จากรายงานของกรมศุลกากร พบว่า มูลค่าการส่งออกของเด็กเล่นของไทยในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเป็นไปในทิศทางที่ค่อนข้างถดถอยลงตามลำดับ โดยในปี 2545 มูลค่าการส่งออกสินค้าดังกล่าวของไทยมีอัตราการขยายตัวลดลงร้อยละ 3.01 และลดลงอีกในปี 2546 ในระดับร้อยละ 10.87 ส่วนปี 2547 อัตราการเติบโตลดลงร้อยละ 3.34 ขณะที่ในปี 2548 สถานการณ์การส่งออกสินค้ากลุ่มนี้ของไทยก็ยังคงปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องในระดับอัตราการเติบโตที่ลดลงประมาณร้อยละ 2.52 แต่ทั้งนี้เป็นที่น่าสังเกตว่า ในช่วงไตรมาสแรกปี 2549 การส่งออกของเด็กเล่นไทยกลับมีทิศทางที่กระเตื้องขึ้นอย่างมากด้วยมูลค่าการส่งออก 1,606.1 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราการเติบโตร้อยละ 15.36 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ทั้งนี้ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นผลมาจากผู้ผลิตของเด็กเล่นเพื่อการส่งออกของไทยได้มีการพัฒนาและปรับปรุงเครื่องจักรให้ทันสมัยขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตทั้งด้านปริมาณและคุณภาพของสินค้า จนเป็นที่ยอมรับของตลาดต่างประเทศ อีกทั้งรัฐบาลยังได้มีการปรับลดอัตราภาษีนำเข้าวัตถุดิบสำหรับสินค้าเพื่อช่วยลดความเสียเปรียบด้านต้นทุนบางรายการ
สำหรับสถานการณ์การส่งออกของเด็กเล่นของไทยในปี 2549 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า น่าจะกระเตื้องขึ้นพอสมควรเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า และอาจจะเป็นปีแรกในช่วงหลายปีที่ผ่านที่อัตราการเติบโตเป็นบวก ด้วยระดับการเติบโตประมาณร้อยละ 5-10 หรือคิดเป็นมูลค่าการส่งออกกว่า 8,000 ล้านบาท
โดยปัจจัยที่เกื้อหนุนให้การส่งออกของเด็กเล่นของไทยในปี 2549 สามารถกระเตื้องขึ้นจากปีก่อนได้นั้น ประกอบด้วย
1. เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลัก อย่างเช่น สหรัฐฯ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น ที่มีแนวโน้มกระเตื้องขึ้นตามลำดับ ทำให้สินค้าของเด็กเล่นของไทยน่าจะมีโอกาสที่ดีขึ้นในตลาดหลักดังกล่าว
2. สินค้าของเด็กเล่นของจีนถูกตลาดกลุ่มประเทศละตินอเมริกาเรียกเก็บภาษีการทุ่มตลาด ส่งผลให้ตลาดละตินอเมริกาหลายประเทศมีแนวโน้มหันมานำเข้าของเด็กเล่นจากไทยเพิ่มมากขึ้นแทน ซึ่งในช่วงไตรมาสแรกปี 2549 ไทยสามารถส่งออกของเด็กเล่นไปยังเม็กซิโกเพิ่มขึ้นร้อยละ 270.16 รวมถึงบราซิล(เพิ่มขึ้นร้อยละ 388.6) และชิลี(เพิ่มขึ้นร้อยละ 2,042.8) ด้วย
