ผลประกอบการ ทรู ขยายตัวต่อเนื่องในไตรมาสแรกปี 49 เป็นผลจากทรูมูฟและยูบีซี ในขณะที่รายได้และ EBITDA ของทั้งกลุ่มบริษัทเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ทรูมูฟยังมีรายได้สูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยยอดผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและคาดว่าจะสามารถบรรลุเป้าหมายปีนี้ได้ นอกจากนั้นผลประกอบการธุรกิจโทรศัพท์พื้นฐานมีพัฒนาการดีขึ้นจากบริการ บรอดแบนด์ สำหรับลูกค้าบุคคลทั่วไป ซึ่งเติบโตขึ้นอย่างสม่ำเสมอและจากการที่ ทรู รับรู้ผลการดำเนินงานของยูบีซีอย่างเต็มที่ จึงทำให้รายได้จากบริการวิดีโอและข้อมูล (Non-voice revenues) มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น พร้อมกันนั้น อนุญาโตตุลาการยังมีคำชี้ขาดให้ทรูชนะคดีข้อพิพาทค่าเชื่อมโยงโครงข่ายกับ ทีโอที
ผลการดำเนินงาน ของบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ประจำไตรมาสที่ 1 เติบโตอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นผลมาจากการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่โดยทรูมูฟ และการรับรู้ผลการดำเนินงานอย่างเต็มที่ จาก ยูบีซี ซึ่งเป็นผู้ให้บริการโทรทัศน์ระบบบอกรับสมาชิก
ทรูมีรายได้จากการบริการรวมจำนวน 12.9 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 25.2 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 4 ของปี 2548 และเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.5 จากไตรมาสเดียวกันในปีที่ผ่านมา โดยมีกำไรจากการดำเนินงาน ก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าใช้จ่ายตัดจ่าย หรือ EBITDA จำนวน 4.8 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 24.6 จากไตรมาสก่อนหน้า และเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.6 จากไตรมาสเดียวกันในปี 2548 และอัตราการทำกำไร ณ ระดับ EBITDA (EBITDA margin) อยู่ที่ร้อยละ 35.6 ซึ่งเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันเมื่อปีที่ผ่านมา ทั้งนี้เนื่องจากธุรกิจโทรศัพท์พื้นฐานมีอัตราการทำกำไรที่ดีขึ้น
ในไตรมาสแรกของปี 2549 กลุ่มบริษัททรูมีกำไรสุทธิ 498 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นผลมาจากกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนจำนวน 1.3 พันล้านบาท โดยมีขาดทุนจากผลการดำเนินงานปกติ ไม่รวมรายการพิเศษ ลดลงร้อยละ 31.1 จากไตรมาส 4 ปี 2548 เป็น 865 ล้านบาท
นายศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหาร กล่าวว่า “ในไตรมาสนี้ ทรูมูฟมียอดผู้ใช้บริการรายใหม่เพิ่มขึ้นสุทธิจำนวน 441,000 ราย และยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทำให้มั่นใจว่าจะสามารถบรรลุเป้าหมาย คือมีผู้ใช้บริการรายใหม่เพิ่มขึ้นสุทธิ 1.2 ล้านราย ซึ่งจะทำให้มียอดผู้ใช้บริการรวม 5.7 ล้านราย ณ สิ้นปี 2549”
การเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ใช้บริการดังกล่าว ส่งผลให้ทรูมูฟมีรายได้สูงสุดเป็นประวัติการณ์จากการให้บริการ เป็นจำนวน 5.6 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.3 จากไตรมาสก่อนหน้า และเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.4 จากไตรมาสเดียวกันในปีที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม จากการที่มีค่าใช้จ่ายต่างๆ เพิ่มขึ้น โดยส่วนหนึ่งเป็นค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการรีแบรนด์ ทำให้ ทรูมูฟมี EBITDA ลดลงร้อยละ 3 จากไตรมาสก่อนหน้า แต่ยังคงใกล้จุดคุ้มทุน ด้วยผลขาดทุนสุทธิจำนวน 342 ล้านบาท
