“รวมใจเป็นหนึ่ง” ค่ายพัฒนาเชื่อมใจเครือข่ายเยาวชนต่างวัฒนธรรม

“คิดนอกกรอบ” คงเป็นศัพท์ที่ได้ยินกันจนชินหูสำหรับการเรียนรู้ของเยาวชนรุ่นใหม่ แต่น่าเสียดายที่การค้นคว้าความรู้นอกตำราของเด็กแต่ละคนไม่เท่ากัน เมื่อโอกาสทางการศึกษาถูกปิดกั้นด้วยฐานะทางการเงิน

ด้วยเหตุนี้ธนาคารซิตี้แบงก์ ได้ร่วมกับสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ มอบทุนการศึกษาพร้อมกับจัดค่ายพัฒนาเยาวชนในชื่อ “รวมใจเป็นหนึ่ง” ตามโครงการทุนการศึกษาเพื่อเด็กยากจนและค่ายเยาวชนประจำปี 2548 ด้วยเงินสนับสนุนจากมูลนิธิซิตี้กรุ๊ป ประเทศไทย ซึ่งได้ดำเนินโครงการต่อเนื่องมาเป็นเวลา 5 ปีแล้ว

แกรี่ นิวแมน ผู้จัดการใหญ่ธนาคารซิตี้แบงก์ เผยว่า ที่ผ่านมามีการสนับสนุนทุนการศึกษามา 5 ปีแล้วตั้งแต่ปี 2544 โดยขอความร่วมมือกับสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทยฯ ซึ่งนอกเหนือจากการมอบทุนแล้ว ยังมีแนวคิดที่จะส่งเสริมกิจกรรมการเรียนรู้นอกห้องเรียนให้กับเยาวชนรุ่นใหม่อีกด้วย

“การมอบทุนเราอยากให้เกิดความต่อเนื่อง ไม่ใช่ให้แค่ครั้งเดียวแล้วจบกัน นอกจากเงินทุนแล้ว เราก็อยากให้เด็กมีโอกาสเรียนรู้ประสบการณ์นอกห้องเรียน จึงเสริมค่ายพัฒนาขึ้น โดยจัดต่อเนื่องกันมาหลายปีแล้วเช่นกัน ซึ่งเด็กหลายคนได้รับทุนติดต่อกันมาตั้งแต่มัธยมต้นจนตอนนี้เรียนถึงมัธยมปลายก็มี โดยการเข้าค่ายทำให้เราได้เห็นพัฒนาของพวกเขาว่าเป็นอย่างไร”

ทั้งนี้เยาวชนที่ได้รับทุนในครั้งนี้ เป็นจำนวนทั้งหมด 156 ทุน แบ่งออกเป็นระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย 50 ทุนๆละ 5,400 บาท ระดับอาชีวศึกษา 22 ทุนๆละ 12,000 บาท และระดับอุดมศึกษา 84 ทุนๆละ 20,000 บาท โดยกระจายทุนไปสู่เยาวชนทั่วประเทศ ซึ่งบางส่วนได้รับมอบทุนมาตั้งแต่แรกก่อตั้งโครงการ

สำหรับกิจกรรมค่ายพัฒนาครั้งนี้ ออกเดินทางไปทำกิจกรรมกันที่ บ้านสวนสายป่าน รีสอร์ท อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี ระหว่างวันที่ 2-5 มิถุนายน ที่ผ่านมากิจกรรมเริ่มต้นตั้งแต่สร้างความสัมพันธ์ชาวค่าย “เปิดตัว เปิดใจ ต้อนรับพี่น้องจากทั่วไทย”, เยี่ยมชมโรงเรียนสงครามพิเศษ ศูนย์สงครามพิเศษ ค่ายเอราวัณ ต.เขาสามยอด อ.เมือง จ.ลพบุรี, กิจกรรมอ่านใจตัวเองที่ถ้ำกระบอก อ.พระพุทธบาท จ.สระบุรี, กิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ ที่โรงเรียนนิคมสร้างตนเองเลี้ยงโคนม อ.มวลเหล็ก จ.สระบุรี, กิจกรรมสร้างสะพานด้วยใจ และแคมป์ไฟสิ่งแวดล้อม

