ขึ้นราคาน้ำตาล : ชาวไร่อ้อยยิ้ม…ผู้บริโภครับภาระ

ในที่สุดคณะรัฐมนตรีก็มีมติเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2549 เห็นชอบการขึ้นราคาขายส่งน้ำตาลส่งมอบ ณ โรงงานอีก 3 บาทต่อกิโลกรัม และล่าสุดคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการมีมติเห็นชอบกำหนดราคาน้ำตาลใหม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยราคาขายส่งน้ำตาลทรายขาว ณ โรงงานจากเดิมที่กำหนดไว้ระดับ 588.50 บาทต่อกระสอบ(50 กิโลกรัม)เพิ่มเป็น 749 บาทต่อกระสอบ(50กิโลกรัม)และน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์จากเดิม 642 บาทต่อกระสอบ(50กิโลกรัม)เป็น 802.50 บาทต่อกระสอบ(50กิโลกรัม)ซึ่งจะส่งผลทำให้ราคาขายปลีกน้ำตาลทรายขาวรวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้วปรับเพิ่มขึ้นจาก 13.25 บาทต่อกิโลกรัมเป็น 16.50 บาทต่อกิโลกรัมส่วนน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ราคาขายปลีกปรับเพิ่มขึ้นจาก 14.25 บาทเป็น 17.50 บาท โดยมีผลในวันที่ 9 มีนาคม 2549 เป็นต้นไป ทั้งนี้การขึ้นราคาน้ำตาลดังกล่าวในด้านหนึ่งได้ช่วยบรรเทาปัญหาน้ำตาลขาดแคลนในตลาด รวมทั้งช่วยลดปัญหาความขัดแย้งระหว่างชาวไร่อ้อยกับภาครัฐเกี่ยวกับราคาน้ำตาลตลาดโลกที่อยู่สูงกว่าราคาควบคุมในประเทศลงได้ ในขณะเดียวกันก็ทำให้อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลมีรายได้เพิ่มขึ้นคุ้มกับต้นทุนการผลิตและมีเงินเหลือเพื่อการใช้หนี้เงินกู้ของกองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายกับสถาบันการเงินที่มีอยู่เป็นจำนวนมากได้ อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ต้องแบกรับภาระในท้ายที่สุดได้แก่ประชาชนและอุตสาหกรรมที่ใช้น้ำตาลเป็นวัตถุดิบในประเทศ ตลอดรวมไปถึงผู้ผลิตสินค้าส่งออกที่ใช้น้ำตาลเป็นวัตถุดิบที่ต้องซื้อน้ำตาลในราคาที่สูงขึ้น

สำหรับมูลเหตุที่ส่งผลทำให้ภาครัฐจำเป็นต้องปรับขึ้นราคาจำหน่ายน้ำตาลในครั้งนี้เกิดจากปัจจัยกดดันรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาราคาน้ำตาลในตลาดโลกที่ปรับเพิ่มขึ้นถึงประมาณกว่า 16-17 บาทต่อกิโลกรัมซึ่งสูงกว่าราคาจำหน่ายน้ำตาลในประเทศที่ถูกควบคุมอยู่ถึงประมาณ 2-3 บาท ซึ่งจากปัจจัยดังกล่าวเป็นตัวเร่งให้เกิดปัญหาน้ำตาลในประเทศขาดตลาด เนื่องจากมีการลักลอบส่งออกน้ำตาลไปจำหน่ายยังต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ในขณะเดียวกันก็ส่งผลให้เกิดความขัดแย้งรุนแรงระหว่างทางฝ่ายชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาลที่เห็นว่าภาครัฐควรปรับขึ้นราคาน้ำตาลในประเทศให้สอดคล้องกับราคาตลาดโลกเพื่อเป็นการช่วยเหลือชาวไร่อ้อยที่ได้รับผลกระทบจากต้นทุนการผลิตทั้งในส่วนของต้นทุนค่าปุ๋ย ยาปราบศัตรูพืช รวมทั้งค่าขนส่งอ้อยเข้าโรงงานที่ปรับตัวสูงขึ้นมากในเวลานี้ อีกทั้งยังเป็นการแก้ปัญหาหนี้เงินกู้ของกองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายที่รวมเป็นเงินต้นและดอกเบี้ยที่ต้องชำระในช่วงปี 2548-2555 ทั้งสิ้นประมาณ 17,282 ล้านบาท

