แนวโน้มการลงทุนหลังการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง พัฒนาศักยภาพการแข่งขัน บนพื้นฐานความพอเพียง

ในระยะที่ผ่านมาของปี 2549 การลงทุนมีทิศทางที่ชะลอตัวลงอย่างชัดเจน โดยเฉพาะการลงทุนของภาคเอกชนขยายตัวเพียงร้อยละ 3.6 ในไตรมาสสอง ชะลอตัวลงจากร้อยละ 7.2 ในไตรมาสแรก และร้อยละ 11.2 ในปี 2548 สาเหตุสำคัญเนื่องมาจากการอ่อนตัวลงของอุปสงค์ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ที่เติบโตต่ำที่สุดในรอบกว่า 6 ปี ประกอบกับปัจจัยความไม่ชัดเจนทางการเมืองที่ยืดเยื้อ ได้ส่งผลให้ภาคเอกชนทั้งไทยและต่างชาติชะลอแผนการลงทุนออกไป ในด้านการลงทุนของภาครัฐมีการชะลอตัวของการลงทุนด้านอุปกรณ์ แต่การก่อสร้างโครงการต่างๆของรัฐยังขยายตัวในเกณฑ์ดี

สำหรับแนวโน้มในระยะเวลาที่เหลือของปี 2549 คาดว่ายังมีทิศทางชะลอตัว เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคมยังไม่บ่งชี้ถึงการปรับตัวดีขึ้นมากนักในไตรมาสสาม ส่วนในไตรมาสสุดท้ายของปี ภาวะฝนและอุทกภัยที่อาจกล่าวได้ว่ารุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษคงส่งผลกระทบต่อการลงทุน โดยเฉพาะในภาคก่อสร้าง แต่หลังจากระดับน้ำกลับเข้าสู่ภาวะปกติน่าจะมีการบูรณะฟื้นฟูความเสียหายจากอุทกภัย ซึ่งคงจะช่วยให้กิจกรรมด้านก่อสร้างกระเตื้องขึ้น

การเข้ามาบริหารประเทศของรัฐบาลชุดใหม่ภายหลังจุดเปลี่ยนทางการเมือง เป็นปัจจัยสำคัญที่จะกำหนดทิศทางแนวโน้มการลงทุนในระยะข้างหน้า โดยเฉพาะในปี 2550 ที่คาดว่าเม็ดเงินในการใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2550 คงจะเริ่มต้นเบิกจ่ายได้ตั้งแต่เดือนมกราคม ทั้งนี้ แม้ว่ารัฐบาลชุดใหม่จะมีวาระบริหารประเทศชั่วคราวเป็นเวลาประมาณ 1 ปี ในระหว่างที่มีการปฏิรูปการเมืองก่อนที่จะมีการจัดการเลือกตั้งทั่วไปในปลายปี 2550 อย่างไรก็ตาม รัฐบาลชั่วคราวนี้มีนโยบายเศรษฐกิจที่มีจุดเน้นที่แตกต่างไปจากรัฐบาลชุดก่อน กอรปกับเป็นที่คาดหวังว่ารัฐมนตรีที่เข้ามาในคณะรัฐบาลชั่วคราวนี้จะดำเนินการปรับปรุงและแก้ไขปัญหาในเชิงโครงสร้างในหลายๆด้าน ทั้งเศรษฐกิจและสังคม คู่ขนานไปกับภารกิจด้านการปฏิรูปการเมือง นโยบายการบริหารประเทศของรัฐบาลใหม่จึงมีนัยสำคัญอย่างยิ่งต่อภาวะการลงทุนในปีข้างหน้า ทั้งผลที่จะเกิดขึ้นจากแผนการลงทุนของภาครัฐ และผลที่จะมีต่อแนวโน้มภาพรวมเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นของนักลงทุน ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้วิเคราะห์แนวโน้มการลงทุนภายใต้รัฐบาลชุดใหม่ ในระยะเวลาที่เหลือของปี 2549 ต่อเนื่องถึงปี 2550 โดยมีประเด็นสำคัญดังนี้

