ผลวิจัยมหิดลชี้ห้ามโฆษณาไม่มีผลต่อการเลิกดื่ม

“มหิดล” เผยผลศึกษาพฤติกรรมการบริโภคแอลกอฮอล์ ชี้การดื่มขึ้นอยู่กับเพื่อนและสังคมมากกว่าโฆษณา แนะรัฐ-เอกชน ควรรณรงค์ให้ความรู้และผลกระทบเกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยรัฐควรประสานความเห็นทุกฝ่ายเพื่อออกมาตรการควบคุมที่สร้างสรรค์

รศ.ดร.มาณี ไชยธีรานุวัฒศิริ ภาควิชาศึกษาศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยผลการวิจัยเรื่อง “พฤติกรรมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของคนไทย” โดยใช้วิธีการสนทนากับ กลุ่มตัวอย่าง (Focus group) ซึ่งเป็นประชาชนกลุ่มวัยรุ่นอายุ 18-25 ปี และกลุ่มวัยทำงานอายุ 25 ปีขึ้นไป อาศัยในเขตกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด โดยปัจจุบันดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือเคยมีประสบการณ์ในการดื่มมาก่อน รวม 110 คน พบว่า การโฆษณาไม่มีผลในการดื่มหรือเลิกดื่ม เพราะการดื่มขึ้นอยู่กับเพื่อนและสังคมมากกว่า รวมทั้งยังมีร้านขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้ซื้อได้ตลอดเวลา ทั้งนี้ ผู้ประกอบการควรมีการให้ความรู้และรณรงค์เกี่ยวกับ ผลกระทบของการดื่มสุรา และภาครัฐควรร่วมมือกับภาคเอกชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่ายในการจัดระเบียบ ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง ประกอบกับการบังคับใช้มาตรการที่มีอยู่แล้วให้เข้มงวดมากยิ่งขึ้น อาทิ การควบคุมการซื้อขายทั้งในด้านสถานที่ และการห้ามขายแก่เด็กที่อายุต่ำกว่า 18 ปีอย่างเคร่งครัด รวมทั้งส่งเสริมกระบวนการให้ความรู้เกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และผลกระทบโดยรวม

สำหรับการวิจัยครั้งนี้มีจุดประสงค์ เพื่อศึกษาถึงความรู้ความเข้าใจและความตระหนักของคนไทยต่อพิษภัยจาก การดื่มและติดแอลกอฮอล์ เพื่อศึกษาพฤติกรรมในการดื่มแอลกอฮอล์ และเพื่อเสนอแนะ แนวทางเกี่ยวกับ พฤติกรรมการดื่มแอลกอฮอล์ที่ส่งผลทางลบต่อตนเองต่อครอบครัวและสังคมให้น้อยที่สุด โดยการสอบถาม กลุ่มตัวอย่างใน 4 ประเด็นหลัก คือ 1) รูปแบบการบริโภค ความรู้และความรับรู้เกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 2) การโฆษณาประชาสัมพันธ์ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีผลกระทบต่อการดื่ม 3) ทัศนคติต่อความรับผิดชอบของบริษัทผลิตและจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และ 4) ข้อเสนอแนะต่อผู้บริโภคที่ดื่มแอลกอฮอล์ ผู้ประกอบการ และภาครัฐ

โดยผลการวิจัยของมหิดลพบว่า ในด้านรูปแบบและพฤติกรรมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้น กลุ่มวัยรุ่นอายุ 18- 25 ปี นิยมดื่มเบียร์และสุรา โดยวัยรุ่นชายนิยมดื่มเบียร์และสุราที่ผลิตในประเทศไทย มีบางส่วนชอบดื่มสุราต่างประเทศ ส่วนวัยรุ่นหญิงนิยมดื่มเครื่องดื่มผสมแอลกอฮอล์พร้อมดื่ม กลุ่มวัยรุ่นนิยมดื่มกับเพื่อนเพราะต้องการความสนุกสนานและพบปะสังสรรค์ แต่ก็มีบางส่วนที่ดื่มเพราะว่าเกิดความเครียดจากปัญหาครอบครัวหรือปัญหาชีวิต ส่วนใหญ่จะมีความถี่ในการดื่มประมาณ 3-6 ครั้งต่อเดือน โดยมีค่าใช้จ่ายในการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เฉลี่ยประมาณ 1,000 บาทต่อเดือน และจะดื่มที่บ้านพักของตนเองหรือบ้านเพื่อน มีบางโอกาสที่ออกไปดื่มตามร้านอาหาร ดิสโก้เทค ผับ สำหรับกลุ่มวัยทำงานอายุ 25 ปีขึ้นไป ผู้ชายนิยมดื่มสุรากับเบียร์ที่ผลิตในประเทศไทย บางคนดื่มสุราขาว เหล้าตวง และยาดอง ผู้หญิงนิยมดื่มเบียร์และเครื่องดื่มผสมแอลกอฮอล์พร้อมดื่ม โดยจะไม่ค่อยเปลี่ยนยี่ห้อในการดื่ม กลุ่มนี้จะชอบดื่มกับเพื่อนและลูกค้าในงานสังสรรค์ และเพื่อพบปะ ดื่มเพื่อผ่อนคลายความเครียด ดื่มเพื่อความสนุกสนาน บางส่วนดื่มเพื่อสุขภาพเพราะเป็นยาบำรุงสุขภาพ ความถี่ในการดื่มประมาณ 12-15 ครั้งต่อเดือน ใช้เงินในการดื่มประมาณ 2,000 บาทต่อเดือน นิยมดื่มที่บ้านเพื่อน และบางส่วนนิยมดื่มคนเดียวที่บ้าน ในบางกรณีเมื่อดื่มแล้วมีอาการติดลมจะออกไปสังสรรค์นอกบ้าน เช่น ร้านคาราโอเกะ หรือร้านอาหาร

