จากแถลงการณ์หลังการประชุมเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2549 ที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (Monetary Policy Committee: MPC) ของธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. ประเมินว่า หากไม่มีเหตุการณ์ที่นอกเหนือไปจากความคาดหมาย โดยเฉพาะการเร่งตัวอย่างต่อเนื่องของอัตราเงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ยตลาดซื้อคืนพันธบัตรระยะ 14 วันที่ร้อยละ 5.00 น่าจะเป็นระดับที่เหมาะสมต่อการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจอันจะเอื้อต่อการขยายตัวอย่างต่อเนื่องในระยะยาว นั้น เมื่อพิจารณาข้อมูลอัตราเงินเฟ้อทั่วไปซึ่งได้ปรับตัวลงมาแล้วในเดือนมิถุนายน และมีแนวโน้มว่าจะขยับลงต่ออีกในเดือนกรกฎาคม ประกอบกับ เครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจโดยรวมที่ยังคงขยายตัวได้ดีแม้จะต้องเผชิญกับปัจจัยลบนานับประการ ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ภายใต้สภาพแวดล้อมดังกล่าว การยืนอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับเดิมที่ร้อยละ 5.00 ก็น่าจะมีความเหมาะสม อย่างไรก็ตาม ภายหลังเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงในตะวันออกกลางระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮิชบอลลาห์ในเลบานอนเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งยังคงมีความไม่แน่นอนสูงว่าเหตุการณ์จะบานปลายหรือลุกลามไปถึงประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคดังกล่าวโดยเฉพาะอิหร่านที่กำลังอยู่ระหว่างการต่อรองกรณีโครงการอาวุธนิวเคลียร์กับสหรัฐฯ ด้วยหรือไม่ และจะลงเอยได้เมื่อใด ทำให้คาดว่า ราคาน้ำมันในตลาดโลกจึงอาจมีแนวโน้มที่จะเคลื่อนไหวในลักษณะผันผวนต่อไป ซึ่งก็คงจะมีผลกระทบตามมาที่ราคาสินค้าทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อในประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ทั้งนี้ ภายใต้สภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่มีความซับซ้อนมากขึ้น นอกเหนือไปจากการตัดสินใจทิศทางนโยบายอัตราดอกเบี้ยของธปท.ในการประชุมวันที่ 19 กรกฎาคม 2549 ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยเห็นว่าธปท.มีความโน้มเอียงที่จะให้คงอัตราดอกเบี้ยตลาดซื้อคืนพันธบัตรระยะ 14 วันไว้ที่ระดับร้อยละ 5.00 ตามเดิม โดยธปท.คงจะรอดูสถานการณ์ความคืบหน้าของเหตุการณ์ในตะวันออกกลางต่อไปอีกสักระยะหนึ่งก่อน แล้ว ตลาดคงจะจับตาแถลงการณ์ที่อาจจะแสดงถึงจุดยืนหรือสัญญาณใหม่จากธปท.เกี่ยวกับประเด็นหลักๆ 2 ประการ ได้แก่ (1) หากราคาน้ำมันยังคงยืนระดับสูงต่อเนื่องจนส่งผลกระทบต่อประมาณการอัตราเงินเฟ้อ โดยทำให้อัตราเงินเฟ้อในช่วงครึ่งหลังของปี 2549 ไม่ลดต่ำลงมากอย่างที่ธปท.เคยคาดไว้แล้ว ธปท.จะเห็นว่าภาวะเงินเฟ้อดังกล่าวยังคงเป็นความเสี่ยงต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจหรือไม่ และ (2) ธปท.จะยังคงดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยโดยให้น้ำหนักกับการรักษาเสถียรภาพทางด้านเงินเฟ้อเป็นหลักดังเช่นที่ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมาหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขณะที่เศรษฐกิจกำลังประสบกับภาวะชะลอตัวลง ทั้งนี้ จุดยืนของธปท.เกี่ยวกับประเด็นเหล่านี้ คาดว่าจะมีนัยสำคัญสำหรับตลาดในการคาดการณ์ถึงแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยของไทยในระยะข้างหน้าอย่างแน่นอน
สำหรับปัจจัยแวดล้อมประกอบการคาดการณ์การคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับเดิมของธปท.ในการประชุมวันที่ 19 กรกฎาคม สามารถสรุปได้ดังนี้ :-
-อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยมีแนวโน้มชะลอตัวลงอย่างชัดเจน
