ในการแข่งขันฟุตบอลโลก 2006 มีการถ่ายทอดสดการแข่งขันผ่านทางฟรีทีวี แบบไม่มีโฆษณาคั่น และกระแสของฟุตบอลโลกก็ได้รับความสนใจมากยิ่งขึ้น ประกอบกับธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องและไม่เกี่ยวเนื่องต่างก็หันมาให้ความสำคัญกับเทศกาลการแข่งขันและนำมาใช้สำหรับเป็นปัจจัยกระตุ้นตลาดและธุรกิจให้มีความคึกคักมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการจัดรายการส่งเสริมการขาย ชิงโชค ชิงรางวัลจากสินค้าต่างๆ ซึ่งของรางวัลที่ชิงโชคมีทั้ง แพกเก็จทัวร์พร้อมตั๋วชมฟุตบอลโลกรอบต่างๆ เครื่องใช้ไฟฟ้า เงินสด โทรศัพท์เคลื่อนที่ และสิ่งที่ผู้สนใจร่วมรายการหรือผู้ชมฟุตบอลโลกเริ่มเห็จนเจนตา คือการเข้าร่วมสนุกผ่านทางการส่งเอสเอ็มเอส ทั้งจากสินค้าต่างๆ และการส่งเชียร์ทีมที่กำลังถ่ายทอดสดการแข่งขันอยู่
การส่งเอสเอ็มเอส หรือ ข้อความสั้นของโทรศัพท์เคลื่อนที่ มีบทบาทมากขึ้นในด้านการสื่อสาร นอกเหนือจากการใช้บริการพื้นฐานทางด้านเสียง (โทรออก-รับสาย) เนื่องจากผู้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ต่างมีความคุ้นเคยกับการใช้โทรศัพท์มากขึ้น ประกอบกับการจัดส่งสามารถทำได้สะดวก รวดเร็ว ค่าใช้จ่ายในการจัดส่งไม่สูงมากนัก ทำให้การสื่อสารช่องทางเอสเอ็มเอสเป็นที่นิยมมากขึ้น นอกจากนี้ยังสามารถพัฒนาไปใช้ได้หลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการส่งข้อความเพื่อการสื่อสาร การส่งข้อความเพื่อดาวน์โหลดคอนเทนท์ต่างๆ การรับข้อมูลในลักษณะข่าวสาร การส่งข้อความรหัสเพื่อทำธุรกรรมทางการเงิน การส่งเพื่อร่วมโหวตการแข่งขันต่างๆ การส่งข้อความเพื่อแสดงความคิดเห็นกับรายการโทรทัศน์/วิทยุ การใช้ประกอบกับเทคโนโลยีอื่นๆ เช่น การซื้อเครื่องดื่มจากตู้อัตโนมัติ เป็นต้น สำหรับในการจัดส่งเอสเอ็มเอสเพื่อการร่วมสนุกชิงรางวัลนั้นได้เริ่มมีขึ้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา และแพร่ขยายตัวเพิ่มขึ้นมากในหลากหลายสินค้าที่นำระบบเอสเอ็มเอสมาใช้ แทนการจัดส่งชิ้นส่วนหรือการส่งไปรษณียบัตร หรือ คูปอง ไปชิงโชคเหมือนที่ผ่านมา
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้สำรวจพฤติกรรมการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ของคนกรุงเทพฯ ในช่วงเดือนธันวาคม 2548 พบว่า ร้อยละ 84.1 ของผู้ใช้โทรศัพท์เคยใช้บริการส่งเอสเอ็มเอส ซึ่งนับว่าเป็นบริการเสริมที่ได้รับความนิยมสูงสุด และการใช้บริการเอสเอ็มเอสจะมีปริมาณสูงมากในช่วงเทศกาลสำคัญ เช่น การใช้เอสเอ็มเอสในช่วงปีใหม่เพื่อการอวยพรให้กับบุคคลอื่นๆ รวมถึง การส่งความรักในเทศกาลวาเลนไทน์ และเทศกาลสงกรานต์
สำหรับในช่วงมหกรรมการแข่งขันฟุตบอลโลก 2006 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ทำการสำรวจพฤติกรรมการติดตามการแข่งขันและการชิงโชคของคนกรุงเทพฯ ในช่วงระหว่างวันที่ 6-20 มิถุนายน 2549 จากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 820 คน มีผลการสำรวจที่น่าสนใจในประเด็นที่เกี่ยวกับการใช้เครื่องมือสื่อสารในช่วงเทศกาลฟุตบอลโลก ดังนี้
ปริมาณการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่เพิ่มขึ้น จากการสำรวจพบว่า ร้อยละ 70 ของผู้ตอบแบบสอบถามมีแนวโน้มใช้โทรศัพท์เพิ่มขึ้น ส่วนร้อยละ 30 มีการใช้ในปริมาณปกติ โดยกลุ่มที่มีแนวโน้มจะใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่เพิ่มขึ้นนั้นส่วนใหญ่ร้อยละ 60 เป็นเพศชาย ร้อยละ 80 เป็นคนโสด ร้อยละ 70 มีอายุระหว่าง 20-30 ปี ร้อยละ 40 เป็นนักเรียน/นักศึกษา รองลงมาร้อยละ 30 เป็นพนักงานบริษัท และส่วนใหญ่ร้อยละ 65 มีรายได้ต่ำกว่า 10,000 บาท
การใช้เพื่อส่งเอสเอ็มเอสชิงรางวัลร้อยละ 21.2 สำหรับวัตถุประสงค์ที่ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่เพิ่มขึ้นนั้น ร้อยละ 51.8 ใช้เพื่อพูดคุยกับเพื่อนในเรื่องฟุตบอลโลก ร้อยละ 32.4 รับข่าวสารความเคลื่อนไหว ร้อยละ 21.2 ใช้เพื่อการส่งข้อความชิงรางวัล ร้อยละ 14.7 ใช้เพื่อทายผล/พนัน ร้อยละ 10 ใช้เพื่อรับผลการแข่งขัน และร้อยละ 3.5 ใช้เพื่อโอนเงินพนัน
พนักงานบริษัท กลุ่มชอบส่งเอสเอ็มเอสเชียร์บอลโลก จากการสำรวจพบว่า กลุ่มอาชีพที่นิยมส่งเอสเอ็มเอสเพื่อชิงโชคมากที่สุดได้แก่กลุ่มพนักงานบริษัท คิดเป็นร้อยละ 37 ของกลุ่มที่ส่งทั้งหมด รองลงมาเป็นกลุ่มนักเรียน/นักศึกษา คิดเป็นร้อยละ 23 กลุ่มกิจการส่วนตัวคิดเป็นร้อยละ 20 กลุ่มข้าราชการ ร้อยละ 17 และกลุ่มอื่นๆ ร้อยละ 3 นอกจากนี้ยังพบว่า กลุ่มที่ส่งเอสเอ็มเอสนั้นร้อยละ 60 เป็นเพศชาย ร้อยละ 70 เป็นคนโสด และร้อยละ 47 มีอายุระหว่าง 20-30 ปี
ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยในการส่งเอสเอ็มเอสเชียร์บอลโลก 347 บาทต่อคน จากการสำรวจพบว่า ผู้ชมฟุตบอลโลกที่มีแนวโน้มว่าจะใช้เอสเอ็มเอสเพื่อร่วมส่งชิงโชคนั้นมีจำนวนประมาณ 672,000 คน มีค่าใช้จ่ายในการส่งโดยเฉลี่ย 347 บาทต่อคน
จากผลการสำรวจ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประมาณว่า ปริมาณการส่งเอสเอ็มเอสน่าจะมีปริมาณการส่งสูงกว่าปกติคิดเป็นมูลค่าประมาณ 230 ล้านบาท หรือหากคิดจากอัตราค่าส่งที่ 6 บาทต่อครั้ง จะมีปริมาณการส่งเอสเอ็มเอสเพื่อร่วมชิงโชคในช่วงเทศกาลฟุตบอลโลกประมาณ 38 ล้านครั้ง หรือ เฉลี่ยประมาณ 600,000 ครั้งต่อแมทช์
อย่างไรก็ตามในแต่ละเกมการแข่งขันนั้น คาดว่า ปริมาณการส่งเอสเอ็มเอสจะความแตกต่างกันออกไปโดยขึ้นอยู่กับ
คู่แข่งขัน สำหรับคู่ที่ได้รับความนิยมมาก เช่น อังกฤษ บราซิล เยอรมัน อิตาลี ฝรั่งเศส มักจะมีปริมาณการส่งที่มากกว่าคู่ที่ไม่ได้รับความนิยมมากนัก ยกเว้นคู่ที่มีเล่นได้อย่างสนุก ตื่นเต้น ก็จะได้รับความสนใจร่วมส่งเอสเอ็มเอสมากขึ้น
เวลาในการแข่ง เนื่องจากเวลาถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลกครั้งนี้อยู่ในช่วงดึก ทำให้ผู้ชมส่วนใหญ่สามารถรับชมการแข่งขันได้ในเฉพาะคู่ที่ไม่ดึกมากนัก ยกเว้นคู่ที่มีผู้ชมตามเชียร์มากๆ ซึ่งเวลาในการแข่งขันก็มีผลต่อปริมาณการส่ง
