ซิป้า ผนึกองค์กรรัฐวิสาหกิจ หนุนใช้ซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ส

มร.เจมส์ คลากส์ ผู้จัดการฝ่ายโอเพนซอร์ส สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ ซิป้า เปิดเผยว่าปัจจุบันการใช้ซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ส เริ่มได้รับความนิยมขึ้นในหมู่องค์กรเอกชน และSMEs ต่างๆ ดังจะเห็นได้จากยอดจำนวนผู้ให้ความสนใจ และขอรับแผ่นจันทราซึ่งเป็นแผ่นรวมซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สที่สามารถใช้บนระบบปฏิบัติการวินโดวส์ ทั้งโปรแกรมสำหรับออฟฟิศ อินเตอร์เน็ต กราฟฟิค และมัลติมีเดียต่างๆ ถึง 24 โปรแกรม ถึงกว่า 5 หมื่นแผ่นแล้ว ซึ่งซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สนั้นนอกจากจะมีประโยชน์สำหรับการพัฒนาโปรแกรมต่างๆ ด้วยซอร์สโค้ดแล้ว ยังมีประโยชน์ในแง่การใช้งานส่วนบุคคล เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการซื้อซอฟต์แวร์ลิขสิทธิ์ที่นับวันจะสูงขึ้นเรื่อยๆ อีกด้วย

“หากหน่วยงานขนาดใหญ่ โดยเฉพาะรัฐวิสาหกิจต่างๆ หันมาให้ความสนใจ และทดลองนำซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ส ซึ่งสามารถใช้งานได้เทียบเท่ากับซอฟต์แวร์ลิขสิทธิ์ต่างๆ และได้รับการพัฒนาให้ใช้งานได้ง่ายมากขึ้น รวมทั้งสามารถใช้งานบนระบบปฏิบัติการวินโดวส์ได้แล้วด้วย จะสามารถลดค่าใช้จ่ายในการเช่าลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์จากต่างประเทศมาใช้อย่างมาก การจัดงานสัมมนาของชมรมเทคโนโลยีสารสนเทศรัฐวิสาหกิจแห่งประเทศไทยเกี่ยวกับการใช้งานซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สที่พึ่งจัดขึ้นจึงนับเป็นการเริ่มต้นที่ดีที่จะแนะนำให้บุคลากรขององค์กรรู้จักและหาข้อมูลเกี่ยวกับซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สเพิ่มเติม” มร.คลากส์ กล่าวเสริม

นายชนะ โศภารักษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวางแผนเทคโนโลยีสารสนเทศ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กล่าวในงานสัมมนา “ไอทีรัฐวิสาหกิจ ทำไมต้องโอเพนซอร์ส” ว่าการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของพนักงานทั้งองค์กรจากการใช้ซอฟต์แวร์เชิงพาณิชย์ที่คุ้นเคยมาเป็นการใช้ซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์สเป็นเรื่องยากและมีผลกระทบมาก โดยวิธีการที่นำไปสู่ความสำเร็จคือต้องแสดงให้ผู้ปฏิบัติงานเข้าใจว่าสามารถใช้แทนกันได้ มีความยั่งยืน และทำให้ผู้บริหารเกิดความเชื่อมั่นว่าก่อให้เกิดประโยชน์กับองค์กรทั้งในแง่การลดค่าใช้จ่ายค่าลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ ความผิดในแง่การละเมิดลิขสิทธิ์ของบุคลากรในองค์กร และการพัฒนาบุคลากรด้านไอทีในองค์กร

“แต่ละองค์กรจะมีค่าใช้จ่ายด้านลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์เป็นจำนวนมาก อย่างในปีที่ผ่านมา กฟผ. มีค่าใช้จ่ายซอฟต์แวร์ทั้งซอฟต์แวร์ Microsoft และ non-Microsoft ทั้งสิ้น 110,080,850 บาท ซึ่งหากจะให้ครอบคลุมค่าลิขสิทธิ์ของทุกโปรแกรมทั้งองค์กรจะต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นสำหรับโปรแกรม Core Cal (ลิขสิทธิ์ในการเข้าใช้งานหรือรับบริการจากเครื่อง Server ที่เปิดให้บริการอย่างถูกต้อง) MS Office และ Non MS Office อีกประมาณ 265 ล้านบาท ซึ่งหากเรานำซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์ส มาใช้แทนโปรแกรมประเภท MS Office และ Non MS Office เช่นโปรแกรมมัลติมีเดีย กราฟฟิค และ Utility ต่างๆ มาใช้แทนในส่วนของ Non MS Office และใช้ MySQL แทนในส่วนของ SQL จะสามารถลดค่าลิขสิทธิ์ลงเฉพาะที่จำเป็น และทำให้เสียค่าใช้จ่ายเพียงประมาณปีละ 20-30 ล้านบาทเท่านั้น”

“ในส่วนของกฟผ.เองได้มีการประกาศนโยบายการใช้โอเพนซอร์สเมื่อต้นปี 2549 นี้ โดยมีการวางแผนระยะยาวเพื่อปรับเปลี่ยนองค์กรมาใช้โอเพนซอร์สอย่างเป็นระบบ อาทิ การลบ MS Office ที่ไม่ถูกต้องและเปลี่ยนเป็น Open Office ในเครื่อง PC อย่างน้อย 5,000 เครื่องภายในปีนี้ งดการซื้อลิขสิทธิ์ MS Office เพิ่มเติม การใช้ Mambo Content Management แทน Intranet Web Server ฯลฯ โดยตั้งเป้าในการนำงบประมาณส่วนที่ประหยัดได้จากการใช้ซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ส มาเป็นงบพัฒนาบุคลากรแทน รวมถึงการทำความเข้าใจกับทุกสายงานเพื่อไม่ให้เกิดความสับสนอีกด้วย” นายชนะกล่าว

สำหรับหน่วยงานที่ให้การสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงมาใช้ซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สมีอยู่ด้วยกันหลายหน่วยงาน ทำให้การเปลี่ยนมาใช้งานซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สของหน่วยงานต่างๆ มีความสะดวก ไม่ว่าจะเป็นซิป้า หรือ เน็คเท็ค (NECTEC) ที่จะช่วยให้คำปรึกษา และร่วมพัฒนาซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สให้สามารถรองรับภาษาไทย และสามารถตอบสนองความต้องการในการใช้งานได้อย่างดี