ไอศกรีมปี’49 : สมรภูมิเดือด…ช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดรวม 10,000 ล้านบาท

ในช่วงฤดูร้อนไอศกรีมเป็นหนึ่งในบรรดาสินค้ายอดฮิตที่มียอดจำหน่ายสูงในช่วงนี้ คาดว่ามูลค่าของตลาดไอศกรีมจะขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และการแข่งขันในตลาดไอศกรีมในปีนี้จะมีความเข้มข้นอย่างมาก เนื่องจากบรรดาผู้ประกอบการในธุรกิจนี้ต่างปรับกลยุทธ์เพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งตลาด ไม่ว่าจะเป็นการสร้างนวัตกรรมด้านผลิตภัณฑ์ การสร้างตราสินค้า และการขยายช่องทางการจำหน่ายสินค้า นอกจากนี้การส่งออกไอศกรีมก็เป็นธุรกิจที่น่าจับตามอง โดยในช่วงระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมานี้อัตราการขยายตัวของการส่งออกไอศกรีมเติบโตในลักษณะก้าวกระโดด เมื่อเทียบกับในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งคาดการณ์ว่าการส่งออกไอศกรีมจะยังเติบโตอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ประเด็นที่น่าจับตามองสำหรับธุรกิจไอศกรีมของไทย คือไทยมีปัจจัยหนุนหลายประการที่จะก้าวขึ้นไปเป็นศูนย์กลางการส่งออกไอศกรีมในภูมิภาคนี้

ปัจจุบันจำนวนโรงงานผลิตไอศกรีมในประเทศไทยที่จดทะเบียนไว้กับกรมโรงงาน กระทรวงอุตสาหกรรม มีจำนวน 247โรงงาน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโรงงานขนาดกลางและขนาดเล็ก โรงงานกระจายอยู่ในภาคต่างๆดังนี้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 94โรงงาน ภาคเหนือ 51โรงงาน กรุงเทพฯและปริมณฑล 42โรงงาน ภาคใต้ 22โรงงาน ภาคกลาง 20โรงงานและภาคตะวันออก 18โรงงาน กรุงเทพฯเป็นจังหวัดที่มีโรงงานผลิตไอศกรีมมากที่สุดในประเทศ กล่าวคือมีโรงงานไอศกรีมตั้งอยู่ถึง 31 โรงงาน โดยที่แรงงานในอุตสาหกรรมนี้มีประมาณ 4,214 คน จำนวนเงินลงทุนทั้งสิ้น 1,096 ล้านบาท

อัตราการบริโภคไอศกรีมในประเทศไทยมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง คาดว่าในปี 2549 อัตราการบริโภคไอศกรีมในประเทศไทยเท่ากับ 0.694 ลิตรต่อคนต่อปี ซึ่งอัตราการบริโภคไอศกรีมเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยร้อยละ 5.0 ต่อปี อย่างไรก็ตามคนไทยไม่ได้บริโภคไอศกรีมเป็นของหวานเป็นประจำ ทำให้อัตราการบริโภคไอศกรีมต่อประชากรของไทยจึงอยู่ในเกณฑ์ต่ำเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียมีอัตราการบริโภค 3 ลิตรต่อคนต่อปี ญี่ปุ่น 7 ลิตรต่อคนต่อปี และเมื่อยังต่ำมากเมื่อเทียบกับประเทศต่างๆในซีกโลกตะวันตก แม้ว่าในประเทศไทยจะมีอุณหภูมิเฉลี่ยทั้งปีสูงกว่า โดยเฉพาะในสหรัฐฯและออสเตรเลีย ซึ่งมีอัตราการบริโภคไอศกรีมมากเป็นอันดับหนึ่งและอันดับสองของโลก(สหรัฐฯ 24 ลิตรต่อคนต่อปี และออสเตรเลีย 18 ลิตรต่อคนต่อปี) อย่างไรก็ตามการบริโภคไอศกรีมของคนไทยจะสูงขึ้นในช่วงฤดูร้อนและมีอัตราการบริโภคอยู่ในเกณฑ์ต่ำในช่วงฤดูฝน