3. อุปสงค์สินค้าของเด็กเล่นไทยในกลุ่มตลาดใหม่ต่างก็มีทิศทางที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น จีน ตะวันออกกลาง ตลอดจนออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ รวมถึงเอเชียใต้ซึ่งประกอบด้วย 8 ประเทศได้แก่ อินเดีย บังคลาเทศ ศรีลังกา ภูฐาน เนปาล สิกขิม ปากีสถาน และมัลดีฟท์ และ ตลาดละตินอเมริกา ซึ่งมีกลุ่มเป้าหมายหลัก 4 ประเทศคือ บราซิล ชิลี อาร์เจนตินา และอุรุกวัย รวมถึงตลาดแอฟริกาซึ่งเป็นหุ้นส่วนใหม่ที่น่าจะก้าวขึ้นมามีบทบาทเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ ซึ่งแม้ว่าปัจจุบันมูลค่าการส่งออกของสินค้าเด็กเล่นไทยในตลาดดังกล่าวจะมีสัดส่วนการส่งออกรวมกันเพียงประมาณร้อยละ 5-10 ของมูลค่าการส่งออกของเด็กเล่นไทยโดยรวมในแต่ละปี แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าสัดส่วนการส่งออกสินค้าของเด็กเล่นไทยไปยังกลุ่มประเทศตลาดใหม่ก็มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากสัดส่วนร้อยละ 5.1 ในปี 2544 ปรับเพิ่มขึ้นเป็นสัดส่วนร้อยละ 5.8 ในปี 2546 และสัดส่วนร้อยละ 9.3 ในปี 2548 ส่วนในช่วงไตรมาสแรกปี 2549 การส่งออกไปยังกลุ่มประเทศดังกล่าวมีสัดส่วนเป็นร้อยละ 12.3 ของมูลค่าการส่งออกของเด็กเล่นโดยรวมของไทยในช่วงเวลาดังกล่าว ขณะที่มูลค่าการส่งออกของเด็กเล่นไทยไปตลาดใหม่ดังกล่าวในปี 2548 ก็ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 23.4 ส่วนในช่วง 3 เดือนแรกปี 2549 เติบโตเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 50.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่ง ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าในปี 2549 การส่งออกของเด็กเล่นของไทยโดยภาพรวมในตลาดใหม่ดังกล่าว น่าจะสามารถสร้างรายได้เข้าสู่ประเทศคิดเป็นอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่าร้อยละ 30 ทั้งนี้เพราะความต้องการยังมีแนวโน้มการขยายตัวที่ดี และมีความต้องการสินค้าที่ค่อนข้างหลากหลายทั้งที่เป็นสินค้าคุณภาพดี ราคาแพงที่แข่งขันด้านตราสินค้าและนวัตกรรมของผลิตภัณฑ์ และสินค้าที่มีราคาปานกลางถึงต่ำสำหรับผู้บริโภคที่มีความภักดีต่อตราสินค้าไม่สูงมากนัก
แต่ทั้งนี้ ในปี 2549 ผู้ผลิตและผู้ส่งออกของเด็กเล่นไทยยังคงต้องเผชิญกับหลากหลายปัจจัยลบด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น
1. ภาวะความผันผวนของราคาน้ำมันที่ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิต โดยเฉพาะค่าขนส่ง และค่าบริการสาธารณูปโภคโดยเฉพาะค่าไฟฟ้าของผู้ประกอบการที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น
2. ภาวะความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ปัจจุบันผู้ประกอบไทยกำลังเผชิญกับสถานการณ์ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น อันมีผลให้สินค้าของเด็กเล่นของไทยมีราคาแพงขึ้นในสายตาของลูกค้าต่างชาติโดยเปรียบเทียบ ซึ่งหากค่าเงินบาทมีทิศทางแข็งค่าขึ้นในระยะสั้นก็ไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อตลาดการส่งออกมากนัก แต่ในทางกลับกัน หากทิศทางของค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นระยะยาว ความรู้สึกเปรียบเทียบในด้านราคาที่ลูกค้าต้องจ่ายแพงขึ้น ก็จะมีผลให้ตลาดต่างประเทศบางแห่งชะลอการตัดสินใจสั่งซื้อสินค้าของเด็กเล่นของไทย และส่งผลให้การส่งออกสินค้ากลุ่มนี้ของไทยมีมูลค่าลดลงก็เป็นไปได้
3. พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปตามสภาพแวดล้อมและสังคม ตลอดจนสื่อต่างๆที่มีมากขึ้นจนทำให้เด็กหันไปสนใจกิจกรรมอื่นๆมากกว่าการเล่นของเด็กเล่น ขณะเดียวกันประเภทของสินค้าทดแทนก็เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะสินค้าของเด็กเล่นที่มีนวัตกรรมใหม่ๆ ทำให้เป็นอุปสรรคพอสมควรต่อการเสริมสร้างศักยภาพการแข่งขันของผู้ผลิตและผู้ส่งออกของเด็กเล่นไทยในตลาดโลก
4. ศักยภาพด้านการผลิตและการตลาด นับวันไทยจะสูญเสียความได้เปรียบด้านต้นทุนการผลิตให้กับคู่แข่งอย่างจีนเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ โดยเฉพาะต้นทุนค่าจ้างแรงงาน และความพร้อมของวัตถุดิบ จนส่งผลให้ผู้ประกอบการต่างชาติหลายรายย้ายฐานการผลิตจากไทยไปยังจีนอย่างต่อเนื่อง รวมถึงประเทศเวียดนามในระยะ 3-4 ปีที่ผ่านมาด้วย นอกจากนี้จีนยังหันมาให้ความสำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพและรูปแบบเพิ่มขึ้นตามลำดับ ทำให้สินค้าของเด็กเล่นจีนมีความหลากหลายประเภทมากขึ้น นับตั้งแต่ของเล่นราคาถูกไปจนถึงของเล่นที่มีคุณภาพและราคาแพง และหากเปรียบเทียบกับฮ่องกง ไต้หวัน และเยอรมนี ก็พบว่าไทยเสียเปรียบในด้านเทคนิคการผลิต ส่วนในด้านการตลาดไทยยังเสียเปรียบฮ่องกงค่อนข้างมาก
5. ปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบอย่างไม้ยางพาราสำหรับผลิตของเล่นไม้อย่างของเล่นเพื่อการพัฒนาหรือเพื่อการฝึกสมอง ที่นับวันจะได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นในตลาดต่างประเทศ เพราะผู้ผลิตไม้แปรรูปหลายรายหันไปส่งออกไม้ยางพาราไปยังประเทศเพื่อนบ้านเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากสามารถจำหน่ายได้ในราคาที่สูงกว่าการจำหน่ายภายในประเทศ หรือจากการที่ราคาเม็ดพลาสติกที่ใช้ในการผลิตของเด็กเล่นประเภทที่ทำด้วยพลาสติกยังคงทรงตัวในระดับสูงต่อเนื่องตามระดับราคาเม็ดพลาสติกในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น ก็มีผลให้ต้นทุนการผลิตของผู้ผลิตของเด็กเล่นประเภทพลาสติกของไทยเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย และนับเป็นอุปสรรคสำคัญในการแข่งขันของผู้ผลิตไทยค่อนข้างมาก
ดังนั้นผู้ประกอบการของเด็กเล่นเมืองไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงควรต้องเร่งปรับตัวทั้งด้านการผลิตและการตลาดอย่างต่อเนื่อง จริงจัง และเข้มข้นยิ่งขึ้น ทั้งนี้เพื่อยกระดับศักยภาพและสร้างความความได้เปรียบในการแข่งขัน อันได้แก่
1. การพัฒนารูปแบบสินค้า ด้วยการจ้างนักการตลาดมืออาชีพเพื่อแนะนำแนวทางการเจาะตลาดของสินค้าของเด็กเล่นแต่ละประเภท รวมถึงผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบและการผลิตของเด็กเล่นจากต่างประเทศมาให้ความรู้และคำแนะนำแก่ผู้ผลิตคนไทย เพราะรูปแบบที่จูงใจและแปลกแตกต่างจากคู่แข่งย่อมเป็นโอกาสอันดีในการขยายตลาดของเล่นไทยได้กว้างขวางยิ่งขึ้น นอกจากนี้ก็ต้องเร่งพัฒนาบุคลากรด้านการออกแบบของไทยโดยด่วนควบคู่กันไปด้วย
