เสื้อผ้าสำเร็จรูปปี’50 : ปัจจัยเสี่ยง…กระทบส่งออก

การส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปของไทยในปี 2549 คาดว่าจะมีมูลค่าทั้งสิ้นประมาณ 3,400ล้านดอลลาร์สหรัฐฯเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.9 จากปีที่แล้วอันเป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจของโลกที่ยังคงเติบโตท่ามกลางความผันผวนของราคาน้ำมัน ประกอบกับคู่แข่งของไทยอันได้แก่จีนประสบปัญหาถูกคุมโควตาส่งออกจากประเทศผู้นำเข้ารายสำคัญทั้งสหรัฐฯและสหภาพยุโรปทำให้ตลาดเหล่านี้หันมาเพิ่มการนำเข้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปจากไทยเพิ่มขึ้น สำหรับในปี 2550 ทิศทางการส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปของไทยต้องเผชิญปัจจัยเสี่ยงที่น่าเป็นห่วงทั้งจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลงโดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐฯซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลักเสื้อผ้าสำเร็จรูปของไทยถึงกว่าร้อยละ 50 รวมทั้งปัจจัยทางด้านเงินบาทของไทยที่ยังคงมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องในอัตราที่สูงกว่าคู่แข่งซึ่งถือเป็นอุปสรรคต่อการส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปของไทยเป็นอย่างมาก ประการสำคัญการที่คู่แข่งของไทยคือเวียดนามจะได้เข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลกในช่วงปลายปี 2549 นี้ทำให้เวียดนามไม่ถูกจำกัดด้วยเงื่อนไขโควตาทางการค้าสินค้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มอีกต่อไป และส่งผลให้เวียดนามสามารถขยายตลาดส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปได้กว้างขวางขึ้น ดังนั้นผู้ประกอบการของไทยต้องเร่งปรับตัวด้วยการลดต้นทุนการผลิต พัฒนาสินค้าให้มีคุณภาพและรูปแบบที่เหมาะสมกับความต้องการของตลาดเพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันให้สูงขึ้น

การส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปของไทยในปี 2549 พบว่าเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ดังจะพิจารณาจากการส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2549 ที่มีมูลค่าการส่งออก 1,838.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.1 ในขณะที่มูลค่าการส่งออกในช่วงที่เหลือของปี 2549 คาดว่าจะยังคงมีต่อเนื่องตามคำสั่งซื้อของผู้นำเข้าจากต่างประเทศเพื่อรองรับความต้องการในช่วงฤดูการขายปลายปีทั้งคริสต์มาสต์และปีใหม่ โดยคาดว่าการส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปของไทยตลอดปี 2549 จะมีมูลค่าประมาณ 3,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.9 เมื่อเทียบกับปี 2548 ที่ผ่านมาซึ่งการส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปของไทยมีมูลค่า 3,150.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 1.9 สำหรับปัจจัยหนุนสำคัญที่ส่งผลดีต่อทิศทางการส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปของไทยมาจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังคงสามารถเติบโตภายใต้สถานการณ์ความผันผวนของราคาน้ำมัน โดยจากรายงานของIMF ล่าสุดวันที่ 13 กันยายน 2549 พบว่าเศรษฐกิจโลกในปี 2549 จะเติบโตประมาณร้อยละ 5.1 จากเดิมที่เติบโตร้อยละ 4.9 ในปี 2548 ที่ผ่านมา สำหรับประเทศคู่ค้าที่สำคัญของไทยไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา ประเทศในสหภาพยุโรปและญี่ปุ่น เศรษฐกิจล้วนมีการขยายตัวดีขึ้นจากปีที่ผ่านมาเช่นกัน จึงทำให้คำสั่งซื้อเสื้อผ้าสำเร็จรูปจากประเทศเหล่านี้ยังคงมีอยู่ในระดับสูง ในขณะเดียวกันผลจากการที่คู่แข่งรายสำคัญของไทยคือจีนต้องเผชิญกับมาตรการกีดกันทางการค้าจากประเทศผู้นำเข้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปรายสำคัญของโลกทั้งสหรัฐฯและสหภาพยุโรปโดยการจำกัดปริมาณการส่งออกสินค้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปบางรายการไปถึงปี 2550 สำหรับตลาดสหภาพยุโรปและปี 2551 สำหรับตลาดสหรัฐฯ ซึ่งจากปัจจัยดังกล่าวข้างต้นทำให้ผู้นำเข้าของสหรัฐฯและสหภาพยุโรปจำเป็นต้องหันมาสั่งสินค้าจากแหล่งผลิตอื่นๆทดแทน ซึ่งรวมถึงไทยที่มีจุดเด่นทางด้านการผลิตสินค้ามีรูปแบบและคุณภาพในระดับราคาปานกลางรวมทั้งการส่งมอบสินค้าที่ตรงเวลา

