ปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง ราคาน้ำมัน อัตราดอกเบี้ยและภาวะเงินเฟ้อ ได้ส่งผลกระทบต่อยอดจำหน่ายสินค้าหลายชนิด ซึ่งรวมถึงตลาดเครื่องซักผ้าที่มีแนวโน้มว่ายอดจำหน่ายจะไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่ผู้ประกอบการได้ตั้งไว้ในช่วงต้นปี แม้ว่าช่วงนี้จะเป็นช่วงฤดูฝน ซึ่งหลายปีที่ผ่านมาจะเป็นช่วงที่ปริมาณการจำหน่ายเครื่องซักผ้าในประเทศจะเพิ่มสูงขึ้นเมื่อเทียบกับฤดูอื่นๆ อย่างไรก็ตามผลกระทบทางเศรษฐกิจในปัจจุบันน่าจะมีผลต่อยอดจำหน่ายของเครื่องซักผ้าในปี 2549 นี้ค่อนข้างมาก และทำให้ยอดจำหน่ายในประเทศเติบโตขึ้นไม่มากนัก แต่สำหรับตลาดส่งออกนั้นในช่วงปีนี้ยังนับว่าสามารถส่งได้เพิ่มขึ้นแม้ว่าจะต้องเผชิญกับการแข่งขันในตลาดโลกค่อนข้างมากโดยเฉพาะการแข่งขันจากประเทศจีน รวมถึงปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง
ในช่วงระยะที่ผ่านมายอดจำหน่ายเครื่องซักผ้าในประเทศมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยผลักดัน เช่น การเติบโตของภาวะเศรษฐกิจของประเทศ การขยายตัวของอสังหาริมทรัพย์ ราคาเครื่องที่ปรับตัวลดลง ประกอบกับอัตราการใช้เครื่องซักผ้าต่อครัวเรือนในประเทศในช่วงที่ผ่านมานับว่ายังไม่สูงมากนักทำให้ตลาดเครื่องซักผ้ามีแนวโน้มเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2547 มีอัตราการใช้อยู่ที่ร้อยละ 36 ของจำนวนครัวเรือนทั้งหมด และเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 42 ในปี 2548 และยังมีแนวโน้มว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นได้อีก โดยพื้นที่ในกรุงเทพฯ มีอัตราการใช้เครื่องซักผ้าในครัวเรือนประมาณร้อยละ 70 ต่อ 100 ครัวเรือน รองลงมาเป็นภาคกลาง ร้อยละ 46 ภาคใต้ ร้อยละ 45 ภาคเหนือ ร้อยละ 40 และภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มีอัตราการใช้น้อยที่สุดร้อยละ 25 การเคลื่อนย้ายฐานการผลิตเครื่องซักผ้าหลายยี่ห้อเข้ามาในประเทศและการนำเข้าเครื่องซักผ้าจากประเทศในแถบเอเชียมากขึ้น ทำให้ราคาเครื่องซักผ้าที่จำหน่ายในประเทศไทยมีราคาไม่สูงมากนัก ประกอบกับการจัดรายการส่งเสริมการขายแบบผ่อนชำระดอกเบี้ยต่ำทำให้การจำหน่ายเครื่องซักผ้ามีความคล่องตัวมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้แนวโน้มการนำเข้าเครื่องซักผ้าราคาสูงจากทางยุโรปและอเมริกากลับมีแนวโน้มลดลงโดยในช่วงครึ่งแรกของปี 2549 มีการนำเข้าเครื่องซักผ้าจากยุโรป (อิตาลี เยอรมัน และเดนมาร์ก) ลดลงร้อยละ 7 ในขณะที่การนำเข้าจากจีนเพิ่มขึ้นร้อยละ 35.4 และ จากเกาหลีใต้เพิ่มขึ้นร้อยละ 28 ทั้งนี้เนื่องจากเครื่องซักผ้าในประเทศและประเทศในแถบเอเชียได้พัฒนาคุณภาพสูงขึ้นและเข้าสู่ตลาดระดับกลาง-ล่างได้มากยิ่งขึ้น ส่วนเครื่องซักผ้าที่มีความทนทานและเทคโนโลยีสูงนั้นยังมีความต้องการเฉพาะกลุ่ม