แนวโน้มการลงทุนในไตรมาสสุดท้ายของปี 2549 … อาจยังชะลอตัว
หลังจากคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) เข้ายึดอำนาจการบริหารจากรัฐบาลชุดก่อน เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 บรรยากาศทางการเมืองเริ่มคลี่คลายลงในระดับหนึ่ง การรัฐประหารที่เป็นไปอย่างสงบเรียบร้อยนำมาสู่กระบวนการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่หลายฝ่ายคาดหวังว่าจะแก้ไขปัญหาวิกฤตทางการเมืองของไทยที่ยืดเยื้อมาตั้งแต่ต้นปี ทำให้สถานการณ์ความกังวลของประชาชน รวมทั้งภาคธุรกิจต่อผลกระทบจากปัจจัยทางการเมืองเริ่มผ่อนคลายลง ที่สำคัญคณะรัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ. สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี นับว่าเป็นที่ยอมรับของภาคธุรกิจไทย และเป็นที่คาดหวังว่าทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดใหม่จะสามารถบริหารเศรษฐกิจให้มีความต่อเนื่อง ตลอดวาระดำรงตำแหน่งประมาณ 1 ปี

อย่างไรก็ตาม สำหรับนักลงทุนต่างชาติแล้ว อาจมีความกังวลต่อทิศทางทางการเมือง และอาจยังต้องการรอดูความชัดเจนในเรื่องของนโยบายรัฐบาล ซึ่งอาจส่งผลให้การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศอาจชะลอตัว สำหรับในด้านการลงทุนภาครัฐนั้น การใช้จ่ายงบประมาณประจำปีงบประมาณ 2550 คงจะยังเริ่มต้นได้ไม่ทันไตรมาสแรกของปีงบประมาณ (ตุลาคม ถึง ธันวาคม 2549) ส่งผลให้การลงทุนของภาครัฐอาจยังดำเนินการได้ไม่เต็มที่ นอกเหนือจากประเด็นทางการเมืองแล้ว ภาวะอุทกภัยที่รุนแรงกว่าทุกๆปี จะเป็นอุปสรรคต่อกิจกรรมด้านการก่อสร้าง แต่เมื่อระดับน้ำเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว ก็คาดว่าจะมีการซ่อมแซมความเสียหายที่เกิดจากอุทกภัย ทำให้การก่อสร้างฟื้นตัวได้บ้าง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าการลงทุนในไตรมาสสุดท้ายของปีอาจยังเผชิญทิศทางที่ชะลอตัวต่อเนื่องจากในไตรมาสสาม ด้วยเหตุนี้ คาดว่าการลงทุนในช่วงครึ่งหลังของปี 2549 อาจยังคงชะลอตัว โดยอาจมีอัตราการขยายตัว (ณ ราคาคงที่) ประมาณร้อยละ 3.8 จากร้อยละ 5.2 ในครึ่งปีแรก ส่งผลให้การลงทุนในช่วงปี 2549 อาจขยายตัวประมาณร้อยละ 4.5 ชะลอลงจากที่มีอัตราการเติบโตร้อยละ 11.4 ในปี 2548

แนวโน้มการลงทุนในปี 2550 … ปัจจัยลบอาจเบาบางลง
ในปี 2550 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าปัจจัยลบที่กดดันภาวะตลาดอสังหาริมทรัพย์มีแนวโน้มผ่อนคลายลง ขณะที่จุดเปลี่ยนทางการเมืองได้ทำให้ปัจจัยที่มีผลต่อการลงทุนของประเทศมีการเปลี่ยนแปลงทั้งในด้านบวกและด้านลบ ด้วยเหตุนี้ แม้คาดว่าภาพรวมการลงทุนในช่วงปีข้างหน้า จะปรับตัวดีขึ้นกว่าประมาณเดิม แต่อัตราการขยายตัวของการลงทุนอาจไม่ถึงกับเร่งตัวมากนัก โดยปัจจัยสำคัญที่อาจมีผลต่อแนวโน้มการลงทุน ได้แก่
ตลาดธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อาจปรับตัวดีขึ้น : การปรับตัวลดลงของราคาน้ำมัน ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อชะลอลงเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้เดิม โดยอัตราเงินเฟ้อในเดือนสิงหาคม 2549 ลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 2.7 จากร้อยละ 3.8 ในเดือนก่อนหน้า ถ้าราคาน้ำมันที่มีทิศทางเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอลงอย่างต่อเนื่อง คาดว่าจะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อต่ำลงมาอยู่ที่ประมาณร้อยละ 3.3-3.5 ในปี 2550 จากที่คาดว่าจะมีระดับเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 4.5 ในปี 2549 ขณะเดียวกัน แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยมีโอกาสที่จะปรับลดลงเร็วกว่าที่คาด ซึ่งทั้งสองปัจจัยนี้น่าจะลดแรงกดดันด้านภาระรายจ่ายของผู้บริโภคลง และถ้าภาวะเศรษฐกิจโดยรวมปรับตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้น ก็น่าจะเป็นปัจจัยสนับสนุนต่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และกิจกรรมการลงทุนในด้านก่อสร้างของภาคเอกชน

