ความยิ่งใหญ่ของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ หรือสนามบินแห่งชาติแห่งใหม่ที่เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการไปเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2549 ที่ผ่านมานั้น นอกจากจะเพื่อรองรับการใช้งานในระดับประเทศแล้ว รัฐบาลยังผลักดันให้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิพัฒนาก้าวไปสู่การเป็นฮับหรือศูนย์กลางการบินของภูมิภาค ทั้งนี้การเป็นศูนย์กลางการบินจะทำให้เกิดประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจต่อประเทศเพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตามการขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายที่วางไว้นั้นจำเป็นต้องอาศัยแรงผลักดันค่อนข้างมาก โดยเฉพาะความพร้อมทางด้านเทคโนโลยีที่เป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่จะช่วยส่งเสริมให้กิจการท่าอากาศยานไทยเป็นที่ยอมรับกับต่างประเทศ นอกจากจะมีแง่มุมทางด้านการรองรับผู้โดยสารที่จะเข้าออกประเทศ หรือผู้โดยสารที่มาเปลี่ยนเครื่องแล้ว ด้านการขนถ่ายสินค้าก็มีส่วนสำคัญต่อการเป็นฮับในระดับภูมิภาค ในด้านการรองรับผู้โดยสาร ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิสามารถรองรับผู้โดยสารได้ปีละ 45 ล้านคน ซึ่งในขณะนี้จัดว่าอยู่ในอันดับหนึ่งของภูมิภาคเอเชีย (เท่ากับสนามบินเชค แลป กอก ของฮ่องกง) ในขณะที่สนามบินของสิงคโปร์สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 44 ล้านคนต่อปีเท่ากับเกาหลีใต้ และ สนามบินกัวลาลัมเปอร์รองรับได้ 25 ล้านคนต่อปี อย่างไรก็ตามทั้งสองสนามบินที่สิงคโปร์และมาเลเซียนั้นกำลังอยู่ในระหว่างการขยายสนามบินเพื่อให้สามารถรองรับปริมาณผู้โดยสารและปริมาณสินค้าที่ส่งผ่านระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นอีกใน 3 ปีข้างหน้า
สำหรับท่าอากาศยานสุวรรณภูมินั้น ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ภายในสนามบินมีความสำคัญเพราะทุกแผนก ทุกส่วนงาน ถูกควบคุมโดยระบบไอที โดยเฉพาะระบบการบริหารข้อมูลสารสนเทศท่าอากาศยาน (Airport Information Management System : AIMS) ที่มีการนำเทคโนโลยีระดับสูงถึง 45 ระบบ มาใช้เพื่อช่วยประมวลผลข้อมูลในสนามบินทั้งหมดให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด สำหรับระบบดังกล่าวประกอบด้วยส่วนงานต่างๆ ดังนี้
1. Airport Operations Database (AODB) แบ่งเป็น Flight Information Management System (FIMS) ระบบบริหารข้อมูลการบิน โดยมีการเชื่อมโยงกับฐานข้อมูลขององค์กรสากลและสนามบินต่างๆ , Ramp Service Management System ระบบบริหารการเข้าจอดของเครื่องบิน ณ อาคารผู้โดยสาร ซึ่งจะตรวจสอบเครื่องบินที่ลอยอยู่เหนือน่านฟ้าทั่วโลก และระบบการจับสัญญาณทันทีที่เครื่องบินแตะรันเวย์สนามบิน ทำให้สามารถจับเวลาการใช้บริการสนามบินเพื่อนำไปสู่การคิดค่าบริการ แทนการใช้ระบบเจ้าหน้าที่คำนวณเวลาการใช้บริการของเครื่องบินภายในสนามบิน
2. Common Use Terminal Equipment (CUTE) เป็นระบบจัดการด้านผู้โดยสารและสัมภาระ ซึ่งมีส่วนสำคัญคือ External CCTV & Central CCTV Integration เป็นระบบกล้องวงจรปิดภายนอกและการเชื่อมต่อกับศูนย์ควบคุมส่วนกลาง สำหรับใช้ในระบบรักษาความปลอดภัยภายในบริเวณต่างๆ ของสนามบิน ซึ่งมีกล้องวงจรปิดทั้งสนามบินมากกว่า 1,000 จุด