คาดว่าตลาดไอศกรีมในปี 2549 จะมีมูลค่าเท่ากับ 10,000 ล้านบาท หรือเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 5 โดยแบ่งตลาดดังนี้

1.ไอศกรีมพรีเมี่ยม มูลค่าตลาดประมาณ 1,200 ล้านบาท อัตราการขยายตัวประมาณร้อยละ 10.0 กลุ่มลูกค้าเป้าหมายส่วนใหญ่เป็นชาวต่างประเทศ และลูกค้าในประเทศที่นิยมไอศกรีมจากต่างประเทศปัจจุบันจำนวนผู้ประกอบการในกลุ่มนี้เริ่มมีจำนวนมากขึ้น โดยจะสังเกตได้จากมีไอศกรีมยี่ห้อที่มีชื่อเสียงหลายยี่ห้อเข้ามาเปิดสาขาในประเทศไทย นอกจากนี้เริ่มมีผู้ประกอบการไทยเปิดสาขาไอศกรีมประเภทโฮมเมดจำหน่ายมากขึ้น โดยกลยุทธ์สำคัญของผู้ประกอบการไอศกรีมในกลุ่มพรีเมี่ยมเน้นการขยายสาขา โดยเฉพาะการเปิดสาขาในทำเลที่ใกล้เคียงกับกลุ่มเป้าหมาย ผู้ประกอบการไอศกรีมพรีเมี่ยมเริ่มเพิ่มการลงทุนเพื่อการพัฒนาการผลิตและการตลาด รวมทั้งขยายช่องทางการจำหน่ายใหม่ๆโดยเฉพาะสถานีบริการน้ำมัน ซึ่งเป็นกลยุทธ์การสร้างพันธมิตรทางธุรกิจ รวมถึงการรุกตลาดซื้อกลับบ้านหรือตลาดเทคโฮม ซึ่งยังเป็นช่องว่างทางการตลาดที่ยังไม่มีผู้นำตลาดที่ชัดเจนในช่องทางจำหน่ายนี้ และยังเป็นการรุกเข้าไปกินส่วนแบ่งตลาดของไอศกรีมระดับกลางบางส่วนด้วย

2.ไอศกรีมระดับกลาง ในปี 2549 คาดว่ามูลค่าตลาดรวมประมาณ 7,900 ล้านบาท และมีอัตราการขยายตัวร้อยละ 3-5 แม้ว่าอัตราการขยายตัวของมูลค่าจะไม่สูง แต่ไอศกรีมระดับกลางนี้มีสัดส่วนตลาดมากที่สุดในบรรดาตลาดไอศกรีมทั้งหมด ในตลาดนี้มีการแข่งขันที่ดุเดือดเนื่องจากผู้ประกอบการที่อยู่ในตลาดนี้ล้วนแต่เป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ และมีผู้ประกอบการมากมายหลากหลายยี่ห้อ ซึ่งในปีนี้ผู้ประกอบการรายใหญ่เริ่มรุกเข้าตลาดเพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดเพื่อหวังจะชิงความเป็นหนึ่งของตลาดไอศกรีมระดับกลาง โดยการรุกตลาดนั้นเน้นกลยุทธ์การสร้างช่องทางการจำหน่ายและการกระจายสินค้า โดยเฉพาะการกระจายจุดจำหน่ายตู้แช่ การขายโดยอาศัยรถสามล้อจำหน่ายในแหล่งชุมชน ทั้งนี้เพื่อเน้นให้สินค้าเข้าถึงมือผู้บริโภคให้มากที่สุด นอกจากนี้ธุรกิจอาหารฟาสต์ฟู้ดส์บางรายเริ่มหันมาใช้ไอศกรีมซอฟท์เสิร์ฟท์หรือไอศกรีมนมบรรจุโคนเป็นสินค้าที่จะดึงให้ผู้บริโภคเข้ามาใช้บริการในร้านเพิ่มขึ้น โดยการลดราคาไอศกรีมโคนที่จำหน่ายเหลือเพียง 5-7 บาท นับว่าเป็นกลยุทธ์ที่ใช้ได้ผลอย่างมาก ซึ่งเท่ากับว่าผู้ประกอบการในธุรกิจไอศกรีมระดับกลางต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการไอศกรีมระดับกลางหันมาเพิ่มมูลค่าการตลาดโดยการขยายเข้าไปแย่งส่วนแบ่งตลาดไอศกรีมระดับล่าง โดยเฉพาะตลาดในต่างจังหวัด เนื่องจากไอศกรีมในตลาดนี้ยังมีผู้ครอบครองตลาดที่ชัดเจน และส่วนใหญ่ผู้ประกอบการในตลาดนี้ส่วนใหญ่เป็นไอศกรีมที่ไม่มียี่ห้อ และการทำตลาดจะเป็นที่รู้จักเฉพาะในท้องถิ่น ดังนั้นการเข้าไปแย่งตลาดโดยอาศัยตรายี่ห้อที่เป็นที่รู้จัก รวมทั้งความหลากหลายของรสชาติไอศกรีม และความสะอาดถูกสุขอนามัยทำให้ตลาดไอศกรีมระดับกลางมีแนวโน้มเข้าไปแย่งส่วนแบ่งตลาดไอศกรีมระดับล่างได้อีกมาก

