อนุมัติถอนหุ้นยูโอบีออกจากตลาดหลักทรัพย์

ผู้ถือหุ้นธนาคารยูโอบีอนุมัติให้ถอนหุ้นธนาคารออกจากการเป็นบริษัทหลักทรัพย์จดทะเบียน ย้ำไม่กระทบการให้บริการและการดำเนินธุรกิจสถาบันการเงินต้องทำตามกฎเกณฑ์แบงก์ชาติทุกประการ พร้อมคงสถานะบริษัทมหาชนนอกตลาดหลักทรัพย์ พร้อมขอใช้ชื่อใหม่ เรียกสั้นๆ เพียงแค่ “ธนาคารยูโอบี” ให้คุ้นลิ้นคนไทยในการเรียกขาน

การประชุมผู้ถือหุ้นสามัญประจำปี 2549 ของธนาคารยูไนเต็ด โอเวอร์ซีส์ (ไทย) จำกัด (มหาชน) หรือธนาคารยูโอบี ได้อนุมัติการถอนหุ้นของธนาคารออกจากการเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ตามข้อเสนอของกลุ่มธนาคารยูไนเต็ด โอเวอร์ซีส์ สิงคโปร์ ซึ่งเป็นธนาคารแม่และถือหุ้นจำนวนร้อยละ 98.52 ในธนาคารยูโอบี โดยเมื่อสิ้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา กลุ่มธนาคารยูโอบี สิงคโปร์ได้เสนอขอจัดทำคำเสนอซื้อหุ้นสามัญจากผู้ถือหุ้นเป็นการทั่วไป เพื่อการถอนหุ้นของธนาคารออกจากการเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในราคาหุ้นละ 6.84 บาท โดยราคาดังกล่าวสูงกว่าราคาปิดเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2549 ที่มีราคาหุ้นละ 5.35 บาท ถึง 27%

คณะกรรมการธนาคารได้แต่งตั้งบริษัทหลักทรัพย์ อินเทล วิชั่น จำกัด (มหาชน) ที่ปรึกษาทางการเงินอิสระเข้าร่วมพิจารณาความสมเหตุสมผลของราคา เพื่อรายงานผู้ถือหุ้นรายย่อยของธนาคาร ซึ่งบริษัทอินเทล วิชั่น ให้ความเห็นว่า ราคาการเสนอซื้อหุ้นละ 6.84 บาท เป็นราคาที่สมเหตุสมผลและเป็นธรรมสำหรับทุกฝ่าย

นายคิม ชุง หว่อง กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารยูไนเต็ด โอเวอรซีส์ (ไทย) จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ธนาคารได้ตัดสินใจถอนหุ้นออกจากการเป็นบริษัทจดทะเบียน เนื่องมาจากกลุ่มธนาคารยูโอบีเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของธนาคาร และถือหุ้นในสัดส่วนมากถึงร้อยละ 98.52 ขณะเดียวกันธนาคารไม่มีความจำเป็นต้องระดมทุนจากตลาดหลักทรัพย์ในช่วงอนาคตอันใกล้นี้ โดยกลุ่มธนาคารยูโอบีเป็นหนึ่งในธนาคารชั้นนำใน

ภูมิภาคเอเชีย มีขนาดสินทรัพย์มากถึง 145,100 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ มีส่วนของผู้ถือหุ้น 14,900 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ และได้รับการยอมรับด้วยอันดับเครดิตความน่าเชื่อถือจากสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือชั้นนำ อาทิ มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส, แสตนดาร์ด แอนด์พัวร์, ฟิตช์ เรตติ้งส์ และแคปิตอล อินเทลลิเจนซ์ พร้อมกันนี้ กลุ่มธนาคาร ยูโอบีได้ประกาศความมุ่งมั่นในการลงทุนระยะยาว และพร้อมให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่กับธนาคารยูโอบี ในประเทศไทย

กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารยูโอบี ได้ย้ำว่า “ภายหลังการถอนหุ้นออกจากตลาดหลักทรัพย์ฯ ธนาคารยังต้องดำเนินการภายใต้กฎระเบียบและการกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รวมทั้งยังคงเป็นบริษัทมหาชน ตามกฎหมายบริษัทมหาชน ต้องรายงานและดำเนินการตามกฎหมายกับทางกระทรวงพาณิชย์ในทุกกรณี และคาดว่าการดำเนินการขั้นตอนทั้งหมดจะแล้วเสร็จในช่วงไตรมาส 3 ของปี 2549 นี้”

พร้อมกันนี้ ที่ประชุมผู้ถือหุ้นได้อนุมัติการเปลี่ยนแปลงชื่อภาษาไทยของธนาคาร จาก “ธนาคารยูไนเต็ด โอเวอร์ซีส์ (ไทย) จำกัด (มหาชน)“ เป็น “ธนาคารยูโอบี จำกัด (มหาชน)” ด้วยเหตุผลในเรื่องการตลาด เพราะปกติของคนไทยชอบการใช้ภาษาที่สั้นจดจำง่าย และสะดวกในเรียกขาน ธนาคารจึงเห็นว่าชื่อ “ธนาคารยูโอบี” ซึ่งเป็นชื่อย่อที่ธนาคารใช้มาในระยะเวลาหนึ่งเป็นที่รู้จักคุ้นเคยของผู้บริโภคคนไทยแล้ว จึงเสนอที่ประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อขอเปลี่ยนชื่อในส่วนของภาษาไทย สำหรับชื่อภาษาอังกฤษยังใช้ชื่อเต็มว่า “United Overseas Bank (Thai) Public Company Limited”