องค์การแอ็คชันเอด ประเทศไทย และองค์กรพันธมิตร ประกอบด้วยนิตยสาร Bioscope เครือข่ายความร่วมมือฟื้นฟูชุมชนชายฝั่งอันดามัน (Save Andaman Network) มูลนิธิเด็ก, Lao Island, Thai NGO.ORG เว็บไซต์ www.thaishortfilm.com และรุ้งอ้วน ร่วมเปิดโครงการ Action for Change ครั้งที่ 2 โดยปี 2549 ได้เปิดเวทีสำหรับคนมีฝีมือทำหนังสั้นสมัครเล่น มาร่วมเดินทางค้นหาเรื่องราวและถ่ายทำหนังสั้นในหัวข้อ “วิถีมอแกน” จากพื้นที่จริง เพื่อเสริมความรู้และมุมมองทางมานุษยวิทยาในการสร้างความเข้าใจอันดีต่อชาติพันธุ์มอแกน รวมถึงวิธีคิดใหม่ๆ ในการสร้างสารคดีที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม
นางสาวปริญญา บุญฤทธิ์ฤทัยกุล ผู้ประสานงานโครงการช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากสึนามิ องค์การแอ็คชันเอด ประเทศไทย กล่าวว่า “ทางองค์การได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยสึนามิในด้านต่างๆ ที่ผ่านมาได้บริจาคเงินผ่านเครือข่ายความร่วมมือฟื้นฟูชุมชนชายฝั่งอันดามัน และทำงานร่วมกันตลอดระยะเวลากว่า 1 ปี หลังจากเกิดภัยพิบัติสึนามิ รวมถึงการซ่อมแซม และต่อเรือจำนวน 45 ลำ จัดตั้งกองทุนน้ำมัน และการพัฒนาชุมชนมอแกนในเกาะเหลา จังหวัดระนอง นอกจากนี้การที่องค์การได้มีโอกาสทำงานช่วยเหลือชาวมอแกน ทำให้เห็นปัญหามากมาย เช่น การเป็นคนไร้สัญชาติ ทำให้ไม่ได้รับเงินชดเชยหรือการช่วยเหลือใดๆ จากภาครัฐ การถูกเอารัดเอาเปรียบค่าจ้างแรงงาน ถูกหลอกจากนายทุนให้ไปลักลอบระเบิดปลาในน่านน้ำพม่า ซึ่งเสี่ยงต่ออันตรายที่ได้รับจากระเบิดและถูกจับทหารพม่าจับกุม หรือการที่แม่ค้าจำหน่ายอาหารหรือนมหมดอายุ เนื่องจากชาวมอแกนอ่านหนังสือไม่ออก เป็นต้น ปัญหาดังกล่าวจึงเป็นที่มาของโครงการ “วิถีมอแกน” ที่ต้องการให้นำเสนอเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงในแต่ละชุมชนมอแกน ด้วยมุมมองของหนังสั้น เพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้เกิดความตระหนัก รับรู้ และเข้าใจในชาติพันธุ์ของชนเผ่ามอแกน และร่วมกันผลักดันนโยบายการให้สัญชาติไทยแก่ชาว มอแกนในอนาคต เกิดการระดมทุน และจัดตั้งกองทุนช่วยเหลือชาวมอแกนอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป”
คุณสมบัติผู้ที่สนใจเข้าร่วมโครงการ Action for Change ครั้งที่ 2 “วิถีมอแกน” สามารถสมัครได้เป็นประเภทบุคคล หรือประเภททีมละไม่เกิน 3 คน จะต้องเป็นเยาวชนอายุระหว่าง 18-25 ปี มีกล้องวีดิโออุปกรณ์และเครื่องมือสำหรับการถ่ายทำภาพยนตร์เป็นของตัวเอง และมีทักษะพื้นฐานในการผลิตภาพยนตร์ โดยเขียนเค้าโครงเรื่องของภาพยนตร์สั้น “วิถีมอแกน” ความยาวตั้งแต่ 8 นาที แต่ไม่เกิน 30 นาที พร้อมใบสมัคร ประวัติส่วนตัว ตามแบบฟอร์มที่กำหนด และสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน (ถ้าสมัครเป็นทีมให้ส่งสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนทุกคน) ส่งมาที่ ActionAid Thailand เลขที่ 717 ซอยบรมราชชนนี 4 ถ.บรมราชชนนี แขวงบางบำหรุ เขตบางพลัด กรุงเทพฯ 10700 หรือที่ [email protected] โทร. 0-2886-5276 โทรสาร. 0-2881-8769 ตั้งแต่บัดนี้จนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2549
สามารถดาวน์โหลดใบสมัครได้ที่ www.action-4-change.org และจะประกาศรายชื่อทีมที่ผ่านการคัดเลือกรอบสุดท้าย 3 ทีม ในวันที่ 5 เมษายน 2549 โดยทีมที่ผ่านการคัดเลือกดังกล่าวจะได้เข้าฝึกอบรมการ ทำหนังสั้น พร้อมกับงบประมาณสนับสนุนการถ่ายทำให้ทีมละ 20,000 บาท โดยทางองค์การแอ็คชันเอด ประเทศไทย จะจัดหาที่พักและอาหารให้ตลอดการถ่ายทำในสถานที่จริง จากนั้นจะทำการตัดสินผลงานว่าทีมใดสมควรจะได้นำเสนอในโรงภาพยนตร์ และฉายกลางแปลงให้ชาวมอแกนชม พร้อมรับรางวัลหนัง ”ขวัญใจ มอแกน” โดยจะได้รับทุนการศึกษา จำนวน 5,000 บาท และประกาศนียบัตร ส่วนผู้ที่ผ่านการเข้ารอบสุดท้าย ทุกคนจะได้รับทุนการศึกษาอีกคนละ 3,000 บาท พร้อมประกาศนียบัตร (ลิขสิทธิ์ภาพยนตร์เป็นขององค์การแอ็คชันเอด ประเทศไทย )
ที่มาขององค์การแอ็คชันเอด
องค์การแอ็คชันเอด อินเตอร์เนชันแนล เป็นองค์กรพัฒนาระหว่างประเทศ ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2515 มีสำนักงานเลขาธิการใหญ่อยู่ที่กรุงโจฮันเนสเบอร์ก ประเทศแอฟริกาใต้ โดยมีเป้าหมายเพื่อขจัดความยากจนให้หมดไปจากโลก การสร้างเครือข่าย งานด้านการศึกษา งานด้านสิทธิและโอกาสของผู้หญิง งานด้านการให้ความรู้และช่วยเหลือผู้ติดเชื้อเอดส์ ซึ่งปัจจุบันมีเครือข่ายการทำงานมากกว่า 40 ประเทศทั่วโลก สำหรับในประเทศไทย องค์การแอ็คชันเอด ประเทศไทย ได้ก่อตั้งขึ้นใน พ.ศ. 2544 ในระยะแรก ได้ให้การสนับสนุนแก่องค์กรพัฒนาเอกชนและองค์กรภาคประชาชนที่ทำงานเกี่ยวกับประเด็นความมั่นคงทางอาหาร การพัฒนาที่ยั่งยืน และผลกระทบจากระบบเศรษฐกิจโลก ต่อมาได้ขยายเครือข่ายการทำงานโดยร่วมมือกับองค์กรพัฒนาต่างๆ รณรงค์แก้ไขปัญหาความยากจน โครงการช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากสึนามิ เป็นต้น