วสท.แนะการป้องกันภัยฟ้าผ่ากลางแจ้งและอาคารในฤดูฝน เพื่อความปลอดภัยของเมืองและประชาชน

 

เข้าสู่ฤดูฝน ฟ้ากรุงเทพฯและทั่วไทยครึ้มด้วยเมฆฝนและเจิ่งนองไปด้วยน้ำ ภัยฟ้าผ่าที่มากับพายุฝนฟ้าคะนองเป็นสิ่งที่คนกรุงและประชาชนคนไทยพึงระวัง วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์(วสท.) แนะวิธีลดความเสี่ยงและป้องกันภัยจากฟ้าผ่าที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตและความเสียหายต่อทรัพย์สิน เกิดเพลิงไหม้และอาจทำให้ธุรกิจอุตสาหกรรมต้องหยุดชะงักได้ ล่าสุด วสท.ได้พัฒนามาตรฐานของประเทศไทยในการป้องกันฟ้าผ่าอาคาร เผยสถิติกรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีความเสี่ยงฟ้าผ่าประมาณ 60 วัน ต่อปี
 
นายวิวัฒน์ กุลวงศ์วิทย์  ประธานอนุกรรมการร่างมาตรฐานการป้องกันฟ้าผ่าของวสท. เผยสถิติปริมาณเฉลี่ยของภัยฟ้าผ่า ทุกครั้งที่มีฟ้าร้องนั่นคือ มีฟ้าผ่า กรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีฟ้าผ่าเฉลี่ยประมาณ 60 วัน ต่อปี ปริมาณฟ้าผ่าขึ้นอยู่กับที่ตั้งภูมิประเทศและสิ่งแวดล้อม ประเทศที่ยิ่งใกล้แถบเส้นศูนย์สูตร ยิ่งมีแนวโน้มเกิดมากขึ้น ประเทศที่มีฟ้าผ่าติดอันดับสูงสุดในโลก คือ ประเทศแถบที่อยู่ในทวีปอัฟริกากลาง สำหรับในเอเชีย อันดับ 1 คือ อินโดนีเซีย ฟ้าผ่าเฉลี่ย 330 วัน ต่อปี โดยเมืองที่ขึ้นชื่อว่ามีฟ้าผ่ามากที่สุด คือ เมืองโกบอ อันดับ 2 มาเลเซีย ฟ้าผ่าเฉลี่ย 280 วัน ต่อปี ขณะที่ประเทศอังกฤษ มีฟ้าผ่าเฉลี่ยเพียง 5 – 6 วัน ต่อปีเท่านั้น ภัยฟ้าผ่าเกิดจากธรรมชาติ เมื่อภูมิอากาศร้อนขึ้น จะเกิดพายุฟ้าคะนอง (Thunder Storm) โดยลมร้อนจะหอบไอน้ำที่ระเหยจากผิวโลกพัดขึ้นข้างบนอย่างรวดเร็ว เมื่อไอน้ำกระทบกับความเย็น จะก่อตัวเป็นเมฆ เกิดเกล็ดน้ำแข็งในเมฆ เนื่องจากภายในก้อนเมฆมีลมร้อนพัดขึ้นและลมเย็นพัดลงทำให้เกล็ดน้ำแข็งชนกันเสียดสีกับลมจนมีประจุไฟฟ้าเกิดขึ้นและเกล็ดน้ำแข็งที่ชนกันจะแตกตัวเป็นเปลือกน้ำแข็งกับหยดน้ำ หยดน้ำมีประจุลบเกาะอยู่จะลอยไปที่ฐานก้อนเมฆ ส่วนเกล็ดน้ำแข็งซึ่งมีประจุบวกเกาะอยู่และเบากว่าจะลอยขึ้นด้านบนของเมฆ ดังนั้นในก้อนเมฆด้านบนจะมีประจุบวกอยู่ ที่ฐานก้อนเมฆจะมีประจุลบอยู่และสามารถเหนี่ยวนำให้เกิดสนามไฟฟ้าระหว่างกลุ่มประจุทั้งสองนี้ เมื่อสนามไฟฟ้าเกิดความเข้มที่สูงพอทำให้เกิดการถ่ายเทของประจุทั้งสองเราเรียกว่าฟ้าผ่า เช่น ฟ้าผ่าจากเมฆลงสู่พื้นดิน โดยสามารถทำลายสิ่งปลูกสร้างและชีวิตทรัพย์สิน หรือทำให้เกิดเพลิงไหม้
 
สำหรับประเทศไทยจะมีฟ้าผ่ามากในจังหวัดนครนายก อำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราด และอำเภอมาบตาพุด จังหวัดระยองซึ่งเป็นเขตอุตสาหกรรมปิโตรเคมี อนุภาคขนาดเล็กในควันที่ปล่อยสู่ท้องฟ้า เช่น ฝุ่น ละอองน้ำ ทำให้เกิดประจุไฟฟ้าได้ง่าย  จากรายงานของกระทรวงสาธารณสุข ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เฉพาะที่ได้รับรายงานมีผู้เสียชีวิตจากฟ้าผ่าในประเทศไทย 46 ราย ลักษณะฟ้าผ่า มี 5 รูปแบบ คือ
 