3. Airport Management Database (AMDB) ระบบฐานข้อมูลการปฏิบัติการสนามบินเพื่อสังเกตการณ์ ตรวจสอบ วางแผน และควบคุม รวมไปถึงระบบ Back Office บัญชี ระบบการเงิน การจัดเก็บค่าบริการส่วนต่างๆ ของสนามบิน เช่น การออกใบเรียกเก็บค่าบริการ การใช้สนามบิน จากสายการบิน และสามารถจัดเก็บค่าบริการได้ทันทีที่เครื่องลงจอดจากระบบเดิมที่ใช้ในดอนเมือง จะมีการคำนวณเวลาการใช้บริการ และรอให้สายการบินจ่ายค่าบริการหลังจากนั้น หรือแม้กระทั่งหลังจากสายการบินนั้นบินออกไปแล้วหลายวัน
สำหรับศูนย์ควบคุม (Operation Center) มี 3 ส่วน คือ 1) Airport Operation Center (AOC) สำหรับดูข้อมูลระบบการบริการภายในสนามบิน 2) Security Control Center (SCC) สำหรับควบคุมจอ CCTV และ ระบบรักษาความปลอดภัยทั้งหมด 3) Crisis Control Center (CCC) ห้องประชุมที่ใช้ในกรณีเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน
ในส่วนของการขนส่งสินค้านั้น ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เป็นสนามบินแห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ใช้เทคโนโลยีระบุตัวตนด้วยคลื่นวิทยุ หรืออาร์เอฟไอดี (Radio Frequency Identification : RFID) กับพื้นที่ Cargo Free Zone หรือคลังสินค้าปลอดภาษีของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เพื่อใช้ในการบันทึกการนำเข้าและส่งออกสินค้าของคลังสินค้า ซึ่งระบบอาร์เอฟไอดีดังกล่าวจะทำให้การตรวจสอบและบันทึกที่ตั้งสินค้าและการเคลื่อนย้ายสินค้าได้รวดเร็วขึ้น พร้อมทั้งช่วยลดระเบียบทางศุลกากรและเพิ่มความเร็วด้านกระบวนการทางภาษี เพิ่มประสิทธิภาพความเร็วและความแม่นยำของการไหลเวียนของสินค้า
ด้านระบบสื่อสารโทรคมนาคม ทั้งโทรศัพท์พื้นฐาน โทรศัพท์เคลื่อนที่ อินเทอร์เน็ตทั้งแบบมีสายและไร้สาย ทีโอที ได้จัดสร้างโครงข่ายหลัก (Backbone Network) โดยใช้เทคโนโลยีไอพีเน็ตเวิร์ก เพื่อให้บริการต่างๆ อยู่บนโครงข่ายไอพีตามที่ การท่าอากาศยานเป็นผู้กำหนด บริการต่างๆ ประกอบด้วย ไอพีโฟน เป็นบริการที่ใช้เทคโนโลยีของไอพีมาช่วยให้สามารถใช้ประโยชน์จากโครงข่ายสื่อสารข้อมูลได้มากขึ้น และสามารถใช้งานโทรศัพท์และส่งข้อมูล ได้จากเครื่องเดียวกันสามารถรองรับการให้บริการเสริมต่างๆ ได้มากขึ้น เช่น เอสเอ็มเอส วอยซ์เมล์ เว็บโฟน (Web Phone) สามารถใช้งานได้ทั้งโทรศัพท์ และอินเทอร์เน็ต รองรับการใช้งานบัตรเครดิต ช่วยให้ผู้ใช้บริการสามารถใช้โดยวิธีติดต่อสื่อสารแบบ 2 ทาง (Two way Communication) โดยมีลักษณะการใช้แบบโต้ตอบกับระบบเครื่องโทรศัพท์แบบจอภาพ รวมทั้งลดความเสี่ยงและค่าใช้จ่ายในการเก็บเหรียญ บริการด้านดาต้า ประกอบด้วย เป็นบริการสื่อสารข้อมูลความเร็วสูง โดยใช้คู่สายของโทรศัพท์พื้นฐาน (บรอดแบนด์) วิดีโอ คอนเฟอเรนซ์ บริการจุดเชื่อมอินเทอร์เน็ตไร้สาย (ไวไฟ) รวมทั้งการเชื่อมต่อการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์เพื่อรองรับการส่งข้อมูลของกรมศุลกากร รองรับปริมาณการใช้งานครั้งละมากๆ ได้ เนื่องจากให้บริการบนโครงข่ายไอพีทั้งหมดรวมทั้งใช้เทคโนโลยี CWDM (Coarse Wave Division Multiplexing) รวมถึงการให้บริการของผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายอื่นๆ ก็พร้อมที่จะให้บริการข้ามแดนกับผู้ใช้บริการด้วย
มูลค่าการลงทุนในระบบไอทีของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิอยู่ประมาณ 2,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 1.3 ของงบประมาณที่ใช้ในการสร้างสนามบินทั้งหมด เพื่อควบคุมการทำงานของการให้บริการในสนามบินอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ระบบไอทีนั้นมีส่วนสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนหรือเข้ามามีบทบาทต่อการบริหารงานของท่าอากาศยานมากขึ้นกว่าที่ผ่านมามาก และมีแนวโน้มว่า สนามบินต่างๆ ทั่วโลกพยามยามปรับปรุงประสิทธิภาพของการให้บริการในสนามบินอย่างสูงสุดด้วยการนำระบบไอทีมาใช้ในการบริหารจัดการแทนการให้บริการด้วยพนักงานหรือแรงงานคนเหมือนที่ผ่านมา การเติบโตของธุรกิจการบินและการค้าของโลกทำให้การให้บริการของสนามบินต้องได้รับการปรับปรุงเพื่อรองรับปริมาณการใช้บริการที่จะเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้การคาดการณ์อัตราการเติบโตของจำนวนผู้โดยสารที่จะเดินทางทางอากาศหรือเครื่องบินนั้น โดยเฉลี่ยระหว่างปี 2005-2009 อัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีของการเดินทางโดยสารทางอากาศ (Passenger Traffic) ประมาณร้อยละ 5.6 และอัตราการเติบโตของการขนส่งทางอากาศเฉลี่ยต่อปีประมาณร้อยละ 6.3 โดยที่ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก และ การเดินทางระหว่างตะวันออกกลาง-เอเชีย-แปซิฟิก จะมีอัตราการขยายตัวสูงที่สุด
การขยายตัวของการเดินทางและการขนส่งทางอากาศนั้นได้ส่งผลดีต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจโลกค่อนข้างมาก จำนวนผู้โดยสารที่เดินทางโดยเครื่องบินมากถึง 2,000 ล้านคนต่อปี และการขนส่งทางอากาศซึ่งสัดส่วนถึงร้อยละ 40 ของมูลค่าของการค้าระหว่างประเทศ ก่อให้เกิดการจ้างงานกว่า 29 ล้านตำแหน่ง (ทั้งทางตรงและทางอ้อม) และก่อให้เกิดรายได้จากทางเศรษฐกิจคิดเป็นมูลค่าถึง 2,960 พันล้านเหรียญสหรัฐหรือประมาณร้อยละ 8 ของ GDP โลกในปี 2005 ซึ่งทำให้อุตสาหกรรมเดินอากาศกลายเป็นอุตสาหกรรมบทบาทต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจมากขึ้นตามลำดับ
การที่ประเทศต่างๆ ทั่วโลกได้กำลังพยายามยกระดับหรือขยายบริการสนามบินของประเทศให้มีขนาดใหญ่ รองรับปริมาณผู้โดยสารและการขนถ่ายสินค้าจำนวนมาก และประกาศตัวที่จะเป็นฮับหรือศูนย์กลางทางการบินในระดับภูมิภาคเช่นเดียวกันนั้น ทำให้เกิดการแข่งขันกันในระหว่างธุรกิจสนามบินเกิดขึ้นค่อนข้างมาก ความพยายามที่จะเอาชนะหรือกลายเป็นศูนย์กลางทางการบินด้วยขนาดของพื้นที่ สิ่งปลูกสร้างในสนามบิน และความสามารถในการรองรับผู้โดยสาร ระบบไอทีก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่มีการแข่งขันและอยู่ในแผนการพัฒนาของสนามบินตลอดเวลา การมีระบบไอทีที่ทันสมัยและช่วยเสริมให้ผู้ที่มาใช้สนามบินได้รับความสะดวกรวดเร็ว ปลอดภัยและมีค่าบริการที่ต่ำนั้น จะเป็นตัวแปรในการวัดคุณภาพการบริการที่สำคัญอีกประการหนึ่ง และที่ผ่านมาสนามบินต่างๆ ทั่วโลกได้มีปรับเปลี่ยนและลงทุนในการพัฒนาระบบไอทีและสื่อสารภายในสนามบินมาอย่างต่อเนื่องโดยมีวัตถุประสงค์ที่สำคัญคือเพื่อให้การให้บริการภายในสนามบินอย่างมีประสิทธิภาพ การส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาทางด้านโลจิสติกส์เพื่อสร้างห่วงโซ่อุปทานแหรือซัพพลายเชนขึ้นกับการค้าของประเทศ ซึ่งเทคโนโลยีที่ได้รับความสนใจและคาดว่าจะมีความสำคัญเพิ่มขึ้นในอนาคตคือ อาร์เอฟไอดี ซึ่งในส่วนนี้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิได้พัฒนาระบบดังกล่าวเพื่อรองรับการให้บริการไว้แล้ว นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาระบบรักษาความปลอดภัยสนามบินหลังจากที่เกิดเหตุการณ์การก่อการร้ายเกิดขึ้นในหลายประเทศ และ ระบบ E-ticketing
