จากสภาพปัญหาเศรษฐกิจในปัจจุบันอันเป็นผลสืบเนื่องมาจากปัจจัยหลากหลายประการที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาราคาน้ำมันที่ยังคงทรงตัวอยู่ในระดับสูง ซึ่งส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการและกระทบต่อค่าใช้จ่ายประจำวันของประชาชน ปัญหาการชะลอตัวของการส่งออก และปัญหาความไม่มั่นคงทางการเมือง ทำให้กิจการหลายแห่งประสบปัญหาการขาดสภาพคล่องต้องปิดกิจการไป หรือต้องรัดเข็มขัดอย่างสุดเหวี่ยง โดยการลดจำนวนพนักงาน ลดเงินเดือน หรือลดเงินพิเศษต่างๆ เช่น เบี้ยเลี้ยง เงินค่านายหน้า เงินค่าล่วงเวลา เป็นต้น ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาสังคมตามมามากมาย โดยเฉพาะปัญหาการว่างงาน ปัญหาความไม่มั่นคงในการประกอบอาชีพ ปัญหารายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพ ทำให้ข่าวคราวตามสื่อต่างๆ ในช่วงนี้มีข่าวปล้น จี้ ฆ่า ข่มขืน ฉกชิงวิ่งราว เกิดขึ้นมากกว่าภาวะปกติ โดยส่วนใหญ่เป็น “โจรหน้าใหม่” หรือ “โจรจำเป็น” ที่เกิดขึ้นเนื่องจากแรงบีบคั้นทางเศรษฐกิจ แม้ว่าบางส่วนจะเป็นโจรอาชีพที่อาศัยข้ออ้างในเรื่องเศรษฐกิจขึ้นมาบังหน้าก็ตาม นอกจากนี้ปัญหาความไม่สงบทางการเมือง และการก่อการร้ายเพื่อทำให้เกิดความไม่สงบในพื้นที่ภาคใต้ของไทยปัญหาเหล่านี้ทำให้ประชาชน รวมทั้งเจ้าของกิจการต่างๆ ตกอยู่ในความหวาดวิตกถึงความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน
บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด สำรวจ “ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของคนกรุงเทพฯ” ในระหว่างวันที่ 1-14 สิงหาคม 2549 จากกลุ่มตัวอย่าง 1,519 คน ทั้งนี้เป็นการสำรวจเชิงคุณภาพโดยกระจายกลุ่มตัวอย่างตามอาชีพ และเขตต่างๆ ทั่วกรุงเทพฯ พบว่าคนกรุงเทพฯที่เป็นกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 47.3 รู้สึกไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน โดยในจำนวนนี้มีกลุ่มตัวอย่างถึงร้อยละ 11.2 รู้สึกหวาดกลัวค่อนข้างมากถึงความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน
อย่างไรก็ตาม เมื่อคนกรุงเทพฯรู้สึกไม่มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินมากขึ้นเท่าใด ส่งผลให้ธุรกิจรักษาความปลอดภัย และธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอุปกรณ์รักษาความปลอดภัยเติบโตขึ้น ทั้งยังช่วยให้คนกรุงเทพฯระแวดระวังป้องกันตนเองมากขึ้น และรู้สึกเป็นมิตรกับเพื่อนบ้านมากขึ้น เพื่อช่วยกันดูแลสอดส่องป้องกันมิจฉาชีพที่เข้ามาในรูปแบบต่างๆ กัน อันแสดงถึงเอกลักษณ์ไทยที่ว่าในยามคับขัน ไม่ปลอดภัย หรือเมื่อมีเหตุการณ์ที่ไม่ดีเกิดขึ้นมาครั้งใด คนไทยจะมีน้ำใจให้การช่วยเหลือเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กันอย่างน่าชื่นชมยิ่ง
คนตกงานและเศรษฐกิจบีบรัด…สาเหตุของมิจฉาชีพเพิ่มขึ้น
บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด สำรวจพบว่าคนกรุงเทพฯร้อยละ 60.6 คิดว่าสาเหตุที่มิจฉาชีพเพิ่มขึ้นในปัจจุบัน เนื่องจากคนตกงาน และภาวะเศรษฐกิจที่บีบรัด รวมไปถึงความหลงยึดติดในวัตถุและความสนุก สะดวกสบายส่วนตัวเป็นที่ตั้ง ดังนั้นในปัจจุบันจึงมี “โจรหน้าใหม่” หรือ “โจรจำเป็น”เพิ่มขึ้น โดยพิจารณาเห็นว่าการโจรกรรมเป็นช่องทางที่จะได้เงินมาโดยง่าย ประกอบกับกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจนั้นไม่เพียงพอที่จะดูแลได้อย่างทั่วถึง นับเป็นการเปิดโอกาสให้มีการโจรกรรมเพิ่มมากขึ้นในปัจจุบัน อย่างไรก็ตามทางกรมตำรวจก็ได้เพิ่มความเข้มให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทุกท้องที่ออกตรวจตราสถานที่ต่างๆ ที่คาดว่าจะเป็นจุดล่อแหลมให้กลุ่มมิจฉาชีพปฏิบัติการโจรกรรมกรรโชกทรัพย์ประชาชน เช่นตามสถานบันเทิงเริงรมย์ ห้างสรรพสินค้า โรงภาพยนตร์ และตามหมู่บ้านจัดสรร รวมทั้งในซอยเปลี่ยวต่างๆ
ข้อมูลจากการสำรวจสอดคล้องกับข้อมูลจำนวนคดีอาญาที่รับแจ้ง/จับกุมทั่วราชอาณาจักรของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยในช่วงไตรมาสแรกของปี 2549 คดีอาญาที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ คดีโจรกรรมรถจักรยานยนต์ คดีที่เกี่ยวกับการพนัน คดียาเสพติด คดีข่มขืนกระทำชำเรา คดีค้าประเวณี และคดีลักทรัพย์
พึ่งตนเอง : คนกรุงฯยึดคติ..กันไว้ก่อนดีกว่าแก้
เมื่อเหล่ามิจฉาชีพมีสารพัดวิธีที่จะมาคุกคามความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน คนกรุงเทพฯก็มีหลากวิธีในการเตรียมรับมือกับเหล่ามิจฉาชีพ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด สำรวจพบว่าวิธีเตรียมรับมือกับเหตุการณ์ที่คุกคามความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของคนกรุงเทพฯ คือ
-อันดับแรกเน้นการป้องกันตนเองให้มากขึ้น โดยเริ่มต้นจากไม่ให้ตกอยู่ในภาวะความเสี่ยง เช่น ไม่ไปในที่เปลี่ยวคนเดียวในยามวิกาล ไม่ใส่เครื่องประดับและของมีค่าซึ่งเป็นที่ล่อตาล่อใจโจร เข้าเรียนหลักสูตรป้องกันภัย เป็นต้น และเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่คุกคามความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินคนกรุงเทพฯร้อยละ 57.8 ของกลุ่มตัวอย่างเน้นการพึ่งตนเอง โดยเน้นการตั้งสติเพื่อหาทางเอาตัวรอดอย่างปลอดภัยจากเหตุการณ์ดังกล่าว ซึ่งจากการสำรวจพบว่าคนกรุงเทพฯร้อยละ 20.9 ของกลุ่มตัวอย่างพกอาวุธไว้ป้องกันตนเอง โดยอาวุธป้องกันตัวยอดนิยมของคนกรุงเทพฯคือ มีด ปืน สปรย์ฉีด และเครื่องช็อตไฟฟ้า
-อันดับที่สองคือ หวังพึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจ/เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย(รปภ.) ประชาชนหวังว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้มงวดในการตรวจตราและตรวจจับมากขึ้น ทั้งนี้เพื่อป้องปรามบรรดามิจฉาชีพทั้งหลาย และหวังให้รปภ.เป็นหูเป็นตาแทนตำรวจ เมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้นคนกรุงเทพฯร้อยละ 16.4 ของกลุ่มตัวอย่างยังคงหวังความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ อย่างไรก็ตามจากการสำรวจพบว่าเมื่อเกิดเหตุร้ายกับตัวเอง คนกรุงเทพฯที่เป็นกลุ่มตัวอย่างจะแจ้งความหรือไม่ ปรากฏว่าคนกรุงเทพฯร้อยละ 51.3 ของกลุ่มตัวอย่างระบุว่ายังไม่แน่ใจว่าจะแจ้งความหรือไม่ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความเสียหายที่เกิดขึ้น ส่วนร้อยละ 46.4 ระบุว่าแจ้งความแน่นอน และอีกร้อยละ 2.3 ไม่ต้องการแจ้งความ
