การค้าไทย – ญี่ปุ่น ซบเซา : พ่ายอิทธิพลสินค้าจีน

สถานการณ์การค้าระหว่างประเทศของไทยมีแนวโน้มกระเตื้องดีขึ้นในปี 2549 โดยการส่งออกขยายตัวต่อเนื่องในอัตรา 16.6% เป็นมูลค่า 71,711 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ เทียบกับอัตราเติบโตเฉลี่ย 14.9% ในปี 2548 ขณะที่การนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศชะลอลงอย่างมาก โดยมีอัตราเพิ่ม 6.7% เป็นมูลค่า 73,910 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในช่วงเดียวกัน เทียบกับอัตราขยายตัวเฉลี่ย 25.7% ในปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ดุลการค้าของไทยมียอดขาดดุลลดลงถึง 71.6% เหลือ 2,199 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ เทียบกับยอดขาดดุล 7,753 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในช่วงเดียวกันของปี 2548

แม้ว่าการส่งออกโดยรวมของไทยเติบโตในอัตรา 16.6% ในช่วง 7 เดือนแรก 2549 แต่อัตราดังกล่าวยังคงต่ำกว่าตัวเลขเป้าหมายการส่งออกที่ทางการไทยต้องการผลักดันให้การส่งออกขยายตัว 17.5% เป็นมูลค่าประมาณ 130,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปีนี้ การที่จะบรรลุเป้าหมายการส่งออกในอัตราดังกล่าว จำเป็นต้องกระตุ้นการส่งออกในช่วงระยะเวลาที่เหลือของปีนี้ให้เติบโตประมาณ 20% แนวทางที่จะสามารถกระทำได้ ก็คือ เร่งฟื้นฟูตลาดส่งออกดั้งเดิมที่ซบเซา พร้อมๆ กับส่งเสริมการส่งออกไปยังตลาดใหม่ นับเป็นมาตรการควบคู่กันที่จะช่วยให้การส่งออกโดยรวมของไทยเติบโตตามที่คาดการณ์ไว้

เศรษฐกิจญี่ปุ่นสดใส : ส่งออกไทยกลับอับเฉา

ในบรรดาตลาดส่งออกดั้งเดิมของไทย 4 ตลาด ประเทศคู่ค้าหลักที่น่าเป็นห่วงและควรเร่งฟื้นฟูการส่งออกในช่วงเวลาที่เหลือของปีนี้ ได้แก่ ญี่ปุ่น การส่งออกของไทยไปยังตลาดญี่ปุ่นเงียบเหงาที่สุดในกลุ่มประเทศคู่ค้าดั้งเดิม โดยขยับขึ้น 5.6% เป็นมูลค่า 9,192 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ เทียบกับอัตราเติบโตเฉลี่ย 11.8% ในปี 2548 นับว่าญี่ปุ่นเป็นคู่ค้าหลักที่ไทยส่งสินค้าออกไปจำหน่ายเพิ่มขึ้นในอัตราน้อยที่สุด และรั้งท้ายสุดในกลุ่มตลาดส่งออกสำคัญของไทยในด้านมูลค่าส่งออก รองจากอาเซียน สหรัฐอเมริกา และ EU ทั้งๆ ที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ โดยขยายตัว 3.5% และ 2.2% ในไตรมาสแรก และไตรมาสที่ 2 ตามลำดับ ทั้งนี้ ประมาณการว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นจะขยายตัวในอัตรา 2.8% ในปี 2549 เทียบกับอัตราเติบโต 2.6% ในปี 2548 นับเป็นอัตราขยายตัวทางเศรษฐกิจสูงสุดของญี่ปุ่นในรอบ 7 ปี

– สินค้าจีนปั่นป่วนสินค้าไทยในญี่ปุ่น
เป็นที่น่าเสียดายว่า การส่งออกสินค้าไทยไปญี่ปุ่นแทบไม่ได้รับผลดีจากการที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นอยู่ในช่วงขาขึ้น สินค้าไทยหลายรายการประสบภาวะซบเซาในตลาดญี่ปุ่นในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ ที่สำคัญ ได้แก่ แผงวงจรไฟฟ้า ซึ่งเป็นสินค้าอันดับ 1 ที่ไทยส่งออกไปญี่ปุ่น ติดลบ 2.7% สินค้าสำคัญรายการอื่นๆ ที่ถดถอยลง อาทิ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูปลดลง 3.9% เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์และส่วนประกอบติดลบ 17.9% เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบลดลง 21.3% เหล็กและเหล็กกล้าลดลง 1.7% อุปกรณ์กึ่งตัวนำทรานซิสเตอร์และไดโอดติดลบ 26.3% เฟอร์นิเจอร์และส่วนประกอบลดลง 9.6% เป็นต้น