เป็นที่คาดหมายว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยได้ผ่านระดับสูงสุด (peak) มาแล้ว หลังจากที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปได้ขยับลดลงจากร้อยละ 6.2 ในเดือนพฤษภาคม มาที่ร้อยละ 5.9 ในเดือนมิถุนายน ขณะที่ จากการที่ต้องเปรียบเทียบกับฐานการคำนวณระดับสูงในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าที่รัฐบาลประกาศลอยตัวราคาน้ำมันขายปลีกดีเซลในประเทศ ทำให้คาดว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มที่จะชะลอตัวลงอย่างชัดเจนในช่วงครึ่งหลังของปี 2549 โดยภายใต้สมมติฐานราคาน้ำมันดิบเบรนท์เฉลี่ยทั้งปีไม่เกิน 70 ดอลลาร์ฯ/บาร์เรล อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอาจมีค่าเฉลี่ยที่ร้อยละ 4.0 ในช่วงครึ่งหลังของปี 2549 เทียบกับค่าเฉลี่ยที่ร้อยละ 5.9 ในช่วงครึ่งปีแรก อีกทั้ง อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอาจยังมีแนวโน้มชะลอตัวลงต่อเนื่องในปี 2550 มามีค่าเฉลี่ยที่ประมาณร้อยละ 2.8-3.3 อันเป็นผลจากการขยายตัวของราคาน้ำมันในปี 2550 ที่คาดว่าจะมีอัตราที่ลดน้อยถอยลงเมื่อเทียบกับปี 2549 นอกจากนี้ ในกรณีเลวร้ายที่ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ขยับขึ้นไปยืนต่อเนื่องที่ระดับ 80 ดอลลาร์ฯ/บาร์เรล สูงกว่าสมมติฐานค่าเฉลี่ยที่ 70 ดอลลาร์ฯ/บาร์เรลตามกรณีฐาน ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า แนวโน้มการชะลอตัวลงของอัตราเงินเฟ้อทั่วไปก็ยังมีโอกาสจะเกิดขึ้นได้ แต่คงจะไม่ใช่การลดลงมาที่ระดับตามที่คาดไว้ในกรณีฐาน
ดังนั้น จากแรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มผ่อนคลายลงชัดเจน ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเห็นว่า ธปท.อาจมีความจำเป็นน้อยลงสำหรับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อ กระนั้นก็ดี ธปท.คงจะมีการติดตามสถานการณ์ความตึงเครียดทางการเมืองระหว่างประเทศซึ่งจะมีผลต่อราคาน้ำมันอย่างใกล้ชิด โดยหากราคาน้ำมันตลาดโลกยืนอยู่ที่ระดับสูงต่อเนื่องจนมีผลกระทบตามมาที่ราคาน้ำมันในประเทศและการเพิ่มขึ้นรอบสองของราคาสินค้าทั่วไป ตลอดจนประมาณการอัตราเงินเฟ้อของธปท.แล้ว ก็มีความเป็นไปได้ที่ธปท.อาจจะกลับมาทบทวนปรับใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยเข้มงวดได้อีกครั้งในระยะข้างหน้าเช่นกัน
– การขยายตัวของเศรษฐกิจมีแนวโน้มชะลอลงในช่วงครึ่งหลังของปี 2549 ต่อเนื่องถึงช่วงครึ่งแรกของปี 2550
ถึงแม้ว่าข้อมูลเครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจไทยในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2549 ที่อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโดยรวมมีระดับที่น่าพอใจ โดยมีแรงขับเคลื่อนหลักมาจากการเติบโตของการส่งออก การฟื้นตัวของการท่องเที่ยว และแรงหนุนจากการเปรียบเทียบกับฐานการคำนวณระดับต่ำในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าที่เศรษฐกิจต้องเผชิญกับผลกระทบภายหลังเหตุการณ์ธรณีพิบัติภัยและปัญหาภัยแล้ง แต่การลงทุนที่ชะลอตัวลงอย่างเห็นได้ชัด และบรรยากาศกิจกรรมทางเศรษฐกิจซึ่งยังคงถูกปกคลุมด้วยปัจจัยลบนานับประการ (ไม่ว่าจะเป็นปัญหาทางการเมือง ความผันผวนของราคาน้ำมัน การเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ย และการแข็งค่าของเงินบาท) ตลอดจน แนวโน้มการขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงของเศรษฐกิจหลัก โดยเฉพาะสหรัฐฯ ซึ่งคาดว่าจะมีผลกระทบในเชิงลบต่อภาคการส่งออกของไทยในระยะข้างหน้า ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า เศรษฐกิจไทยอาจจะขยายตัวในอัตราที่ถดถอยลงมาที่ประมาณร้อยละ 3.0-3.5 ในช่วงครึ่งหลังของปี 2549 และร้อยละ 3.0-4.0 ในช่วงครึ่งแรกของปี 2550 เทียบกับที่คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 5.0-5.5 ในช่วงครึ่งแรกของปี 2549 ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า การคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับเดิมจึงน่าจะมีความเหมาะสมและเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวม ที่กว่าเศรษฐกิจจะมีแรงหนุนในเชิงบวกจากการใช้จ่ายของภาครัฐก็อาจจะเป็นในช่วงครึ่งหลังของปี 2550