ดร.วชิรญา บัวศรี เลขาธิการสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทยฯ ในฐานะประธานคณะกรรมการดำเนินงานโครงการทุนการศึกษาเพื่อเด็กยากจนและค่ายพัฒนาเยาวชน กล่าวว่า การพิจารณาเด็กในการมอบทุนมาจากบัญชีรายชื่อเด็กที่มีปัญหาด้านการเงินของกระทรวงศึกษาธิการ จากนั้นคณะกรรมการสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทยฯ จะคัดเลือกอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งดูจากรายได้ของครอบครัว ภาระที่ผู้ปกครองต้องแบกรับ ส่วนผลการเรียนของเด็ก ไม่จำเป็นว่าต้องเป็นเด็กมีผลการเรียนดีเลิศแต่หากอยู่ในเกณฑ์ที่พัฒนาได้

“ถ้าเป็นลูกชาวนา ข้าราชการครู หรือมีพี่น้องมากๆ ก็จะได้รับการพิจารณาก่อน โดยเราจะพิจารณาให้กระจายทุนการศึกษาไปสู่ทุกภูมิภาค” เลขาธิการฯอธิบาย

ส่วนการจัดค่ายพัฒนา “รวมใจเป็นหนึ่ง” เป็นการออกแบบร่วมกันระหว่างซิตี้แบงก์ และสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทยฯ โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อเชื่อมโอกาสความสัมพันธ์กันเป็นเครือข่ายระหว่างกลุ่มเยาวชนด้วยกัน ให้ตระหนักสำนึกในพระคุณของแผ่นดิน และปลูกฝังความคิดตอบแทนบ้านเกิด ผ่านการทำกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ อาทิ กิจกรรมโรงเรียนสงครามพิเศษ เพื่อซึมซับบทบาทหน้าที่รั้วของชาติ, กิจกรรมวัดพระบาทน้ำพุ เพื่อตอกย้ำพิษภัยของยาเสพติด, กิจกรรมโรงเรียนโคนม เน้นเรียนรู้การสร้างรายได้ให้กับตัวเอง

“เราเน้นเรื่องการเชื่อมโยงความแตกต่างระหว่างเยาวชนในระดับต่างๆ ความเป็นรุ่นพี่รุ่นน้อง ไม่ว่าจะเป็นอายุ เชื้อชาติ หรือศาสนา ซึ่งกำลังเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจ โดยรูปแบบกิจกรรมให้เด็กเรียนรู้การอยู่ร่วมกันกับเพื่อนต่างวัฒนธรรม ซึมซับว่าแม้ดอกไม้ในแจกันจะมีสี หรือกลิ่นที่แตกต่างกัน แต่ก็เป็นดอกไม้เหมือนกัน คืออย่างเด็กมุสลิมอาจจะรู้สึกแปลกแยก แต่การร่วมกิจกรรมก็หวังจะให้เขารู้สึกว่าไม่ได้โดดเดี่ยว”

แม้เม็ดเงินจากทุนการศึกษาอาจไม่ได้มากนัก หากเทียบกับจำนวนเด็กที่ด้อยโอกาสมากมาย แต่อย่างน้อยก็ทำให้ต้นกล้าจำนวนหนึ่งสามารถยืนหยัดได้ด้วยตัวเอง อย่างเช่น คอดีเยาะ นิลาโอะ เด็กสาวชาวนราธิวาส นักศึกษาชั้นปี 1 คณะวิทยาการสุขภาพและการกีฬา สาขาวิชาสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ ที่พยายามส่งเสียตัวเองเพื่อให้ได้เรียนหนังสือ จากการรับจ้างปักผ้าคลุมศรีษะ (ฮีญาบ) และทำขนมขายช่วงปิดเทอมเป็นอาชีพเสริม อีกทั้งสอบชิงทุนมาตั้งแต่เรียนชั้นมัธยม 1 เป็นการแบ่งเบาภาระทางบ้านที่มีพี่น้องถึง 5 คน ขณะที่พ่อแม่รับจ้างกรีดยางพารา

“การพยายามสอบชิงทุนเป็นโอกาสที่ดีที่ทำให้หนูได้เรียนต่อ โดยไม่ต้องกวนเงินทางบ้าน เรียกว่าพยายามใช้จ่ายให้ประหยัดที่สุด ซึ่งทุนนี้รับมา 4 ปีแล้ว แต่เพิ่งมาเข้าค่ายเป็นครั้งที่ 2 ตอนมาค่ายครั้งแรกหนูเป็นคนขี้อายมาก ยิ่งตอนนั้นเป็นเด็กคนเดียวที่มาจากชุมชนมุสลิมทางใต้ ยิ่งไม่กล้าแสดงออก
แต่เพื่อนร่วมค่ายพอรู้ว่าเรามาจากไหน ทุกคนจะเข้ามาถามอย่างห่วงใย ให้กำลังใจ รู้สึกปลื้มใจว่าถ้าเราไม่ได้สอบทุนคงไม่มีโอกาสได้มาเข้าค่ายแบบนี้ ทำให้กล้าแสดงความคิดเห็น กล้าวางแผน ได้เรียนรู้การทำงานเป็นทีม รู้จักหน้าที่ของตัวเอง คือจะพยายามเก็บประสบการณ์ให้ได้มากที่สุดกลับไปถ่ายทอดให้เพื่อนๆ ฟัง เพราะหลายๆ คนไม่เคยได้มา”

