รัฐบาลใหม่เร่งฟื้นความมั่นใจ : คาดดึงต่างชาติเที่ยวไทย 13.4 ล้านคนในปี’49

การท่องเที่ยวไทยที่ฟื้นตัวจากเหตุการณ์สึนามิสามารถเติบโตขึ้นตามลำดับในช่วงครึ่งหลังของปี 2548 และขยายตัวต่อเนื่องมาในช่วงครึ่งแรกของปี 2549 โดยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามายังประเทศไทยรวมทั้งสิ้น 6.7 ล้านคนเพิ่มขึ้นร้อยละ 30.0 จากช่วงเดียวกันของปี 2548 ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์สึนามิ ทั้งนี้โดยสถานการณ์การท่องเที่ยวไทยในช่วงครึ่งปีแรกต้องเผชิญกับปัจจัยลบบางประการ อาทิ สถานการณ์ทางการเมืองและการชุมนุมที่ยืดเยื้อ เหตุการณ์ความไม่สงบในภาคใต้ตอนล่าง ราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และการแข่งขันฟุตบอลโลก 2006 ที่ประเทศเยอรมนี แต่ก็ได้แรงเกื้อหนุนสำคัญจากความร่วมมือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งของภาครัฐและภาคเอกชนในการส่งเสริมการท่องเที่ยวไทยในต่างประเทศ และการจัดกิจกรรมต่างๆอย่างยิ่งใหญ่ตลอดทั้งปี 2549 โดยเฉพาะการจัดงานพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ระหว่างวันที่ 9-13 มิถุนายน 2549

สำหรับในช่วงครึ่งหลังของปี 2549 ตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติมีแนวโน้มขยายตัวในอัตราที่ช้าลง แม้ว่าจะมีปัจจัยเกื้อหนุนการท่องเที่ยวไทยหลายประการ โดยเฉพาะราคาน้ำมันที่ลดลง กระแสการท่องเที่ยวตามรอยพระราชอาคันตุกะหลังงานพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว การเปิดให้บริการของสนามบินสุวรรณภูมิเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2549 และการจัดงานมหกรรมพืชสวนเฉลิมพระเกียรติฯราชพฤกษ์ 2549 ระหว่างวันที่ 1 พฤศจิกายน 2549 – 31 มกราคม 2550 ที่จังหวัดเชียงใหม่ เนื่องจากได้เกิดเหตุการณ์สำคัญที่ส่งผลกระทบต่อบรรยากาศการท่องเที่ยวของไทยในช่วงปลายไตรมาสที่ 3 ต่อเนื่องมายังช่วงต้นไตรมาสที่ 4 ของปี 2549 ดังนี้

– สถานการณ์ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ลุกลามมายังอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา โดยได้เกิดเหตุระเบิดหลายจุดในย่านใจกลางเมืองหาดใหญ่ ซึ่งเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวภาคใต้ตอนล่างของประเทศไทย เมื่อคืนวันเสาร์ที่ 16 กันยายน 2549

– ภาวะน้ำท่วมหนักในหลายพื้นที่ของ 46 จังหวัดตั้งแต่ช่วงปลายเดือนสิงหาคมต่อเนื่องมาจนถึงปลายเดือนตุลาคม 2549 และมีแนวโน้มว่าจะส่งผลกระทบทำให้บรรยากาศการท่องเที่ยวในช่วงงานประเพณีลอยกระทง รวมทั้งงานมหกรรมพืชสวนโลกในช่วงแรกไม่คึกคักเท่าที่ควร