3.ไอศกรีมระดับล่าง คาดว่าจะมีมูลค่าตลาดประมาณ 900 ล้านบาท เป็นที่น่าสังเกตว่ามูลค่าไอศกรีมตลาดระดับล่างนี้ใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา ผู้ประกอบการในตลาดนี้ต้องทำงานหนักมากกว่าในปีที่ผ่านมา เนื่องจากผู้ประกอบการไอศกรีมตลาดระดับกลางรุกคืบเข้าแย่งชิงส่วนแบ่งตลาด โดยอาศัยคุณภาพ และตรายี่ห้อที่เป็นที่รู้จักของผู้บริโภค ในขณะที่ตลาดไอศกรีมระดับล่างยังไม่มีผู้นำตลาดที่ชัดเจน นอกจากนี้ไอศกรีมตลาดล่างยังต้องเผชิญกับปัญหาเมื่อทางกระทรวงสาธารณสุขเริ่มเข้มงวดมากขึ้นในเรื่องคุณภาพของไอศกรีม กล่าวคือทางกระทรวงสาธารณสุขออก ประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 222 ในวันที่ 24 กรกฎาคม 2544 ซึ่งเป็นการกำหนดมาตรฐานการผลิตไอศกรีมตามประเภทไอศกรีมแต่ละชนิด ทั้งในเรื่องวิธีการผลิต เครื่องมือเครื่องใช้ในการผลิต และการเก็บรักษา ซึ่งเป็นผลให้ทางผู้ประกอบการไอศกรีมระดับล่างต้องมีการปรับตัวอย่างมากเพื่อประคองตัวให้อยู่รอดท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรง
ผู้ประกอบการในตลาดไอศกรีมมีการปรับกลยุทธ์เพื่อช่วงชิงส่วนแบ่งตลาด ดังนี้

