งานพืชสวนโลกฯ : สร้างเม็ดเงินสะพัดเชียงใหม่ 2.4 หมื่นล้านบาท

งานมหกรรมพืชสวนเฉลิมพระเกียรติฯราชพฤกษ์ 2549 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 1 พฤศจิกายน 2549 จนถึงวันที่ 31 มกราคม 2550 เป็นกิจกรรมสำคัญระดับโลก ที่คาดว่าจะสามารถดึงความสนใจจากนักท่องเที่ยวทั้งคนไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวนมากให้เดินทางมาเที่ยวเชียงใหม่ในช่วงที่มีการจัดงานฯ ส่งผลกระตุ้นการท่องเที่ยวเชียงใหม่ในช่วงฤดูท่องเที่ยวปลายปีนี้ให้คึกคักกว่าทุกปีที่ผ่านมา รวมทั้งยังส่งผลพวงให้เมืองท่องเที่ยวใกล้เคียงเชียงใหม่ในภาคเหนือตอนบน อาทิ เชียงราย แม่ฮ่องสอน และลำปาง ต่างมีเม็ดเงินรายได้ท่องเที่ยวสะพัดในพื้นที่เพิ่มขึ้นจำนวนมาก

ในช่วงสัปดาห์แรกของงานมหกรรมพืชสวนโลก ซึ่งคาบเกี่ยวต่อเนื่องมายังช่วงเทศกาลลอยกระทงนั้น มีการจัดงานประเพณียี่เป็ง ที่เชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 4-6 พฤศจิกายน 2549 และในงานมหกรรมพืชสวนโลกก็จะมีการจัดกิจกรรมงานประเพณีลอยกระทงในคืนวันที่ 5 พฤศจิกายน 2549 โดยเลื่อนเวลาปิดงานจากปกติ 20.00 น.ไปเป็น 24.00 น.ซึ่งช่วยสร้างสีสันของความสนุกสนานรื่นเริง ทำให้บรรยากาศการท่องเที่ยวเชียงใหม่ในช่วงดังกล่าวคึกคักมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้บรรดาที่พักในตัวเมืองเชียงใหม่ส่วนใหญ่ถูกจองเต็มล่วงหน้า ขณะที่ยอดจำหน่ายบัตรเข้าชมงานพืชสวนโลกล่วงหน้าก่อนวันเปิดงานมีจำนวนกว่า 5 แสนใบ และคาดว่าจะมีผู้สนใจทยอยซื้อบัตรเข้าชมงานมหกรรมพืชสวนโลกเพิ่มขึ้นอีกจำนวนมากหลังจากเปิดงานไปได้สักระยะหนึ่ง

งานมหกรรมพืชสวนโลกเป็นกิจกรรมสำคัญที่ส่งผลดีต่อการท่องเที่ยวเชียงใหม่ในช่วงฤดูท่องเที่ยวปลายปีนี้ที่คาดว่าจะคึกคักขึ้นมาก และสร้างรายได้ด้านการท่องเที่ยวให้เชียงใหม่เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว หลังจากที่การท่องเที่ยวเชียงใหม่มีแนวโน้มซบเซาลงในช่วงนอกฤดูท่องเที่ยวที่ผ่านมา (มีนาคม-ตุลาคม 2549) ทั้งนี้โดยได้รับผลกระทบจากปัจจัยสำคัญบางประการ ดังนี้

– สถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ ทำให้ตลาดการประชุมสัมมนาทั้งในส่วนของหน่วยงานภาครัฐ และตลาดการประชุมนานาชาติซบเซาลงมาก

– ภาวะเศรษฐกิจที่ไม่เอื้ออำนวยส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของตลาดนักท่องเที่ยวคนไทยระยะไกลจากภูมิภาคอื่นนอกจากภาคเหนือ เพราะนักท่องเที่ยวคนไทยต่างประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทางท่องเที่ยว โดยหันมาเที่ยวระยะใกล้กันมากขึ้น

– เหตุการณ์น้ำท่วมเชียงใหม่ในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม และต้นเดือนสิงหาคม

– ภาวะน้ำท่วมรุนแรงในหลายพื้นที่ของภาคเหนือและภาคกลางในช่วงเดือนสิงหาคมต่อเนื่องมายังปลายเดือนตุลาคม สร้างความเสียหายแก่เส้นทางคมนาคมมายังเชียงใหม่ทั้งถนนและเส้นทางรถไฟ

– การแข่งขันฟุตบอลโลก 2006 ที่ประเทศเยอรมนี ระหว่างวันที่ 9 มิถุนายน – 9 กรกฎาคม 2549 ส่งผลกระทบตลาดนักท่องเที่ยวคนไทยและต่างชาติ ทำให้มีแนวโน้มซบเซาลงในช่วงดังกล่าว