นอกจากนี้ ยังมีเหตุการณ์การเข้ายึดอำนาจการปกครองประเทศจากคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ที่ส่งผลกระทบต่อตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติ แต่ก็คาดว่าเป็นผลกระทบในระยะสั้น ทั้งนี้ด้วยความร่วมมือของภาครัฐบาลและภาคเอกชนในการเร่งชี้แจงข้อมูลที่ถูกต้องให้ต่างชาติเข้าใจถึงสถานการณ์ที่แท้จริงในประเทศไทยว่าไม่มีเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้น ประกอบกับภาพที่ประชาชนและนักท่องเที่ยวต่างชาติถ่ายรูปกับทหารและรถถังอย่างยิ้มแย้มได้ถูกแพร่ออกไปในต่างประเทศ ทำให้บรรยากาศการท่องเที่ยวของไทยในสายตาของต่างชาติดีขึ้นรวดเร็วเกินคาด นอกจากนี้คณะปฏิรูปการปกครองฯยังได้ดำเนินการจัดตั้งคณะรัฐบาลขึ้นมาบริหารประเทศชั่วคราวก่อนที่จะมีการเลือกตั้งได้ภายในระยะเวลา 2 สัปดาห์หลังการยึดอำนาจตามที่ได้ระบุไว้ ส่งผลให้มีรัฐมนตรีเข้ามาบริหารงานด้านการท่องเที่ยวในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี ซึ่งเป็นช่วงฤดูท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวจากประเทศในซีกโลกตะวันตก เพราะนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ต่างเดินทางมาเที่ยวแถบภูมิภาคเอเชียเพื่อหลบอากาศที่หนาวเย็นจัดในประเทศ

จากสถานการณ์ดังกล่าวส่งผลให้ตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ขยายตัวประมาณร้อยละ 11 ในช่วงเดือนกรกฏาคมและสิงหาคม 2549 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2548 มีแนวโน้มขยายตัวในอัตราช้าลงในเดือนกันยายน โดยคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาเพิ่มขึ้นร้อยละ 6 ทำให้ในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2549 คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามารวมทั้งสิ้นประมาณ 3.3 ล้านคนเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 จากช่วงเดียวกันของปี 2548

จากแนวโน้มดังกล่าวข้างต้นทำให้ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2549 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามายังประเทศไทยรวมทั้งสิ้นประมาณ 10.0 ล้านคนเพิ่มขึ้นร้อยละ 22 จากปี 2548

อย่างไรก็ตาม ยังมีปัญหาหลายประการที่ภาครัฐบาลและภาคเอกชนจะต้องร่วมมือกันเร่งแก้ไข เพื่อกระตุ้นให้ตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติในช่วงที่เหลือของปี 2549 มีแนวโน้มคึกคักขึ้น ปัญหาดังกล่าว ได้แก่

– หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องเร่งปรับปรุงฟื้นฟูสถานที่ท่องเที่ยวหลักในหลายจังหวัดรวมทั้งเส้นทางที่จะเดินทางไปยังแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ซึ่งได้รับความเสียหายจากภาวะน้ำท่วม อาทิ เชียงใหม่ สุโขทัย ตาก และอยุธยา ซึ่งเป็นเมืองท่องเที่ยวหลักที่มีชื่อเสียงในการจัดงานประเพณีลอยกระทงอย่างยิ่งใหญ่ทุกปี โดยเฉพาะเชียงใหม่ซึ่งเป็นจะเป็นสถานที่จัดงานมหกรรมพืชสวนเฉลิมพระเกียรติฯราชพฤกษ์ 2549 ระหว่างวันที่ 1 พฤศจิกายน 2549 – 31 มกราคม 2550

– ผู้ที่เกี่ยวข้องในแต่ละพื้นที่ท่องเที่ยวทั้งภาครัฐบาลและภาคเอกชนควรมีมาตรการเข้มงวดในด้านการรักษาความปลอดภัย เพื่อให้นักท่องเที่ยวทั้งคนไทยและต่างชาติมั่นใจด้านความปลอดภัยในการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศไทย

– การเร่งแก้ไขปรับปรุงความไม่พร้อมในการให้บริการภายในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ซึ่งเริ่มเปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 28 กันยายน 2549 โดยเฉพาะปัญหาในเรื่องการจัดการด้านกระเป๋าของผู้โดยสาร

– เร่งสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการยึดอำนาจการปกครองของคณะปฏิรูปฯที่ได้รับการยอมรับจากประชาชน และบรรยากาศความสงบสุขภายในประเทศในปัจจุบันภายใต้การบริหารประเทศของรัฐบาลชุดใหม่ ที่มุ่งเน้นการสร้างความสมานฉันท์ในประเทศ ให้กับผู้ประกอบธุรกิจท่องเที่ยวและนักท่องเที่ยวในตลาดต่างประเทศ

