กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2542 เพื่อเปิดโอกาสให้เกษตรกรได้มีส่วนร่วมในการฟื้นฟูและพัฒนาสภาพชีวิตของตนเอง ให้สามารถปลดเปลื้องพันธนาการจากภาระหนี้สินและความยากจน แต่ด้วยปัญหาการแทรกแซงทางการเมืองและความไม่เข้าใจกฎหมาย ทำให้การอนุมัติงบช่วยเหลือเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนหนี้และขึ้นทะเบียนรับการฟื้นฟูในหลายปีที่ผ่านมาไม่เคยเกิดขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรม ทำให้เกษตรกรแทบจะสิ้นหวัง เพราะไม่เคยได้รับทุนอุดหนุนและสนับสนุนจากกองทุนฟื้นฟูฯ จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2549 นี้
ในพิธีประกาศการอนุมัติแผนและโครงการฟื้นฟูองค์กรเกษตรกร ซึ่งจัดขึ้นในวันนี้ (9 สิงหาคม พ.ศ. 2549) ที่พิพิธภัณฑ์และวัฒนธรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานกรรมการบริหารกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร และประธานกรรมการจัดการหนี้ ได้ประกาศเจตนารมณ์ของกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ว่า กองทุนฯได้น้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เป็นนโยบายในการขับเคลื่อนช่วยเหลือเกษตรกรสมาชิก โดยได้เร่งดำเนินการจัดการหนี้ให้กับเกษตรกร และเร่งการพิจารณาแผนและโครงการฟื้นฟูขององค์กรเกษตรกรทั่วประเทศ เพื่อการอนุมัติงบอุดหนุนและงบสนับสนุนให้องค์กรเกษตรกร
“ในปีนี้ ซึ่งเป็นปีมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี กองทุนฟื้นฟูฯ ได้จัดโครงการปฏิบัติจริง 6 ล้านชีวิต เศรษฐกิจพอเพียง ถวายในหลวง ซึ่งเป็นที่น่าภาคภูมิใจที่ทั้งฝ่ายบริหาร ตัวแทนเกษตรกร สำนักงานสาขา องค์กรเกษตรกร ต่างร่วมมือกันขับเคลื่อน ทำให้งานของกองทุนฯมีความคืบหน้ามาก สามารถดำเนินงานช่วยเหลือเกษตรกรได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยในวันนี้ได้พิจารณาอนุมัติงบอุดหนุนและงบสนับสนุนให้โครงการขององค์กรเกษตรกรหลายแห่ง ซึ่งในเดือนสิงหาคมนี้เม็ดเงินก้อนแรกก็จะทยอยส่งถึงมือองค์กรเกษตรกรสมาชิก นับเป็นวันประวัติศาสตร์ที่มีความหมายยิ่งของเกษตรกร เพราะเกษตรกรเฝ้ารอเม็ดเงินช่วยเหลือจากกองทุนนี้มานาน กว่า 6 ปี” นายประพัฒน์กล่าว
สำหรับแผนและโครงการที่ได้รับการอนุมัติในรอบแรก มีจำนวนทั้งสิ้น 12 โครงการ อาทิ โครงการข้าวฮางเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มแก่ผลผลิตข้าว จังหวัดสกลนคร โครงการทำธนาคารกั้งเพิ่มมูลค่าผลผลิต จังหวัดสตูล ฯลฯ โดยแต่ละโครงการได้ยึดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เป็นแนวทาง ซึ่งในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา กองทุนฯ ได้นำตัวแทนองค์กรเกษตรกรทั่วประเทศไปศึกษา ดูงาน และจัดกระบวนการแลกเปลี่ยน เรียนรู้ เกี่ยวกับการดำเนินชีวิตแบบพอเพียง อาทิ ชมโครงการส่วนพระองค์ที่สวนจิตรลดา ศึกษาแนวคิดวิถีชีวิตแบบพอเพียงที่ศูนย์อินแปง จังหวัดสกลนคร
กองทุนฟื้นฟูฯ ได้ประกาศรับแผนและโครงการจากองค์กรสมาชิกที่ต้องการของบอุดหนุนและงบสนับสนุน ตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2549 ซึ่ง นายประพัฒน์ ยืนยันว่า ทางคณะกรรมการและคณะอนุกรรมการ ได้กลั่นกรองโครงการที่นำเสนอเข้ามาอย่างละเอียดและโปร่งใส เพื่อให้แน่ใจว่าแต่ละโครงการที่องค์กรแต่ละแห่ง ขอเข้ามานั้น มีความเป็นไปได้ และเป็นวิถีทางที่สอดคล้องกับแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง อันจะช่วยทำให้องค์กรเกษตรกรมีความเข้มแข็ง มีศักยภาพ เพื่อการพัฒนาอาชีพ เพิ่มมูลค่าผลผลิต ลดต้นทุน และสร้างรายได้ที่เพียงพอให้เกษตกรมี คุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างแท้จริง
ภายใต้พ.ร.บ.กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ปี พ.ศ. 2542 ปัจจุบันมีองค์กรเกษตรกรขึ้นทะเบียนขอรับการฟื้นฟู จำนวนกว่า 6 ล้านคน จาก กว่า 50,000 องค์กร ในจำนวนนี้มีเกษตรกรสมาชิกขึ้นทะเบียนหนี้จำนวนกว่า 300,000 ราย สำหรับการดำเนินการช่วยเหลือเกษตรกรสมาชิกนั้น ในปี พ.ศ. 2549 ทางกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตร ได้รับงบประมาณจำนวน 1,800 ล้านบาท ในจำนวนนี้ทางกองทุนได้จัดสรรเพื่อการจัดการหนี้ให้เกษตรกรจำนวน 1,200 ล้านบาท โดยมีเป้าหมายที่จะเร่งจัดการหนี้เร่งด่วน ซึ่งเป็นหนี้ที่อยู่ในระหว่างการฟ้องร้องคดี ให้เกษตรกรสมาชิกจำนวน 5,000 ราย และเพื่อการฟื้นฟูอาชีพและความเป็นอยู่ของเกษตรกรจำนวน 600 ล้านบาทโดยแบ่งเป็นงบอุดหนุน เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ การทำแผนแม่บท การศึกษาด้านการเกษตร จำนวน 100 ล้านบาท และงบสนับสนุนการฟื้นฟูเพื่อให้เกษตรกรกู้ยืมในอัตราดอกเบี้ยต่ำจำนวน 500 ล้านบาท