แม้ว่าจะประสบกับปัจจัยลบหลายประการในช่วงที่ผ่านมา แต่บรรดาผู้ประกอบธุรกิจท่องเที่ยวในเชียงใหม่ต่างปรับตัวขยายการลงทุน เพื่อเตรียมรับการเติบโตแบบก้าวกระโดดของตลาดท่องเที่ยวเชียงใหม่ในช่วงฤดูท่องเที่ยวที่จะมาถึงในช่วงปลายปี ซึ่งมีงานมหกรรมพืชสวนโลกเป็นแม่เหล็กดึงดูดสำคัญ โดยเฉพาะธุรกิจในด้านที่พัก ซึ่งมีการขยายตัวของโรงแรมระดับ 5 ดาวและโรงแรมสไตล์บูติคอย่างต่อเนื่องในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา รวมทั้งการขยายเครือข่ายของเชนบริหารโรงแรมชั้นนำจากต่างประเทศเข้ามายังเชียงใหม่

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด คาดการณ์ว่า ในช่วง 3 เดือนที่มีการจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกจะมีนักท่องเที่ยวทั้งคนไทยและต่างชาติเดินทางเข้ามาเที่ยวเชียงใหม่ในช่วงที่มีการจัดงานรวมทั้งสิ้นประมาณ 3 ล้านคนเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 130 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า

นักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้ามาเที่ยวเชียงใหม่ในช่วงที่มีการจัดงานมหกรรมพืชสวนโลก ส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวคนไทย ซึ่งคาดการณ์ว่าจะมีจำนวนประมาณ 2.2 ล้านคนเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยร้อยละ 80 เป็นนักท่องเที่ยวคนไทยที่เดินทางมาจากพื้นที่ใกล้เคียง คือ 16 จังหวัดในภาคเหนือ และนักท่องเที่ยวจากกรุงเทพฯ ที่เหลือเป็นนักท่องเที่ยวคนไทยที่เดินทางมาจากภาคอื่นๆ

สำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเดินทางเข้ามาเที่ยวเชียงใหม่ในช่วงที่มีการจัดงานมหกรรมพืชสวนโลก ซึ่งคาดการณ์ว่าจะมีจำนวนประมาณ 8 แสนคนเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 30 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยส่วนใหญ่ คือ เกือบร้อยละ 40 เป็นนักท่องเที่ยวจากยุโรป ซึ่งมีอังกฤษ ฝรั่งเศส และเยอรมนี เป็นตลาดหลัก ร้อยละ 30 เป็นนักท่องเที่ยวจากภูมิภาคเอเชีย ซึ่งมีญี่ปุ่น จีน และสิงคโปร์ เป็นตลาดหลัก และร้อยละ 20 เป็นนักท่องเที่ยวจากภูมิภาคอเมริกา ซึ่งมีสหรัฐอเมริกาเป็นตลาดหลัก

การใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวทั้งคนไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาเที่ยวเชียงใหม่ในช่วงงานมหกรรมพืชสวนโลก คาดว่าจะก่อให้เกิดเม็ดเงินสะพัดสู่ธุรกิจด้านการท่องเที่ยวคิดเป็นมูลค่าประมาณ 23,000 ล้านบาท ในจำนวนนี้ส่วนใหญ่ คือ ประมาณร้อยละ 65 เป็นรายได้จากนักท่องเที่ยวคนไทย 15,000 ล้านบาท ที่เหลืออีกร้อยละ 35 เป็นรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ 8,000 ล้านบาท

เม็ดเงินรายได้ด้านการท่องเที่ยวมูลค่า 23,000 ล้านบาท ที่คาดว่าสะพัดไปสู่เชียงใหม่ช่วงที่มีการจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกดังกล่าว มีแนวโน้มกระจายไปสู่ธุรกิจด้านการท่องเที่ยวที่สำคัญ ดังนี้

ร้อยละ 30 หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 7,000 ล้านบาทกระจายไปสู่ธุรกิจจำหน่ายสินค้าของที่ระลึกนักท่องเที่ยว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินค้าโอทอปประเภทงานหัตถกรรมที่มีชื่อเสียงของเชียงใหม่ อาทิ ผลิตภัณฑ์ไม้แกะสลัก ผลิตภัณฑ์กระดาษสา ผลิตภัณฑ์เครื่องเงิน ผลิตภัณฑ์ผ้าไหม และผลิตภัณฑ์เซรามิค

ร้อยละ 22 หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 5,000 ล้านบาทกระจายไปสู่ธุรกิจด้านที่พักประเภทโรงแรม รีสอร์ท และเกสท์เฮ้าส์ในเชียงใหม่ที่มีจำนวนกว่า 270 แห่งซึ่งมีห้องพักรวมกันประมาณ 17,000 ห้อง ส่งผลให้อัตราการเข้าพักเฉลี่ยในช่วง 3 เดือนที่มีการจัดงานฯอยู่ในระดับไม่ต่ำกว่าร้อย 80.00 เทียบกับที่อยู่ในระดับเฉลี่ย 63.04 ในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า และนอกจากที่พักประเภทโรงแรม รีสอร์ท และเกสท์เฮ้าส์ดังกล่าวแล้ว ยังมีการจัดสถานที่พักประเภทต่างๆเพื่อให้บริการกับนักท่องเที่ยวต่างถิ่นจำนวนมากที่คาดว่าจะเดินทางมายังเชียงใหม่ในช่วงงาน อาทิ เซอร์วิสอพาร์ทเมนท์ หอพัก บ้านเช่า วัด รวมทั้งบริการเต็นท์ให้เช่าในบริเวณใกล้เคียงกับสถานที่จัดงาน

