สงครามราคาอัตราดอกเบี้ย … จับตาจุดเปลี่ยนหลังอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นสูงสุดแล้ว

ในเดือนมีนาคม 2549 ที่ผ่านมา ธนาคารพาณิชย์ไทยและสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐมีการแข่งขันกันช่วงชิงจังหวะความได้เปรียบด้วยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างเข้มข้น โดยเริ่มต้นจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำประเภทต่างๆ ก่อนที่จะตามมาด้วยการนำเสนอผลิตภัณฑ์เงินฝากแบบพิเศษที่มีอายุครบกำหนดที่แตกต่างไปจากรอบปกติ อาทิ 7 เดือน 8 เดือน 9 เดือน หรือ 10 เดือน อีกทั้ง ยังมีอัตราดอกเบี้ยสูงในลักษณะที่ไม่สอดคล้องกับโครงสร้างอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก/เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรในช่วงเวลาดังกล่าว

ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์เงินฝากแบบพิเศษล่าสุด ที่ออกมาสั่นสะเทือนวงการ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เงินฝาก ประเภท 10 เดือน จ่ายอัตราดอกเบี้ยที่ร้อยละ 5.125 ต่อปี ซึ่งมีอัตราดอกเบี้ยสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำประเภท 36 เดือนที่ร้อยละ 4.25 และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลประเภท 1 ปีเฉลี่ยที่ร้อยละ 4.7 ในเดือนมีนาคม หรือแม้แต่อัตราดอกเบี้ยในตลาดซื้อคืนพันธบัตรระยะ 14 วันของธปท. ที่ร้อยละ 4.50 ในปัจจุบัน โดยเป็นที่น่าสังเกตว่า ปรากฏการณ์ของสงครามราคาดังกล่าว เกิดขึ้น ทั้งๆ ที่ระบบธนาคารพาณิชย์ยังมีสภาพคล่องเหลืออยู่ค่อนข้างมาก และการขยายสินเชื่อยังเป็นไปอย่างเชื่องช้า ซึ่งถือว่าแตกต่างจากอดีตที่ธนาคารพาณิชย์มักปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ตามความจำเป็นด้านสภาพคล่องเป็นหลัก

เพื่อตอบข้อสงสัยเกี่ยวกับสาเหตุและแนวโน้มของการแข่งขันด้านราคาดังกล่าว ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงได้รวบรวมประเด็นน่าสนใจต่างๆ ซึ่งสามารถสรุปได้ ดังนี้

? ผลิตภัณฑ์เงินฝากแบบพิเศษ ออกมาเพื่อจุดประสงค์ของการดึงเงินฝาก และหลีกเลี่ยงการขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำเป็นการทั่วไป โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยเห็นว่า การนำเสนอผลิตภัณฑ์เงินฝากแบบพิเศษของธนาคารพาณิชย์ไทยและธนาคารเฉพาะกิจของรัฐในระยะที่ผ่านมา โดยเฉพาะในเดือนมีนาคม ซึ่งเสนออัตราดอกเบี้ยเงินฝากสูงกว่าผลิตภัณฑ์เงินฝากประเภทอื่นๆ ที่มีอายุใกล้เคียงกัน มากนั้น น่าจะมีจุดประสงค์เพื่อดึงเงินฝากและลูกค้าเงินฝากกลับมา หลังจากที่เงินฝากบางส่วนได้ไหลออกไปยังธนาคารพาณิชย์แห่งอื่นที่เสนอราคาเงินฝากและผลิตภัณฑ์เงินฝากที่น่าดึงดูดใจมากกว่าในระยะก่อนหน้า นอกจากนี้ กลยุทธ์เงินฝากแบบพิเศษดังกล่าว ยังช่วยหลีกเลี่ยงการแข่งขันด้านราคา จากปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำเป็นการทั่วไป (นั่นคือ ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำทุกประเภท) ดังเช่นที่เกิดขึ้นในช่วงเดือนมกราคม และต้นเดือนมีนาคม ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนเงินฝากในวงกว้างกว่าการเลือกขึ้นอัตราดอกเบี้ยแบบเฉพาะเจาะจง อีกทั้ง วิธีการเปิดรับฝากเงินแบบพิเศษ ซึ่งมีระยะเวลาจำกัด (ประมาณ 1 เดือน) ยังจะช่วยบรรเทาความเสี่ยงจากการทะลักเข้าของเงินฝากที่มากเกินความต้องการอีกด้วย