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า การขึ้นราคาน้ำตาลของภาครัฐในครั้งนี้จะส่งผลทำให้รายได้ของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายในปี 2549 นี้จะเพิ่มขึ้นประมาณ 4,620 ล้านบาท(คำนวณจากปริมาณน้ำตาลที่ยังไม่ได้จำหน่ายประมาณ 15.54 ล้านกระสอบ) ส่วนในปีต่อๆไปคาดว่ารายได้จะปรับเพิ่มขึ้นประมาณ 6,000 ล้านบาทต่อปี(คำนวณจากปริมาณน้ำตาลที่จำหน่ายในประเทศประมาณ 2 ล้านตันต่อปี) ซึ่งผลกระทบจากการขึ้นราคาน้ำตาลในประเทศต่อผู้ใช้น้ำตาลมีรายละเอียดดังนี้

ผลกระทบต่อประชาชน
การบริโภคน้ำตาลของคนไทยส่วนใหญ่จะใช้ประกอบอาหารประจำวัน การเติมน้ำตาลในเครื่องดื่ม การใช้ในร้านอาหารและการทำขนม เป็นต้น ซึ่งปริมาณการบริโภคในกลุ่มนี้จะขึ้นอยู่กับการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรรวมทั้งรายได้ของประชากรที่เพิ่มขึ้น โดยปริมาณการจำหน่ายน้ำตาลให้กับผู้ค้าส่งเพื่อจำหน่ายให้ประชาชนทั่วไปรวมทั้งผู้ประกอบการอาหารและขนมรายย่อยในปี 2549 คาดว่าจะอยู่ที่ระดับใกล้เคียงกับปี 2548 ประมาณ 12.81 ล้านกระสอบหรือคิดเป็นปริมาณการบริโภคน้ำตาลของประชาชนโดยตรงเฉลี่ยต่อคนต่อปีประมาณ 20 กิโลกรัมต่อคนต่อปี ดังนั้นหากราคาจำหน่ายปลีกน้ำตาลในประเทศรวมภาษีมูลค่าเพิ่มปรับขึ้น 3.25 บาทต่อกิโลกรัมจะส่งผลให้ประชาชนแบกรับภาระค่าใช้จ่ายด้านน้ำตาลเพิ่มขึ้นประมาณ 65 บาทต่อคนต่อปี อย่างไรก็ตาม หากสินค้าที่ใช้น้ำตาลเป็นวัตถุดิบในการผลิตมีการปรับราคาตามต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นก็จะทำให้ภาระของประชาชนที่ต้องแบกรับมีเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสินค้าประเภทนั้นๆว่าใช้น้ำตาลเป็นสัดส่วนในการผลิตสูง-ต่ำมากน้อยเพียงใด เช่นกรณีของนมข้นหวาน น้ำอัดลม ขนมหวาน และผลไม้กระป๋อง ซึ่งมีการใช้น้ำตาลเป็นวัตถุดิบในสัดส่วนที่สูงทำให้กลุ่มนี้มีแนวโน้มจะปรับราคาจำหน่ายสินค้าเพิ่มขึ้น ขณะที่สินค้าอื่นๆที่มีการใช้น้ำตาลในการผลิตในสัดส่วนที่ต่ำก็ไม่ควรปรับราคาขายขึ้นไป ทั้งนี้กระทรวงพาณิชย์จะต้องดูแลไม่ให้มีการฉกฉวยโอกาสขึ้นราคาสินค้าจากการขึ้นราคาน้ำตาลในครั้งนี้อย่างใกล้ชิดด้วย

ผลกระทบต่ออุตสาหกรรมที่ใช้น้ำตาลเป็นวัตถุดิบ
น้ำตาลเป็นวัตถุดิบที่สำคัญในอุตสาหกรรมหลายๆประเภทอาทิ อุตสาหกรรมเครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์นม อาหาร ยา และลูกกวาด เป็นต้น ทั้งนี้ในปี 2548 ที่ผ่านมามีผู้ผลิตสินค้าที่ขึ้นทะเบียนเพื่อซื้อน้ำตาลจำนวน 194 ราย แยกเป็นอุตสาหกรรมอาหาร 131 ราย อุตสาหกรรมเครื่องดื่ม 24 ราย ผลิตภัณฑ์นม 14 ราย อุตสาหกรรมยาและอื่นๆ 9 ราย อุตสาหกรรมขนมปัง(รวมสุราและเบียร์) 8 ราย และอุตสาหกรรมลูกกวาด 8 ราย ทั้งนี้หากโรงงานน้ำตาลขึ้นราคาขายส่งน้ำตาลให้กับภาคอุตสาหกรรมเต็มทั้งจำนวนที่ภาครัฐอนุมัติให้ปรับขึ้นรวมกับภาษีมูลค่าเพิ่มคือ 3.25 บาทต่อกิโลกรัมภาคอุตสาหกรรมต่างๆซึ่งใช้น้ำตาลในกระบวนการผลิตจะได้รับผลกระทบทางด้านภาระต้นทุนการผลิตเกี่ยวกับน้ำตาลที่เพิ่มสูงขึ้นถึงประมาณปีละ 2,390 ล้านบาท(คำนวณจากปริมาณน้ำตาลที่ภาคอุตสาหกรรมใช้ประมาณ 7.35 ล้านกระสอบต่อปี) โดยอุตสาหกรรมที่ต้องรับภาระเพิ่มขึ้นมากที่สุดได้แก่อุตสาหกรรมเครื่องดื่มมีภาระเพิ่มขึ้นทั้งระบบประมาณปีละ 1,033 ล้านบาท ในขณะที่อุตสาหกรรมที่มีภาระต้นทุนเพิ่มขึ้นน้อยที่สุดคือขนมปัง(รวมสุราและเบียร์) ที่มีภาระเพิ่มขึ้นทั้งระบบประมาณปีละ 53 ล้านบาท