– ผลกระทบที่น่าจะมีจำกัดหากธนาคารกลางสหรัฐฯปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก
เป็นที่คาดการณ์ว่า ในไม่ช้านี้ ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) น่าจะใกล้เสร็จสิ้นนโยบายการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยซึ่งได้ดำเนินมาต่อเนื่องยาวนานถึง 2 ปี เนื่องจากคาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯจะมีสัญญาณการชะลอตัวลงที่ชัดเจนมากขึ้นในช่วงที่เหลือของปี โดยเฉพาะในส่วนของการใช้จ่ายผู้บริโภคและภาคอสังหาริมทรัพย์ โดยถึงแม้ล่าสุดจะยังมีความไม่แน่นอนว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่ออีกร้อยละ 0.25 จากร้อยละ 5.25 มาที่ร้อยละ 5.50 หรือไม่ในการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินวันที่ 8 สิงหาคมนี้ แต่หากเฟดมีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย Fed Funds มาที่ร้อยละ 5.50 ในขณะที่ ธปท.มีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับเดิมที่ร้อยละ 5.00 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยก็มองว่า ค่าผลต่างอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯและไทยที่อาจจะเพิ่มขึ้น คงจะมีผลกระทบที่ค่อนข้างจำกัดต่อสมดุลเงินทุนเคลื่อนย้ายสุทธิของไทย เนื่องจากการที่ธนาคารกลางยุโรปและธนาคารกลางญี่ปุ่นเพิ่งจะเริ่มวัฏจักรอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น และความคาดหวังว่าจีนจะมีการปรับเพิ่มความยืดหยุ่นของระบบอัตราแลกเปลี่ยนเพื่อสกัดความร้อนแรงของเศรษฐกิจ ตลอดจนปัญหาโครงสร้างพื้นฐานจากการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดจำนวนมากของสหรัฐฯ น่าจะเป็นปัจจัยที่ช่วยหนุนให้สกุลเงินในภูมิภาคมีแนวโน้มปรับแข็งค่าขึ้น และทำให้มีความเป็นไปได้น้อยลงที่เงินทุนสุทธิจะเคลื่อนย้ายออกนอกประเทศอย่างฉับพลัน (ยกเว้นว่าเหตุการณ์ความรุนแรงในตะวันออกกลางจะขยายวงกว้างและยืดเยื้อยาวนาน จนทำให้นักลงทุนหันกลับไปถือครองสินทรัพย์ที่มีความปลอดภัยสูงหรือมีความเสี่ยงต่ำ อาทิ ทองคำ เงินสวิสฟรังก์ และพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ เป็นต้น)
โดยสรุป ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า คณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีความโน้มเอียงที่จะให้คงอัตราดอกเบี้ยตลาดซื้อคืนพันธบัตรระยะ 14 วันไว้ที่ระดับร้อยละ 5.00 ในการประชุมวันที่ 19 กรกฎาคม 2549 โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักมาจากแนวโน้มที่คาดว่าจะชะลอตัวลงของการขยายตัวของเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อในช่วงที่เหลือของปีนี้ต่อเนื่องถึงปีหน้า อย่างไรก็ตาม ยังคงมีความเป็นไปได้ที่ธปท.อาจจะมีการทบทวนปรับใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยเข้มงวดอีกในระยะข้างหน้าได้เช่นกัน หากความขัดแย้งในตะวันออกกลางขยายวงกว้างและลากยาวออกไปจนมีผลกระทบต่อราคาน้ำมันและประมาณการอัตราเงินเฟ้อของธปท. นอกจากนี้ ตลาดคงจะจับตาแถลงการณ์หลังการประชุมซึ่งอาจจะแสดงถึงจุดยืนหรือมุมมองของธปท. ว่า ธปท.จะเห็นว่าการที่อัตราเงินเฟ้ออาจไม่ลดต่ำลงมามากอย่างที่เคยคาดนั้น จะเป็นประเด็นความเสี่ยงต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจหรือไม่ รวมทั้งธปท.จะยังคงดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยโดยให้น้ำหนักกับการรักษาเสถียรภาพทางด้านเงินเฟ้อเป็นหลักดังเช่นที่ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมาหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขณะที่เศรษฐกิจกำลังประสบกับภาวะชะลอตัวลง ทั้งนี้ จุดยืนของธปท.เกี่ยวกับประเด็นเหล่านี้ คาดว่าจะมีนัยสำคัญสำหรับตลาดในการคาดการณ์ถึงแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยของไทยในระยะข้างหน้าอย่างแน่นอน