ฟิทช์ ให้อันดับเครดิตภายในประเทศแก่หุ้นกู้ มูลค่า 6 พันล้านบาท ของธนาคารกรุงไทย

ฟิทช์ เรทติ้งส์-กรุงเทพฯ/สิงคโปร์— บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ ได้ประกาศให้อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวแก่หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิไม่มีหลักประกันมูลค่า 6 พันล้านบาท อายุ 3 ปี ของธนาคารกรุงไทย (“KTB”, อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของธนาคารอยู่ที่ระดับ ‘AA+(tha)’) แนวโน้มอันดับเครดิตทั้งหมดมีเสถียรภาพ

ฟิทช์กล่าวว่าอันดับเครดิตของ KTB มีพื้นฐานมาจากการถือหุ้นใหญ่และการสนับสนุนที่แข็งแกร่งของรัฐบาล รวมทั้งสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งขึ้น แม้ว่าการที่ทางรัฐบาลถือหุ้นใหญ่และมีอำนาจควบคุมธนาคารมีส่วนช่วยสนับสนุนอันดับเครดิตระยะยาวของ KTB ปัจจัยดังกล่าวข้างต้นมีแนวโน้มที่อาจทำให้ผลการดำเนินงานของธนาคารอ่อนแอลงได้ KTB เป็นธนาคารไทยที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 โดยมีส่วนแบ่งตลาด 18% โดยกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินถือหุ้น 56.4% ในธนาคาร

เมื่อพิจารณาถึงขนาดและความสำคัญต่อระบบการเงินและเศรษฐกิจของ KTB รวมทั้งการที่ทางรัฐบาลถือหุ้นใหญ่และมีอำนาจควบคุมธนาคาร ฟิทช์เชื่อว่ามีความเป็นไปได้อย่างสูงที่ธนาคารจะได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐหากต้องการความช่วยเหลือ ฟิทช์เชื่อว่าโอกาสที่ทางธนาคารจะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลในระยะยาวมีความเป็นไปได้สูงจากการที่รัฐบาลจะคงสัดส่วนการถือหุ้นอย่างน้อย 51% ในอนาคต

ธนาคารแห่งประเทศไทย (“BOT”) ได้สั่งการให้ KTB ปรับปรุงหลักเกณฑ์การจัดชั้นสินเชื่อเมื่อกลางปี 2547 ส่งผลให้หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้นอย่างมากในไตรมาสที่ 2 ของปี 2547 แม้ว่าการจัดชั้นสินเชื่อใหม่ดังกล่าวจะไม่ได้ส่งผลกระทบต่อผลกำไรของธนาคารมากนัก เหตุการณ์ดังกล่าวข้างต้นได้ส่งผลให้ KTB ทบทวนระบบบริหารความเสี่ยงและจัดโครงสร้างการบริหารใหม่ ในขณะนี้ ผู้บริหารของ KTB ได้มุ่งเน้นในการปรับปรุงระบบบริหารความเสี่ยง รวมทั้งปรับปรุงวัฒนธรรมการทำงานและองค์กรให้เน้นการทำธุรกิจในเชิงพาณิชย์มากขึ้น รวมทั้งมุ่งเน้นการปล่อยสินเชื่อให้แก่ลูกค้ารายย่อยมากขึ้น

ผลการดำเนินงานของธนาคารยังคงแข็งแกร่งโดยกำไรสุทธิปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 13 พันล้านบาท ในปี 2548 จาก 11.1 พันล้านบาท ในปี 2547 และอัตรากำไรส่วนต่างดอกเบี้ยปรับตัวสูงขึ้นเป็นประมาณ 3.4% แม้ว่าอัตราการเติบโตของสินเชื่อจะลดลง การที่ต้นทุนการปล่อยสินเชื่อเพิ่มขึ้นและการเติบโตของสินเชื่อชะลอตัวลงเนื่องจากสภาพเศรษฐกิจที่มีการเติบโตแบบอ่อนตัวลงและสถานการณ์ทางการเมืองที่ไม่แน่นอน แนวโน้มของธนาคารในปี 2549 ก็ท้าทายมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ผลการดำเนินงานของธนาคารโดยทั่วไปน่าจะยังคงมีเสถียรภาพจากพื้นฐานทางด้านเศรษฐกิจในระยะปานกลางที่ยังคงแข็งแกร่ง

การจัดชั้นสินเชื่อครั้งใหญ่ในครึ่งหลังของปี 2547 และการขายหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ให้แก่บรรษัทบริหารสินทรัพย์ของรัฐบาลในครึ่งแรกของปี 2548 ทำให้หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของ KTB ได้ลดลงเป็น 99.1 พันล้านบาท หรือ 11.1% ณ สิ้นปี 2548 แม้ว่าหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ที่เกิดขึ้นใหม่ยังคงเพิ่มขึ้น การจัดชั้นสินเชื่อใหม่ในปี 2547 และการโอนสำรองหนี้สูญไปพร้อมกับการขายสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ให้บรรษัทบริหารสินทรัพย์ในปี 2548 ส่งผลให้ระดับการกันสำรองหนี้สูญลดลงเป็น 41.5% ณ สิ้นปี 2548 ซึ่งอยู่ในระดับที่ต่ำ ชี้ให้เห็นถึงความเสี่ยงที่ทางธนาคารอาจต้องมีการกันสำรองเพิ่มเติม ซึ่งได้ถูกสะท้อนโดยอัตราส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้สุทธิต่อส่วนของผู้ถือหุ้นที่อยู่ในระดับสูงที่ 70.2% ณ สิ้นปี 2548

ณ สิ้นปี 2548 อัตราเงินกองทุนขั้นที่ 1 ของ KTB อยู่ที่ 8.5% ของสินทรัพย์เสี่ยง ในขณะที่อัตราเงินกองทุนทั้งหมดอยู่ที่ 12.1% ฟิทช์คาดว่าการฟื้นตัวของรายได้น่าจะช่วยเสริมสร้างระดับเงินกองทุน ถึงแม้ว่าการกันสำรองเพิ่มเติม การจ่ายเงินปันผลและการเติบโตของสินทรัพย์อาจส่งผลให้อัตราเงินกองทุนลดลงใน 2 ปีข้างหน้า