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า ผลจากมติคณะรัฐมนตรีที่ให้มีการปรับขึ้นราคาน้ำตาลในครั้งนี้ จะส่งผลกระทบต่อภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนรวมทั้งภาคอุตสาหกรรมที่ใช้น้ำตาลเป็นวัตถุดิบทั้งนี้กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ได้วิเคราะห์ถึงผลกระทบต่อราคาสินค้าที่จำหน่ายในประเทศจากการขึ้นราคาน้ำตาลในครั้งนี้พบว่าสินค้าที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดได้แก่ นมข้นหวานต้นทุนเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.83 หรือเพิ่มขึ้นกระป๋องละ 0.58 บาท น้ำอัดลมชนิดขวดลิตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.02 หรือเพิ่มขึ้นขวดละ 0.323 บาท น้ำอัดลมขนาด 280 ซีซีต้นทุนเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.29 หรือเพิ่มขึ้นขวดละ 0.090 บาท และผลไม้กระป๋องต้นทุนเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.87 หรือเพิ่มขึ้นกระป๋องละ 0.399 บาท อย่างไรก็ตามคาดว่าผู้ประกอบการที่ผลิตสินค้าเพื่อจำหน่ายในประเทศจะพิจารณาปรับราคาจำหน่ายสินค้าเพิ่มขึ้นด้วยความระมัดระวัง โดยจะมีการหามาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตเพื่อลดต้นทุนก่อน โดยเฉพาะอุตสาหกรรที่การแข่งขันมีความรุนแรง ประกอบกับกำลังซื้อของประชาชนก็ยังไม่ฟื้นตัวดีนัก การขึ้นราคาสินค้าอาจจะส่งผลกระทบต่อยอดขายได้ อย่างไรก็ตาม หากจะมีผู้ผลิตสินค้าที่ใช้น้ำตาลเป็นวัตถุดิบรายใดจะขึ้นราคาสินค้าในช่วงนี้ก็คาดว่าน่าจะเกิดจากปัจจัยทางด้านต้นทุนการผลิตประเภทอื่นๆที่ปรับขึ้นไปก่อนหน้านี้ทั้งค่าพลังงานไฟฟ้า ค่าขนส่ง และบรรจุภัณฑ์ โดยมีปัจจัยทางด้านราคาน้ำตาลเสริมเข้ามาหนุนให้ต้องตัดสินใจขึ้นราคาสินค้า

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาอย่างรอบด้านแล้วก็ต้องยอมรับว่าผลของการขึ้นราคาน้ำตาลในประเทศครั้งนี้ได้ช่วยผ่อนคลายปัญหาวิกฤตการที่เกิดขึ้นของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลที่กำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน 3 ประการโดยมีรายละเอียดดังนี้