สำหรับตลาดส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่สำคัญของไทยปี 2549 มีรายละเอียดดังนี้
สหรัฐอเมริกา เป็นตลาดส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่สำคัญของไทยคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 50.8 ทั้งนี้เศรษฐกิจของสหรัฐฯในปี 2549 มีการขยายตัวประมาณร้อยละ 3.4 ใกล้เคียงกับปี 2548 ซึ่งเศรษฐกิจขยายตัวร้อยละ 3.2 ทั้งนี้แม้ว่าจีนซึ่งเป็นประเทศผู้ส่งออกเสื้อผ้ารายใหญ่ในตลาดสหรัฐฯจะถูกมาตรการจำกัดปริมาณการนำเข้าไปจนถึงปี 2551 แต่สินค้าจากไทยก็ยังต้องเผชิญกับการแข่งขันกับผู้ส่งออกจากประเทศอื่นๆที่มีต้นทุนการผลิตต่ำกว่าเช่น เวียดนาม อินเดีย ปากีสถาน บังคลาเทศ ทำให้มูลค่าการส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปของไทยขยายตัวได้ไม่มากนัก โดยการส่งออกในช่วง 7 เดือนแรกปี 2549 ไปยังตลาดสหรัฐฯมีมูลค่า 993.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 1.8 ซึ่งใกล้เคียงกับปี 2548 ซึ่งมูลค่าการส่งออกขยายตัวร้อยละ 2.0 ดังนั้นผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเสื้อผ้าสำเร็จรูปของไทยจึงต้องเร่งสร้างความยอมรับสินค้าจากไทยในตลาดสหรัฐฯให้มากขึ้นก่อนที่จีนจะกลับมาขยายบทบาทในตลาดสหรัฐฯอีกครั้ง

สหภาพยุโรป เป็นตลาดส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่สำคัญของไทยเป็นลำดับที่ 2 รองจากสหรัฐอเมริกาคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 26.4 ทั้งนี้ในปี 2549 เศรษฐกิจของประเทศในยุโรปมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นสูงโดยเฉพาะประเทศ ฝรั่งเศส สหราชอาณาจักรและ เยอรมนี ซึ่งเป็นตลาดส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่สำคัญของไทย โดยฝรั่งเศสเศรษฐกิจขยายตัวร้อยละ 2.4 ในปี 2549 จากเดิมร้อยละ 1.2 ในปี 2548 สหราชอาณาจักรเศรษฐกิจขยายตัวร้อยละ 2.7 ในปี 2549 จากเดิมร้อยละ 1.9 ในปี 2548 ส่วนเยอรมนีคาดว่าจะได้รับผลดีจากการเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกทำให้เศรษฐกิจขยายตัวร้อยละ 2.0 ในปี 2549 จากเดิมร้อยละ 0.9 ในปี 2548 ซึ่งปัจจัยจากภาวะเศรษฐกิจประกอบกับการที่จีนซึ่งเป็นคู่แข่งสำคัญของไทยถูกมาตรการจำกัดปริมาณการนำเข้าจากสหภาพยุโรป ส่งผลให้ผู้นำเข้าหันมาสั่งซื้อสินค้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปของไทยเพิ่มขึ้น โดยในช่วง 7 เดือนแรกปี 2549 การส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปของไทยไปสหภาพยุโรปมีมูลค่า 486.0 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน

ญี่ปุ่น เป็นตลาดส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่สำคัญอันดับ 3 ของไทยคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 6.2 โดยในปี 2549 นี้เศรษฐกิจญี่ปุ่นเติบโตต่อเนื่องโดยขยายตัวร้อยละ 3.5 และร้อยละ 2.2 ในไตรมาสแรกและไตรมาส 2 ตามลำดับโดยมีปัจจัยหนุนจากการบริโภคภาคเอกชนรวมทั้งภาคส่งออกที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม จากการที่เสื้อผ้าสำเร็จรูปของจีนได้เข้าไปครองตลาดถึงประมาณร้อยละ 80 อันเป็นผลจากต้นทุนการผลิตที่ต่ำ ประกอบกับญี่ปุ่นไม่ได้มีการกีดกันสินค้าจากจีนด้วยการคุมปริมาณส่งออกเหมือนเช่นสหรัฐฯและสหภาพยุโรป ทำให้ญี่ปุ่นมีการนำเข้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปจากจีนโดยเฉพาะจากโรงงานที่นักลงทุนญี่ปุ่นได้ย้ายฐานการผลิตไปตั้งอยู่ในจีนเพื่ออาศัยแรงงานราคาถูกและต้นทุนวัตถุดิบที่ต่ำ ซึ่งโรงงานเหล่านี้เริ่มดำเนินการผลิตตามคำสั่งซื้อที่เข้ามาอย่างต่อเนื่องได้แล้ว ทำให้การส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปของไทยไม่ได้รับผลดีจากการเติบโตของเศรษฐกิจญี่ปุ่นดังจะเห็นได้จากการส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปของไทยในช่วง 7 เดือนแรกปี 259 ซึ่งมีมูลค่า 114.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 0.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน อย่างไรก็ตาม จากการที่ค่าเงินหยวนแข็งค่าขึ้น ประกอบกับความขัดแย้งทางด้านการเมืองระหว่างจีนและญี่ปุ่นที่เกิดขึ้นบ่อยๆจะส่งผลให้ผู้นำเข้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปของญี่ปุ่นกระจายความเสี่ยงโดยหันไปพึ่งพาแหล่งผลิตอื่นๆนอกเหนือจากจีนเพิ่มขึ้น

สำหรับทิศทางการส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปในปี 2550 พบว่ายังคงมีปัจจัยหลายประการที่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกที่พึงระวังโดยมีรายละเอียดดังนี้

ภาวะเศรษฐกิจโลก จากรายงานของIMF ล่าสุดวันที่ 13 กันยายน 2549 เกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโลกพบว่าภาวะเศรษฐกิจโลกจะเติบโตร้อยละ 4.9 ต่ำกว่าปี 2549 ซึ่งขยายตัวร้อยละ 5.1 ทั้งนี้ภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงเกิดขึ้นทั่วโลกโดยเฉพาะประเทศผู้นำทางเศรษฐกิจสำคัญของโลกอย่างสหรัฐฯซึ่งเศรษฐกิจจะขยายตัวในปี 2550 ประมาณร้อยละ 2.9 เติบโตชะลอตัวลงจากร้อยละ 3.4 ในปี 2549 ในขณะที่ประเทศญี่ปุ่นเองนั้นเศรษฐกิจก็ยังไม่ฟื้นเต็มที่ ประชาชนยังไม่กล้าจับจ่ายมากโดยเศรษฐกิจญี่ปุ่นในปี 2550 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 2.1 จากร้อยละ 2.7 ในปี 2549 ในขณะที่เศรษฐกิจของประเทศในยุโรปก็ปรับลดลงจากร้อยละ 2.4 ในปี 2549 มาเติบโตที่ร้อยละ 2.0 ในปี 2550 ซึ่งจากปัจจัยเศรษฐกิจโลกที่ชะลอการเติบโตอาจจะส่งผลให้ความต้องการเสื้อผ้าสำเร็จรูปของตลาดโลกชะลอตัวตาม และจะส่งผลต่อการส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปของไทยพอสมควร

ปัจจัยด้านค่าเงินบาท แนวโน้มของค่าเงินบาทในปี 2550 คาดว่าจะยังคงแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องจากปี 2549 โดยมีปัจจัยหนุนทั้งจากการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ รวมทั้งความเป็นไปได้ที่เงินหยวนของจีนจะปรับค่าเพิ่มขึ้น ทั้งนี้คาดว่าเงินบาทของไทยในปี 2549 จะมีค่าเฉลี่ยที่ประมาณ 38.1 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยปี 2548 ซึ่งเงินบาทอยู่ที่ระดับ 40.27 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯส่วนในปี 2550 คาดว่าเงินบาทจะมีค่าเฉลี่ยที่ประมาณ 37.56 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ทั้งนี้เป็นที่น่าสังเกตว่าเงินบาทของไทยมีการแข็งค่าขึ้นในอัตราที่สูงกว่าค่าเงินสกุลต่างๆในภูมิภาค ซึ่งปัจจัยดังกล่าวส่งผลกระทบต่อความสามารถด้านการแข่งขันของเสื้อผ้าสำเร็จรูปไทยในตลาดโลก เพราะทำให้ราคาส่งออกของเสื้อผ้าสำเร็จรูปไทยแพงขึ้นในสายตาของผู้นำเข้า ทั้งนี้ แม้ว่าการแข็งค่าของเงินบาทจะส่งผลต่อต้นทุนการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศที่ลดลง แต่เนื่องจากอุตสาหกรรมเสื้อผ้าสำเร็จรูปของไทยมีการใช้วัตถุดิบในประเทศเป็นส่วนใหญ่และมีการพึ่งพาวัตถุดิบจากต่างประเทศ(lmport content)คิดเป็นสัดส่วนเพียงประมาณร้อยละ 14.6 ทำให้ผลกระทบในด้านลบจากการแข็งค่าของเงินบาทมีมากกว่า

การเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลกของเวียดนาม เวียดนามได้มีการปรับปรุงกฎหมายทางด้านการค้า การลงทุนอย่างต่อเนื่องเพื่อเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก(WTO)เพื่อขยายตลาดการค้าให้กว้างขวางขึ้นรวมทั้งลดปัญหาการกีดกันทางการค้า ทั้งนี้คาดว่าเวียดนามจะประกาศเข้าเป็นสมาชิก WTOได้ในช่วงการประชุมผู้นำเอเปกปลายปีนี้ที่เวียดนามเป็นเจ้าภาพ ซึ่งจากปัจจัยดังกล่าวจะทำให้เวียดนามได้รับสิทธิพิเศษทางการค้าเหมือนเช่นประเทศสมาชิกรายอื่นๆ รวมทั้งสามารถส่งออกสินค้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มโดยไม่ถูกจำกัดด้วยเงื่อนไขโควตาทางการค้าอีกต่อไป และทำให้ผู้นำเข้าจากประเทศต่างๆสนใจสั่งซื้อเสื้อผ้าสำเร็จรูปจากเวียดนามมากยิ่งขึ้น ในขณะเดียวกันการเข้าเป็นสมาชิก WTO จะดึงดูดให้ต่างประเทศสนใจเข้าไปลงทุนทางด้านเสื้อผ้าสำเร็จรูปในเวียดนามเพิ่มขึ้นเพราะเวียดนามมีแรงงานราคาถูกเป็นจำนวนมากทำให้เวียดนามมีโอกาสพัฒนารูปแบบและคุณภาพสินค้าได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งปัจจัยดังกล่าวจะยิ่งหนุนให้มูลค่าการส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปของเวียดนามขยายตัวเพิ่มขึ้น และทำให้เสื้อผ้าสำเร็จรูปของไทยต้องเผชิญการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น ทั้งนี้จากสถิติการส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปของเวียดนามในช่วง 7 เดือนแรกปี 2549 พบว่ามีการขยายตัวเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 32 ซึ่งแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของเวียดนามได้เป็นอย่างดี

