ในขณะที่กระแสข่าวและความสนใจในปัจจุบันมุ่งอยู่ที่มหกรรมการแข่งขันฟุตบอลโลก ครั้งที่ 18 ที่เยอรมนีเป็นเจ้าภาพ โดยจะเริ่มแข่งขันในวันที่ 9 มิถุนายน ทำให้หลายคนอาจจะหลงลืมไปว่าองค์การอนามัยโลกกำหนดให้วันที่ 31 พฤษภาคมของทุกปีเป็นวันงดสูบบุหรี่โลก วัตถุประสงค์ที่กำหนดให้มีวันงดสูบบุหรี่โลกก็เพื่อกระตุ้นให้ทุกๆประเทศตระหนักถึงอันตรายและความสูญเสียทั้งทางสุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคมที่เกิดจากการสูบบุหรี่ โดยการสนับสนุนให้แต่ละประเทศรณรงค์ให้ประชาชนงดสูบบุหรี่ สร้างค่านิยมในการไม่สูบบุหรี่แก่เยาวชน และกำหนดนโยบายสาธารณะเพื่อควบคุมการสูบบุหรี่ อย่างไรก็ตามจากการสำรวจ “พฤติกรรมการสูบบุหรี่ของคนกรุงเทพฯ” ในปีที่มีการแข่งขันฟุตบอลโลกรวมทั้งฟุตบอลยุโรป และการสัมภาษณ์พฤติกรรมการสูบบุหรี่เชิงลึกในปี 2549 นี้พบว่าในช่วงของการแข่งขันฟุตบอลแมต์ชสำคัญส่งผลทำให้สูบบุหรี่มากขึ้น โดยสาเหตุหลักคือ มีโอกาสได้สังสรรค์กับเพื่อนๆมากขึ้น และภาวะเครียดในการที่ต้องลุ้นผลการแข่งขัน
คำขวัญวันงดสูบบุหรี่โลกในปี 2549 นี้ คือ “บุหรี่ทุกชนิดนำชีวิตสู่ความตาย” ทั้งนี้เพราะประชาชนทั่วโลกเริ่มมีความตื่นตัวและตระหนักถึงอันตรายของการสูบบุหรี่ที่มีทั้งต่อสุขภาพของผู้สูบบุหรี่เอง และผู้ได้รับควันบุหรี่ ซึ่งมีผลให้จำนวนผู้สูบบุหรี่มีแนวโน้มที่จะลดลงในอนาคต ดังนั้นบริษัทผู้ผลิตบุหรี่จึงได้พยายามที่จะรักษาจำนวนลูกค้าเก่าและเพิ่มยอดจำหน่ายบุหรี่กับลูกค้าหน้าใหม่อย่างเร่งด่วนด้วยการใช้กลยุทธ์ทางการตลาด โดยเฉพาะการออกแบบผลิตภัณฑ์ยาสูบในรูปแบบต่างๆ เพื่อสร้างความสับสนแก่ประชาชนให้เข้าใจว่าผลิตภัณฑ์เหล่านั้นมีอันตรายน้อยลงกว่าบุหรี่แบบปกติ เช่นบุหรี่ประเภทรสอ่อน(ไลท์หรือมายด์ )ที่ระบุว่ามีปริมาณสารทาร์และนิโคตินต่ำ บุหรี่ที่มีกลิ่นและรสต่างๆ เช่น รสผลไม้ รสช็อกโกแล็ต เป็นต้น บุหรี่ที่มีการออกแบบซองอย่างสวยงาม มวนบุหรี่มีลักษณะผอมเพรียว ดูสะอาดตา หรือการใช้ชื่อยี่ห้อที่เป็นแนวสุขภาพ รวมทั้งผลิตภัณฑ์ยาสูบในรูปแบบอื่นๆ เช่น ซิการ์ ยาเส้น เป็นต้น ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ล้วนมีผลให้ผู้สูบบุหรี่ที่ตั้งใจจะเลิกสูบบุหรี่เปลี่ยนใจไม่เลิกสูบ และยังจูงใจให้เกิดนักสูบบุหรี่หน้าใหม่ได้ง่ายขึ้นอีกด้วย ดังนั้นเพื่อให้ประชาชนเข้าใจและรู้เท่าทันกลยุทธ์ทางการตลาดของบริษัทผู้ผลิตบุหรี่ องค์การอนามัยโลกจึงสนับสนุนให้แต่ละประเทศเร่งเปิดโปงบริษัทผู้ผลิตบุหรี่โดยเปิดเผยให้ประชาชนเห็นถึงข้อเท็จจริงที่บริษัทผู้ผลิตบุหรี่พยายามซ่อนเร้นว่า “แท้จริงแล้วไม่มีบุหรี่ชนิดใดเลยที่ปลอดภัยต่อสุขภาพของผู้บริโภค” โดยการผลักดันให้ประเทศต่างๆมีมาตรการในการห้ามพิมพ์คำว่า “รสอ่อน” หรือคำที่มีความหมายใกล้เคียงกับบนซองบุหรี่
มหกรรมฟุตบอลโลกกับวันงดสูบบุหรี่โลก
