การที่เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาชะลอตัวลง โดยล่าสุดมีอัตรา GDP เพิ่มขึ้นเพียง 1.6% ในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ ซึ่งเป็นอัตราเติบโตรายไตรมาสน้อยที่สุดในรอบกว่า 3 ปี ทำให้คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มอ่อนแรงต่อเนื่องในปี 2550 โดยคาดว่าจะมีอัตราเติบโตราว 2.9% เทียบกับอัตราขยายตัวประมาณ 3.4% ในปี 2549 ขณะเดียวกันเศรษฐกิจของประเทศแกนนำอื่นๆ ได้แก่ สหภาพยุโรป (EU) และญี่ปุ่น ส่อเค้าชะลอตัวเช่นกันในปีหน้าเช่นกัน คาดว่าจะกดดันให้เศรษฐกิจโลกโดยรวมชะลอลงอยู่ในระดับ 4.9% ในปี 2550 เทียบกับอัตราขยายตัว 5.1% ในปี 2549
การที่เศรษฐกิจของสหรัฐฯ กลุ่ม EU และญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศคู่ค้าหลักของไทย มีแนวโน้มชะลอลงในปี 2550 คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสินค้าส่งออกสำคัญของไทย ดังนี้
กลุ่มที่ 1 : สินค้าที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก ได้แก่ สินค้าที่ไทยส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ ตลาด EU และตลาดญี่ปุ่น คิดเป็นสัดส่วนรวมกันมากกว่า 50% ของมูลค่าส่งออกสินค้าแต่ละรายการ ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์และส่วนประกอบ เสื้อผ้าสำเร็จรูป อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป และเครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบอื่นๆ หากสหรัฐฯ EU และญี่ปุ่น ชะลอการนำเข้าสินค้าดังกล่าวจากไทย ก็มีแนวโน้มว่าจะกระทบต่อการส่งออกโดยรวมของไทยค่อนข้างมาก
กลุ่มที่ 2 : สินค้าที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบปานกลาง ได้แก่ สินค้าที่พึ่งพาการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ EU และญี่ปุ่น คิดเป็นสัดส่วนเฉลี่ยประมาณ 30-40% ของมูลค่าส่งออกสินค้าแต่ละรายการ ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์-อุปกรณ์และส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า ยางพารา เหล็ก-เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์พลาสติก และเครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบ คาดว่าสินค้าส่งออกกลุ่มนี้จะได้รับผลกระทบปานกลางจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ EU และญี่ปุ่น เนื่องจากไทยสามารถชดเชยการส่งออกสินค้าดังกล่าวไปยังตลาดส่งออกแห่งอื่นๆ เช่น ตลาดอาเซียน จีน ตะวันออกกลาง ออสเตรเลีย เป็นต้น
กลุ่มที่ 3 : สินค้าที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบค่อนข้างน้อย ได้แก่ สินค้าที่พึ่งพาการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ ตลาด EU และตลาดญี่ปุ่น ไม่มากนัก คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 10-25% ของมูลค่าส่งออกสินค้าแต่ละรายการ ได้แก่ รถยนต์-อุปกรณ์และส่วนประกอบ เม็ดพลาสติก น้ำมันสำเร็จรูป เคมีภัณฑ์ และข้าว เนื่องจากไทยกระจายการส่งออกสินค้าเหล่านี้ไปยังตลาดส่งออกแห่งอื่นๆ มากกว่าตลาดหลักทั้งสาม โดยมีตลาดอาเซียนและตลาดจีนเป็นแกนนำ จึงคาดว่าจะได้รับผลกระทบค่อนข้างน้อยในกรณีที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ EU และญี่ปุ่นชะลอลงในปีหน้า
การที่เศรษฐกิจของประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำอย่างสหรัฐฯ กลุ่ม EU และญี่ปุ่น มีแนวโน้มชะลอตัวในปี 2550 และอาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทย จึงจำเป็นที่ผู้ประกอบการต้องพยายามกระจายตลาดส่งออก เพื่อประกันความเสี่ยงและลดผลกระทบต่อด้านลบจากตลาดหลักของไทยอ่อนกำลังลง ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่าทางการไทยควรส่งเสริมการส่งออกไปยังตลาดใหม่ๆ ซึ่งจัดเป็นตลาดรองของไทย ประกอบด้วยประเทศเอเชียตะวันออก ตะวันออกกลาง ทวีปออสเตรเลีย เอเชียใต้ ทวีปแอฟริกา ทวีปอเมริกาใต้ ยุโรปตะวันออก เป็นต้น ประเทศคู่ค้าของไทยกลุ่มนี้ นับเป็นตลาดส่งออกที่มีศักยภาพและมีบทบาทสำคัญขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากการส่งออกของไทยไปยังตลาดใหม่เหล่านี้ขยายตัวในอัตราค่อนข้างสูงประมาณ 24% ในช่วง 9 เดือนแรก 2549
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลักของไทยมีแนวโน้มชะลอตัวลงในปี 2550 แต่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกโดยรวมของประเทศไทยไม่รุนแรงนัก เพราะเมื่อพิจารณาจากรายการสินค้าส่งออกสำคัญ 20 อันดับแรกของไทยไปตลาดหลัก ได้แก่ สหรัฐฯ กลุ่ม EU และญี่ปุ่น มีสัดส่วนรวมกันประมาณ 38% ของมูลค่าส่งออกสินค้า 20 รายการแรกทั้งหมดของไทย คิดเป็นมูลค่า 23,202 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในช่วง 9 เดือนแรก 2549 ขณะที่ตลาดส่งออกอื่นๆ ครองสัดส่วนประมาณ 62% คิดเป็นมูลค่า 38,101 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในช่วงเดียวกัน ทำให้คาดว่าตลาดส่งออกอื่นๆ จะมีส่วนช่วยประคับประคองการส่งออกของไทย แต่ทางการและผู้ประกอบการไทยคงต้องเร่งรัดทำตลาดและเจาะกลุ่มลุกค้าในตลาดรองเหล่านี้อย่างเข้มข้น ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงจากการแข่งขันทางการค้าที่คาดว่าจะทวีความรุนแรงจากประเทศคู่แข่งหน้าใหม่ของไทย