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า นับตั้งแต่ประเทศผู้นำเข้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปรายสำคัญของโลกอันได้แก่สหรัฐฯและสหภาพยุโรปได้ยกเลิกมาตรการจำกัดการนำเข้าตามข้อตกลงองค์การการค้าโลกตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2548 ส่งผลให้ไทยต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงจากประเทศที่มีต้นทุนค่าจ้างแรงงานต่ำเข้ามาเพิ่มบทบาทในตลาดโลกเพิ่มขึ้นทั้งจีน เวียดนาม อินเดีย ปากีสถาน บังคลาเทศ และยิ่งไทยต้องประสบกับปัญหาเงินบาทแข็งค่าในอัตราที่สูงกว่าประเทศในภูมิภาคยิ่งทำให้ผู้ประกอบการของไทยแข่งขันได้ลำบากมากขึ้น ดังนั้น เพื่อให้การส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปของไทยคงบทบาทในตลาดโลกได้ จำเป็นที่ผู้ประกอบการของไทยจะต้องมีการเพิ่มศักยภาพของสินค้าไว้รับมือการแข่งขัน ซึ่งสรุปได้ดังนี้

การบริหารความเสี่ยงค่าเงิน ผู้ส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปของไทยควรหาวิธีลดความเสี่ยงจากความผันผวนของค่าเงินบาทหลายๆวิธีอาทิ การกระจายตลาดไปยังแหล่งที่ค่าเงินมีแนวโน้มแข็งค่าเช่นตลาดยุโรปให้มากขึ้น อย่างไรก็ตามหากจำเป็นต้องพึ่งพาตลาดซึ่งใช้เงินดอลลาร์สหรัฐฯแลกเปลี่ยนผู้ประกอบการก็ควรทำสัญญาซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้าซึ่งวิธีนี้จะช่วยให้ผู้ส่งออกของไทยลดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้

การพัฒนารูปแบบและคุณภาพสินค้า ปัจจุบันตลาดส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปของไทยต้องเผชิญการแข่งขันที่รุนแรงโดยเฉพาะสินค้าที่แข่งขันกันทางด้านราคากับประเทศที่มีต้นทุนการผลิตต่ำทั้งจีน อินโดนีเซีย เวียดนาม อินเดีย บังคลาเทศ และปากีสถาน ดังนั้นผู้ประกอบการของไทยควรมีการหันมาพัฒนาสินค้าที่มีรูปแบบหลากหลายและมีตราสินค้าของตนเองที่เป็นเอกลักษณ์และแตกต่างจากคู่แข่งแทนการผลิตสินค้าตามรูปแบบของผู้นำเข้า(Original Equipment Manufacturing) ในขณะเดียวกันก็ควรลงทุนปรับเปลี่ยนเครื่องจักรเทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัยใช้พลังงานน้อยเพื่อลดต้นทุนรวมทั้งทำให้การผลิตและการส่งมอบสินค้ามีความรวดเร็วขึ้น