สถานการณ์การส่งออกสินค้าไทยไปญี่ปุ่นที่อึมครึมลงในปีนี้ สาเหตุสำคัญส่วนหนึ่งเนื่องจากสินค้าไทยเผชิญการแข่งขันรุนแรงกับสินค้าจีนในตลาดญี่ปุ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าประเภทเครื่องรับวิทยุ-โทรทัศน์ อุปกรณ์โทรคมนาคม เสื้อผ้าสำเร็จรูป กระเป๋า เฟอร์นิเจอร์ รวมทั้งสินค้าบริโภคจำพวกปลาและผัก ซึ่งเป็นสินค้าที่ญี่ปุ่นหันไปนำเข้าจากจีนเพิ่มขึ้นมาก เป็นผลมาจากการที่ญี่ปุ่นเข้าไปลงทุนจัดตั้งโรงงานผลิตสินค้าในจีนจำนวนมากในช่วงที่ผ่านมา เพื่ออาศัยค่าจ้างแรงงานราคาถูกและต้นทุนวัตถุดิบในประเทศจีนที่ค่อนข้างต่ำ บัดนี้ โรงงานของญี่ปุ่นในจีนเริ่มลงมือผลิตสินค้าและทยอยส่งสินค้าเหล่านั้นกลับไปขายในตลาดญี่ปุ่น ส่งผลให้มูลค่านำเข้าสินค้าจากจีนพุ่งขึ้นรวดเร็วในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ ทำเลที่ตั้งที่ใกล้ชิดกันระหว่างประเทศญี่ปุ่นกับประเทศจีน ช่วยเอื้ออำนวยต่อการขนส่งสินค้าระหว่างกันให้คล่องตัวและสะดวกยิ่งขึ้น

ปัจจุบัน ญี่ปุ่นจัดเป็นนักลงทุนต่างชาติอันดับ 2 ของจีน รองจากฮ่องกง โดยมีมูลค่าเงินลงทุนสะสม 55,849 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม 2549 คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 8.5% ของมูลค่าเงินลงทุนจากต่างประเทศสะสมทั้งหมดของจีน โครงการลงทุนของญี่ปุ่นในจีน ส่วนใหญ่ ได้แก่ การลงทุนผลิตสินค้าอุตสาหกรรม เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ฯลฯ โครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ตลอดจนโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจต่างๆ เช่น โรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าและน้ำประปา ระบบการขนส่ง โกดังสินค้า ระบบโทรคมนาคม เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม สินค้าไทยบางรายการที่สามารถส่งออกไปยังตลาดญี่ปุ่นได้เพิ่มขึ้นในปีนี้ ส่วนใหญ่เป็นสินค้าชั้นนำของไทยที่มีความได้เปรียบด้านการส่งออก และเป็นสินค้าที่มิได้แข่งขันกับสินค้าจีนโดยตรง ได้แก่ ยางพารา ผลิตภัณฑ์ยาง รถยนต์-อุปกรณ์และส่วนประกอบ เลนส์ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์อลูมิเนียม เป็นต้น แต่ประเด็นที่น่าเป็นห่วง ก็คือ หากในอนาคตจีนสามารถพัฒนาการผลิตสินค้าที่หลากหลายมากขึ้น รวมทั้งผลิตสินค้าคล้ายคลึงกับสินค้าที่ไทยมีความได้เปรียบดังกล่าว ก็มีแนวโน้มว่าไทยอาจจะสูญเสียตลาดญี่ปุ่นให้แก่สินค้าจีนมากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น ไทยจำเป็นต้องใช้กลยุทธ์ด้านคุณภาพสินค้าเป็นจุดแข็งเพื่อสร้างความเชื่อถือในตลาดญี่ปุ่น ตลอดจนเพิ่มความหลากหลายของสินค้าไทย พร้อมเติมเอกลักษณ์ความเป็นไทย เพื่อให้แตกต่างจากสินค้าจีน โดยเฉพาะสินค้ากลุ่ม OTOP ชั้นนำของไทย ซึ่งน่าจะจับตลาด high-end ของผู้บริโภคชาวญี่ปุ่นได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้เพื่อขยายส่วนแบ่งในตลาดญี่ปุ่น ซึ่งเป็นตลาดส่งออกดั้งเดิมที่มีศักยภาพของไทย