1.การเพิ่มงบการประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี ซึ่งผู้ประกอบการเน้นการสร้างตรายี่ห้อให้ผู้บริโภคจดจำได้ ซึ่งปัจจุบันผู้ประกอบการเน้นการใช้กลยุทธ์นี้ในสาขาต่างจังหวัด เนื่องจากตลาดต่างจังหวัดเป็นเป้าหมายสำคัญของผู้ประกอบการในการขยายฐานผู้บริโภคไอศกรีมที่มีตรายี่ห้อ และกระตุ้นความต้องการบริโภคไอศกรีมของผู้บริโภค รวมทั้งมีการส่งเสริมการขายอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการใช้กลยุทธ์การชิงโชคเพื่อเพิ่มความถี่ในการบริโภคไอศกรีม นอกจากนี้เริ่มมีการศึกษาวิจัยพฤติกรรมการบริโภคไอศกรีมของคนไทย ซึ่งผู้ประกอบการในธุรกิจไอศกรีมพยายามหาช่องทางในการเจาะขยายตลาด โดยอิงการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค เช่น การพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อให้คนไทยหันมานิยมบริโภคไอศกรีมเป็นของหวานที่บ้านมากขึ้น หรือการเพิ่มจำนวนครัวเรือนที่มีไอศกรีมในตู้เย็นที่บ้านมากขึ้น ซึ่งกลยุทธ์นี้จะเป็นกลยุทธ์ทางการตลาดที่สำคัญที่ช่วยผลักดันยอดจำหน่ายไอศกรีมประเภทซื้อกลับบ้าน เป็นต้น
2.การขยายช่องทางการจำหน่าย ปัจจุบันช่องทางจำหน่ายหลักของตลาดไอศกรีม คือ ตู้แช่ตามร้านค้าทั่วไป ซุปเปอร์มาร์เก็ต และรถสามล้อ โดยมีเป้าหมายเร่งกระจายสินค้าให้เข้าถึงผู้บริโภคอย่างทั่วถึง เพิ่มช่องทางการจำหน่ายโดยการจับมือเป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับกิจการฟาสต์ฟู้ดส์ ร้านจำหน่ายเบเกอรี่ ร้านอาหาร และร้านกาแฟพรีเมี่ยม นอกจากนี้ช่องทางการจำหน่ายไอศกรีมที่น่าสนใจอย่างมากในปัจจุบัน คือ ตลาดไอศกรีมเทกโฮม ซึ่งมีอัตราการขยายตัวอย่างต่อเนื่องเฉลี่ยร้อยละ 7 ต่อปี โดยตลาดนี้จะเป็นการแย่งชิงสัดส่วนตลาดระหว่างไอศกรีมพรีเมี่ยมและไอศกรีมระดับกลาง

3.ออกสินค้าใหม่เพื่อให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น โดยเน้นการผลิตไอศกรีมครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย ทั้งเด็ก วัยรุ่น และผู้ใหญ่ ซึ่งผู้ประกอบการธุรกิจไอศกรีมมีการศึกษาวิจัยรสนิยมของผู้บริโภคอย่างต่อเนื่องเพื่อนำข้อมูลมาใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ รวมทั้งมีการยกเลิกการผลิตไอศกรีมบางประเภทที่ไม่ทำรายได้ด้วย นอกจากนี้ ในช่วงฤดูร้อนนี้มีการรุกเข้ามาแย่งส่วนแบ่งตลาดไอศกรีมของนมผสมน้ำผลไม้ ซึ่งเมื่อนำไปแช่แข็งแล้วก็จะเหมือนกับไอศกรีมประเภทเชอเบด และการที่ธุรกิจอาหารประเภทฟาสต์ฟู้ดส์หันมาจำหน่ายไอศกรีมโคนภายในร้านหรือที่รู้จักกันว่า“ไอศกรีมซอฟท์เสริฟท์” โดยมีการลดราคาในบางช่วงเพื่อดึงให้ลูกค้าเข้ามาใช้บริการภายในร้าน ทำให้การแข่งขันในวงการไอศกรีมมีคู่แข่งเพิ่มขึ้น