การลงทุนจากต่างประเทศอาจชะลอตัว : แม้ว่าปัจจัยความเชื่อมั่นของนักลงทุนภายในประเทศน่าจะปรับตัวดีขึ้นหลังจากสถานการณ์ทางการเมืองคลี่คลายลง แต่สำหรับนักลงทุนต่างชาติแล้ว อาจมีการรอดูความชัดเจนของนโยบายด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดใหม่ ซึ่งก็อาจถูกมองว่าเป็นรัฐบาลที่เข้ามาทำหน้าที่ชั่วคราวจนกว่าการร่างรัฐธรรมนูญจะเสร็จสิ้น และมีจัดการเลือกตั้งทั่วไปขึ้นในช่วงปลายปีข้างหน้า นอกจากนี้ การตรวจสอบการทุจริตในรัฐบาลชุดที่แล้ว อาจมีผลไปถึงธุรกิจที่เข้าข่ายต้องถูกตรวจสอบ ซึ่งคงเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่อาจส่งผลต่อแผนการลงทุนของธุรกิจนั้นๆ รวมไปถึงธุรกิจที่เกี่ยวข้องด้วย ประเด็นทางการเมืองดังกล่าวนี้อาจทำให้นักลงทุนต่างชาติบางส่วนยังคงรอความชัดเจนในนโยบายรัฐบาล ซึ่งอาจเป็นสาเหตุให้นักลงทุนบางกลุ่มชะลอการตัดสินใจที่จะลงทุนในประเทศไทยได้

การลงทุนภาครัฐอาจดีขึ้นกว่าคาดการณ์เดิม : ภายหลังจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง การลงทุนของภาครัฐ ที่เดิมมีความกังวลว่าจะมีความล่าช้าของการเบิกจ่ายงบประมาณของรัฐบาล คงจะเริ่มต้นเบิกจ่ายได้เร็วขึ้น เนื่องจากพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายไม่ต้องผ่านกระบวนทางสภาในรูปแบบปกติ โดยกระทรวงการคลังคาดว่าน่าจะเริ่มต้นเบิกจ่ายงบประมาณประจำปีงบประมาณ 2550 ได้ตั้งแต่เดือนมกราคม 2550 ซึ่งการที่มีเม็ดเงินลงทุนของรัฐบาลเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจได้เร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้เดิมน่าจะส่งผลดีต่อแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจให้เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้นจากประมาณเดิม อย่างไรก็ตาม ในด้านโครงการลงทุนที่จะมีการดำเนินการในรัฐบาลชุดใหม่ อาจมีการทบทวนแผนการลงทุนของรัฐบาลชุดที่แล้วในบางส่วน โดยอาจมีการพิจารณารายละเอียดถึงความเหมาะสม และประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับจากการลงทุนของโครงการเป็นหลัก ขณะที่โครงการลงทุนที่ก่อภาระผูกพันออกไปในหลายปีข้างหน้า อาจต้องชะลอออกไป ด้วยเหตุนี้ การลงทุนของภาครัฐภายใต้รัฐบาลชั่วคราวอาจไม่ได้เพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงนัก
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า การลงทุนของภาคเอกชนในปี 2550 อาจปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยจากปี 2549 ซึ่งถ้าเศรษฐกิจโดยรวมมีการเติบโตได้ดีก็จะส่งผลต่อเนื่องไปสู่การลงทุนของภาคเอกชนด้วย สำหรับการลงทุนของภาครัฐ ในปี 2550 แม้ว่ามีแนวโน้มดีขึ้นกว่าที่คาดการณ์ไว้เดิม แต่คงมีอัตราการขยายตัวไม่สูงนัก ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับแนวทางในการดำเนินการของรัฐบาลชุดใหม่ต่อมาตรการการใช้จ่ายงบประมาณด้วย ซึ่งในรัฐบาลชุดที่แล้วมีการเร่งรัดให้หน่วยราชการและรัฐวิสาหกิจเบิกจ่ายงบประมาณได้รวดเร็วกว่าระดับที่เคยเป็นมา แต่มีความเป็นไปได้ที่รัฐบาลชุดนี้ อาจดำเนินนโยบายการลงทุนแบบระมัดระวัง