ประสิทธิภาพของระบบไอทีในการให้บริการภายในสนามบินนั้น ส่งผลต่อภาพลักษณ์ของสนามบินค่อนข้างมาก ที่ผ่านมาการเปิดใช้สนามบินหลายแห่งต่างก็ประสบกับปัญหาเกี่ยวกับระบบไอทีมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นสนามบินเคแอลของมาเลเซีย หรือ สนามบินเชคแลปกอก ของฮ่องกง และรวมถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิด้วยที่ประสบกับปัญหาการลำเลียงกระเป๋าเกิดความผิดพลาดและล่าช้า ระบบศุลกากรขัดข้องในการจัดทำเอกสารและปล่อยสินค้า ซึ่ง ความผิดพลาดในการให้บริการนั้นก่อให้เกิดความเสียหายทั้งตัวผู้ใช้บริการเองและค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นกับท่าอากาศยานในการชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตามการแก้ปัญหาที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพนั้นจะช่วยให้เกิดความมั่นใจต่อผู้ใช้บริการได้มากขึ้น และลดค่าใช้จ่ายในการชดเชยความเสียหายของท่าอากาศยานลงได้
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีความเห็นว่า การผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางทางการบินและการขนส่งทางอากาศของภูมิภาคนั้น โดยศักยภาพของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิในด้านต่างๆ เพื่อรองรับปริมาณผู้โดยสารและจำนวนสินค้าที่จะผ่านเข้ามายังประเทศไทยนั้น ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิมีศักภาพมากพอที่จะสามารถแข็งขันได้กับประเทศอื่นๆ ที่กำลังพยายามผลักดันเพื่อก้าวเข้าไปสู่การเป็นศูนย์กลางทางการบินของภูมิภาคด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นสิงคโปร์ มาเลเซีย เกาหลีและที่น่าจับตามองคือ จีน ที่กำลังอยู่ในระหว่างการวางแผนการสร้างสนามบินนานาชาติปักกิ่ง ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2007 สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 43 ล้านคน และมีแผนการสร้างสนามบินอีก 108 แห่งเพื่อรองรับปริมาณผู้โดยสารและการขนส่งทางอากาศเช่นกัน ทั้งนี้ในช่วงปี 2005-2009 นั้น จีนได้รับการคาดการณ์ว่าจะมีการขยายตัวของจำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้นเป็นอันดับ 2 ของโลกด้วยอัตราการเติบประมาณร้อยละ 9.6 รองจากโปแลนด์ (มีอัตราการขยายตัวของผู้โดยสารเฉลี่ยร้อยละ 11.2) โดยเฉพาะที่สนามบินปักกิ่งในปี 2005 มีผู้ใช้บริการแล้วประมาณ 41 ล้านคน ในขณะที่การขนส่งทางอากาศในจีนนั้นจะมีการขยายตัวมากเป็นอันดับหนึ่งของโลกด้วยอัตราการเติบโตร้อยละ 14.4 ต่อปี ซึ่งในปัจจุบันจีนมีปริมาณการขนส่งสินค้าทางอากาศมากเป็นอันดับ 4 ของโลกอยู่แล้ว (รองจากสหรัฐ ญี่ปุ่น เยอรมัน) โดยมีปริมาณการขนส่งสินค้าทางอากาศประมาณ 7,579 ล้านตัน-กิโลเมตร ในปี 2005 จะเห็นได้ว่าการแข่งขันในการเป็นฮับการบินนั้นทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตามหากไทยชิงความได้เปรียบที่จะพัฒนาสนามบินให้มีความพร้อม พัฒนาบุคลากร พัฒนาระบบไอที และคุณภาพการให้บริการให้ก้าวไปสู่การให้บริการที่ดี สามารถผลักดันให้สนามบินก้าวไปสู่สนามบินที่ให้บริการดีในระดับโลกเช่นเดียวกับที่สิงคโปร์ มาเลเซีย และเกาหลีใต้สามารถทำได้ โดยสนามบินเหล่านั้นนำระบบไอทีมาใช้เพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งระบบไอทีในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิในขณะนี้ก็สามารถทำได้เช่นกัน หากมีการแก้ไขข้อบกพร่องและมีความพร้อมอย่างเต็มรูปแบบ