“หมาก” เป็นพืชที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมประเพณีพื้นบ้านและความเป็นอยู่ของคนไทย ในอดีตคนไทยนิยมกินหมากตั้งแต่เจ้านายถึงชาวบ้านธรรมดา มักมีเชี่ยนหมากไว้รับแขกผู้มาเยี่ยมเยือน ปัจจุบันคนรุ่นใหม่ไม่นิยมกินหมาก ยังคงมีบางกลุ่มเท่านั้นที่ยังนิยมกินหมากโดยเฉพาะผู้เฒ่าผู้แก่ และชาวเขาบางเผ่า นอกจากนี้ หมากยังเป็นที่รู้จักว่าเป็นเครื่องประกอบในพิธีไหว้ครู และพิธีบายศรีสู่ขวัญ ก็มีหมากพลูเป็นเครื่องบูชาประกอบในพิธีเสมอ ในงานแต่งงานก็มีการแห่ขันหมาก นอกจากนี้ ยังมีการนำหมากไปใช้ในอุตสาหกรรม โดยหมากแห้งใช้ในอุตสาหกรรมฟอกหนัง ฟอกเส้นใย และทำยารักษา โรค และการใช้บริโภคในลักษณะของสมุนไพร โดยผลหมากสามารถใช้เป็นยาสมุนไพรในการปฐมพยาบาลเบื้องต้น เช่น ใช้สมานแผล แก้ท้องเสีย รักษาโรคเหงือกและฟัน เป็นต้น นอกจากนี้ไทยยังมีการส่งออกหมากทั้งรูปหมากสดและหมากแห้ง คิดเป็นมูลค่าหลายร้อยล้านบาท ซึ่งในปัจจุบันไทยสามารถส่งออกหมากไปไต้หวันซึ่งเป็นประเทศที่นำเข้าสำคัญได้อีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่ไต้หวันเข้มงวดนำเข้าหมากไทยตั้งแต่ปี 2547 ทำให้คาดหมายว่าราคาหมากในประเทศจะมีแนวโน้มดีขึ้น หมากจึงเป็นพืชเศรษฐกิจที่น่าสนใจ ปลูกง่าย และการดูแลรักษาไม่ยุ่งยาก โรคแมลงรบกวนน้อย ลงทุนไม่สูง ทำรายได้สม่ำเสมอต่อเนื่องเป็นเวลานานนับสิบปี
พันธุ์หมากไม่มีชื่อเรียกแต่จะแบ่งตามลักษณะของผลและต้น คือ แบ่งตามลักษณะของผล โดยแยกเป็นหมากผลกลมแป้น และหมากผลกลมรี หรือแบ่งตามลักษณะของทรงต้น แยกเป็นพันธุ์ต้นสูง พันธุ์ต้นเตี้ย และพันธุ์ต้นกลาง
หมากจะให้ผลเกือบตลอดปีทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอายุของต้นหมาก สภาพแวดล้อม อายุและความอุดมสมบูรณ์ส่วนช่วงการเก็บเกี่ยวแบ่งออกได้ 2 ช่วงดังนี้
1.หมากปี จะเริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคม–ตุลาคม ช่วงผลผลิตหมากจะมีมากระหว่างเดือนกรกฎาคม–สิงหาคม
2.หมากทะวาย เริ่มเก็บเกี่ยวตั้งแต่ช่วงเดือนกุมภาพันธ์–พฤษภาคม หมากทะวายจะมีราคาแพงกว่าหมากปี โดยบางครั้งมีราคาสูงถึงผลละ 3-5 บาท
ปัจจุบันแหล่งปลูกหมากที่เป็นเชิงการค้าของโลก ได้แก่ อินเดีย ศรีลังกา พม่า มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ไต้หวัน อินโดนีเซีย และไทย โดยการปลูกในไทยส่วนใหญ่เป็นการปลูกในลักษณะผสมผสานร่วมกับพืชเศรษฐกิจอื่นๆเพื่อเสริมรายได้ แหล่งปลูกในไทยส่วนใหญ่อยู่ในภาคใต้และภาคกลาง พื้นที่ปลูกหมากของไทยมีประมาณ 116,756 ไร่ ผลผลิตรวม 437,010 ตัน จังหวัดที่มีการปลูกหมากมากที่สุดคือ ชุมพร รองลงมาคือนครศรีธรรมราช ระนอง ฉะเชิงเทรา พัทลุง ตรัง พังงา ระยอง นครปฐม และสุราษฎร์ธานี ตามลำดับ
