งานพืชสวนโลกฯ : กระตุ้นท่องเที่ยวเชียงใหม่…คึกคัก

การท่องเที่ยวเชียงใหม่ที่คึกคักในช่วงปลายปี 2548 ต่อเนื่องมาในช่วงต้นปี 2549 มีแนวโน้มชะลอการเติบโตลงตั้งแต่เดือนมีนาคมเป็นต้นมา เพราะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ ทำให้กลุ่มประชุมสัมมนาในภาครัฐยกเลิกหรือเลื่อนการจัดประชุมสัมมนาออกไป รวมทั้งนักท่องเที่ยวต่างชาติส่วนหนึ่งซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวชาวเอเชียยกเลิกหรือเลื่อนการเดินทางเข้ามายังประเทศไทย ส่งผลให้การท่องเที่ยวเชียงใหม่ในช่วงนอกฤดูท่องเที่ยวปีนี้ซบเซาลงมาก อย่างไรก็ตาม บรรดาผู้ประกอบการในธุรกิจท่องเที่ยวเชียงใหม่ต่างเร่งปรับตัวเพื่อเพิ่มศักยภาพในการรองรับการเติบโตแบบก้าวกระโดดของตลาดท่องเที่ยวเชียงใหม่ในฤดูท่องเที่ยวที่กำลังจะมาถึงในช่วงปลายปีนี้ ซึ่งจะมีการจัดกิจกรรมสำคัญระดับโลก คือ งานมหกรรมพืชสวนเฉลิมพระเกียรติฯราชพฤกษ์ 2549 ระหว่างวันที่ 1 พฤศจิกายน 2549 – 31 มกราคม 2550 ที่คาดว่าจะสามารถดึงดูดให้นักท่องเที่ยวจำนวนมากเดินทางมายังเชียงใหม่ในช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปี 2549 และทำให้การท่องเที่ยวเชียงใหม่โดยรวมตลอดทั้งปี 2549 ยังคงมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปี 2548 ในอัตราที่น่าพอใจ

เชียงใหม่เป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมอันดับ 1 ในภาคเหนือ จากการสำรวจการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศปี 2548 ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) พบว่า มีนักท่องเที่ยวทั้งคนไทยและต่างชาติเดินทางเข้ามายังเชียงใหม่รวมทั้งสิ้นประมาณ 4 ล้านคนเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5 ขณะที่ปี 2547 เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.7 จากปี 2546 ก่อให้เกิดรายได้ด้านการท่องเที่ยวสะพัดไปสู่ธุรกิจด้านการท่องเที่ยวในเมืองเชียงใหม่คิดเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้น 31,120 ล้านบาทลดลงร้อยละ 31.0 จากปี 2547

การชะลอการเติบโตลงของการท่องเที่ยวเชียงใหม่ในปี 2548 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการถดถอยลงของตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยรวมของไทยหลังเกิดสึนามิ ขณะที่ตลาดนักท่องเที่ยวคนไทยถูกบั่นทอนด้วยราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งส่งผลให้ค่าใช้จ่ายในการเดินทางท่องเที่ยวเพิ่มสูงขึ้นตาม

การท่องเที่ยวเชียงใหม่พึ่งพาตลาดนักท่องเที่ยวคนไทยเป็นหลัก โดยมีนักท่องเที่ยวคนไทยเดินทางเข้ามายังเชียงใหม่เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.8 และมีสัดส่วนเฉลี่ยประมาณร้อยละ 54 อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่า ในภาวะที่ราคาน้ำมันเพิ่มสูงขึ้นมีแนวโน้มส่งผลกระทบตลาดนักท่องเที่ยวคนไทย เนื่องจากนักท่องเที่ยวคนไทยส่วนใหญ่ใช้จ่ายอย่างระมัดระวังมากขึ้น และหันมาเที่ยวระยะใกล้แทน เห็นได้ชัดจากโครงสร้างตลาดนักท่องเที่ยวคนไทยในปี 2548 ที่มีนักท่องเที่ยวคนไทยจากกรุงเทพฯเดินทางเข้ามายังเชียงใหม่ลดลงร้อยละ 15.8 ทำให้สัดส่วนของนักท่องเที่ยวจากกรุงเทพฯลดลงจากร้อยละ 31 ในปี 2547 เหลือเพียงร้อยละ 25 ในปี 2548 ขณะที่มีนักท่องเที่ยวจากภูมิภาคเดียวกันในภาคเหนือเดินทางเข้ามายังเชียงใหม่เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.2 ทำให้สัดส่วนของนักท่องเที่ยวจากภาคเหนือเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 32 ในปี 2547 เป็นร้อยละ 37 ในปี 2548

แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างตลาดนักท่องเที่ยวคนไทยดังกล่าว ส่งผลให้ระยะเวลาพักเฉลี่ยในเชียงใหม่ของนักท่องเที่ยวคนไทยลดลงจากเฉลี่ย 3.96 วันในปี 2547 เหลือเพียงเฉลี่ย 2.51 วันในปี 2548 เมื่อผนวกกับการใช้จ่ายเฉลี่ยต่อวันของนักท่องเที่ยวคนไทยที่ลดลงประมาณกว่าร้อยละ 10 ทำให้เชียงใหม่มีรายได้ด้านการท่องเที่ยวจากนักท่องเที่ยวคนไทยลดลงร้อยละ 41 จาก 20,832 ล้านบาทในปี 2547 เหลือเพียง 12,187 ล้านบาทในปี 2548

สำหรับตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติมีแนวโน้มชะลอการเติบโตลงในปี 2548เช่นกัน โดยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามายังเชียงใหม่เพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 2.3 เทียบกับปี 2547 ที่เพิ่มขึ้นสูงถึงร้อยละ 21.6 ทั้งนี้เป็นผลจากตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยรวมของไทยที่ถดถอยลงในปี 2548 ซึ่งเห็นได้ชัดในตลาดท่องเที่ยวหลักอันดับ 1 ของเชียงใหม่ คือ กลุ่มนักท่องเที่ยวจากภูมิภาคยุโรปที่เดินทางเข้ามาลดลงร้อยละ 15.0 ในปี 2548 ทำให้สัดส่วนของจำนวนนักท่องเที่ยวจากยุโรปเมื่อเทียบกับนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมดที่เดินทางเข้ามายังเชียงใหม่ ลดลงจากร้อยละ 45 ในปี 2547 เหลือร้อยละ 38 ในปี 2548

ขณะที่ตลาดท่องเที่ยวหลักอันดับ 2 ของเชียงใหม่ คือ กลุ่มนักท่องเที่ยวจากภูมิภาคเอเชีย (ซึ่งมีญี่ปุ่น สิงคโปร์ จีน ไต้หวัน มาเลเซีย เกาหลีใต้ และมาเลเซีย เป็นตลาดหลัก) เดินทางเข้ามายังเชียงใหม่เพิ่มขึ้นร้อยละ 38.9 ในปี 2548 ทำให้สัดส่วนของนักท่องเที่ยวจากเอเชียเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 21 ในปี 2547 เป็นร้อยละ 28 ในปี 2548

จากโครงสร้างตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ปรับเปลี่ยนไปดังกล่าว ส่งผลให้ระยะเวลาพักเฉลี่ยของนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยรวมที่เดินทางเข้าไปเที่ยวเชียงใหม่ลดลงจากเฉลี่ย 3.86 วันเป็นเฉลี่ย 3.32 วัน และการใช้จ่ายเฉลี่ยต่อวันในเชียงใหม่ของนักท่องเที่ยวต่างชาติลดลงประมาณกว่าร้อยละ 10 ทำให้เชียงใหม่มีรายได้ด้านการท่องเที่ยวจากตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติลดลงร้อยละ 21.9 จาก 24,235 ล้านบาทในปี 2547 เหลือ 18,933 ล้านบาทในปี 2548

ในปี 2549 สถานการณ์การท่องเที่ยวเชียงใหม่มีแนวโน้มคึกคักในช่วง 2 เดือนแรกต่อเนื่องมาช่วงปลายปี 2548 อย่างไรก็ตาม การท่องเที่ยวเชียงใหม่ในช่วงนอกฤดูท่องเที่ยวปีนี้ (มีนาคม-ตุลาคม) มีแนวโน้มซบเซาลงมาก ทั้งนี้เนื่องจากมีหลายปัจจัยที่ส่งผลกระทบ ดังนี้

ปัญหาราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อตลาดนักท่องเที่ยวคนไทย ทำให้คนไทยเดินทางท่องเที่ยวน้อยลง และนิยมเดินทางท่องเที่ยวระยะใกล้ซึ่งมีค่าใช้จ่ายถูกกว่ากันมากขึ้น นักท่องเที่ยวคนไทยที่เดินทางเข้ามาเที่ยวเชียงใหม่ส่วนใหญ่จึงเป็นนักท่องเที่ยวจากจังหวัดใกล้เคียง ทำให้มีการใช้จ่ายไม่มาก เพราะสามารถเดินทางไปกลับได้โดยไม่ต้องพักค้างคืน

สถานการณ์น้ำท่วมหนัก ในภาคเหนือรวมทั้งเชียงใหม่ในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม และช่วงต้นเดือนสิงหาคม สร้างความเสียหายแก่ธุรกิจท่องเที่ยวในเชียงใหม่ โดยเฉพาะโรงแรมหลายแห่งริมแม่น้ำปิง และแหล่งช็อปปิ้งในตัวเมืองเชียงใหม่ รวมทั้งเส้นทางคมนาคมทางรถไฟไปยังเชียงใหม่ ทำให้มีนักท่องเที่ยวจำนวนมากยกเลิกการจองห้องพักและการเดินทางเข้ามายังเชียงใหม่ในช่วงดังกล่าว

ความเข้มงวดในด้านงบประมาณของรัฐบาล ทำให้มีการยกเลิกหรือเลื่อนการจัดประชุมสัมมนาตามต่างจังหวัดของหน่วยราชการในช่วงรัฐบาลรักษาการออกไป ส่งผลกระทบตลาดประชุมสัมมนาในกลุ่มข้าราชการไทย ซึ่งเป็นตลาดหลักของโรงแรมเชียงใหม่โดยเฉพาะในช่วงนอกฤดูท่องเที่ยว

สถานการณ์ทางการเมืองและการชุมนุมที่ยืดเยื้อ ส่งผลกระทบต่อตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยเฉพาะกลุ่มไมซ์ และนักท่องเที่ยวจากหลายประเทศในภูมิภาคเอเชีย อาทิ สิงคโปร์ ทำให้ส่วนใหญ่ต่างเดินทางไปยังประเทศอื่นแทน

การแข่งขันฟุตบอลโลก 2006 ที่ประเทศเยอรมนี ระหว่างวันที่ 9 มิถุนายน – 9 กรกฎาคม 2549 ส่งผลกระทบตลาดนักท่องเที่ยวคนไทยและตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติ ทำให้มีแนวโน้มซบเซาลงในช่วงดังกล่าว

การเพิ่มอัตราค่าเข้าชมอุทยานแห่งชาติ จากนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในเดือนกันยายน 2549 คาดว่าจะมีผลกระทบการท่องเที่ยวเชียงใหม่ เพราะแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ โดยเฉพาะการท่องเที่ยวตามอุทยานแห่งชาติ นับเป็นจุดขายสำคัญของการท่องเที่ยวเชียงใหม่ ที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งคนไทยและต่างชาติจำนวนมากเดินทางเข้ามาเที่ยวเชียงใหม่ในช่วงฤดูหนาว

แม้ว่าจะประสบกับปัจจัยด้านลบหลายประการในช่วงที่ผ่านมา แต่บรรดาผู้ประกอบธุรกิจท่องเที่ยวในเชียงใหม่ต่างปรับตัวเตรียมรับการเติบโตแบบก้าวกระโดดของตลาดท่องเที่ยวเชียงใหม่ในช่วงฤดูท่องเที่ยวที่กำลังจะมาถึงในช่วงปลายปีนี้ ทั้งนี้ด้วยหลายปัจจัยสำคัญที่ยังเกื้อหนุนต่อการท่องเที่ยวเชียงใหม่ ดังนี้

การขยายตัวของโรงแรมระดับ 5 ดาว และโรงแรมสไตล์บูติคอย่างต่อเนื่องในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา รวมทั้งการขยายเครือข่ายของเชนบริหารโรงแรมชั้นนำจากต่างประเทศเข้ามายังเชียงใหม่

– การขยายเส้นทางบินเชื่อมเชียงใหม่กับต่างประเทศ และการเพิ่มเส้นทางบินในประเทศระหว่างเชียงใหม่กับจังหวัดต่างๆ

การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆดึงดูดนักท่องเที่ยว ซึ่งเพิ่มความหลากหลายด้านการท่องเที่ยวให้กับเชียงใหม่ อาทิ เชียงใหม่ไนท์ซาฟารี สวนสัตว์เชียงใหม่ซึ่งมีหมีแพนด้าเป็นจุดขายสำคัญ และหมู่บ้านโอทอป เป็นต้น