โดยรวมแล้ว ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า การลงทุนโดยรวมของประเทศในปี 2550 อาจขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 4.0-5.2 ซึ่งมีโอกาสที่จะปรับตัวดีขึ้นกว่าในปี 2549 ที่คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 4.5

นโยบายการลงทุนของรัฐบาลใหม่ … ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง
ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงได้มีการยึดถือเป็นหลักในการวางแนวนโยบายการพัฒนาประเทศมาตั้งแต่ครั้งแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 9 (พ.ศ. 2545-2549) แต่อาจกล่าวได้ว่ายังไม่มีการนำไปปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมอย่างกว้างขวาง แม้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 (พ.ศ. 2550-2554) ยังคงยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงนำทางการพัฒนาประเทศ โดยเน้นความจำเป็นที่จะต้องสร้างความสมดุลและภูมิคุ้มกัน อันมีจุดมุ่งหมายพัฒนาประเทศไปสู่สังคมที่มีความสุขอย่างยั่งยืน (Green Society) แต่เป็นที่สังเกตได้ว่า กระแสตอบรับอย่างเด่นชัดจากทุกภาคส่วนเพิ่งจะเริ่มสะท้อนดังขึ้น ภายหลังจากแถลงการณ์ของนายกรัฐมนตรี พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ในวันที่เข้ารับตำแหน่ง ที่ประกาศว่าจะบริหารประเทศโดยดำเนินตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง มุ่งเน้นไปที่ความผาสุขของประชาชน มากกว่าที่จะเน้นตัวเลขอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือ จีดีพี

หัวใจของหลักเศรษฐกิจพอเพียงมีแนวทางสำคัญ 3 ประการ ได้แก่ ความพอประมาณ ความมีเหตุมีผล และการสร้างภูมิคุ้มกัน ถ้าพิจารณาจากแนวคิดหลักนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีความเห็นว่าแนวนโยบายการลงทุนที่น่าจะสอดคล้องกับหลักเศรษฐกิจพอเพียง และสอดคล้องกับสภาวะการแข่งขันในปัจจุบัน อาจคำนึงถึงประเด็นดังต่อไปนี้

ความจำเป็นในการเร่งพัฒนาศักยภาพทางการแข่งขันของประเทศ : ท่ามกลางเศรษฐกิจยุคโลกาภิวัฒน์ การเปิดเสรีระหว่างกัน และสภาพแวดล้อมการแข่งขันในภูมิภาคที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น ในการพัฒนาทางเศรษฐกิจของประเทศ อันเป็นส่วนสำคัญที่จะสร้างรายได้และความเป็นอยู่ที่ดีในกับประชาชนอย่างทั่วถึงนั้น ประเทศไทยยังคงจำเป็นต้องมีการลงทุนอย่างต่อเนื่องเพื่อพัฒนาศักยภาพในการแข่งขันให้กับภาคธุรกิจเอกชน เพื่อรองรับเสถียรภาพการจ้างงาน

