ทรูคาดผลการดำเนินงานฟื้นตัวเร็วในครึ่งหลังของปี

? จำนวนผู้ใช้บริการทรูมูฟยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง
? รายได้จากบริการอินเทอร์เน็ตสำหรับลูกค้าทั่วไปเพิ่มขึ้นร้อยละ 67 จากปีก่อน
? ยูบีซีมีผู้ใช้บริการรายใหม่เพิ่มขึ้น 7 เท่า
? ทรูประสบความสำเร็จในการขายหุ้นเพิ่มทุน และจัดหาเงินกู้ระยะยาวของยูบีซี
? ยุทธศาสตร์การเป็นผู้นำชีวิต Convergence Lifestyle ชัดเจนขึ้น

บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น คาดว่าผลการดำเนินงานของบริษัทจะฟื้นตัวอย่างรวดเร็วในครึ่งปีหลัง จากการแข่งขันด้านราคาในธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่เกิดขึ้นในไตรมาสที่ 2 และยุทธศาสตร์ Convergence Lifestyle จะชัดเจนมากขึ้นตามลำดับ

นายศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหารกล่าวว่า การแข่งขันด้านราคาในตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่ปีนี้ แตกต่างจากปีที่ผ่านมา โดยในปี 2549 การทำการตลาดจะเน้นโปรโมชันที่มีระยะเวลาสั้น และสำหรับกลุ่มลูกค้ารายใหม่เป็นหลัก นอกจากนี้ อัตราค่าบริการยังมีการปรับตัวสูงขึ้น หลังจากที่มีแนวโน้มว่า จะมีการประกาศใช้ค่าเชื่อมต่อโครงข่าย (Interconnection charge) ในอนาคตอันใกล้

ทรูมูฟ ยังคงมีฐานลูกค้าที่เติบโตอย่างรวดเร็ว โดยในไตรมาสนี้ มียอดผู้ใช้บริการรายใหม่เพิ่มขึ้นสุทธิจำนวน 506,000 ราย ทำให้มียอดผู้ใช้บริการทั้งสิ้น 5.4 ล้านราย และคาดว่าจะสามารถเพิ่มยอดผู้ใช้บริการเป็น 5.7 ล้านราย ก่อนสิ้นปี 2549 ทำให้ส่วนแบ่งตลาดโดยรวมของทรูมูฟเพิ่มขึ้นจากอัตราร้อยละ 15.1 เป็นร้อยละ 16.2 ในช่วงครึ่งปีแรก

นายศุภชัยกล่าวเพิ่มเติมว่า “สถานภาพโดยรวมของกลุ่มทรูยังมีความแข็งแกร่งและเติบโตอย่างต่อเนื่อง ด้วยยุทธศาสตร์การเป็นผู้นำชีวิต Convergence Lifestyle โดยการผสานบริการต่างๆ ภายในกลุ่มทรู เพื่อตอบสนองตรงใจทุกไลฟ์สไตล์ มั่นใจว่าจะสามารถรักษาฐานลูกค้าได้ในระยะยาว เนื่องจากผู้ใช้บริการที่ใช้บริการในกลุ่มทรู มากกว่า 1 บริการ จะตระหนักและสัมผัสถึงคุณค่าของบริการมากกว่าจะคำนึงถึงปัจจัยด้านราคา ซึ่งในอนาคตจะทำให้ปัญหาการแข่งขันด้านราคา โดยเฉพาะของทรูมูฟ มีผลกระทบต่อบริษัทน้อยลง ในขณะเดียวกัน จะเป็นโอกาสให้บริษัทสามารถเพิ่มฐานลูกค้าได้อีกด้วย การนำเสนอบริการอื่นๆ ที่มีอยู่ในกลุ่มไปพร้อมๆ กัน”

รายได้จากการให้บริการโดยรวมของทรู สำหรับไตรมาส 2 ปี 2549 มีจำนวนทั้งสิ้น 12.0 พันล้านบาท โดยลดลงร้อยละ 7.1 จากไตรมาสก่อนหน้า แต่เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีที่ผ่านมา ในอัตราร้อยละ 17.3 ซึ่งสะท้อนถึงผลจากการควบรวมกิจการยูบีซีในช่วงต้นปีนี้ นอกจากนั้นยังเป็นผลจากการเติบโตอย่างต่อเนื่องของธุรกิจบรอดแบนด์สำหรับลูกค้าบุคคลทั่วไป

กำไรจากการดำเนินงาน ก่อนดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าใช้จ่ายตัดจ่าย หรือ EBITDA ลดลงร้อยละ 16.4 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา และ อัตราการทำกำไร ณ ระดับ EBITDA (EBITDA margin) ลดลงเป็นอัตราร้อยละ 32.4 (จากอัตราร้อยละ 35.7) อย่างไรก็ตามเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันปี 2548 EBITDA เพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 7.1 และ EBITDA Margin เพิ่มขึ้นเล็กน้อย

ทรูรายงานผลขาดทุนสุทธิสำหรับไตรมาสนี้จำนวน 1.5 พันล้านบาท เปรียบเทียบกับขาดทุนสุทธิ 964 ล้านบาทในไตรมาส 2 ของปีก่อนหน้า และกำไรสุทธิ 498 ล้านบาทในไตรมาสที่ผ่านมาซึ่งรวมกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนจำนวน 1.3 พันล้านบาท ขาดทุนสุทธิที่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า เป็นผลจากการแข่งขันด้านราคา และค่าใช้จ่ายในการควบรวมกิจการยูบีซี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นรายการที่ไม่ใช่เงินสด

ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2549 รายได้จากการให้บริการ และ EBITDA เพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 18.1 และ 8.4 ตามลำดับ จากระยะเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผลจากการควบรวมกิจการยูบีซี รวมทั้งธุรกิจบรอดแบนด์สำหรับลูกค้าบุคคลทั่วไปเติบโตอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม EBITDA margin ลดลงเล็กน้อย จากอัตราร้อยละ 35 เป็นร้อยละ 34.1 ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการที่ผลประกอบการจากธุรกิจที่มีอัตราการทำกำไรต่ำกว่า (ซึ่งประกอบด้วยยูบีซีและทรูมูฟ) มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น นอกจากนั้น ธุรกิจ Wireline และทรูมูฟ มีอัตราการทำกำไรลดลง

สำหรับผลประกอบการของทรูมูฟในไตรมาส 2 ปี 2549 รายได้จากการบริการลดลงในอัตราร้อยละ 10.6 จากไตรมาสก่อนหน้า เป็น 5.0 พันล้านบาท โดย EBITDA ลดลงร้อยละ 34.4 และ EBITDA margin ลดลงจากอัตราร้อยละ 23.5 เป็นร้อยละ 17.9 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีที่ผ่านมา รายได้จากการบริการของ ทรูมูฟ เพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 3.7 EBITDA ลดลงร้อยละ 3.7 (ส่วนใหญ่เป็นผลจากค่าใช้จ่ายในการขยายโครงข่าย) และ EBITDA margin เพิ่มขึ้นเล็กน้อย

รายได้จากบริการบรอดแบนด์สำหรับลูกค้าบุคคลทั่วไปยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยมีรายได้จากการบริการจำนวน 753 ล้านบาทในไตรมาสนี้ ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.6 จากไตรมาสก่อนหน้า และร้อยละ 67.3 จากไตรมาสเดียวกันของปีที่ผ่านมา ทั้งนี้เป็นผลจากการมีผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นสุทธิ 34,000 ราย ใกล้เคียงกับไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งทำให้มีผู้ใช้บริการรวม 369,000 ราย ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2549

การเพิ่มขึ้นของรายได้จากบริการบรอดแบนด์สำหรับลูกค้าบุคคลทั่วไป ส่งผลให้รายได้จากธุรกิจ Wireline โดยรวมในไตรมาสนี้ เพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 2.3 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ 2 ในปี 2548 เป็นจำนวน 5.9 พันล้านบาท อย่างไรก็ตาม รายได้จาก Wireline ยังคงลดลงร้อยละ 4.7 จากไตรมาสที่ 1 ปี 2549 โดย EBITDA ลดลงร้อยละ 8.6 และ EBITDA margin ลดลงเป็นอัตราร้อยละ 43.4 (จากร้อยละ 45.2)

ยูบีซีมีรายได้จากการบริการเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.6 จากไตรมาสแรก ปี 2549 เป็น 2.1 พันล้านบาท โดยมี EBITDA จำนวน 525 ล้านบาท และ EBITDA margin (ร้อยละ 24.2) ซึ่งลดลงเล็กน้อยจากไตรมาสก่อน เนื่องจากค่าใช้จ่ายด้านการตลาดเพิ่มขึ้นจากการออกแคมเปญใหม่ UBC Knowledge (Bronze) Package สำหรับกลุ่มลูกค้าระดับกลางและล่าง ซึ่งทำให้ผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นประมาณ 15,000 ราย นับเป็นการเพิ่มขึ้น 7 เท่าของจำนวนลูกค้าที่เพิ่มขึ้นในไตรมาสที่แล้ว (ประมาณ 2,200 ราย) ทำให้มียอดผู้ใช้บริการทั้งสิ้น 501,000 ราย

นายวิลเลียม แฮริส หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านการเงิน กล่าวว่า “งบดุลของทรูดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อ EBITDA ของกลุ่มบริษัทในครึ่งปีแรกโดยรวมลดลงเป็น 4.7 เท่า”

ในเดือนกรกฎาคม ทรูได้เสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้บุคคลในวงจำกัดเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 3.4 พันล้านบาท การเพิ่มทุนดังกล่าว เพื่อนำเงินที่ระดมได้ส่วนใหญ่มาใช้ในการขยายงานของทรูมูฟ นอกจากนี้ ยังช่วยแก้ไขปัญหาส่วนของผู้ถือหุ้นต่ำ อย่างไรก็ตาม บริษัทประสบความสำเร็จในการจัดหาเงินกู้ระยะยาวสำหรับการควบรวมกิจการยูบีซี และสามารถลดหนี้สินของธุรกิจ Wireline ได้จำนวน 5.3 พันล้านบาทในช่วง 7 เดือนแรกของปี โดยส่วนหนึ่งเป็นการใช้แหล่งเงินทุนที่ได้จากเงินกู้ระยะยาวของยูบีซี

หมายเหตุ: ในเอกสารฉบับนี้ คำว่า ทรู บริษัท บริษัทย่อยหรือบริษัทร่วม หมายถึงบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น และ/หรือ บริษัทย่อย และ/หรือ บริษัทร่วม