10 ก็ตาม เนื่องจากประเทศคู่แข่งของไทยต่างไม่เก็บภาษีค่าตัวนักแสดง ทำให้มีอยู่หลายครั้งที่ประเทศไทยต้องสูญเสียโอกาสในการที่ภาพยนตร์ฟอร์มใหญ่จากต่างประเทศจะเข้ามาถ่ายทำในประเทศไทย เพราะดาราแสดงนำที่มีชื่อเสียงปฏิเสธที่จะเข้ามาถ่ายทำในประเทศไทย
ในด้านระบบการจัดเก็บภาษีกองถ่ายภาพยนตร์ต่างประเทศของไทยยังมีความซ้ำซ้อน โดยเฉพาะการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มที่ซ้ำซ้อนในหลายขั้นตอน ตั้งแต่การเรียกเก็บจากผู้ประสานงานกองถ่าย โรงแรม และบริการต่างๆ ระหว่างที่กองถ่ายภาพยนตร์ต่างประเทศทำงานอยู่ในประเทศไทย
ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ มาเลเซีย เวียดนาม และกัมพูชา ต่างให้ความสำคัญในการดึงกองถ่ายภาพยนตร์ต่างประเทศเข้าประเทศ โดยให้สิทธิประโยชน์พิเศษทางด้านภาษีแก่กองถ่ายภาพยนตร์ต่างประเทศ เพื่อดึงดูดให้ถูกเลือกเป็นสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์ และนำเงินจำนวนมากเข้าสู่ประเทศ ดังเช่นประเทศออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ที่รัฐบาลมีนโยบายไม่เก็บภาษีการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศทุกประเภท เพื่อส่งเสริมการเติบโตของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในระยะยาวแทน ทำให้ผู้ผลิตภาพยนตร์ฟอร์มใหญ่ที่มีชื่อเสียงชั้นนำระดับโลก อาทิ วอร์เนอร์ บราเธอร์ โซนี่ พาราเมาท์ และฟ็อกซ์ เป็นต้น เข้ามาถ่ายทำภาพยนตร์และร่วมทุนสร้างภาพยนตร์ในประเทศออสเตรเลียและนิวซีแลนด์หลายเรื่อง
นอกจากนี้ หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนควรเร่งส่งเสริมการพัฒนาธุรกิจบริการในด้านการถ่ายทำภาพยนตร์ ทั้งบริการก่อนถ่ายทำภาพยนตร์ ( เช่น การเตรียมสถานที่ การเตรียมอุปกรณ์ต่างๆที่จะใช้ถ่ายทำภาพยนตร์ เป็นต้น) และบริการภายหลังการถ่ายทำภาพยนตร์ (เช่น การตัดต่อ การใช้องค์ประกอบแสง สี เสียง เป็นต้น) ทั้งนี้เพื่อรองรับการขยายตัวของตลาดกองถ่ายภาพยนตร์ต่างประเทศ และสามารถดึงรายได้เข้าประเทศเพิ่มขึ้น
สำหรับในปี 2549 ซึ่งผ่านพ้นเหตุการณ์สึนามิมาได้กว่า 1 ปี และเป็นปีที่จะมีการจัดกิจกรรมสำคัญๆอย่างยิ่งใหญ่ตลอดทั้งปี เพื่อเฉลิมฉลองปีอันเป็นมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองราชย์ครบ 60 ปีในวันที่ 9 มิถุนายน 2549 นั้น บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด คาดการณ์ว่า จะมีกองถ่ายภาพยนตร์ต่างประเทศเข้ามาถ่ายทำในประเทศไทยเพิ่มขึ้น และสามารถสร้างรายได้เข้าประเทศคิดเป็นมูลค่าไม่ต่ำกว่า 2,000 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม หากภาครัฐบาลเร่งแก้ไขอุปสรรคต่างๆโดยเฉพาะเรื่องภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีเงินได้ที่เรียกเก็บจากนักแสดงต่างชาติ รวมทั้งการจัดตั้งศูนย์บริการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศแบบครบวงจรในประเทศไทย และลดขั้นตอนการพิจารณาออกใบอนุญาตให้รวดเร็วขึ้นกว่าเดิมได้ภายในปี 2549 เพื่อสามารถรองรับแผนการในปี 2550 ที่จะจัดโครงการเชิญผู้กำกับภาพยนตร์จากต่างประเทศและสื่อมวลชนจากทั่วโลกเข้ามาสำรวจสถานที่ที่จะเสนอเป็นจุดขายในการถ่ายทำภาพยนตร์นานาชาติ ก็มีแนวโน้มที่กองถ่ายภาพยนตร์ต่างประเทศจะสนใจเข้ามาถ่ายทำภาพยนตร์ในประเทศไทยเพิ่มขึ้นจำนวนมาก โดยเฉพาะการถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องยาวฟอร์มใหญ่จากฮอลลีวู้ด ซึ่งก็น่าจะส่งผลให้ตลาดถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศของไทยสามารถสร้างรายได้เข้าประเทศสูงเกินกว่า 3,000 ล้านบาทได้ในปี 2550