ตลาดเครื่องซักผ้าในประเทศสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ส่วนคือ ตลาดอุตสาหกรรมซัก-อบ-รีด (Industry) และ ตลาดผู้ใช้ทั่วไป (Household) ตลาดอุตสาหกรรมนั้นจะเป็นในส่วนของธุรกิจโรงแรม ที่ต้องการใช้เครื่องขนาดใหญ่ หรือ ร้านขนาดใหญ่ที่รองรับปริมาณงานจำนวนมาก ในขณะที่ตลาดผู้ใช้ทั่วไปนั้นจะเป็นผู้ใช้ตามบ้าน ร้านซัก-รีด ขนาดเล็ก รวมถึงเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญ สำหรับเครื่องซักผ้าในครัวเรือนนั้นในประเทศไทย จากการสำรวจการใช้สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าของไทยและแนวโน้มครึ่งหลังของปี 2549 ของศูนย์วิจัยกสิกรไทย จากกลุ่มตัวอย่างในเขตกรุงเทพฯ จำนวน 780 ราย ในเดือนกรกฎาคม 2549 พบประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับตลาดเครื่องซักผ้า ดังนี้
– ในกลุ่มผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 80 ที่มีเครื่องซักผ้าใช้ในบ้านจำนวน 1 เครื่อง อีกร้อยละ 20 มีจำนวนมากกว่า 1 เครื่อง การซื้อเครื่องซักผ้า ร้อยละ 70 ซื้อโดยเงินสด ร้อยละ 20 ผ่อนชำระกับบริษัทให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อ และร้อยละ 10 ผ่อนชำระผ่านบัตรเครดิต
– แนวโน้มว่าในอีก 6 เดือนข้างหน้ากลุ่มตัวอย่างร้อยละ 9.8 มีความต้องการซื้อเครื่องซักผ้าสำหรับไว้ใช้งานในบ้าน โดยร้อยละ 60 จะซื้อโดยเงินสด ร้อยละ 23 จะซื้อผ่อนชำระผ่านบัตรเครดิตโดยไม่เสียดอกเบี้ย และร้อยละ 17 จะซื้อโดยการผ่อนชำระแบบมีดอกเบี้ยกับบริษัทเช่าซื้อหรือบัตรเครดิต
– กลุ่มที่มีความต้องการซื้อเครื่องซักผ้าร้อยละ 40 เป็นกลุ่มที่อาศัยอยู่ในอพาร์ทเม้นท์ ร้อยละ 53 เป็นกลุ่มที่มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง (รวมบ้านเดี่ยวและทาวน์เฮ้าส์) และที่เหลือร้อยละ 7 เป็นกลุ่มที่อยู่อาศัยในคอนโดมิเนียม
– กลุ่มที่ต้องการซื้อเครื่องซักผ้าส่วนใหญ่มีรายได้ไม่เกิน 20,000 บาทต่อเดือน คิดเป็นร้อยละ 63 รองลงมาเป็นกลุ่มที่มีรายได้ระหว่าง 20,000 บาท-40,000 บาท คิดเป็นร้อยละ 19 และรายได้มากกว่า 40,000 บาทต่อเดือนขึ้นไปคิดเป็นร้อยละ 18 ตามลำดับ
– เครื่องซักผ้าที่มีราคาต่ำกว่า 10,000 บาท มีสัดส่วนประมาณร้อยละ 52 รองลงมาเป็นเครื่องที่มีราคาอยู่ระหว่าง 10,000-20,000 บาท คิดเป็นร้อยละ 26 และเครื่องราคาสูงกว่า 20,000 บาทขึ้นไป คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 22
สำหรับแนวโน้มของตลาดเครื่องซักผ้าในประเทศในปี 2549 นี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีความเห็นว่า ตลาดน่าจะมีการเติบโตของจำนวนยอดขายเพิ่มขึ้นมากกว่าปี 2548 ที่ผ่านมาโดยเพิ่มมียอดขายเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 10 มีปริมาณการจำหน่ายเครื่องซักผ้าในประเทศประมาณ 1 ล้านเครื่อง คิดเป็นมูลค่าตลาดประมาณ 9,200 ล้านบาท โดยมีแรงซื้อในกลุ่มเครื่องซักผ้าที่มีราคาไม่สูงมากนัก ในกลุ่มที่อยู่อาศัยใหม่ที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นทั้งในกลุ่มบ้านสร้างใหม่ โดยเฉพาะบ้านสร้างเอง กลุ่มคอนโดมิเนียมและกลุ่มอพาร์ทเม้นท์ ที่ยังคงมีแนวโน้มเติบโตได้ ทั้งนี้การเติบโตของตลาดเครื่องซักผ้ายังจำเป็นต้องให้ความระมัดระวังกับปัจจัยเสี่ยงหลายๆ ด้านที่อาจส่งผลให้ตลาดไม่สามารถเติบโตได้ตามเป้าหมาย โดยเฉพาะปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจที่ชะลอตัว การปรับเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันอย่างต่อเนื่องที่ส่งผลต่อค่าครองชีพให้ปรับตัวสูงขึ้นและความสามารถในการใช้จ่ายโดยที่รายได้ยังไม่ปรับตัวเพิ่มขึ้น นอกจากนี้การปรับตัวเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ส่งผลให้เกิดภาระที่มากขึ้นสำหรับผู้ที่ต้องการผ่อนชำระสินค้าซึ่งก็น่าจะมีผลต่อยอดจำหน่ายสินค้าด้วยเช่นกัน ซึ่งทำให้ผู้ผลิตและผู้จำหน่ายจำเป็นต้องพิจารณาชะลอการปรับเพิ่มราคาสินค้าออกไปอีก ทั้งนี้เพราะอาจส่งผลกระทบต่อยอดขายได้ ทั้งนี้เนื่องจากการแข่งขันเพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดของผู้ผลิตแต่ละรายนั้นเป็นภาวะกดดันทางการค้าค่อนข้างมาก ในขณะที่ต้นทุนการผลิตมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นอยู่ตลอดเวลา ทั้งวัตถุดิบที่จำเป็นต่อการผลิตไม่ว่าจะเป็นพลาสติก ทองแดง เหล็ก ปรับราคาสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะเดียวกัน แนวโน้มนำเข้าสินค้าจากจีนราคาถูกเข้ามาจำหน่ายทำให้การแข่งขันมีแนวโน้มรุนแรงขึ้นตามลำดับ และทำให้ผู้ผลิตต้องปรับปรุงสินค้าและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อหลีกเลี่ยงการแข่งขันที่เกิดขึ้นในตลาดระดับกลาง-ล่าง โดยเน้นการนำเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับทางด้านสุขภาพมาใช้ เช่น ระบบฆ่าเชื้อโรค การกำจัดกลิ่นอับ นอกจากนี้ยังมีระบบการซักแบบถนอมใยผ้า การดีไซน์เครื่องให้มีรูปร่างทันสมัย เพื่อช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าด้วย
ในด้านการส่งออกเครื่องซักผ้า ไทยมีอัตราการขยายตัวของการส่งออกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2547 มีมูลค่าส่งออก 378.7 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 15,177 ล้านบาท และในปี 2548 มีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นเป็น 443.9 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 17,745 ล้านบาท ขยายตัวประมาณร้อยละ 17.22 และสำหรับการส่งออกเครื่องซักผ้าในปี 2549 นั้น มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นมาก เมื่อพิจารณาจากตัวเลขการส่งออกในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2549 มีมูลค่าส่งออก 275.8 ล้านเหรียญสหรัฐหรือ 10,726 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 30 จากช่วงเดียวกันในปีที่ผ่านมา ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประมาณว่า การส่งออกเครื่องซักผ้าในปี 2548 จะมีมูลค่าประมาณ 600 ล้านเหรียญสหรัฐ มีอัตราการขยายตัวประมาณร้อยละ 35