ทั้งนี้ การสู้ราคาเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ตลอดช่วงที่ผ่านมา ตอกย้ำถึงความสำคัญในการรักษาฐานเงินฝากที่เพิ่มขึ้น ถึงแม้ว่าทิศทางเศรษฐกิจจะขาดความชัดเจน โดยพฤติกรรมดังกล่าว มีความแตกต่างจากช่วงหลังวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 ซึ่งเป็นช่วงที่ธนาคารพาณิชย์ลดปริมาณเงินฝาก อย่างเห็นได้ชัด ทั้งนี้ คาดว่าการปรับขึ้นเงินฝาก หรือการออกผลิตภัณฑ์เงินฝากแบบใหม่ในระยะนี้ น่าจะมีสาเหตุจากปัจจัยหลายประการ กล่าวคือ ประการแรก การรักษาฐานลูกค้าเงินฝาก มีความสำคัญต่อการทำธุรกิจของธนาคารพาณิชย์มากขึ้น ตามแนวทางการดำเนินธุรกิจแบบ Universal Banking ในแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงินของธปท. โดยการรักษาลูกค้าเงินฝาก มีส่วนช่วยเพิ่มค่าธรรมเนียมรับ อาทิ ค่าธรรมเนียมจากการโอนเงิน และใช้บริการจากช่องทางการขายต่างๆ ของธนาคาร รวมทั้ง การใช้ฐานลูกค้าเดียวกันในการนำเสนอผลิตภัณฑ์การออมและการลงทุนอื่นๆ จากบริษัทลูกในกลุ่มธุรกิจการเงิน อาทิ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม และบริษัทหลักทรัพย์ นอกเหนือไปจากการนำเงินฝากไหลเข้าสุทธิที่ได้ ไปขยายสินเชื่อ (ซึ่งเป็นธุรกิจหลักตั้งแต่อดีต) หรือ ขายไขว้ผลิตภัณฑ์สินเชื่อกับบริการทางการเงินอื่นๆ เพื่อเพิ่มรายได้ค่าธรรมเนียมรับอีกทางหนึ่ง

ประการที่สอง เป็นการดำเนินการเพื่อตอบสนองต่อการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารคู่แข่งในแนวทางที่กระทบต่อความสามารถและฐานะทางการเงินของธนาคารผู้ตามการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในขอบเขตน้อยที่สุด โดยการเลือกกลยุทธ์เพื่อตอบโต้หลังจากที่มีธนาคารคู่แข่งนำการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปแล้วนั้น นอกเหนือจากประเด็นเรื่องสินเชื่อและสภาพคล่องแล้ว ธนาคารผู้ตามคงจะมีการประเมินถึงผลกระทบต่อสถานะทางการเงินของตนว่ามีความอ่อนไหวมากน้อยเพียงใดต่อการไหลออกของเงินฝากไปยังธนาคารคู่แข่ง ตลอดจนทิศทางความเคลื่อนไหวของธนาคารผู้ตามแห่งอื่นๆ ควบคู่ไปกับแหล่งที่มาของรายได้เพื่อใช้ชดเชยต้นทุนส่วนเพิ่มในกรณีที่มีการตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากด้วย ทั้งนี้ หากประเมินแล้วเห็นว่าจำเป็นที่จะต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยตามเพื่อรักษาฐานลูกค้าของตน ธนาคารผู้ตามคงจะมีการชั่งน้ำหนักถึงผลได้และผลเสียจากการสู้ราคากับธนาคารคู่แข่งด้วยการเลือกแนวทางการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่มีความเหมาะสมกับสถานะทางการเงินของตนมากที่สุด ซึ่งจะสะท้อนออกมาผ่านการกำหนดอัตราดอกเบี้ยและลักษณะของผลิตภัณฑ์เงินฝาก (เช่น อายุ วงเงินฝากขั้นต่ำ และเงื่อนไขปลีกย่อยอื่นๆ) ตลอดจน ความรวดเร็วในการเข็นผลิตภัณฑ์เงินฝากดังกล่าวออกมาสู่ตลาด

