เลขาฯบีโอไอ มั่นใจภาวะการลงทุนไตรมาส 2 จะสดใส หลังสถานการณ์ทางการเมืองคลี่คลาย ส่วนการลงทุนไตรมาสแรกปี 2549 มีโครงการขอรับส่งเสริมจำนวน 314 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 85,600 ล้านบาท โดยอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้ายื่นขอรับส่งเสริมมากที่สุด เพื่อรับสิทธิประโยชน์ใหม่ รองลงมาเป็นอุตสาหกรรมบริการ และปิโตรเคมี
นายสาธิต ชาญเชาวน์กุล เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ภาวะลงทุนในช่วงไตรมาสแรก (ม.ค.-มี.ค.) ของปี 2549 เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น แม้ไทยจะเผชิญกับปัญหาทางการเมืองในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติรายใหม่ที่ยังไม่เคยเข้ามาลงทุนในไทย ต่างชะลอดูความชัดเจนของนโยบายการเมือง เพราะไม่มั่นใจในสถานการณ์ที่เกิดขึ้น โดยยอดขอรับส่งเสริมการลงทุน ในช่วงไตรมาสแรกนี้ มีจำนวน 314 โครงการ คิดเป็นมูลค่า 85,600 ล้านบาท เกิดการจ้างงานกว่า 72,000 คน ซึ่งแม้เม็ดเงินจะลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วถึงร้อยละ 52 เนื่องจากปี 2548 มีโครงการลงทุนขนาดใหญ่ในกลุ่มยานยนต์และชิ้นส่วน กิจการผลิตพลังงานไฟฟ้าหรือไอน้ำ เข้ามาขอรับส่งเสริมคิดเป็นมูลค่ากว่า 100,000 ล้านบาท
สำหรับอุตสาหกรรมที่ได้รับความสนใจเข้ามาลงทุนมากที่สุดคือ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า มีมูลค่าการลงทุนรวมกว่า 25,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วกว่าร้อยละ 37 ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนผลิต PCB และ PCBA ชิ้นส่วน HDD และเครื่องใช้ไฟฟ้า ที่มีมูลค่าการลงทุนรวมกว่า 15,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลมาจากการปรับปรุงสิทธิประโยชน์อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าของสำนักงานฯ เมื่อ เดือนธันวาคม 2548 ที่ผ่านมา
ส่วนกิจการที่มีความสนใจลงทุนเป็นอันดับสอง คือ อุตสาหกรรมบริการและสาธารณูปโภค มีมูลค่าการลงทุนรวม 22,800 ล้านบาท มีโครงการลงทุนที่สำคัญ ได้แก่ กิจการโรงผลิตพลังงานไฟฟ้า และไอน้ำ กิจการที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยหรือปานกลาง (บ้านเอื้ออาทร) ซึ่งมีมูลค่าการลงทุนรวมสูงถึงกว่า 17,000 ล้านบาท
รองลงมาเป็นอุตสาหกรรมอุตสาหกรรมปิโตรเคมี กระดาษ และพลาสติก มีมูลค่าการลงทุนรวมกว่า 13,500 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วกว่า 3 เท่า ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในกิจการผลิตชิ้นส่วนพลาสติก สำหรับผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ และยานยนต์
การลงทุนจากต่างประเทศ คิดเป็นมูลค่า 6 หมื่นล้านบาท
นายสาธิต กล่าวต่อไปว่า ไตรมาสแรกปีนี้ การลงทุนต่างชาติ คิดเป็นมูลค่ากว่า 60,000 ล้านบาท นักลงทุนต่างชาติรายใหญ่ยังคงเป็นประเทศญี่ปุ่นที่ยังครองแชมป์การลงทุนในไทยสูงสุด ทั้งจำนวนโครงการและเงินลงทุน รองลงมาเป็นกลุ่มยุโรป และอาเซียน ตามลำดับ
สำหรับแนวโน้มการลงทุนในช่วงไตรมาสที่ 2 นั้น คาดว่าจะมีทิศทางการลงทุนที่เพิ่มขึ้น ซึ่งในขณะนี้มีโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่มีมูลค่าการลงทุนสูงสนใจเข้ามาลงทุนในไทยเพิ่ม และภายหลังจากที่สถานการณ์ทางการเมืองเริ่มคลีคลายไปในทางที่ดีขึ้น ทางบีโอไอจึงจำเป็นที่จะต้องเร่งเดินสายโรดโชว์ เพื่อสร้างความมั่นใจและความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนต่างชาติตัดสินใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งยังเชื่อว่ายอดขอรับส่งเสริมการลงทุนในปีนี้น่าจะเป็นเป้าตามเป้าหมายที่ตั้งไว้จำนวน 800,000 ล้านบาท