– ตลาดส่งออกยังเน้นที่เอเชียเป็นหลัก การเคลื่อนย้ายฐานการผลิตและการเพิ่มปริมาณการผลิตเครื่องซักผ้าของผู้ผลิตรายใหญ่นั้น ช่วยทำให้ไทยมีมูลค่าการส่งออกเพิ่มมากขึ้น โดยที่เป้าหมายของการส่งออกส่วนใหญ่ยังคงอยู่ในประเทศในแถบเอเชีย โดยมีสัดส่วนการส่งออกมากถึงร้อยละ 83 โดยมีตลาดสำคัญอยู่ที่ตลาดญี่ปุ่น ซึ่งมีสัดส่วนมากถึงร้อยละ 27 ของมูลค่าการส่งออกเครื่องซักผ้าทั้งหมด นอกจากนี้ยังมีตลาดในกลุ่มประเทศอาเซียน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 25 ของมูลค่าส่งออกเครื่องซักผ้าโดยรวม และตลาดนอกเอเชียที่มีอัตราการขยายตัวของการส่งออกเครื่องซักผ้าสูง ได้แก่ ตลาดออสเตรเลีย มูลค่าการส่งออกในช่วงครึ่งแรกของปี 2549 ขยายตัวร้อยละ 70 เนื่องมาจาการเปิดเจรจาเอฟทีเอหรือเขตการค้าเสรี ตลาดสหภาพยุโรป ขยายตัวร้อยละ 754 ซึ่งทั้ง 2 ตลาดนี้แม้ว่าจะยังมีมูลค่าส่งออกไม่สูงมากนักแต่ก็จัดเป็นตลาดที่มีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นมากและมีศักยภาพทางตลาดดี
– ไทย ผู้ส่งออกอันดับ 6 ของโลก ในเวทีตลาดโลกนั้นไทยยังต้องเผชิญกับการแข่งขันจากหลายประเทศ โดยประเทศที่สามารถส่งออกเครื่องซักผ้าได้เป็นอันดับหนึ่งในปี 2548 ได้แก่ อิตาลี มีส่วนแบ่งตลาดประมาณร้อยละ 23 ของตลาดโลก รองลงมาเป็น เยอรมัน มีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 18 จีน มีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 16.4 เกาหลีใต้ มีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 10.3 ส่วนไทยเป็นผู้ส่งออกอันดับ 6 มีส่วนแบ่งตลาดประมาณร้อยละ 5 ซึ่งจัดว่าเป็นส่วนแบ่งตลาดที่ไม่สูงมากนัก แต่ก็จัดว่าเป็นประเทศที่มีส่วนแบ่งการตลาดเพิ่มขึ้นจากผู้ส่งออกเครื่องซักผ้าได้เป็นอันดับ 9 มีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 4 ในปี 2547 อย่างไรก็ตามประเทศที่มีส่วนแบ่งตลาดโลกเพิ่มขึ้นอย่างมากคือ จีน เพิ่มส่วนแบ่งตลาดจากร้อยละ 7.4 ในปี 2547 เป็นร้อยละ 16.4 ซึ่งจัดว่าเป็นการเติบโตแบบก้าวกระโดดค่อนข้างมากและสินค้าจากจีนนั้นได้แพร่กระจายไปยังตลาดทั่วโลก
– การแข่งขันสูงโดยเฉพาะจากจีนในตลาดญี่ปุ่น ซึ่งเป็นตลาดหลักของไทยในการส่งออกเครื่องซักผ้า ไทยมีส่วนแบ่งตลาดในปี 2548 ประมาณร้อยละ 23.4 ลดลงจากร้อยละ 25.3 ในปี 2547 ในขณะที่จีนมีส่วนแบ่งตลาดเครื่องซักผ้าในญี่ปุ่น ประมาณร้อยละ 68.8 ในปี 2549 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 61.1 ในปี 2547 แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมาไทยจะสามารถส่งออกเครื่องซักผ้าไปยังตลาดญี่ปุ่นได้เพิ่มขึ้นโดยในปี 2548 เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.6 และในช่วงครึ่งแรกของปี 2549 ขยายตัวต่อเนื่องอีกร้อยละ 11.6 