โดยในกรณีที่ธนาคารผู้ตามวิเคราะห์แล้วว่าได้รับผลกระทบค่อนข้างจำกัดจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารผู้นำ ก็อาจมีความยืดหยุ่นที่จะเลื่อนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยตามออกไปได้ และด้วยขนาดการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยตามในลักษณะที่ไม่แตกต่างไปจากธนาคารผู้นำ เพื่อจุดประสงค์ของการยับยั้งการไหลออกของเงินฝากเป็นหลัก ขณะที่ ในกรณีที่ธนาคารผู้ตามประเมินแล้วว่าได้รับผลกระทบจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารผู้นำมาก ก็อาจส่งผลให้จำเป็นต้องตอบโต้อย่างรวดเร็ว หรือไม่ก็ออกผลิตภัณฑ์ใหม่ในเงื่อนไขที่ดีกว่า/ให้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากสูงกว่าของธนาคารผู้นำ เพื่อดึงเงินฝากกลับคืนมา

? ปัจจัยที่ช่วยให้ธนาคารพาณิชย์สามารถนำเสนอเงินฝากราคาแพงได้ในขณะนี้ น่าจะมาจากรายรับดอกเบี้ยจากสินทรัพย์สภาพคล่อง โดยแม้ว่าล่าสุด ธนาคารพาณิชย์จะเสนอผลิตภัณฑ์เงินฝากแบบพิเศษที่ให้อัตราดอกเบี้ยสูงเหนือร้อยละ 5.0 ซึ่งสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธปท.ที่มีระดับร้อยละ 4.5 ในปัจจุบัน แต่ผลิตภัณฑ์เงินฝากแบบพิเศษที่มีราคาแพงดังกล่าว ถือเป็นส่วนย่อยของยอดเงินฝากรวมทั้งหมดของธนาคาร ดังนั้น จึงทำให้ต้นทุนดอกเบี้ยจ่ายรวมของธนาคารพาณิชย์ น่าจะยังคงอยู่ต่ำกว่าอัตราผลตอบแทนจากสินทรัพย์สภาพคล่อง ซึ่งประกอบด้วยเงินลงทุนในตลาดเงินระยะสั้นในประเทศ (รวมตลาดซื้อคืนพันธบัตรและตลาดอินเตอร์แบงก์ โดยมีอัตราผลตอบแทนขึ้นกับการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธปท.) เงินลงทุนในตลาดเงินระยะสั้นต่างประเทศ (มีจำนวนสูงกว่าเงินลงทุนในตลาดเงินระยะสั้นในประเทศ และมีอัตราผลตอบแทนที่อิงกับการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายในต่างประเทศ) และเงินลงทุนในหลักทรัพย์ (ซึ่งส่วนมากเป็นตราสารหนี้ภาครัฐ และมีอัตราผลตอบแทนที่อิงกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของทั้งในและต่างประเทศ) โดยจากข้อมูลที่คำนวณได้ตามงบการเงินในปี 2548 อัตราผลตอบแทนจากพอร์ตเงินลงทุนในสินทรัพย์สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ 4 แห่ง อยู่ที่ร้อยละ 3.4 เทียบกับต้นทุนเงินฝากเฉลี่ยที่มีระดับเพียงร้อยละ 0.9 ทำให้ธนาคารพาณิชย์มีส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยระหว่างอัตราผลตอบแทนจากสภาพคล่องและต้นทุนเงินฝากข้างต้น อีกประมาณร้อยละ 2.5 ซึ่งส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยดังกล่าว ช่วยให้ธนาคารพาณิชย์สู้อัตราดอกเบี้ยได้ โดยไม่ต้องพึ่งพิงรายได้ดอกเบี้ยรับจากการปล่อยสินเชื่อ (ซึ่งถูกกำหนดโดยปัจจัยด้านเศรษฐกิจ) มากนักในขณะนี้

ทั้งนี้ จากช่วงนี้ไปจนถึงกลางปี 2549 ตลาดยังคาดการณ์การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในตลาดซื้อคืนพันธบัตรระยะ 14 วัน และอัตราดอกเบี้ย Fed Funds อีกร้อยละ 0.25-0.50 อันจะทำให้สินทรัพย์สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์มีอัตราผลตอบแทนที่น่าจะเพิ่มขึ้นในขนาดใกล้เคียงกัน ส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์ไทยน่าจะมีเม็ดเงินที่สามารถนำไปใช้ชดเชยผลกระทบของการขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากแบบพิเศษนี้ได้อีกประมาณ 4.1-8.2 พันล้านบาทต่อปี

อย่างไรก็ตาม รายรับดอกเบี้ยจากสินทรัพย์สภาพคล่องที่สูงขึ้นดังกล่าว คาดว่าจะกระจายออกไปตามส่วนแบ่งตลาดสภาพคล่องของธนาคารแต่ละแห่ง ขณะเดียวกัน รายรับดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นนี้ ส่วนหนึ่งอาจจะถูกหักล้างโดยต้นทุนจากการโยกย้ายเงินฝากระหว่างบัญชีภายในธนาคารเดียวกัน (Deposit Migration) เช่น ผู้ฝากเงินอาจเปลี่ยนจากเงินฝากในบัญชีออมทรัพย์ที่ให้อัตราดอกเบี้ยเพียงร้อยละ 0.75 ในปัจจุบัน มายังบัญชีเงินฝากแบบพิเศษของธนาคารเดียวกันที่ให้อัตราดอกเบี้ยสูงถึงร้อยละ 4.25-5.125 ซึ่งจะทำให้ธนาคารที่เสนอผลิตภัณฑ์เงินฝากแบบพิเศษดังกล่าว ต้องแบกภาระดอกเบี้ยจ่ายที่สูงขึ้น โดยที่อาจไม่ได้เงินฝากใหม่เข้ามาตามเป้าหมาย นั่นหมายความว่า จุดคุ้มทุนของผลิตภัณฑ์เงินฝากแบบพิเศษ หรือการนำเสนอผลิตภัณฑ์เงินฝากที่เงื่อนไขดีขึ้นกว่าเดิม จะต้องมาจากส่วนผสมที่พอดีระหว่าง การโยกย้ายเงินฝากระหว่างบัญชีภายในธนาคาร ที่ไม่มากจนเกินไป ตลอดจนผลรวมระหว่างรายรับดอกเบี้ยส่วนเพิ่มจากสินทรัพย์สภาพคล่องและรายได้จากการปล่อยสินเชื่อ ในระดับที่เพียงพอจะชดเชยต้นทุนเงินฝากส่วนเพิ่มทั้งหมดได้

อันที่จริงแล้ว นอกเหนือจากรายได้ดอกเบี้ยจากเงินให้สินเชื่อ ธนาคารพาณิชย์ไทยอาศัยรายรับจากสภาพคล่องมาช่วยบรรเทาผลกระทบจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่มีต่อฐานะทางการเงิน มาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่เริ่มเข้าสู่วัฏจักรอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นในเดือนสิงหาคม 2547 ทำให้มุมมองของธนาคารพาณิชย์ต่อสภาพคล่องในปัจจุบันนั้น แตกต่างไปจากอดีต หรือจากที่เคยมองว่าสินทรัพย์สภาพคล่องค่อนข้างเป็น “ภาระ” ในช่วงวัฏจักรอัตราดอกเบี้ยขาลง ในระหว่างปี 2541 ถึงกลางปี 2547 มาเป็นบทบาทของ “การช่วยรักษาและเพิ่มความสามารถในการทำกำไร” ในระหว่างช่วงวัฏจักรอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น ดังจะเห็นได้จากอัตราผลตอบแทนจากสินทรัพย์สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ไทยขนาดใหญ่สุด 4 แห่งที่อยู่ที่ร้อยละ 3.4 ในปี 2548 (คำนวณจากงบการเงิน) ขยับขึ้นจากร้อยละ 2.4-2.7 ในปี 2546-2547 ซึ่งเป็นช่วงรอยต่อระหว่างจุดที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายทรงตัวอยู่ที่ระดับต่ำสุดที่ร้อยละ 1.25 (มีระยะเวลาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2546-กรกฎาคม 2547) กับจุดที่ธปท. เริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนสิงหาคม 2547 ขณะที่ หากเปรียบเทียบระหว่างอัตราผลตอบแทนจากสภาพคล่องดังกล่าว กับต้นทุนเงินฝาก (คำนวณจากงบการเงิน) นั้น จะมีส่วนต่างที่เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 1.3-1.5 ในปี 2546-2547 มาที่ร้อยละ 2.5 ในปี 2548