การลงทุนอย่างพอประมาณ : ในขณะที่การลงทุนเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจ เมื่อคำนึงถึงทรัพยากรทางการเงินที่มีจำกัด การพิจารณาโครงการลงทุนในระดับมหภาคควรสอดคล้องกับสถานะทางการเงินของประเทศ และไม่ส่งผลเสียต่อเสถียรภาพภายในและภายนอกประเทศในระยะข้างหน้า สำหรับภาคธุรกิจเอกชน ควรพิจารณาโครงการลงทุนอย่างรอบคอบระมัดระวัง รู้ถึงข้อจำกัดและสถานะทางการเงิน มีการประเมินภาวะอุปสงค์ในตลาด พร้อมกับประเมินภาวะการแข่งขันในตลาดและโอกาสในการแข่งขันของตน

การลงทุนอย่างมีเหตุมีผล : จะต้องอาศัยความรอบรู้ รอบคอบ และระมัดระวัง ที่สำคัญจะต้องมีการวางแผนการลงทุนโดยศึกษาถึงความจำเป็นที่จะต้องมีการลงทุนและผลที่จะได้รับจากการลงทุน รวมถึงเปรียบเทียบทางเลือกการลงทุนอย่างเหมาะสมและคุ้มค่า และบริหารการใช้ทรัพยากรให้ได้ประโยชน์สูงสุด ส่งเสริมการดำรงชีวิตที่ดีของประชาชน

การสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลง : เศรษฐกิจในโลกยุคปัจจุบันอาจเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงที่ไม่อาจคาดการณ์ไว้ล่วงหน้าได้ทุกเมื่อ แผนการลงทุนระยะยาว โดยเฉพาะโครงการขนาดใหญ่อาจต้องมีแผนรองรับ ที่สามารถรับมือในกรณีหากต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง

รัฐบาลควรมีความชัดเจนต่อนโยบายที่จะเปิดเผยต่อสาธารณะ : นโยบายของรัฐที่มีความชัดเจน การให้ข้อมูลที่เป็นจริง โปร่งใส และตรวจสอบได้ จะเป็นประโยชน์ต่อภาคเอกชนในการวางแผนการลงทุนได้อย่างแม่นยำและถูกทิศทางมากขึ้น

สรุป
ในระยะที่ผ่านมาของปี 2549 การลงทุนมีทิศทางที่ชะลอตัวลงอย่างชัดเจน โดยเฉพาะการลงทุนของภาคเอกชนที่ได้รับผลกระทบจากการอ่อนตัวลงของอุปสงค์ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ที่เติบโตต่ำที่สุดในรอบกว่า 6 ปี ประกอบกับปัจจัยความไม่ชัดเจนทางการเมืองที่ยืดเยื้อ ได้ส่งผลให้นักลงทุนชะลอแผนการลงทุนออกไป

สำหรับแนวโน้มในระยะเวลาที่เหลือของปี 2549 เครื่องชี้การลงทุนสะท้อนว่าการลงทุนในไตรมาสสามยังไม่ปรับตัวดีขึ้นมากนัก ขณะที่ในไตรมาสสุดท้ายของปีอาจชะลอตัวต่อเนื่อง เนื่องจากภาวะฝนและอุทกภัยที่อาจนับได้ว่ารุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษคงจะเป็นอุปสรรคต่อกิจกรรมด้านการก่อสร้าง นอกจากนี้ การลงทุนของภาครัฐอาจยังดำเนินการได้ไม่เต็มที่ เนื่องจากการใช้จ่ายงบประมาณประจำปีงบประมาณ 2550 คงจะยังเริ่มต้นได้ไม่ทันไตรมาสแรกของปีงบประมาณ (ตุลาคม ถึง ธันวาคม 2549) ด้วยเหตุนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าการลงทุนในช่วงครึ่งหลังของปี 2549 อาจยังคงชะลอตัว โดยอาจขยายตัวประมาณร้อยละ 3.8 จากร้อยละ 5.2 ในครึ่งปีแรก ส่งผลให้การลงทุนในช่วงปี 2549 อาจขยายตัวประมาณร้อยละ 4.5 ซึ่งเป็นทิศทางที่ชะลอลงอย่างมากจากที่มีอัตราการเติบโตร้อยละ 11.4 ในปี 2548