แม้ว่าในปี 2549 นี้วันเปิดมหกรรมฟุตบอลโลกนั้นจะไม่ตรงกับวันงดสูบบุหรี่โลกเช่นเดียวกับในปี 2545 ทำให้หลายคนจะมองข้ามหรือลืมวันงดสูบบุหรี่โลกไป แต่มหกรรมฟุตบอลโลกและการแข่งขันกีฬาระดับโลกก็มีผลต่อพฤติกรรมการสูบบุหรี่อย่างมาก โดยคณะกรรมการโอลิมปิกสากลมีกำหนดกฎบัตรโอลิมปิกสากลให้การแข่งขันกีฬาระดับนานาชาติเป็นการแข่งขันกีฬาที่ปลอดบุหรี่ตั้งแต่ปี 2531 และในปี 2545 องค์การอนามัยโลกร่วมมือกับสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติประกาศให้การแข่งขันฟุตบอลครั้งนั้นเป็น “ฟุตบอลโลกปลอดบุหรี่” ทั้งนี้เพื่อรณรงค์ให้เหล่านักกีฬาและผู้ชมการแข่งขันทั้งในสนามและผู้ติดตามชมทั่วโลกตระหนักถึงโทษภัยของบุหรี่
บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด สำรวจ “พฤติกรรมการสูบบุหรี่ของคนกรุงเทพฯ”ในปีที่มีการแข่งขันฟุตบอลโลกรวมทั้งฟุตบอลยุโรปมาอย่างต่อเนื่อง และการสัมภาษณ์พฤติกรรมการสูบบุหรี่เชิงลึกในปี 2549 โดยแบ่งกลุ่มตัวอย่างออกเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ในปัจจุบันสูบบุหรี่ กลุ่มที่ไม่เคยสูบบุหรี่ และกลุ่มผู้ที่เคยสูบบุหรี่แต่ในปัจจุบันเลิกสูบแล้ว นอกจากนี้ในแต่ละกลุ่มยังกระจายตัวอย่างตามอาชีพ และอายุ เนื่องจากพิจารณาเห็นว่าปัจจัยเหล่านี้เป็นตัวแปรสำคัญในการกำหนดพฤติกรรมการสูบบุหรี่ ซึ่งพบประเด็นสำคัญ คือ ปัจจัยสำคัญ 3 อันดับแรกที่เป็นแรงกระตุ้นให้เกิดความอยากสูบบุหรี่ คือ ความเครียด การสังสรรค์กับเพื่อนๆ และการดื่มสุรา ซึ่งในช่วงของมหกรรมฟุตบอลโลกนั้นกลุ่มตัวอย่างโอกาสในการเกิดปัจจัยกระตุ้นเหล่านี้มีเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในปี 2549 นี้ประเทศเจ้าภาพที่จัดฟุตบอลโลกคือ เยอรมนี ซึ่งทำให้ช่วงเวลาในการถ่ายทอดการแข่งขันในประเทศไทยจะอยู่ในช่วงเวลากลางคืน โดยส่วนใหญ่จะอยู่ระหว่างเวลา 21.00น.-4.00น. เท่ากับเป็นการเพิ่มโอกาสในการที่บรรดาแฟนบอลที่สูบบุหรี่มีโอกาสในการสังสรรค์กับเพื่อนๆมากขึ้น และมีความเครียดในช่วงของการลุ้นผลการแข่งขัน ส่งผลให้มีโอกาสที่บรรดาผู้ที่สูบบุหรี่จะเพิ่มปริมาณการสูบบุหรี่มากขึ้นในช่วงนี้
อย่างไรก็ตาม สำหรับกลุ่มตัวอย่างที่ระบุว่าจะไม่สูบบุหรี่เพิ่มขึ้นในช่วงมหกรรมฟุตบอลโลก เนื่องจากนั่งชมการแข่งขันฟุตบอลโลกกับคนในครอบครัว ซึ่งไม่ต้องการสูบบุหรี่ต่อหน้าคนในครอบครัวโดยเฉพาะลูก และพยายามบริโภคอาหารหรือขนมขบเคี้ยวทดแทนเพื่อระงับความอยากสูบบุหรี่
การสูบบุหรี่…ภัยร้ายทำลายชีวิต ผลาญเศรษฐกิจ
การเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้ผู้บริโภคตระหนักถึงอันตรายของบุหรี่นับว่าเป็นเรื่องที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง โดยอันตรายของบุหรี่นั้นมีอยู่มากมายดังนี้