ด้วยสาเหตุที่สินทรัพย์สภาพคล่องยังคงมีอัตราผลตอบแทนที่น่าดึงดูดและเพิ่มขึ้นตามการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากทั้งในและนอกประเทศ จึงทำให้ธนาคารพาณิชย์มีความยืดหยุ่นในการสู้ราคานี้ได้ โดยไม่ต้องพะวงมากนักเกี่ยวกับปริมาณสภาพคล่องส่วนเกินเก่า และสภาพคล่องส่วนเกินใหม่ที่เกิดจากการไหลเข้าของเงินฝากในช่วงสองเดือนแรกของปี 2549 หรือแม้กระทั่งอัตราการปล่อยสินเชื่อที่เชื่องช้า อย่างน้อยก็ในระยะหนึ่ง

? อย่างไรก็ตาม ความเข้มข้นของการแข่งขันด้านราคา น่าจะลดลง หลังจากที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นถึงจุดสูงสุด (Peak) แล้ว โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าสงครามราคาระหว่างธนาคารพาณิชย์ไทย จะยังดำเนินต่อไปในช่วงครึ่งแรกของปี 2549 นี้ เนื่องจากยังเป็นจังหวะที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายทั้งในและนอกประเทศอยู่ในช่วงขาขึ้น อันจะช่วยเพิ่มรายรับดอกเบี้ยจากการลงทุนในสินทรัพย์สภาพคล่องให้กับธนาคารพาณิชย์ ที่ถือเป็นแรงจูงใจในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา

สำหรับในช่วงครึ่งหลังของปี ซึ่งเป็นที่คาดหมายว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายน่าจะผ่านพ้นจุดสูงสุดแล้วนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าความเป็นไปได้ของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ อาจจะลดความเข้มข้นลงจากในช่วงครึ่งปีแรก เนื่องจากสินทรัพย์สภาพคล่องที่ธนาคารพาณิชย์นำไปลงทุนหรือหาอัตราผลตอบแทนในตลาดเงินจะให้อัตราผลตอบแทนที่คงที่ ในขณะที่ ต้นทุนเงินฝากมีแต่จะสูงขึ้น (จากต้นทุนเงินฝากที่เพิ่มขึ้นจากการขยับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำในปีก่อนหน้าและช่วงครึ่งปีแรก) ซึ่งจะทำให้ในภาพรวมแล้วธนาคารพาณิชย์จะมีปัจจัยบวกที่ลดลงสำหรับการสู้ราคาเงินฝาก ดังนั้น ปัจจัยที่จะมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจสู้ราคาของธนาคารพาณิชย์คงจะขึ้นอยู่กับการขยายสินเชื่อมากขึ้น ส่วนสินทรัพย์สภาพคล่อง ก็จะพลิกบทบาทจากการช่วยรักษาและเพิ่มความสามารถในการทำกำไรเมื่อมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากในช่วงครึ่งปีแรก มาเป็น “ภาระ” ในสายตาของธนาคารอีกครั้ง เพราะก่อให้เกิดค่าเสียโอกาส (Opportunity Cost) จากการที่ไม่สามารถนำสภาพคล่องไปลงทุนในช่องทางอื่น (เช่น ปล่อยสินเชื่อ) เพื่อสร้างอัตราผลตอบแทนที่ดีกว่าได้