2. การพัฒนาด้านคุณภาพสินค้า ผู้ผลิตของไทยจำเป็นต้องพัฒนาคุณภาพสินค้าให้ได้มาตรฐานตามที่ตลาดต้องการ รวมถึงการนำเทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัยเข้ามาใช้เพื่อยกระดับสินค้าให้สูงขึ้น โดยเฉพาะในตลาดระดับบนถึงกลางที่มักจะแข่งขันกันทางด้านตราสินค้าและนวัตกรรมของผลิตภัณฑ์ หรือแม้แต่ตลาดระดับกลางถึงล่างด้วย เพราะหากลูกค้ายอมรับในคุณภาพของสินค้า ก็จะนำไปสู่ความได้เปรียบในการความแตกต่างซึ่งจะเพิ่มขีดความสามารถในแข่งขันตามมา
3.การมุ่งสร้างตราสินค้าให้เป็นที่ยอมรับและเชื่อมั่นของลูกค้า เพราะเมื่อลูกค้ามีความภักดีต่อตราสินค้าก็ย่อมก่อให้เกิดความได้เปรียบในระยะยาว ทำให้คู่แข่งรายใหม่เข้ามาแข่งขันในอุตสาหกรรมได้ยากลำบากมากขึ้น อีกทั้งยังเป็นสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าด้วย
4.การพัฒนาทางด้านอุตสาหกรรมต่อเนื่อง รวมถึงการวิจัยและพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติในประเทศ เพื่อนำมาผลิตเป็นวัตถุดิบสำหรับการผลิตของเด็กเล่นอย่างเป็นระบบ โดยภาครัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรหันมาให้ความสำคัญต่อการพัฒนาการผลิตวัตถุดิบเพื่อป้อนแก่การอุตสาหกรรมของเด็กเล่นภายในประเทศอย่างจริงจังและต่อเนื่องมากขึ้น ทั้งในด้านชนิดของวัตถุดิบ ด้านคุณภาพการผลิต หรือการควบคุมมาตรฐานสินค้า ทั้งนี้เพื่อเปิดโอกาสให้อุตสาหกรรมของเด็กเล่นของไทยเติบโตอย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้นในอนาคต
5.การพลิกวิกฤตอย่างสถานการณ์ค่าเงินบาท ที่มีทิศทางแข็งค่าขึ้นในปี 2549 ให้เป็นโอกาสที่ดีต่อกิจการให้ได้โดยเร็ว ด้วยการนำเข้าเครื่องจักรใหม่ หรือชิ้นส่วนเครื่องจักรเพื่อนำมาปรับปรุงเครื่องจักรที่เก่าแล้ว รวมถึงการนำเข้าวัตถุดิบที่จำเป็นต่อการผลิตสินค้าให้มากขึ้นในช่วงเวลานี้ เพื่อช่วยลดต้นทุนการผลิต รวมทั้งเพิ่มโอกาสในการสร้างผลผลิตที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และสร้างโอกาสในการเพิ่มมูลค่าการส่งออกให้มากขึ้นได้ เพราะการนำเข้าทั้งเครื่องจักรและวัตถุดิบในภาวะที่ค่าเงินบาทแข็งค่านั้นค่อนข้างที่จะถูกกว่าช่วงที่ค่าเงินบาทอ่อนโดยเปรียบเทียบ
6.หน่วยงานของภาครัฐ และเอกชน ควรให้ความสำคัญในการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าในต่างประเทศเพิ่มขึ้น เพื่อช่วยประชาสัมพันธ์เผยแพร่ของเล่นไทยให้เป็นที่รู้จักในตลาดต่างประเทศมากขึ้น