ด้วยเชื่อว่าการได้ทุนเล่าเรียนเป็นประตู ทำให้เธอมีโอกาสทางการศึกษามากกว่าคนอื่น คอดีเยาะจึงมีความตั้งใจจะกลับไปฟื้นฟูบ้านเกิดของเธอเสมอ อย่างน้อยก็เป็นการหยิบยื่นโอกาสส่วนหนึ่งกลับคืนสู่สังคมที่เธอเติบโตมาบ้าง

“อนาคตอยากประจำสถานีอนามัยของชุมชน จะได้ให้ความรู้ ช่วยคนในหมู่บ้าน ยอมรับว่าผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้านเวลาเจ็บไข้ได้ป่วย บางทีไม่ยอมไปหาหมอที่โรงพยาบาล กลัวหมอ เพราะยังเชื่อหมอผี ก็อยากให้พวกเขาเห็นว่าการไปหาหมอที่โรงพยาบาลดียังไง ทำให้เราหายจากโรคได้อย่างไร” คอดีเยาะวาดภาพอนาคตของเธอ

เช่นเดียวกับชีวิตของ รอฎียะ และ ซาอาดะห์ นิตีเมาะ สองพี่น้องชาวปัตตานี ที่ได้รับทุนการศึกษาด้วยกัน ทั้งสองกำลังศึกษาชั้นปี 2 คณะพยาบาลศาสตร์ วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี สงขลา และชั้นปี 2 คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ตามลำดับ

“ปกติแล้วเป็นคนขี้อายมาก มาถึงที่นี่วันแรกก็ให้ออกไปแนะนำตัว รวมกลุ่มแก้ปัญหากับเพื่อนๆ ทำให้เรากล้าที่จะแสดงออกมากขึ้น รู้สึกดี เป็นการเปิดโลกกว้างให้กับตัวเอง ได้เพื่อนใหม่ๆ ต่างสถาบัน ต่างวัฒนธรรม ต่างศาสนา มีเพื่อนบางคนเขียนในจดหมายเปิดใจช่วงแนะนำตัว ทำให้เรารู้ว่าบางคนไม่เคยรู้จักคนมุสลิมมาก่อนเลย เคยเห็นแต่ในข่าวทีวีที่ช่วงนี้กำลังเป็นที่สนใจ บางคนก็แสดงความเห็นอกเห็นใจเรา” รอฎียะเล่าของขวัญประทับใจที่ได้จากค่ายแห่งนี้

ก่อนจะเปิดฉากเล่าชีวิตของเธอและน้องสาวซาอาดะห์ ให้ฟังว่า พื้นเพพ่อแม่มีอาชีพกรีดยางพาราซึ่งอายุมากแล้ว ทำให้รายได้ไม่พอเลี้ยงพี่น้องอีก 6 ชีวิต เธอจึงต้องหารายได้เสริมด้วยการทำงานรับจ้างปักผ้าคลุมหน้าเพื่อเป็นรายได้มาเรียนหนังสือ

หากเธอไม่สามารถหารายได้มาเลี้ยงดูตัวเองได้ พ่อจะบังคับให้เธอแต่งงานตามวัฒนธรรมยุคเก่าของชาวมุสลิม ซึ่งขณะนั้นเพิ่งอยู่ชั้นมัธยม 3 เท่านั้น แต่รอฎียะดิ้นรนที่จะเรียนหนังสือมาตลอด เพราะเชื่อว่าการศึกษาจะสามารถยกฐานะของตัวเองขึ้นมาได้ จนเมื่อพี่สาวซื้อจักรเย็บมาให้ ทำให้เธอจุดประกายหนทางว่าอย่างน้อยถ้ารับจ้างปักผ้าก็อาจช่วยบรรเทาภาระพ่อกับแม่ได้ ฉะนั้นทุนการศึกษาจึงเสมือนช่วยต่อชีวิตให้กับเธอ

“ผู้ใหญ่ก็อยากให้เราเป็นฝั่งเป็นฝา พอแต่งงานก็ให้สามีเลี้ยงดู จะได้เบาใจ แต่เราไม่ได้คิดอย่างนั้น ซึ่งอาจารย์ก็อยากให้เราเรียน ตั้งแต่เด็กอยากเรียนหนังสือ ฝันอยากเป็นพยาบาล ถ้าไม่เรียนการช่วยคนก็คงเป็นไปไม่ได้” รอฎียะกล่าว