– มุ่งเน้นการขยายตลาดนักท่องเที่ยวเฉพาะกลุ่มที่มีคุณภาพ อาทิ กลุ่มประชุมสัมมนา กลุ่มท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล กลุ่มพำนักท่องเที่ยวระยะยาว กลุ่มนิยมกีฬาประเภทต่างๆ อาทิ กอล์ฟ และดำน้ำ ซึ่งล้วนเป็นตลาดนักท่องเที่ยวที่มีกำลังซื้อสูง และมีลู่ทางเติบโตได้อีกมาก

– มีมาตรการควบคุมที่เข้มงวดและมาตรการลงโทษที่รุนแรงสำหรับผู้ประกอบการที่หลอกลวงนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์ด้านการท่องเที่ยวของไทย

– ส่งเสริมการท่องเที่ยวไทยกับประเทศเพื่อนบ้านในอินโดจีนที่กำลังได้รับความนิยมในหมู่นักท่องเที่ยวต่างชาติในลักษณะเป็นแพ็กเกจร่วมกัน

– ส่งเสริมการพัฒนากิจกรรมต่างๆดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติระหว่างพำนักท่องเที่ยวในประเทศไทย ทั้งนี้เพื่อให้นักท่องเที่ยวพักนานขึ้น และใช้จ่ายต่อวันสูงขึ้น ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการใช้ของนักท่องเที่ยวต่างชาติในประเทศไทยเพิ่มขึ้น

– การพัฒนาสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกที่ได้มาตรฐานสากลรองรับนักท่องเที่ยวตามแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ

– ให้ความสำคัญด้านการอนุรักษ์สภาพแวดล้อมทางธรรมชาติของแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ และฟื้นฟูแหล่งท่องเที่ยวที่เสื่อมโทรม ให้คงสภาพความเป็นธรรมชาติมากที่สุด เพื่อสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวต่อไปได้อย่างยั่งยืน

หากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องร่วมมือกันเร่งแก้ไขปัญหาต่างๆดังกล่าวข้างต้น ก็เป็นที่คาดว่าการท่องเที่ยวไทยจะมีแนวโน้มคึกคักขึ้นในช่วงที่เหลือของปี 2549 และต่อเนื่องไปในปี 2550 โดย บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด คาดการณ์ว่า ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2549 จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามายังประเทศไทยประมาณ 3.4 ล้านคนเพิ่มขึ้นร้อยละ 2 จากช่วงเดียวกันของปี 2548 ทำให้โดยรวมตลอดทั้งปี 2549 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามายังประเทศไทยรวมทั้งสิ้นประมาณ 13.4 ล้านคนเพิ่มขึ้นร้อยละ 17 จากปี 2548 ที่ลดลงร้อยละ 1

นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามายังประเทศไทยมาก 3 อันดับแรกเป็นนักท่องเที่ยวจากตลาดระยะใกล้ในภูมิภาคเอเชียตะวันออก ได้แก่

อันดับที่ 1 คือ นักท่องเที่ยวญี่ปุ่น ซึ่งคาดว่าจะมีจำนวนใกล้เคียงหรือสูงกว่ามาเลเซียเล็กน้อย คือ ประมาณร้อยละ 10 ของนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมดที่เดินทางเข้ามายังประเทศไทยในปี 2549

อันดับที่ 2 คือ นักท่องเที่ยวมาเลเซีย ซึ่งแซงตลาดนักท่องเที่ยวญี่ปุ่นขึ้นมาครองอันดับที่ 1 ตั้งแต่ปี 2545 เป็นต้นมานั้น มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2548 จากผลกระทบของความไม่สงบในภาคใต้ตอนล่วงที่ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น

อันดับที่ 3 คือ นักท่องเที่ยวเกาหลีใต้ ซึ่งขยายตัวอย่างรวดเร็วในช่วงที่ผ่านมา ทำให้สามารถเลื่อนจากอันดับที่ 9 ในปี 2543 มาครองอันดับที่ 3 ได้ตั้งแต่ปี 2546 เป็นต้นมา