แต่หากพิจารณาจากส่วนแบ่งตลาดแล้วไทยยังต้องเผชิญกับการแข่งขันกับจีนค่อนข้างมาก การขยายตัวของส่วนแบ่งตลาดที่ลดลงนั้นเป็นสัญญาณที่ทำให้ผู้ประกอบการต้องพิจารณาถึงความสามารถในการแข่งขันค่อนข้างมาก โดยเฉพาะการแข่งขันทางด้านราคาเพราะที่ผ่านมาสินค้าที่ผลิตจากจีนนั้นมีราคาค่อนข้างต่ำ ซึ่งทำให้ขยายตลาดได้มาก นอกจากนี้การย้ายฐานการผลิตจากผู้ผลิตชั้นนำเข้าไปในจีนเพื่ออาศัยเป็นแหล่งผลิตต้นทุนต่ำยิ่งทำให้จีนมีความได้เปรียบในแง่ของความสามารถในการส่งออกมากยิ่งขึ้น นอกจากการผลิตจากผู้ผลิตชั้นนำของประเทศแล้ว จีนยังสามารถพัฒนาการผลิตโดยผ่านผู้ผลิตในประเทศและส่งออกเครื่องซักผ้าในลักษณะ local brand ไปจำหน่ายยังต่างประเทศได้อีกด้วย ในขณะที่การผลิตเครื่องซักผ้าของไทยส่วนใหญ่ยังคงเป็นผู้ผลิตจากต่างประเทศเข้ามาลงทุนผลิตและมีผู้ผลิตชิ้นส่วนของไทยเป็นลักษณะรับจ้างผลิตป้อนให้โรงงานใหญ่มากกว่าที่จะมีแบรนด์ของท้องถิ่นออกจำหน่าย
จากข้อมูลข้างต้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีความเห็นว่า แม้ว่าตัวเลขการส่งออกเครื่องซักผ้าของไทยจะมีแนวโน้มเติบโตขึ้นค่อนข้างสูง แต่สิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ก็คือ ภาวะการแข่งขันที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น การแข่งขันของราคาที่มีความรุนแรงเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกเผชิญกับปัจจัยลบทางด้านราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น การเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ย การชะลอตัวของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นปัจจัยลบต่อยอดขายทั้งสินค้า นอกจากนี้การขยายตัวของการส่งออกของจีนด้วยสินค้าราคาต่ำนั้น ยิ่งทำให้ผู้ผลิตในอุตสาหกรรมต้องปรับตัวต่อการลดต้นทุนการผลิตค่อนข้างมาก อย่างไรก็ตามต้นทุนวัตถุดิบที่พุ่งสูงขึ้นอันเนื่องมาจากราคาน้ำมันยิ่งเป็นภาวะกดดันที่ทำให้ผู้ผลิตต้องดำเนินธุรกิจอย่างรอบคอบในการวางแผนการผลิตมากยิ่งขึ้น
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า การเพิ่มโอกาสทางการตลาดเครื่องซักผ้าของไทยในตลาดต่างประเทศนั้น ผู้ผลิตควรจะต้องเอาใจใส่ต่อการพัฒนาการผลิตในด้านต่างๆ ที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดต่างประเทศมากขึ้น และกำหนดตลาดอย่างชัดเจนในแต่ละภูมิภาคมีความต้องการสินค้าที่แตกต่างกัน เช่น ในญี่ปุ่นเครื่องซักผ้าแบบฝาเอียง ประหยัดเนื้อที่ กำลังได้รับความนิยม ส่วนตลาดยุโรปและสหรัฐนั้น เครื่องซักผ้าฝาหน้า ที่ให้การทะนุถนอมผ้ามากกว่าเครื่องฝาบนกำลังได้รับความนิยม รวมทั้งระบบการซักที่ประหยัดทั้งปริมาณน้ำและประหยัดพลังงาน น่าจะเป็นแนวโน้มที่ได้รับความนิยมในปัจจุบันที่ค่าใช้จ่ายทางด้านพลังงานสูงขึ้น การเพิ่มเทคโนโลยีการซักและควบคุมด้วยระบบดิจิทัล การเพิ่มดีไซน์ของเครื่องซักผ้าให้ทันสมัยดึงดูดใจเพื่อสร้างความต้องการของตลาดได้อย่างต่อเนื่องต่อไปได้