? สภาพคล่อง เช่น เงินลงทุนในตลาดเงินระยะสั้น มีบทบาทในการช่วย “รักษาและเพิ่มความสามารถในการทำกำไร” และไม่ได้เป็นภาระกับธนาคารพาณิชย์
? ส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์ สู้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากได้ โดยไม่ต้องพะวงมากนักต่อสภาพคล่อง หรือการเติบโตของสินเชื่อที่เชื่องช้า
? ดังนั้น การแข่งขันขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก จึงน่าจะมีความเข้มข้นมากกว่าช่วงหลังจากที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นถึงจุดสูงสุดแล้ว? สภาพคล่องเป็น “ภาระ” ของธนาคารพาณิชย์ เพราะให้อัตราผลตอบแทนคงที่ ขณะที่ต้นทุนเงินฝากเพิ่มขึ้นไล่หลังมาเรื่อยๆ ดังนั้น ความสามารถในการขยายสินเชื่อจะมีความสำคัญมากขึ้นในการกำหนดการแข่งขันด้านราคา เพราะสินเชื่อยังคงให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าต้นทุนเงินฝาก
? ธนาคารพาณิชย์คงพยายามจะลดสินทรัพย์สภาพคล่องลง โดยเปลี่ยนมาเป็นสินเชื่อที่ให้อัตราผลตอบแทนสูงกว่าแทน ซึ่งจะช่วยรองรับผลจากการสู้ราคาเงินฝากได้ในระดับหนึ่ง
? แต่ถ้าธนาคารพาณิชย์ไม่สามารถเปลี่ยนสินทรัพย์สภาพคล่องเป็นสินเชื่อได้เร็วพอ ก็อาจจะต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ เพื่อที่จะรักษาระดับความสามารถในการทำกำไรของธนาคาร แต่การขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้นั้น ก็ขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจด้วย
? ดังนั้น การแข่งขันขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก จึงน่าจะมีความเข้มข้นน้อยกว่าช่วงที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายยังคงเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายขยับขึ้นไปสูงสุดแล้ว หากธนาคารยังคงคาดหวังในเชิงบวกต่อการขยายสินเชื่อ อีกทั้ง ยังได้รับผลตอบแทนจากสินเชื่อในระดับที่น่าพอใจ ก็อาจทำให้การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากยังคงเกิดขึ้นได้ แต่ทั้งนี้ ต้นทุนเงินฝากที่เพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่ อัตราผลตอบแทนในตลาดเงินจะมีระดับที่คงที่จากอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ขึ้นไปสูงสุดแล้วนั้น อาจทำให้ธนาคารที่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจำเป็นต้องอาศัยการเพิ่มอัตราผลตอบแทนของพอร์ตสินทรัพย์ในภาพรวม โดยธนาคารคงจะต้องทยอยแปลงเงินลงทุนในสินทรัพย์สภาพคล่อง (อาทิ เงินลงทุนในตลาดเงินระยะสั้น ที่น่าจะมีความคล่องตัวสูงในการแปลงสภาพ) เป็นเงินให้สินเชื่อที่ให้อัตราผลตอบแทนสูงกว่า อันจะช่วยอุดหนุนการสู้ราคาของธนาคารให้ดำเนินต่อไปได้ในระยะหนึ่ง กระนั้นก็ดี หากการแข่งขันด้านราคารุนแรงมาก และปรากฏว่าการเพิ่มอัตราผลตอบแทนจากพอร์ตสินทรัพย์ตามแนวทางข้างต้น ไม่สามารถดำเนินการได้รวดเร็ว จากปัญหาในการปล่อยสินเชื่อ ธนาคารก็อาจพิจารณาแนวทางถัดไป นั่นคือ การขอปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ (ซึ่งคงจะเกิดขึ้นพร้อมกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ) เพื่อช่วยรักษาความสามารถในการทำกำไร แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ดังกล่าว ธนาคารจะต้องประเมินแล้วว่า ลูกค้าสินเชื่อมีความสามารถที่จะแบกรับต้นทุนของเงินทุนที่สูงขึ้นได้โดยไม่ส่งผลกระทบต่อความต้องการสินเชื่อและคุณภาพหนี้ ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว ก็คงจะขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจเป็นหลัก ทำให้ในภาพรวมแล้ว จะเห็นได้ว่า การแข่งขันกันปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ น่าจะลดความเข้มข้นลง หลังจากที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นไปที่ระดับสูงสุดแล้ว