ในด้านรายได้ด้านการท่องเที่ยวที่เกิดจากการใช้จ่ายในด้านต่างๆของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาเที่ยวประเทศไทยในปี 2549 คาดว่าจะมีมูลค่ารวมทั้งสิ้นประมาณ 450,000 ล้านบาทเพิ่มขึ้นร้อยละ 22.5 จากปี 2548 ที่มีมูลค่าประมาณ 367,000 ล้านบาท ตลาดนักท่องเที่ยวที่สร้างรายได้ด้านการท่องเที่ยวให้ประเทศไทยสูง 3 อันดับแรก ได้แก่

อันดับที่ 1 คือ ตลาดนักท่องเที่ยวญี่ปุ่น ซึ่งครองอันดับ 1 ในการสร้างรายได้ด้านการท่องเที่ยวให้ประเทศไทยมาโดยตลอด โดยคาดว่าในปี 2549 การใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวจากญี่ปุ่นที่เดินทางมาเที่ยวประเทศไทยจะมีมูลค่าประมาณ 48,000 ล้านบาทเพิ่มขึ้นจากปี 2548 เกือบร้อยละ 20

อันดับที่ 2 คือ ตลาดนักท่องเที่ยวอังกฤษ ซึ่งเดิมอยู่ในอันดับที่ 3 ในปี 2547 แต่สามารถแซงมาเลเซียขึ้นมาอยู่อันดับที่ 2 ได้ตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมา โดยคาดว่าในปี 2549 การใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวจากอังกฤษที่เดินทางมาเที่ยวประเทศไทยจะมีมูลค่าเกือบ 40,000 ล้านบาทเพิ่มขึ้นประมาณกว่าร้อยละ 10 จากปี 2548

อันดับที่ 3 คือ ตลาดนักท่องเที่ยวเกาหลีใต้ ซึ่งเดิมอยู่อันดับ 5 ในปี 2547 และสามารถแซงมาเลเซียและสหรัฐอเมริกาขึ้นมาได้ตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมา โดยคาดว่าในปี 2549 การใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวจากเกาหลีใต้ที่เดินทางมาเที่ยวประเทศไทยจะมีมูลค่ากว่า 30,000 ล้านบาทเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 15 จากปี 2548

รายได้ด้านการท่องเที่ยวที่เข้าประเทศในปี 2549 มูลค่าประมาณ 450,000 ล้านบาทมีแนวโน้มกระจายสู่ธุรกิจบริการประเภทต่างๆ ดังนี้

– ธุรกิจจำหน่ายสินค้าของที่ระลึกนักท่องเที่ยวรวมทั้งสินค้าประเภทต่างๆประมาณ 130,000 ล้านบาท

– ธุรกิจด้านที่พัก อาทิ โรงแรม รีสอร์ต และเกสต์เฮาส์ ประมาณ 120,000 ล้านบาท

– ธุรกิจด้านอาหารและเครื่องดื่ม อาทิ ภัตตาคาร ร้านอาหารประเภทต่างๆ ประมาณ 80,000 ล้านบาท

– ธุรกิจด้านบันเทิงและสันทนาการประเภทต่างๆ อาทิ สถานบันเทิงยามราตรี การแสดงด้านศิลปะวัฒนธรรมไทยและโชว์ต่างๆ กีฬา (เช่น กอล์ฟ ดำน้ำ เป็นต้น) สปา และนวดแผนไทย ประมาณ 58,000 ล้านบาท

– ธุรกิจด้านพาหนะเดินทางภายในประเทศ อาทิ เครื่องบิน รถไฟ รถบขส. รถทัวร์ รถเช่า แท็กซี่ ตุ๊กๆ รถไฟฟ้า รถไฟใต้ดิน เป็นต้น ประมาณ 34,000 ล้านบาท

– ธุรกิจนำเที่ยวในประเทศ อาทิ บริการนำเที่ยวในประเทศ มัคคุเทศก์ ประมาณ 22,000 ล้านบาท