บีเอ็มซีแอลสุดปลื้มรายย่อยเชื่อมั่นในรถไฟฟ้าใต้ดินแห่จองทะลุ 31.19 ล้านหุ้น

บีเอ็มซีแอลสุดปลื้มรายย่อยเชื่อมั่นในรถไฟฟ้าใต้ดินแห่จองทะลุ 31.19 ล้านหุ้น จากยอดจัดสรรไว้ 25 ล้านหุ้น เตรียมประกาศผลผู้มีสิทธิจองซื้อภายในวันที่ 14 กันยายน นี้ ลั่นผู้ถือหุ้นเดิมไม่ทิ้งหุ้นแน่นอนในวันเข้าเทรดวันแรก เพราะติดไซเลนด์ พีเรียด กว่าจะขายหุ้นได้หมดต้องใช้เวลานานถึงสามปี

ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์: บีเอ็มซีแอลประสบความสำเร็จในการขายหุ้น นักลงทุนรายย่อยแห่จองซื้อมากถึง 31.19 ล้านหุ้น จากยอดจัดสรรไว้ 25 ล้านหุ้น ด้านกิมเอ็งพร้อมประกาศรายชื่อผู้ได้รับจัดสรรในวันที่ 14 กันยายน ศกนี้ ผู้บริหารลั่นนักลงทุนมั่นใจได้กลุ่มผู้ถือหุ้นเดิมไม่มีใครทิ้งหุ้นวันแรกที่เข้าตลาดแน่นอนเพราะติดไซเลนด์ พีเรียดนานสามปี

ดร. สมบัติ กิจจาลักษณ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (บีเอ็มซีแอล – BMCL) ผู้ให้บริการรถไฟฟ้ามหานครสายเฉลิมรัชมงคล (ระยะแรกสายสีน้ำเงิน) ซึ่งเป็นโครงการรถไฟฟ้าใต้ดินสายแรกของประเทศไทย เปิดเผยว่าจากการที่บริษัทได้เปิดให้นักลงทุนรายย่อยจองซื้อหุ้นในวันที่ 8 กันยายนที่ผ่านมานั้น ในราคาเสนอขายที่หุ้นละ 1.31 บาท ปรากฏว่าได้รับความสนใจจากนักลงทุนรายย่อยอย่างล้นหลาม โดยมียอดจองซื้อเข้ามามากถึง 31.19 ล้านหุ้น จากยอดที่สามารถจัดสรรได้ 25 ล้านหุ้น แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นที่นักลงทุนมีต่อบริษัท ธุรกิจ และตัวหุ้น ทั้งนี้จะทำการประกาศรายชื่อผู้ได้รับการจองซื้อได้ในวันที่ 14 กันยายน ศกนี้ ผ่านทางเว็บไซต์ www.settrade.com

นายมนตรี ศรไพศาล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ในฐานะที่ปรึกษาการเงิน และแกนนำในการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้น บริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงความต้องการจองซื้อของนักลงทุนสถาบันว่า“จากการประเมินยอดการจองซื้อของนักลงทุนสถาบันทั้งใน และต่างประเทศพบว่านักลงทุนสถาบันมียอดรวมอยู่ที่ระดับ 35% โดยส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนต่างประเทศ ซึ่งมีความเข้าใจในลักษณะการดำเนินธุรกิจของบริษัทที่ว่า บีเอ็มซีแอลเป็นธุรกิจลักษณะเฉพาะซึ่งเป็นไปตามเกณฑ์สาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานซึ่งจะให้ผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว เห็นได้จากเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์ ฯ ที่มีการผ่อนผันในเรื่องของเกณฑ์ทำกำไรในระยะแรก อย่างไรก็ตามนักลงทุนสถาบันทั้งใน และนอกประเทศก็มีความสนใจที่จะลงทุนในธุรกิจสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานเพราะว่ามีรายได้ที่สม่ำเสมอ และมีเถียรภาพในการเติบโตที่ยั่งยืนในระยะยาว โดยยอดผู้ใช้บริการระบบรางในประเทศอยู่ที่ระดับร้อยละ 8 เปรียบเทียบกับยอดการเดินทางโดยระบบรางของมหานครใหญ่ทั่วโลกที่อยู่ที่ระดับร้อยละ 40 ประกอบกับปัญหาภาวะน้ำมันมีราคาสูง และการจราจรที่ติดขัดจะทำให้บีเอ็มซีแอลเป็นหุ้นที่มีศักยภาพในการเติบโต”

ดร.สมบัติกล่าวเสริมถึงรายละเอียดการเสนอขายหุ้นว่า “หุ้นที่เปิดจำหน่ายมีจำนวนทั้งสิ้น 2,756 ล้านหุ้น แบ่งเป็นหุ้นสามัญเพิ่มทุนใหม่จำนวน 1,316 ล้านหุ้น หุ้นสามัญเดิมจำนวน 1,440 ล้านหุ้น ซึ่งมาจาก บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) จำนวน 270 ล้านหุ้น ,บริษัท มหาศิริ สยาม จำกัด จำนวน 470 ล้านหุ้น ,บริษัท ทางด่วนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) จำนวน 250 ล้านหุ้น และส่วนที่เหลือจำนวน 450 ล้านหุ้น คือส่วนการเสนอขายหุ้นของกลุ่มสถาบันการเงิน ได้แก่ธนาคารกรุงไทย ธนาคารนครหลวงไทย และกองทุนเปิดกรุงไทยธนวรรธน์ เพื่อกระจายให้ครบสัดส่วนสำหรับนักลงทุนรายย่อยร้อยละ 25 ตามเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์ฯ ปัจจุบัน บริษัทฯ มีทุนจดทะเบียนที่ออกและเรียกชำระแล้วเท่ากับ 7,647 ล้านบาท แม้ว่าการเสนอขายหุ้นในครั้งนี้จะมีการนำหุ้นของกลุ่มผู้ถือหุ้นเดิมออกมาขายด้วยก็ตาม แต่ทว่าบริษัทขอยืนยันว่ากลุ่มผู้ถือหุ้นเดิมไม่มีการนำหุ้นออกมาขาย หรือทิ้งหุ้นในวันแรกของการเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยอย่างแน่นอน เพราะกลุ่มผู้ถือหุ้นดังกล่าวติดไซเลนด์ พีเรียดซึ่งคาดว่ากว่าจะขายหุ้นทั้งหมดต้องใช้เวลานานถึงสามปี เพราะฉะนั้นนักลงทุนสบายใจได้” ดร.สมบัติกล่าว