1.  ฟ้าผ่าตรง(Direct Strike) โดยกระแสฟ้าผ่าลงที่อาคาร หรือคนในที่โล่งแจ้งโดยตรง
2.  วาบไฟด้านข้าง (Side Flash) เช่น เมื่อผ่าลงต้นไม้แล้ว เกิดวาบไฟออกไปยังด้านข้างไปผ่าคนหรือ อาคาร สิ่งของที่อยู่ใกล้เคียง
3.  กระแสฟ้าผ่าที่เกิดจากศักย์ของดินเพิ่ม เช่น ฟ้าผ่าลงบนผิวดินจะเกิดแรงดันช่วงก้าวของบุคคล
4.  ฟ้าผ่าโดยการนำทางกระแสไฟฟ้า (Conduction) ฟ้าผ่าที่อื่นแล้วมีการแตะสัมผัสกับตัวนำ
5.  ฟ้าผ่าโดยการเหนี่ยวนำสตรีมเมอร์ (Streamer) ทำให้เกิดสตรีมเมอร์ในคน เช่น คนที่ยืนใกล้จุดฟ้าผ่า
 
อย่างไรก็ตาม เราสามารถลดความเสี่ยงและป้องกันภัยฟ้าผ่าได้ วสท.มีข้อแนะนำในการลดอุบัติภัยฟ้าผ่า ซึ่งรัศมีของฟ้าผ่าสามารถเกิดขึ้นในบริเวณ 10 กิโลเมตร เมื่อฝนฟ้าคะนองให้อยู่ในอาคาร หรือในรถยนต์ แต่ไม่ควรเปิดวิทยุ ฟ้าอาจผ่าเสาอากาศทำให้กระแสฟ้าผ่าไหลผ่านเสาอากาศเข้าไปในรถได้ หากอยู่กลางแจ้ง ควรนั่งยองเท้าชิดและอยู่ห่างจากต้นไม้ใหญ่ประมาณ 10 เมตร งดใช้อินเตอร์เน็ตในบ้านที่ไม่ติดตั้งระบบป้องกันฟ้าผ่าทั้งภายนอกและภายใน  สนามบินและสนามกอล์ฟควรสร้างเพิงที่หลบภัยที่ติดตั้งระบบป้องกันฟ้าผ่าไว้สำหรับผู้ทำงานกลางแจ้งหรือผู้เล่นกอล์ฟได้หลบพัก บ้านและอาคารควรทำระบบสายลงดินและระบบป้องกันฟ้าผ่าที่ได้มาตรฐาน ทั้งนี้ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) ได้พัฒนาเป็น มาตรฐานของประเทศไทยด้านวิศวกรรมไฟฟ้าเพื่อป้องกันฟ้าผ่าอาคาร หรือที่เรียกว่า Thai Standard: Protection Against Lightning  เพื่อความปลอดภัยของผู้อาศัยและผู้ทำงานในอาคารนั้นๆ ประกอบด้วย 4 ภาคมาตรฐานซึ่งสอดคล้องกับนานาชาติ ได้แก่ ภาค 1 ข้อกำหนดทั่วไป, ภาค 2 การบริหารความเสี่ยง, ภาค 3 ความเสียหายทางกายภาพและอันตรายต่อชีวิตจากฟ้าผ่า และภาค 4 ระบบไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ภายในสิ่งปลูกสร้าง อาทิ กำหนดมาตรฐานการออกแบบและติดตั้งระบบป้องกันอิมพัลส์แม่เหล็กไฟฟ้าจากฟ้าผ่า การต่อสายลงดินและโครงข่ายการต่อประสาน การป้องกันด้วยอุปกรณ์ป้องกันเสิร์จ เป็นต้น
 
ส่วนข้อสงสัยเกี่ยวกับโทรศัพท์มือถือเหนี่ยวนำไปสู่ฟ้าผ่าหรือไม่ คลื่นโทรศัพท์มือถือนั้นเป็นคนละความถี่กับฟ้าผ่า จากการทดลองในห้องปฏิบัติการของสหรัฐอเมริกา ได้สรุปว่ากรณีคนยืนโทรศัพท์มือถือในสนามถูกฟ้าผ่านั้นเนื่องจากความสูงของคนเป็นปัจจัยเหนี่ยวนำมากกว่า ไม่เช่นนั้นสถานีรับส่งคลื่นโมบายล์โฟนคงถูกฟ้าผ่าตลอดเวลา
 
เพื่อความปลอดภัยของเมืองและประชาชน ปัจจุบันกระทรวงแรงงานได้บังคับใช้กฏหมายเพื่อความปลอดภัยของคนงานในสถานประกอบการทั้งกรุงเทพฯละต่างจังหวัดโดยระบุให้นายจ้างต้องมีระบบป้องกันฟ้าผ่าทั้งภายนอกและภายในที่ออกแบบตามมาตรฐานของ วสท. ด้านกรมธุรกิจพลังงานก็ได้กำหนดให้ปั๊มน้ำมันต้องมีเช่นเดียวกัน ทั้งนี้การออกแบบติดตั้งระบบป้องกันฟ้าผ่าควรทำในช่วงออกแบบอาคารและก่อนการก่อสร้างเพื่อประสิทธิผลที่ดี