รศ.ดร.มาณี กล่าวต่อไปว่า ในด้านความรับรู้เกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พบว่า กลุ่มวัยรุ่น มีความเห็นว่า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นเครื่องดื่มที่เกิดจากการหมักและการกลั่น เมื่อดื่มเข้าไปแล้วส่งผลต่อระบบประสาท ก่อให้เกิดผลต่อร่างกาย จิตใจ ครอบครัว สังคม เช่น เป็นโรคตับแข็ง สูญเสียเงินทอง เกิดการทะเลาะวิวาทกันใน ครอบครัวและบุคคลอื่น อีกทั้งรัฐบาลต้องสูญเสียเงินงบประมาณในการแก้ไขปัญหาคนดื่มสุรา ขณะที่ กลุ่มวัยทำงานให้ความหมายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ว่า เป็นเครื่องดื่มที่ผ่านกระบวนการหมักและการกลั่น ส่วนผสมในการผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีปริมาณแอลกอฮอล์ที่แตกต่างกัน เป็นส่วนผสมที่ไปทำลายระบบประสาท เมื่อดื่มเข้าไปแล้วมีผลเสียต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิต ส่งผลกระทบต่อตนเอง ทำให้แก่ก่อนวัย ร่างกายทรุดโทรม ไปทำงานไม่ทัน สิ้นเปลืองเงินทอง ขาดความยั้งคิด ส่งผลกระทบต่อครอบครัวคือ เกิดการทะเลาะวิวาท เป็นตัวอย่างที่ไม่ดีให้กับลูกๆ และเกิดผลกระทบทางสังคม ทำให้รัฐต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาผู้ที่ติดแอลกอฮอล์ เกิดอาชญากรรม การข่มขืน และการหมกมุ่นในทางเพศเพิ่มขึ้น

สำหรับผลกระทบของการโฆษณาประชาสัมพันธ์ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่อการดื่มนั้น กลุ่มวัยรุ่นมีความเห็นว่า การโฆษณามีผลจูงใจต่อเยาวชนเพราะมีการนำเอานักแสดง นางแบบ มาแสดงดึงดูดใจ การโฆษณาในด้าน เอกลักษณ์ต่างๆ ของเครื่องดื่มทำให้วัยรุ่นเกิดการเลียนแบบอยากมีชีวิตเหมือนในโฆษณา และการส่งเสริมการขาย เช่น การแจกของแถม ทำให้มีการบริโภคเพิ่มขึ้น ขณะที่กลุ่มวัยทำงานส่วนใหญ่มีความคิดเห็นว่า การโฆษณามีผลจูงใจต่อการดื่ม ทำให้เกิดการบริโภคมากขึ้น มีผลให้อยากรู้ อยากลอง แต่บางส่วนมีความเห็นแตกต่างว่า โฆษณาไม่มีผลจูงใจแต่อย่างใดเพราะเป็นความชอบส่วนบุคคล เพราะหากคนที่ไม่ดื่มก็จะยังคงไม่ดื่ม คนที่ดื่มเป็นประจำก็ยังคงดื่มเหมือนเดิม การดื่มหรือไม่ดื่มขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของแต่ละบุคคล