ร้อยละ 15 หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 3,500 ล้านบาทกระจายไปสู่ธุรกิจภัตตาคาร ร้านอาหารประเภทต่างๆ ทั้งที่อยู่ในโรงแรมหรือรีสอร์ท และที่ตั้งกระจายอยู่ในตัวเมืองเชียงใหม่ ตามแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ และภายในงานมหกรรมพืชสวนโลก

ร้อยละ 11 หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 2,500 ล้านบาทกระจายไปสู่ธุรกิจบริการด้านความบันเทิง เช่น สถานบันเทิงเริงรมย์ สปา การแสดงทางศิลปวัฒนธรรม และกิจกรรมต่างๆ อาทิ ล่องแก่ง เดินป่า เล่นกอล์ฟ เป็นต้น

ร้อยละ 9 หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 2,000 ล้านบาทกระจายไปสู่ธุรกิจนำเที่ยวในเชียงใหม่ (บริษัททัวร์และมัคคุเทศก์) และค่าผ่านประตูเพื่อเข้าชมสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ อาทิ สวนสัตว์เชียงใหม่ เชียงใหม่ไนท์ซาฟารี อุทยานแห่งชาติ พิพิธภัณฑ์หอฝิ่น สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ และงานมหกรรมพืชสวนโลก เป็นต้น

ร้อยละ 9 หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 2,000 ล้านบาทกระจายไปสู่ธุรกิจบริการด้านพาหนะเดินทางในเชียงใหม่ อาทิ รถบริการจากจุดที่จอดรถไปยังสถานที่จัดงานมหกรรมพืชสวนโลก รถเช่า และรถโดยสารสาธารณะประเภทต่างๆ เป็นต้น

นอกจากนักท่องเที่ยวต่างถิ่นทั้งคนไทยและต่างชาติที่เดินทางมายังเชียงใหม่เพื่อเข้าชมงานมหกรรมพืชสวนแล้ว ยังมีประชาชนในจังหวัดเชียงใหม่เองอีกจำนวนไม่น้อยที่คาดว่าจะเข้าชมงานมหกรรมพืชสวนโลก ก่อให้เกิดเม็ดเงินจำนวนไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาทสะพัดในเชียงใหม่ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นค่าบัตรเข้าชมงาน ค่าอาหารและเครื่องดื่ม ค่าซื้อสินค้านานาชนิดที่มีจำหน่ายในบริเวณงาน และค่าพาหนะเดินทาง

การเปิดงานมหกรรมพืชสวนโลกอย่างยิ่งใหญ่ไปเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2549 ซึ่งมีการแพร่ภาพไปทั่วประเทศ สร้างความประทับใจในความสวยงามและความยิ่งใหญ่อลังการของงานให้แก่ผู้ชมทางบ้าน อย่างไรก็ตาม ยังมีปัญหาในด้านบริการรองรับต่างๆที่ยังไม่เพียงพอและต้องเร่งแก้ไข จึงจะสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งคนไทยและต่างชาติให้เดินทางมาเที่ยวเชียงใหม่เพื่อเข้าชมงานได้ตามที่คาดการณ์ ปัญหาสำคัญๆ ได้แก่

– การขาดแคลนที่พักและค่าห้องพักที่สูงกว่าปกติ

– การเอาเปรียบนักท่องเที่ยวของบรรดาสถานบริการและร้านค้าต่างๆในเชียงใหม่

– ความไม่สะดวกในการเดินทางไปยังงาน เนื่องจากไม่สามารถนำรถยนต์ส่วนตัวเข้าไปจอดในบริเวณงานได้ ขณะที่จุดจอดรถยนต์พร้อมบริการรถรับ-ส่งไปงาน (มีทั้งฟรีและเสียค่าบริการ)ซึ่งจัดเตรียมไว้นั้นยังมีเพียงพอในบางช่วงโดยเฉพาะในช่วงวันเสาร์-อาทิตย์และช่วงทีมีวันหยุดติดต่อกัน และบางจุดก็อยู่ห่างจากบริเวณงานมาก

– การอำนวยความสะดวกด้านต่างๆในบริเวณงานที่ควรเร่งแก้ไข อาทิ

1.รถบริการนำนักท่องเที่ยวชมภายในงานยังไม่เพียงพอกับความต้องการ ทำให้ผู้โดยสาร
ต้องเข้าคิวรอนาน 1-2 ชั่วโมง

2.ห้องน้ำมีจำนวนเพียง 651 ห้องซึ่งไม่เพียงพอรองรับปริมาณนักท่องเที่ยวที่เข้าชมงาน
เฉลี่ยวันละ 3 หมื่นคน

3.อาหารและเครื่องดื่มที่จำหน่ายภายในงานของบางซุ้มมีราคาค่อนข้างสูง

4.การดูแลเรื่องความสะอาดและการจัดเก็บขยะซึ่งมีปริมาณมากระหว่างวัน เพื่อให้
บริเวณงานมีความเป็นระเบียบและสวยงาม