4.บริษัทผู้ผลิตไอศกรีมเริ่มมีการทำกิจกรรมทางการตลาดมากขึ้น โดยบริษัทผู้ผลิตไอศกรีมเริ่มให้ความสนใจในการทำกิจกรรรมทางการตลาดตั้งแต่ในปี 2543 เนื่องจากตลาดไอศกรีมเริ่มฟื้นตัวจากภาวะซบเซาจากสภาพเศรษฐกิจ การแข่งขันในตลาดไอศกรีมเริ่มรุนแรงมากขึ้น รวมทั้งมีบริษัทรายใหม่ทยอยเข้ามาในตลาด นับว่าเป็นการสร้างสีสันในการแข่งขันในตลาดไอศกรีมเป็นอย่างมาก หลังจากบริษัทผู้ผลิตไอศกรีมท้องถิ่นได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการรุกตลาดของบริษัทต่างประเทศ ทั้งนี้บริษัทผู้ผลิตไอศกรีมท้องถิ่นมีแผนขยายการผลิตและเสริมความแข็งแกร่งในช่องทางการจัดจำหน่ายหลัก โดยเฉพาะร้านค้าย่อย และการขายตรงสู่ผู้บริโภค โดยการกระจายสินค้าให้ทั่วถึง รวมทั้งมีการเพิ่มหน่วยขายย่อย เช่น หน่วยรถสามล้อ รถมอเตอร์ไซค์ ตลอดจนการขยายสาขาโดยใช้กลยุทธ์การให้สัมปทานเขต นับว่ากลยุทธ์ทางการตลาดเหล่านี้เป็นกลยุทธ์เชิงรุกเพื่อเรียกคะแนนนิยมในตรายี่ห้อไอศกรีมท้องถิ่นเพิ่มขึ้น
5.การปรับกลยุทธ์โดยอิงพฤติกรรมการซื้อของผู้บริโภค เนื่องจากมีการสำรวจพบว่าพฤติกรรมการซื้อไอศกรีมของคนไทยที่น่าสนใจคือ คนไทยตัดสินใจซื้อไอศกรีมโดยอาศัยปัจจัยกระตุ้น (Impulse Basis) โดยไม่ได้เป็นการซื้อที่มีการวางแผนล่วงหน้า(Planned Basis) ดังนั้นผู้ประกอบการในธุรกิจไอศกรีมออกไอศกรีมรสชาติใหม่ๆอย่างต่อเนื่องทั้งนี้เพื่อเพิ่มความหลากหลายของสินค้า และการเปลี่ยนรูปแบบบรรจุภัณฑ์รวมทั้งรสชาติโดยอิงกับการ์ตูนหรือภาพยนต์ที่เป็นที่นิยม ซึ่งจะเป็นการดึงให้ลูกค้ากลุ่มเป้าหมายเพิ่มอัตราการบริโภคไอศกรีม

นอกจากการขยายตัวของตลาดในประเทศแล้ว ผู้ประกอบการไอศกรีมในประเทศไทยมีการส่งออกไอศกรีมไปจำหน่ายยังต่างประเทศด้วย โดยตลาดส่งออกไอศกรีมนั้นนับว่าเป็นตลาดที่น่าจับตามอง คาดว่าในปี 2549 มูลค่าการส่งออกไอศกรีมเท่ากับ 800 ล้านบาท เมื่อเทียบกับในปี 2548 ที่มีมูลค่าการส่งออก 732 ล้านบาทแล้วเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.3 จากที่เมื่อปี 2540-2543 การส่งออกไอศกรีมนั้นมีมูลค่าเพียง 50 ล้านบาทเท่านั้น ปัจจุบันไทยส่งออกไอศกรีมไปยังเกือบ 40 ประเทศทั่วโลก ตลาดส่งออกไอศกรีมที่สำคัญของไทย คือ มาเลเซีย สิงคโปร์ และไต้หวันนอกจากนี้ตลาดที่มีแนวโน้มขยายตัวอยู่ในเกณฑ์ดี คือ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สหรัฐฯ เวียดนาม บูรไน กัมพูชา ลาว และพม่า แม้ว่ามูลค่าการส่งออกไอศกรีมปี 2548 นั้นลดลง อันเนื่องจากปัญหาฝนทิ้งช่วงและปัญหาการขาดแคลนน้ำทำให้วัตถุดิบสำคัญในการผลิตไอศกรีม เช่น มะพร้าว ผลไม้ น้ำมันปาล์ม เป็นต้นมีราคาแพงและมีปริมาณลดลงไม่เพียงพอกับความต้องการ แต่คาดว่าในปี 2549 ปัญหาฝนทิ้งช่วงและการขาดแคลนน้ำจะไม่รุนแรงเหมือนในปี 2548 ดังนั้นการส่งออกไอศกรีมของไทยน่าจะเพิ่มขึ้นในอัตราก้าวกระโดดอีกครั้งหนึ่ง