โดยประเด็นที่น่าพิจารณาคือ เมื่อสอบถามเกี่ยวกับการห้ามโฆษณาหรือการไม่มีโฆษณานั้น กลุ่มวัยรุ่นเห็นว่า การโฆษณามีผลให้อยากลองสิ่งแปลกใหม่ แต่ไม่มีผลในการดื่มหรือเลิกดื่ม เพราะว่าการดื่มขึ้นอยู่กับเพื่อนและสังคมมากกว่า รวมทั้งยังมีร้านขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้ซื้อได้ตลอดเวลา สำหรับกลุ่มวัยทำงาน เห็นพ้องกันว่า แม้ไม่มีการโฆษณาก็ยังคงดื่มเหมือนเดิม เพราะดื่มเป็นประจำอยู่แล้ว และรู้จักคุ้นเคยกับรสชาติของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อยู่แล้ว การมีหรือไม่มีโฆษณาจึงไม่มีผลต่อการเลิกดื่มและก็จะยังดื่มต่อไป

รศ.ดร.มาณี กล่าวว่า ผลการศึกษาครั้งนี้ยังชี้ให้เห็นว่า กลุ่มวัยรุ่นและกลุ่มวัยทำงานมีความเห็นพ้องกันว่า การดื่มอย่างมีคุณภาพคือต้องมีสติในการดื่ม ไม่ดื่มมากจนเกินไป ควรกินอาหารไปพร้อมๆ กับการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อีกทั้งดื่มอย่างมีกาลเทศะเหมาะสม เช่น ไม่ดื่มเหล้าในเวลาทำงาน ไม่ดื่มในศาสนสถาน สถานศึกษา ควรดื่มในสถานที่เฉพาะ เช่น ร้านอาหาร ไม่ควรขับขี่ยานพาหนะเวลาเมาเพราะเป็นอันตรายต่อผู้อื่น โดยควรมี ข้อตกลงกันภายในกลุ่มก่อนที่จะออกไปเที่ยวหรือดื่มว่า ใครจะเป็นผู้ดูแลเพื่อนในกลุ่มหรือใครจะเป็นผู้ขับรถเวลากลับ โดยที่คนขับรถจะต้องไม่ดื่มแอลกอฮอล์หรือดื่มน้อยมาก

จากการวิจัยครั้งนี้ได้ข้อเสนอแนะสำหรับผู้ผลิตและจำหน่ายแอลกอฮอล์ในการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม คือ การคืนกำไรให้กับสังคมมากขึ้น เช่น การให้ทุนการศึกษา การสนับสนุนหน่วยงานราชการในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ และมอบเงินรักษาให้กับผู้ที่ได้รับอุบัติเหตุจากการดื่มสุรา ไม่ควรโฆษณาประชาสัมพันธ์เพื่อดึงดูดให้ดื่มหรือเพื่อให้เยาวชนเลียนแบบ แต่ควรจะมีการรณรงค์เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และผลกระทบมากขึ้น

“สำหรับภาครัฐนั้น เพื่อบรรเทาปัญหาการดื่มแอลกอฮอล์อย่างไม่รับผิดชอบและก่อให้เกิดผลกระทบต่อประเทศและสังคม รัฐจึงควรควบคุมการซื้อขายและกำหนดเวลาซื้อขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างเคร่งครัดและครอบคลุมทุกสถานที่ ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหารและสถานเริงรมย์ต่างๆ จนถึงร้านขายของชำ การห้ามขายแอลกอฮอล์ให้เด็กที่ต่ำกว่า 18 ปี ควรเพิ่มภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้สูงขึ้น การส่งเสริมค่านิยมในการเข้าสังคมหรือการสังสรรค์โดยไม่ใช้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ดำเนินมาตรการเกี่ยวกับการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่เน้นการให้ความรู้เกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ส่งเสริมกระบวนการให้ความรู้เกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และผลกระทบ รณรงค์การดื่มอย่างรับผิดชอบอย่างจริงจัง เช่น โครงการดื่มไม่ขับ สถานที่ราชการต่างๆ ควรมีข้อบังคับระเบียบในการห้ามดื่มแอลกอฮอล์ และที่สำคัญรัฐควรประสานความคิดเห็นจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งผู้ประกอบการ เพื่อให้ได้ มาตรการที่เป็นประโยชน์และเป็นผลดีต่อทุกฝ่าย ซึ่งจะเป็นการแก้ไขปัญหาอย่างสร้างสรรค์” รศ.ดร.มาณี กล่าวโดยสรุป

รายละเอียดเพิ่มเติม โปรดติดต่อ:
อาซิแอม เบอร์สัน-มาร์สเตลเลอร์
สุภาภรณ์ สุธรรมโกศล หรือ สาธิดา ศรีธัญญาธรณ์
โทร. 0-2252-9871