-อันดับที่สามคือ หวังพึ่งคนที่อยู่ในเหตุการณ์/เพื่อนบ้าน ทั้งผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์/เพื่อนบ้านสามารถช่วยเหลือและช่วยกันเป็นหูเป็นตาในการช่วยเหลือ/ป้องกันการโจรกรรม เท่ากับว่าการที่มีโจรชุกชุมนั้น ช่วยให้คนกรุงเทพฯรู้จักผูกมิตรกับบ้านใกล้เรือนเคียงมากขึ้น ต่างกับแต่ก่อนที่แม้ว่าบ้านจะอยู่ติดกันแต่แทบไม่รู้จักกันเลย ต่างคนต่างอยู่ การผูกมิตรกับเพื่อนบ้านนอกจากจะได้ช่วยเหลือเกื้อกูลกันในยามคับขันแล้ว ยังนับว่าเป็นเกราะป้องกันภัยอย่างดีในการป้องกันการโจรกรรมด้วย จากการสำรวจพบว่าคนกรุงเทพฯร้อยละ 14.8 ของกลุ่มตัวอย่างหวังพึ่งพาความช่วยเหลือจากคนที่อยู่ในเหตุการณ์/เพื่อนบ้าน อย่างไรก็ตามเมื่อสำรวจถึงประเด็นที่พบเห็นผู้ถูกประทุษร้ายทางร่างกายหรือทรัพย์สินแล้วจะเข้าช่วยเหลือหรือไม่นั้น ปรากฏว่ามีคนกรุงเทพฯที่เป็นกลุ่มตัวอย่างเพียงร้อยละ 18.6 เท่านั้นที่จะเข้าไปช่วยเหลือทันที ส่วนที่เหลือนั้นแยกเป็นต้องพิจารณาสถานการณ์ก่อนร้อยละ 62.2 อยากจะช่วยเหลือแต่กลัวปัญหาที่จะตามมาภายหลังร้อยละ 13.1 และไม่ช่วยเหลือร้อยละ 6.1
ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 10.9 ของกลุ่มตัวอย่างนั้นหวังพึ่งพิงด้านอื่นๆ เช่น อาวุธที่พกติดตัวไป สิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้คุ้มครองโดยการแขวนพระเครื่องหรือพกเครื่องลางของขลังติดตัว เป็นต้น
ธุรกิจรักษาความปลอดภัยเฟื่อง…เติบโตสวนกระแสเศรษฐกิจฟุบ
จากเหตุการณ์ที่เกิดการปล้นจี้ ฆ่า ข่มขืน ฉกชิงวิ่งราว ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จนกระทั่งเป็นข่าวคราวในสื่อมวลชนแทบทุกวัน นับเป็นปัญหาที่คุกคามชีวิตความเป็นอยู่ของคนในสังคมอย่างมาก จนส่งผลให้ธุรกิจในด้านรักษาความปลอดภัยนั้นเติบโตสวนกระแสเศรษฐกิจ ในอดีตการรักษาความปลอดภัยตามอาคารบ้านเรือน มักจะมีการใช้ยามซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวอินเดีย จึงมีคำเรียกกันติดปากว่าแขกยาม แต่ในระยะหลังคนไทยเริ่มหันมาประกอบอาชีพนี้กันมากขึ้น และในปัจจุบันภาพลักษณ์ของยามเริ่มเลือนหายไป แต่จะได้ยินคำว่าเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยเข้ามาแทนที่ และจะเห็นได้ทั่วไปทั้งสถานที่ราชการ หน่วยงานเอกชน โรงแรม ห้างสรรพสินค้า หรือแม้แต่ร้านค้าบางประเภท เช่น มินิมาร์ท เป็นต้น ธุรกิจเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยเติบโตอย่างน่าสนใจ ปัจจุบันมูลค่าของธุรกิจรักษาความปลอดภัยสูงถึงประมาณ 26,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 15.0 และในช่วงระยะ 5 ปีที่ผ่านมาอัตราการขยายตัวของธุรกิจรักษาความปลอดภัยเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 12.8 ต่อปี โดยปัจจุบันมีบริษัทรักษาความปลอดภัยที่เป็นสมาชิกของสมาคมผู้ประกอบการรักษาความปลอดภัยประมาณ 824 บริษัท แยกเป็นบริษัทขนาดใหญ่ที่มีพนักงานรักษาความปลอดภัยเกิน 1,000 คนอยู่ประมาณ 33 บริษัท มีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 27.0 บริษัทขนาดกลางที่มีพนักงาน 500-1,000คน อยู่ประมาณ 147 บริษัท มีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 45.0 และบริษัทขนาดเล็กที่มีพนักงานไม่เกิน 500 คน อยู่ประมาณ 644 บริษัท มีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 28.0 ปัจจุบันแรงงานที่อยู่ในธุรกิจนี้มีอยู่ประมาณ 110,850 คน ซึ่งถือว่าเป็นแหล่งรองรับแรงงานที่สำคัญแหล่งหนึ่ง แม้ว่าในช่วงภาวะเศรษฐกิจซบเซาธุรกิจนี้ก็ยังมีอัตราการขยายตัวอยู่ในเกณฑ์สูง เนื่องจากบรรดาธุรกิจต่างๆ มีความจำเป็นต้องระมัดระวังในเรื่องความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินเพิ่มขึ้น แต่ผู้ประกอบธุรกิจเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยก็หันมาเน้นในเรื่องคุณภาพมากขึ้นกว่าเดิม และเน้นการประหยัดค่าใช้จ่ายตามภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งปัจจุบันนี้ธุรกิจนี้ประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่มีคุณภาพเช่นเดียวกับธุรกิจบริการอื่นๆ
นอกจากธุรกิจเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยแล้วธุรกิจอุปกรณ์ป้องกันการโจรกรรมก็เป็นอีกธุรกิจหนึ่งที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกัน โดยมูลค่าตลาดอุปกรณ์ป้องกันการโจรกรรมแยกเป็นสัญญาณเตือนภัยประเภทโทรทัศน์วงจรปิดมีมูลค่าประมาณ 300 ล้านบาท และอุปกรณ์เตือนภัยหรือป้องกันภัยจากการโจรกรรมนอกจากโทรทัศน์วงจรปิดมีมูลค่ารวมกันประมาณ 100 ล้านบาท ซึ่งอัตราการเจริญเติบโตของอุปกรณ์ป้องกันการโจรกรรมประเภทต่างๆ นี้ยังคงเป็นไปอย่างต่อเนื่องแม้ในช่วงเศรษฐกิจซบเซา เนื่องจากลูกค้าทั่วไป และธุรกิจต่างๆเร่งติดตั้งอุปกรณ์เพื่อป้องกันตนเองและเป็นเครื่องมือช่วยในการติดตามผู้กระทำผิดมาลงโทษ อีกทั้งยังเป็นหลักฐานสำคัญในการดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดด้วย แต่ในภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันผู้ประกอบการเลือกอุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพ และราคาประหยัดเป็นสำคัญ
บทสรุป
ข่าวคราวที่ปรากฏให้เห็นอยู่เสมอๆ ในช่วงนี้ตามสื่อต่างๆ มีข่าวปล้นจี้ ฆ่า ข่มขืน ฉกชิงวิ่งราวเพิ่มขึ้น โดยส่วนใหญ่เป็น “โจรหน้าใหม่” หรือ “โจรจำเป็น” ที่เกิดขึ้นเนื่องจากภาวะตกงานและแรงบีบคั้นทางเศรษฐกิจ แม้ว่าบางส่วนจะเป็นโจรอาชีพที่อาศัยข้ออ้างในเรื่องเศรษฐกิจขึ้นมาบังหน้าก็ตาม ปัญหาเหล่านี้ทำให้ประชาชน รวมทั้งเจ้าของกิจการต่างๆ ตกอยู่ในความหวาดวิตกถึงความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด สำรวจพบว่าคนกรุงเทพฯที่เป็นกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 47.3 รู้สึกไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน โดยในจำนวนนี้มีกลุ่มตัวอย่างถึงร้อยละ 11.2 รู้สึกหวาดกลัวค่อนข้างมากถึงความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน นอกจากนี้คนกรุงเทพฯเกินกว่าครึ่งหนึ่งของกลุ่มตัวอย่างที่สำรวจระบุว่าเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนแล้วในปีนี้ประสบกับการสูญเสียทรัพย์สินเพิ่มขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลจำนวนคดีอาญาที่ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติรวบรวมไว้ โดยตั้งแต่ปี 2541 เป็นต้นมาจำนวนคดีอาญาที่รับแจ้งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม เมื่อคนกรุงเทพฯรู้สึกไม่มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินมากขึ้นเท่าใดก็จะมีผลเอื้อให้ธุรกิจรักษาความปลอดภัย และธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอุปกรณ์รักษาความปลอดภัยเติบโตขึ้นสวนกับกระแสเศรษฐกิจที่ซบเซาในช่วงนี้ อีกทั้งยังช่วยให้คนกรุงเทพฯระแวดระวังป้องกันตนเองมากขึ้น และรู้สึกเป็นมิตรกับเพื่อนบ้านมากขึ้น เพื่อช่วยกันดูแลสอดส่องป้องกันมิจฉาชีพที่เข้ามาในรูปแบบต่างๆ