แหล่งนำเข้าของญี่ปุ่น : จีน VS ไทย
จีน ได้ก้าวเป็นแหล่งนำเข้าอันดับ 1 ของญี่ปุ่น นับตั้งแต่ปี 2545 โดยแซงหน้าสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นคู่ค้าเหนียวแน่นของญี่ปุ่นได้สำเร็จ เนื่องจากการค้าระหว่างญี่ปุ่นกับจีนขยายตัวอย่างรวดเร็วมาโดยตลอดช่วงปลายทศวรรษ 1990 ขณะที่ไทยอยู่ในอันดับ 10 โดยญี่ปุ่นนำเข้าสินค้าไทย รองจากจีน สหรัฐอเมริกา ซาอุดิอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย อินโดนีเซีย ไต้หวัน และเยอรมนี

ญี่ปุ่นนำเข้าสินค้าจากจีนเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา จากมูลค่านำเข้า 5.9 ล้านล้านเยนในปี 2543 พุ่งขึ้นกว่า 1 เท่าตัวเป็นมูลค่าประมาณ 12 ล้านล้านเยนในปี 2548 คิดเป็นอัตราขยายตัวเฉลี่ยราว 20% ต่อปี เมื่อเปรียบเทียบกับการนำเข้าสินค้าจากไทยในช่วงเดียวกัน ปรากฏว่าขยายตัวในอัตราเชื่องช้ากว่าจีนครึ่งหนึ่ง โดยมีอัตราเพิ่มเฉลี่ยประมาณ 10% ต่อปี มูลค่าสินค้าที่ญี่ปุ่นจากไทยเพิ่มขึ้นจาก 1.1 ล้านล้านเยนในปี 2543 เป็น 1.7 ล้านล้านเยนในปี 2548 สำหรับในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ ญี่ปุ่นนำเข้าสินค้าจากจีนเพิ่มขึ้น 17.9% เป็นมูลค่า 5.5 ล้านล้านเยน ขณะที่ญี่ปุ่นนำเข้าสินค้าจากไทยเพิ่มขึ้น 13.2% เป็นมูลค่าประมาณ 768,740 ล้านเยน ในช่วงเเดียวกัน

ตลาดส่งออกของญี่ปุ่น : จีน VS ไทย
จีน ได้เป็นแชมป์ตลาดส่งออกอันดับ 1 ของญี่ปุ่น โดยแย่งตำแหน่งจากตลาดสหรัฐฯ ได้สำเร็จเป็นครั้งแรกในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ คิดเป็นมูลค่าที่ญี่ปุ่นส่งออกไปจีน 4.03 ล้านล้านเยน มีอัตราขยายตัว 26.2% ส่วนการส่งออกของญี่ปุ่นไปสหรัฐฯ มีมูลค่า 3.73 ล้านล้านเยน และอัตราเติบโต 17.7% ในช่วงเดียวกัน ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ญี่ปุ่นส่งออกไปตลาดจีนได้เป็นอย่างดี เป็นผลมาจากเศรษฐกิจจีนยังคงความร้อนแรงอย่างต่อเนื่องในช่วงครึ่งแรกของปี 2549 ทำให้มีการนำเข้าสินค้าจำพวกวัตถุดิบและสินค้าทุนจากญี่ปุ่นจำนวนมาก สนองความต้องการของอุตสาหกรรมการผลิตของญี่ปุ่นในจีน สำหรับประเทศไทยจัดเป็นตลาดส่งออกในอันดับ 6 ของญี่ปุ่น รองจากจีน สหรัฐฯ เกาหลีใต้ ไต้หวัน และฮ่องกง ญี่ปุ่นส่งออกสินค้ามายังประเทศไทยเป็นมูลค่า 1.04 ล้านล้านเยน คิดเป็นอัตราเพิ่ม 6.8% ในช่วง 5 เดือนแรก 2549 ชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับอัตราขยายตัวเฉลี่ย 13% ในปี 2548