การแก้ปัญหาน้ำตาลขาดตลาด ในช่วงปลายปี 2548 ต่อเนื่องมาจนถึงปี 2549 ปัญหาหนึ่งที่คนไทยต้องเผชิญอยู่ก็คือการหาซื้อน้ำตาลตามร้านค้าได้ยากลำบากเนื่องจากสินค้าได้หายไปจากท้องตลาด อีกทั้งในบางพื้นที่ราคาน้ำตาลที่จำหน่ายก็ขึ้นไปสูงกว่าที่ภาครัฐกำหนดไว้ระดับ 13.25 บาทต่อกิโลกรัมสำหรับน้ำตาลทรายขาวและ 14.25 บาทต่อกิโลกรัมสำหรับน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ ทั้งนี้เนื่องจากราคาน้ำตาลในตลาดโลกที่ปรับเพิ่มขึ้นสูงถึง 16-17 บาทต่อกิโลกรัม ส่งผลให้เกิดการกักตุนและลักลอบส่งออกน้ำตาลไปต่างประเทศ ดังนั้นการปรับขึ้นราคาจำหน่ายน้ำตาลในประเทศให้สอดคล้องตามความเป็นจริงของราคาน้ำตาลตลาดโลกจะช่วยลดปัญหาการกักตุนและการลักลอบส่งออกน้ำตาลให้มีน้อยลง

การแก้ปัญหาหนี้สินของกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย ที่ผ่านมากองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายมีภาระหนี้กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรซึ่งกู้มาเพื่อช่วยเหลือชาวไร่อ้อยในช่วงราคาอ้อยตกต่ำฤดูการผลิตปี 2541/42-2542-43 จำนวน 9,267 ล้านบาท ฤดูการผลิตปี 2545/46 อีก 5,920 ล้านบาท และฤดูการผลิตปี 2546/47 จำนวน 5,387 ล้านบาทรวมเป็นเงินต้นและดอกเบี้ยที่ต้องชำระในช่วงปี 2549-2555 ทั้งสิ้นประมาณ 17,282 ล้านบาท (ยอดหนี้คำนวณล่าสุด ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2549) ทั้งนี้แต่เดิมภาครัฐหวังว่าหากราคาน้ำตาลตลาดโลกสูงขึ้น จะดึงรายได้ส่วนหนึ่งของเกษตรกรชาวไร่อ้อยมาใช้หนี้ได้ อย่างไรก็ตามนับตั้งแต่มีการกู้เงินมาพยุงราคาอ้อยตั้งแต่ปีการผลิต 2541/42 เป็นต้นมาราคาน้ำตาลในตลาดโลกแม้ว่าจะมีการปรับขึ้นไปบ้างจากเฉลี่ย 6.54 เซนต์ต่อปอนด์ ในปี 2542 มาอยู่ที่เฉลี่ย 8.46 เซนต์ต่อปอนด์ 9.13 เซนต์ต่อปอนด์ 7.87 เซนต์ต่อปอนด์ 7.51 เซนต์ต่อปอนด์ 8.61 เซนต์ต่อปอนด์และ 11.37 เซนต์ต่อปอนด์ ในปีการผลิต 2543-2548 ตามลำดับ แต่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะทำให้ชาวไร่อ้อยมีเงินเหลือพอที่จะหักชำระหนี้ได้ แม้แต่ในปี 2549 ซึ่งราคาน้ำตาลในตลาดโลกล่าสุดปรับตัวสูงถึงเฉลี่ย 16-17 เซนต์ต่อปอนด์จนส่งผลทำให้ราคาอ้อยขั้นต้นอยู่ที่ระดับ 800 บาทต่อตันอ้อย ซึ่งถือเป็นราคาที่สูงสุดในรอบกว่า 20 ปีนับตั้งแต่มีการออกพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 เป็นต้นมา แต่เนื่องจากต้นทุนการผลิตของชาวไร่อ้อยที่ปรับเพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับผลผลิตอ้อยที่ตกต่ำจากปัญหาภัยแล้ง

ประการสำคัญการที่ราคาน้ำตาลในประเทศถูกควบคุมไม่ให้ปรับขึ้นไปตามราคาน้ำตาลตลาดโลก ส่งผลต่อความสามารถในการชำระหนี้ของชาวไร่อ้อยเป็นอย่างมาก ดังนั้นการปรับขึ้นราคาน้ำตาลในประเทศในครั้งนี้จึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่ภาครัฐเห็นว่าเหมาะสม เพราะตามมติคณะรัฐมนตรีได้กำหนดให้มีการเรียกเก็บเงินจากชาวไร่อ้อยส่งเข้ากองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายหากราคาอ้อยขั้นสุดท้ายสูงกว่าราคาอ้อยขั้นต้นซึ่งกำหนดไว้ที่ 800 บาทต่อตัน ทั้งนี้การปรับขึ้นราคาน้ำตาลในประเทศจะทำให้ชาวไร่อ้อยได้รับผลประโยชน์เพิ่มขึ้นในปีนี้อีกประมาณ 50-60 บาทต่อตัน นอกจากนี้ยังมีการคาดการณ์ว่าภายหลังจากการขึ้นราคาน้ำตาลในประเทศครั้งนี้จะทำให้กองทุนอ้อยและน้ำตาลสามารถชำระหนี้เงินกู้ได้หมดภายใน 7 ปีนับตั้งแต่ปี 2549-2555 อีกด้วย