บทสรุป

ในไตรมาสแรกของปี 2549 ที่ผ่านมา ธนาคารพาณิชย์ไทยและสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ มีการแข่งขันช่วงชิงจังหวะความได้เปรียบด้วยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างเข้มข้น และล่าสุดได้มีการนำเสนอผลิตภัณฑ์เงินฝากแบบพิเศษที่มีอายุครบกำหนดแตกต่างไปจากรอบปกติ อีกทั้งมีอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าโครงสร้างเงินฝากทั่วไป ตลอดจนอัตราผลตอบแทนในตลาดซื้อคืนพันธบัตรประเภท 14 วันของธปท.แล้ว

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากแบบพิเศษดังกล่าว ช่วยให้ธนาคารพาณิชย์หลบหลีกผลกระทบจากการแข่งขันด้านราคาที่อาจนำมาสู่ความจำเป็นในการขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำเป็นการทั่วไป (ขึ้นทุกประเภท) อันจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนทางการเงินของธนาคารในวงกว้างได้ ขณะเดียวกัน ก็ช่วยให้สามารถรักษาฐานลูกค้าเงินฝากไว้ได้เช่นกัน โดยการไฟแนนซ์ต้นทุนดอกเบี้ยจ่ายจากผลิตภัณฑ์เงินออมราคาแพงนี้ คาดว่าส่วนที่สำคัญจะมาจากรายได้จากสินทรัพย์สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ ซึ่งน่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากทั้งในและนอกประเทศ โดยในขณะนี้ ตลาดยังคาดหมายขนาดการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในตลาดซื้อคืนพันธบัตรระยะ 14 วันของธปท. และอัตราดอกเบี้ย Fed Funds อีกร้อยละ 0.25-0.50 ภายในกลางปี 2549 อันหมายความถึงเม็ดเงินส่วนเพิ่มอีกประมาณ 4.1-8.2 พันล้านบาทต่อปี ที่จะสามารถนำไปใช้ชดเชยต้นทุนผูกพันจากสงครามราคานี้ได้

สำหรับแนวโน้มการแข่งขันด้านราคาในระยะต่อไปนั้น เนื่องจากเป็นที่คาดหมายว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยและต่างประเทศ จะยังคงอยู่ในจังหวะขาขึ้นจนถึงกลางปี 2549 นี้ อันจะเป็นผลดีต่อพอร์ตเงินลงทุนในสินทรัพย์สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ ดังนั้น จึงคาดว่าการแข่งขันด้านราคาระหว่างธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ อาจยังคงเข้มข้นต่อไปในไตรมาสที่ 2 ของปี 2549 โดยอาจเห็นการนำเสนอผลิตภัณฑ์เงินฝากในรูปแบบและเงื่อนไขที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม สำหรับในช่วงครึ่งหลังของปีที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายคงผ่านจุดสูงสุดแล้วนั้น คาดว่าสงครามราคาน่าจะลดความเข้มข้นลง เพราะธนาคารพาณิชย์คงจะสามารถพึ่งพิงรายรับส่วนเพิ่มจากเงินลงทุนในสินทรัพย์สภาพคล่องเพื่อมาช่วยชดเชยผลลบจากสงครามราคานี้ ได้ลดลง ส่งผลให้การสู้ราคาจะขึ้นอยู่กับการขยายตัวของสินเชื่อ ทำให้ในที่สุดแล้ว แนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย หลังจากที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายได้ผ่านจุดสูงสุดแล้วนั้น จะถูกกำหนดโดยภาวะเศรษฐกิจจริง และความสามารถในการขยายสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์เป็นหลัก แตกต่างไปจากในช่วงก่อนที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายจะขึ้นไปที่ระดับสูงสุดซึ่งธนาคารได้รับผลกำไรจากการลงทุนในสินทรัพย์สภาพคล่องมาชดเชยต้นทุนจากการแข่งขันด้านราคา