1.อันตรายต่อตัวผู้สูบเอง บุหรี่ 1มวน จะให้ควันบุหรี่ในปริมาณเกือบ 1 ลิตร ซึ่งในควันบุหรี่จะมีสารเคมีต่างๆที่เป็นสารก่อมะเร็ง เพราะฉะนั้นการสูบบุหรี่ก็คือ การดูดเอาควันพิษเข้าไปในร่างกายซึ่งทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกายอย่างมาก บุหรรี่ 1 มวนจะทำให้อายุสั้นลง 5 นาที 30 วินาที ทำให้ผู้สูบตายก่อนอายุเฉลี่ย 65 ปี ประมาณ 5-8 ปี และจากสถิติการตายพบว่าผู้สูบบุหรี่จะมีการตายก่อนวัยอันควรมากกว่าคนที่ไม่สูบถึงร้อยละ 30-83 จากการศึกษาวิจัยพบว่าการสูบบุหรี่จะมีความสัมพันธ์กับการเจ็บป่วยด้วยโรคต่างๆดังนี้ โรคมะเร็งพบมะเร็งปอดมากที่สุดผู้สูบบุหรี่มีโอกาสเป็นมะเร็งปอดมากกว่าผู้ไม่สูบบุหรี่ถึง 20 เท่า ทั้งนี้ขึ้นกับจำนวนมวนบุหรี่ที่สูบต่อวัน ลักษณะของการสูบ และระยะเวลาที่สูบ โรคหัวใจและหลอดเลือด การสูบบุหรี่ทำให้ปริมาณกรดไขมันอิสระในพลาสมามากขึ้น การจับกลุ่มของเกร็ดเลือดมากขึ้นเป็นผลให้ผู้สูบบุหรี่เป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดสูงกว่าผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ 2 เท่า โรคของระบบทางเดินหายใจ ควันบุหรี่จะก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อเยื่อบุผิวของหลอดลมและถุงลม ทำให้เกิดอาการไอ หอบหืด อันตรายด้วยระบบทางเดินหายใจนี้พบในผู้ที่สูบบุหรี่มากกว่าผู้ไม่สูบบุหรี่ โรคระบบทางเดินอาหารการสูบบุหรี่ทำให้กระเพาะอาหารหลั่งกรดเพิ่มขึ้น คนสูบบุหรี่จึงมีโอกาสเป็นแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กมากกว่าคนที่ไม่สูบบุหรี่ ผลต่อระบบสืบพันธุ์ ในผู้หญิงที่สูบบุหรี่จัดจะเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนเร็วกว่าปกติ และจะใช้เวลานานขึ้นในการที่จะเริ่มตั้งครรภ์ ในผู้ชายพบว่าจะมีการตีบตันของหลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงอวัยวะเพศบางส่วน ทำให้สมรรถภาพทางเพศลดลง ผลต่อเหงือกและฟัน ผู้ที่สูบบุหรี่จะเกิดโรคของเหงือกและฟันมากกว่าผู้ไม่สูบบุหรี่ ทำให้ฟันมีสีเหลืองและผู้ที่สูบมานานๆฟันจะมีสีดำทำให้เกิดกลิ่นปากและฟันผุกร่อน นอกจากนี้ยังพบว่าสถิติผู้ป่วยใหม่จากบุหรี่มีปีละประมาณ 50,000 คน ส่วนใหญ่จะเป็นโรคมะเร็งปอด ถุงลมโป่งพองและโรคหัวใจ โดยผู้เสียชีวิตปีละประมาณ 40,000 คนและมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้นจนถึงปีละ 80,000 คน
2.อันตรายต่อบุคคลข้างเคียง การสูบบุหรี่นอกจากจะมีโทษต่อผู้สูบเองแล้วยังทำให้ผู้อื่นที่อยู่ในบรรยากาศของการสูบบุหรี่สูดเอาควันพิษเข้าไปด้วย การรับควันบุหรี่เข้าไปโดยที่มิได้สูบบุหรี่ก็ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพได้เรียกว่าการสูบบุหรี่มือที่สอง ควันบุหรี่มี 2 ประเภท คือ ควันบุหรี่ที่สูบเข้าไปในปากแล้วพ่นออกมา ซึ่งเรียกควันแท้หรือควันสายใหญ่(Mainstream Smoke) อีกประการหนึ่งคือ ควันบุหรี่ที่ลอยจากปลายมวนบุหรี่ที่อยู่ระหว่างการสูบ ซึ่งเรียกว่าควันหลงหรือควันสายข้างเคียง(Sidestream Smoke) สำหรับผลกระทบของการสูบบุหรี่ต่อบุคคลข้างเคียงมีดังนี้ กลุ่มเด็ก การสูบบุหรี่ของคนในครอบครัวทำให้อุบัติการของโรคหลอดลมอักเสบและปอดอักเสบในวัยทารกและในกลุ่มอายุต่ำกว่า 2 ปีเพิ่มขึ้น และยังมีผลเสียต่อเนื่องในวัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่อีกด้วย กลุ่มสตรีมีครรภ์ สตรีมีครรภ์ที่สูบบุหรี่จะประสบปัญหาน้ำหนักตัวขณะตั้งครรภ์เพิ่มขึ้นน้อยกว่าปกติ และมีโอกาสแท้ง