ขยายตลาดส่งออก ปัจจุบันเสื้อผ้าสำเร็จรูปของไทยมีการพึ่งพาการส่งออกสินค้าไปยังตลาดหลักทั้งสหรัฐฯ สหภาพยุโรปและญี่ปุ่นในสัดส่วนที่สูงถึงประมาณร้อยละ 84 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด ซึ่งตลาดหลักเหล่านี้ไทยต้องเผชิญกับการแข่งขันกับคู่แข่งที่มีความได้เปรียบทางด้านต้นทุนแรงงานที่ต่ำกว่าไทย ดังนั้นแนวทางที่ผู้ประกอบการเสื้อผ้าสำเร็จรูปของไทยน่าจะทำคือการกระจายตลาดไปยังประเทศอื่นๆนอกเหนือจากประเทศหลักๆ ซึ่งปัจจุบันมีหลายตลาดที่สินค้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปของไทยมีอัตราการขยายตัวสูงอาทิ ตลาดอาเซียน ตลาดประเทศในตะวันออกกลางและรัสเซียซึ่งกำลังซื้อปรับเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมัน รวมทั้งประเทศที่ไทยมีการทำข้อตกลงทางการค้าร่วมกัน อาทิ ออสเตรเลียก็มีแนวโน้มส่งออกสดใสเนื่องจากข้อได้เปรียบทางด้านภาษี

ย้ายฐานการผลิต ปัจจุบันผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเสื้อผ้าสำเร็จรูปของไทยประสบปัญหาต้นทุนด้านแรงงานที่สูงกว่าคู่แข่งอีกทั้งแรงงานยังมีไม่เพียงพอต่อความต้องการทำให้ไม่สามารถรองรับคำสั่งซื้อที่เข้ามาเป็นจำนวนมากได้ ดังนั้นเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวสินค้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่เน้นการแข่งขันด้านราคาก็อาจจำเป็นต้องย้ายฐานการผลิตไปยังต่างจังหวัดเพื่อใช้แรงงานในท้องถิ่นหรือแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านที่มีต้นทุนด้านค่าจ้างแรงงานต่ำกว่าเพื่อลดค่าใช้จ่าย ซึ่งที่ผ่านมาก็มีผู้ประกอบการเสื้อผ้าสำเร็จรูปหลายรายสนใจเข้าไปตั้งฐานการผลิตในจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนืออาทิ ชัยภูมิและสุรินทร์ซึ่งมีจำนวนประชากรแรงงานค่อนข้างมาก ซึ่งจะช่วยให้เสื้อผ้าในกลุ่มที่เน้นแข่งขันด้านราคาของไทยมีศักยภาพการแข่งขันเพิ่มขึ้น

กล่าวโดยสรุปแล้ว การส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปของไทยในปี 2550 ผู้ประกอบการจำเป็นต้องใช้ความพยายามฟันฝ่าปัจจัยเสี่ยงที่เข้ามาทั้งในส่วนของข้อเสียเปรียบทางด้านราคาสินค้าที่แพงขึ้นในสายตาของผู้นำเข้าจากการที่เงินบาทของไทยยังคงมีแนวโน้มแข็งค่าในอัตราที่สูงกว่าคู่แข่งขันในภูมิภาค ประกอบกับการที่เวียดนามจะเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลกในช่วงปลายปี 2549 ทำให้เวียดนามมีโอกาสขยายตลาดส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปไปยังประเทศต่างๆโดยไม่ถูกมาตรการกีดกันต่างๆอย่างไรก็ตาม ในส่วนของเวียดนามเองก็ยังมีจุดอ่อนจากรูปแบบและคุณภาพสินค้าที่ยังต้องใช้เวลาในการพัฒนาเพื่อให้ทัดเทียมกับไทย ประกอบกับเวียดนามเองก็ยังมีอุปสรรคทางด้านวัตถุดิบที่ใช้ผลิตสิ่งทอเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่ยังไม่เพียงพอและต้องพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศ ดังนั้นผู้ประกอบการของไทยจึงต้องอาศัยช่วงเวลาที่เวียดนามยังไม่พร้อมเต็มที่ด้วยการเร่งพัฒนาศักยภาพการผลิตของตนเองเพื่อเพิ่มโอกาสการแข่งขันให้สูงขึ้น