การเสด็จพระราชดำเนินมาเยือนเชียงใหม่ของพระราชอาคันตุกะหลายพระองค์ ในช่วงก่อนและหลังงานพระราชพิธีในงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งมีการแพร่ภาพผ่านสื่อมวลชนต่างชาติไปทั่วโลก ทำให้เชียงใหม่เป็นที่รู้จักกว้างขวางยิ่งขึ้นในตลาดท่องเที่ยวโลก

การจัดกิจกรรมระดับโลกในช่วงปลายปี 2549 คือ งานมหกรรมพืชสวนโลกเฉลิมพระเกียรติฯราชพฤกษ์ 2549 ซึ่งคาดว่าจะดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งคนไทยและต่างชาติเดินทางเข้ามายังเชียงใหม่เพิ่มขึ้นเป็นหลายเท่าตัวในช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปี 2549

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด จึงคาดการณ์ว่าจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาเที่ยวเชียงใหม่เพิ่มขึ้นจำนวนมากในช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปี 2549 ซึ่งอยู่ในช่วงฤดูท่องเที่ยว และมีงานมหกรรมพืชสวนเฉลิมพระเกียรติฯราชพฤกษ์ 2549 ทำให้คาดว่าโดยรวมตลอดทั้งปี 2549 จะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามายังเชียงใหม่เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 15 จากปี 2548 โดยมีจำนวนรวมทั้งสิ้นไม่ต่ำกว่า 4.6 ล้านคน ในจำนวนนี้ร้อยละ 56 หรือประมาณ 2.6 ล้านคนเป็นนักท่องเที่ยวคนไทย (ซึ่งคาดว่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 20) ที่เหลืออีกประมาณ 2.0 ล้านคนเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ (ซึ่งคาดว่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 9 จากปี 2548)

การใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเที่ยวเชียงใหม่ในปี 2549 คาดว่าจะก่อให้เกิดเม็ดเงินสะพัดไปสู่ธุรกิจด้านการท่องเที่ยวคิดเป็นมูลค่าประมาณ 42,000 ล้านบาทเพิ่มขึ้นร้อยละ 35 ในจำนวนนี้ส่วนใหญ่ คือ ร้อยละ 31 หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 13,000 ล้านบาทสะพัดไปสู่ธุรกิจจำหน่ายสินค้าของที่ระลึกนักท่องเที่ยว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินค้าโอทอปประเภทงานหัตถกรรมที่มีชื่อเสียงของเชียงใหม่ อาทิ ผลิตภัณฑ์ไม้แกะสลักที่บ้านถวาย อำเภอหางดง ที่มีผู้ผลิตและผู้ประกอบการในพื้นที่ไม่ต่ำกว่า 600 ร้านและแหล่งผลิตผลิตภัณฑ์กระดาษสาที่มีชื่อเสียงที่บ้านต้นเปา อำเภอสันกำแพง เป็นต้น

รองลงมา คือ ร้อยละ 22 หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 9,200 ล้านบาทสะพัดสู่ธุรกิจด้านที่พักในเชียงใหม่ที่มีจำนวนกว่า 270 แห่งจำนวนห้องพักรวมทั้งสิ้นประมาณ 18,000 ห้อง เป็นที่น่าสังเกตว่า ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมามีการขยายการลงทุนในธุรกิจโรงแรมระดับ 5 ดาว รวมทั้งบูติคโฮเต็ลซึ่งมีจำนวนห้องไม่มากนักแต่มีบริการต่างๆในระดับโรงแรม 5 ดาว ซึ่งมีทั้งการลงทุนของเชนบริหารโรงแรมต่างชาติ กลุ่มนักลงทุนจากส่วนกลาง และกลุ่มนักลงทุนท้องถิ่น ทั้งนี้เป็นการปรับตัวของผู้ประกอบการในธุรกิจด้านการท่องเที่ยวไม่เฉพาะธุรกิจโรงแรม แต่ยังรวมไปถึงธุรกิจนำเที่ยว ร้านอาหาร และสถานที่ท่องเที่ยวในเมืองเชียงใหม่เพื่อรองรับตลาดระดับบนที่มีกำลังซื้อสูง และมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง