ฟิทช์ประกาศเพิ่มอันดับเครดิตของธนาคารกรุงศรีอยุธยา

ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศเพิ่มอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว (Long-term Foreign Currency Issuer Default Rating (“IDR”)) ของธนาคารกรุงศรีอยุธยา (“BAY”) เป็น ‘BB+’ แนวโน้มมีเสถียรภาพ จากระดับ ‘BB’ อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศของหุ้นกู้ด้อยสิทธิปรับเพิ่มเป็น ‘BB’ จาก ‘BB-’ (BB ลบ) อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวปรับเพิ่มเป็น ‘A(tha)’ แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ จาก ‘A-(tha)’ (A ลบ (tha)) และอันดับเครดิตภายในประเทศของหุ้นกู้ด้อยสิทธิปรับเพิ่มเป็น ‘A-(tha)’ (A ลบ (tha)) จาก ‘BBB+(tha)’ อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินและอันดับเครดิตสนับสนุนที่ ‘D’ และ ‘3’ ตามลำดับ ยังคงอันดับที่ระดับเดิม การปรับเพิ่มอันดับเครดิตในครั้งนี้ได้สะท้อนถึงผลกำไรที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ทางธนาคารยังคงมีความเสี่ยงจากการกันสำรองหนี้สูญ แต่การเติบโตของรายได้และการใช้สิทธิแปลงสภาพใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญของผู้ถือหุ้นจะช่วยให้ BAY เพิ่มความแข็งแกร่งของระดับการกันสำรองหนี้สูญและระดับความพอเพียงของเงินกองทุนได้

แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพเมื่อพิจารณาถึงผลกำไรจากการดำเนินงานหลักและคุณภาพสินทรัพย์ที่น่าจะสามารถรักษาไว้ได้ในระดับเดิมแม้ว่าสภาวะการดำเนินงานจะมีความท้าทายมากขึ้นในปี 2549 การลดลงของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้และหนี้ที่ผ่านการปรับโครงสร้างอย่างมีนัยสำคัญ และระดับการกันสำรองหนี้สูญและสถานะของเงินกองทุนที่แข็งแกร่งขึ้นในอนาคต เป็นสิ่งจำเป็นในการสนับสนุนอันดับเครดิตของธนาคารให้ดีขึ้น เมื่อพิจารณาถึงส่วนแบ่งการตลาดทางด้านเงินฝากของ BAY และความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศไทย มีความเป็นไปได้ในระดับปานกลางที่ธนาคารจะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล หากต้องการความช่วยเหลือ

BAY รายงานผลกำไรสุทธิที่ 6.1 พันล้านบาท ในปี 2548 เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจาก 4.7 พันล้านบาท ในปี 2547 โดยได้รับการสนับสนุนในเบื้องต้นจากการเติบโตของการให้สินเชื่อที่แข็งแกร่งขึ้น รายได้จากค่าธรรมเนียมที่สูงขึ้น รวมทั้งกำไรจากเงินลงทุนและกำไรจากการขายทรัพย์สินรอการขายที่สูงขึ้น อัตรากำไรส่วนต่างดอกเบี้ยสุทธิ (“NIM”) ได้ปรับตัวสูงขึ้นเป็น 2.7% ในปี 2548 จาก 2.5% ในปี 2547 หลังจากที่มีการไถ่ถอนหุ้นบุริมสิทธิควบหุ้นกู้ด้อยสิทธิในเดือนมีนาคม 2547 รวมทั้งเป็นผลสืบเนื่องมาจากการเติบโตของการให้สินเชื่อ และคุณภาพสินทรัพย์ที่ปรับตัวดีขึ้น ในปี 2548 อัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์เฉลี่ยและอัตราผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้นเฉลี่ยก็ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็น 1% และ 16.8% ตามลำดับ ในไตรมาสแรกของปี 2549 BAY ยังคงรายงานผลประกอบการที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยผลกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นเป็น 1.8 พันล้านบาท จาก 1.5 พันล้านบาท ในไตรมาสแรกของปี 2548 เนื่องมาจากการเติบโตของสินเชื่อและอัตราดอกเบี้ยการให้กู้ยืมที่สูงขึ้น แม้ว่าต้นทุนในการปล่อยสินเชื่อที่สูงขึ้นอาจจะจำกัดอัตรากำไรส่วนต่างดอกเบี้ยที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต

ระดับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ทั้งสิ้นที่ 64.9 พันล้านบาท หรือเทียบเท่ากับ 14.3% ของยอดสินเชื่อทั้งหมด ณ สิ้นปี 2548 ลดลงจาก 65.6 พันล้านบาท หรือเทียบเท่า 15.6% ของยอดสินเชื่อทั้งหมด ณ สิ้นปี 2547 โดยมีสาเหตุหลักจากการตัดบัญชีหนี้สูญ ระดับการกันสำรองหนี้สูญ (“LLRs”) ณ สิ้นปี 2548 อยู่ที่ระดับ 21.4 พันล้านบาท โดยระดับการกันสำรองหนี้สูญดังกล่าวเท่ากับ 33% ของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ทั้งหมด ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำกว่าธนาคารอื่นในประเทศไทย ชี้ให้เห็นถึงความเสี่ยงที่ธนาคารอาจต้องกันสำรองหนี้สูญเพิ่มเติมในอนาคต BAY ได้ให้เหตุผลถึงระดับสำรองหนี้สูญที่ต่ำของธนาคารว่าเป็นผลสืบเนื่องมาจากการที่ธนาคารมีระดับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ที่เกิดจากสินเชื่อที่ทำการปล่อยกู้ร่วมกับเจ้าหนี้รายอื่นอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าธนาคารอื่น และสัดส่วนที่สูงกว่าของสินเชื่อที่มีหลักประกันซึ่งปล่อยให้กับธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง

ณ สิ้นปี 2548 เงินกองทุนทั้งหมดของ BAY ได้เพิ่มขึ้นเป็น 11% ของสินทรัพย์เสี่ยง จาก 10.7% ของสินทรัพย์เสี่ยง ณ สิ้นปี 2547 โดยเงินกองทุนขั้นที่ 1 เพิ่มขึ้นเป็น 6.6% จาก 6.2% โดยมีสาเหตุมาจากการเติบโตของผลกำไรและการใช้สิทธิแปลงสภาพใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญของผู้ถือหุ้น อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนดังกล่าวจะไม่ได้นำผลกำไรของครึ่งปีหลังของปี 2548 มาคำนวณด้วย หากนำผลกำไรสุทธิดังกล่าวมารวมในการคำนวณแล้ว เงินกองทุนทั้งหมดของ BAY จะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ประมาณ 11.6% และ 7.2% ตามลำดับ แม้ว่าอัตราส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หลังหักสำรองหนี้สูญต่อส่วนของผู้ถือหุ้นของธนาคารยังคงอยู่ในระดับที่สูงมากที่ 110.8% การฟื้นตัวของรายได้และการใช้สิทธิแปลงสภาพใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญของผู้ถือหุ้น ในระยะเวลา 2 ถึง 3 ปีข้างหน้า อาจช่วยฟื้นฟูระดับเงินกองทุนที่จะช่วยในการรองรับความเสี่ยงต่างๆได้

ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ก่อตั้งขึ้นในปี 2488 และเป็นธนาคารพาณิชย์ที่ใหญ่เป็นอันดับ 6 ของประเทศไทย โดยมีสาขาทั้งสิ้น 502 สาขา ส่วนแบ่งการตลาดทางด้านสินเชื่อของธนาคารอยู่ที่ 9.2% ของสินเชื่อทั้งหมดในระบบ และส่วนแบ่งการตลาดทางด้านเงินฝากอยู่ที่ 9.6% ธนาคารมีบริษัทในเครือซึ่งดำเนินธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ ธุรกิจประกันภัย ธุรกิจบริหารกองทุน และธุรกิจเช่าซื้อ ตระกูลรัตนรักษ์ ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นหลัก ได้ควบคุมการบริหารงานของธนาคารตั้งแต่ในช่วงปลายทศวรรษ 2500 โดยการถือหุ้นของตระกูลรัตนรักษ์และกลุ่มที่เกี่ยวข้อง มีสัดส่วนประมาณ 37% ของหุ้นทั้งหมดของธนาคารกรุงศรีอยุธยา และยังคงมีบทบาทอยู่ในคณะกรรมการและคณะผู้บริหารของธนาคาร