สินค้าญี่ปุ่นหลายรายการที่ส่งออกมายังประเทศไทยซบเซาลงตามภาวะเศรษฐกิจไทยที่ชะลอตัวในช่วงนี้ อาทิ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เหล็ก-เหล็กกล้า เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานพาหนะ ผลิตภัณฑ์โลหะ รถยนต์โดยสารและรถบรรทุก ลวดและสายเคเบิล เป็นต้น อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการส่งออกสินค้าญี่ปุ่นมายังประเทศไทยชะลอลง แต่ญี่ปุ่นก็ยังคงเกินดุลการค้ากับไทย คิดเป็นยอดเกินดุล 270,653 ล้านเยนในช่วง 5 เดือนแรก 2549

สำหรับการส่งออกของไทยไปยังประเทศคู่ค้าดั้งเดิมอีก 3 ตลาด นอกเหนือจากญี่ปุ่น ปรากฏว่าการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป (EU) ซึ่งเป็นตลาดส่งออกอันดับ 2 และอันดับ 3 ของไทย กระเตื้องดีขึ้นในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นมากที่สุด คิดเป็นอัตราขยายตัว 17.8% และมีมูลค่าส่งออก 11,061 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในช่วง 7 เดือนแรก 2549 เทียบกับอัตราเติบโตเฉลี่ย 9.6% ในปีที่ผ่านมา ปัจจัยสนับสนุนสำคัญ ได้แก่ ความต้องการสินค้าจำพวกเครื่องอุปกรณ์คอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มมากขึ้น ตามการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมดังกล่าวในตลาดโลก ส่งผลให้การส่งออกสินค้าในหมวดเหล่านี้พลอยได้รับอานิสงส์ตามไปด้วย ขณะเดียวกันการส่งออกของไทยไปยังตลาดสหภาพยุโรป (EU) ก็สดใสเช่นกัน โดยมีอัตราเพิ่ม 11.7% เป็นมูลค่า 9,245 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในช่วง 7 เดือนแรก 2549 เทียบกับอัตราขยายตัวเฉลี่ย 3.5% ในปี 2548 ทั้งนี้เป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของอียูเข้มแข็งกว่าปีที่ผ่านๆมา โดยเฉพาะตลาดเยอรมัน อังกฤษ และเนเธอร์แลนด์ ซึ่งไทยสามารถส่งออกได้อย่างน่าพอใจ โดยมีอัตราเพิ่มขึ้นเฉลี่ยประมาณ 15%

ทางด้านตลาดอาเซียน ซึ่งเป็นประเทศคู่ค้าที่ไทยส่งสินค้าออกไปขายมากที่สุด โดยมีมูลค่า 15,158 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ แต่อัตราขยายตัวของการส่งออกชะลอลงเล็กน้อยอยู่ในระดับ 11.2% เมื่อเทียบกับอัตราเติบโตเฉลี่ย 14.9% ในปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ เนื่องจากการส่งออกไปยังอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นตลาดส่งออกอันดับ 3 ของไทยในกลุ่มอาเซียน อ่อนแรงลง โดยยอดส่งออกของไทยไปตลาดอินโดนีเซียลดลงถึง 27.7% ในช่วง 7 เดือนแรก 2549 เทียบกับอัตราขยายตัว 23.8% ในปี 2548 อย่างไรก็ตาม การส่งออกไปยังสมาชิกอาเซียนชั้นนำอื่นๆ กระเตื้องดีขึ้น ได้แก่ สิงคโปร์ มาเลเซีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ ได้ช่วยพยุงการส่งออกของไทยไปยังตลาดอาเซียนโดยรวม มิให้ชะลอตัวลงมากนัก

ข้อเสนอแนะ : เร่งเจาะตลาดใหม่
แม้ว่าไทยยังคงพึ่งพาตลาดส่งออกดั้งเดิมทั้ง 4 ตลาด คิดเป็นสัดส่วนเฉลี่ยมากกว่า 60% ของมูลค่าส่งออกทั้งหมดของไทยในแต่ละปี แต่ประเด็นที่น่าสังเกต ก็คือ ขณะนี้มาตรการขยายการส่งออกไปยังตลาดแห่งใหม่ของทางการไทยประสบผลสำเร็จในระดับหนึ่ง ซึ่งช่วยให้ไทยกระจายการส่งออกไปยังตลาดส่งออกใหม่ๆ ที่มีศักยภาพและครอบคลุมทั่วทุกภูมิภาค ส่งผลให้ตลาดส่งออกใหม่เริ่มมีบทบาทมากขึ้นเป็นลำดับ ปัจจุบันการส่งออกสินค้าไทยไปยังตลาดใหม่มีสัดส่วนสูงขึ้นอยู่ในระดับราว 38% ของมูลค่าส่งออกทั้งหมดของไทย เทียบกับสัดส่วนเฉลี่ยประมาณ 28% ในช่วง 5 ปีก่อนหน้านี้