สำหรับแนวโน้มการลงทุนในปี 2550 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าปัจจัยลบที่กดดันภาวะตลาดอสังหาริมทรัพย์มีโอกาสที่จะผ่อนคลายลง ขณะที่จุดเปลี่ยนทางการเมืองได้ทำให้ปัจจัยที่มีผลต่อการลงทุนของประเทศเปลี่ยนแปลงไปทั้งในด้านบวกและด้านลบ โดยในด้านบวก การใช้จ่ายเงินงบประมาณของรัฐบาลประจำปีงบประมาณ 2550 คงจะเริ่มต้นเบิกจ่ายได้เร็วกว่าที่คาด ซึ่งเม็ดเงินใช้จ่ายของภาครัฐที่เข้าสู่ระบบน่าจะเป็นผลดีต่อแนวโน้มเศรษฐกิจโดยรวม อย่างไรก็ตาม รัฐบาลชุดใหม่อาจมีการทบทวนแผนการลงทุนของรัฐบาลชุดที่แล้วในบางส่วน และด้วยข้อจำกัดของการเป็นรัฐบาลชั่วคราว อาจทำให้ต้องชะลอการตัดสินใจลงทุนในโครงการที่ก่อภาระผูกพันต่อเนื่องไปในอีกหลายปีข้างหน้า ด้วยเหตุนี้ การลงทุนของภาครัฐภายใต้รัฐบาลชั่วคราวอาจไม่ได้เพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงนัก นอกจากนี้ ประเด็นทางการเมืองที่รัฐบาลชุดใหม่มีวาระบริหารประเทศชั่วคราวไปจนกว่าจะมีการจัดการเลือกตั้งทั่วไปอีกครั้งในปลายปี 2550 อาจทำให้นักลงทุนต่างชาติบางส่วนยังคงไม่แน่ใจถึงนโยบายที่อาจเปลี่ยนแปลงเมื่อมีรัฐบาลจากการเลือกตั้งเข้ามาใหม่ ซึ่งอาจเป็นสาเหตุให้นักลงทุนต่างประเทศบางกลุ่มที่ไม่คุ้นเคยกับประเทศไทย อาจจะชะลอการตัดสินใจที่จะลงทุนในประเทศไทยไปชั่วระยะเวลาหนึ่งก่อน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า การลงทุนโดยรวมของประเทศในปี 2550 อาจขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 4.0-5.2 ซึ่งมีโอกาสที่จะปรับตัวดีขึ้นกว่าในปี 2549 ที่คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 4.5โดยการลงทุนของภาคเอกชนในปี 2550 มีอัตราการขยายตัวดีขึ้นเล็กน้อยจากปี 2549 สำหรับการลงทุนของภาครัฐ แม้ว่ามีแนวโน้มดีขึ้นกว่าที่คาดการณ์ไว้เดิม แต่คงมีอัตราการขยายตัวไม่สูงนัก
ประเด็นที่เป็นที่น่าจับตามองคือ นอกจากการเข้ามาของรัฐบาลชุดใหม่จะเป็นจุดเปลี่ยนทางการเมืองแล้ว ยังอาจเปลี่ยนแปลงจุดเน้นของนโยบายเศรษฐกิจและการลงทุนที่หันมาเน้นหลักเศรษฐกิจพอเพียง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีความเห็นว่า แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงสามารถนำมาใช้เป็นหลักพื้นฐานในการบริหารเสถียรภาพและการสร้างสมดุลในการพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน อาจกล่าวโดยสรุปได้ว่า เศรษฐกิจที่แข็งแกร่งจากภายในที่สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงจากภายนอกได้ดี ขณะที่เศรษฐกิจที่พึ่งพาปัจจัยภายนอกสูงจะมีความเปราะบางต่อปัจจัยเสี่ยงที่เกิดขึ้น จะเห็นได้ว่าหลักแนวคิดของเศรษฐกิจพอเพียง ที่เน้นความพอประมาณ ความมีเหตุมีผล และการสร้างภูมิคุ้มกัน เป็นสิ่งที่สอดคล้องกันกับการสร้างสมดุลให้กับเศรษฐกิจมหภาคของไทยเป็นอย่างดี