อย่างไรก็ตามไทยก็ยังมีการนำเข้าไอศกรีม ซึ่งเป็นไอศกรีมที่มีราคาอยู่ในเกณฑ์สูงเพื่อตอบสนองตลาดลูกค้าระดับพรีเมี่ยม แต่อัตราการขยายตัวของการนำเข้านั้นนับว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ไม่สูงนักเมื่อเทียบกับการส่งออก กล่าวคือ คาดว่าในปี 2549 มูลค่าการนำเข้าไอศกรีมเท่ากับ 145 ล้านบาท เมื่อเทียบกับในปี 2548 ที่มีมูลค่า 128 ล้านบาทแล้วเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.3 แหล่งนำเข้าหลักของไทย คือ อินโดนีเซีย ฝรั่งเศส สหรัฐฯ และแคนาดา

คาดว่าในอนาคตการส่งออกไอศกรีมมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง อันเป็นผลมาจากการที่มีนักลงทุนหลายรายจะเข้ามาลงทุนตั้งโรงงานผลิตไอศกรีมในประเทศไทย และมีแผนที่จะผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการส่งออกไอศกรีมของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ปัจจัยเกื้อหนุนการส่งออกไอศกรีมมีดังนี้

1.ไทยมีจุดแข็งในแง่ของวัตถุดิบ การใช้ผลไม้ท้องถิ่นมาผลิตไอศกรีม ทำให้รสชาติไอศกรีมของไทยมีเอกลักษณ์ที่สามารถนำมาเป็นจุดขายได้เป็นอย่างดี ซึ่งฟิลิปปินส์เคยประสบความสำเร็จในการชูจุดแข็งนี้จนทำให้ไอศกรีมของฟิลลิปปินส์นั้นเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก นอกจากนี้จากการศึกษาของผู้ที่ต้องการเข้ามาลงทุนผลิตไอศกรีมในประเทศไทย ยังพบว่าไทยนั้นมีความได้เปรียบในแง่ต้นทุนการผลิตต่ำ และมีความได้เปรียบในเรื่องเสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยนเมื่อเทียบกับประเทศต่างๆในภูมิภาคนี้ ซึ่งทำให้การใช้ไทยเป็นฐานในการผลิตเพื่อการส่งออกนั้นมีความเป็นไปได้ในเชิงพาณิชย์ อย่างไรก็ตามสิ่งที่ผู้ประกอบการต้องเร่งดำเนินการคือ พัฒนาตรายี่ห้อของสินค้าให้เป็นที่รู้จักในตลาดส่งออก ประเด็นที่ควรพิจารณาด้วยคือโอกาสในการส่งออกไอศกรีมของไทยสำหรับผู้ประกอบการที่ซื้อแฟรนไชส์มาจากต่างประเทศจะมีความได้เปรียบ โดยเน้นให้ไทยเป็นฐานในการส่งออกไปยังผู้ประกอบการที่ซื้อแฟรนไชส์ในประเทศต่างๆในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นการมองตลาดในภาพรวมที่มีประชากรรวมกัน 400 ล้านคน ตลาดส่งออกไอศกรีมที่น่าสนใจ คือ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์

2.การพัฒนาในเรื่องคุณภาพให้ได้มาตรฐานสากล ซึ่งมีปัจจัยสนับสนุนคือ การที่กระทรวงสาธารณสุขออกประกาศกระทรวงฯเพื่อปรับปรุงมาตรฐานคุณภาพการผลิตไอศกรีม ผลก็คือการขยายปริมาณการบริโภคไอศกรีมในประเทศ โดยเฉพาะตลาดในต่างจังหวัด และเป็นใบเบิกทางอย่างดีสำหรับการขยายการส่งออกในอนาคต