คลอดก่อนกำหนด ตกเลือดระหว่างคลอดและหลังคลอดมากเป็น 2 เท่าของหญิงตั้งครรภ์ที่ไม่สูบบุหรี่ กลุ่มคู่แต่งงานของผู้ที่สูบบุหรี่ มีโอกาสเป็นมะเร็งปอดมากกว่าคู่แต่งงานของผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ 2 เท่า มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหัวใจ 3 เท่าและเสียชีวิตเร็วกว่าปกติถึง 4 เท่า บุคคลทั่วไป ควันหลงมักก่อให้เกิดอาการเคืองตา ปวดศีรษะคัดจมูกโดยเฉพาะผู้ที่มีอาการหอบหืดโรคหัวใจ โรคหลอดลมอักเสบก็จะทำให้มีอาการของโรคเพิ่มขึ้น ปี 2530 คณะกรรมการวิทยาศาสตร์ทางด้านสุขภาพและการสูบบุหรี่ประเทศอังกฤษได้ประกาศว่า ผู้ที่ไม่สูบบุหรี่แต่หายใจเอาควันบุหรี่เข้าไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากห้องหรือสถานที่แออัดเต็มไปด้วยควันบุหรี่มีโอกาสที่จะเป็นมะเร็งปอดถึงร้อยละ 10-30
3.ผลกระทบของบุหรี่กับเศรษฐกิจ ในแต่ละปีคนไทยสูบบุหรี่ไม่ต่ำกว่า 30,000 ล้านมวนคิดเป็นมูลค่ามากกว่า 150,000 ล้านบาท ปัจจุบันประชากรที่มีอายุมากกว่า 15 ปีมีผู้สูบบุหรี่ประมาณ 9.6 ล้านคน หรือร้อยละ 19.5 ของประชากรที่มีอายุมากกว่า 15 ปีทั้งประเทศ การเจ็บป่วยด้วยโรคจากการสูบบุหรี่เป็นภาระโรคอันดับที่ 2 ของคนไทยรองจากโรคเอดส์ ซึ่งถ้าเพียงร้อยละ 1 ต้องป่วยด้วยโรคอันเนื่องมาจากการสูบบุหรี่ เช่น มะเร็งปอด โรคหัวใจขาดเลือด ถุงลมโป่งพอง เป็นต้น ปัจจุบันคนไทยเสียชีวิตด้วยโรคจากการสูบบุหรี่ปีละ 52,000 คน นอกจากนี้คาดว่ามีผู้ที่จะต้องเข้ารับการรักษาด้วยโรคที่เกี่ยวเนื่องจากการสูบบุหรี่ถึงปีละ 100,000 คน และหากรัฐบาลต้องจ่ายค่าบริการทางการแพทย์เพียงคนละ 10,000 บาทต่อปี รัฐบาลจะต้องจ่ายเงินถึง 1,000 ล้านบาทในแต่ละปี นอกจากนี้ยังสูญเสียแรงงานจากความเจ็บป่วย การด้อยคุณภาพของทรัพยากรมนุษย์ที่สุขภาพเสื่อมโทรม เพราะพิษภัยของบุหรี่
ธนาคารโลกประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจของบุหรี่ว่าปัจจุบันบุหรี่ก่อให้เกิดความเสียหายทางด้านเศรษฐกิจทั่วโลกอย่างน้อย 200,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯต่อปี หรือประมาณ 7.8 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นมูลค่าที่มากกว่ารายได้จากการจำหน่ายบุหรี่หลายเท่าตัว โดยคาดว่า 1 ใน 3 ของความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้นอยู่ในประเทศกำลังพัฒนา นอกจากนี้องค์การอนามัยโลกคาดว่าในปี 2574 จำนวนผู้สูบบุหรี่ในประเทศกำลังพัฒนาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง กล่าวคือ ในปี 2574 จำนวนผู้เสียชีวิตจากการสูบบุหรี่จะเพิ่มขึ้นเป็นปีละ 10 ล้านคนหรือ 1 คนในทุกๆ 6 คนที่เสียชีวิตนั้นมีสาเหตุมาจากการสูบบุหรี่ จากปัจจุบันที่มีเสียชีวิตจากการสูบบุหรี่ประมาณปีละ 5 ล้านคน หรือ 1 คนในทุกๆ 10 คนของประชากรโลกที่เสียชีวิตมีสาเหตุมาจากการสูบบุหรี่ โดยร้อยละ 70 ของผู้เสียชีวิตจากการสูบบุหรี่อยู่ในประเทศกำลังพัฒนา