เงินที่ได้จากการเสนอขายหุ้นสามัญให้ประชาชนจะนำ ไปใช้ในการจัดซื้อรถไฟฟ้าเพิ่มเติม 5 ขบวน โดยจะเริ่มสั่งซื้อในปี 2550 ซึ่งจะสามารถรองรับปริมาณผู้โดยสารถึง 4.25 แสนคนต่อวัน รวมทั้งลงทุนในอุปกรณ์ เช่นเครื่องออกเหรียญอัตโนมัติ เครื่องออกบัตรโดยสาร และประตูอัตโนมัติ เพื่อรองรับปริมาณผู้โดยสารที่เพิ่มมากขึ้นในอนาคต รวมทั้งชำระหนี้เงินกู้สถาบันการเงิน และส่วนที่เหลือเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน

ปัจจุบัน บีเอ็มซีแอล มีบริษัทย่อย 3 บริษัท ได้แก่ บริษัท เมโทร มอลล์ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด มีทุนจดทะเบียนชำระแล้ว 50 ล้านบาท บริษัท ไตรแอดส์ เน็ทเวิคส์ จำกัด ผู้ให้บริการสื่อโฆษณาในสถานีและในรถไฟฟ้า มีทุนจดทะเบียนชำระแล้ว 25 ล้านบาท และบริษัท บีเอ็มซีแอล เน็ทเวิร์ค จำกัด ผู้ให้บริการสื่อสารโทรคมนาคม มีทุนจดทะเบียนชำระแล้ว 105 ล้านบาท

ดร.สมบัติกล่าวต่อไปว่า บริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BMCL) มีความโดดเด่นในฐานะเป็นบริษัทผู้ให้บริการรถไฟฟ้ามหานครสายเฉลิมรัชมงคล (ระยะแรกสายสีน้ำเงิน) เส้นทางหัวลำโพง-ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์-บางซื่อ มีระยะทางประมาณ 20 กิโลเมตร มีสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน 18 สถานี ซึ่งเป็นโครงการรถไฟฟ้าใต้ดินสายแรกของประเทศไทย นับตั้งแต่เริ่มเปิดให้บริการเดินรถ (ก.ค. – ธ.ค. 2547 ) บริษัทฯ มีรายได้จากค่าโดยสาร และรายได้รวม จำนวน 443.14 ล้านบาท และ 445.88 ล้านบาทตามลำดับ ส่วนในปี 2548 บริษัทฯ มีรายได้ค่าโดยสาร และรายได้รวมจำนวน 990.39 ล้านบาท และ 1,046.00 ล้านบาท ตามลำดับ ขณะที่ผลประกอบการช่วง 6 เดือนแรกของปี 2549 นั้นบริษัทฯ มีรายได้ค่าโดยสารและรายได้รวมจำนวน 588.40 ล้านบาท และ 689.50 ล้านบาท ตามลำดับ ซึ่งรายได้รวมในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2549 เพิ่มขึ้น 287.46 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปี 2548 หรือคิดเป็นร้อยละ 71.50 ซึ่งมีสาเหตุมาจากการเพิ่มขึ้นของค่าโดยสาร และการที่บริษัทย่อยมีรายได้จากการพัฒนาเชิงพาณิชย์เพิ่มขึ้น

“สำหรับสัดส่วนการถือครองหุ้นจะเปลี่ยนแปลงไปภายหลังการกระจายหุ้น กล่าวคือ กลุ่ม ช.การช่างลดลงจากร้อยละ 28 เหลือร้อยละ 16, บริษัท ทางด่วนกรุงเทพ ลดลงจากร้อยละ 19 เหลือร้อยละ 10 บริษัท เนเชอรัล พาร์ค ลดลงจากร้อยละ 14 เหลือร้อยละ 9 บริษัท มหาศิริ สยามจากร้อยละ 12 เหลือร้อยละ 4 บริษัท สยามซินเท็ค จำกัด (มหาชน) จากร้อยละ 5 เหลือร้อยละ 3 ธนาคารกรุงไทย จากร้อยละ 10 เหลือร้อยละ 4 ธนาคารทหารไทย จากร้อยละ 5 เหลือร้อยละ 2 และธนาคารนครหลวงไทยจากร้อยละ 2 เหลือร้อยละ 1 และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยจะเข้าถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 25 จากที่ปัจจุบันไม่มีการถือครอง

รายละเอียดเพิ่มเติม โปรดติดต่อ อินทิรา ใจอ่อนน้อม
คชภพ สงวนวงศ์
บริษัท 124 คอมมิวนิเคชั่นส จำกัด (มหาชน)
โทร. 0-2662-2266