ผลผลิตหมากนอกจากจำหน่ายเป็นหมากสดหรือหมากดิบแล้วยังมีการจำหน่ายเป็นหมากแห้งด้วยการทำหมากแห้งมีความนิยม เพราะสามารถเก็บรักษาไว้ได้นาน ซึ่งการทำหมากแห้งนั้นมีหลายวิธี ดังนี้
1.หมากแห้งที่ทำจากหมากดิบ มี 5 ชนิด ได้แก่ หมากซอย หมากกลีบสับ หมากเสี้ยวหรือหมากเจียนหมากจุก และหมากป่น อัตราส่วนหมากดิบทำเป็นหมากแห้งก็คือถ้าใช้หมากสด 1,000 ผลจะทำหมากแห้งได้ 5 กิโลกรัม
2.หมากแห้งที่ทำจากหมากแก่หรือหมากสงมี 4 ชนิด คือหมากหั่นหรือหมากอีแปะ หมากผ่าสองหรือหมากผ่าซีก หมากผ่าสี่ และหมากแห้งทั้งเมล็ดอัตราส่วนการทำหมากสงเป็นหมากแห้ง ก็คือหากให้หมากสง 1,000 ผลจะสามารถทำหมากแห้งได้ 14 – 15 กิโลกรัม
แม้ว่าการบริโภคหมากของไทยในปัจจุบันจะลดลงอย่างมาก แต่ปริมาณหมากที่ผลิตได้ทั้งหมดนั้นร้อยละ 88 ยังคงใช้ในประเทศ ทั้งเพื่อบริโภคและเป็นวัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรม ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 12 จะเป็นการส่งออก ในปัจจุบันการใช้หมากในประเทศจะใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรมฟอกหนัง ฟอกเส้นใย ทำยารักษาโรคและการใช้บริโภคในลักษณะของสมุนไพร กล่าวคือ เมล็ดหมากเมื่อนำมาสกัดจะได้ไขมัน เมือก ยางและสารอัลคาลอยด์ ชื่อ Arecoline มีแทนนินสูง จึงสามารถใช้ในทางอุตสาหกรรมและยารักษาโรคได้หลายชนิด เช่น ใช้ทำสีต่างๆ ใช้ย้อมแห อวน ทำให้แห และอวนนิ่ม และอ่อนตัว ยืดอายุการใช้งานได้นาน เส้นด้ายไม่เปื่อยเร็ว ใช้สกัดทำยารักษาโรค เช่น ยาสมานแผล ยาขับพยาธิในสัตว์ ยาแก้ท้องเดิน ท้องเสีย ยาขับพิษ ยาทาแก้คัน น้ำมันนวด ยาขับปัสสาวะ และยาแก้ปากเปื่อย เป็นต้น ใช้สกัดเป็นน้ำยาฟอกหนังจะทำให้หนังนิ่มและมีสีสวยที่อินเดียมีจำหน่ายในชื่อต่างๆ กันคือ Gambier catechu, Begal catechu, Bombay catechu
การจำหน่ายภายในประเทศ แยกออกได้เป็น
1.หมากสดหรือหมากดิบ การจำหน่ายในลักษณะนี้ ส่วนมากชาวสวนจะนำหมากไปขายในท้องตลาดในลักษณะของการขายปลีก โดยการนับจำนวนผลขาย ชาวสวนบางรายจำหน่ายผลผลิตในรูปขายส่งให้กับพ่อค้าที่มารับซื้ออีกต่อหนึ่ง มีทั้งการนับจำนวนขายเป็นร้อยผล และการชั่งขายเป็นกิโลกรัม นอกจากนี้ชาวสวนบางรายขายเหมาผลผลิตให้กับพ่อค้า โดยพ่อค้าเป็นผู้รับผิดชอบในการเก็บเกี่ยวเองทั้งหมด ทั้งนี้ลักษณะหมากสดหรือหมากดิบที่ตลาดต้องการ คือ ผลใหญ่ ฝาด เนื้อดี และหน้าเต็ม การรับซื้อจะไม่แบ่งพันธุ์ แต่จะคละกันทั้งผลกลมแป้นและผลรี
2.หมากสง ในกรณีที่หมากดิบหรือหมากสดมีจำนวนมากเกินไปจนเก็บไม่ทัน หรือราคาถูกมาก ๆ ชาวสวนบางรายจะปล่อยให้หมากในสวนแก่และเอาไว้ขายในรูปของหมากสง โดยมีการจำหน่ายในลักษณะเช่นเดียวกับหมากสดหรือหมากดิบ แต่การจำหน่ายในรูปของหมากสงนี้ ราคาจะไม่ค่อยดีเหมือนกับหมากสดหรือหมากดิบ
3.หมากแห้ง ชาวสวนบางรายอาจทำหมากแห้งจำหน่ายให้กับพ่อค้าเป็นกิโลกรัม ทั้งนี้หมากแห้งที่ทำจากหมากดิบเกือบทั้งหมดจะใช้บริโภคในประเทศ ในขณะที่หมากแห้งจากหมากสง ส่วนใหญ่ส่งออกจำหน่ายต่างประเทศ
การส่งออกหมากไปจำหน่ายต่างประเทศมี 2 รูปแบบคือ
1.หมากสด โดยส่งขายในรูปของหมากอ่อน อายุการเก็บเกี่ยวหมากอ่อนระยะตั้งแต่เริ่มติดผลประมาณ 5 วัน ก็ตัดขายได้ หมากอ่อน 1 กิโลกรัมจะมีประมาณ 190-200 ผล ขนาดเท่าปากขวดชูกำลังและเป็นหมากอ่อนหน้าขาว ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2549 ปริมาณการส่งออกหมากสดหรืออ่อนเท่ากับ 81 ตัน มูลค่า 2.78 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนแล้วทั้งปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 118.9 และ 116.3 ตามลำดับ
ตลาดที่รับซื้อหมากอ่อนมากที่สุดคือ ไต้หวัน เนื่องจากในไต้หวันนิยมบริโภคหมากอ่อน โดยเฉพาะกลุ่มผู้ใช้แรงงานและกลุ่มผู้สูงอายุ ทำให้ต้องมีการนำเข้าถึงปีละกว่า 10,000 ตัน ราคาตันละ 70,000-100,000 บาท อย่างไรก็ตามตั้งแต่ปี 2547 การส่งออกหมากอ่อนลดน้อยลงมาก เนื่องจากการที่ไต้หวันได้ปรับปรุงกฎระเบียบการนำเข้า ทำให้หมากไทยไม่สามารถส่งออกได้ โดยใช้มาตรฐานสินค้าเกษตรทางด้านอนุสัญญาว่าด้วยการอารักขาพืช ระหว่างประเทศ การส่งออกหมากอ่อนไปต่างประเทศนอกจากจะนำรายได้เข้ารัฐแล้วยังเป็นการตัดวงจรของหมากแก่ให้ลดลงถึงร้อยละ 30.0 ของผลผลิตทั้งหมด ดังนั้นใน ปี 2547 ผลผลิตของหมากแก่จะมากในช่วงเดือนสิงหาคม – ตุลาคม ทำให้เกิดภาวะราคาตกต่ำ
ในปี 2549 ทางกระทรวงเกษตรฯจัดทำข้อมูลเกี่ยวกับมาตรการควบคุมแมลงวันผลไม้ในหมากเสนอให้สำนักงานกักกันและตรวจสอบสุขอนามัยพืชและสัตว์ของไต้หวันวิเคราะห์ความเสี่ยงศัตรูพืชเพื่ออนุญาตนำเข้าหมากอ่อนของไทย ทำให้ไต้หวันอนุญาตให้ไทยส่งออกหมากอ่อนไปยังไต้หวันได้แล้วโดยมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 29 พฤษภาคม 2549 หลังจากที่ไต้หวันมีมาตรการเข้มงวดการนำเข้าหมากอ่อนของไทยในปี 2547 ทำให้ปัจจุบันไทยจะสามารถส่งออกหมากอ่อนยังไต้หวันได้ โดยเฉพาะในช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม ซึ่งไต้หวันกำหนดอัตราภาษีนำเข้าไว้ต่ำมาก และการส่งออกในช่วงนี้ไทยได้เปรียบคู่แข่งขันสำคัญคือเวียดนาม เนื่องจากคุณภาพของหมากไทยได้รับการยอมรับจากไต้หวัน แต่ในช่วงเดือนมิถุนายน-กุมภาพันธ์ ไต้หวันจะใช้ระบบโควตาภาษีปกป้องสินค้า เนื่องจากเป็นช่วงที่หมากของไต้หวันออกสู่ตลาด ทำให้ไต้หวันปรับอัตราภาษีนำเข้าให้สูงขึ้น ดังนั้นถ้าผู้ส่งออกหมากอ่อนของไทยส่งเข้าไปในตลาดไต้หวันในช่วงดังกล่าวก็ต้องเผชิญกับปัญหาภาษีนำเข้าที่อยู่ในเกณฑ์สูง
2.หมากแห้ง รูปแบบการส่งออกหมากแห้งจะเป็นหมากสง(หมากแก่)ทั้งหมด ซึ่งการส่งออกหมากแห้งเริ่มมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นหลังจากที่การส่งออกหมากอ่อนของไทยประสบปัญหาการส่งออกไปตลาดไต้หวัน ทำให้ต้องหันมาแปรรูปเป็นหมากแห้งและส่งออกต่อไป ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2549 ปริมาณการส่งออกหมากแห้งเท่ากับ 8,404 ตัน มูลค่า 198.36 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนแล้วทั้งปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.7 และ 41.3 ตามลำดับ ประเทศผู้นำเข้าสำคัญคือ ปากีสถาน บังคลาเทศ อินเดีย และซาอุดิอาระเบีย สำหรับตลาดส่งออกที่น่าสนใจ คือ พม่า โดยเฉพาะหมากจากระนอง ซึ่งพ่อค้าในจังหวัดรับซื้อหมากสดราคากิโลกรัมละ 4-5 บาทซื้อหมากแห้งราคากิโลกรัมละ 27-30 บาท หมากที่ระนองจะราคาดีกว่าจังหวัดเพื่อนบ้าน เพราะอยู่ชายแดนติดกับพม่าส่งออกได้มาก และหมากระนองคุณภาพดีคือ แห้งสนิทและหน้าสวย ทำให้พ่อค้าฝั่งพม่าต้องการมาก ส่งผลให้ในปัจจุบันเกษตรกรหันมาปลูกหมากกันมากๆ เนื่องจากนับวันตลาดยังต้องการเพิ่มขึ้น ราคาก็ดีขึ้นทุกปี
ปัจจุบันหมากมีความสำคัญทางอุตสาหกรรมมากขึ้น แม้ว่าในปัจจุบันคนไทยจะบริโภคหมากลดลง โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมฟอกหนัง ฟอกเส้นใย และทำยารักษาโรคและการใช้บริโภคในลักษณะของสมุนไพร รวมทั้งการใช้ประกอบในงานพิธีกรรมต่างๆ รวมทั้งยังสามารถสร้างรายได้เข้าประเทศโดยไทยมีการส่งออกหมากทั้งในรูปหมากสดและหมากแห้ง อย่างไรก็ตามการส่งออกหมากของไทยโดยเฉพาะหมากสดหรือหมากอ่อนต้องขึ้นอยู่กับไต้หวันเป็นหลัก แม้ว่าสถานการณ์เริ่มจะมีแนวโน้มดีขึ้นหลังจากที่ไต้หวันอนุมัติให้นำเข้าได้อีกครั้งหนึ่งหลังจากเข้มงวดการนำเข้าในปี 2547 ดังนั้นผู้ที่เกี่ยวข้องในธุรกิจหมากและภาครัฐเร่งการศึกษาการใช้ประโยชน์จากหมากในรูปของอุตสาหกรรมต่างๆและยารักษาโรคในคนและปศุสัตว์มากยิ่งขึ้น โดยไทยมีข้อได้เปรียบในแง่ที่มีวัตถุดิบอยู่ในประเทศ แต่ยังขาดการศึกษาวิจัยและการส่งเสริมการใช้ในภาคอุตสาหกรรมให้กว้างขวางมากกว่าในปัจจุบัน