4.ผลกระทบของบุหรี่ด้านสังคม การสูบบุหรี่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับการใช้ยาเสพติดชนิดต่างๆพบว่าร้อยละ 95 ของวัยรุ่นที่ติดโคเคนและเฮโรอีน ร้อยละ 75 ของวัยรุ่นที่ติดกัญชาและฝิ่น และร้อยละ 62 ของวัยรุ่นที่ติดเหล้าจะเริ่มจากการสูบบุหรี่ก่อนทั้งสิ้น ซึ่งเท่ากับการสูบบุหรี่ในวัยรุ่นจะนำไปสู่การใช้ยาเสพติด การสูบบุหรี่เป็นปัญหาสำคัญและมีผลกระทบต่อสังคมอย่างมาก จากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่าเยาวชนไทยที่อายุต่ำกว่า 19 ปีที่สูบบุหรี่ทั้งแบบสูบเป็นประจำและแบบครั้งคราวมีจำนวนถึง 300,000 คน หากสถานการณ์สูบบุหรี่ยังเป็นเช่นในปัจจุบันคาดว่าจะมีเด็กและเยาวชนของไทยต้องเสียชีวิตก่อนวัยอันควรด้วยโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่ในอนาคต เนื่องจากเมื่อเด็กและเยาวชนกลุ่มนี้เติบโตจะเป็นตลาดในอนาคตของผู้ผลิตบุหรี่ กลุ่มนี้จะครองส่วนแบ่งหลักของปริมาณบุหรี่ที่ผลิตออกสู่ตลาดอย่างน้อยก็ตลอดระยะ 25 ปีข้างหน้า
5.ผลกระทบของบุหรี่ต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากบุหรี่จะทำให้บ้านเมืองสกปรกแล้ว ควันบุหรี่ยังก่อให้เกิดอากาศเป็นพิษโดยเฉพาะในสถานที่แออัด ซึ่งจะส่งผลให้เกิดอันตรายต่อร่างกายได้ นอกจากนี้ยังมีโอกาสที่บุหรี่จะเป็นสาเหตุของการเกิดเพลิงไหม้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของตนเองและผู้อื่น นอกจากนี้ประเด็นสำคัญที่สังคมส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับทราบ คือ ธุรกิจบุหรี่เป็นธุรกิจที่ใช้กระดาษและไม้ฟืนเป็นจำนวนมาก ซึ่งนับเป็นสาเหตุประการหนึ่งในการทำลายป่า อันมีผลกระทบต่อเนื่องต่อสภาพแวดล้อมของโลกด้วย องค์การอนามัยโลกประมาณว่า ในการผลิตบุหรี่ทุก 300 มวน จะทำให้มีการตัดต้นไม้ 1 ต้น โดยจำนวนไม้ที่ใช้ในกระบวนการผลิตบุหรี่ ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนผู้สูบบุหรี่ทั่วโลกประมาณ 1 พันล้านคน และในแต่ละปีมีคนสูบบุหรี่รวมกันถึง 5 ล้านล้านมวน ดังนั้นต้นไม้ที่ถูกโค่นมาเพื่อใช้ในการผลิตบุหรี่ในแต่ละปีสูงถึง 16,700 ล้านต้นทีเดียว โดยปริมาณการใช้ไม้ในการผลิตบุหรี่นั้นแยกออกเป็น ร้อยละ 69 ใช้ทำเป็นฟืนบ่มใบยา โดยเฉพาะในบราซิล ซึ่งเป็นประเทศที่มีการผลิตใบยาสูบมากเป็นอันดับสองของโลกใช้ฟืนในการบ่มใบยาทั้งหมด ร้อยละ 15 ใช้ในการก่อสร้างโรงบ่มใบยา และฉางเก็บยา และร้อยละ 16 ใช้ในการทำกระดาษมวนบุหรี่และกล่องบรรจุหีบห่อ
อันตรายจากบุหรี่…ปัญหาการสูญเสียทรัพยากรก่อนวัยอันควร
อันตรายจากการสูบบุหรี่เป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศ โดยเป็นต้นเหตุการสูญเสียทรัพยากรบุคคลก่อนวัยอันควร ซึ่งเป็นความสูญเสียที่ไม่อาจประมาณค่าออกมาเป็นตัวเงินได้ คนที่สูบบุหรี่จำนวนมากคิดว่าการสูบบุหรี่ไม่เป็นอันตรายมาก เนื่องจากการสูบบุหรี่ทำลายสุขภาพของผู้ที่สูบทีละน้อย ซึ่งถือว่าเป็นการตายผ่อนส่ง ไม่เหมือนกับการตายด้วยสารพิษประเภทอื่นๆ คนทั่วๆ ไปจึงไม่ตระหนักถึงอันตรายของบุหรี่ และบุหรี่ยังเป็นที่นิยมสูบอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ยังมีการเข้าใจผิดว่าการสูบบุหรี่ในจำนวนไม่มากจะไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย แต่แท้ที่จริงแล้ววงการแพทย์ยืนยันว่าการสูบบุหรี่ไม่ว่าน้อยหรือมากล้วนแต่ไม่ปลอดภัยต่อสุขภาพของร่างกายทั้งสิ้น และนักสูบบุหรี่หลายคนคิดว่าถ้าสูบบุหรี่ที่มีนิโคตินน้อยหรือมีคาร์บอนมอนนอกไซด์ต่ำ อัตราความเสี่ยงจากอันตรายจากบุหรี่จะน้อยลง ซึ่งไม่เป็นเรื่องจริงอีกเช่นกัน เนื่องจากบุหรี่มีสารแต่งรสอยู่กว่า 150-300 ชนิด ดังนั้นกลไกการเกิดโรคจากบุหรี่ส่วนหนึ่งอาจเนื่องมาจากการเผาไหม้ของสารแต่งรส ไม่ใช่พิษที่เกิดขึ้นจากนิโคติน หรือคาร์บอนมอนน็อกไซด์เพียงอย่างเดียว แม้ว่าผลจากการสำรวจสภาพแวดล้อมของกรุงเทพฯพบว่า คนที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯน่าเป็นห่วงในเรื่องมลพิษจากสภาพแวดล้อม แต่ในความเป็นจริงมลพิษทางอากาศในกรุงเทพฯยังเป็นอันตรายน้อยกว่าควันบุหรี่ ไม่ว่าจะเป็นสารพิษชนิดต่างๆ โดยเฉพาะสารที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็ง เพราะในควันบุหรี่มีสารก่อให้เกิดมะเร็งมากถึง 42 ชนิด นอกจากนี้มลพิษจากสภาพแวดล้อมในบางครั้งสามารถหลีกเลี่ยงได้ แต่ผู้ที่สูบบุหรี่นับว่าเป็นผู้ที่ทำร้ายตัวเองและบุคคลที่ใกล้ชิด
ปัจจุบันแนวโน้มการสูบบุหรี่ในวัยรุ่นไทยโดยเฉพาะผู้หญิงเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่การสูบบุหรี่ของผู้ชายค่อยๆ ลดน้อยลง จากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติปรากฏว่าผู้ที่สูบบุหรี่เป็นประจำแยกเป็นผู้ชายร้อยละ 94.6 และผู้หญิงร้อยละ 5.4 โดยปัจจัยสำคัญที่ทำให้อัตราการสูบบุหรี่ของผู้หญิงไทยยังอยู่ในเกณฑ์ต่ำ ก็คือ ประเพณีและค่านิยมที่ผู้หญิงไม่สูบบุหรี่ แต่ปัจจุบันค่านิยมดังกล่าวเริ่มเปลี่ยนแปลงไป คาดกันว่าในทศวรรษหน้านี้เพศหญิงจะเป็นเพศที่สูบบุหรี่มากกว่าเพศชาย เนื่องจากในปัจจุบันมีการผลิตบุหรี่รสอ่อน มวนยาว และการออกแบบซองที่บรรจุบุหรี่ให้สวยงาม ทำให้เกิดการอยากลอง และบุหรี่รสอ่อนนี้เสพติดง่ายกว่า โดยที่ลูกค้าเป้าหมายของบุหรี่ประเภทนี้คือ ผู้หญิงและวัยรุ่น จากสถิติขององค์การอนามัยโลกระบุว่าปัจจุบันมีผู้หญิง 250 ล้านคนทั่วโลกที่สูบบุหรี่เป็นประจำ โดยผู้หญิงในประเทศกำลังพัฒนาร้อยละ 22.0 และผู้หญิงในประเทศกำลังพัฒนาร้อยละ 9.0 ของประชากรที่เป็นผู้หญิงทั้งหมดเป็นผู้สูบบุหรี่เป็นประจำ
ผลกระทบของการที่ผู้หญิงสูบบุหรี่มีรายงานยืนยันว่า ในภาคเหนือซึ่งเป็นภาคที่ผู้หญิงสูบบุหรี่มากกว่าภาคอื่นๆ มะเร็งปอดกลายเป็นโรคอันดับหนึ่งของผู้หญิงในภาคเหนือ ในขณะที่ในภาคอื่นๆ โรคมะเร็งปอดอยู่ในลำดับที่ 4 หรือ 5 เท่านั้น นอกจากโรคมะเร็งปอดแล้ว ผู้หญิงที่สูบบุหรี่ยังมีโอกาสที่เกิดโรคถุงลมโป่งพอง และโรคหัวใจได้เช่นเดียวกับที่เกิดในเพศชาย นอกจากนี้ มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่วิจัยพบว่าผู้หญิงที่สูบบุหรี่ทำให้หน้าแก่เร็วกว่าปกติ เนื่องจากพิษของบุหรี่ทำลายความสดชื่น และความแจ่มใสของวัยสาว