ขณะเดียวกัน ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังเห็นด้วยว่า ถึงเวลาแล้วที่ผู้ประกอบการไทยควรจะต้องเร่งเปิดเกมรุกบุกตลาดใหม่ อย่างตลาดละตินอเมริกา ตลาดเอเชียใต้ ตลาดแอฟริกา ตลอดจนออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ และตลาดตะวันออกกลาง อย่างจริงจัง เพราะนอกจากผู้ประกอบการจะสามารถกระจายความเสี่ยงจากการที่ต้องพึ่งพิงตลาดหลักมากจนเกินไปท่ามกลางภาวการณ์แข่งขันที่รุนแรงแล้ว ยังเป็นการเปิดโอกาสต่อการสร้างเสริมรายได้จากการส่งออกในโลกการค้าเสรีเช่นปัจจุบัน และในอนาคตที่หลายประเทศมีโอกาสจะเจรจาการค้าเสรีระหว่างกันในระดับ 2 ประเทศเพิ่มมากขึ้นด้วย แต่ทั้งนี้นักธุรกิจ/ผู้ส่งออกไทยควรให้ความสำคัญต่อการเข้าไปสำรวจ และศึกษาความต้องการของตลาดใหม่ดังกล่าวอย่างละเอียดถี่ถ้วน ทั้งในด้านรูปแบบ หรือสีสันที่ได้รับความนิยมของผู้บริโภค รวมถึงความเหมาะสมของราคาในแต่ละตลาด พร้อมทั้งศึกษาลู่ทางการตลาดให้ชัดเจนก่อนการตัดสินใจเข้าสู่ตลาดด้วย เพราะนอกจากประเทศในกลุ่มตลาดดังกล่าวบางประเทศจะมีปัญหาทางด้านเสถียรภาพทางการเมือง สังคม และแรงงาน ที่อาจจะส่งผลกระทบต่ออุปสงค์ของตลาดแล้ว ยังมีความเป็นไปได้ว่าแนวโน้มการแข่งขันก็จะค่อนข้างสูงด้วย จากบรรดาประเทศคู่แข่งที่ต้องการแสวงหาตลาดใหม่ๆเช่นเดียวกับไทย ไม่ว่าจะเป็นคู่แข่งจากจีน ไต้หวัน หรืออินโดนีเซีย เป็นต้น ซึ่งมีความได้เปรียบไทยในด้านความพร้อมของวัตถุดิบ และค่าแรงงานที่ถูกกว่า อันจะมีผลให้สินค้าของเด็กเล่นของไทยอาจจะต้องเผชิญกับการแข่งขันด้านราคาจากประเทศคู่แข่งขันดังกล่าวตามมา
บทสรุป
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่าความได้เปรียบในการแข่งขันในอุตสาหกรรมของเด็กเล่นในยุคปัจจุบันนั้นมาจาก 2 ด้านหลักคือ การมีความได้เปรียบด้านต้นทุนที่ต่ำ (Cost Advantage) ซึ่งอาจจะเกิดจากประสิทธิภาพการประกอบการที่เหนือกว่า หรือมีแหล่งวัตถุดิบที่ถูกกว่า และการมีความได้เปรียบด้านความแตกต่าง (Differentiation) ที่อาจจะมาจากการที่สินค้าของเด็กเล่นมีคุณภาพที่เหนือกว่า มีนวัตกรรมที่ดีกว่า หรือมีการตอบสนองต่อลูกค้าได้ดีกว่า ซึ่งนับวันไทยได้สูญเสียความได้เปรียบทางด้านต้นทุนการผลิตต่อคู่แข่งอย่างจีน เวียดนาม หรืออินโดนีเซีย เพิ่มมากขึ้นตามลำดับ เพราะคู่แข่งดังกล่าวข้างต้นต่างมีความได้เปรียบไทยในด้านวัตถุดิบและค่าแรงงานที่ถูกกว่า ดังนั้นศักยภาพการแข่งขันของสินค้าของเด็กเล่นไทยนับจากนี้จึงต้องเน้นสร้างความได้เปรียบด้านความแตกต่างให้ได้โดยเร็ว ด้วยการพัฒนาคุณภาพสินค้า การเพิ่มมูลค่าสินค้าด้วยความคิดสร้างสรรค์ หรือไม่ใช่เป็นเพียงการรับจ้างผลิตเท่านั้น รวมถึงการสร้างตราสินค้าของตนเอง เป็นต้น ขณะเดียวกันก็ต้องเร่งเปิดเกมรุกบุกตลาดใหม่ๆทั้งตลาดออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ตลาดตะวันออกกลาง ตลาดเอเชียใต้ ตลาดละตินอเมริกา และตลาดแอฟริกา เป็นต้น อย่างเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้เพื่อสร้างโอกาสให้สินค้าของเด็กเล่นไทยเป็นที่รู้จักในตลาดใหม่ดังกล่าวก่อนคู่แข่งให้เร็วมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แต่ทั้งนี้ผู้ประกอบการไทยควรจะต้องสำรวจและศึกษาลู่ทางการตลาดอย่างละเอียดและชัดเจนเป็นรายประเทศก่อนการตัดสินใจเข้าสู่ตลาด เพื่อให้การเจาะตลาดใหม่ๆของสินค้าของเด็กเล่นไทยมีประสิทธิภาพมากที่สุด