มูลค่าของรางวัล นอกจากการส่งเพื่อลุ้นหรือเชียร์ทีมที่ชอบแล้ว มูลค่าของรางวัลก็เป็นแรงจูงใจให้มีผู้ส่งเอสเอ็มเอสมากยิ่งขึ้น โดยของรางวัลที่ต้องการส่วนใหญ่ คือ เงินสด รองลงมาเป็น รถยนต์ บ้าน เครื่องใช้ไฟฟ้า และอื่นๆ ตามลำดับ ทั้งนี้ยิ่งมูลค่าของรางวัลยิ่งมีมูลค่าสูงมากเท่าไรปริมาณการส่งก็จะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
มหกรรมการแข่งขันฟุตบอลโลกในครั้งนี้ จัดเป็นปัจจัยที่ได้เข้ากระตุ้นปริมาณการใช้เอสเอ็มเอสและโทรศัพท์เคลื่อนที่ให้เพิ่มสูงขึ้น จากเดิมที่ปริมาณการใช้จะเพิ่มสูงขึ้นมากในช่วงที่มีเทศกาลพิเศษเท่านั้น นอกจากนี้ยังมีส่วนช่วยผลักดันให้มูลค่าตลาดบริการเสริมโทรศัพท์เคลื่อนที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นอีกด้วย ที่ผ่านมาการนำเอสเอ็มเอสมาใช้เป็นช่องทางในการชิงโชคลุ้นรางวัลเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทั้งนี้เพราะมีความสะดวกทั้งจากผู้จัดรายการที่จะจับรางวัล รวบรวมข้อความผ่านทางเครื่องมือที่ทันสมัยขึ้น ส่วนตัวผู้ส่งเองก็มีความสะดวกในการจัดส่ง นอกจากธุรกิจต่างๆ จะเพิ่มรายการชิงโชคผ่านทางเอสเอ็มเอสแล้ว จำนวนผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่เพิ่มสูงขึ้นก็ทำให้ปริมาณการส่งเอสเอ็มเอสก็เพิ่มสูงขึ้นด้วย
ประเด็นที่น่าสนใจของการใช้บริการเสริมนอกจากบทบาทที่เพิ่มขึ้นในชีวิตประจำวันของผู้บริโภคในด้านความสะดวกในการสื่อสารแล้ว อีกประเด็นที่ต้องให้ความระมัดระวังคือ การใช้บริการที่มากเกินไป หรือการจัดให้มีรายการชิงโชคผ่านเอสเอ็มเอสที่มากจนเกินไปทำให้เกิดการใช้จ่ายที่เกินความจำเป็นค่อนข้างมาก โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชน โดยมีรางวัลเป็นสิ่งจูงใจให้เกิดการใช้บริการเอสเอ็มเอสมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตามหากพิจารณาจากค่าใช้จ่ายในการใช้บริการที่ค่อนข้างสูงถึง 6-9 บาทต่อครั้ง เทียบกับจำนวนของรางวัลที่นำมาชิงโชคแล้ว จะเห็นว่าความเป็นไปได้ที่ผู้ส่งจะได้รับรางวัลตอบแทนนั้นมีสัดส่วนค่อนข้างน้อย ซึ่งผู้ที่จะส่งก็จำเป็นที่จะต้องใช้วิจารณญาณในการใช้บริการด้วยตนเอง ทั้งนี้กระแสของการใช้เอสเอ็มเอสเพื่อชิงโชครางวัลนั้นไม่เพียงแต่เกิดขึ้นในประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังมีเกิดขึ้นกระจายไปทั่วโลกตามจำนวนการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ที่แพร่หลายไปทั่วโลก
กล่าวโดยสรุปแล้ว กระแสความสนใจในแข่งขันฟุตบอลโลกช่วงเดือนมิถุนายนต่อเนื่องถึงกรกฎาคมในปี 2549 นำมาซึ่งโอกาสทางการตลาดสำหรับธุรกิจทางด้านสื่อสารและผู้สนับสนุนรายการต่างๆ ได้นำมากระตุ้นปริมาณการสื่อสารให้ขยายตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งรวมถึงการส่งเอสเอ็มเอสเพื่อร่วมสนุกในรายการโทรทัศน์และวิทยุ อย่างไรก็ตามสิ่งที่จะต้องพิจารณาควบคู่ไปกับการใช้บริการเอสเอ็มเอสนั้น ก็ต้องคำนึงถึงค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นตามมาในแต่ละครั้งที่ร่วมสนุก ให้มีความพอเพียงหรืออยู่ในกรอบที่ไม่มากจนเกินไปนัก