โดยผู้หญิงที่สูบบุหรี่จะเกิดรอยเหี่ยวย่นบนใบหน้ามากกว่าผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ถึง 3 เท่าตัว และถ้าสูบจัดโอกาสจะเกิดรอยเหี่ยวย่นบนใบหน้าเพิ่มเป็น 4.7 เท่าตัว และอวัยวะทุกระบบจะเสื่อมเร็วขึ้นประมาณ 10 ปี และทีมงานวิจัยของกองทุนวิจัยโรคมะเร็ง มหาวิทยาลัยอิมพีเรียล ประเทศอังกฤษ ศึกษาพบว่าผู้หญิงที่เคยสูบบุหรี่แล้วสามารถลดการสูบบุหรี่ได้ จะลดความเสี่ยงของการเกิดความผิดปกติของเนื้อเยื่อบริเวณปากมดลูก อันนำไปสู่การเป็นมะเร็งปากมดลูกได้ นอกจากนี้ผู้หญิงที่สูบบุหรี่วันละ 1-4 มวน จะเพิ่มความเสี่ยงกับการเกิดโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันถึง 2 เท่าตัว แต่ถ้าสูบบุหรี่มากกว่าวันละ 25 มวนจะมีโอกาสเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจวายเฉียบพลันถึง 500 เท่าตัว สำหรับผู้หญิงที่สูบบุหรี่และรับประทานยาคุมกำเนิดเป็นประจำมีโอกาสเกิดอาการเส้นเลือดหัวใจตีบเฉียบพลันหรือหัวใจวายสูงถึง 39 เท่าตัว และมีอัตราการตายมากกว่าผู้ที่ไม่สูบบุหรี่แต่รับประทานยาคุมกำเนิดถึง 3 เท่าตัว ทั้งนี้เพราะสารในบุหรี่จะไปทำปฏิกิริยากับยาคุมกำเนิดมีผลทำให้เลือดแข็งตัวง่ายขึ้น และเกิดการอุดตันในเส้นเลือดง่ายขึ้น โดยเฉพาะเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจและสมอง
บุหรี่มวนเอง…ราคาถูก ยอดจำหน่ายเพิ่ม
แม้ว่าในปัจจุบันการรณรงค์งดสูบบุหรี่ประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง รวมทั้งการขึ้นภาษีบุหรี่และภาวะค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น ปัจจัยเหล่านี้ล้วนส่งผลให้ปริมาณการสูบบุหรี่มีแนวโน้มลดลง แต่ประเด็นที่น่าสนใจคือ ผู้สูบบุหรี่บางกลุ่มยังคงไม่ลดการสูบบุหรี่ เพียงแต่เปลี่ยนพฤติกรรมการสูบบุหรี่ โดยหันไปสูบบุหรี่มวนเอง ซึ่งเป็นบุหรี่ท้องถิ่น เนื่องจากมีราคาถูกกว่ามาก กล่าวคือ ใบจากมีราคาเพียงมัดละ 2-3 บาท หากนำมามวนเป็นบุหรี่จะได้ประมาณ 20-30 มวน และถ้ามียาเส้นมาพร้อมกับใบจากก็จะอยู่ที่ประมาณซองละ 3 บาท แตกต่างกับราคาบุหรี่ปัจจุบันยี่ห้อไทยซองละ 42 บาท ส่วนยี่ห้อนอกราคา 47 บาทขึ้นไป นอกจากนี้ในบางท้องถิ่นยังมีให้เลือกหลายรสชาติ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับประเภทของยาเส้นที่นำมามวน เช่น สตรอเบอร์รี่ เชอรี่ ช็อกโกแลต กลิ่นผลไม้ต่างๆ รวมทั้งกลิ่นดอกไม้ เป็นต้น ตามแต่จะเลือกมาเป็นหัวเชื้อรวมกับยาเส้นปกติ
ปริมาณการสูบบุหรี่มวนเองที่เพิ่มขึ้นนี้นับว่าเป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้ที่สูบ เนื่องจากผู้ที่สูบบุหรี่ส่วนใหญ่คิดว่าในส่วนของกลิ่นนั้นไม่น่ารังเกียจมากเหมือนกับบุหรี่จากโรงงาน อีกทั้งมีความเชื่อกันว่าคนรุ่นปู่รุ่นตายายไม่เสียชีวิต และไม่เป็นโรคจากการสูบบุหรี่เลย อย่างไรก็ตามทางการแพทย์ยืนยันว่าอันตรายจากบุหรี่ชนิดใดก็เหมือนกัน เป็นตัวก่อให้เกิดโรคเหมือนกันมีอันตรายเช่นเดียวกันการรณรงค์เลิกสูบบุหรี่หรือไม่สูบบุหรี่นั้น ซึ่งหมายรวมครอบคลุมถึงบุหรี่ทุกประเภท การนำเอาควันหรือสิ่งแปลกปลอมเข้าไปในปอดระบบทางเดินหายใจนั้นไม่มีประโยชน์ใดๆ กับร่างกายเลย
ประเด็นที่น่าจะช่วยลดปริมาณการสูบบุหรี่มวนเองก็คือ การเก็บภาษีบุหรี่ประเภทบุหรี่มวนเอง เนื่องจากในปัจจุบันบุหรี่ที่ผลิตจากโรงงานต้องเสียภาษีสรรพสามิตสูงถึงร้อยละ 79 โดยน้ำหนัก ซึ่งเมื่อคำนวณแล้วโดยเฉลี่ยบุหรี่โรงงานต้องเสียภาษีสรรพสามิตประมาณ 14.30 บาทต่อซอง ในขณะที่บุหรี่มวนเองที่ใช้ใบยาท้องถิ่นนั้นไม่ต้องเสียภาษี แต่ถ้าเป็นบุหรี่มวนเองที่ใช้ใบยานำเข้านั้นต้องเสียภาษีร้อยละ 0.1 หรือเฉลี่ยประมาณ 0.016 บาทต่อซอง รวมทั้งการบังคับให้บุหรี่มวนเองเข้ามาอยู่ภายใต้ข้อกำหนดต่างๆเช่นเดียวกับบุหรี่โรงงาน เนื่องจากบุหรี่มวนเองไม่อยู่ภายใต้ข้อกำหนดที่จะต้องติดคำเตือนถึงอันตรายต่อสุขภาพ การแสดงส่วนผสมต่างๆ การโฆษณา และการส่งเงินเข้ากองทุนสุขภาพ ซึ่งการดำเนินการทั้งสองอย่างนี้จะทำให้ราคาของบุหรี่มวนเองเพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบทางอ้อมให้ผู้สูบบุหรี่ที่หันไปสูบบุหรี่มวนเองลดปริมาณการสูบลง ซึ่งหมายถึงว่าการรณรงค์งดสูบบุหรี่จะประสบความสำเร็จอีกขั้นหนึ่งด้วย
บทสรุป
ในปี 2549 หลายคนอาจจะมองข้ามหรือลืมวันงดสูบบุหรี่โลกในวันที่ 31 พฤษภาคมไป เนื่องจากข่าวคราวของมหกรรมฟุตบอลโลกที่จะเริ่มขึ้นในวันที่ 9 มิถุนายน อย่างไรก็ตามจากการสำรวจ“พฤติกรรมการสูบบุหรี่ของคนกรุงเทพฯ” ของบริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด พบว่ามหกรรมการแข่งขันฟุตบอลระดับสากลนั้นเป็นปัจจัยสนับสนุนให้มีการสูบบุหรี่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้เนื่องจากมีความเครียดมากขึ้น และมีโอกาสในการสังสรรค์กับเพื่อนๆมากขึ้น
ในปีนี้คำขวัญของวันงดสูบบุหรี่โลกคือ “บุหรี่ทุกชนิด นำชีวิตสู่ความตาย” หลังจากที่ได้มีการรณรงค์อย่างต่อเนื่องถึงผลกระทบในด้านต่างๆของการสูบบุหรี่ ซึ่งทำให้หลายฝ่ายเริ่มตระหนักถึงโทษของการสูบบุหรี่ ในปีนี้องค์การอนามัยโลกต้องการให้ประชาชนเข้าใจและรู้เท่าทันกลยุทธ์การตลาดของบริษัทผู้ผลิตบุหรี่ โดยเฉพาะข้อเท็จจริงที่ว่า “แท้จริงแล้วไม่มีบุหรี่ชนิดใดเลยที่ปลอดภัยต่อสุขภาพของผู้บริโภค” เนื่องจากมีผู้สูบบุหรี่ยังเข้าใจผิดว่าบุหรี่บางชนิดนั้นมีอันตรายน้อยลง เช่น บุหรี่ประเภทไลท์หรือมายด์ บุหรี่ที่แต่งกลิ่นและรส หรือผลิตภัณฑ์ยาสูบในรูปแบบอื่นๆ เป็นต้น นอกจากนี้ประเด็นที่น่าสนใจคือ กลุ่มผู้สูบบุหรี่บางกลุ่มไม่ได้ลดการสูบบุหรี่แต่เปลี่ยนพฤติกรรมการสูบบุหรี่ไปสูบบุหรี่มวนเอง โดยคิดว่ามีอันตรายน้อยกว่าและราคาถูกกว่า นับว่าเป็นสิ่งที่ต้องเร่งแก้ไข โดยการเพิ่มภาษีบุหรี่มวนเองให้เท่าเทียมกับบุหรี่ผลิตจากโรงงานและกำหนดให้บุหรี่มวนเองต้องเข้ามาอยู่ในข้อกำหนดต่างๆไม่ว่าจะเป็นข้อกำหนดที่จะต้องติดคำเตือนถึงอันตรายต่อสุขภาพ การแสดงส่วนผสมต่างๆ การโฆษณา และการส่งเงินเข้ากองทุนสุขภาพ ทั้งนี้จะส่งผลให้ราคาของบุหรี่มวนเองเพิ่มขึ้น ซึ่งจะได้ผลในการลดปริมาณการสูบบุหรี่ในที่สุด