การแก้ปัญหาผลผลิตอ้อยและน้ำตาลตกต่ำ นับตั้งแต่ฤดูการผลิตปี 2546/47 เป็นต้นมา ผลผลิตอ้อยในประเทศได้มีการปรับตัวลดลงมาอย่างต่อเนื่อง โดยจากปริมาณอ้อย 74.1 ล้านตันในปีการผลิต 2545/46 ลดลงมาเหลือเพียง 64.5 ล้านตันและ 47.8 ล้านตันในปีการผลิต 2546/47-2547/48 ตามลำดับ ส่วนปีการผลิตล่าสุด 2548/49 คาดว่าผลผลิตอ้อยจะลดลงมาเหลือเพียงประมาณ 43-44 ล้านตัน อันเป็นผลจากปัญหาความแห้งแล้งในช่วงระหว่างการเพาะปลูกอ้อย ประกอบกับในช่วงหลายปีที่ผ่านมาราคาอ้อยที่เกษตรกรได้รับไม่สอดคล้องกับต้นทุนการผลิต ส่งผลให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยบางส่วนได้หันไปเพาะปลูกพืชประเภทอื่นที่ให้ผลตอบแทนดีกว่าอาทิ มันสำปะหลัง ยางพารา และปาล์มน้ำมัน ซึ่งปรากฎการณ์ดังกล่าวไม่เป็นผลดีต่ออุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล รวมทั้งอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องอาทิ อุตสาหกรรมผลิตเอทานอลเพื่อใช้ผสมกับน้ำมันเบนซินใช้เป็นพลังงานทดแทนที่เรียกว่าแก๊สโซฮอล์ ที่กำลังมีปัญหาทางด้านวัตถุดิบกากน้ำตาลขาดแคลน ดังนั้นการปรับราคาน้ำตาลในประเทศจะเป็นปัจจัยเกื้อหนุนต่อราคาอ้อยในประเทศที่จะเพิ่มสูงขึ้นและจูงใจให้ชาวไร่อ้อยมีกำลังใจที่จะปลูกอ้อยเพื่อป้อนโรงงานน้ำตาลต่อไป

กล่าวโดยสรุปแล้ว การขึ้นราคาน้ำตาลในภาวะที่ค่าครองชีพทั้งราคาสินค้าและปัจจัยการผลิตทั้งไฟฟ้าและพลังงานปรับตัวเพิ่มขึ้นในทุกด้าน คงจะส่งผลกระทบต่อภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นของประชาชนทั่วไปรวมทั้งกลุ่มอุตสาหกรรมที่ใช้น้ำตาลเป็นวัตถุดิบพอสมควร แต่หากพิจารณาทางด้านของชาวไร่อ้อยแล้วก็ถือว่าได้รับความเป็นธรรมทางด้านรายได้ที่เหมาะสมกับภาระต้นทุนการผลิตรวมทั้งสอดคล้องกับภาวะราคาน้ำตาลในตลาดโลกที่ปรับสูงขึ้น รวมทั้งยังมีเงินเหลือพอที่จะนำเข้ากองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายเพื่อใช้หนี้ที่เกิดจากการนำเงินมาสร้างเสถียรภาพของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ภาครัฐจะต้องพิจารณาต่อไปภายหลังจากการอนุมัติให้ขึ้นราคาน้ำตาลในประเทศครั้งนี้นั่นคือ การหากลไกที่จะนำมาใช้กำหนดราคาน้ำตาลในประเทศให้มีความเป็นธรรมต่อทั้งชาวไร่อ้อยและผู้ใช้น้ำตาล โดยเฉพาะหากในอนาคตราคาน้ำตาลในตลาดโลกปรับตัวลดลงมามากดังที่เกิดขึ้นมาแล้วในอดีต ราคาน้ำตาลในประเทศก็สมควรต้องปรับตัวลดลงเพื่อความเป็นธรรมต่อประชาชนและภาคอุตสาหกรรมผู้ใช้น้ำตาลเช่นเดียวกัน โดยกลไกที่ภาครัฐควรพิจารณานำมาใช้นั่นคือการปล่อยราคาน้ำตาลให้เสรีตามตลาดโลกซึ่งถือเป็นวิธีที่ถือว่าสร้างความเป็นธรรมและยอมรับของทุกฝ่ายได้มากที่สุด