นอกจากนี้ การส่งออกไปยังตลาดส่งออกใหม่ของไทยมีมูลค่ารวมกัน 27,055 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็นอัตราเพิ่ม 25.9% ในช่วง 7 เดือนแรก 2549 ซึ่งสูงกว่าอัตราขยายตัวเฉลี่ยของการส่งออกโดยรวมของไทยที่อยู่ในระดับ 16.6% ในช่วงเดียวกัน จึงนับว่าตลาดส่งออกใหม่มีส่วนเกื้อหนุนการส่งออกโดยรวมของไทยให้ขยายตัวต่อเนื่อง ขณะที่การส่งออกไปยังตลาดหลักของไทยทั้ง 4 ตลาด — อาเซียน สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป (EU) และญี่ปุ่น — มีมูลค่ารวมกัน 44,657 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็นอัตราเพิ่ม 11.6% ในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ นับเป็นอัตราขยายตัวที่ต่ำกว่าอัตราเติบโตเฉลี่ยของการส่งออกโดยรวมที่อยู่ในระดับ 16.6%

การส่งออกของไทยไปยังตลาดใหม่มีแนวโน้มเติบโตรวดเร็วในปีนี้ มีส่วนช่วยสนับสนุนการส่งออกโดยรวมของไทย และบรรเทาผลกระทบอันเนื่องมาจากตลาดส่งออกหลักของไทยบางแห่งชะลอตัว ท่ามกลางภาวะการแข่งขันรุนแรง ดังนั้น การส่งเสริมการส่งออกไปยังตลาดใหม่จึงเป็นมาตรการจำเป็น และจัดเป็นยุทธศาสตร์เศรษฐกิจของไทย โดยเฉพาะตลาดส่งออกใหม่ที่ไทยน่าจะสามารถผลักดันการส่งออกได้เพิ่มขึ้นอย่างเร่งด่วน ได้แก่ ตลาดเอเชียใต้ อาทิ อินเดีย ปากีสถาน ตลาดลาตินอเมริกา อาทิ ชิลี เอควาดอร์ บราซิล เวเนซุเอลา เปรู ตลาดแอฟริกา อาทิ แอฟริกาใต้ ไนจีเรีย เซเนกัล แอลจีเรีย เบนิน เป็นต้น หากไทยสามารถขยายการส่งออกไปยังตลาดใหม่ให้เติบโตพร้อมเพรียงกัน ก็มีแนวโน้มว่าตลาดเหล่านี้จะเป็นประตูการค้าบานใหม่ที่ช่วยสร้างเครือข่ายการส่งออกของไทยให้กว้างขวางยิ่งขึ้นในอนาคตอันใกล้

สำหรับสถานการณ์การค้าระหว่างไทยกับประเทศคู่ค้าหลัก เช่น ญี่ปุ่น ซึ่งคาดว่าสินค้าไทยจะเผชิญการแข่งขันรุนแรงกับสินค้าจีนในตลาดญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น ก็จำเป็นต้องเร่งคลี่คลายภาวะวิกฤตนี้ ทางออกประการหนึ่ง ก็คือ การจับมือเป็นพันธมิตรกับจีนเพื่อผลิตสินค้าป้อนตลาดญี่ปุ่น ทั้งนี้ การจัดทำเขตการค้าเสรีภายใต้กรอบอาเซียน-จีน น่าจะช่วยส่งเสริมความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับจีนให้ใกล้ชิดกันยิ่งขึ้น ทั้งทางด้านการค้าและการลงทุน ยิ่งไปกว่านั้น หลังจากการเลือกตั้งทั่วไปของประเทศไทยเสร็จสิ้นลง และคณะรัฐบาลชุดใหม่เข้าบริหารประเทศ ควรเร่งสานต่อการเจรจา FTA ระหว่างไทยกับญี่ปุ่น เพื่อทลายอุปสรรคทางการค้าระหว่างกัน ซึ่งคาดว่าจะช่วยฟื้นฟูการส่งออกสินค้าไทยไปยังตลาดญี่ปุ่นเช่นกัน