3.นักลงทุนสนใจที่จะเข้ามาตั้งโรงงานผลิตไอศกรีมในประเทศไทย ปัญหาการเข้ามาตั้งโรงงานผลิตไอศกรีมในประเทศไทย คือปริมาณผลิตภัณฑ์นมซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตไอศกรีมยังมีไม่เพียงพอกับความต้องการ และการนำเข้าผลิตภัณฑ์นมเพื่อผลิตไอศกรีมก็มีผลทำให้ต้นทุนการผลิตไอศกรีมอยู่ในเกณฑ์สูง โอกาสในการแข่งขันในตลาดส่งออกลดลง อย่างไรก็ตามจากผลการพัฒนาและส่งเสริมกิจการโคนมของไทย รวมทั้งการที่ไทยต้องเปิดเขตการค้าเสรีกับออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ซึ่งเป็นประเทศที่ส่งออกผลิตภัณฑ์นมที่สำคัญของโลก ดังนั้นราคานำเข้าผลิตภัณฑ์นมนำเข้าจะมีแนวโน้มถูกลงและมีปริมาณเพียงพอกับความต้องการที่จะป้อนอุตสาหกรรมไอศกรีม ทำให้มีความเป็นไปได้มากขึ้นที่จะมีการตั้งโรงงานผลิตไอศกรีมเพื่อการส่งออกในประเทศไทย นับว่าเป็นแนวทางส่งเสริมการคาดการณ์ว่าในอนาคตอันใกล้นี้ประเทศไทยจะกลายเป็นศูนย์กลางการส่งออกไอศกรีมของภูมิภาคนี้

4.ไทยมีศักยภาพในการขยายตลาดส่งออก ปัจจุบันกำลังการผลิตไอศกรีมยังมากเกินกว่าความต้องการของตลาดในประเทศ ซึ่งจากการสำรวจของผู้ประกอบการในธุรกิจไอศกรีมพบว่ากำลังการผลิตไอศกรีมของไทยมีมากกว่าความต้องการ ซึ่งเท่ากับว่าไทยมีกำลังการผลิตเพียงพอที่จะขยายตลาดส่งออก

กล่าวโดยสรุปแล้วธุรกิจไอศกรีมในประเทศไทยยังมีช่องว่างทางการตลาดเปิดกว้าง โดยเฉพาะตลาดไอศกรีมในต่างจังหวัด ซึ่งเมื่อทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาเข้มงวดในเรื่องสุขอนามัยไอศกรีมที่จำหน่ายในท้องตลาด คาดว่าจะทำให้ผู้ประกอบการไอศกรีม โดยเฉพาะไอศกรีมในท้องถิ่นต้องมีการปรับตัวกันอย่างขนานใหญ่ และผู้ที่ปรับตัวไม่ได้ รวมทั้งมีต้นทุนสูงขึ้นไม่สามารถแข่งขันในตลาดได้ ก็คงต้องเลิกกิจการไป ซึ่งจะทำให้เกิดช่องว่างของตลาดไอศกรีมที่ทำให้ผู้ผลิตไอศกรีมที่มีการผลิตที่ได้มาตรฐานแทรกตัวเข้าไปครอบครองตลาดเหล่านี้ได้มากขึ้น ส่วนในตลาดส่งออกนั้นไทยมีปัจจัยเกื้อหนุนหลายประการในการที่จะก้าวขึ้นไปเป็นศูนย์กลางการผลิตไอศกรีมในภูมิภาคนี้ในอนาคต เนื่องจากมีกำลังการผลิตที่เพียงพอ มีวัตถุดิบหลากหลาย ต้นทุนการผลิตอยู่ในเกณฑ์ต่ำ รวมทั้งประเทศในแถบนี้ยังมีความต้องการบริโภคไอศกรีมเพิ่มขึ้น ซึ่งเท่ากับว่ามีตลาดรองรับอยู่แล้ว ทำให้มีนักลงทุนต่างประเทศสนใจเข้ามาลงทุนตั้งโรงงานผลิตไอศกรีมในประเทศไทย และใช้ไทยเป็นฐานในการผลิตเพื่อส่งออกไปยังประเทศต่างๆในภูมิภาคนี้

มูลค่านำเข้า-ส่งออกไอศกรีมของไทย
: ล้านบาท
ปี นำเข้า ส่งออก
2544 52.72 482.14
2545 64.56 491.83
2546 74.13 718.82
2547 116.70 787.50
2548 127.98 732.32
มค.-กพ.2548 16.05 116.62
มค.-กพ.2549 17.66 116.66

ที่มา : กรมศุลกากร รวบรวมโดยบริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด