ไมโครซอฟท์ จัดสัมมนาเพิ่มศักยภาพวงการการศึกษาภาคเหนือ

บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด จัดการสัมมนาเรื่อง “Beyond ICT with Microsoft” แก่คณาจารย์และนักศึกษาจากสถาบันการศึกษาในภาคเหนือ เพื่อกระตุ้นให้มีการนำเทคโนโลยีไปประยุกต์ใช้ในการเสริมศักยภาพและพัฒนาวงการการศึกษาอย่างกว้างขวาง พร้อมเชิญสถาบันการศึกษาชั้นนำในภาคเหนือร่วมเสวนาแลกเปลี่ยนเรื่องการนำเทคโนโลยีไปใช้ในสถาบันอย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ มร. แอนดรูว์ แม็คบีน กรรมการผู้จัดการบริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้ให้วิสัยทัศน์เกี่ยวกับการนำไอซีทีไปประยุกต์ใช้ในการศึกษาว่า ยุคปัจจุบันเป็นยุคของข้อมูลข่าวสาร อีกทั้งเทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงและก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว การที่จะสร้างสังคมเศรษฐกิจแห่งการเรียนรู้ (Knowledge Based Economy) ได้นั้น องค์ประกอบที่สำคัญคือ การสร้างบุคลากร (Build Human Capital) ส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ (Promote Innovation) และสร้างความเข้มแข็งให้แก่โครงสร้างพื้นฐานด้านข้อมูลข่าวสารรวมทั้งอุตสาหกรรมไอที (Strengthen Information Infrastructure & Industry) ซึ่งในส่วนของการสร้างบุคลากรนั้น สถาบันการศึกษามีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการบ่มเพาะให้บุคลากรมีความรู้ความสามารถทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ

“การเปลี่ยนแปลงที่จะเห็นได้ชัดในด้านการศึกษาที่จะเปลี่ยนจากรูปแบบเดิมไปสู่การศึกษาสมัยใหม่นั้น คือ การนำเอาเทคโนโลยีไปประยุกต์ใช้กับการเรียนการสอนมากขึ้น ซึ่งต่อไปนักเรียนนักศึกษาจะเป็นศูนย์กลางของการเรียนการสอน นั่นคือ นักเรียนนักศึกษาจะเป็นผู้ศึกษาค้นคว้าหาข้อมูลที่ตนเองต้องการ ไม่ใช่เพียงแค่รับเอาข้อมูลที่ครูอาจารย์เป็นผู้ป้อนให้เท่านั้น ในขณะเดียวกันครูอาจารย์ผู้สอนก็จะปรับบทบาทจากการสอนเป็นการแนะแนวทาง (Coaching) เพื่อกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้และค้นคว้าข้อมูลมากขึ้น” มร. แอนดรูว์ กล่าว

บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้มุ่งมั่นที่จะส่งเสริมการศึกษาในประเทศให้เกิดการเรียนรู้อย่างไม่สิ้นสุด และส่งเสริมให้ทุกคนได้ตระหนักถึงศักยภาพที่แท้จริงของตนเอง จึงมีโครงการต่างๆ เกิดขึ้นมากมายที่จะสนับสนุนการศึกษาในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับประถมศึกษาไปจนถึงระดับอุดมศึกษา ไม่ว่าจะเป็นการอบรมครูอาจารย์ การจัดทำหลักสูตรเกี่ยวกับไอซีทีร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ การสนับสนุนซอฟต์แวร์แก่โรงเรียนและ

มหาวิทยาลัย การสนับสนุนหลักสูตรการเรียนการสอนแบบออนไลน์ การรับรองคุณสมบัติของนักศึกษาที่ผ่านหลักสูตรการพัฒนาซอฟต์แวร์ (MCAD certification) เป็นต้น

นอกจากนี้ งานสัมมนาครั้งนี้ยังได้รับเกียรติจาก รศ. ดร. ศิริชัย อุ่นศรีส่ง รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ และอาจารย์ภูษิต ก้อนสุรินทร์ ผู้อำนวยการศูนย์คอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยพายัพ มาร่วมเสวนาในหัวข้อ “การเพิ่มศักยภาพของสถาบันภายใต้การประยุกต์ใช้ไอซีที” อีกด้วย โดยทั้งสองสถาบันได้มีการใช้เทคโนโลยีต่างๆ ของไมโครซอฟท์ภายใต้ข้อตกลง Campus Agreement ซึ่งได้รับสิทธิพิเศษต่างๆ มากมายในการนำเทคโนโลยีของไมโครซอฟท์ไปเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการของมหาวิทยาลัย รวมทั้งเพิ่มศักยภาพแก่บุคลากรด้วย ซึ่งทั้งสองสถาบันการศึกษาชั้นนำในภาคเหนือมีความเห็นที่สอดคล้องกันว่า เทคโนโลยีนั้นมีบทบาทอย่างยิ่งต่อการพัฒนาการศึกษาในปัจจุบัน เพราะการเรียนการสอนยุคใหม่นั้นมีความซับซ้อนหลากหลายมากขึ้น การนำเทคโนโลยีไปประยุกต์ใช้จะทำให้การเรียนการสอนมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รวมทั้งยังสามารถบริหารจัดการงานต่างๆ ภายในมหาวิทยาลัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ อาทิ เรื่องของการจัดเตรียมงบประมาณ นอกจากนี้ ยังอำนวยความสะดวกแก่ทั้งอาจารย์และนักศึกษา เช่น การลงทะเบียนออนไลน์ การเตรียมการสอน การจัดทำข้อสอบและการตรวจข้อสอบ เป็นต้น

ข้อมูลเกี่ยวกับไมโครซอฟท์

บริษัท ไมโครซอฟท์ (Nasdaq “MSFT”) ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2518 เป็นผู้นำระดับโลกด้านบริการซอฟต์แวร์ และโซลูชั่นที่ช่วยเสริมสร้างศักยภาพของผู้ใช้และองค์กรธุรกิจ

บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด ก่อตั้งขึ้นในปี 2536 บริษัทฯ เสนอซอฟต์แวร์ชั้นนำระดับโลกที่ใช้งานง่ายและเหมาะกับความต้องการของผู้ใช้คนไทย ตลอดจนแพลตฟอร์มที่ช่วยให้องค์กรธุรกิจพัฒนาโซลูชั่นที่ตรงตามความต้องการอย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถรองรับได้ตั้งแต่คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊คไปจนถึงเครื่องขนาดใหญ่ระดับเมนเฟรม เพื่อให้สอดคล้องกับการขยายตัวของจำนวนผู้ใช้คอมพิวเตอร์ในประเทศไทย หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมสามารถเข้าไปเยี่ยมชมได้ที่เว็บไซต์ของไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) http://www.microsoft.com/thailand

ไมโครซอฟท์เป็นเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนของ ไมโครซอฟท์ คอร์ป ประเทศสหรัฐอเมริกา และ/หรือ ประเทศอื่นๆ ชื่อบริษัทและผลิตภัณฑ์ที่มีการกล่าวถึงในเอกสารชุดนี้อาจจะเป็นเครื่องหมายการค้าของเจ้าของนั้นๆ
หมายเหตุ: หากท่านต้องการทราบข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับไมโครซอฟท์ สามารถดูได้ที่ http://www.microsoft.com/presspass/ ในส่วนของหน้าข้อมูลบริษัท