รายได้จากธุรกิจ Wireline ของทรู (รวมบริการโทรศัพท์พื้นฐาน บริการข้อมูล บริการบรอดแบนด์และอินเทอร์เน็ต PCT และอื่นๆ) เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.3 จากไตรมาสก่อนหน้า และเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.9 จากไตรมาสเดียวกันในปีที่แล้ว ทั้งนี้ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากบริการบรอดแบนด์สำหรับลูกค้าบุคคลทั่วไปและอินเทอร์เน็ต รวมทั้งบริการอื่นๆ มีรายได้เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา EBITDA เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.3 และ EBITDA Margin เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 45.2 จากร้อยละ 39.9 ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการลดลงของค่าใช้จ่ายด้านการขายและกิจกรรมส่งเสริมการขาย
บริการบรอดแบรนด์สำหรับลูกค้าบุคคลทั่วไปมีจำนวนผู้ใช้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่รายได้เฉลี่ยต่อเลขหมายต่อเดือน (ARPU) ค่อนข้างทรงตัว ทั้งนี้รายได้จากการให้บริการในไตรมาสที่ 1 ปี 2549 เพิ่มขึ้นร้อยละ 8 จากไตรมาส 4 ปี 2548 และร้อยละ 49 จากไตรมาส 1 ในปีที่ผ่านมา โดยมียอดผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.5 ในไตรมาสนี้ คิดเป็นจำนวนรวม 335,000 ราย
ทรูรับรู้ผลการดำเนินงานของยูบีซีอย่างเต็มที่ นับตั้งแต่ต้นไตรมาสที่ 1 ปี 2549 การควบรวมกิจการ ยูบีซี ทำให้ทรูสามารถดำเนินยุทธศาสตร์ในการเป็นผู้ให้บริการสื่อสารครบวงจร (Triple Player) ได้อย่างสมบูรณ์ ในไตรมาสแรกของปีนี้ ยูบีซีมีผลประกอบการดีขึ้น โดยมีรายได้จากการให้บริการจำนวน 2.0 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.8 จากไตรมาสเดียวกันในปีที่ผ่านมา และมี EBITDA เพิ่มขึ้นร้อยละ 34.8 ในช่วงเวลาเดียวกัน เป็นจำนวน 535 ล้านบาท และ EBITDA Margin เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 26 เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานลดลง
ทั้งนี้ยูบีซีมีกำไรสุทธิ 214 ล้านบาท และมีกระแสเงินสดสุทธิ (กระแสเงินสดจากการดำเนินงาน หักค่าใช้จ่ายในการลงทุน) เพิ่มขึ้นเป็นจำนวน 252 ล้านบาท
“ทรูคาดว่ายูบีซีมีโอกาสเติบโตอย่างมากในอนาคต” นายศุภชัยกล่าว “ในช่วงต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา ยูบีซีได้เปิดตัว UBC Knowledge (Bronze) Package สำหรับกลุ่มลูกค้าระดับล่าง เพื่อขยายฐานลูกค้าของยูบีซี ในขณะเดียวกันก็เป็นการขยายฐานลูกค้าให้กับบริการต่างๆ ในกลุ่มบริษัททรู ซึ่งเป็นไปตามนโยบายที่มุ่งประสานผลิตภัณฑ์และบริการภายในกลุ่มเข้าด้วยกัน ทั้งนี้ ทรูได้รับการตอบรับที่ดีจากตลาด”
“การรับรู้ผลการดำเนินงานของยูบีซีเต็มจำนวน และการขยายตัวของบริการบรอดแบนด์สำหรับลูกค้าบุคคลทั่วไป ทำให้สัดส่วนรายได้จากบริการด้านวิดีโอและข้อมูล ของทรูเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 28 ของรายได้รวม จากร้อยละ 11 ในไตรมาสเดียวกันของปีที่ผ่านมา”
“ในอนาคต คาดว่าบริการด้านวิดีโอและข้อมูลจะยังคงเติบโตต่อเนื่องต่อไปและจะมีบทบาทสำคัญในการสร้างผลตอบแทนแก่ผู้ถือหุ้นในระยะยาว” นายศุภชัยกล่าว
นายวิลเลียม แฮริส หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านการเงิน กล่าวว่า “งบดุลของทรูมีการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยบริษัทยังคงมุ่งเน้นการลดหนี้สินของกลุ่มธุรกิจ Wireline ซึ่งในไตรมาสนี้ บริษัทได้ใช้คืนหนี้ จำนวน 1.3 พันล้านบาท ทำให้กลุ่มธุรกิจนี้มีอัตราส่วนหนี้สินต่อ EBITDA ลดลงเป็น 4.0 เท่า โดยอัตราส่วนหนี้สินต่อ EBITDA ของกลุ่มบริษัทโดยรวมลดลงเป็น 4.3 เท่า นอกจากนั้น ทรูมีกระแสเงินสดสุทธิจากรายจ่ายลงทุนจำนวน 974 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นทั้งจากไตรมาสที่ 4 ปี 2548 และไตรมาสที่ 1 ของปี 2548 จากยูบีซีและทรูมูฟ”
ทรูยังมีความก้าวหน้าเกี่ยวกับด้านการกำกับดูแล โดยคณะอนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาดให้ทรูชนะข้อพิพาทเกี่ยวกับค่าเชื่อมโยงโครงข่ายกับ ทีโอที นายศุภชัยกล่าวในที่สุด
หมายเหตุ ในข่าวฉบับนี้ คำว่า ทรู, บริษัทฯ, บริษัทย่อย และ/หรือบริษัทร่วม หมายถึง บริษัททรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และ/หรือ บริษัทร่วม และ/หรือ บริษัทย่อย