ส่วนอีกหนึ่งเยาวชนจากครอบครัวเกษตรกร พัฒนพงศ์ พุฒิเรืองรอง หรือ อาร์ท เพิ่งจบมัธยมศึกษาปีที่ 6 จากร.ร.นาน้อย จังหวัดน่าน แม้พื้นเพทางบ้านประกอบอาชีพเกษตรกรรมปลูกข้าวโพด แต่ก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคทางการศึกษาของอาร์ท เขาพยายามสอบชิงทุนการศึกษาต่างๆ เพื่อเป็นการลดค่าใช้จ่ายทางบ้าน โดยเป็นหนึ่งที่รับมอบทุนการศึกษาเพื่อเด็กยากจนของซิตี้แบงก์มาตลอด 5 ปี เนื่องจากเป็นเด็กที่มีผลการเรียนดีมาตลอด ด้วยเกรดเฉลี่ย 3.91 (ที่ 1 ของโรงเรียน)

ล่าสุดอาร์ทสอบได้ทุนเรียนดีจากชนบท ของคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย แต่เนื่องจากต้องเดินทางมาเรียนในกรุงเทพฯ ซึ่งเขาเห็นว่าเสียค่าใช้จ่ายมากจึงสละสิทธิ และไปหันไปสอบคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพราะอย่างน้อยก็อาจไปอาศัยกับญาติที่นั้นได้ จนเมื่อประมาณเดือนที่แล้วอาร์ทสามารถสอบชิงทุน “หนึ่งอำเภอ หนึ่งทุน” ซึ่งเป็นทุนรัฐบาล โดยขณะนี้อยู่ในระหว่างการตัดสินใจเลือกไปศึกษาต่อคณะวิศวกรรมศาสตร์ ยังต่างประเทศ (เยอรมัน, รัสเซีย หรือ ญี่ปุ่น)

“ผมเข้าค่ายมาครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 แล้ว ผมเชื่อว่าเราเก่งแต่ในตำราไม่ได้ แต่ต้องรู้จักพัฒนาทั้งไอคิว-อีคิว ปรับตัวเข้ากับสังคมได้ การเข้าค่ายทำให้ได้เพื่อน ได้ประสบการณ์ อย่างน้อยก็ได้เรียนรู้วัฒนธรรมเพื่อเป็นแนวทางพัฒนาตัวเองในการปรับตัว เหมือนกับว่าเรียนหนังสือคือแนวบุ๋น การทำกิจกรรมคือแนวบู๊” อาร์ทเผยถึงเคล็บลับเรียนดีโดยไม่ต้องพึ่งโรงเรียนสอนพิเศษ

ปิดท้ายที่ โน๊ต-วุฒิชัย ค่ายรังกา นักศึกษาชั้นปี 2 คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเจ้าเกล้าธนบุรี อีกหนึ่งคนที่ได้รับทุนต่อเนื่องมา 4 ปีแล้ว ด้วยพ่อแม่ทำอาชีพรับจ้าง มีพี่สาวที่อยู่ในวัยกำลังเรียน ทำให้ครอบครัวรับภาระหนัก เขาจึงหันมาสนใจสอบทุนการศึกษาต่างๆ ตั้งแต่มัธยม 2 แม้ผลการเรียนจะอยู่ในระดับปานกลาง แต่ก็ภูมิใจที่ไม่ต้องพึ่งพาพ่อแม่เสียค่าเรียน
“วันแรกที่มาก็ได้เรียนรู้การทำงานเป็นทีม สอนให้รู้จักการเข้ากลุ่ม แต่ที่ประทับใจผมชอบกิจกรรมที่ถ้ำกระบอกมากกว่า ผมชื่นชมพี่ๆ ที่มารักษาตัวที่นี้ เพราะเขากล้าที่ยอมรับว่าตัวเองเคยทำผิด และพร้อมที่จะแก้ไข” โน๊ตเล่าถึงสิ่งที่เขาได้ซึมซับจากการร่วมกิจกรรม

พวกเขาเหล่านี้คือเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่พิสูจน์ให้เห็นแล้ว ไม่มีสิ่งใดจะเป็นอุปสรรคขวางกั้นหนทางแห่งการใฝ่รู้ ขอเพียงสังคมหยิบยื่นโอกาสให้แม้เพียงน้อยนิดก็เพียงพอแล้ว…